‘ศาสตร์แห่งการคาดการณ์’ หนทางยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร ผ่านบิ๊กดาต้า

28.2 พันล้านปอนด์ต่อปี คือรายได้จากแรงงาน 400,000 คน ในภาคการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร อย่าง อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

110 พันล้านปอนด์ต่อปี คือ มูลค่าตลอดห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ฟาร์มจนถึงจานที่ถูกเสิร์ฟ

นี่คือข้อมูลจากสมาพันธ์อาหารและเครื่องดื่ม (FDF) ที่ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหราชอาณาจักร

นำไปสู่มุ่งมั่นพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมการยกระดับอุตสาหกรรม ผ่านความร่วมมืออันแข็งแกร่งระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

Advertisement

ด้วยเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นอุตสาหกรรมที่ยืดหยุ่นและปรับตัวได้ โดยมีกุญแจสำคัญสู่โอกาส คือ “การควบคุมศักยภาพการเติบโต” ตลอดจน “การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต” ผ่านการนำศาสตร์การคาดการณ์อนาคตอุตสาหกรรมอาหารมาประยุกต์ใช้

ศ.โรนัลด์ คอร์สตานจ์ หัวหน้าศูนย์สารสนเทศการเกษตรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ อธิบายว่า ศาสตร์การคาดการณ์อนาคตอุตสาหกรรมอาหาร คือวิธีคาดการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีก 10-15 ปีข้างหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและแก้ปัญหา ไม่ว่าจะด้วยสภาพแวดล้อม อุปสงค์หรืออุปทานของอุตสาหกรรมอาหารที่จะเกิดขึ้น

Advertisement

โดย ม.แครนฟิลด์เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นในศาสตร์การคาดการณ์อนาคตจากการพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมควบคู่กันไป โดยทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยต่างชาติ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์การคาดการณ์อนาคตและการประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาเป็นแผนแม่แบบ สู่การต่อยอดในภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ ม.แครนฟิลด์ยังเดินหน้าพัฒนาองค์ความรู้การวางแผนแม่แบบของตัวเองบนแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยใช้หลักการดึงข้อมูล Big Data เพื่อนำมาคำนวณ คาดการณ์อนาคตได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้นเพื่อการออกแบบแผนแม่แบบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่านวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงภายใน 10 ปี

โรนัลด์ คอร์สตานจ์

ศ.โรนัลด์ ยังกล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “University-Industry Links” ของบริติช เคานซิล ประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาคการศึกษา-อุตสาหกรรม ในการแบ่งปันองค์ความรู้และรูปแบบศาสตร์การคาดการณ์อนาคตให้กับเมืองนวัตกรรมอาหาร โดยคัดเลือกขั้นตอนที่เหมาะสมกับบริบทการประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทย ออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่

1.จับกระแสหลากมิติ คือการดูบริบทโดยรอบ เพื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารที่กำลังเกิดขึ้น

2.ปักธงแนวคิด ด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์ว่าประเทศต้องการเดินหน้าอุตสาหกรรมอาหารไปในทิศทางใด เพื่อให้สอดรับกับกระแสความต้องการของตลาดโลก

3.กำหนดทิศทาง ด้วยการวางแผนแม่แบบจากข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ เพื่อกำหนดแนวพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในระยะยาว ซึ่งจะทำให้สามารถประเมินศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบัน และรู้ถึงสิ่งที่ยังคงต้องพัฒนาให้ตอบโจทย์ตามเป้าหมาย

และ 4.ประเมินหาโอกาสสู่อนาคต โดยการประเมินแม่แบบที่สร้างขึ้นและถูกนำมาใช้ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการต่อยอดและปรับปรุง

อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ

ด้าน ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้อำนวยการโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร เปิดเผยว่า หลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนแม่แบบแนวทางอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย สามารถสรุปออกมาเป็น 4 กลยุทธ์ของโรดแมปพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ดังนี้

1.สร้างแพลตฟอร์มระดับชาติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและยั่งยืน

2.ลงทุนกับงานวิจัยและนวัตกรรมด้านอาหารเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงนวัตกรรมอาหารที่ทันสมัยและยั่งยืน

3.สร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอี จากระดับท้องถิ่นสู่ระดับนานาชาติ

และ 4.ส่งเสริมภาพลักษณ์และเอกลักษณ์ของอาหารไทยในระดับนานาชาติ

“เมื่อประเทศมีเป้าหมายการเดินหน้าอุตสาหกรรมอาหารที่ชัดเจน รู้จักเทรนด์ตลาดอาหารสากล และมีนวัตกรรมที่พร้อมรับมือกับปัญหาในอนาคต การพาครัวไทยสู่ครัวโลก ก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป” ดร.อัครวิทย์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image