เศรษฐกิจฐานรากสร้างจาก ‘ของฝาก’ ‘โอท็อป ซิตี้ 2019’ ส่งสุขปีใหม่ อุดหนุนไทยรายได้ถึงชุมชน

บ้านสะนำ จ.อุทัยธานี

ปีใหม่นี้ มีของฝากหรือยัง?

วันนี้ที่ ชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีการจัดงานยิ่งใหญ่ใหญ่ส่งท้ายปี OTOP CITY 2019
โดย ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาเป็นประธานเปิดงานไปเมื่อวานนี้

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน ขึ้นกล่าวในนาม กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ผู้จัดใหญ่นำสินค้า OTOP ทั่วประเทศมาจำหน่าย ที่อิมแพคเมืองทองธานี โดยปี้นี้ตั้งเป้ายอดขาย ทะลุ 3 แสนล้านบาท หวังเศรษฐกิจชาติกระเตื้อง

ภายในงานมหกรรมของขวัญของฝากสุดยิ่งใหญ่แห่งปี บอกเลยว่าหนนี้พ่อแม่พี่น้องจะได้ช็อปกระหน่ำไปกับกระเช้าของขวัญจากสินค้าโอท็อปทั่วไทยกว่า 3,500 ร้านค้า ละลานตา 6 โซนให้เลือกเดิน

Advertisement

ไม่ว่าจะโซน กระเช้าของขวัญ โซน ผ้าไทยงดงาม ช็อป OTOP ของดี 76 จังหวัด แวะเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว โอท็อป นวัตวิถี ชมงาน โอท็อปชิ้นเอก

หรือจะพบกับสุดยอดหัตถศิลป์ ศิลปินโอท็อป อย่างสองท่านที่แนะนำให้รู้จักต่อไปนี้

เริ่มที่ นพดล สดวกดี ชาว จ.สิงห์บุรี ดีกรี ศิลปิน OTOP ประจำปี 2559 ผู้สะสมประสบการณ์งานช่าง และความหลงใหลในงานจักรสาน สู่แรงบันดาลใจในการสร้าง “เรือสุพรรณหงส์จำลอง”

Advertisement
นพดล สดวกดี

นพดลเผยว่าใช้เวลา 16 เดือน ในการประกอบร่างเป็นเรือขนาด 4 เมตร โดยใช้แก่นมะขามสร้างตัวเรือภายนอก ภายในคือไม้สักทอง โขนเรือรูปหัวหง ก็ลงรักปิดทอง จัดวางองค์ประกอบออกมาได้อย่างประณีต สง่างามและทรงคุณค่ายิ่งคล้ายของจริงทุกส่วนสัด

หรืออีกชิ้นที่น่าจับตา จักสานไม้มงคลเก้าชนิด เป็นผลงานสืบสานภูมิปัญญาประยุกต์ อันก่อเกิดจากประสบการณ์ช่างไม้และช่างปูน ผสมผสานกับการสานลายตะกร้า ที่ผ่านการแกะแบบและดีไซน์ด้วยตัวเอง พัฒนาจากงานเดิมปรับปรุงให้แข็งแรงสวยงามตามเอกลักษณ์ไทย ไม่ว่าจะ ตะกร้า กระเป๋า หลากหลายรูปทรงจักสานละเอียด ด้วยเส้นหวายที่เหลาให้มีขนาดหลากหลายไปจนถึงละเอียดยิบเท่าเส้นผม ส่วนบานพับ หรือมือจับทำจากไม้เนื้อแข็งและไม้มงคล พิถีพิถัน ใช้ไผ่สีสุก ไม้สักทอง ไม้พยุง ชิงชัน ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ ขนุน ทองหลาง ด้วยหากนำโลหะมาใช้นานไปจะขึ้นสนิมเปลี่ยนสี

ชาวสิงห์บุรีผู้นี้ ยังเป็น เจ้าของรางวัลที่ 1 ประเภทจักสานไม้ไผ่ หวายปี 2547 และเจ้าของรางวัลชมเชยผลงานประดิษฐ์คิดค้น “สิงห์บุรีสำเภาทอง” เรือนจำลองจักสาน SCG 999 ปี 2549 อีกด้วย

อุทัย เจียรศิริ

อีกหนึ่งราย อุทัย เจียรศิริ กลุ่มอาชีพสหกรณ์สืบสานวัฒนธรรมไทยเครื่องถมเงินถมทอง จ.นนบุรี
อดีตครูสอนศิลปาชีพ พระราชวังสวนจิตรลดารโหฐาน ผู้เชี่ยวชาญด้าน คร่ำทอง – คร่ำเงิน
หนึ่งในรูปแบบศิลปะ ที่นำทองคำ หรือ เงิน มาฝังลวดลายลงไปในเหล็กอย่างประณีต โดยใช้สิ่วตอกเหล็กสลับไปมาให้เกิดเกสรที่ใช้ในการยึดเส้นทอง นิยมตกแต่งเครื่องราชศาสตราวุทธ และเครื่องราชูปโภคแต่โบราณ

ครูอุทัย ยังได้รับเลือกจากกรมศิลปากรให้เป็นผู้จัดสร้างบุษบงถมทองถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์รุจิทอง จากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปจนถึง “รางวัลครูช่าง ประจำปี 2555” “รางวัลวัฒนธรรมคุณากรปี 2558” และ ล่าสุด “รางวัลครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2562”

การทำเครื่องคร่ำ เป็นศิลปะโบราณ ที่ สมาน ไชยสุกุมาร บุตรชายขุนสารพัดช่างสมัยรัชกาลที่ 5 ร่ำเรียนมาจากครูช่างชาวเขมรเมื่อครั้งเข้ามาสอนในไทย ทว่า ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ศิลปะแขนงนี้แทบจะสูญหาย แต่ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเห็นคุณค่าของงานหัตถศิลป์โบราณแขนงนี้ จึงโปรดเกล้าให้นายสมานเป็นผู้สอนวิชาให้แก่นักเรียนศิลปาชีพในสวนจิตรลดา

งานคร่ำทำยากยิ่งและแทบสาบสูญ ส่วนใหญ่คร่ำเงิน คร่ำทองมักเห็นตามด้ามอาวุธ หรือเครื่องใช้ ไม่ว่าจะ หอก ดาบ ทวน ขอช้าง ลำกล้อง ปืน มีด ไปจนถึงตะบันหมาก กรรไกร บรรบิด ผอบ

ปัจจุบันงานคร่ำไม่ได้มีอยู่แต่เฉพาะในศาสตราวุธเท่านั้น หากแต่ประยุกต์ให้มีความหลากหลาย ทั้ง เครื่องประดับจำพวกแหวน กำไล ข้อมือ ต่างหู ทับทรวง สายสะพาย ล็อกเกต ไปจนถึงเครื่องดนตรี อย่าง ด้ามซอ ซึ่งทั้งหมดนี้จะได้เห็นได้ชมกันในงานอย่างแน่นอน

บ้านอีก้อผาฮี้ จ.เชียงราย

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้ สำหรับผู้ที่ปีใหม่ยังไม่มีแพลนจะไปไหน
ขอให้มาเยือน ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่ปีนี้มาด้วยกัน 8 ชุมชน จาก 4 ภาค

หากมาร่วมงานจะได้สัมผัสกับวิถีชุมชนของแต่ละท้องถิ่นในขนาดย่อส่วน ก่อนจะเดินทางไปเยือนของจริง
ไม่ว่าจะ บ้านอีก้อผาฮี้ ม.10 ต.โป่งงาม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า (อีก้อ) มีศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตอันโดดเด่น เช่น พิธีโล้ชิงช้า เต้นรำ การแต่งตัว

มาพร้อมนำเสนอการท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชาวอาข่า บนหุบเขาสลับซับซ้อน 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
สถานอันเหมาะแก่การจิบกาแฟยามเช้าท่ามกลางทะเลหมอก สนุกไปกับการเก็บกาแฟจากต้น ชงกันสดๆ ดื่มด่ำกับรสชาติกาแฟผาอี้ด้วยฝีมือตัวเอง

เพลิดเพลินไปกับการโล้ชิงช้า เต้นรำ บ่อฉองตุ๊ เล่นลูกข่าง กระทุ้งกระบอกไม้ไผ่ ไปจนถึง ชิงช้าสวรรค์
ก่อนจะพักกายคลายร่าง พร้อมรับวันใหม่ในบรรยากาศกลางหุบเขาชายแดนไทย-เมียนมา พร้อมทานอาหารเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์อาข่าบ้านผาอี้

บ้านอีก้อผาฮี้

ใครอยากชิม ช้อป ใช้ ก็ย่อมได้ เพราะที่นี่มีผลิตภัณฑ์เด่น ไม่ว่าจะกาแฟ น้ำผึ้ง ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากธรรมชาติ พวงกุญแจผาฮี้ ผ้าปักชนเผ่า ซึ่งแน่นอนว่ามีจำหน่ายภายในงานนี้ด้วย

ไปต่อที่ ชุมชน บ้านสะนำ สัมผัสวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบลาว ของชาวหมู่ 2 ตำบลบ้านไร่ อุทัยธานี กับ ประเพณีปิดบ้าน การแห่ค้างดอกไม้

สัมผัสวิถีชุมชน ผ้าทอลาวครั่ง ฟังเรื่องเล่าประเพณี ของเล่นโบราณ

บ้านสะนำ จ.อุทัยธานี

ขอเล่าให้เห็นภาพความน่าสนใจของชุมชนแห่งนี้ ที่นอกจากจะมีต้นไม่ยักษ์กว่า 500 ปี ยังมีเรื่องราวกล่าวขาน ถึงบรรพบุรุษของหมู่บ้านชุมชนลาวครั่ง ผู้อพยพจากเวียงจันทน์ มาตั้งถิ่นพำนักผูกหลักสร้างเรือน หาอยู่หากินกับป่า ด้วยมีภูเขาล้อมรอบ จึงมีผืนดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การหว่านไถ ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร

หากมีโอกาสไปเยือนถึงถิ่น จะได้สัมผัสลำคลองห้วยละหานที่ไหลผ่านตลอดปี ยังไม่นับรวมเอกลักษณ์ทางภาษา พูดจาสำเนียงลาวคล้ายคนเวียงจันทน์

บ้านสะนำ

ครั้งหนึ่งในชีวิต ลองมา ปั่นจักรยานชมต้นไม้ยักษ์ป่าหมาก เดินตลาดต้นไม้ยักษ์ ไปมัดย้อมผ้าจากสีพันธุ์ไม้ในป่าใหญ่
เพลิดเพลินไปกับประเพณีโบราณ การละเล่นพื้นบ้าน เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่จะนำอุปกรณ์เครื่องมือหาอยู่หากินตามวิถีพรานบ้าน และของเล่นโบราณมาให้เรียนรู้

บ้านสะนำ

ก่อนจะไปต่อ ขอให้แวะชม ช้อปผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชน ไม่ว่า ผ้าซิ่นตีนแดง กระเป๋าผ้า ย่าม พวงกุญแจ หรือ เสื้อผ้าทอ ที่มีลวดลายเฉพาะ แต่งดงามเป็นที่กล่าวขานกันโดยทั่วไป

บ้านโพน จ.กาฬสินธุ์

หันมาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนนี้ยกเอา บ้านโพน ม.5 อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ มาตั้ง
สัมผัสวิถีชาวผู้ไทย ที่อดีตมีถิ่นฐานอยู่บริเวณ 12 ปันนา มีอัธยาศัยไมตรี อ่อนน้อม เอื้ออารี สามัคคีกระทำการโดยพร้อมเพรียง คือเอกลักษณ์ของชาวบ้านโพน

ปีนี้ ขนโปรแกรมท่องเที่ยวมานำเสนอ อาทิ เก็บพุทราหวานกรอบ มุดมุ้งบายนม ชมการสาธิต หรือจะร่วมกิจกรรมสาวไหมย้อมไหมมัดหมี่ ทอผ้าไหมแพรวาแบบครบวงจรก็ย่อมได้

บ้านโพน

ข้างๆ กัน ยังมี บ้านท่าเรือ ม.1, 2, 8 ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม
สัมผัสมนต์เสน่ห์เสียงแคนกลางทุ่งนาไพเราะจับใจ ผ่านท่วงทำนองของแคนลายใหญ่ จากพ่อวิชัยหมอแคนชื่อดังของหมู่บ้าน ที่สืบทอดวิถีไทยอีสานจากรุ่นสู่รุ่นมากว่าร้อยปี

บ้านท่าเรือ จ.นครพนม

มาร่วมส่งต่อภูมิปัญญาหมู่บ้าน ที่นับเป็นแหล่งผลิตเครื่องดนตรีอีสานที่ใหญ่ที่สุดของไทย

นอกจาก แคน พิณ โหวด โปงลาง ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนแล้ว ยังมีผ้าไหมทอมือที่มีชื่อเสียงโดยสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพ บ้านท่าเรือ การันตีด้วยกว่า 300 รางวัลพระราชทาน

บ้านท่าเรือ

หากไปเยือน ท่านจะได้หยิบจับหัดทำเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน ร้องบรรเลงร่วมกับคนในชุมชน ในโรงเรียนหมอแคน ประลองฝีมือการทอผ้า เพลิดเพลินไปกับเรื่องราววันแคนโลก และบ้านโบราณอายุกว่าร้อยปี ชิม ช้อป ใช้ เครื่องดนตรีพื้นบ้าน อาหารถิ่นรสแซ่บ และผ้าไหมทอมือลวดลายพิเศษ

ถัดมา คือ บ้านทุ่งกระโปรง ม.12 ของ ต.ป่าขะ อ.บ้านนา จ.นครนายก ที่มีอายุถึง 103 ปี เดิมทีเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และทางเดินของช้างป่า เวลาฝูงช้างป่าเดินผ่านหมู่บ้าน ชาวบ้านจะตี “กะโปง” (กระบอกไม้ไผ่เจาะรู) เป็นสัญญาณบอกภัย ต่อมาเพี้ยนเป็น กระโปรง และกลายเป็นชื่อ “บ้านทุ่งกระโปรง” จวบจนปัจจุบัน

บ้านทุ่งกระโปรง จ.นครนายก

ด้วยน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นวิถีแห่งชุมชน หากใครได้ไปเยือนจะได้เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อหลวง และสวนเกษตรแบบผสมผสาน สนุกกับการเก็บผักทำเมนูพื้นบ้าน เดินเพลินเลาะสวน สอยกระท้อนมาปรุงกระท้อนสามรส ก่อนจะวิ่งเล่นท้องทุ่งลงมือดำนา เสิร์ฟอาหารให้ท้องด้วยขนมกล้วยเขย่า และทองพลับจากฝีมือตัวเอง เลือกช็อป ผลไม้ถิ่นแปรรูป ไม่ว่าจะ กระท้อน 3 รส หรือ กล้วยฉาบ

โดดเด่นไม่แพ้กัน สำหรับ บ้านดอนใน ม.2 ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี หมู่บ้านเล็กๆ ติดชายฝั่ง คือ ตำนานทรายเม็ดแรกของทะเลอ่าวไทย เพราะมีแหลมหลวง ซึ่งเป็นจุดรอยต่อแยกหาดทรายกับโคลนออกจากกัน โดยทิศเหนือเป็นหาดโคลน ทิศใต้เป็นหาดทราย

บ้านดอนใน

บ้านดอนใน เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยชาวชุมชนร่วมกันจัดการท่องเที่ยวให้กับผู้ที่อยากสัมผัสวิถีเรียบง่าย ใช้เวลาเรียนรู้ธรรมชาติ อนุรักษ์ระบบนิเวศ มาพร้อมโปแกรม ล่องเรือชมป่าโกงกาง ส่องนกหายากจากเมืองหนาว ดูวาฬบรูด้าออกหาปลา เดินรับลมที่สะพานไม้แหลมผักเบี้ย ตามทางป่าชายเลนที่ห้อมล้อมด้วยโกงกาง และต้นแสม

บ้านทางงอ จ.สตูล

เพลิดเพลินไปกับผ้ามัดมัดย้อมจากไม้โกงกาง ชมการแสดงพื้นที่รำวงชาวเล และเซิ้งสวิง
ชิมอาหารทะเลสดรสเด็ด ท่ามกลางกลิ่นอายชายทะเลบริสุทธิ์

ลงมาใต้สักนิดใกล้ชิดวิถีมุสลิม ที่ บ้านทางงอ หมู่ 5 ต.ควนสตอ อ.ควนโดน จ.สตูล
คือ ชุมชนมุสลิมดั้งเดิมกว่า 250 ปี มีกิจกรรมถือว่าต้องถูกใจสายผจญภัยอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น การเดินขึ้น “เขาบอฆ๊ะ’ สัมผัสความงามของสายหมอกไหลดั่งสายน้ำจากยอดเขาและวิวทิวทัศน์ของตำบลควนสตอ มองลงมาเห็นการเล่นว่าวของชาวชุมชนช่วงเย็นย่ำ ชมพระอาทิตย์ที่ผาตะวัน เอาชนะความกลัวด้วยการปีนผาโรยตัว ก่อนจะพักแคมปิ้งนอนดูดาวเล่าเรื่องผี และพายเรือคายัคที่อ่างใช้เก็บน้ำวังตาหงา

บ้านทางงอ

ปิดท้ายด้วยวิถีชาวประมงพื้นบ้านที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ที่ บ้านโคกไกร ม.1 ต.มะรุ่ย อ.ทับปุด จ.พังงา
จากแนวคิดถึงพาตนเองและใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น พัฒนาสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดมูลค่าด้านการท่องเที่ยว ก่อเกิดเป็นการรักษาสุขภาพและผิวพรรณด้วย “สปาโคลนร้อน” เปิดประสบการณ์ธรรมชาติให้กับนักท่องเที่ยว ตอบโจทย์การคืนสู่ธรรมชาติได้อย่างลงตัว

บ้านโคกไคร จ.พังงา

ไม่ว่าจะนั่งเรือหัวโทงชมวิวยามเช้า แวะทำสปาโคลน สปาทรายร้อน ต่อด้วยพายคายัคชมภาพวาดโบราณภายในถ้ำหัวกะโหลก ดูปูมดแดงนับหมื่น สัมผัสฟาร์มหอยนางรม ลงสีผ้าบาติกเป็นของที่ระลึก

มาร่วมซื้อของขวัญ ของฝาก จากโอท็อป ที่งาน OTOP CITY 2019
อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้จนถึง 23 ธันวาคมนี้
ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น.

มากกว่า ซื้อสินค้า แต่คือการส่งต่อความสุขไปพร้อมๆ กับการหนุนสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง
เพื่อสังคม ที่ยืนได้มั่นคงด้วยลำแข็งของตนเอง

บ้านโคกไคร
บ้านโคกไคร
บ้านโคกไคร
บ้านโคกไคร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image