สุวรรณภูมิในอาเซียน : เขาสามร้อยยอด สุดยอด ‘วัฒนธรรมชาติ’ ประวัติศาสตร์จาก ‘ตาม่องไล่’

ลายเส้นเขาสามร้อยยอด โดย Herbert Smyth Warrington วาดขึ้นสมัย ร.5 ระหว่าง พ.ศ. 2434-2439 [จากหนังสือ ศิลปะถ้ำเขาสามร้อยยอด กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2547]

ท้องถิ่นสามร้อยยอด ควรยกย่อง “ตาม่องไล่” เป็นคำบอกเล่า “สตอรี่” เก่าแก่ประจำถิ่นสามร้อยยอด เพราะเป็นนิทานผ่านการบอกเล่าปากต่อปากสืบต่อตกทอดมานานหลายร้อยปีจนเป็นที่รู้กว้างขวางทั่วไปในระดับสากล

เขาสามร้อยยอด [อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์] สุดยอด “วัฒนธรรมชาติ” ทั้งในแง่วัฒนธรรมและในแง่ธรรมชาติ โดยได้ชื่อจากนิทานเรื่องตาม่องไล่ ซึ่งเป็นสุดยอด “สตอรี่” มีคุณค่าทางวรรณกรรมสร้างสรรค์ระดับสากล และมีมูลค่าจาก “ขาย” การท่องเที่ยวนานาชาติทุกฤดูกาล

สามร้อยยอด หมายถึง ทิวเขาต่อกันเป็นพืดยืดยาว มียอดเขาเรียงรายราว 300 ยอด ได้ชื่อจากนิทานท้องถิ่นอ่าวไทยเรื่องตาม่องไล่

เขาสามร้อยยอด เป็นภูเขาหินปูน ยุคเพอร์เมียน มีอายุราว 280-230 ล้านปีมาแล้ว

Advertisement

ตาม่องไล่เป็นนิทานสองฝั่งอ่าวไทย และเกี่ยวข้องท้องถิ่นหลายแห่งทั้งสองฝั่งอ่าวไทย ฉะนั้นนิทานเรื่องนี้ไม่เป็นสมบัติของท้องถิ่นหนึ่งใดโดยเฉพาะ แต่ทุกท้องถิ่นที่อยู่ในอาณาบริเวณของนิทานย่อมมีสิทธิ์ยกนิทานไปใช้งานได้ตามต้องการในท้องถิ่นของตน

นิทานเรื่องตาม่องไล่มีหลายสำนวน ตรงกันบ้าง ต่างกันบ้าง ทั้งสำนวนฝั่งทะเลตะวันออก [ระยอง, จันทบุรี] กับสำนวนฝั่งทะเลตะวันตก [เพชรบุรี, ประจวบฯ]

ไม่ว่าสำนวนใด นิทานเรื่องตาม่องไล่สะท้อนความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม อันเป็นประวัติศาสตร์สังคมที่แสดงอารมณ์และความรู้สึกดึกดำบรรพ์ สืบเนื่องจากการค้าสำเภาของจักรพรรดิจีนที่มีรอบอ่าวไทย เพื่อควบคุมเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรระหว่างอ่าวไทยในทะเลจีนใต้ กับอ่าวเมาะตะมะในทะเลอันดามัน ราว 700 ปีมาแล้ว และยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ-การเมืองนานาชาติทุกวันนี้ตราบจนอนาคต

Advertisement

ทุ่งสามร้อยยอด [จากหนังสือ ศิลปะถ้ำเขาสามร้อยยอด กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2547]

ล่องเรือชมตำนาน “สามร้อยยอด”

ประจวบฯ – นายไชยชนะ สุทธิวรชัย นายอำเภอสามร้อยยอด เป็นประธานพิธีเปิดชุมชนท่องเที่ยวโอท็อป นวัตวิถี บ้านเกาะมอญเกาะไผ่ หมู่ 2 ตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด จ. ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายสามารถ เอี่ยมวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยผู้จัดการสาขาทั้ง 11 สาขา หน่วยงานราชการ ส่วนท้องถิ่น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ในตำบลไร่เก่า พร้อมชาวบ้านจำนวนมากเข้าร่วม

สำหรับการเปิดชุมชนท่องเที่ยว ทางชาวบ้านได้นำสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นมาจำหน่ายให้กับผู้มาร่วมงาน อาทิ ขนุนทอดกรอบ ซึ่งรสชาติเป็นที่ติดใจของผู้ที่ได้ลองชิม และปลาสลิดแดดเดียว ซึ่งเป็นปลาที่จับจากธรรมชาติ และมีความอร่อยไม่แพ้ที่ใด

ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้น ทางชุมชนนำเสนอการล่องเรือชมทุ่งบัวบาน ตำนานเรือสำเภาล่ม ชมลิงแสมบริเวณชายเขา โดยการล่องเรือเข้าชมเพียงทางเดียว ลัดเลี้ยวผ่านป่ากกหรือต้นธูปฤๅษีไป จนพบกับทุ่งบัวหลวง ซึ่งกำลังออกดอกเบ่งบานอย่างสวยงาม รอนักท่องเที่ยวเข้าชม พร้อมจัดแคร่เหนือน้ำให้ขึ้นยืนถ่ายรูปได้ 360 องศา

ลายเส้นเขาสามร้อยยอด โดย Herbert Smyth Warrington วาดขึ้นสมัย ร.5 ระหว่าง พ.ศ.2434-2439 [จากหนังสือ ศิลปะถ้ำเขาสามร้อยยอด กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2547]

นอกจากทุ่งบัวบาน ยังมีบัวสาย พืชน้ำนานาพันธุ์ ต้นกก ต้นอ้อ ต้นธูปฤๅษี นกนานาชนิด เช่น นกกาน้ำ นกอีโก้ง นกกระสา โอบล้อมด้วยภูเขาสูงตระหง่านและผืนป่าเขียวขจี เป็นธรรมชาติที่สวยงาม ต่อจากนั้นเรือยังพาไปชมลิงแสมที่อาศัยอยู่ชายเขาสามร้อยยอด ซึ่งเป็นตำนานเล่าขานว่า เคยเป็นทะเล มีเกาะใหญ่น้อย ภูเขามากมาย เรือสำเภาจีนแล่นผ่านและประสบกับลมพายุ มรสุมใหญ่ จนเรืออับปาง คนบนเรือว่ายน้ำมาที่ภูเขาแห่งนี้รอดชีวิตได้ 300 คน จึงเรียกกันว่า “เขาสามร้อยรอด” และเพี้ยนเป็น “เขาสามร้อยยอด” จนทุกวันนี้

(ที่มา : ข่าวสด ฉบับวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2562 หน้า 6)

 

พิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพชนเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว ภาพเขียนบนเขาสามร้อยยอด มีลักษณะ “ร่วมสมัย” ที่ควรเลียนแบบผลิตซ้ำเป็นของที่ระลึก หรือเป็นการแสดงร่วมสมัย (รูป 1-3) ผีขวัญบรรพชนใส่หน้ากาก มีรูปร่างผิดส่วนจากคนจริงที่ยังไม่ตาย เพราะต้องการวาดรูปบรรพชนที่ตายไปแล้ว แต่มีวิถีชีวิตเหมือนคนไม่ตาย เพียงต่างมิติเท่านั้น (รูป 4-5) หน้ากาก 2 แบบ มีอายุหลายพันปีมาแล้ว [ภาพลายเส้นจากหนังสือ ศิลปะถ้ำเขาสามร้อยยอด รายงานการศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้นแหล่งศิลปะถ้ำเขาสามร้อยยอดฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2547]

“สตอรี่” เก่าแก่ มีความเป็นสากล

ตาม่องไล่ เป็นนิทานท้องถิ่นบอกเล่าสืบต่อกันมาหลายร้อยปี แต่พบจดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสมัย ร.6 พ.ศ. 2468 ในหนังสือที่มีคำนำบอกว่า

“สมุดราชบุรี ถูกจัดทำขึ้นเพื่อเป็นหนังสือประกอบการจัดแสดงมหกรรมระดับชาติที่มีชื่อว่า การแสดงสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ (The Siamese Kingdom Exhibition) เพื่อเป็นที่ระลึกในมงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จสถิตในราชสมบัติปกครองประเทศและประชาชนชาวสยามครบ 15 ปีบริบูรณ์ โดยมีกำหนดจัดในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2468 ณ สวนลุมพินี ที่เพิ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์”

ตาม่องไล่

ตาท้าวม่องไล่กับยายท้าวลำพึง มีลูกสาวงาม แต่หลงรับหมั้นหมายผู้ชายพร้อมกันสองราย ได้แก่ เจ้าลาย จากเมืองใกล้เคียง และเจ้ากงจีนจากเมืองจีน

ถึงวันแต่งงาน ทั้งสองฝ่ายยกขบวนเครื่องขันหมากมาวันเดียวกัน ตาท้าวม่องไล่พยายามเจรจาจะแบ่งลูกสาวออกเป็นสองส่วน แล้วยกให้คนละซีก แต่เจ้าลายกับเจ้ากงจีนไม่ตกลง จึงยกพรรคพวกจะตีตาท้าวม่องไล่

เจ้าลายแห่ขบวนขันหมากไปพักซุ่มบริเวณแห่งหนึ่ง บรรดาซองขันหมากมียอดแหลม ต่อมาคือเขาสามร้อยยอด

เจ้ากงจีนยกขบวนเข้าโจมตี ฝ่ายตาท้าวม่องไล่ชิงโจมตีก่อนจนเจ้ากงจีนหายไปในทะเล แล้วให้เททิ้งเครื่องขันหมากเจ้ากงจีนลงทะเล กลายเป็นกุ้งหอยปูปลา เช่น หอยมวนพลู และ คลองขนมจีน

ฝ่ายลูกสาวตาท้าวม่องไล่ เมื่อสองฝ่ายยกมานั้นไม่อยากแต่งงานกับเจ้ากงจีน จึงลอบลงเรือหนีไปหาเจ้าลาย แต่คลื่นลมซัดเรือไปล่ม จึงว่ายน้ำไปซ่อนบนภูเขาลูกหนึ่งซึ่งต่อมาได้ชื่อ เขานมสาว

ตาท้าวม่องไล่ถามหาลูกสาว แต่นางท้าวบอกว่าลูกสาวหนีไปแล้ว ตาท้าวม่องไล่โมโห เลยจับนางท้าวโยนลงทะเล นางท้าวว่ายน้ำไปขึ้นที่ภูเขาลูกหนึ่ง ต่อมาเรียก เขาแม่ลำพึง

เจ้าลายหลบซ่อนบนภูเขา ขาดอาหารต้องกินแต่ข้าวตังกับกะปิที่เหลืออยู่ ต่อมาตรงนั้นชื่อ เขาเสวยกะปิ

ในที่สุดตาท้าวม่องไล่หายโกรธ แล้วจัดพิธีแต่งงานให้เจ้าลายกับลูกสาวส่งกลับไปครองบ้านเมืองที่ เขาเจ้าลาย

[สรุปจากหนังสือ สมุดราชบุรี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2468 สมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น-ไทย พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2550 หน้า 57-63]

1.ชุมชนประมงชายฝั่งและเกษตรกรรมดั้งเดิม ราว 2,500 ปีมาแล้ว

เขาสามร้อยยอดเป็นเกาะศักดิ์สิทธิ์หรือเฮี้ยน ของคนหลายเผ่าพันธุ์ในชุมชนประมงชายฝั่งและเกษตรกรรมดั้งเดิม ราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ. 1

มีความสามารถแล่นเรือเลียบชายฝั่งลงทางใต้สุดแหลมมลายู ขณะเดียวกันมีบางกลุ่มแล่นเรือข้ามฟากไปทางตะวันออกอ้อมแหลมญวน

คนเหล่านี้ขนสิ่งของเดินบกลัดเลาะตามช่องเขาไปออกฝั่งทะเลอันดามันทางเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด [ต่อไปข้างหน้าจะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าโลก]

ชุมชนคนหลายเผ่าพันธุ์มีพิธีเลี้ยงผีบรรพชนบนเกาะเขาสามร้อยยอด แล้ววาดภาพผีขวัญของบรรพชนไว้บนเพิงผา แล้ววาดเป็นรูปต่างๆ ได้แก่ หน้ากาก, สัตว์, และสัญลักษณ์ที่ยังบอกไม่ได้ว่าหมายถึงอะไร?

2.”แลนด์มาร์ก” การค้าข้ามคาบสมุทร ราว 1,500 ปีมาแล้ว

เขาสามร้อยยอดเป็นเกาะ “แลนด์มาร์ก” ของการค้าโลกข้ามคาบสมุทรตะวันตก-ตะวันออก หรืออินเดีย-จีน ระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ. 1000 [นักประวัติศาสตร์ศิลปะเรียกช่วงเวลานี้ว่าสมัยทวารวดี]

การค้าข้ามคาบสมุทรทำโดยขนสินค้าขึ้นบกข้ามฟากผ่านช่องสิงขร จากทะเลอันดามันไปอ่าวไทย หรือในทางกลับกันจากอ่าวไทยไปทะเลอันดามัน

เขาสามร้อยยอด สมัยเป็นเกาะในอ่าวไทย มีอักษรบอกว่า “เขาเกาะ 300 ยอด” ในจิตรกรรมสมุดภาพไตรภูมิฯ ยุคอยุธยา-ธนบุรี เรือน พ.ศ. 2300

3.สำเภาจีน และกำเนิดกรุงศรีอยุธยา ราว 700 ปีมาแล้ว

สำเภาจีนจากเมืองจีนมุ่งควบคุมเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร จึงหนุนหลังรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) มีอำนาจคุมคาบสมุทร ราว 700 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ. 1800

หลังจากนั้นยึดครองกรุงศรีอยุธยา “ราชอาณาจักรสยาม”

เหล่านี้กระตุ้นให้เกิดบ้านเมืองใหญ่น้อยโดยรอบอ่าวไทย พบร่องรอยใน นิทานตาม่องไล่

4.กำปั่นฝรั่ง ราว 500 ปีมาแล้ว

เขาสามร้อยยอด อยู่บนเส้นทางการค้าทางทะเลสมุทรที่ชาวยุโรปผ่านไปมาระหว่างอ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน กับพระนครศรีอยุธยาในอ่าวไทย ทำให้ชาวยุโรปจะมีบันทึกเกี่ยวกับเขาสามร้อยยอดมากขึ้น ได้แก่

ชาวโปรตุเกส เป็นฝรั่งกลุ่มแรกๆ เข้ามาติดต่อกับสยามที่อยุธยาราว พ.ศ. 2054 บันทึกว่าขากลับใช้เส้นทางช่องสิงขรไปลงเรือกลับเมืองมะละกา (ในมาเลเซีย) บางคนบันทึกว่าเดินทางผ่าน Country of Three Hundred Peaks หมายถึง เขาสามร้อยยอด

ชาวเยอรมัน, ชาวฮอลันดา เดินทางผ่านเขาสามร้อยยอด แล้วมีบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2233 ระบุ “สามร้อยยอด” เป็นชื่อเขาและเกาะ

ขณะเดียวกันบริเวณเขาสามร้อยยอดอยู่บนเส้นทางเดินทัพด้วย มีพระราชพงศาวดารฯ ระบุไว้ เช่น

พ.ศ.2129 สมเด็จพระเอกาทศรถ ยกทัพผ่านบริเวณสามร้อยยอดกับช่องสิงขร ไปปราบเมืองตะนาวศรี

พ.ศ.2302 กองทัพพุกามหงสาวดียกผ่านช่องสิงขร จะไปตีกรุงศรีอยุธยา ได้รบกันบริเวณแก่งตุ่ม และหาดหว้าขาว ชายทะเลแถบสามร้อยยอดต่อเนื่องเมืองกุยบุรีกับเมืองปราณบุรี

ทิวเขาสามร้อยยอด [จากหนังสือ ศิลปะถ้ำเขาสามร้อยยอด กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2547]

รอบสามร้อยยอด

สามร้อยยอดอยู่ดินแดนคาบสมุทรใกล้ส่วนแคบสุดของแผ่นดินประเทศไทย มีความเป็นมาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างย่นย่อ ดังนี้

ประจวบคีรีขันธ์ หมายถึง เมืองอันเป็นที่สบเหมาะของหมู่ขุนเขา ชึ่งเป็นชื่อใหม่แรกมีในแผ่นดิน ร.4 เมื่อ พ.ศ. 2398

หัวหิน หมายถึง โขดหินเรียงรายทั่วไป เป็นชื่อใหม่เพิ่งมีเมื่อราว พ.ศ. 2445 ในแผ่นดิน ร.5

ปราณบุรี หมายถึง เมืองที่มีไม้แดง หรือเมืองไม้แดง (ปราน เป็นคำมอญ แปลว่า ไม้แดง) เป็นไม้เนื้อ แข็งมีราคา ชื่อปราณบุรีมีแล้วตั้งแต่สมัยต้นอยุธยา ระหว่าง 1919-1921

กุยบุรี หมายถึง เมืองที่มีเขากวาง หรือนอแรด (กุย เป็นคำเขมร แปลว่า เขา, นอ) ใช้เป็นส่วนผสมยา โบราณ ส่งขายมีราคา ชื่อกุยบุรีมีแล้วตั้งแต่สมัยต้นอยุธยา ระหว่าง 1900

ช่องสิงขร หมายถึง ช่องทางระหว่างขุนเขาตะนาวศรีที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมไปมาได้ระหว่างไทย (ทะเลอ่าวไทย) กับพม่า (ทะเลอันดามัน) มีวรรณกรรมเกี่ยวข้อง ดังนี้

ขุนช้างขุนแผน มีกลอนบอกว่าม้าสีหมอกเป็นม้าเทศ (อาหรับ) ลงเรือจากเมืองเทศมาขึ้นฝั่งที่เมืองมะริด แล้วต้อนฝูงม้าเทศผ่านช่องสิงขรไปกุย, ปราณ, ชะอำ เลี้ยงไว้ที่เมืองเพชรบุรี มีกลอนเสภาว่า

มาถึงสิงขรผ่อนพักหยุด   ปล่อยม้าอุตลุดให้กินหญ้า

กรมการกุยปราณส่งเนื่องมา   ผ่านชะอำถึงท่าเพชรบุรี

พระอภัยมณี กับศรีสุวรรณ ถูกพระบิดาคือท้าวสุทัศน์แห่งกรุงรัตน [รัตนโกสินทร์?] ไล่ออกจากเมือง เพราะโกรธที่ไม่เรียนวิชาปกครองบ้านเมือง แต่ไปเรียนวิชาดนตรีกับกระบี่กระบอง

สุนทรภู่แต่งกลอนนิทานให้พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเดินป่าไปทางช่องสิงขรเพื่อเข้าสู่ทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นฉากในเรื่องพระอภัยมณี มีบอกเป็นนัยยะในกลอน ดังนี้

แต่เดินทางกลางเถื่อนได้เดือนเศษ   ออกพ้นเขตเข้าไม้ไพรสิงขร

ถึงเนินทรายชายทะเลชโลทร   ในสาครคลื่นลั่นสนั่นดัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image