สำเร็จงดงาม ‘โรงงานหมอนยางพารา’ แปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

ชุมนุมสหกรณ์ฯ เซ็นเอ็มโอยูซื้อขายหมอนและที่นอนยางพารากับ "หาน หรง" ผู้ก่อตั้งบริษัท ไทยสุวรรณ จำกัด

เพราะราคายางพาราตกต่ำแท้ๆ เกษตรกรสวนยางบึงกาฬจึงพลิกวิกฤตเป็นโอกาส รวมตัวกันจัดตั้ง ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ จำกัด เพื่อนำยางพารามาแปรรูปเป็นหมอนและที่นอนยางพารา สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ พร้อมๆ กับการระบายสต๊อกยางในประเทศไปในตัว

ล่าสุด โรงงานหมอนยางพาราของชุมนุมสหกรณ์ฯ บ้านตาลเดี่ยว ต.ท่าสะอาด อ.เซกา จ.บึงกาฬ เพิ่งก่อสร้างเสร็จในปีนี้ หลังได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ งบประมาณรวมการก่อสร้างโรงงานและเครื่องจักรกว่า 46 ล้านบาท ปัจจุบันมีสมาชิก 13 สหกรณ์ มีเป้าหมายกำลังการผลิตหมอนยางพารา 2,000 ใบ/วัน

โดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางลงพื้นที่ตรวจดูโรงงานหมอนดังกล่าวเมื่อราวสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะด้วยว่า การบุกเบิกตลาดยางพาราอินเดีย พร้อมนำหมอนยางไปขาย ในจำนวน 10 ล้านใบ ที่อยู่ในการรับผิดชอบของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะมีชื่อชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางจังหวัดบึงกาฬเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายด้วยแน่นอน

ลั่นวาจากับชาวบึงกาฬขนาดนี้ นับว่าเป็นข่าวดีอยู่ไม่น้อย

Advertisement
“จุรินทร์” เยี่ยมชมการผลิตหมอนยางที่โรงงานหมอนของชุมนุมสหกรณ์ฯ

10 ล้านใบจำหน่ายอินเดีย
เครดิตชื่อ ‘ชุมนุมสหกรณ์ฯ’

นอกเหนือจากการร่วมเป็นประธานเปิดงาน วันยางพาราบึงกาฬ 2563 ในค่ำคืนวันที่ 15 ธันวาคม 2562 แล้ว รองนายกฯ จุรินทร์ยังมีภารกิจเยี่ยมชมโรงงานหมอนยางพาราของชุมนุมสหกรณ์ฯ โดยมี สนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ, นิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ พร้อมด้วยสมาชิกชุมนุมสหกรณ์ฯ กว่า 300 คน ต้อนรับ

เมื่อถึงเวลากล่าว รองนายกฯรีบเอ่ยชมทุกภาคส่วนใน จ.บึงกาฬ ที่พยายามขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศให้มากที่สุด ด้วยการผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อยอด โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการพัฒนานวัตกรรม การแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม นอกเหนือจากการขายน้ำยางสดและยางก้อนถ้วย

ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ยกคณะออนทัวร์ต่างประเทศ เพื่อนำยางพาราออกไปจำหน่าย เช่น อินเดีย ตุรกี โดยทูตพาณิชย์ที่อยู่ต่างประเทศรับหน้าที่ “เซลส์แมน” เจรจาด้านการค้า กฎเกณฑ์ ส่งเสริมการขาย พร้อมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ขณะที่รองนายกฯจุรินทร์รับหน้าที่ “หัวหน้าเซลส์แมนส่วนต่างประเทศ” ประเภทสินค้าอุตสาหกรรม

ทว่า นับจากนี้เป็นต้นไป กระทรวงพาณิชย์จะนำพืชผลการเกษตร อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ออกขายในต่างประเทศด้วย

“จากการที่เราปรับบทบาทของเราเป็นโฟร์แมนประเทศไทยไปขายยางพารา จนสามารถขายหมอนได้ 20 ล้านใบ แบ่งให้ กยท.ขาย 10 ล้านใบ ภาคเอกชนอีก 10 ล้านใบ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ อีกรวมกว่า 9 พันล้านบาท ต้นเดือนหน้าผมจะพาภาคเอกชนไปอีกรอบหนึ่ง เพราะเพิ่งไปดูอินเดียมา เขากำลังต้องการไม้ยางพารามาก เพราะมีการส่งเสริมเร่งรัดการสร้างบ้านใหม่ให้คนจนได้มีที่อยู่อาศัย

“ขอชื่นชมชุมนุมสหกรณ์ฯที่คิดริเริ่มแปรรูปยางพาราอย่างเป็นระบบ และขอรับรองว่าหมอนที่จะขายให้อินเดีย ซึ่งรับผิดชอบโดย กยท.จำนวน 10 ล้านใบนั้น จะมีชื่อชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางจังหวัดบึงกาฬแห่งนี้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายด้วย”

คำชื่นชมล้นหลาม ตอกย้ำ ‘บึงกาฬโมเดล’

หลังพิธีเปิดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 : บึงกาฬโมเดล เสร็จสิ้น พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ได้หอบหิ้วคำชมจากแขกร่วมงานมาฝาก ทำเอาผู้จัดยิ้มน้อยยิ้มใหญ่

“เท่าที่ได้รับฟังจากพี่น้องทุกวงการ ทั้งข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ครู อาจารย์ ภาคเอกชน เกษตรกร คณะของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ผู้นำท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งคณะที่มาจากต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน อาทิ ชิงเต่า, เซี่ยงไฮ้, สิบสองปันนา, ยูนนาน คณะจากสิงคโปร์ ได้สะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่าเราจัดงานได้เนี้ยบมาก

“เท่าที่ได้เห็น ได้ยิน การจัดงานวันยางพารามาตลอด 8 ปี เขาบอกว่าเมื่อมาเห็นในครั้งนี้แล้วเกิดความมั่นใจและเชื่อถือว่างานยางพาราบึงกาฬเป็นงานยางพารานานาชาติ สามารถสร้างมิตรสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถให้เกษตรกรพบกับผู้รับซื้อยางโดยตรง เช่น ผู้รับซื้อจากประเทศจีน โดยมีคณะเจ้าของโรงงานจากสิบสองปันนามาร่วม 2 โรงงาน จากยูนนาน 1 โรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก

“คณะจากยูนนานยังระบุว่าเขาจำเป็นต้องนำเข้ายางพาราจากไทยจำนวนมาก เนื่องจากประสบภัยพิบัติ อากาศหนาวมาก ต้นยางตาย โดยอาศัยการขนส่งไปตามเส้นทาง จ.เชียงราย ผ่านไปทางเชียงของ ออกห้วยทราย บ่อแก้ว และให้เราช่วยเจรจาด้านความสะดวกเรื่องสินค้าผ่านแดน

“ผมพาคณะไปชมโรงงานหมอนยางพารา เขาดูแล้วพอใจมาก บอกว่าอยากซื้อตรงกับเกษตรกร อยากช่วยเรา เขาชอบงานวันยางพาราบึงกาฬมาก จนอยากจัดงานแบบนี้เพื่อให้คนในวงการธุรกิจมาเจอกัน มาอัพเดตเนื้อหา รวมถึงอาจเกิดการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย กับเจ้าของสวน เจ้าของโรงงาน ซึ่งเราเป็นตัวอย่างที่ดี

“เรายังได้รับคำชมเรื่องจำนวนแขกร่วมงาน ตลอดจนผู้ใหญ่เองก็ให้ความสำคัญกับงานนี้ โดยคณะจากต่างประเทศมาร่วมงานกว่า 100 คน เขาบอกว่าโซนนิทรรศการเราดีมาก โดยเฉพาะโซนสวนไฟเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว นิทรรศการขบวนเรือพระราชพิธี ได้ความรู้เรื่องขบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 เยอะมาก รวมทั้งโซนวิชาการ ตลอดจนการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์”

“นิพนธ์” ฝากการบ้านเอ็มเทควิจัยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ช่วยเหลือเกษตรกรสวนยาง

บิ๊กเซอร์ไพรส์หลังงาน ‘ยางบึงกาฬ’

ขณะที่ นิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ และที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด นำทีม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือเอ็มเทค สำรวจการใช้นวัตกรรมภายในโรงงานหมอนยางพาราของชุมนุมสหกรณ์ฯ อีกทั้งสำรวจแนวทางการพัฒนานวัตกรรมอื่นๆ อีกในอนาคต

แต่ก่อนจะไปเยี่ยมชมโรงงาน นายกนิพนธ์กล่าวกับคณะเอ็มเทคเรื่องงานวิจัยและพัฒนา ซึ่งเอ็มเทคเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญเรื่องการผลิตและแปรรูปยางพาราอยู่แล้ว ให้ช่วยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น

เขาบอกว่า ถ้ารัฐบาลต้องการแก้ปัญหายางพาราที่เหลืออยู่ 3 ล้านตันในประเทศไทย เราต้องช่วยกันหาวิธีระบายสต๊อกยางที่เหลืออยู่ออกไปให้หมด ซึ่งมองว่าโครงการที่รัฐบาลกำลังเร่งปฏิบัติอยู่ ถือว่ามาถูกทาง อาทิ โครงการถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร และการนำยางไปสร้างแบริเออร์ หากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ จะช่วยให้เกษตรกรกว่า 70% มีรายได้ รวมถึงจะช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากดีมากขึ้น

“ฉะนั้น ภาครัฐจะต้องให้เงินทุนด้านการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น ผมขอฝากการบ้านให้นักวิจัยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นผลประโยชน์ของคนในชาติต่อไปไว้ด้วย”

เอ็มเทคสำรวจการใช้นวัตกรรมภายในโรงงานหมอนของชุมนุมสหกรณ์ฯ

แม้วันนี้งานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 จะจบลงไปแล้ว ทว่า ชาวสวนยางบึงกาฬยังได้เฮอีกครั้ง เพราะ สุขทัศน์ ต่างวิริยกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร กยท. ได้เข้าพบนายกนิพนธ์ หารือถึงการสนับสนุนโครงการแปรรูป เพิ่มมูลค่ายางพาราของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด

พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และการดำเนินงานของโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราจำนวน 5 โรงงาน ของชุมนุมสหกรณ์ฯ ในการผลิตหมอนและที่นอนยางพารา ยางแผ่นรมควัน ยางอัดก้อนลูกขุน และยางสกิม ให้ดำเนินได้อย่างสมบูรณ์ เกิดรูปธรรม เพราะเป็นสถาบันของเกษตรกรโดยตรง

ตลอดจนการส่งเสริมและผลักดันงบประมาณลงมาสนับสนุนให้ชุมนุมสหกรณ์ฯในอนาคตต่อไป


อบจ.บึงกาฬ เซ็นเอ็มโอยูว่าด้วยการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน วัสดุการศึกษาที่ผลิตจากยางพารา กับท้องถิ่นทั้ง 8 อำเภอ

เอ็มโอยู 4 ฉบับ ยกระดับยางพาราไทย

 

ความพยายามของเกษตรกรชาวบึงกาฬในการเพิ่มมูลค่ายางพาราประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด

เห็นได้จากงานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 ที่ผ่านมา มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) รวมทั้งสิ้น 4 ฉบับ

ฉบับแรก “พินิจ จารุสมบัติ” ซึ่งเป็นผู้ขายยางพาราก้อนถ้วยของเกษตรกรชาวบึงกาฬ เซ็นเอ็มโอยูกับ “ฉี ฉุนเฟิง” ผู้ซื้อยางพาราก้อนถ้วยชาวจีน ในการรับซื้อขายยางพาราก้อนถ้วยของเกษตรกรชาวบึงกาฬจำนวน 3,000 ตันต่อเดือน ด้วยราคาเหมาะสมและเป็นธรรม

ฉบับที่ 2 เป็นการเซ็นเอ็มโอยูซื้อขายหมอนและที่นอนยางพารา ระหว่าง “ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด” โดยสมนึก เศษสมบูรณ์ ประธานชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด กับ “หาน หรง” ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท สุวรรณไทย จำกัด

ส่วนอีก 2 ฉบับ เป็นการเซ็นเอ็มโอยูว่าด้วยการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน วัสดุการศึกษาที่ผลิตจากยางพารา ระหว่าง “องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ” กับ “ท้องถิ่น” และ “สถานศึกษา” จาก 8 อำเภอใน จ.บึงกาฬ อย่างละ 1 ฉบับ

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อต้องการขับเคลื่อนและยกระดับยางพาราไทยให้ก้าวไกลทั้งในและต่างประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image