เมื่อศิลปินจับไมค์ ร่ายทรรศนะ บทบาทศิลปะ กับ ‘สิทธิมนุษยชน’

"พิกุลทอง" โดย "นักรบ มูลมานัส" ที่มาของคำว่า "กลัวดอกพิกุลจะร่วง" จากนิทานพื้นบ้าน เรื่อง "นางพิกุลทอง ใช้อธิบายกิริยาของหญิงไทยที่สงบเสงี่ยมสำรวมวาจา มิได้เอื้อนเอ่ยสิ่งที่เธอคิดหรือปรารถนา ดอกไม้สีทองที่งดงามกลายเป็นตราบาป และตราหน้าเมื่อพวกเธอทำในสิ่งที่สังคมมองว่า "เกินหญิง" (ภาพประกอบโดย กิตติพัฒน์ แสงศรีสกุลชัย)

ครองความสนใจได้อย่างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับนิทรรศการศิลปะสื่อผสมจากศิลปินคลื่นลูกใหม่ที่ชี้ชวนให้ฉุกคิดแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็น “สิทธิมนุษยชน” และ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” สำหรับงาน The Art of Human Rights โดย สหภาพยุโรป

บริเวณชั้น 2 ของ YELO House ถูกจัดให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนมุมมอง “ศิลปะกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม” โดยผู้มีบทบาทสำคัญในแวดวงศิลปะและวรรณกรรม ไปจนถึง 2 ศิลปินคลื่นลูกใหม่ที่กำลังแสดงผลงานศิลปะเพื่อสิทธิมนุษยชนอยู่ในขณะนี้ร่วมพูดคุยกันอย่างออกรส ท่ามกลางวงล้อมคนหลากวัยที่สนใจงานศิลป์

เพื่อพูดถึง บทบาทของศิลปะแขนงต่างๆ ต่อการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน

แล้วศิลปะจะเกี่ยวข้องกับสิทธิได้อย่างไร?

Advertisement

นักรบ มูลมานัส ศิลปินภาพประกอบแนวคอลลาจ ขอชี้ชวนให้เห็นจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า การอ่านและดูหนังทำให้ตนเข้าใจมุมมองชีวิตที่ต่าง จนก่อเกิดเป็นความเห็นอกเห็นใจ

“สิ่งที่เปลี่ยนมุมมองของโต๊ดคือวรรณกรรมเรื่องหนึ่งที่อ่านตอนมัธยม ช่วงนั้นมีหนังเรื่อง “ไอ้ฟัก” ซึ่งคนวิจารณ์กันมากว่า โป๊ โฉ่งฉ่าง จึงกลับไปอ่านหนังสือของ ชาติ กอบจิตติ และนี่เป็นเรื่องแรกที่อ่านแล้วทำให้ใจเต้นแรง ไม่ใช่ความรักใคร่ แต่เป็นแง่ความเห็นอกเห็นใจและสงสารในชะตากรรม ทำไมชะตากรรมคนคนหนึ่งถึงเป็นไปได้ขนาดนี้ แล้วทำไมสังคมถึงมีมุมมองกับคนคนหนึ่งได้มากขนาดนี้ จุดนั้นเป็นการค่อยๆ เพาะเมล็ดของเราลงไป พอได้ดูหนัง อ่านวรรณกรรม พูดถึงคนหลากหลาย พูดถึงอารมณ์ความรู้สึกของสังคมที่มีผลต่อคน สิ่งเหล่านี้ช่วยปลูกฝังเรา เป็นประสบการณ์ที่ไม่ได้พบเจอด้วยตัวเอง แต่สัมผัสได้จากการ ‘อ่าน ดู ฟัง’ นักรบเล่า ก่อนจะลงลึกถึงประเด็นสิทธิว่า

บ้านเรามีปัญหาสิทธิมนุษยชน แต่อันที่จริงมีปัญหามากกว่าที่เราคิด

Advertisement

“หลายเรื่องที่เราคิดว่ามีอยู่แล้วแต่ไม่ได้สนใจ เช่น สิทธิที่จะเข้าถึงการศึกษา ยังมีคนชายขอบจำนวนมากโดยเฉพาะเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้พูดภาษาไทย ถูกจำกัดสิทธิเข้าถึงการศึกษาเพราะมีปัญหาเรื่องสัญชาติ ทำให้เขาไม่มีสิทธิเข้าโรงเรียนไทย นี่คือสิ่งที่เราหลงลืมไป

“และมีคนจำนวนมากในโลกที่ไม่สามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ของตัวเองในสังคมที่อยู่ได้ และยังมีอีกหลายประเด็น ที่เราไม่ได้นึกหรือพูดถึงกันน้อยมาก”

ที่ว่า “สังคมไทย” คือ “สวรรค์ของ แอลจีบีที” เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานาน ความจริงเราได้รับการยอมรับ หรือเป็นเพียงประเด็นที่รัฐรับไป? คือคำถามที่นักรบทิ้งไว้ชวนให้ขบคิด

นับเป็นการจุดประเด็นให้รู้ว่า ยังมีเรื่องที่ต้องพูดกันอีกมากในสังคม

ดังจะเห็นได้จากงาน “พิกุลทอง” ที่จำลองภาพหญิงสาวริมฝีปากเต็มไปด้วยดอกพิกุลทอง เพื่อเรียกร้องให้ผู้หญิงกล้าหาญที่จะแสดงออกในสิ่งที่เธอคิดหรือเป็น เนื่องด้วยไม่ว่าหญิงหรือชายต่างมีศักดิ์ศรี มีสิทธิ มีอิสรภาพเท่าเทียม โดยปราศจากความหวาดกลัวและความต้องการของมนุษย์โดยทั่วกัน ไปจนถึงงาน “ห้องเรียนของพรุ่งนี้” พูดถึงสิทธิในการศึกษา หรือ “วันอันยาวนาน” เสรีภาพจากการบังคับใช้แรงงาน เผยภาพกรรมกรหญิงชายถูกเชิดให้ทำงานอย่างหนักด้วยเชือกพันธนาการเงิน อันเป็นเพียงแรงจูงใจให้เขาทำงานอย่างหนักโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเหมาะสม แม้ระบบทาสจะถูกยกเลิกไปนานแล้วก็ตาม

“ห้องเรียนของพรุ่งนี้” โดย “นักรบ มูลมานัส” พูดถึงสิทธิในการศึกษา

“เราต้องกล้าจินตนาการ กล้าที่จะมโน กล้าที่จะมองเห็นชีวิตที่ดีกว่า น้ำประปา อากาศบริสุทธิ์เพียงพอแล้ว แต่เราไม่เคยคิดว่าเรามีอะไรที่ดีกว่านี้ได้ เรื่องสิทธิก็เช่นกันประเด็น LGBT เราบอกแค่นี้ก็ได้รับการยอมรับแล้ว แต่เราลืมที่จะคิดว่าความจริงเราสามารถที่จะมีสิทธิที่ดีกว่านี้ได้ ยังมีเรื่องการศึกษา วัฒนธรรม การเข้าถึงสาธารณูปโภค และการเดินทาง เราทุกคนต้องการต้องกล้าที่จะจินตนาการ ช่วยกันทำให้สังคมดีขึ้น อาจจะเริ่มต้นง่ายๆ จากการที่เรา ‘กล้าคิด’ ถึงโลก ประเทศ และสังคมที่ดีกว่านี้” นักรบทิ้งท้าย

ด้าน นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ หรือบอล ช่างภาพและศิลปินรุ่นใหม่ขอจับไมค์เล่าว่า สมัย ม.ต้น มีช่างภาพที่ชอบ โดยเฉพาะผลงาน “ทารกกับดอกไม้” ที่สื่อถึงอาการเกิดใหม่ ความเบ่งบานของดอกไม้ ต่อมาคลี่คลายดอกไม้ตูม คือเด็กแรกเกิดที่ยังไม่ประสีประสาอะไร

และอีกชิ้นหนึ่งที่ประทับใจมากคือ เด็กชายหลายคนอยู่ในแบ๊กกราวด์ดอกไม้ ซึ่งสวยงามมาก แต่ถ้ามองดีๆ ภายใต้ความสวยงามจะพบว่ามีความพิการซ่อนอยู่ เขาใช้งานศิลปะทำให้บางสิ่งบางอย่างที่สังคมมองว่าไม่ปกติกลับมาสวยงามได้

“ตู้แช่” โดย นรภัทร ศักดิ์อาทรทรัพย์ พูดถึง สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

เพราะเห็นการเจริญเติบโตของงาน และแนวคิด ทำให้นรภัทรได้เรียนรู้ว่าจะสามารถพัฒนางานอย่างไรได้บ้าง นำไปสู่การเริ่มต้นโดยใช้ดอกไม้ เพราะไม่มีเรื่องลิขสิทธิ์ และนำเสนอผ่านมุมมองที่จริงใจที่สุด ออกมาเป็น ภาพ “กรอบสังคม” ผลงาน “ตู้แช่” พูดถึงสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึง “เสรีภาพที่จะเบ่งบาน” ผลงานที่พูดถึงเสรีภาพการสื่อสารในสังคมประชาธิปไตย ไปจนถึง “ความเท่าเทียม” ดอกไม้ที่ถูกจัดเรียงบนตาชั่งหนึ่งด้าน อีกด้านคือพืชไม่มีดอกที่ถูกเรียกว่า พืชชั้นต่ำ นำพาให้ฉุกคิดถึงประเด็น “สิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ”

“วันอันยาวนาน” เสรีภาพจากการบังคับใช้แรงงาน ไม่ควรยอมให้มีบุคคลใดตกอยู่ในสภาวะจำยอม รวมทั้งไม่ให้มีความเป็นทาสในทุกรูปแบบ โดย “นักรบ มูลมานัส”
“ความเท่าเทียม” โดย นรภัทร “สวนดอกไม้จะงดงามได้ หากมีความสมดุลกันระหว่างพืชหลากชนิด และทุกต้นได้มีโอกาสแสดงคุณสมบัติและความงดงามได้อย่างเท่าเทียม”

รวมไปถึง ภาพที่ไม่พูดถึงไม่ได้ อย่าง “ความเคลื่อนไหว” ที่ทำร่วมกันกับนักรบ มูลมานัส เพื่อพูดถึงเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ

แม้ส่วนตัวมักทำงาน “แอลจีบีที” แต่นรภัทรบอกว่า เมื่อสัมผัสแต่ละหัวข้อก็รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว

“ถ้าเราประสบก็คงรู้สึกเหมือนกัน เหมือนเราดึงตัวเองเข้าไปสัมผัส เราไม่ได้แค่ผลิตงาน แต่เราได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ ผ่านงานในนิทรรศการชุดนี้ด้วย”

ด้าน นักรบ มูลมานัส ขอเล่ามุมมองที่ซึมซับจากงาน “กรอบสังคม” ด้วยว่า ดอกลิลลี่ที่ถูกกรอบครอบเอาไว้ ในคำอธิบายหมายถึงผู้หญิงโดนจำกัดกรอบ แต่ไม่ใช่เท่านั้นเราจะมองเป็นอะไรก็ได้ ที่ถูกบางสิ่งกำหนดว่ามันควรจะเป็นแบบนั้น

“ความเคลื่อนไหว” ดอกไม้หลากสีที่งอกงามออกจากป้ายรณรงค์ คือสัญลักษณ์ของความงดงามในการรวมตัวกันเพื่อแสดงความเชื่อ ความคิดเห็นอย่างสันติ เป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ แม้บางครั้งจะถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม

หันไปด้าน ประธานกรรมการบริหารนิตยสาร Art4d ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ อดีตผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มองว่า “การที่เราคิดว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไม่มีปัญหา คือ ปัญหา” เพราะเรามีสิทธิที่ควรมีอีกมากที่จำเป็นต้องพูดถึงและรณรงค์ เช่น เรื่อง “เสรีภาพในการแสดงออก” ซึ่งต้องมาพร้อมกับการเคารพความคิดเห็นที่ต่าง

“ตอนที่ทำงานอยู่หอศิลป์ฯ มีนิทรรศการที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันและมีเนื้อหาขัดแย้งกันอย่างรุนแรง แต่นี่คือ ‘ประชาธิปไตย’ คือ ‘ศิลปะร่วมสมัย’

“ส่วนตัวจึงพยายามรณรงค์ว่า เวลาที่ดูงาน เทคนิคสวย มหัศจรรย์ แต่เนื้อหาที่เขานำเสนอคุณอาจจะไม่เห็นด้วย ไม่เป็นไร คุณก็สามารถชอบงานชิ้นนั้นได้ ในขณะที่ดูงานอีกชิ้น คุณเห็นด้วยกับเนื้อหาทุกอย่าง แต่วิธีการนำเสนอไม่มีชั้นเชิงศิลปะ คุณจะไม่ชอบก็ได้ ทั้งที่คุณเห็นด้วยกับเนื้อหาของเขา หรือไม่จำเป็นต้องคิดอย่างนี้ก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย แต่เราควรไปดูงานที่เราคิดว่าจะไม่เห็นด้วย อาจจะเปลี่ยนใจเราหรือไม่ก็ได้ เพื่อเปิดทัศนคติว่าเรามีสิทธิที่จะเชื่อ แสดงออก และแสดงความเห็นได้อย่างไรบ้าง”

“ความ (ไม่) แตกต่าง” โดย “นักรบ มูลมานัส” จาก The Thinker ผลงานชิ้นเอกของ Auguste Rodin ปฏิมากรชื่อดังชาวฝรั่งเศส เปลี่ยนอากัปกิริยาจากนั่งบนแท่นหินมาเป็นรถเข็น ชี้ชวนมองประเด็นสิทธิคนพิการในบริบทที่แตกต่างออกไป

อดีตผู้อำนวยการหอศิลป์ฯบอกว่า เมื่อดูงานของคุณนรภัทร ทำให้นึกถึงสิทธิที่ไม่เคยคิดมาก่อน บางอย่างเราพูดถึงเรื่องไกลตัว เช่น โทษประหาร ซึ่งบางทีเป็นเรื่องที่เบสิกกว่านั้น

“น้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ เรารู้ว่าอยู่เมืองไทย น้ำก๊อกไม่ควรดื่ม ต่างจากต่างชาติที่รัฐบาลรับประกันความสะอาด หรือสิทธิที่เราจะได้อากาศบริสุทธิ์ ซึ่งสุดท้ายก็กลับมาจุดที่ว่า คนไม่ได้สนใจเท่าไหร่”

ทั้งนี้ อยู่ที่คนบริหารจัดการศิลปวัฒนธรรม ที่จะทำให้ศิลปะเข้าถึงประชาชน ผศ.ปวิตรขอมองว่า เราบอกอย่างเดียวไม่ได้ว่าคนต้องไปดูงานศิลปะ ศิลปินต้องเข้าหาประชาชน “ต้องมีคนอยู่ตรงกลาง” ซึ่งเป็นได้ทั้งรัฐบาลและเอกชน

“ในหลายประเทศจะมองเห็นว่าการเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมเป็นสิทธิมนุษยชน เช่น ฝรั่งเศส ระหว่างหางานจะได้บัตรคนตกงาน สามารถไปดูหนังได้ในราคาเท่ากับนักศึกษา แต่ตอนนี้ตกงานจะไปดูหนังยังต้องคิด เพราะต้องจ่ายราคาปกติ ซึ่งไม่ใช่แค่หนัง แต่หมายถึง ดูละคร เข้าพิพิธภัณฑ์ หรือสวนสัตว์ อะไรก็ตาม ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงงานศิลปวัฒนธรรมได้” ผศ.ปวิตรเล่า ชวนให้ฉุกคิดได้ว่า เพราะเนื้อหาที่อยู่ในงานศิลปะสำคัญกว่าเทคนิคของศิลปิน และการถ่ายทอดที่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยก็เข้าใจสิ่งที่เขาคิด แล้วค่อยพินิจว่าเห็นด้วยหรือไม่ จากนั้นจะปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

หากเริ่มเช่นนี้ได้ตั้งแต่เด็ก การที่หนุ่มสาวเดตกันเข้าพิพิธภัณฑ์ ดูละครจะเป็นเรื่องปกติเฉกเช่นนานาอารยประเทศ ตามไอเดียที่อาจารย์ฝากไว้ให้คิด

ด้านนักเขียนหญิง เจ้าของรางวัลซีไรต์ 2 สมัย วีรพร นิติประภา บอกว่า ส่วนตัวใช้จินตนาการข้ามจากตัวเองไปสู่ผู้อื่นที่ไม่เหมือนเราได้ด้วยการ “อ่านนิยาย”

ก่อนจะเผยว่า ชิ้นที่ชอบที่สุดในนิทรรศการชุดนี้ ถึงขั้นบอกว่า “ชอบส่วนตัว” และใช่ทุกอย่าง คืองาน “แท่นบูชา” ที่ส่วนตัวมองอีกมุมว่า จริงๆ แล้ว “มนุษย์เราคือเผ่าพันธุ์เดียวกัน”

วีรพร มองว่า เพราะเราเน้นความเท่าเทียมจึงมองข้ามสิ่งสำคัญที่สุดคือ “ความยุติธรรม”

“ถ้าทุกคนเสมอภาค วีรพรจะมองไม่เห็นเพราะเตี้ย คุณจะต้องหาสแตนด์ให้วีรพร ขอตอบปัญหาเรื่องเด็กไร้สัญชาติ ไม่ใช่แค่ทำให้เท่าเทียม อายุเท่านี้ได้เรียนหนังสือ ไม่! คุณต้องให้เขามากกว่านั้น”

“แท่นบูชา” ผลงานของ “นักรบ มูลมานัส” พูดถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนา

“การทำงานสิทธิมนุษยชนง่ายต่อการข้ามบางประเด็น เพราะเรามองแค่ความเท่าเทียม มีน้ำดื่มสะอาดพอสมควร ให้การศึกษาพอสมควร ให้โอกาสพอสมควร ให้กับทุกคนเท่ากัน แล้วคนที่ด้อยอยู่แล้วล่ะ? คำถามจึงกลับมาที่ความยุติธรรมมากกว่า” วีรพรเล่าก่อนจะกล่าวต่อ

“ความจริงไม่ได้อยู่ที่การรอคอยความเมตตากรุณา ถ้าจะพูดถึงสิทธิมนุษยชนต้องพูดถึงศักดิ์ศรีด้วย

“ศักดิ์ศรีของเขา ว่าควรได้รับมาตรฐานที่ทำให้ดำรงอยู่อย่างมี ‘ศักดิ์ศรี’ ในแง่นี้จะสร้างเสริมและกลับไปที่ความเป็นมนุษย์ไม่มากก็น้อย”

“ส่วนตัวไม่ได้เพื่อความเท่าเทียมอะไร ขอเพื่อโลกจะได้ถูกมองอย่างถูกต้อง” วีรพรทิ้งท้าย

หวังว่าศิลปะจะเป็นพื้นที่ในการเปิดอกสู่การเห็นใจ เพื่อนำพามาซึ่ง “สิทธิ” และ “ความเท่าเทียม” ในสังคมไทย

“กรอบสังคม” กรอบที่ทำให้ดอกไม้ยิ่งดูงดงามน่าชมจากภายนอก โดย “นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์”
“เสรีภาพที่จะเบ่งบาน” โดย “นรภัทร ศักดิ์อาทรทรัพย์” พูดถึง เสรีภาพในการสื่อสาร
ผู้ร่วมเสวนา (คนที่ 2 จากซ้าย) นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์, นักรบ มูลมานัส, ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ และ วีรพร นิติประภา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image