เดินตามปู่ สู้ ‘เฟคนิวส์’ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ สแกนตำรา สังคายนาประวัติศาสตร์ไทย สู่ปีที่ 4 ‘ทอดน่องท่องเที่ยว’

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่ร้อนแรงแบบแย่งซีนลำบากมาก ผุดอีเวนต์คึกคักอย่าง “วิ่งไล่ลุง” ในขณะที่ “ศูนย์ต้านเฟคนิวส์” ของรัฐบาลก็ทำงานหนักอย่างกดไลค์แทบไม่ทัน หันมาดูแวดวงประวัติศาสตร์ก็ไม่น้อยหน้า ต้องบอกเลยว่าตลอดปี 2562 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่าย “มติชน” และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ฝีปากกล้า ก็ร่วมกันยกป้ายท้าทายความเชื่อเก่า นำเสนอข้อสันนิษฐานใหม่ สังคายนาข้อมูลยุ่งเหยิง ต้าน “เฟคนิวส์” ในประวัติศาสตร์ไทยจนกลายเป็นประเด็นร้อนแรงหลายต่อหลายหนผ่านรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” ซึ่งในวันนี้ ต้องขอยืมชื่อหนังสือ รวมบทกวี 2507-2512 ของ ขรรค์ชัย ที่ว่า “ฟ้าแล่บแปล๊บเดียว” ก็เข้าสู่ปีที่ 4 ของรายการดีๆ ซึ่งทุกวินาทีมีความหมาย ไม่เพียงเปิดโลกใหม่ของประวัติศาสตร์ หากแต่โฟกัสยัง “ท้องถิ่น” อันเป็นส่วนสำคัญยิ่งของประเทศไทย

ต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งของไฮไลต์ “ไฝว้เฟคนิวส์” สุดเข้มข้น จาก 12 เดือนในปีกุน จุลศักราช 1381

‘สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก’

ถูกด่าหนัก ไม่ยักแคร์!

เปิดประเด็นโหดตั้งแต่ต้นปี โดยหยิบร่มคู่กายและไม้เท้าเก๋ๆ ชวนให้แฟนานุแฟนทุกช่วงวัยที่มักออกสรรพนามอดีตสองกุมารสยามว่า “(2) ปู่” ออกเดินทางไปยังเมืองเก่าสุโขทัย ประกาศกร้าวอย่างที่เคยทำมานานนับสิบปี ว่าราชธานีแห่งแรกไม่ใช่สุโขทัย อย่างที่ปรากฏในแบบเรียนสังคมศึกษา

“คนสุโขทัยจะด่าเราไหม?” คือประโยคคำถาม (ออกอากาศ) จากเอกภัทร์ เชิดธรรมธร ผู้ดำเนินรายการ ซึ่งแท้จริงแล้วอาจไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่สุจิตต์ตอบด้วยการส่ายหน้า เปล่า! ไม่ใช่ไม่ด่า แต่คนด่าไม่ใช่เฉพาะคนสุโขทัย ทว่าประวัติศาสตร์ชีวิตของตนที่ผ่านมา ถูกด่ามาแล้วจากคนไทยทั่วประเทศ

Advertisement

“พูดเรื่องนี้ทีไรถูกด่าสม่ำเสมอ หลายปีก่อนเคยเขียนหนังสือชื่อ สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก ถูกด่าจากทั่วประเทศ เพราะเขาคุ้นชินกับวาทกรรมตามที่ครูสอน ใครมาบอกย่อมโกรธและตกใจเป็นธรรมดา แต่เมื่อตั้งสติได้ เสียงด่าทอค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ผมอธิบายย้ำตลอดว่า ตามที่ประวัติศาสตร์เขียนบอกไว้ว่าสุโขทัยเพิ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.1800 เป็นราชธานีของไทย ความจริงเก่ากว่านั้น เก่าเท่าไหร่ไม่รู้ แต่หลักฐานเก่าสุดประมาณ 2,000 ปี ไม่ได้คิดเอง กรมศิลปากรขุดพบมากมาย” สุจิตต์กล่าว พร้อมโชว์ภาพให้ดูอย่างจุใจ ทั้งจากบ้านด่านลานหอย คีรีมาศ บ้านวังประจบ ซึ่งพบลูกปัด กลองมโหระทึก โครงกระดูก โลงหิน เครื่องมือโลหะ ชี้ชัดถึงร่องรอยชุมชนใหญ่ ไม่ใช่เล็กๆ สะท้อนการมีอยู่ของชุมชนโบราณอายุนับพันปีที่เชิงเขาหลวง โดยเป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมหินตั้ง” ซึ่งยังหลงเหลือร่องรอยที่ “วัดสะพานหิน” อันเป็นที่ประดิษฐานพระอัฏฐารสบนยอดเขา แล้วยังพบพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี แสดงว่าพื้นที่บริเวณวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ก่อนมีสุโขทัยเป็นพันปีแล้วใช้สืบเนื่องกันมา อารมณ์เดียวกับวัดชมชื่น ซึ่งเจอโครงกระดูกใต้ฐานเจดีย์

สุจิตต์บอกว่า ต่อมา สังคมเปิดใจฟังมากขึ้น เสียงตำหนิค่อยๆ ลดลง ขรรค์ชัย และนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ บางกอกแอร์เวย์ส เคยร่วมกับกรมศิลปากรจัดเสวนาเกี่ยวกับสุโขทัยและศรีสัชนาลัย เมื่อ พ.ศ.2539 มีอาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ร่วมด้วย จากนั้นขรรค์ชัยยังมอบหมายให้ตนรวบรวมข้อมูลพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม ชื่อว่า “พลิกประวัติศาสตร์แคว้นสุโขทัย” เผยแพร่ใน พ.ศ.2540″ สุจิตต์เล่าในรายการ ตอน “สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก แต่เป็นรัฐเล็กๆ จากชุมชน 2,000 ปี”

Advertisement

“หลักฐานก่อนเกิดรัฐสุโขทัยมีมากมาย อย่างวัดสะพานซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมหินตั้ง มีมาก่อนเป็นพันปี และยังพบพระพุทธรูปแบบทวารวดีบนยอดเขาด้วย ต่อมา เมื่อราว 1,500 ปีมาแล้ว สุโขทัยมีการติดต่อค้าขายทางไกล มีเมืองคู่คือ ศรีสัชนาลัย ซึ่งมีพัฒนาการสืบเนื่อง สิ่งที่ทำให้ประวัติศาสตร์สุโขทัยสนุกสนานมีสีสันคือชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน การแต่งกาย และวรรณกรรมสุโขทัย ไม่ใช่แค่วัด หรือประวัติศาสตร์ศิลปะ”

แม้เก่าแก่กว่าที่เข้าใจ แต่อย่างไรก็ตาม สุโขทัยไม่ช่ราชธานีแห่งแรกของไทย เพราะประเทศไทยยังไม่มี และที่สำคัญคือ สุโขทัยเกิดขึ้นเพราะการสนับสนุนของ “อยุธยา” ซึ่งมีความเป็นมาก่อนสุโขทัยเสียอีก

“อยุธยามีมาก่อนสุโขทัย เพราะมาจากละโว้ กษัตริย์ละโว้มาเป็นกษัตริย์อยุธยา เพียงแต่ย้ายศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นอยุธยาเป็นคนหนุนให้เกิดสุโขทัย การที่ประวัติศาสตร์ไทยบอกว่าสุโขทัยคือราชธานีแห่งแรก และอยุธยาเป็นแห่งที่ 2 ก็ผิด

ในสำนึกของอยุธยา สุโขทัยคือพื้นที่ของเขา ส่วนสุพรรณ ถือว่าสุโขทัยเป็นเครือญาติ เป็นบ้านพี่เมืองน้อง” สองกุมารสยามฟันธงกลางอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย!

ยิงหมัดตรง ‘นางนพมาศ ไม่มีจริง’

ลอยกระทง ประเพณีเกิดใหม่

อีกหนึ่ง “ประวัติศาสตร์ปลอม” ที่คนไทยเคยรับรู้ตลอดมา อย่างการมีอยู่ของนางนพมาศ สาวงามครั้งกรุงสุโขทัยที่ประดิดประดอยกระทงถวายพระร่วงเจ้านั้น “ขรรค์ชัย-สุจิตต์” ก็ยืนยันว่าไม่จริง!

“อย่าไปหลอกเขาว่าลอยกระทงในตระพัง สุโขทัย เราต้องพูดความจริงกัน ว่ามันเกิดในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่มีศูนย์กลางอยู่อยุธยา ตระพังน้ำนิ่ง ขุดขึ้นมาใช้ในวัดกับวัง เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ขุดไว้ลอยกระทง ย้ำนะครับ ผมไม่ได้ต่อต้านประเพณีลอยกระทงที่สุโขทัย แต่คัดค้านคำอธิบายทั้งเรื่องการเผาเทียนเล่นไฟในจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่าเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทง และเรื่องนางนพมาศที่มักเชื่อกันว่ามีตัวตนจริงในยุคสุโขทัย ประดิษฐ์กระทงถวายพระร่วง แต่จริงๆ แล้วเป็นแค่เรื่องแต่งในยุคกรุงเทพฯ เป็นคู่มือสอนผู้หญิงที่จะรับราชการ”

สุจิตต์ยิงหมัดตรง แล้วอธิบายเพิ่มเติมแบบรัวๆ ว่า “เผาเทียนเล่นไฟ” ในจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีความหมายกว้างๆ ถึงงานทำบุญไหว้พระ และมีการละเล่นเป็นแนว “มหรสพ” เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับลอยกระทง จากนั้นจึงย้อนเล่าความหลังครั้งยังหนุ่มแน่น ว่าแรงผลักดันที่จะอธิบายความจริงต่อสังคมในประเด็นนี้ คือแรงผลักดันในการก่อตั้ง นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2522 หน้าปกงดงามขรึมขลังด้วยภาพอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

สำหรับที่มาของการลอยกระทง สุจิตต์อธิบายว่า มีรากเหง้ามาจากการขอขมา ผีน้ำผีดิน ในศาสนาผี ไม่ใช่พุทธ หรือพราหมณ์ ส่วนที่เรียกตอนหลังว่าขอขมาแม่พระคงคา แม่พระธรณี เป็นการยืมศัพท์ของอินเดียมาใช้เท่านั้น

ไม่เพียงมาเล่าความหลังครั้งยังหนุ่มแน่นเมื่อคราวออกสำรวจสุโขทัยในวันที่เป็นป่ารก พร้อมศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม สมัยยังเป็นอาจารย์คณะโบราณคดี รั้วศิลปากร แต่สองกุมารสยามยังลุยเสนอข้อมูลรื้อสร้างประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นที่ถูกใจวัยรุ่นที่รับชมเฟซบุ๊กไลฟ์ “มติชนออนไลน์” และเพจในเครือเป็นอย่างยิ่ง

เช่นเดียวกับประเด็น “สงกรานต์” ที่สิ่งพิมพ์ในเครือมติชน โดยเฉพาะนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” เคยพากเพียรเน้นย้ำว่าไม่ใช่แค่ “ปีใหม่ไทย” หากแต่การสาดและประพรมน้ำเป็นวัฒนธรรมร่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออุษาคเนย์ พร้อมชี้เป้าให้เข้าแนวทางสมานฉันท์ อย่าตีรันฟันแทงยื้อแย่งความเป็นเจ้าของเฉกเช่นดราม่าที่เคยเกิดทุกปี กระทั่งค่อยๆ ซาลงไปด้วยความรับรู้และเรียนรู้ของสังคมไทยในวันนี้

‘ชากังราว’ ไม่ใช่ ‘กำแพงเพชร’

แต่ไม่ต้องเปลี่ยนยี่ห้อเฉาก๊วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประวัติศาสตร์ที่พร่ำสอนกันมา ส่วนใหญ่เน้นย้ำไปที่ฉาก “สงคราม” และการเมือง ทว่า ยังมีจิ๊กซอว์ที่ขาดหาย ซึ่งสุจิตต์-ขรรค์ชัยยืนยันว่า “การค้า” ต่างหาก ที่เป็นหัวใจสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกให้ความสำคัญมากเท่าที่ควรจะเป็น

เมื่อครั้งทอดน่องยัง อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตอน มหัศจรรย์มหาศิลาแลงเมืองกำแพงเพชร ประเด็นนี้จึงถูกจัดเต็ม อย่างเห็นภาพ

“สำหรับประวัติศาสตร์ที่ผมจะเล่ามีความแตกต่างจากประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ซึ่งไม่เน้นประวัติศาสตร์ศิลปะแบบเจ้าอาณานิคมอย่างที่นิยมกัน แต่เริ่มต้นตั้วแต่เมื่อครั้งยังเป็นชุมชนเกษตรกรรมดั้งเดิม เมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว ต่อมาเป็นชุมชนการค้าชั่วคราวบนเส้นทางคมนาคมยุคการค้าโลก เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว กระทั่งเป็น เมืองสองฝั่งน้ำในอำนาจรัฐอยุธยา-สุพรรณภูมิ เมื่อราว 600 ปีก่อน เป็นต้น” 2 ปู่ของแฟนคลับเล่า ก่อนย้ำว่า

“หัวใจของเมืองไม่ได้อยู่ที่การเมือง แต่อยู่ที่การค้า เมืองเกิดบนเส้นทางการค้า ถ้าไม่มีก็ไม่มีทรัพยากรทางเศรษฐกิจมาสร้างเมือง”

มาถึงประเด็นสำคัญ แถมอร่อยอย่าง “ชากังราว” ชื่อเมืองเก่าที่กลายเป็นยี่ห้อเฉาก๊วย โดยขรรค์ชัย-สุจิตต์ยกหลักฐานต้านเฟคนิวส์ หรือความเชื่อเก่าที่ว่า ชากังราวคือกำแพงเพชร

“เมืองกำแพงเพชรอยู่น้ำแม่ปิง เมืองชากังราวอยู่แม่น้ำน่าน เป็นคนละเมืองคนละแม่น้ำ ไม่ใช่เมืองเดียวกันตามที่เคยเชื่อถือกันมานาน อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์โบราณคดีไทย กรมศิลปากร แสดงหลักฐานแล้วอธิบายรายละเอียดไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ.2539

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวถึงเมืองชากังราวเป็นครั้งสุดท้ายในเรื่อง ราวเมื่อ พ.ศ.1994 โดยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนั้นว่าพระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ลงมายึดเมืองชากังราว และจะเข้ายึดเมืองสุโขทัย แต่ทำไม่สำเร็จจึงยกทัพกลับคืนไป

หนังสือพงศาวดารโยนก โดยพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ได้เล่าเหตุการณ์ไว้ตรงกันชี้ให้เห็นเส้นทางการยกทัพของพระเจ้าติโลกราชว่าพระองค์มาจากเขตล้านนาทางเมืองแพร่หรือเมืองน่าน ซึ่งจากทั้งสองเมืองเมื่อผ่านพื้นที่เขาสูงของล้านนาแล้วก็จะถึงที่ราบแห่งแรกคือทุ่งย้างเมืองฝาง (จ.อุตรดิตถ์) ที่อยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน

เอกสารของล้านนาที่เล่าเหตุการณ์ตอนนี้เป็นหลักฐานที่สอดคล้องกับเอกสารของกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ การบอกศักราชของเหตุการณ์เดียวกันเมื่อ พ.ศ.1994 เป็นเรื่องสงครามครั้งแรกระหว่างพระเจ้าติโลกราชกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเหมือนกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องมาพิจารณาข้อความที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวไว้อย่างรวบรัดว่า “…มหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้…” ในขณะที่เอกสารล้านนาเล่าเรื่องอย่างละเอียดว่า พระเจ้าติโลกราชได้เมืองในลุ่มแม่น้ำน่านตั้งแต่เหนือไปใต้ คือเมืองทุ่งยั้งในเขต จ.อุตรดิตถ์ เมืองสองแควใน จ.พิษณุโลก และเมืองปากยมในเขต จ.พิจิตร แสดงว่าเมืองชากังราวควรอยู่ระหว่างเมืองทุ่งยั้งกับเมืองสองแควมากกว่า คืออยู่เหนือเมืองสองแควขึ้นไป ได้แก่ เมืองพิชัย อ.พิชัย จ.พิษณุโลก”

อธิบายยาวมาก เพราะอยากให้แจ่มชัดในหลักฐาน ยืนยันว่าไมได้คัดค้านโดยใช้จินตนาการหรือความรู้สึก ซึ่งระหว่างที่ขรรค์ชัยและสุจิตต์กำลังเปิดเผยรายละเอียดข้างต้น มีนักศึกษาหนุ่มรายหนึ่ง นำ “เฉาก๊วยชากังราว” มามอบให้ ครั้นรับมอบเฉาก๊วยแล้วไซร้ 2 ปู่ก็ย้ำชัดว่า แม้ชากังราวไม่ใช่กำแพงเพชร แต่ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อยี่ห้อเฉาก๊วยแต่อย่างใด ขอให้รับรู้ไว้เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็เพียงพอแล้ว

‘ไชน่าทาวน์’ ไม่ได้มีแค่ชาวจีน

แต่ยังมีญวน ฝรั่ง จีน ไทย แขก ฯลฯ

นับเป็นตอนที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม เมื่อครั้งขรรค์ชัย-สุจิตต์ จูงมือย้อนอดีตยังหย่อมย่านเก่าแก่อันเป็นที่ตั้งสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 4 แห่ง ได้แก่ วัดมังกร, สามยอด, สนามไชย และอิสรภาพ ซึ่งไม่เพียงเป็นการสร้างประวัติศาสตร์บทใหม่ของการคมนาคมไทย หากตัวสถานีเองยังตั้งอยู่ในพื้นที่สำคัญซึ่งมีความเป็นมาอันยาวนาน ชวนให้หมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปซึมซับเรื่องราวสุดลึกซึ้ง ชวนให้หัวใจเต้นเร็วไปกับภาพจินตนาการแห่งความทับซ้อนของพื้นที่ ผู้คน ชุมชนในย่านต่างๆ ก่อนกลายเป็นสถานีสำคัญทั้ง 4 แห่ง

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่เข้าใจคลาดเคลื่อนกันมานาน คือ เรื่องราวของ “ไชน่าทาวน์” ที่ได้รับการเปิดเผยโดย (ว่าที่) ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร แขกรับเชิญของรายการ

“สำเพ็ง เยาวราช เจริญกรุง ไม่ได้มีแค่ชาวจีน แต่มีความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรมสูงมาก เพราะเจริญกรุงเป็นที่อาศัยของฝรั่งนานาชาติที่มาตั้งสถานกงสุลเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวญวนจากเวียดนามก็มาอยู่ ฝรั่ง จีน ไทย แขก ผสมผสาน ถนนสายนี้ตัดสมัยรัชกาลที่ 4 เดิมไม่มีชื่อ แต่เรียกว่านิวโรด ต่อมาพระราชทานนามว่าเจริญกรุง ถนนเส้นนี้ทำให้การสัญจรสะดวก พัฒนาเป็นย่านการค้า มีการสร้างตึกแถวสมัยใหม่แบบจีนผสมฝรั่ง คนไทยรู้จักในนามชิโนโปรตุกีส มีสร้างวัดเล่งเน่ยยี่ในต้นรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2414 และมีวัดไทยที่สำคัญ คือวัดคณิกาผล วัดกันมาตุยาราม เป็นต้น ส่วนถนนเยาวราช ตัดในปี 2433 ต่อมา ในปี 2450 มีถนน ซอกซอยมากขึ้น สำคัญคือถนนพลับพลาไชย ถนนแปลงนาม ซึ่งเดิมเรียกว่าตรอกป่าช้าหมาเน่า เพราะเป็นที่ทิ้งขยะ กลิ่นเหม็นมาก นี่คือสิ่งที่แสดงประวัติศาสตร์สังคมชาวจีนและหลายชาติ”

ให้ภาพ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ที่มักถูกมองข้ามในประวัติศาสตร์ไทยได้เป็นอย่างดี การมีสถานีรถไฟฟ้า คืออีกหนึ่งทางเลือกของการเดินทางยุคใหม่ที่คู่ขนานไปกับภาพประวัติศาสตร์สังคมทุกช่วงชั้น ตั้งแต่เจ้านาย ไพร่ฟ้า สามัญชนคนธรรมดา ผู้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็น “กรุงเทพมหานคร” ในศตวรรษที่ 21

“วัดเจ้าฟ้าอากาศฯ” ในนิราศวัดเจ้าฟ้า

ไม่ใช่ “วัดเขาดิน” อยุธยา

ปิดท้ายในตอนท้ายสุดของปี 2562 ซึ่งจะออกอากาศในวันอังคารที่ 31 ธันวาคมนี้ เวลาบ่ายสองเช่นเคย สำหรับรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอน “สุนทรภู่ตามรอยพระเจ้าตากไปวัดเจ้าฟ้าของพระเจ้าเสือ เมืองอู่ตะเภา หนองแซง-หนองแค สระบุรี”

สุจิตต์หอบหลักฐานคัดค้านข้อสันนิษฐานเดิมที่ว่า “วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์” ในนิราศวัดเจ้าฟ้า คือวัดเขาดิน พระนครศรีอยุธยา โดยมีข้อเสนอใหม่ที่ว่า ควรเป็น “วัดสนมไทย” บริเวณเขาพนมยงค์ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี

“เมื่อ พ.ศ.2505 ธนิตย์ อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร เคยตั้งข้อสันนิษฐานว่า วัดเจ้าฟ้า คือวัดเขาดิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมา เปลื้อง ณ นคร และคณะนักปราชญ์สนับสนุนแนวคิดนี้ ทำให้เชื่อกันเช่นนั้นตลอดมา อย่างไรก็ตาม จากภูมิศาสตร์ของวัดเขาดินและข้อความที่พรรณนาในนิราศขัดแย้งกัน ทั้งการที่ต้องรอนแรม ปีนโขดหิน และระยะเวลาการเดินทาง ตนจึงเชื่อว่าน่าจะเป็นวัดในจังหวัดสระบุรีมากกว่าโดยเคยเชื่อว่าวัดเจ้าฟ้าคือ วัดพระพุทธฉาย แต่ล่าสุด ผมออกสำรวจใหม่ และค้นคว้าหลักฐานต่างๆ จากทางข้อความในวรรณคดีเรื่องดังกล่าวประกอบอีกทั้งร่องรอยอื่นๆ พบว่าวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์นั้นมีความเป็นไปได้ว่า คือ วัดสนมไทย โดยเฉพาะข้อความในนิราศท่อนที่ระบุว่า “พอเย็นจวนด่วนเดินขึ้นเนินโขด ถึงตาลโดดดินพูนเป็นมูลสูง พบว่ามีความใกล้เคียงกับสภาพภูมิประเทศบริเวณวัดแห่งนี้มากกว่า เนื่องจากไม่ได้อยู่บนภูเขา แต่อยู่ช่วงเนินหรือปลายเขาที่พื้นที่ยกสูงไม่มากนักและมีก้อนหินใหญ่น้อยมากมาย ที่โดดเด่นคือหินขนาดใหญ่ 3 ก้อนเรียงกันที่ดูมีลักษณะพิเศษ ซึ่งในสมัยโบราณมักถูกเชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า เจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ยังมีความหมายเชื่อมโยงกับ ‘พระเจ้าเสือ’ แห่งกรุงศรีอยุธยา”

สุจิตต์ยังบอกว่า สุนทรภู่เป็นคนชอบเล่นแร่แปรธาตุ ตามหายาอายุวัฒนะและระบุไว้เองว่าได้ “ลายแทง” เรื่องวัดเจ้าฟ้าจากเมืองเหนือ ซึ่งหมายถึงภาคกลางตอนบนไม่ใช่ล้านนา เล่าถึงพระเจ้าตะเภาทองไปเที่ยวบนเขา พบก้อนหินมหึมาสีขาว จึงสร้างวัดบนเขา ตั้งชื่อว่าวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ สอดคล้องกับภูมิศาสตร์วัดสนมไทย

“อากาศคือ ท้องฟ้า นาถนรินทร์คือ ที่พึ่งของมวลเทวดา ในคำให้การชาวกรุงเก่ากับคำให้การขุนหลวงหาวัด เรียกพระเจ้าเสือว่าพระศรีสุริเยนทร์ ซึ่งหมายถึงพระอาทิตย์ เจ้าฟ้าอากาศคือใคร ก็คือพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นผู้เป็นใหญ่แห่งท้องฟ้า นี่คือสิ่งที่ตรงกันอย่างไม่น่าเชื่อ บริเวณนี้ที่เรียกกันว่าเขาพนมยงค์ จริงๆ แล้วเดิมคือคำว่าพนมโยง หมายถึง เป็นพื้นที่เชื่อมต่อ หรือโยงกับเขาลูกใหญ่ ปรากฏในสมุดภาพไตรภูมิ สมัยอยุธยา ในพระราชพงศาวดารบอกว่า พระเจ้าเสือเคยเสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ ทั้งหมดนี้ชี้ว่าเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์คือพระเจ้าเสือแน่นอน”

เป็นส่วนหนึ่งในเฟคนิวส์ทางประวัติศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจ เมื่อมีหลักฐานใหม่ สังคมไทยควรได้ร่วม “คอมเมนต์” ดังเช่นขรรค์ชัย-สุจิตต์ ผู้เดินทางผ่านกาลเวลาของชีวิตตัวเองมานานกว่า 7 ศตวรรษ ทว่า ไม่เคยหยุดศึกษา ซ้ำยังต่อสู้กับอวิชชา คือ ความไม่รู้ เพื่อเปิดเผยความจริง ซึ่งเป็นแนวทางของหนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศตลอดมา


รวบตึงข้อเสนอแนะ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์’

เมื่ออดีต คือ รากฐานอนาคต

1.การพัฒนานั้น สามารถควบคู่ไปกับการดูแลรากฐานมรดกสังคมวัฒนธรรมภาครัฐและท้องถิ่นให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งแม่น้ำลำคลอง รวมถึงคูน้ำคันดินของเมืองโบราณ ควรมีการชักน้ำเข้ามาให้ร่มรื่น อุดมสมบูรณ์ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนในปัจจุบัน

2.ไม่ต่อต้านการพัฒนา แต่ต้องไม่ให้เมืองโบราณถูกย่ำยีด้วยการคมนาคมสมัยใหม่ ถ้าทำให้ควบคู่กันได้อย่างลงตัว เมืองโบราณจะเป็นปอดและหัวใจให้เมืองร่วมสมัยในปัจจุบันที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

3.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่าทิ้ง “นิทานท้องถิ่น” ซึ่งทางการควรยกย่องเป็นจุดขายเพื่อผลักดันครีเอทีฟ อีโคโนมี ในอนาคต

4.ต้องให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กระจายอำนาจ อย่ากระจุกตัว เมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง มีพลัง รู้ซึ้งถึงความเป็นมาของตัวเอง ประเทศไทยย่อมไม่อ่อนแอ

สำหรับปีหน้า มีการพัฒนารูปแบบ เนื้อหา ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น ส่วนจะเป็นอย่างไร ติดตามได้เช่นเดิมผ่านช่องทาง เฟซบุ๊กเพจ “มติชนออนไลน์”, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image