ก่อนจะถึงพรุ่งนี้ ความหวังหลังเที่ยงคืนของ ‘ไทยแลนด์’ หลากมิติ

หลังผ่านพ้นเวลาเที่ยงคืนของวันที่ปรากฏบนมุมขวาของหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ว่า อังคารที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2562 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่แบบสากลในวันพุธที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2563

“ความหวัง” คือ คำหนึ่งในถ้อยคำที่ถูกเอ่ยถึงบ่อยครั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสิ่งเก่าสู่สิ่งใหม่ จากปีเก่าสู่ปีใหม่ จากสถานการณ์เก่าๆ สู่สถานการณ์ใหม่ๆ ที่หากเลือกได้ ใครๆ ก็อยากให้เป็นเครื่องหมาย “บวก”

ก่อนจะถึงพรุ่งนี้ มาเจาะทรรศนะจาก “กูรู” ด้านต่างๆ ถึงแนวโน้มปีหน้า ว่าจะรุ่ง หรือร่วง ปัง หรือแป้ก “มงลง” หรือต้องปลงแต่เนิ่นๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สถานการณ์โลก รวมถึงดวงชะตาฟ้าลิขิต เป็นอีกหนึ่งในความสนใจลำดับต้นๆ ที่ผู้คนเฝ้าติดตาม

คสช.ผู้ไม่แพ้ ไม่เชื่อแก้ รธน.สำเร็จ

ปรากฏการณ์เด็ด ‘จ้อง’ ประชุมสภา

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ถ้าหวังอยากเห็น คสช.และพลพรรคหมดอำนาจเร็วๆ และพ่ายแพ้ คิดว่าไม่มีความหวังในเร็วๆ นี้ เพราะกลไกที่ถูกวางไว้ เขามีวิธีการและเครื่องมือที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปอย่างค่อนข้างแน่นหนา แต่ถ้ามองประชาธิปไตยโดยรวม ก็เห็นแต่พัฒนาการในทางที่ดี การที่ คสช.ทำรัฐประหารได้ตั้งแต่ปี 57 ผ่านรัฐธรรมนูญ 60 ออกมาได้ในการทำประชามติ ผ่านกฎหมายต่างๆ ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นเพราะภาคประชาชนไม่ค่อยตื่นตัว ไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมืองการปกครอง ไม่ได้มีความคิดที่จะต่อต้านอำนาจแบบนี้อย่างชัดเจนตกผลึกในสังคม อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าแนวโน้มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่ายิ่งนานวัน คนที่เข้าใจแบบลึกซึ้งว่าการปกครองแบบเผด็จการที่ตรวจสอบไม่ได้ มันไม่ดีอย่างไร คนที่ตื่นตัวสนใจการเมืองก็มากขึ้น อย่างการติดตามการประชุมสภา ในช่วงชีวิตของผมไม่เคยเห็นว่าใครสนใจการถ่ายทอดสดมากขนาดนี้ แต่ปี 2562 ประชุมสภาทีไรก็ขึ้นแฮชแท็กทวิตเตอร์ คิดว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่ดีมากสำหรับพัฒนาการประชาธิปไตยซึ่งประเทศอื่นที่แม้จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งอย่างชอบธรรม ก็อาจไม่มีปรากฏการณ์แบบนี้เลย

Advertisement

สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่คิดว่าจะสำเร็จภายในปี 2563 เชื่อว่าจะไม่ได้เห็นฉบับแก้ไขออกมาใช้ กรรมาธิการให้เวลาตัวเอง 120 วัน ซึ่งไม่น่าจะเสร็จได้ รัฐธรรมนูญมีเรื่องคุยเยอะจะตาย แต่ละคนที่เข้าไปก็เห็นต่างกันสุดขั้ว ไม่น่าจะคุยกันรู้เรื่องและมีข้อสรุปที่เห็นตรงกันได้ในเร็ววัน หากมีการแก้จริงโดยเป็นสิ่งที่เสนอแล้วเป็นประโยชน์ต่อพรรคฝ่ายค้าน ส.ว.ก็คงโหวตไม่เอา แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เสนอแล้วเป็นประโยชน์ต่อ คสช. พรรคฝ่ายค้านก็คงโหวตไม่เอา ถ้าพรรคฝ่ายค้านหรือ ส.ว.โหวตไม่เอา มันก็ไม่ผ่าน ดังนั้น ข้อเสนอที่ชอบธรรมที่สุดและเป็นไปได้ที่สุดก็คือ การแก้ไข ม.256 คือการแก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งต้องผ่านประชามติด้วย เลยคิดว่าไม่เร็วแน่นอน

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ “ไอลอว์”

Advertisement

เทรนด์ใหม่ ‘พัฒนาเมือง’

ผลักไส ‘คนจน’ บนคำว่า ‘ครีเอทีฟ’

รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ

ลำบากนะสำหรับการพัฒนาเมือง เพราะรัฐเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่ใช้วิธีไล่รื้อ แล้วใช้กฎหมายบังคับไปเป็นการใช้ความร่วมมือกับกลุ่มวิชาชีพ และนักวิชาการมากขึ้น รูปแบบเลยเปลี่ยน มีความสวยงามมากขึ้น แต่ผลลัพธ์คือคนจนจะถูกผลักออกไปจากเมือง จะมีความซับซ้อนกว่าเดิม เพราะชนชั้นกลาง สถาปนิก นักผังเมืองจะเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาซึ่งหากดูภาพรวมจะเห็นว่าดีงามขึ้น แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของคนกลุ่มเดียว ตัวอย่างชัดๆ เป็นรูปธรรมและกำลังเป็นเทรนด์คือ การใช้คำว่า ครีเอทีฟ เช่น ครีเอทีฟ ซิตี้ ครีเอทีฟ ดิสทริค อะไรพวกนี้ ซึ่งภาพโดยทั่วไป มักมองกันว่าเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วในทรรศนะผม มันเป็นเรื่องของชนชั้นกลางระดับบนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทำเลนจักรยานดีๆ สวนสาธาณะสวยๆ ฮิปโฮเท็ล ชิคคาเฟ่ กราฟฟิตี้ หรือฟู้ดทรัค

แนวโน้มปีหน้าและอนาคตระยะใกล้ เทรนด์การพัฒนาเมือง จะเข้าสู่ตระกูลครีเอทีฟพวกนี้ ซึ่งคนจะหลงว่านี่คือแนวคิดที่ดี แต่สุดท้ายมันซ่อนความโหดร้ายคือการผลักคนจนเมืองออกไป ไม่ต่างจากระบบก่อนหน้านี้ ที่ใช้เจ้าหน้าที่มาเวนคืน ไล่รื้อ ผลลัพธ์ ไม่ต่าง แต่แบบนี้แนบเนียนกว่า และจะได้รับการตอบรับจากคนที่เสียงดังที่สุดในสังคมคือ ชนชั้นกลางและสื่อมวลชนที่มองโครงการประเภทนี้ที่มาในรูปของการฟื้นฟูเมือง แต่มักเคลือบไว้ด้วยเป้าหมายซ่อนเร้น

สำหรับทางออก ต้องมองทางเลือกที่ 3 ตอนนี้การพัฒนาเมือง เรามี 2 ตัวเลือก ทั้งที่มันไม่ตันขนาดนั้นหรอก ตัวอย่างเช่น สตรีทฟู้ด จะเจอภาพ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งบอกว่า ต้องเก็บธรรมชาติของสตรีทฟู้ดไว้ เพราะเป็นวัฒนธรรม เป็นเสน่ห์ อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่า ตกลงจะไม่ให้ทำอะไรสตรีทฟู้ดเลยใช่ไหม มันเบียดพื้นที่คนเดินฟุตปาธทุกวัน ถามว่าจริงไหม จริง! เลยนำไปสู่การจัดระเบียบ เคลียร์ทุกอย่างให้โล่ง เพราะฉะนั้นต้องหาทางเลือกที่ทั้งเก็บสตรีทฟู้ดให้ได้เหมือนเดิม ในขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่เดินเท้าได้โดยสถาปนิก หรือนักออกแบบควรเข้าไปเพื่อหาทางเลือกที่ 3 ไม่ใช่เข้าไปเพื่อทำให้มันสวย

กรณีทางเลียบเจ้าพระยา การจัดระเบียบริมคลองก็เหมือนกัน โจทย์ถูกวาง 2 ขั้วตรงข้ามเสมอ ระหว่าง เก็บไว้ เพราะเป็นเรื่องคนจน ชุมชนเมือง ต้องให้สิทธิ ในขณะที่อีกซีกหนึ่งบอกว่าคนพวกนี้รุกรานพื้นที่สาธารณะ ผิดกฎหมาย ต้องไล่รื้อ ซึ่งผมพูดมาตลอดว่าเราอย่าตกอยู่ในกับดักของคู่ตรงข้าม อย่าคิดว่าสุดท้ายแล้ว มีแค่ 2 ทางคือไล่รื้อการบุกรุกที่ริมน้ำ หรือไม่ก็กลายเป็นทางจักรยาน เป็นสวนสาธารณะ เราไม่เอาทั้ง 2 แบบได้ไหม แต่เอาทางอื่นได้ไหม เอาการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบอื่นที่สุดท้ายแล้วผลออกมาไม่ต้องเป็นฮิปโฮเท็ล ชิคคาเฟ่ เลนจักรยาน มีไหม แต่ตอนนี้ในสังคมไทยยังไม่มี

รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ

อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร


รัฐรวมศูนย์ ‘สิทธิมนุษยชน’ กระเตื้องช้า

แนวโน้มดี แต่ยังน่าห่วง

สุรพงษ์ กองจันทึก

เรื่องสิทธิมนุษยชนโดยหลักการปีหน้าน่าจะดีขึ้น แต่เราก็ยังเป็นห่วงจริงๆ เพราะคนที่กุมอำนาจยังเป็นคนเดิมๆ วิธีการคิดจัดการบ้านเมืองยังเป็นวิธีการคิดแบบเดิมๆ อยู่ แม้ระบบจะเปลี่ยนไปแล้ว มีการเลือกตั้งแล้วก็ยังนำไปสู่การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนเหมือนเดิมในหลายเรื่อง อยากให้ผู้ที่บริหารบ้านเมืองซึ่งซ้ำเดิมอยู่ตลอด มีความคิดใหม่ๆ ตามปีใหม่ที่เปลี่ยนไปด้วย อย่าเอาเรื่องเก่าๆ ที่ตนเองเคยก่ออำนาจไว้สมัยก่อน มาใช้กับระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบในตอนนี้

ประชาธิปไตยคือการฟังเสียงของประชาชน ทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน หวังว่าปีใหม่จะเป็นปีที่ผู้บริหารบ้านเมือทุกฝ่ายจะมองประโยชน์สุขของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของตน ของกลุ่ม ของพวกตัวเอง

เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง เพราะเรายังมีวิธีคิดแบบเดิม คือ รวมศูนย์เข้าสู่รัฐ และรัฐในความหมายของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมาคือ เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจจริงๆ ว่า รัฐคือประชาชนทุกคน คือประโยชน์สุขของสังคม ประโยชน์สุขของประชาชนต่างหากที่คือรัฐ พอไปคิดว่ารัฐคือเจ้าหน้าที่เราจึงพบข่าวของเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่นำไปสู่ความไม่สงบสุขของประชาชน เช่นนี้ เป็นการทำผิดหน้าที่รัฐ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐยังเหมือนเดิมอยู่ก็น่าห่วงว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนหลายเรื่องจะยังไม่ได้กระเตื้องขึ้นนัก

ถามว่ามีหวังไหม ที่จริงเราหวังไว้ตลอด แต่ที่ผ่านมาเรียนว่ามีการพัฒนาไปอย่างเชื่องช้ามาก อยากให้ทุกคนปรับปรุงตัวเองและนำสิ่งที่ดีมาสู่สังคมอย่างแท้จริงในช่วงปีใหม่นี้

สุรพงษ์ กองจันทึก

ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม


เศรษฐกิจไทย สถานการณ์โลก

สแกนกระเป๋าตังค์ หวัง ‘ไม่ตกต่ำไปกว่านี้’

รศ.สมพร อิศวิลานนท์

ความหวังของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ปัจจัยแรกคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เรื่องสงครามการค้าจะยังก้าวหน้าไปมากน้อยแค่ไหน ที่ผ่านมามีข้อตกลงเกิดขึ้นแล้วซึ่งจะเห็นว่าหุ้นของสหรัฐพุ่งกระฉูดขึ้น และนี่คือนิมิตหมายอันดีที่จะทำให้เรื่องสงครามการค้าผ่อนคลายลง แต่ในอนาคตหากสองฝ่ายคุยกันได้มากขึ้นก็จะช่วยเศรษฐกิจโลกได้มากขึ้นด้วย เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างเป็นยักษ์ใหญ่ในทางการค้า

ในเรื่องการค้า ประเด็นสำคัญคือ การเจรจา ส่วนเรื่องเบร็กซิท กับสหภาพยุโรป (EU) จะเป็นอีกปัจจัยซึ่งอาจจะไม่ได้กระทบกับเรามากนัก เหตุเพราะการเติบโต (Growth) ของยุโรปก็ไม่ค่อยดีนัก จึงอาจจะมาดูเรื่องราคาน้ำมัน เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจของเรามากกว่า ราคาน้ำมันวันนี้อาจจะยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นบ้าง แต่คงไม่มากไปกว่านี้ เนื่องจากมีหินน้ำมันของอเมริกาที่เข้ามาแทนที่ ซึ่งเมื่อก่อนอเมริกาต้องนำเข้า ระยะหลังอเมริกาส่งออกจึงเป็นตัวคานราคาอยู่ อาจจะไม่ขึ้นไปถึง 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่อยู่ประมาณ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปัญหาคือ เศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับเฟืองจักรกลของ 1.สินค้าเกษตร ซึ่ง ณ วันนี้ ที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ส่วนตัวมองว่ารากเหง้าสำคัญเป็นเพราะสินค้าเกษตรไม่ได้สูงขึ้นแต่ปรับตัวลง 2.การที่รัฐช่วยเรื่องประกันรายได้ก็อาจจะช่วยได้บ้าง แต่หนี้สินของชาวบ้านมีมาก เวลาจ่ายส่วนต่างเมื่อได้รับเงินก็ต้องเอาไปจ่ายหนี้ กล่าวคือในปีหน้ากระแสเงินจะหมุนเวียนอย่างช้าๆ ดังนั้น เศรษฐกิจจะไปได้ดีหากเฟืองหมุนได้เร็ว ซึ่งรากหญ้าเป็นเฟืองเพราะคือตัวใช้เงินที่ดีคือ เมื่อได้มา 100 เขาจะใช้ประมาณ 95 บาท ส่วนคนรวย ได้ 100 ใช้ 5 บาท เก็บไว้ 95 บาท เศรษฐกิจจึงจะดีได้เพราะรากหญ้า

ที่ผ่านมารัฐอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจลงไปมากพอสมควร ไม่ว่าจะผ่านทางบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การประกันรายได้ และโครงการอื่นๆ ที่ตามมา ในเรื่องท่องเที่ยวก็กลับฟื้นตัวได้บ้างเล็กน้อย เราอยู่ในสถานการณ์ที่หากไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่นำพาไป ถ้าทุกอย่างสงบ คนก็จะมาเที่ยวมากขึ้น แต่ถ้าไม่สงบก็จะเป็นเช่นฮ่องกง ที่สถานการณ์ไม่ค่อยดีนัก

ปัจจุบันเครื่องบินที่ยังเดินอยู่มีเครื่องเดียว คือ เครื่องท่องเที่ยว เครื่องอื่นๆ อย่างสินค้าเกษตร ถามว่าฟื้นหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าหากจะฟื้นก็ค่อนข้างที่จะเล็กน้อย ไม่ได้หวือหวา ข้าวก็อาจจะปรับตัวสูงขึ้นบ้างเล็กน้อยเนื่องจากสถานการณ์ตื่นตัว ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และอื่นๆ ทั้ง ข้าวโพด ยางพารา ก็จะทรงตัวอยู่อย่างนี้ ฉะนั้น ขึ้นอยู่กับว่าโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ที่จะเข้ามา และโครงการต่างๆ ของรัฐว่าจะดำเนินการได้อย่างรวดเร็วเพียงใด อีกตัวแปรคือรายจ่ายของงบประมาณที่จะทำผ่านในสภาว่าจะผ่านได้เร็วมากน้อยแค่ไหน วันนี้ที่เศรษฐกิจชะลอตัวเพราะรายจ่ายของงบประมาณไม่สามารถวิ่งไปได้เนื่องจากกรรมาธิการยังไม่โหวตผ่านงบประมาณ ยังไม่เป็นข้อกฎหมาย ซึ่งหากผ่านได้ในช่วงกุมภาพันธ์-มกราคม ก็จะมีเงินจับจ่ายใช้สอยได้ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายประการเพราะปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

ปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังพอจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ปีนี้อาจจะเป็นปีที่ต่ำสุด แต่ถามว่าปีหน้าจะชาร์จเพิ่มขึ้นมาหรือไม่ ต้องบอกว่า “ยัง” ใช้คำว่า “ครอง” ไม่ได้ตกต่ำไปกว่านี้ และอาจจะดีขึ้นเล็กน้อย

รศ.สมพร อิศวิลานนท์

นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ


ศาสนา ประวัติศาสตร์ ‘คนชังชาติ’

และข้อมูลชุดใหญ่ที่ยังไม่เปลี่ยน

สมฤทธิ์ ลือชัย

ไม่เห็นแนวโน้มดีขึ้นในสังคมไทยซึ่งยังต้องการรักษาองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์แบบเก่า รัฐใช้ความพยายามรักษาและเผยแพร่องค์ความรู้นี้อย่างมั่นคง กุมอำนาจการรับรู้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารและการศึกษา 2 สิ่งนี้ยังอยู่ในมือรัฐ เพราะฉะนั้นในแง่กระแสหลัก ผมเชื่อว่าองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ เปิดมุมมองใหม่ๆ ยังยากอยู่ แน่นอนว่าปัจจุบันมีทางเลือก มีเครื่องมือใหม่อย่างสมาร์ทโฟน แต่ถ้าเข้าไปดูข้อมูลที่แพร่หลาย ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นข้อมูลชุดเดิม

ส่วนเรื่องคนไทยไม่ได้มาจากภูเขาอัลไต สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก เป็นมิติทางประวัติศาสตร์ เป็นการเปลี่ยนแปลงความรู้เดิมมาสู่ความรู้ใหม่ แต่ในแง่สังคมทั่วไป คิดว่ามีประวัติศาสตร์ชุดใหญ่กว่านั้นที่ไม่ยอมเปลี่ยน ประวัติศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์เรื่องคณะราษฎร เป็นสิ่งที่รัฐระวังมาก

สิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของโลก คือการเปลี่ยนแปลงความรู้ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นในชีวิตของผู้คนในสังคมต่อไป ตราบใดที่รัฐคุมอำนาจการรับรู้ไว้ได้ จะคุมได้ทั้งหมดและประวัติศาสตร์คือส่วนหนึ่งของการคุมอำนาจนั้นไว้

สำหรับประเด็นศาสนา มีกระแสหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาก คือ กระแสคนรุ่นใหม่ที่ไม่แคร์ต่อความรู้เรื่องศาสนาและศาสนา เช่น พุทธศาสน์ชาตินิยม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสู้พลังคนรุ่นใหม่ไม่ได้ คนรุ่นใหม่ต้องการศาสนาที่มีเหตุมีผลมากขึ้น ศาสนาที่กินได้ ด้วยว่าศาสนาเป็นเรื่องปัจเจก เป็นเรื่องส่วนตัว คุณมาวุ่นวายกับฉันมาก ฉันไม่มีศาสนาดีกว่า นี่คือกระแสใหม่มาก ซึ่งทำให้คนที่คิดเก่า ทำเก่า อยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคงเพราะคนรุ่นใหม่ไม่เอาด้วย

หากพุทธศาสนายังอยู่ในสังคม การปรับตัวเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งศาสนาในไทย ยังไม่ค่อยปรับตัว น่าสนใจว่านักบวชในพุทธศาสนากับข้าราชการประเทศไทย มีลักษณะเหมือนกัน คือ ไฮเปอร์คอนเซอร์เวทีฟ อนุรักษนิยมมาก

ระหว่างการเมืองกับศาสนา ผมคิดว่าศาสนาน่าจะมีแนวโน้มดีกว่าการเมือง สมมุติถูกด่าว่าชังชาติ แล้วจะไปไหนได้ หากยังต้องอยู่ที่นี่ แต่ศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจ ถ้าเรื่องมาก คนก็ไม่นับถือ ศาสนาแบบอนุรักษนิยมนี้ถ้าไม่มีการปรับตัว คืออันตราย ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ที่อันตราย

สมฤทธิ์ ลือชัย

นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนา และวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ดวงเมือง เรื่องโหราศาสตร์ ‘ดาวพฤหัส’ ทับ ‘เสาร์’

บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ภิญโญ พงศ์เจริญ

จะมีการกุมกัน หรือซ้อนทับกันของ 2 ดาวเคราะห์ใหญ่ อย่าง ดาวพฤหัสบดี ประธานฝ่ายดาวศุภเคราะห์ และ ดาวเสาร์ ประธานฝ่ายบาปพระเคราะห์ ซึ่งจะมาซ้อนทับกันวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นในบ้านเมือง หรือ The Great Conjunction

หากมองจากโลกแล้ว ตลอดปี 2563 เราจะพบดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ในองศาเท่ากันถึง 3 ครั้ง โดยจุดที่ต้องระวัง 3 ห้วงเวลาคือ วันที่ 1 เมษายน 2563, 23 กรกฎาคม 2563 และ 20 ตุลาคม 2563 หรือวันเวลาที่ใกล้เคียง ซึ่งวันเวลาที่ดาวทั้ง 2 ดวงซ้อนทับกันคือ 21 ธันวาคม 2563 จะเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย

อย่างที่กล่าวว่าดาวพฤหัสบดีเป็นประธานฝ่ายศุภเคราะห์ เปรียบเทียบถึงคนมีความรู้ ชนชั้นสูง ส่วนดาวเสาร์เป็นประธานฝ่ายบาปพระเคราะห์ เสมือนด้อยโอกาส ด้อยการศึกษา เมื่อทั้งสองเข้ามาผสมกลมกลืน ต่างดึงกันเพื่อให้เกิดความสมดุล สังคมก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ผู้มีอำนาจหรือรัฐน่าจะฉวยโอกาสนี้เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ปฏิรูปให้เกิดความสมดุล จะได้ไม่เสียของ

ภิญโญ พงศ์เจริญ

นายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของความคิด ความเห็น ในประเด็นหลากหลายก่อนจะถึงปีใหม่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image