กว่าจะถึง 1 มกราคม เรื่องเก่าของ ‘ปีใหม่’ 8 ทศวรรษแห่งความเป็น ‘สากล’

1 มกราคม พุทธศักราช 2563

ประเทศไทยเข้าสู่ ‘ปีใหม่’ ตามแบบสากล

ตรงกับคริสต์ศักราช 2020 ซึ่งนับเป็น ‘ทศวรรษ’ ใหม่ที่น่าจับตา

ในปีเดียวกันนี้ ตรงกับศักราชโบราณหลากหลายที่เคยถูกใช้ในดินแดนแถบนี้มาก่อนหน้า อาทิ มหาศักราช 1942 และจุลศักราช 1382

Advertisement

ปี ‘ชวด’ ตามอย่างขอมพิสัยไทยภาษา ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีเครื่องหมายคือ ‘หนู’ หนึ่งในสัตว์ที่มีบทบาทในตำนานเทพฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะพระพิฆเณศ ซึ่งทรงมีหนูเป็นพาหนะ

ส่วนปี ‘หนไท’ ตามปฏิทินเดิมที่เคยใช้ในวัฒนธรรมล้านนาและหลากพื้นที่ในดินแดนที่มีผู้คนพูดภาษาตระกูลไท ตรงกับปี ‘ไจ้’

พระพิฆเณศทรงหนูเป็นพาหนะ งานศิลปะ ค.ศ.1910

พระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ คือพระธาตุประจำปีชวด

Advertisement

ความเป็นมา กว่าคนไทยจะตีพิมพ์คำว่าปีใหม่ในปฏิทินที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อราว 80 ปีมานี้เอง

ดังนั้น หากย้อนเวลากลับไปไกลกว่านั้น คนไทยไม่เคยกู่ร้องคำว่า “สวัสดีปีใหม่” ในวันแรกของเดือนมกราคม เพราะปีใหม่เดิมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ‘อุษาคเนย์’ คือเดือนเมษายน

โดยมีการกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา แต่ไม่ได้รับรู้แพร่หลาย

ต่อมาในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการประกาศให้มีงานรื่นเริงในวันขึ้นปีใหม่เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2477 ที่กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก และกระจายไปในต่างจังหวัด

พระธาตุศรีจอมทอง

หลังจากนั้นได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งมี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธาน มติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2484 เป็นต้นมา

ต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับ ‘วันนี้’ เมื่อ 8 ทศวรรษที่ผ่านมา

เปิดราชกิจจาฯ พระราชบัญญัติ ‘ประดิทิน’ พุทธศักราช 2483

คติปีใหม่เดิมของคนไทย ไม่มีสำนึกเรื่องปีใหม่แบบสากล แต่รู้จักการเปลี่ยนปีนักษัตร ตอนขึ้นเดือนอ้าย หลังลอยกระทงเดือน 12 ซึ่งตรงกับปฏิทินสากลราวเดือนพฤศจิกายน รับรู้เรื่องการเปลี่ยนผันจากฤดูกาลต่างๆ ไปสู่อีกฤดู

สมัยรัชกาลที่ 5-รัชกาลที่ 8 ปีใหม่คือ 1 เมษายน นับแต่ พ.ศ.2432- 1 เมษายน 2483

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เคยมีข้อเขียนเจาะลึกรายละเอียดลงไปว่า รัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนปีจากการใช้ จุลศักราช เป็น รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2432 คือเป็น ร.ศ.108

รัตนโกสินทร์ศก วันแรกปีแรกคือวันที่ 1 เมษายน ร.ศ.108 (พ.ศ.2432) หรือเพียง 3 วันหลังการ ‘ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่’ และอย่างสอดรับกับวันเปลี่ยนปีศักราชแบบเดิม เพราะวันนั้นก็เป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ด้วยเช่นกัน

นับแต่นั้นมา รัชกาลที่ 5 ก็ทรงให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนปีศักราชของรัตนโกสินทร์ศก ทุกๆ ปี

ทว่าเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พระมงกุฎเกล้าฯ ได้ยกเลิกการใช้ รัตนโกสินทร์ศก สร้างศักราชใหม่เป็น พุทธศักราช โดยกำหนดให้ปี พ.ศ.2456 เป็นปีแรก โดยยังคงใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนปีศักราชเช่นเดิม

‘ประกาศวิธีการนับวัน เดือน ปี’ มีในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 เท่ากับพุทธศักราช 2455 อีกเดือนกว่า ต่อมา ไทยก็เริ่มเข้าสู่การใช้พุทธศักราชวันแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2456

เท่ากับว่า รัตนโกสินทร์ศก มีอายุระหว่างปี 2432-2455 เพียง 24 ปีเท่านั้น คือ ร.ศ.108-ร.ศ.131

ต่อมาใน ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ปีใหม่แบบสากลครั้งแรก เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 มาถึงทุกวันนี้

ปรากฏหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการให้ตรา “พระราชบัญญัติปี ประดิทินพุทธศักราช 2483”

ดังนั้น ใน พ.ศ.2483 จึงไม่ได้มี 12 เดือน แต่มีเพียง 9 เดือนเท่านั้น คือ เดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม เพราะ 1 มกราคม พ.ศ.2484 นับเป็นวันขึ้นปีใหม่

‘ปฏิทินฝรั่ง’ และพลังแห่งความศิวิไลซ์

แม้ปีใหม่แบบสาลก จะเพิ่งเกิดเมื่อราว 80 ปีที่ผ่านมา ทว่า ‘ปฏิทินฝรั่ง’ มีการตีพิมพ์มในสยามก่อนหน้านั้นนานมาก คือ สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่ง ‘ฝรั่งพิมพ์ปฏิทินฝรั่งในไทย’

ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงมีการพิมพ์ปฏิทินให้เป็นภาษาไทย จากเดิมที่ใช้เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม เดือนสี่ เดือนห้า ก็ปรับเป็นชื่อเดือนภาษาฝรั่ง อย่าง แจนยูอารี แฟบยูอารี มาร์ช กระทั่งพิมพ์ชื่อเดือน 12 เดือน ในภาษาไทยว่า มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม ฯลฯ

สำหรับปีแรกซึ่งรัชกาลที่ 5 ให้ใช้ รัตนโกสินทร์ศก 108 ก็ทรงให้ใช้เดือนเรียกแบบฝรั่งที่แปลงแล้ว สำหรับใช้เป็นปฏิทินของราชการด้วย นับแต่นั้นมาปฏิทินแบบฝรั่งก็เป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนไทยมากขึ้นตามลำดับ

ครั้นประเทศไทยหันมาใช้วันขึ้นปีใหม่ตามอย่างสากล ปฏิทินฝรั่งและปฏิทินไทยก็หลอมรวมกันได้อย่างลงตัวแนบสนิท โดยมีอะไร ‘ไทยๆ’ และ ‘จีนๆ’ ประกอบลงไปให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตมากยิ่งขึ้น ทั้งวันหยุด วันสำคัญ ฤกษ์งาม ยามดี ปีชง วันหยุดราชการ และอื่นๆ อีกมากมาย

ผลัดเปลี่ยนฤดูกาลของไทดำ ภาพจาก vovworld.vn

ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ สะท้อนการปรับตัวสู่ความศิวิไลซ์ ทันสมัย และความต้องการในการเป็น ‘สากล’

ครื้นเครงเพลงปีใหม่
สุนทราภรณ์ ‘เนเวอร์ดาย’ ปีไหนๆ ก็กระหึ่ม

อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในช่วงเทศกาลปีใหม่คือบทเพลงบิวท์บรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลอง ซึ่งเวลาจะผันผ่านไปนานสักเพียงใด เพลงปีใหม่กลิ่นอายย้อนยุคก็ยังคงอบอวลไม่ร้างลา ด้วยฝีไม้ลายมือของครูเพลงแห่งวงสุนทราภรณ์ ก่อนที่จะมีการแต่งเพลงปีใหม่แบบร่วมสมัยออกมาแบ่งพื้นที่ความนิยม แต่ก็ไม่อาจทาบรัศมีความฮอตของเพลงเก่าอันแสนคุ้นเคย

ตัวอย่างเพลงดัง ‘สวัสดีปีใหม่’ ที่ร้องว่า

“สวัสดีปีใหม่แล้ว ผองไทยจงแคล้วปวงภัย ช่วยกันรับขวัญปีใหม่ เถลิงฤทัยไว้มั่น สุขศรีปีใหม่หมาย สุขใจและกายรวมกันสำราญสำเริงบรรเทิงมั่น สุขสันต์ยิ้มกันไว้ก่อน…”

แต่งคำร้องโดย ครูแก้ว อัจฉริยะกุล และทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งวงสุนทราภรณ์ เวอร์ชั่นออริจินอล ร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี และ ชวลีย์ ช่วงวิทย์ ซึ่งบันทึกเสียงตั้งแต่พ.ศ.2498 หลังจากนั้นยังมีการบันทึกเสียงใหม่ซ้ำอีก แต่ฉบับเก่ากึ้กนี้ก็ยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย

ครั้นเขยิบทำนองให้คึกครื้นขึ้นอีกนิด ก็ต้องนึกถึงเพลง “รื่นเริงเถลิงศก” ซึ่งชวนให้ขยับแข้งขยับ ด้วยปลายปากกาของครูเพลงท่านเดียวกับเพลงสวัสดีปีใหม่ นั่นคือ ครูแก้วและครูเอื้อ ที่มีตัวโน้ตและถ้อยคำล้นเหลือในการเนรมิตบทเพลงแห่งความสุข แถมฟังแล้วฮึกเหิมด้วยประโยคพี่น้องร่วมชาติที่จะร่วมกันกวาดต้อนความสุขจากทุกอณูในผืนแผ่นดินไทย

“วันนี้ วันดี ปีใหม่ ท้องฟ้า แจ่มใส พาใจ สุขสันต์ ยิ้มให้กัน ในวัน ปีใหม่ โกรธเคือง เรื่องใด จงอภัยให้กัน

หมดสิ้น กันที ปีเก่า เรื่องทุกข์ เรื่องเศร้า อย่าเขลา คิดมัน ตั้งต้น ชีวิต กันใหม่ ให้มัน สดใส สุขใหม่ ทั่วกัน

รื่นเริง เถลิง ศกใหม่ รื่นเริง เถลิง ศกใหม่ ร่วมจิต ร่วมใจ ทำบุญ ร่วมกัน ทำบุญ กันตาม ประเพณี กุศล ราศี บรรเจิด เฉิดฉัน

พี่น้อง ร่วมชาติ เดียวกัน พี่น้อง ร่วมชาติ เดียวกัน ขอให้ สุขสันต์ ทั่วกัน เอย”

สุนทราภรณ์ ในยุคมาลานำไทย

สิ่งที่น่าสนใจคือ นอกจากความไพเราะเสนาะโสตประสาทแล้ว เพลงนี้ยังซ่อนประเด็นที่น่าสนใจคือ คำว่า “เถลิงศก” ซึ่งจริงๆ แล้ว เดิมใช้กับการเข้าสู่ศักราชใหม่ในเดือนเมษายน คือ ช่วงสงกรานต์นั่นเอง นับเป็นอีกเพลงที่บันทึกประวัติศาสตร์แห่งการเถลิงศกไว้ในเนื้อร้องโดยไม่เจตนา

นอกจากแนวผู้ดีกรุงเทพฯ เพลงปีใหม่สไตล์ ‘รำวง’ ก็ยังติดหูมาถึงทุกวันนี้ ดังเช่นเพลง ‘รำวงปีใหม่’ ในลุคอินเตอร์ ของ สมศักดิ์ เทพานนท์ ผู้แต่งคำร้อง และ ธนิต ผลประเสริฐ ผู้มอบทำนองสนุกถึงใจ ที่ว่า

“ไชโย ไชโย ไชโย ฉันร่วมไชโย ต้อนรับปีใหม่ ส่งปีเก่า แล้วเราเริงใจ ถึงวันปีใหม่ เราต้องไชโย…”

เพลงสไตล์รำวงนี้ คือสิ่งที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้การสนับสนุนในการเป็นหนึ่งในความบันเทิงเริงใจอย่างมีอารยะของสังคมไทยยุคนั้น

ตัดฉากมาถึงช่วง พ.ศ.2530 กว่าๆ วง ‘สามโทน’ ทำคลอดเพลงปีใหม่นี้สู่ตลาดใน พ.ศ.2535 แล้วฮิตมาจนบัดนี้ ส่งผลให้เพลงดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งในเพลงฮิตประจำวงตลอดกาล ด้วยจังหวะสนุกสนาน และคำร้องสอดแทรกมุขตลก มองโลกในแง่ดี

อันเป็นบุคลิกของวงซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 3 คน ได้แก่ สุธีรัชย์ ชาญนุกูล (บุ๋มบิ๋ม) ธงชัย ประสงค์สันติ (ธง) และ วิทยา เจตะภัย (ถนอม) ด้วยฝีมือการเรียบเรียงของ สุระชัย บุญแต่ง นับเป็นการขอแบ่งพื้นที่เพลงปีใหม่จากวงสุนทราภรณ์ได้อย่างงดงาม

“สวัสดี ดี ดี ดี สวัสดี ปี ใหม่ สวัสดี ให้ดี สมใจ สวัสดี ให้ดี จริงจริง ปี ที่ผ่าน ไปแล้ว มันคลาด มันแคล้ว ก็ดี ถมไป

มี ทั้งเจ็บ ทั้งไข้ ทั้งปวด ดวงใจ ก็ยัง ยืนอยู่…”

จะเห็นได้ว่าเพลงนี้ใช้ภาษาเรียบง่าย สอดแทรกด้วยถ้อยคำที่เป็น “ภาษาถิ่น” อย่าง “แซ่บอีหลี” สไตล์อีสาน แตกต่างอย่างเด่นชัดกับถ้อยคำของเพลงแนวสุนทราภรณ์ ซึ่งผ่านการเรียบเรียงด้วยภาษาไทยแบบชาวกรุงอย่างพิถีพิถัน

เพลงสวัสดีปีใหม่สไตล์สามโทน จึงสร้างความแตกต่างด้วยการเข้าถึงใจคนท้องถิ่น ชาวบ้านทุกสารทิศ ด้วยเสน่ห์จากภาษาที่ตรงไปตรงมา เปิดเผย และจริงใจ

อีกเพลงปีใหม่ที่คุ้นหู มาจากสุ้มเสียงของซุปเปอร์สตาร์ไทยตลอดกาล เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ผู้มอบความร่วมสมัยให้กับเพลงประจำเทศกาล ในอัลบั้มชุดรับแขกเมื่อ พ.ศ.2545 เน้นประเด็นความรักหนุ่มสาวเข้าสไตล์ป๊อปๆ แบบวัยรุ่น ที่คอยลุ้นเรื่องเนื้อคู่กันทุกปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

“…สวัสดี (สวัสดี) สวัสดีปีใหม่ ใครรักใครให้ได้แต่งงานกัน

สวัสดี (สวัสดี) สวัสดีชื่นบาน รักกันไปนานๆ ไม่มีเบื่อ

ใครสบายๆ ขอให้สบายไม่หยุดไม่หย่อน ใครที่ไม่สบายให้หายดี

มีคุณตาคุณยายร่มโพธิ์ร่มไทรดูแลดีๆ ฝากกราบเท้าซักทีก็ชื่นใจ…”

จะเห็นได้ว่า เพลงประจำเทศกาลปีใหม่เกือบทั้งหมด แต่งโดยสุนทราภรณ์ จัดเป็นเพลงที่มีคำร้องไพเราะ สละสลวย ที่สำคัญยังครองใจคนไทยมานานเกินครึ่งศตวรรษ แม้จะมีวิธีการร้องแบบเก่า คือการบีบเสียงที่เป็นขนบนิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเลิกใช้ไปเนิ่นนานเต็มที แถมยังมีค่ายเพลงยุคใหม่พยายามแต่งเพลงให้เทศกาลปีใหม่ออกมา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามิอาจเทียบบารมีเพลงปีใหม่สไตล์สุนทราภรณ์

การ์ดปีใหม่ จากตะวันตกสู่สยาม ครั้งแรกสมัย ร.4

ปิดท้ายด้วยการส่งความสุขยุคเก่า อย่างการ์ดปีใหม่ที่เรียกด้วยคำไทยว่า ส.ค.ส. ย่อมากจาก ส่งความสุข ซึ่งในวันนี้แปรเปลี่ยนเป็นการ ‘ส่งไลน์’

ย้อนไปเมื่อนับร้อยปีก่อน แน่นอนว่าสยามรับวัฒนธรรมการส่งบัตรอำนวยพรปีมาจากตะวันตก ปรากฏหลักฐานจากการค้นพบของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช ซึ่งเปิดเผยถึงการ์ดอวยพรปีใหม่ฉบับแรกของไทยเท่าที่พบในขณะนี้จากประเทศอังกฤษ โดยเป็น ส.ค.ส. ฉบับที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้แก่ กัปตันจอห์น บุช หรือ หลวงวิสูตรสาครดิษฐ ที่ดูแลกรมเจ้าท่าในขณะนั้น เมื่อ พ.ศ.2409 มีลักษณะเป็น ‘กระดาษฝรั่ง’ สีครีม พับครึ่ง เหมือนกระดาษเขียนจดหมาย กว้าง 18 เซนติเมตร ยาว 23 เซนติเมตร ความยาว 4 หน้า ซองกว้าง 8.1 เซนติเมตร ยาว 13.9 เซนติเมตร รัชกาลที่ 4 พระราชทานลายเซ็นพระนามลงบน ส.ค.ส. ฉบับดังกล่าวด้วย

การ์ดอวยพรปีใหม่ยุคแรกๆ ในตะวันตก ภาพจาก vam.ac.uk
ภาพจาก ‘สิ่งพิมพ์สยาม’ โดย เอนก นาวิกมูล

ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการทำ ส.ค.ส.มากขึ้น ทั้งแบบตีพิมพ์ และเขียนด้วยลายมือ โดยโปรดให้พระราชทานแด่ขุนนาง ภาพบน ส.ค.ส. เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ รวมถึงพระราชโอรส ครั้นสมัยรัชกาลที่ 6 ยิ่งมีมากขึ้น และได้รับความนิยมสืบมา

แม้เข็มนาฬิกาขยับไปข้างหน้าในทุกวินาที แต่เรื่องเก่าๆ ของปีใหม่ๆ เหล่านี้ คือบันทึกประวัติศาสตร์อันเป็นรากเหง้าสู่อนาคตอย่างมั่นคง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image