สุวรรณภูมิในอาเซียน : จีน-ไทย หลายพันปี มีวัฒนธรรมร่วม ก่อนเกิดกรุงสุโขทัย

พิธีกรรมหลังความตายเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องขวัญของจีน ทหารดินเผาในหลุมขุดค้นสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี เมืองซีอาน มณฑลส่านซี [ภาพจากหนังสือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ประกอบนิทรรศการพิเศษฯ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562]

ไทย-จีน ไม่ได้เริ่มความสัมพันธ์ครั้งแรกสมัยกรุงสุโขทัย ตามที่ท่องจำเป็นมรดกตกทอดมานานมาก เพราะกรุงสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย นอกจากนั้นยังมีสิ่งคลาดเคลื่อนอีก ดังนี้

[1.] คนไทยไม่ได้อพยพมาจากเทือกเขาอัลไตในดินแดนเหนือจีนขึ้นไป [2.] คนไทยไม่ได้อพยพมาจากอาณาจักรน่านเจ้าในดินแดนจีน [3.] คนไทยไม่ได้อพยพมาจากทางใต้ของจีน แล้วตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก

พ่อขุนรามคำแหงไม่เคยไปเมืองจีน

พ่อขุนรามคำแหง กรุงสุโขทัย ไม่เคยเดินทางออกจากเมืองสุโขทัยไปเมืองจีนแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้นจักรพรรดิจีนไม่เคยมอบช่างจีนทำเครื่องถ้วยเคลือบสังคโลกสมัยพ่อขุนรามคำแหง

ประวัติศาสตร์ไทย “แห่งชาติ” คลาดเคลื่อน มีเหตุจากนักปราชญ์สมัยก่อนแปลเอกสารจีนผิดพลาด ดร.สืบแสง พรหมบุญ เมื่อ 50 ปีมาแล้ว เป็นนักวิชาการไทยคนแรก ศึกษาวิจัยพบว่าพ่อขุนรามคำแหงไม่เคยไปเมืองจีน มีรายละเอียดอยู่ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกทางประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐ พ.ศ. 2513 ต่อมาพิมพ์เป็นเล่มชื่อ ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการ ระหว่างจีนกับไทย มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2525

Advertisement
เครื่องสังคโลก จากแหล่งเตาเมืองศรีสัชนาลัย พบในอ่าวไทย แหล่งเรือเกาะคราม เมื่อ พ.ศ.2517-2518
(ซ้าย) ตุ๊กตาบนชามสังคโลก (ขวา) ช้างสังคโลก

 


จีน- ไทย ติดต่อกันหลายพันปีมาแล้ว

คนจำนวนหนึ่งในจีนกับในไทย มีการไปมาหาสู่รู้จักติดต่อกันมากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว ก่อนสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ และก่อนไทยรู้จักติดต่ออินเดีย พบหลักฐานสนับสนุนเป็นเครื่องใช้สอยในพิธีกรรมของคนชั้นนำ ได้แก่

1.หม้อสามขาดินเผา พบในที่ฝังศพตามแนวทิวเขาตะวันตก ตั้งแต่กาญจนบุรีลงไปทางภาคใต้ แล้วทอดยาวถึงมาเลเซีย

Advertisement

2.ภาชนะโลหะสำริด พบริมแม่น้ำน่าน อ.เมืองฯ จ.อุตรดิตถ์

(ซ้าย) หม้อสามขา วัฒนธรรมลุ่มน้ำฮวงโหในจีน ภาคตะวันออก ราว 3,000 ปีมาแล้ว ขุดพบครั้งแรกที่บ้านเก่า ต.จรเข้เผือก อ.เมืองฯ จ.กาญจนบุรี ปัจจุบันพบมากตั้งแต่ทิวเขาภาคตะวันตกต่อเนื่องลงไปภาคใต้ของไทย และทางเหนือของมาเลเซีย (ขวา) ภาชนะสำริดแบบฮั่น ราว 2,000 ปีมาแล้ว พบที่ อ.เมืองฯ จ.อุตรดิตถ์ [ภาพจากหนังสือ เมืองราดฯ ของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2555 หน้า 74]

ปีชวด รับจากจีน

ปีนักษัตร ไทยรับจากจีนแล้วเรียกชื่อปีตามจีนบ้าง เช่น ปีชวด แต่ส่วนมากเรียกตามเขมร เช่น ปีขาล, ปีจอ เป็นต้น

ปีนักษัตรของทุกปี เปลี่ยนตอนเดือนอ้าย [ราวพฤศจิกายน-ธันวาคม] ไม่ใช่เปลี่ยนตามสงกรานต์เดือนห้า [เมษายน] ซึ่งรับจากอินเดีย เพราะอินเดียไม่มีปีนักษัตร

พระเจ้าเหา มาจากคำจีน

พระเจ้าเหา หมายถึง เทพบิดร, เก่าแก่, โบราณ, ดึกดำบรรพ์ มักใช้ว่ายุคพระเจ้าเหา หรือสมัยพระเจ้าเหา [ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินชื่อ “เหา”] ปากชาวบ้านว่าสมัยผีบรรพชน หรือผีปู่ย่าตายาย

คำว่า เหา น่าจะมาจากคำจีนว่า เฮ่า เป็นนามพิเศษออกไปจากชื่อตัวและชื่อรองในวัฒนธรรมจีน ซึ่งมีชื่อต่างๆ กัน แบ่งได้หลายประเภท ตามคำอธิบายอีกมากอยู่ในหนังสือ ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่ ของ ถาวร สิกขโกศล (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2559)

เอกสารทางการโดยทั่วไปอธิบายต่างๆ นานาว่า “พระเจ้าเหา” ได้จากชื่อตึกพระเจ้าเหา ที่เมืองละโว้ จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นตึกที่ฝรั่งเรียก house แล้วเพี้ยนเป็นเหา แต่บางทีบอกว่ามาจากชื่อพระพุทธรูปว่าพระเจ้าหาว (หาว แปลว่า ท้องฟ้า) เพี้ยนเป็น เหา (ในหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ฯ ที่กรมศิลปากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2542 หน้า 99)

เซียงกง ชื่อศาลเจ้าจีนตลาดน้อย

เซียงกง [คำจีนที่ถูกทำเป็นคำไทย] ปัจจุบันหมายถึง ของเก่า, แหล่งขายของเก่า ซึ่งมีที่มาดั้งเดิมจากย่านขายเครื่องยนต์เก่า [บอกเล่ากันว่าเริ่มตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มากกว่า 70 ปีมาแล้ว หรือราวหลัง พ.ศ.2488]

เซียงกง เป็นชื่อศาลเจ้าจีน [เชื่อกันว่าสร้างสมัย ร.4] อยู่ตลาดน้อย ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา [ด้านทิศใต้] บริเวณถนนเจริญกรุงบรรจบถนนเยาวราช กรุงเทพฯ

เซียงกง หมายถึง เทพอาวุโส เป็นคำจีนแต้จิ๋วซึ่งตรงกับคำจีนกลางว่า เซียนกง

เซียง หรือ เซียน แปลว่า เทวดา, กง [หรือก๋ง] แปลว่า ผู้เฒ่า หรือผู้อาวุโส

[สรุปจากหนังสือ คำจีนสยาม ของ วรศักดิ์ มหัทธโนบล สำนักพิมพ์อมรินทร์ พ.ศ.2555 หน้า 264-266]


คนจีน, เมืองจีน

เมื่อพูดถึงคนจีนและเมืองจีน ต้องกำกับด้วยเวลาและสถานที่ เพราะจีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ และมีประชากรมหาศาล

1.คนจีน มีจำนวนมหาศาล ประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยเผ่าพันมังกร”

2.เมืองจีน มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ประกอบด้วยหลายมณฑลบนลุ่มน้ำสำคัญ 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำฮวงโห [ฮวงเหอ] อยู่ทางเหนือ และแม่น้ำแยงซีอยู่ทางใต้

ฮั่น หมายถึง พวกจีนดั้งเดิม หรือบรรพชนคนจีน อยู่ทางเหนือๆ บริเวณลุ่มน้ำ ฮวงโห ส่วนทางใต้ๆ ไม่ใช่จีน ไม่ใช่ฮั่น

ไม่ฮั่น หมายถึง คนหลายชาติพันธุ์เป็นพวกป่าเถื่อน “ร้อยพ่อพันแม่” อยู่ทางใต้ๆ บริเวณลุ่มน้ำแยงซี ที่พวกฮั่นเรียก ฮวน, หมาน, เย่ว์


ภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ทางใต้ของจีน

ทางใต้ของจีนแถบลุ่มน้ำแยงซี เมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว “ไม่จีน” หมายถึงไม่เป็นดินแดนจีน ดังนี้

1.พื้นที่ทางใต้ของจีน “ไม่จีน” แต่เป็นตอนบนสุดของอุษาคเนย์โบราณที่ต่อเนื่องพื้นที่ของฮั่น เพราะพบกลองมโหระทึกที่มณฑลยูนนาน ซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมฮั่น แต่เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์

2.เอกสารจีนบอกชัดเจนว่าทางใต้ของจีนเป็นดินแดนของพวกคนป่าเถื่อน หมายถึง “ไม่ฮั่น” และ “ไม่จีน” ได้แก่ หมาน, ฮวน, เย่ว์ เป็นต้น คนพวกนี้จำนวนไม่น้อยใช้ภาษาไต-ไท เป็นภาษากลางทางการค้า

จีนค้าสำเภา กระตุ้นความเป็น ‘ไทย’

ภาษาไทย [ตระกูลไต-ไท หรือ ไท-กะได] มีรากเหง้าเก่าสุดราว 3,000 ปีมาแล้ว อยู่มณฑลกวางสี [ต่อเนื่องกับมณฑลกวางตุ้ง] ทางภาคใต้ของจีน แล้วต่อเนื่องกับภาคเหนือของเวียดนาม

ทุกวันนี้ในมณฑลกวางสี มีกลุ่มคนมากกว่า 10 ล้านคนเรียกตนเองว่า “จ้วง” ในตระกูลภาษาพูดไต-ไท

ภาษาไทย [ตระกูลไต-ไท] เป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายในภาคพื้นทวีปนับพันปีมาแล้ว ทำให้มีพลังเคลื่อนไหวทั่วภูมิภาคตามเส้นทางการค้าของดินแดนภายใน เป็นบริเวณกว้างใหญ่ทางภาคใต้ของจีน ต่อเนื่องภาคเหนือของเวียดนาม, ลาว, ไทย, พม่า เข้าถึงลุ่มน้ำพรหมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

[สรุปจาก หนังสือ ความไม่ไทย ของคนไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2559]

จีนค้าสำเภาถึงอ่าวไทยตั้งแต่หลัง พ.ศ.1500 ผลักดันภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้าในการเคลื่อนย้ายขนถ่ายสินค้าและทรัพยากรจากดินแดนภายในลงสู่รัฐใกล้ทะเลเพื่อค้าขายกับจีน

ด้วยผลประโยชน์ทางการค้า กระตุ้นให้คนร้อยพ่อพันแม่ที่พูดภาษาต่างๆ กลายตนเป็นคนพูดภาษาไทย ในที่สุดเรียกตัวเองว่าไทย พบครั้งแรกในรัฐอยุธยา ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

พิธีกรรมหลังความตายเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องขวัญของจีน ทหารดินเผาในหลุมขุดค้นสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี เมืองซีอาน มณฑลส่านซี [ภาพจากหนังสือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ประกอบนิทรรศการพิเศษฯ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562]

ขวัญ ‘วัฒนธรรมร่วม’ จีน-ไทย

จีน-ไทย, ไทย-จีน มีทั้งส่วนวัฒนธรรมร่วม และส่วนที่ไทยรับจากจีน ซึ่งยากจะแยกว่าตรงไหนเป็นส่วนไหน?

ขวัญ เป็นวัฒนธรรมร่วมจีน, ไทย และอุษาคเนย์ [อาจมีที่อื่นอีก] มกากว่า 3,000 ปีมาแล้ว

คนแต่ละคนในความเข้าใจและความเชื่อของไทยสมัยก่อน ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่

[1.] ส่วนที่เป็นตัวตน เรียก มิ่ง คือ ร่างกายอวัยวะต่างๆ และ [2.] ส่วนที่ไม่เป็นตัวตน เรียก ขวัญ คือ ไม่มีรูปร่าง

ไทย ว่า ขวัญ ส่วนจีน ว่า หวั่น [กวางตุ้ง] ฮุ้น [แต้จิ๋ว] [จากหนังสือ ไทย-จีน ของ พระยาอนุมานราชธน (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2479) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2505 หน้า 93]

พิธีกรรมหลังความตาย มีส่งขวัญคล้ายกันทั้งไทยและจีน เจีย แยนจอง [นักปราชญ์จีนเรื่องไท] อธิบายว่า

“ที่จริง ‘ขวัญ’ ของไทยพ้องกับ ‘เฮวิ๋น’ ของจีน แม้คำว่า ‘มิ่ง’ ในมิ่งขวัญ ก็พ้องกับ ‘มิ่ง’ ที่หมายถึง ‘ชีวิต’ ของจีน——

คนไทเดิมนอกจากมีพิธีส่งขวัญและงานศพแล้ว มักจะทำพิธีสู่ขวัญหรือบายศรีต่างๆ เช่น สู่ขวัญข้าว ขวัญควาย ขวัญเจ้านาย ขวัญเด็ก ขวัญเรือน แต่คนจีนทำพิธีเรียกขวัญเวลาเจ็บป่วย และส่งขวัญเวลาตายเท่านั้น”

(จากหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา โดย เจีย แยนจอง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 86)

คนจีนโบราณไม่เชื่อการเวียนว่ายตายเกิด [ตามพุทธศาสนา] แต่เชื่อว่าคนตายแล้วขวัญยังอยู่ มีสถานะเป็นเจ้าประจำวงศ์ตระกูล [คำจีนว่า “เจียสิน” เสียงแต้จิ๋วว่า “เกซิ้ง”]

ขวัญของคนจีน มี 2 ประเภท อยู่รวมกัน ได้แก่

หุน [คำไทยว่า ขวัญ] เป็นฝ่ายหยาง หรือฝ่ายจิต มีความนึกคิด และมีอารมณ์ ซึ่งเป็นสมรรถนะทางจิต

พ่อ [แปลว่า ภูต] เป็นฝ่ายหยิน หรือฝ่ายกาย มีความเคลื่อนไหวทางกาย แต่ไม่มีความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเป็นสมรรถนะทางกาย

เมื่อคนตกใจ หรือเจ็บป่วย ขวัญ 2 ประเภทจะออกจากร่างชั่วคราว ครั้นคนตาย ขวัญ 2 ประเภทออกจากร่าง โดยหุน (ขวัญ) จำญาติมิตรได้ แต่พ่อ (ภูต) ถ้าขาดหุนอยู่ด้วยจะกลายเป็นผีดิบ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี

[สรุปจากบทความเรื่อง “ป้ายสถิตวิญญาณจากจีน สู่ราชสำนักไทย” ของ ถาวร สิกขโกศล ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2559 หน้า 161]

ขวัญ, กงเต็ก

ความเชื่อเรื่องขวัญของจีน จึงขุดพบกองทหารดินเผาในสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี เป็นต้นทางประเพณีกงเต็ก ดังนี้

1.เมื่อหัวหน้าเผ่าตาย บรรดาบริวารต้องถูกทำให้ตายแล้วฝังดินในหลุมศพเดียวกัน

2.ต่อมาปั้นหุ่นคนแทนเหล่าบริวารที่เป็นคนจริง ฝังร่วมหลุมศพพระราชา

3.สมัยหลังจากนั้นเผากระดาษแทนปั้นหุ่นคน แล้วเรียก “กงเต็ก” สืบจนทุกวันนี้

[สรุปจาก (1.) บทความเรื่อง “กงเต็ก” ของ วรศักดิ์ มหัทธโนบล พิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2542 หน้า 70 และ (2.) หนังสือ กงเต็ก พิธีศพชาวจีนแต้จิ๋ว ของ ธรรญาภรณ์ วงศ์บุญชัยนันท์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2550 หน้า 8-9]

พิธีกรรมหลังความตายเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องขวัญของจีน ทหารดินเผาในหลุมขุดค้นสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี เมืองซีอาน มณฑลส่านซี [ภาพจากหนังสือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ประกอบนิทรรศการพิเศษฯ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2562]

ต้นเรื่องไทย ‘จิ้มก้อง’ จีน

จีนหนุนหลังรัฐสุพรรณภูมิ [สยาม, เสียน] ยึดได้รัฐอยุธยา [ของรัฐละโว้, หลอหู] ราวหลัง พ.ศ.1950

นับแต่นั้นมารัฐอยุธยาต้อง “จิ้มก้อง” ถวายเครื่องราชบรรณาการต่อจักรพรรดิจีน

[ต่อมาถูกปรับเข้ากับระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทย จิ้มก้อง (คำจีน สำเนียงแต้จิ๋ว) หมายถึงเอาของมีค่าไปกำนัลผู้มีอำนาจเหนือกว่าเพื่อหวังผลตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีมากกว่า ซึ่งโน้มไปทางติดสินบน]

ก่อนสยามจากสุพรรณยึดอยุธยา พ.ศ.1952 จีนส่งกองเรือนำโดยแม่ทัพขันทีเจิ้งเหอ (หรือซำปอกง) ยกกองเรือท่องสมุทร (ครั้งที่ 3) ผ่านอ่าวไทย เท่ากับใช้กองเรือกดดันซึ่งจงใจมีส่วนสนับสนุนการยึดอยุธยาของสยามแห่งรัฐสุพรรณภูมิ [หลักฐานและคำอธิบายมีในหนังสือของ สืบแสง พรหมบุญ เจิ้งเหอ ซำปอกง อุษาคเนย์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก เมษายน พ.ศ.2549]

เรือมหาสมบัติของเจิ้งเหอ น้ำนักเรือประมาณ 3,100 ตัน 1.ห้องพักเจิ้งเหอ 2.แท่นบูชาประจำเรือ 3.ห้องสินค้า 4.ความสูงของเรือ 5.ท้ายเรือชั้นบนเป็นหอสังเกตการณ์ ต้นหนเฝ้าสังเกตดวงดาวทิศทางลม

 


จีนควบคุมอยุธยาและคาบสมุทร

จีนต้องการควบคุมและคุ้มครองบ้านเมืองแถบทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะบริเวณคาบสมุทรมลายู ต่อมา จีนได้สยามกับละไว้ในอำนาจโดยไม่ต้องยกทัพ ตามนโยบายเกลี้ยกล่อมให้อ่อนน้อมที่พบในเอกสารจีน ดังนี้

“(จักรพรรดิ) ทรงปรึกษาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หารือเรื่องการจัดทัพไปปราบเสียน (สยาม) หลอหู (ละโว้) หม่าปาเอ๋อร์ (เปโป้ยยี้) จี้หลัน (กู้น้ำ) และซูมู่ตาลา (สุมาตรา)

แต่ขุนนางชื่อเจียหลู่น่าต๋าซือ กราบทูลว่า ‘อาณาจักรเหล่านั้นเป็นอาณาจักรเล็กที่ไม่มีความสำคัญอะไร แม้ว่า (จีน) จะได้ (อาณาจักรเหล่านั้น) มาเป็นเมืองขึ้น ก็หาประโยชน์มิได้ (นอกจากนั้น) การที่จะจัดทัพไปปราบอาณาจักรเหล่านั้น ยังเป็นการทำลายชีวิตประชาชนโดยใช่เหตุ ควรส่งทูตไปชี้แจงบาปบุญคุณโทษ (และ) ชักชวน (ให้อ่อนน้อม) จะเหมาะสมกว่า ถ้า (อาณาจักรเหล่านั้น) ไม่ยอมอ่อนน้อมก็ยังไม่สายเกินไปที่จะไปโจมตีได้’

จักรพรรดิทรงเห็นชอบด้วย และรับสั่งให้เอียลาเยหนูเตอมี่และคณะ จัดการส่งทูตตามข้อเสนอดังกล่าว (ปรากฏผลว่า) กว่า 20 อาณาจักรยอมนอบน้อม”

[จากหนังสือ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน พ.ศ.1825-2395 (แปลจากเอกสารทางราชการของจีน) โดย คณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทย เกี่ยวกับจีนในเอกสารภาษาจีน สำนักนายกรัฐมนตรี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2523]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image