ก้าวหน้า ล้าหลัง ประเด็นแป้ก คดีปัง! ‘สิทธิมนุษยชนไทย 62’

นายไข่ หัวหน้าหมู่บ้านชาวมานิ ที่อาศัยในพื้นที่อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล (ภาพจากประชาชาติธุรกิจ)

สะเทือนเลื่อนลั่นส่งท้ายปี เมื่อมีประเด็นเรื่องชาติพันธุ์อย่าง “ม้ง” และความเป็นชาติมาเกี่ยวพันกับการเมืองไทยร่วมสมัย ยังไม่นับการจูบปากในสภาด้วยความมุ่งหมายให้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือ “แอลจีบีที” ย้อนไปต้นปีที่ผ่านมา คนไทยได้เข้าคูหาเลือกตั้ง เขยิบลงมาอีกนิด คดีบิลลี่ กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยมีความคืบหน้าสำคัญอันนำไปสู่การออกหมายจับอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในปีเดียวกัน ยังมีการฟ้องปิดปากชาวบ้านและนักเคลื่อนไหว ไล่รื้อหาบเร่ แผงลอย ประชาชนที่ขับเคลื่อนด้านประชาธิปไตยถูกคุกคาม ทำร้ายเลือดอาบโดยจับตัวคนก่อเหตุไม่ได้ จนถึงความรุนแรงทางภาคใต้ที่เชื่อว่าเกิดเหตุซ้อมทรมาน

ต่อไปนี้ คือ “เรื่องเด่น” ประเด็นก้าวหน้าและ “เรื่องด้อย” ที่ทำสถานการณ์สิทธิมนุษยชนกระเถิบถดถอยจนแทบตกคลองจากรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2562 โดยสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

เลือกตั้ง 24 มีนาฯ คืนสิทธิประชาชน

แม้ถูกตั้งคำถามมากมายหลายประการ พร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมโหฬาร แต่ไม่ว่าอย่างไร ก็นับเป็นเรื่องเด่นสุดอันดับ 1 ด้านสิทธิมนุษยชน 2562 สำหรับการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม หลังการยึดครองอำนาจการปกครองของคณะรัฐประหาร ในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยมีรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ส.ว.ที่ตั้งกันเอง มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้หวยออกไม่พลิกล็อก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วนกลับมาเป็นนายกฯลุงตู่อีกรอบ แต่ไม่ว่าอย่างไร นักสิทธิมนุษยชนมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิฯดีขึ้น อย่างน้อยก็มีการยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.หลายฉบับที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะที่กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีที่พลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดด้านความมั่นคง

Advertisement

นอกจากนี้ พรรคการเมืองและนักการเมืองที่เป็นปากเป็นเสียงของชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ในด้านการผลักดันสิทธิแอลจีบีทีอีกทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาเป็นจำนวนมาก รวมถึงเกิดความเคลื่อนไหวในการยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม การเคลื่อนไหวเพื่อเสนอกฎหมายที่เข้าชื่อโดยประชาชน เช่น ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … เป็นต้น

คดี ‘บิลลี่’ คืบ หลังไม่คืบ 5 ปี

เป็นจุดพลิกผันสำคัญ เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษยืนยันถึงความคืบหน้าคดี บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ กะเหรี่ยงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนผู้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อราว 5 ปีก่อน ครั้นพบชิ้นส่วนกระดูกในถังน้ำมันใต้สะพานในอุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน นำไปสู่การออกหมายจับ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวก 4 ราย ที่อ้างว่าปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้วหลังควบคุมตัวไว้เพราะครอบครองน้ำผึ้งป่า ทว่า ไม่มีใครพบเห็นหนุ่มกะเหรี่ยงผู้นี้อีกเลย

Advertisement

นักสิทธิมนุษยชนมองว่า ประเด็นปัญหาสำคัญคือการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งกระทำต่อประชาชนโดยไม่ชอบ เช่น ต่อผู้ไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ มักล่าช้า ล้มเหลว ผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม เจ้าหน้าที่มักพ้นผิด ลอยนวล ไม่ถูกลงโทษทั้งทางวินัย แพ่ง อาญา กว่าคดีบิลลี่จะมาถึงจุดนี้ ใช้เวลาถึง 5 ปีภายใต้การเรียกร้องของครอบครัว และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน

สู้ 19 ปี สู่คดีแรก ‘ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย’
ปมหมู่บ้านลำห้วย ‘คลิตี้ล่าง’

หลังต่อสู้มานานเกือบ 2 ทศวรรษ ในที่สุดก็กลายเป็นบทบรรทัดฐานใหม่ในประเทศไทยว่า ผู้ใดก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะนิติบุคคล หรือตัวบุคคลเองก็ต้องรับผิดชอบ แม้ปิดบริษัทไปแล้ว แต่กรรมการบริษัทยังต้องรับผิดชอบอยู่ นี่คือผลของการต่อสู้อย่างไม่ลดละของ ชุมชนกะเหรี่ยงคลิตี้ล่าง จังหวัดกาญจนบุรี ต่อกรณีมลพิษในลำห้วยคลิตี้ที่ทำให้วัวควายและฝูงเป็ดล้มตายสิ้น โดยเป็นผลมาจากการรั่วไหลของน้ำจากบ่อเก็บกักตะกอนหางแร่ ของ บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด นำไปสู่การฟ้องร้องโดยชาวบ้าน 8 ราย ต่อบริษัทและผู้บริหาร 2 ราย

เมื่อปี 2558 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยร่วมชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ อีกทั้งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จนกว่าจะกลับมาใช้ดื่มกินได้ตามปกติตามมาตรฐานของราชการ หลังจากนั้นยังมีการต่อสู้กันในประเด็นการชำระค่าเสียหาย แต่ไม่มาฟื้นฟูลำห้วยตามศาลสั่ง กระทั่งมีการยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี แต่ศาลยกคำร้อง

ต่อมาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 สภาทนายความร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมยื่นคำร้องอีกครั้ง ขอให้กรมควบคุมมลพิษเข้ามาดำเนินการแทนจำเลย โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายที่กรมต้องเสียไป ศาลมีคำสั่งอนุญาต และให้ทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายมาเสนอศาลเพื่อนำไปสู่การบังคับคดีกับผู้ประกอบการที่ทำเชิดใส่ ไม่มารับผิดชอบ

คดีหมู่บ้านคลิตี้ล่าง กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในสังคมไทย

นี่จึงเป็นคดีแรกที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนไทย ซึ่งผู้เสียหายสามารถร้องต่อศาลให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่และความเชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาและเรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากผู้ประกอบการได้โดยไม่ต้องฟ้อง เป็นคดีใหม่ที่ใช้เวลาอีกนานแสนนาน

เฮ! นิสิตนักศึกษาได้สิทธิแต่งกายได้ตาม ‘เพศวิถี’

พิ้งค์ จิรภัทร นิสิตข้ามเพศ จุฬาฯ สวมเครื่องแบบตามเพศวิถี

เหมือนเรื่องเล็กแต่ไม่เล็ก สำหรับการเรียกร้องสิทธิการแต่งกายตามเพศวิถีที่อาจไม่ตรงกับคำนำหน้าตามบัตรประชาชนไทย ซึ่งในปี 2562 เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญ โดยสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งไฟเขียวให้แต่งได้ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศ เรื่องการแต่งกายของนิสิต พ.ศ.2562

“ให้นิสิตอาจแต่งเครื่องแบบและชุดสุภาพตามเพศกำเนิด หรือเพศที่แสดงออกได้” ลงประกาศไว้เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2562

ย้อนไปก่อนหน้านั้น วันที่ 12 กรกฎาคม 2560 มหาวิทยาลัยทักษิณ ออกประกาศ เซย์เยส! ให้นิสิตที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ หรือวิถีทางเพศไม่ตรงเพศกำเนิด แต่งกายเข้าชั้นเรียน สอบ ฝึกปฏิบัติงาน รวมถึงชุดครุยตามเพศวิถีได้

“หากผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยกลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหงผู้ร่วมงาน นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ หรือเพศวิถีทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดถือว่าผิดวินัย” โดยภายหลังจากนั้นมีอีกหลายมหาวิทยาลัยไฟเขียวในประเด็นเดียวกัน อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

ย้อนอ่าน : เปิดใจ นิสิตหญิงข้ามเพศ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ “ทุกคนควรมีสิทธิแต่งกายตามเพศสภาพ”

คุ้มครองสิทธิ ‘ชาวมานิ’ ในฐานะพลเมืองไทย

บนผืนแผ่นดินไทยอันอุดมสมบูรณ์ ไม่เพียงกลุ่มคนพูดภาษาตระกูลไท ทว่า ความเป็นชาติประกอบขึ้นด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ หนึ่งในนั้นคือ ชาวมานิ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา สตูล ตรัง และพัทลุง โดยก่อนหน้านี้ไม่มีบัตรประชาชนไทย ทำให้ตกหล่นจากการรับรองสถานะความเป็นพลเมือง ไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองที่พึงมี โดยเฉพาะการรักษาพยาบาล

ล่าสุด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ สปสช. เขต 12 สงขลา ร่วมมือผลักดันหนุนให้ชาวมานิมีบัตรประชาชน เป็นพลเมืองไทย ร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุข องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้นำชุมชน นักวิชาการกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักทะเบียนราษฎร์ อำเภอและโรงพยาบาล เรียกได้ว่าผสานความร่วมมือนับ 10 ทิศ กระทั่งมีประกาศแนวทางปฏิบัติเมื่อปลายปี 2561 “ให้ชาวมานิทุกคนสามารถเข้ารับบริการสาธารณสุขที่หน่วยบริการสุขภาพของรัฐได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องมีการส่งตัว เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่มานิจำเป็นต้องย้ายที่อยู่ตามห่วงโซ่อาหาร”

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2562 ชาวมานิในภาคใต้ 376 คน จากการประมาณการ 500 คน มี “บัตรประชาชน” และได้รับการลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับสวัสดิการผู้สูงอายุ ผู้พิการและเด็ก อีกทั้งสิทธิทางการเมือง

เป็นเรื่องดีๆ ส่งท้ายปีเก่าที่ต้องปรบมือให้รัวๆ ต่อผู้เกี่ยวข้องในการผลักดัน

นอกจากประเด็นเด่นต่างๆ ข้างต้น ยังมีความก้าวหน้าอื่นๆ อาทิ การประกาศแผนปฏิบัติกดารระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน, สิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย, การคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่พ้นโทษ สามารถประกอบอาชีพหมอนวดได้ทันที ไม่ต้องรอ 1 ปี, สิทธิของเด็กปฐมวัย ได้รับการดูแลและพัฒนาจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัย และการคุ้มครองสิทธิเด็กข้ามชาติเข้าเมืองไม่ให้ถูกกักตัวไว้ใน ตม. เป็นต้น

จากประเด็นก้าวหน้าพาส่งเสียงเฮ! มาถึงประเด็นถดถอย ทำท่ามูนวอล์กลงคลอง ซึ่งก็มีไม่น้อยในปีที่ผ่านมา

15 ศพยะลา สะเทือนปม ‘ไฟใต้’

ยังคงเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงสำหรับความรุนแรงทางภาคใต้ โดยเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 ก่อนเที่ยงคืนเพียงครึ่งชั่วโมง เกิดเหตุ กลุ่มติดอาวุธใช้ปืนยิงถล่มชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 15 ราย ทั้งชาวพุทธและมุสลิม นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง โดยเฉพาะสิทธิต่อชีวิต นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ค้นหา จับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย อีกทั้งสืบหาความจริงเกี่ยวกับสาเหตุและรากเหง้าปัญหา เพื่อหาแนวทางลดระดับความรุนแรง เสริมสร้างความอดทนอดกลั้น ขจัดข่าวสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อกันในสังคม

แม่ทัพภาค 4 ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุคนร้ายยิงถล่มป้อม ชรบ.ยะลา

‘ฟ้องปิดปาก’ มาตรการเด็ด ทำคนเข็ด ลิดรอนเสรีภาพ

มาถี่มาก สำหรับคดีที่ถูกเรียกว่า การฟ้องปิดปาก (SLAPPs) ใน พ.ศ.2552 ทั้งแพ่งและอาญา โดยบริษัทเอกชนหรือรัฐใช้การฟ้องร้องเพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ เพื่อหลุด เพื่อลงโทษ หรือเพื่อต่อต้านนักเคลื่อนไหว แกนนำ สมาชิกชุมชน และประชาชนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออก ร้องเรียน ชุมนุม ฯลฯ คดีสำคัญลือลั่นยุทธจักรในมุมมองนักสิทธิมนุษยชน อาทิ บริษัทเหมืองแร่ถ่านหินอำเภอ อมก๋อย จังหวัดตาก ที่มีแกนนำชาวบ้าน 2 รายถูกฟ้องจากคำปราศรัยเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก, ป้าย ปากมูล หรือกฤษกร ศิลารักษ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดนคดีหมิ่นประมาท และคดีนายทุนที่ดินฟ้องร้องทนายความในจังหวัดลำพูนฐานนำสืบพยานหลักฐานเท็จ พร้อมชาวบ้านสันตับเต่า 2 ราย ข้อหาเบิกความเท็จ เป็นต้น

ย้อนอ่าน : เปิดงานวิจัย ‘ฟ้องปิดปาก’ แนวโน้มเพิ่มทั่วโลก ไทยกลุ่มตัวอย่าง คนรวย-ผู้มีอำนาจหวังหยุดเสียงวิจารณ์

นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยถูกคุกคาม ทำร้าย จับไม่ได้ แม้มีกล้องวงจรปิด

ถูกกระทำครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดปี 2562 ไม่ใช่ใคร แต่เป็นนักเคลื่อนไหวให้มีการเลือกตั้ง อย่าง เอกชัย หงส์กังวาน จ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ รวมถึง ฟอร์ด เส้นทางสีแดง ไม่เว้นนักศึกษาอย่าง เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ และบุคคลอีกหลายราย รวมถึงนักสิทธิมนุษยชนที่ต่างโดนข่มขู่ คุกคาม ทำร้าย บ้างถึงขั้นเลือดอาบ ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่จนแล้วจนรอด หลายครั้งก็ยังจับผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายไม่ได้ ทำเอาสังคมตั้งคำถามว่าไปติดขัด ณ จุดไหน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า จากเหตุการณ์ทั้งหมดตลอดปีซึ่งมีบันทึกมากมาย กลับมีแค่ 3 หนที่จับคนร้ายได้ อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าล่าสุดคือ มีการฟ้องร้องบุคคล 1 ราย ในคดีทำร้ายร่างกายเอกชัย หงส์กังวาน เริ่มพิจารณาสืบพยานในวันที่ 16-17 มกราคม 2563 ณ ศาลอาญา หากนับเวลาตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงเริ่มสืบพยาน รวมแล้ว 1 ปี 4 เดือน

เอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกทำร้าย

นักสิทธิมนุษชนมองว่าในปี 2562 การลอบทำร้ายนักกิจกรรมมีความรุนแรงมากขึ้น กลุ่มคนร้ายก็จำนวนเยอะขึ้น แต่กลับจับตัวไม่ได้ ถึงจะสวมหมวกนิรภัย แต่ก็มีกล้องวงจรปิด

เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปในปีนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเรื่องราวของการถูกควบคุมตัวจนขาดอากาศหายใจในค่ายทหารที่ปัตตานี นั่นคือ กรณีนายอับดุลเลาะห์ ซึ่งนักสิทธิฯระบุว่าการควบคุมตัวลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นมากมาย และข้อร้องเรียนส่วนใหญ่มักไมได้รับการตรวจสอบอย่างโปร่งใสและรวดเร็ว ทั้งที่การซ้อมทรมานขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี

ยังมีประเด็นถอดถอย อย่างการไล่รื้อแผงลอยใน กทม. ที่ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น, นโยบายทวงคืนผืนป่าที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิชาวบ้านในการอยู่อาศัยบนพื้นที่ทับซ้อน, การเลื่อนยกเลิกใช้สารพิษพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไป 6 เดือน และไม่ยกเลิกการใช้ไกลโฟเซต แต่เปลี่ยนเป็น “จำกัดการใช้” แทน, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยกเลิกรับสมัครนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงอย่างถาวร, คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แม้ยกเลิกประกาศแล้ว 78 ฉบับ แต่ยังมีคำสั่งที่อาจส่งผลได้ รวมถึงการละเมิดสิทธิโดยการยัดข้อหา ซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ทั้งหมดนี้ คือสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2562 ที่ต้องเกาะติดกันต่อไปด้วยความหวัง แม้บ่อยครั้งต้องแลกด้วยการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยคราบน้ำตา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image