24 ชั่วโมง ก่อน 9 มกรา เหตุเกิด ณ กองบรรณาธิการ

ซ้ายบน-บรรยากาศการทำงานของกอง บก. 'มติชน' รายวัน มีขรรค์ชัย บุนปาน เป็น บก.คนแรก, ซ้ายล่าง-มัดหีบห่อ นสพ.ที่สำนักงานบนถนนเฟื่องนคร ย่านวัดราชบพิธฯ หลังย้ายจากโรงพิมพ์พิฆเณศ, ขวา-มติชนรายวันปีที่ 1 ฉบับที่ 1 วันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2521 ราคา 1.50 บาท ความยาว 8 หน้า

หัวกระดาษหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ บอกวันที่ 8 มกราคม พุทธศักราช 2563

1 วัน ก่อน 9 มกราคม ปีเดียวกัน คือ พรุ่งนี้จะเป็นวันที่ ‘มติชน’ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 43 นับแต่วางแผงฉบับแรกในวันที่ 9 มกราคม พุทธศักราช 2521

วันนั้น เป็นวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ

ข่าวหน้า 1 พาดหัวสะดุดตา

Advertisement

‘นายกฯ ให้ปรับปรุงภาษี ยันไม่ถอนขนห่านคนจน’

ให้ความรู้สึกบางประการใกล้เคียงข่าวสารในวันนี้

รายล้อมด้วยประเด็นสำคัญ พาณิชย์ทิ้งทวนปีเก่า เลิกคุมราคาสินค้า, สำรวจสีชัง สร้างท่าเรือ, พร้อมส่งทูตไปประจำญวน กพ.ร่างกฤษฎีกำหนดอำนาจผู้ว่าฯ ย้ายตำรวจ เสนอกวาดล้างอาชญากรรมทุกเดือน และ ‘กรุงเทพวันนี้’ ซึ่งเป็นพยากรณ์อากาศ เป็นต้น

Advertisement

มีข้อความเด่นชัดบนบรรทัดแรกบ่งบอกความเป็นมาอันสืบเนื่องกับหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’

‘ทีมงานประชาชาติ กลับมาอาสาประชาชน’

พร้อมด้วยล้อมกรอบ ‘หมายเหตุหน้าแรก’ ที่มีข้อความว่า

‘หนังสือพิมพ์มติชนฉบับปฐมฤกษ์ในมือท่านผู้อ่านฉบับนี้ หาใช่หนังสือพิมพ์ฉบับใหม่แต่อย่างไรไม่ ในแง่ความถูกต้องตามกฎหมาย มติชนคือวิวัฒนาการจากหนังสือพิมพ์เข็มทิศธุรกิจรายสัปดาห์ ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ออกเป็นรายวันได้ แต่เพื่อขจัดความสับสนอันอาจจะพึงมี จึงแยกชื่อออกจากกันให้เห็นชัด และแน่นอนว่า ในระยะเวลาอันใกล้ มติชนจะได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อที่ถูกต้องต่อไป

เมื่อมิใช่หนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ คณะผู้จัดทำทั้งปวงก็มาจากผู้สุจริตในวิชาชีพหนังสือพิมพ์เก่าๆ นั่นเอง รายละเอียดของความเป็นมาในเรื่องนี้ ได้ตีพิมพ์แล้วเป็นเนื้อหาสาระอยู่ในฉบับ….’

มติชนรายวันปีที่ 1 ฉบับที่ 1 วันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2521 ราคา 1.50 บาท ความยาว 8 หน้า

ถ้อยความดังกล่าว เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์อย่างแยกจากกันไม่ได้กับสภาวะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับถูกสั่งปิด รวมถึง ‘ประชาชาติ’ ทีมงานจึงเบี่ยงเส้นทางจากถนนการเมือง ออกหนังสือพิมพ์ ‘เข็มทิศธุรกิจรายสัปดาห์’ เน้นข่าวสารด้านเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 กระทั่งเมื่อคณะปฏิวัตินำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ โค่นล้มรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 สั่งยกเลิกคณะที่ปรึกษาการพิมพ์ของรัฐบาล เปิดทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ทว่าจนแล้วจนรอด หนังสือพิมพ์ 13 ฉบับที่ถูกปิดก็ยังไม่มีคำสั่งให้พิมพ์ได้ ทีมงานประชาชาติจึงตัดสินใจออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ ใช้ชื่อ ‘มติชน’

จากวันนั้นถึงวันนี้ ‘มติชน’ บันทึกประวัติศาสตร์สังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทยนานนับเนื่องกว่า 4 ทศวรรษ ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์สิ่งพิมพ์ไทยที่มีพัฒนาการตลอดมา ทุกยุคสมัย มีเส้นทางชัดเจนเป็นของตนเอง

ทว่า ก่อนจะเป็น ‘8 หน้ากระดาษ’ ของ มติชนปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ราคา 1 บาท 50 สตางค์

24 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น หรือวันนี้เมื่อ 42 ปีก่อน เกิดอะไรขึ้นบ้างในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ที่โรงพิมพ์พิฆเณศย่านแพ่งสรรพศาสตร์ก่อนย้ายไปยังถนนเฟื่องนคร หลังวัดราชบพิธฯ กรุงเทพฯ แล้วขยับขยายมายังย่านประชาชื่นในภายหลัง

ชั้นบนของตึกแถวสำนักงานที่ปูพื้นด้วยไม้ คึกคักด้วยเสียงเดินเท้าของเหล่ากองบรรณาธิการยุคบุกเบิก เสียงพูดคุย หารือประเด็นหลากหลาย เสียงพิมพ์ดีด และโทรศัพท์พื้นฐานอันเป็นเทคโนโลยีราคาแพงในยุคนั้น

บรรณาธิการคนแรก ชื่อ ขรรค์ชัย บุนปาน ซึ่งในปัจจุบันนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

ขรรค์ชัยในวันนี้ย้อนเล่าบรรยากาศในช่วงนั้นว่า กองบรรณาธิการทั้งทำงานและรับประทานอาหารด้วยกัน อยู่กันอย่างพี่น้อง เมนูหลักคือ ‘ผัดไทย’ ใส่พริกป่นเยอะๆ ทั้งอร่อยและสนุก

กอง บก.ในตอนนั้น ประกอบด้วยฝ่ายบทความ และความคิดเห็นจากผู้อ่าน ซึ่งขรรค์ชัยรับผิดชอบร่วมกับ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร, ฝ่ายข่าวต่างๆ ได้แก่ ข่าวในประเทศ ต่างประเทศ เศรษฐกิจ กีฬา สตรีและสังคม ศิลปวัฒนธรรมและบันเทิง, ฝ่ายบรรณาธิกรข่าว ซึ่งมีหน้าที่จัดหน้าหนังสือพิมพ์, ฝ่ายผลิต ได้แก่ ช่างเรียง ช่างพิมพ์ กองจัดการ เป็นต้น

นักคิด นักเขียน นักวิชาการ คือส่วนสำคัญในจุดเด่นความเป็น “มติชน” ตั้งแต่ยุคแรก ในภาพปรากฏขรรค์ชัย บุนปาน, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ และเนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์

นอกจากนี้ อีกส่วนสำคัญคือนักเขียน นักวิชาการมากมาย ที่กลายเป็น ‘จุดเด่น’ เน้นย้ำความเข้มแข็งของ ‘คุณภาพ’ อาทิ เสน่ห์ จามริก, ลิขิต ธีรเวคิน, วิทยากร เชียงกูล, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, บัณฑูร อ่อนดำ, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, อากร ฮุนตระกูล, พิชัย รัตตกุล รวมถึง วีรพงษ์ รามางกูร นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของประเทศไทยในวันนี้

สะท้อนรากฐานของมติชน ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ แต่ประกอบด้วย คนทำงานข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนหลากหลายแนว คนทำงานด้านวรรณกรรม กวี ปัญญาชน ที่มีแนวคิดใกล้เคียงกัน คือ รักในเสรีภาพในความคิด และแสดงออกด้วยการเขียน

บางคนผ่านการพิสูจน์อุดมคติเหล่านี้ จนสูญเสียเสรีภาพ หรือต้องสละความสุขสบายไประหกระเหินต่อสู้ในสภาพอันยากลำบาก

กล่าวกันว่า ก่อนเป็นนักข่าว “คนมติชน” คือ “นักอ่าน” อันนำไปสู่การเป็นนักเขียน และนักหนังสือ พิมพ์ในเวลาต่อมา จนมีประโยคที่กระเซ้ากันว่า เป็น ‘นักข่าว’ ในชั่วโมงทำงาน หลังจากนั้นเขาคือ “กวี”

สำหรับขั้นตอนการทำงานในช่วงเวลานั้นที่โลกออนไลน์ยังเดินทางมาไม่ถึง ทีมงานพร้อมหน้า เตรียมข่าวสารนำเสนอสู่สายตาผู้อ่านวันต่อวันด้วยการกลั่นกรองอย่างละเอียดหลายขั้นตอน ตั้งแต่ผู้สื่อข่าวถึงที่ประชุมข่าว

เริ่มจาก ‘ผู้สื่อข่าว’ ส่งข่าวให้หัวหน้าข่าวที่ตัวเองสังกัด เพื่อพิจารณาคัดเลือก ตัดต่อ แต่งเติมความสมบูรณ์ในสาระก่อนส่งไปยังฝ่ายจัดหน้า หรือบรรณาธิกร

บรรณาธิกรคำนวณ ‘ตัวอักษร’ อย่างแม่นยำ ก่อนคิดจัดวางหน้า แล้วจึงสั่ง ‘ตัวเรียง’ สั่งคอลัมน์เรียง ก่อนส่งหน้าหน้า ‘ช่างเรียง’ ผู้เชี่ยวชาญเทคนิคเรียงพิมพ์ตะกั่วในยุคที่ยังไม่มีประดิษฐกรรมคอมพิวเตอร์ จากนั้น หัวหน้าช่างเรียงแจกงานให้ช่างเรียงทุกคนที่ต้องแข่งกับเวลาซึ่งเดินไปข้างหน้าทุกวินาที

งานบวงสรวง จากซ้าย ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์, ขรรค์ชัย บุนปาน, และพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร

ในวันนั้น เมื่อเรียงเสร็จ ช่างเรียงส่งปรู๊ฟแรกไปยังฝ่ายพิสูจน์อักษรเพื่อตรวจคำผิด ตัวเลข ข้อมูล และประโยคที่ไม่ได้ใจความซึ่งอาจเกิดจากเรียงขาดหรือเกิน โดยยึดถือต้นฉบับอย่างเคร่งครัด แล้วส่งกลับไปยังช่างแก้ตัวเรียงแบบกลับไปกลับมา จนกว่าอักษรทุกตัว ประโยคทุกประโยคถูกต้อง

จากนั้น ช่างเข้าหน้านำตัวเรียงทั้งหมดจัดหน้าตามดัมมี่ และยังมีรายละเอียดอีกหลายขั้นตอนจนแท่นพิมพ์เดินเครื่อง กระทั่งออกมาเป็นหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2521 พร้อมส่งถึงผู้อ่าน

ขั้นตอนสำคัญที่ต้องไฮไลต์ เพราะถือเป็น ‘นโยบาย’ ของมติชน คือ ‘การประชุมบทบรรณาธิการ’ หรือบทนำ ซึ่งเป็น ‘จุดยืน’ ของมติชนที่มีทรรศนะต่อปัญหาสำคัญต่างๆ โดยพูดถึงเหตุการณ์ ข่าว หรือปัญหาในปัจจุบันทันด่วน แล้วเสนอ ‘ทางออก’ อย่างกระชับ เข้าใจง่าย ส่วนการประชุมข่าวในอดีต เริ่มต้นในช่วงใกล้สิ้นสุดของวัน เพื่อสรรหาข่าวที่ดีที่สุดมาเสนอเป็น ‘ข่าวนำ’ เมื่อเลือกข่าวได้แล้ว ช่วยกันตัดสินว่าประเด็นใดควรเป็นพาดหัวใหญ่-พาดหัวรอง

นี่คือบรรยากาศในอดีต ช่วงเวลาก่อนที่มติชนรายวันจะออกสู่สายตา ตัดฉากมาในวันนี้ของปี 2563 สนามออนไลน์ ควบคู่ปึกกระดาษที่ยังอัดแน่นด้วยสาระ มติชนมีพัฒนาการตามโลกที่รุดหน้า เทคโนโลยีที่ทันสมัย และแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุค แต่สิ่งที่ยังคงเดิมคือ จุดยืนและคุณภาพ ดังสโลแกน

‘หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ’


 

อาณาจักรมติชนมีพัฒนาการตลอดมานับแต่ยุคดาดฟ้าโรงพิมพ์พิฆเณศ รวบรวมค่าเช่าขยับขยายไปยังอาคารย่านวัดราชบพิธฯ และประชาชื่นตามลำดับ โดยสร้างอาคารผลิตเมื่อ พ.ศ.2533

ก้อนอิฐ ดอกไม้ ขวากหนาม
สู่ปีที่ 43 ‘มติชน’ ไม่แปรเปลี่ยน

2515 หลัง ขรรค์ชัย บุนปาน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ถูกไล่ออกจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ตัดสินใจเปิดโรงพิมพ์ “พิฆเณศ” ย่านแพร่งสรรพศาสตร์ รับจ้างพิมพ์หนังสือทุกชนิด

2517 ขรรค์ชัย พร้อมนักหนังสือพิมพ์กลุ่มหนึ่งได้รับประทานหัวหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ รายสัปดาห์ จาก พลเรือตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

ความตอนหนึ่งปรากฏในลายพระหัตถ์ว่า

“เมื่อนายขรรค์ชัย บุนปาน มาปรารภกับข้าพเจ้าว่าใคร่จะออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายสัปดาห์ ข้าพเจ้าก็มีความยินดีและอนุโมทนา โดยชี้แจงให้ทราบว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ใน พ.ศ.2475 แล้ว ข้าพเจ้าได้เล็งเห็นความจำเป็นที่จะชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจหลักประชาธิปไตยที่ว่า รัฐบาลเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน หรือว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย ข้าพเจ้าจึงได้จัดการออกหนังสือรายวันให้ชื่อว่า ประชาชาติ…

…ข้าพเจ้าจึงเต็มใจอำนวยพรให้หนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายสัปดาห์ ประสบความเจริญรุ่งเรือง เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติสืบไป…”

2519 ประชาชาติถูกปิดโดยคณะปฏิวัติ

2521 หนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับแรก วางแผงเมื่อ 9 มกราคม

2524 เกิดระเบิดที่สำนักงานมติชน ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ย่านวัดราชบพิธฯ ในสถานการณ์ยื้อแย่งอำนาจในกองทัพและรัฐบาลอันดุเดือด

โรงพิมพ์พิฆเณศ ต่อเติมชั้นดาดฟ้า ย่านแพร่งสรรพศาสตร์ใช้เป็นสำนักงานแห่งแรกของ “มติชน” ขรรค์ชัยในวันนี้เล่าว่าอยู่กับกอง บก.เหมือนพี่เหมือนน้อง ยังจำรสชาติ ‘ผัดไทยใส่พริกป่นเยอะๆ’ ได้ดี

2534 เกิดหนังสือพิมพ์ ‘ข่าวสด’ ในเครือมติชน พร้อมๆ ยุครัฐประหาร มีคำสั่งห้ามนำหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนเข้าเขตทหาร

2542 คนร้ายขว้างระเบิดใส่อาคารหนังสือพิมพ์ข่าวสด

2540-2544 สถิติฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนพุ่งสูงผิดปกติ ท่ามกลางข่าวขุดคุ้ยปมทุจริต ที่สุดท้ายมีการนำกฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปาก

2553 คนบางกลุ่มรณรงค์ไม่ซื้อหนังสือพิมพ์ในเครือ กีดขวางรถส่งหนังสือพิมพ์ ปลุกระดมในโซเชียลเน็ตเวิร์ก กล่าวหาคนมติชนบนสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียด มติชนยังยืนหยัดเคียงข้างประชาธิปไตย ปฏิเสธอำนาจมืด

2557 ผลประกอบการเครือมติชนติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของตัวเอง ผู้บริหารปรับตัวเดินหน้ารับความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี

2563 ปรากฏการณ์ ‘ดิสรัปต์’ ยังคงอยู่ ‘มติชน’ ยังยืนหยัดตามอุดมการณ์ ยึดมั่นจิตวิญญาณของหนังสือพิมพ์ไม่แปรเปลี่ยน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image