กว่า 120 ปีแห่งการสูญหาย สุดยอดนักวิจัยไทย ต่อจิ๊กซอว์สำคัญ ‘พุกาม’

พุกาม เป็นเมืองโบราณเลื่องชื่อด้วยสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนา ทั้งเจดีย์และกู่พญาซึ่งมีหน้าที่เป็นวิหารอยู่ในอาคารหลังเดียวกันที่มีอยู่จำนวนมากมายหลายพันองค์ จนได้รับสมญาเป็นเมืองแห่งทะเลเจดีย์

เมื่อ 120 ปีที่ผ่านมา จิตรกรรมฝาผนังของกู่พญาเต่งมาซี ถูกลักลอบตัดออกจากแหล่งโดยนักแสวงโชคนามว่า “โธมัน” คณะนักวิจัยไทยนำโดย ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมคณะวิจัย ได้สร้างสมมุติฐานถึงแบบแผนของจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าว โดยบูรณาการกับการสำรวจรังวัดตัวอาคารด้วยเทคโนโลยีเลเซอร์สแกนเนอร์สามมิติ รวมถึงตรวจทานจารึกภาษาพม่าโบราณที่เขียนกำกับไว้ โดยทำงานร่วมกับนักวิชาการอาวุโสด้านโบราณคดี และจารึกพม่าจากกรมโบราณคดีเมียนมา ร่วมกับการสอบทานกับพระไตรปิฎกและคัมภีร์พระพุทธศาสนาต่างๆ อีกทั้งสอบทวนภาพถ่ายฟิล์มกระจกที่โธมันถ่ายไว้ และตีพิมพ์ลงในหนังสือเกี่ยวกับพุกามด้วยอากาศยานไร้คนขับ เพื่อสร้างหุ่นจำลองภาพหมอกจุดรูปทรงภายนอกของตัวอาคาร

ไม่นานมานี้ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า คณะนักวิจัยไทยนำโดย ศ.ดร.เสมอชัย ได้ลงพื้นที่เมืองพุกาม ประเทศเมียนมา เพื่อนำองค์ความรู้หัวข้อ กู่พญาเต่งมาซีและจิตรกรรมฝาผนัง : การหายไปและการฟื้นฟูความรู้ใหม่อีกครา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานวิจัยชุดโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. พระพุทธศาสนาเถรวาทในบริบทวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ (คริสต์ศตวรรษที่ 11-ปัจจุบัน) คืนกลับไปยังดินแดนพุกาม เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และขยายเครือข่ายการคุ้มครองป้องกันและการพัฒนามรดกวัฒนธรรมในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประจำปี 2562 ณ เมืองโบราณพุกาม

Advertisement

พร้อมกันนี้ นักวิจัยได้ประสานงานเข้าไปศึกษาคลังเก็บรักษาโบราณวัตถุ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งนครฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งเก็บรักษาภาพจิตรกรรมฝาผนังกู่พญาเต่งมาซีไว้ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวเนื่องจากงานจดหมายเหตุของพิพิธภัณฑ์ โดยผลลัพธ์ของการวิจัยนำมาซึ่งองค์ความรู้ความเข้าใจต่อบริบททางสังคม วัฒนธรรม การเมือง ที่สัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาในช่วงภายหลังหัวเลี้ยวหัวต่อจากการปฏิรูปศาสนาสำนักมหาวิหารในลังกาเมื่อราวพันกว่าปีที่แล้ว กระทั่งกลายเป็นแบบแผนของพระพุทธศาสนาเถรวาทในเอเชียอาคเนย์ รวมถึงประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาภาคสนามขั้นต้นเรื่อง “การเปลี่ยนผ่านจากพยูถึงพุกาม : มิติโครงสร้างเมือง และสถาปัตยกรรม” ซึ่งสถาบันมรดกโลก มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น ให้การสนับสนุนนักศึกษาปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในปัจจุบัน เพื่อพัฒนานักวิจัยรุ่นเยาว์สู่ระดับนานาชาติ อีกทั้งส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรหน่วยโบราณคดีพุกามด้านการวิจัยในพื้นที่ของตนเอง โดยมุ่งสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจว่าวัฒนธรรมพยูส่งอิทธิพลมายังการก่อร่างสร้างอาณาจักรพุกามอย่างไร เพื่อเรียงร้อยเรื่องราวประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในเอเชียอาคเนย์ในยุคต้นหลังจากการรับวัฒนธรรมอินเดียและพุทธศาสนา

การศึกษาภาคสนามขั้นต้นเรื่อง “การเปลี่ยนผ่านจากพยูถึงพุกาม : มิติโครงสร้างเมือง และสถาปัตยกรรม”

รวมถึงบริบทเมืองในวัฒนธรรมพยูซึ่งได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกแล้ว และมรดกโลกเมืองพุกามที่เพิ่งได้รับการยกย่องในปีที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นมิติความสัมพันธ์ทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม และศาสนาที่พัฒนาและส่งอิทธิพลต่อรัฐจารีตทั้งล้านนาและสุโขทัยของไทย

Advertisement

“การกลับไปยังเมืองพุกามครั้งนี้จึงเป็นการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังย้อนคืนกลับมายังดินแดนต้นธารของความรู้ เป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการคลี่คลายความมืดมนคลุมเครือของประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ยุคโบราณที่จำกัดด้วยหลักฐานลายลักษณ์ ด้วยการบุกเบิกการวิจัยแบบบูรณาการผสานศาสตร์และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

“รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์การทางทูตระหว่างไทยและเมียนมา ผ่านมิติทางวัฒนธรรมและการศึกษาวิจัยอีกด้วย” ดร.เกรียงไกรกล่าวสรุป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image