อ่านเมียนมา สแกนโลกมุสลิม ‘สันติภาพคือนวัตกรรมที่มนุษย์ต้องช่วยกันสร้าง’

โรฮีนจา (ภาพจากAFP)

“สงครามเป็นนวัตกรรมที่ล้าสมัยที่สุดของมนุษยชาติ มนุษย์เกิดมาก็ฆ่ากันแล้ว แต่การสร้างสันติภาพเป็นนวัตกรรมชิ้นใหม่ล่าสุดที่มนุษย์ทุกคนบนโลกต้องช่วยกันสร้าง…และ ‘องค์ความรู้’ คือการสนับสนุนการสร้างสันติภาพของโลก”

คือถ้อยความจากปาก ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ดูเข้าสถานการณ์โลกอันร้อนระอุในห้วงเวลานี้

ทว่า ประเด็นหลักที่นักวิชาการท่านนี้เอ่ยถึง ไม่ใช่เรื่องราวร้อนแรงระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านที่ส่อเค้าบานปลาย หากแต่เป็นเรื่องราวเจาะลึกลงไปใน ‘กระบวนการสันติภาพ’ ของเพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่างพม่าหรือเมียนมา ซึ่งเจ้าตัวจงใจใช้ 2 คำนี้คู่กันในผลงาน ‘กระบวนการสันติภาพแห่งเมียนมา/พม่า ปฏิสัมพันธ์ ระหว่าง รัฐบาล กองทัพ และกลุ่มชาติพันธุ์’

เปิดตัวหมาดๆ ที่ห้องสมุดสุขกายใจ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ย่านตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ด้วยความคิดความเห็นและประเด็นชวนขบกันต่อ

Advertisement

หลากกลุ่ม เป้าหมายเดียว ‘สู้รัฐกดขี่’

เมื่อพูดถึง ‘พม่า/เมียนมา’ แน่นอนว่าในช่วงหลังมานี้ ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ‘โรฮีนจา’ คือหนึ่งในคำสำคัญในความรับรู้ของสังคมไทยในปมขัดแย้ง

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิเล่าว่า จากการที่เคยมีโอกาสไปเยือนค่ายผู้ลี้ภัย ประเด็นที่อยากชี้ชวนให้ทุกคนเห็น คือ แม่น้ำที่ป็นเส้นรอยต่อระหว่างเมียนมาและบังกลาเทศ เป็นแม่น้ำกว้างๆ มีลักษณะเป็น ‘ชายเลน’ สิ่งที่เจอสองฟากฝั่ง คือ ‘วัดพุทธ’ ในบังกลาเทศ ‘ชุมชนมุสลิม’ ในพม่า โดยพบสลับฝั่งไปมา ดังนั้น เส้นแบ่งที่ยึดตาม ‘ภูมิศาสตร์’ นั้น เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผู้คนก็สลับกันไปมา

“กลุ่มกองกำลังต่างๆ มีเรื่องเล่าต่อดินแดนมาตุภูมิ ปิตุภูมิ มีเรื่องบ้านเกิด ประวัติศาสตร์สร้างอารมณ์ความรู้ แต่ในวิถีชีวิตมนุษย์มันอยู่สลับกันไปมา ผมคิดว่าหลายกลุ่มตกอยู่ในสิ่งที่เรากำลังพูดถึง โรฮีนจามีกองกำลังติดอาวุธต่อเนื่องยาวนาน แต่วางอาวุธไปในชั่วขณะหนึ่ง ถ้าสังเกตโครงสร้างสงครามการเมืองในพม่าดีๆ บทบาทของประเทศจะมีสูงมาก โรฮีนจาอยู่ในรัฐอาระกันที่เรียกว่ายะไข่ ติดพรมแดนบังกลาเทศ คนในพื้นที่บอกว่าตอนนั้น บังกลาเทศกดดันและไม่ให้ความช่วยเหลือ เพราะบังกลาเทศเองก็โดนอินเดียกดดันไม่ให้สนับสนุนโรฮีนจา คำถามหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ คนบอกว่าโรฮีนจามีขบวนการติดอาวุธ แต่คำตอบน่าสนใจที่เจอในสนาม คือ ถ้าผมมีกองกำลังติดอาวุธ ไม่มานั่งหลบภัยอยู่ตรงนี้หรอก

Advertisement

ปัจจุบันกรณีชาวโรฮีนจา คือโศกนาฏกรรมที่นำไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ เราจะพบว่ามิติหนึ่งที่น่าสนใจคือ แม้กระทั่งในรัฐอาระกันเอง ก็มีชาตินิยมยะไข่ ซึ่งเป็นอาระกันที่เป็นพุทธ เรารู้จักกลุ่มนี้ในนาม เอเอ คือ อาระกันอาร์มี เมื่อก่อนหลายๆกลุ่มในรัฐอาระกันเป็นพันธมิตรกัน ทั้งอดีตกองกำลังติดอาวุธของโรฮีนจาด้วย เพราะทุกกลุ่มมีเป้าหมายเดียวกันคือ ต่อสู้กับการกดขี่ของฝ่ายรัฐ รัฐอาระกันซับซ้อนมาก อยู่ภายใต้ความโชคดีและโชคร้าย ความโชคดีคือเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ความโชคร้ายคือโจรอยากขึ้นบ้าน” ผศ.ดร.ฐิติวุฒิกล่าว

สันติภาพไม่มีให้ ‘ฉีกซอง’ หมุดหมายคือไร้การฆ่าฟัน

อีกประเด็นสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการสร้างสันติภาพ ผศ.ดร.ฐิติวุฒิเปรียบเปรยอย่างจินตนาการได้ง่ายดายว่า สันติภาพ ไม่ใช่อะไร ‘สำเร็จรูป’ ที่ฉีกซองแล้วชงกินได้เลย กรณีที่ชัดเจน คือ ‘ไอร์แลนด์เหนือ’ ซึ่งต่อสู้กับอังกฤษมานาน เพราะเป็นอาณานิคมแห่งแรกของอังกฤษ ถูกกดขี่สารพัด

“สิ่งหนึ่งที่คนไอร์แลนด์ตระหนักคือ ภายใต้กระบวนกระบวนการสันติภาพ ไม่ได้มีการยุติความขัดแย้งแบบเบ็ดเสร็จ 100% แต่สามารถยุติไม่ให้คนใช้อาวุธไปเอาชีวิตของอีกฝ่ายได้ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถลดความชิงชังด้านชาติพันธุ์ได้ ปัจจุบันยังเห็นกำแพงกั้นระหว่างชุมชนชาวโปรเตสแตนต์กับคาทอลิกอยู่ ยังมองความต่างเป็นสิ่งแปลก ยังมีความกังวลใจ ไม่ไว้วางใจกัน

นี่ขนาดเป็นประเทศที่ถูกยกตัวอย่างว่ากระบวนการสันติภาพสำเร็จแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถยุติความรู้สึกแปลก และแตกต่างด้านชาติพันธุ์ได้ ฉะนั้น จุดหมายปลายทางของกระบวนการสันติภาพคือไม่ให้ฆ่ากัน” ผศ.ดร.ฐิติวุฒิกล่าว พร้อมระบุว่า สำหรับกระบวนการสันติภาพของพม่าที่คุยกันมาตั้งแต่ปี 2015 แม้คืบหน้าบ้างไม่คืบหน้าบ้าง แต่ผลของมันคือ ตั้งแต่ปี 2015-2019 ไม่มีคนตายเพิ่ม

‘โลกมุสลิม’ ความขัดแย้ง การเมือง เรื่อง ‘ชาติพันธุ์’

เขยิบไปสู่โลกมุสลิม ซึ่งก่อนจะไปถึงประเด็นอื่นใด ผศ.ดร.มาโนช อารีย์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เกริ่นว่าได้อ่านผลงานของ ผศ.ดร.ฐิติวุฒิแล้วตั้งแต่หน้า ‘คำนำ’ ทำให้พบว่าความน่าสนใจอยู่ที่การ ‘ลุย’ ไปหาข้อมูลจริงในพื้นที่ ไม่ได้อ่านแต่ตำรา จึงเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ครั้นมองไปยังโลกมุสลิมที่เคยศึกษามาหลายกรณีก็พบว่าปมปัญหาหลายครั้งหากย้อนไปสืบสาว ก็คือความขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์ และสิทธิในการปกครองตนเอง

“เรื่องที่ผมสนใจในโลกมุสลิมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทุกประเด็นแตะเรื่องชาติพันธุ์ ในประเทศที่มีมุสลิมเป็นคนกลุ่มน้อยจะมีความขัดแย้งมากมาย ซึ่งถ้าสืบสาวราวเรื่องไป หลายครั้งก็เกี่ยวกับชาติพันธุ์ อย่างกรณีอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ปัญหาชาวเคิร์ดซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุดในตะวันออกกลาง คือ 30-40 ล้านคน กระจายตัวในรอยต่อ 4 ประเทศ คือ ตุรกี อิหร่าน อิรัก และซีเรีย โดยพยายามต่อสู้เพื่อการตั้งรัฐอิสระของตัวเอง กรณีอาเจะห์ อินโดนีเซีย วันนี้เป็นตัวอย่างของความขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์ที่จบลงแล้ว นั่นคือเขามีเขตปกครองตนเองได้ ซึ่งน่าสนใจมาก”

ผศ.ดร.มาโนชยังสรุปให้ฟังว่า ในโลกมุสลิมนั้น กระบวนการสันติภาพที่ประสบความสำเร็จ ล้มเหลว หรือคาราคาซัง มีปัจจัย 4-5 ประการ ได้แก่

1.ความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งสำคัญมาก อย่างกรณีฟิลิปปินส์ มินดาเนาและอาเจะห์

2.ความไว้เนื้อเชื่อใจ นักรบที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์บอกว่า ไม่ได้ไว้ใจรัฐขนาดนั้นในกระบวนการสันติภาพ แต่ไว้ใจตัวกลางที่มาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย

3.บทบาทมหาอำนาจ เป็นสิ่งสำคัญมากว่าจะสร้างสรรค์หรือทำให้ยุ่งเหยิง

4.การวางยุทธศาสตร์และการวางประเด็นในการต่อสู้ โมเดลที่ประสบความสำเร็จ อย่าง อาเจะห์ ระบุว่าต่อสู้เพื่อชนชาติของตัวเอง เพื่อสิทธิในการปกครองตนเอง เพื่อดินแดนอาเจะห์

(จากซ้าย) ศิราพร แป๊ะเส็ง ผู้ดำเนินการเสวนา, ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร และมาโนชญ์ อารีย์

“เขาบอกว่าถ้าชูประเด็นความเป็นอิสลาม เรื่องศาสนา จะไม่ได้รับความสนใจจากนานาประเทศ” ผู้เชี่ยวชาญโลกมุสลิมกล่าวเสริมในปัจจัยข้อ 4 ส่วนกรณีพม่า ผศ.ดร.มาโนชตั้งคำถามว่า มีความคืบหน้าซึ่งเกิดขึ้นควบคู่กับพัฒนาการทางการเมืองที่มี ‘ประชาธิปไตยมากขึ้น’ ใช่หรือไม่? ถ้าใช่ก็สงสัยว่า แล้วในกรณีโรฮีนจาทำไมสวนทางกัน นี่คือประเด็นที่ชวนคิด

ย้อนมาที่ผลงานคุณภาพของ ‘กระบวนการสันติภาพแห่งเมียนมา/พม่าฯ’ ซึ่ง ผศ.ดร.มาโนช มองว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจ เรื่องที่ตนตกผลึกคือ การแทบไม่กล้าเขียนอะไรหากไม่ได้ไปสัมผัส

“ที่มินดาเนามีปัญหาเรื่องมุสลิมโมโร หรือแขกมัวร์ ซึ่งต่อสู้เรียกร้องแยกดินแดนกับรัฐบาลฟิลิปปินส์มายาวนานมาก มีกองกำลังของตัวเอง ก่อนไปที่นั่น ผมค้นข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับพื้นที่ แต่พอไปเข้าจริง เจอข้อมูลที่หาในอินเตอร์เน็ตไม่ได้ และเป็นข้อมูลสำคัญมากๆ สัมพันธ์กับกระบวนการสันติภาพซึ่งตอนนี้เขาบรรลุข้อตกลง โดยตั้งเขตปกครองตนเองขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว แทบจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง

ชาวอุยกูร์ (ภาพจากAFP)

“ผมไปถึงพื้นที่ อย่างแรกตกใจว่าเป็นไปได้อย่างไรที่คนเห็นด้วยกับการใช้กฎอัยการศึก ไม่อยากให้ยกเลิก ทั้งที่ฟิลิปปินส์มีประสบการณ์ค่อนข้างเลวร้ายมาในสมัย มาร์กอส มีเผด็จการ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่หลังจากยุคนั้นปรากฏว่ามีการทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา โดยค่อนข้างจำกัดอำนาจประธานาธิบดีมาก อำนาจของการประกาศกฎอัยการศึก ระบุละเอียดว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ ต่อมาในยุค ดูแตร์เต มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอีกครั้งหนึ่งเมื่อ ปี 2017 ซึ่งจากประสบการณ์เลวร้ายในอดีต ทำให้คนต่อต้านกฎอัยการศึกมาก แต่ดูแตร์เตบอก ไม่ต้องไปสนใจ เพราะกฎอัยการศึกก็คือกฎอัยการศึก เขาจะใช้เหมือนยุคมาร์กอส ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทหารผู้ใต้บังคับบัญชาระดับรองๆ ลงไป ไม่เอาด้วย ไม่ทำตาม เพราะถ้าใช้อำนาจในทางที่ผิด ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว ประธานาธิบดีก็ช่วยอะไรไม่ได้ รมว.กลาโหมก็ดี หน่วยงานต่างๆ ก็ดี เขาพยายามใช้อำนาจให้เป็นไปตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กรณีฟิลิปปินส์บรรลุข้อตกลงร่วมกันได้

“การใช้กฎอัยการศึกจับใครมั่วซั่วทำไม่ได้ ต้องมีหมายศาล จะยิงต่อสู้ได้เฉพาะสถานการณ์ที่เผชิญหน้ากันเท่านั้น และเฉพาะข้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงเท่านั้น ถ้าจับไป 3 วันแล้วแจ้งข้อหาไม่ได้ ต้องปล่อยทันที ถามว่าทำไมชาวบ้านอยากให้มีกฎอัยการศึกต่อ เพราะทำให้มาเฟียกระเจิดกระเจิง” ผศ.ดร.มาโนชอธิบายยาว ชวนเห็นภาพอย่างกระจ่างชัด

เพราะ ‘องค์ความรู้’ คือการสนับสนุนการสร้างสันติภาพของโลก ดังที่อ้างอิงแล้วในย่อหน้าแรกของเรื่องนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image