สุวรรณภูมิในอาเซียน : ผันน้ำจากแม่กลอง-ท่าจีน ลำน้ำเก่าแก่หลายพันปีมาแล้ว ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย

วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563 ปีที่ 43 ฉบับที่ 15285 มติชนรายวัน ผันน้ำจากแม่กลอง-ท่าจีน ลำน้ำเก่าแก่หลายพันปีมาแล้ว ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย คอลัมน์ สุวรรณภูมิในอาเซียน แม่น้ำแม่กลอง จ.กาญจนบุรี ผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองลงแม่น้ำท่าจีนไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา

ผันน้ำจากแม่กลอง-ท่าจีนลงเจ้าพระยา เพื่อผลักดันน้ำทะเลต่ำลงไป เพราะหน้าแล้งรุนแรงผิดปกติจนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า น้ำทะเลหนุนเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเหตุให้น้ำประปารสกร่อยเพราะมีน้ำเค็มผสมมากกว่าปกติ

แม่กลอง-ท่าจีน อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นบริเวณมีชุมชนบ้านเมืองเก่าแก่ที่สุดในภาคกลาง ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย

กรมชลฯปรับแผนดันน้ำเค็ม

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2562/63 กรมชลประทาน กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำเพื่อควบคุมค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้เพิ่มการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก

ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน ได้ผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองลงแม่น้ำท่าจีน ผ่านคลองจรเข้สามพัน ออกทางประตูระบายน้ำสองพี่น้อง และผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองลงแม่น้ำท่าจีนผ่านคลองท่าสาร-บางปลา ออกทางประตูระบายน้ำบางปลา

Advertisement

ส่วนลุ่มน้ำท่าจีน-เจ้าพระยา ผันน้ำจากแม่น้ำท่าจีนลงแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองพระยาบันลือ

(ที่มา : มติชน ฉบับวันอังคารที่ 31 ธันวาคม 2562 หน้า 11)


เส้นทางการค้านับพันปีมาแล้ว

แม่กลอง-ท่าจีน เป็นบริเวณมีชุมชนบ้านเมืองเก่าแก่ที่สุดของลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง [มีคำอธิบายพร้อมหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีมากมายนับไม่ถ้วนในงานค้นคว้าวิจัยของ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม]

อินเดียกับจีน มีการค้าทางทะเลต่อกัน ต้องขนถ่ายผ่านดินแดนสุวรรณภูมิบริเวณพม่ากับไทย ตั้งแต่สมัยเริ่มแรกราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือเมื่อเรือน พ.ศ.500

โดยเรือแล่นเลียบชายฝั่งอ่าวเบงกอล จากอินเดียเข้าถึงพม่า (ภาคใต้) บริเวณอ่าวเมาะตะมะ สินค้าถูกขนขึ้นฝั่งท่าเรือเมืองทวาย

จากนั้นเดินบกเข้าไทย ผ่านช่องเขาต่างๆ เช่น ด่านเจดีย์สามองค์ ฯลฯ เพื่อล่องตามลำน้ำแควน้อย ถึงปากแพรก (กาญจนบุรี) บริเวณแควน้อยไหลรวมแควใหญ่เป็นแม่น้ำแม่กลอง

เข้าแม่น้ำแม่กลอง ออกอ่าวไทยโดยตรง หรือแยกไปแม่น้ำท่าจีนก่อนแล้วออกอ่าวไทยก็ได้ โดยมีชุมชนสถานีการค้าอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองเรียกพงตึก (ไม่ใช่เมืองโบราณตามที่มีป้ายบอกไว้คลาดเคลื่อน) และมีแลนด์มาร์กศักดิ์สิทธิ์เรียก พระแท่นดงรัง (อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี)

แม่น้ำแม่กลองมีคลองแยกไปแม่น้ำท่าจีน ผลักดันเกิดบ้านเมืองใหญ่เท่าที่พบขณะนี้ 3 แห่ง ตามลำดับจากเหนือลงใต้ ได้แก่ เมืองอู่ทอง, เมืองกำแพงแสน, เมืองนครปฐม

[ลำน้ำเชื่อมระหว่างแม่กลองกับท่าจีน ทุกวันนี้ส่วนมากตื้นเขิน หลายแห่งไม่เหลือร่องรอยแล้ว แต่บางแห่งถูกบูรณะกว้างขวาง มีน้ำไหลถ่ายเทใช้ประโยชน์ในชีวิตปัจจุบันเพื่อเกษตรกรรม]

คลองจรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

คลองเชื่อมแม่กลอง-ท่าจีน

คลองท่าสาร-บางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม

เส้นทางลำคลองเชื่อมแม่กลอง-ท่าจีน อย่างน้อย 3 สาย เป็นเส้นทางมีคุณค่าสูงยิ่งทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ถ้าบูรณะให้ใช้งานได้สะดวกและปลอดภัย เชื่อมโยงถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แควน้อย-แควใหญ่ กาญจนบุรี จะมีมูลค่ามากทางการเกษตรและการท่องเที่ยว

1.ท่าม่วง-อู่ทอง แม่กลองจากบ้านท่าม่วง (อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี) มีลำน้ำแยกไหลทวนขึ้นไปทางทิศเหนือ เรียก ลำน้ำทวน ผ่านพนมทวน, ดอนตาเพชร (อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี)

แล้วเข้าสู่เขตสุพรรณบุรี เรียกลำน้ำจรเข้สามพัน ไหลไปลงแม่น้ำท่าจีน (อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี) กระตุ้นให้เกิดเมืองอู่ทอง (อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี)

แผนที่แม่น้ำแม่กลอง-ท่าจีน แสดงเส้นทางผันน้ำ 1.ผ่านคลองทวน-จรเข้สามพัน (เส้นสีแดง) 2.ผ่านคลองท่าสาร-บางปลา (เส้นสีเขียว [แผนที่โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ มกราคม 2563]

ต่อมาเมืองอู่ทองลดความสำคัญลง (ไม่ได้ร้างอย่างที่อ้างในตำรา) โดยมีศูนย์กลางใหม่ขยายออกไป ได้แก่ เมืองสุพรรณภูมิ (จีนเรียก เจนลีฟู) ที่ต่อไปข้างหน้าจะรวมเป็นอยุธยา ราชอาณาจักรสยามแห่งแรกของประวัติศาสตร์ไทย

แผนที่แม่น้ำแม่กลอง-ท่าจีน แสดงเส้นทางผันน้ำ 1.ผ่านคลองทวน-จรเข้สามพัน (เส้นสีแดง) 2.ผ่านคลองท่าสาร-บางปลา (เส้นสีเขียว [แผนที่โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ มกราคม 2563]
2.ท่าเรือ-กำแพงแสน แม่กลองจากบ้านท่าเรือ (อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี) มีลำน้ำท่าสาร แยกไหลไปทางทิศตะวันออก ผ่านกำแพงแสน (จ.นครปฐม) ไหลไปลงแม่น้ำท่าจีน ที่บ้านบางปลา (อ.บางเลน จ.นครปฐม) กระตุ้นให้เกิด เมืองกำแพงแสน (อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม)

3.ท่าเรือ-นครปฐม แม่กลองจากบ้านท่าเรือ (อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี) มีลำน้ำท่าสารแยกไหลไปทางทิศตะวันออก แล้วแยกอีกสายหนึ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านนครปฐมเรียกลำน้ำทัพหลวง, ลำน้ำบางแก้ว ไหลไปลงแม่น้ำท่าจีน (อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม) กระตุ้นให้เกิดเมืองนครปฐม (อ.เมืองฯ จ.นครปฐม)

ปากคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) กรุงเทพฯ น้ำแห้งขอดเห็นโคลนตมท้องน้ำในหน้าแล้ง (ภาพถ่ายเก่าโดยชาวยุโรป พิมพ์เป็นโปสการ์ด สมัย ร.6-7?)

หน้าแล้งแม่น้ำแห้งขอดนับพันปีมาแล้ว

ฝนแล้งได้ในบางปี และอาจแล้งติดต่อกันหลายปีก็ได้ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำลำคลองแห้งหายในหน้าแล้ง จนไม่มีน้ำในนา ไม่มีปลาในหนอง

แม่น้ำขอดแห้งในหน้าแล้งเมื่อสมัยไม่มีเขื่อนภูมิพล (จ.ตาก) และเขื่อนเจ้าพระยา (จ.ชัยนาท) แม่น้ำเจ้าพระยามีข่าวใน นสพ. สมัยนั้นทุกปีว่าน้ำแห้งเห็นท้องทรายคนเดินข้ามได้เป็นบางช่วงในเขต จ.สิงห์บุรี, ชัยนาท, นครสวรรค์ ฯลฯ

กรุงเทพฯ แม่น้ำเจ้าพระยาแห้งขอด เห็นโคลนท้องน้ำในหน้าแล้ง ก่อน พ.ศ.2500

แม่น้ำในสุพรรณสมัยก่อนมีเขื่อนภูมิพลและประตูน้ำเป็นตอนๆ ในหน้าแล้งจะแห้งจนเดินข้ามได้ ชาวสุพรรณบุรีมีอาวุโสต่างรู้ทั่วกัน

แม่น้ำอื่นๆ ทั่วประเทศในหน้าแล้งก็แห้งตามๆ กัน

แม่น้ำยมแห้งขอด อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร (ภาพจาก ข่าวสด ฉบับวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2562 หน้า 1)

เดือดร้อนทุกปี แต่รัฐแก้ไขไม่ได้

แม่น้ำแห้งขอดหน้าแล้ง ดินแตกระแหงหน้าร้อน ผู้คนเดือดร้อนนับพันปีมาแล้ว จึงมีพิธีกรรมขอฝนเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากชั่วคราว เช่น แห่นางแมว, ปั้นเมฆ, จุดบั้งไฟ เป็นต้น

สมัยนี้เทคโนโลยีก้าวหน้า มีความคิดวิทยาศาสตร์มากขึ้น พากันเหยียดประเพณีพิธีกรรมของคนบ้านๆ ที่เดือดร้อนจากหน้าแล้งว่างมงายในศาสนาผี

ที่จริงควรตำหนิคนชั้นนำที่มีอำนาจเป็นเจ้าของควบคุมเทคโนโลยีว่าประสิทธิภาพบกพร่อง แก้ปัญหาแล้งน้ำให้คนบ้านๆ เหล่านั้นไม่ได้ ทั้งๆ ใช้งบประมาณจากภาษีอากรของคนเหล่านั้นจำนวนมาก และใช้เวลานานมากแล้วอย่างน่าละอาย แต่ไม่อาย


แห่นางแมว มาจากไหน?

ระบำตรุษเนียงแมว จ.เสียมเรียบ กัมพูชา

แห่นางแมวขอฝน ด้วยความเชื่อที่สั่งสมและสืบเนื่องมานานมาก ว่าแมวมีอานุภาพบันดาลให้มีปลาและน้ำ ความเชื่อนี้มีมาจากประสบการณ์ว่าแมวชอบกินปลา ส่วนปลามากับน้ำหลังฝนตก

การละเล่นแห่นางแมวขอฝน มีสาดน้ำเป็นตัวแทนของน้ำท่วมและมีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ มีขบวนแห่นำด้วยคนรำช้อนหาปลา แล้วมีคนรำข้องใส่ปลาตามหลัง

คำอธิบายแห่นางแมวและภาพประกอบที่ยกมานี้ ผมอ่านแล้วเก็บความโดยสรุปจากเรื่อง ระบำตรุษเนียงแมว ในหนังสือ ระบำขแมร์ ของ เพชร ตุมกระวิล อดีตปลัดกระทรวงพัฒนาวัฒนธรรมและวิจตรศิลปะ ประเทศกัมพูชา [(แปลเป็นภาษาไทย โดย ภูมิจิต เรืองเดช) มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 146-149]

คำอธิบายสำนวนเก่าที่เคยบอกต่อกันนานมาแล้ว ว่าชาวบ้านขอฝนจากเทวดาด้วยการสาดน้ำแมว เพราะแมวกลัวน้ำจะได้ฟ้องเทวดา แล้วเทวดาบันดาลให้มนุษย์ตามต้องการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image