‘สภาวิศวกร’ พาส่อง 7 สาขา ‘วิศวะ’ น่าเรียน

“วิศวกร” ถือเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน แต่รู้หรือไม่ว่า ถ้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย สามารถเลือกเรียนวิศวฯสาขาไหนได้บ้าง แต่ละสาขาจะมีเนื้อหาการเรียนอย่างไร จะตรงกับความสนใจหรือไม่

หากจบไปแล้วสามารถทำงานลักษณะใดหรือองค์กรไหนได้บ้าง

วันนี้ “สภาวิศวกร” เสาหลักของชาติด้านวิศวกรรม จะพาไปทำความรู้จักกับหลักสูตรวิศวะ ทั้ง 7 สาขา ที่เรียกได้ว่า เรียนจบแล้วมีงานรองรับแน่นอน! แถมยังเตรียมสตาร์ตเงินเดือนสูงอีกด้วย

‘วิศวกรรมโยธา’ เจนจัดเรื่อง ‘ก่อสร้าง’ ถนน สะพาน ถึงตึกระฟ้า

สำหรับผู้ที่ฝันอยากเนรมิตสิ่งปลูกสร้าง “วิศวกรรมโยธา” ถือว่าตอบโจทย์! เพราะจะได้เรียนตั้งแต่การเขียนแบบวิศวกรรม การประเมินว่าพื้นที่ว่ามีความจำเป็นจะต้องมีสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นหรือไม่ ต้องเลือกใช้วัสดุขนาดใด หรือมีแนวทางในการก่อสร้างอย่างไรที่กระทบกับผู้คนโดยรอบน้อยที่สุด โดยสิ่งที่จะได้เรียน อาทิ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ กลศาสตร์ วัสดุวิศวกรรม ธรณีวิทยา การวิเคราะห์โครงสร้าง เทคนิคการบริหารงานก่อสร้าง รวมถึงการดำเนินการและการบำรุงรักษา

Advertisement

ทั้งยังสามารถทำได้หลากหลาย ไม่ว่า วิศวกรก่อสร้าง วิศวกรด้านผลิตภัณฑ์วัสดุ วิศวกรสำรวจเส้นทางในการสร้างถนนหรือระบบขนส่ง ฯลฯ

‘วิศวกรรมเหมืองแร่’ เชี่ยวชาญด้านขุด เจาะ คัดแยก

หากสนใจขุดคุ้ยเพื่อหาสินแร่ต่าง ๆ ด้วยตนเอง “วิศวกรรมเหมืองแร่” คือคำตอบ เพราะจะได้รับรู้ถึงความสำคัญของแร่ในหลายมิติ ทั้งเชิงอุตสาหกรรมก่อสร้าง พลังงาน เชื้อเพลิง และเครื่องประดับ พร้อมลงมือปฏิบัติจริง ตั้งแต่ขั้นตอนการค้นหา ขุดแยก และจัดการกับแร่ธาตุจากแหล่งธรรมชาติ เพื่อนำมาต่อยอด โดยวิชาที่จะได้เรียน อาทิ ธรณีวิทยา แร่และหิน โลหะวิทยา เทคโนโลยีปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ

เข้าทำงานได้ทั้ง กรมทรัพยากรธรณี บริษัทเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ โรงงานปูนซีเมนต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ฯลฯ

Advertisement

‘วิศวกรรมเครื่องกล’ แข็งแกร่งเรื่องดีไซน์ ผลิต-ซ่อม ‘เครื่องยนต์’ ทุกแขนง

ใครหลงเสน่ห์การเคลื่อนไหวของชิ้นส่วนจักรกล สมัคร “วิศวกรกรรมเครื่องกล” โดยด่วน เพราะสาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับการศึกษาการเคลื่อนไหว และการออกแบบชิ้นส่วนของเครื่องจักร การถ่ายเทพลังงานความร้อน วิเคราะห์การสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ หุ่นยนต์ พร้อมเปิดโอกาสให้ลงมือออกแบบ ผลิต และซ่อมบำรุงรักษาระบบเชิงกล โดยเรียนตั้งแต่ กลศาสตร์ พลศาสตร์ เมคคาทรอนิกส์ วัสดุวิศวกรรม การออกแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ ฯลฯ

จบไปเป็นได้ทั้ง วิศวกรออกแบบชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ วิศวกรซ่อมบำรุงเครื่องจักรภายในโรงงาน ไปจนถึง วิศวกรควบคุมการผลิตและตรวจสอบคุณภาพ ฯลฯ

‘วิศวกรรมไฟฟ้า’ ปราดเปรื่องเรื่องเชื่อมต่อ ‘วงจร’

หากสนุกกับการเชื่อมต่อแผงวงจรไฟฟ้า ยื่นใบสมัครสอบ “วิศวกรรมไฟฟ้า” ได้เลย เพราะสาขานี้จะทำให้ใจเต้นแรงขึ้นไปอีก เมื่อต้องเรียนเกี่ยวกับวงจรไฟฟ้าตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน การวิเคราะห์-ออกแบบ-ผลิตระบบไฟฟ้าที่ใช้ตามครัวเรือน อาคารสำนักงาน และโรงงาน การควบคุมระบบการผลิตอัตโนมัติในโรงงาน การควบคุมวงจรไฟฟ้าในระบบการสื่อสารทุกรูปแบบ รวมไปถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด โดยจะเรียนตั้งแต่ ระบบไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์กำลัง คณิตศาสตร์วิศวกรรมไฟฟ้า การออกแบบระบบสื่อสาร ฯลฯ

สามารถเลือกเส้นทางอาชีพได้ตั้งแต่ วิศวกรด้านไฟฟ้ากำลัง วิศวกรด้านโทรคมนาคม วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

‘วิศวกรรมอุตสาหการ’ ยืนหนึ่งเรื่องการผลิตที่คุ้มค่า

หากชอบสังเกต คิดเป็นระบบ เตรียมตัวสมัครเรียน “วิศวฯอุตสาหการ” เพราะสาขานี้ เน้นเรียนรู้การออกแบบ และพัฒนาระบบงานภายในโรงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วย ‘การสังเกต’ ใน 2 มิติหลัก คือ “การจัดสรรทรัพยากรการผลิต” ผลิตอย่างไรให้คุ้มค่าและได้กำไรสูงสุด และ “เพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิต” ผลิตอย่างไรให้สามารถลดของเสียจากการผลิตได้มากที่สุด โดยวิชาที่จะได้เรียนมีดังนี้ วัสดุวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์วิศวกรรม การวางแผนและควบคุมการผลิต การพยากรณ์ทางอุตสาหกรรม ฯลฯ

ตัวอย่างอาชีพ อาทิ ผู้จัดการโรงงาน วิศวกรวางระบบ ฯลฯ

‘วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม’ ยืนหยัดค้นหาเทคโนโลยี แก้ปัญหาโลก

หากเป็นคนหนึ่งที่หายใจเข้าและออก ถึงแต่เรื่อง “มลภาวะสิ่งแวดล้อม” ว่าเป็นปัญหาที่สังคมต้องเร่งแก้ หรืออยากเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขจัดปัญหาเหล่านั้นให้หมดไป แสดงว่า เริ่มจะตกหลุมรัก “วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม” เข้าซะแล้ว เพราะสาขานี้จะพาไปเรียนรู้ตั้งแต่ประเภททรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงคุณภาพของของเสีย โดยรายวิชาที่จะได้เรียน เช่น เคมีของน้ำและน้ำเสีย การออกแบบระบบท่อระบายน้ำเสียและการสูบน้ำ มลพิษทางอากาศและการควบคุม การสุขาภิบาลอาคาร การจัดการระบบสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

สามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้ทั้งกรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน การบริหารจัดการระบบมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

‘วิศวกรรมเคมี’ แปลง ‘สาร’ สู่ ‘เคมีภัณฑ์’

วิศวกรรมแขนงนี้ คือ การแปรสภาพสารเคมี สู่ “เคมีภัณฑ์” ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และสามารถใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบทางเคมี บนพื้นฐานของการคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม โดยวิชาที่ จะได้เรียน อาทิ เคมีพื้นฐาน กระบวนการทางวิศวกรรมเคมี เศรษฐศาสตร์จุลภาคเบื้องต้น การบำบัดของเสียจากอุตสาหกรรม เทคโนโลยีปิโตรเลียม ฯลฯ เป็นได้ทั้ง วิศวกรควบคุมกระบวนการผลิต วิศวกรความปลอดภัยกับงานสิ่งแวดล้อม วิศวกรออกแบบเครื่องมือ และอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ทั้ง 7 สาขาข้างต้น ยังพ่วงมากับ “ใบ ก.ว.” หรือ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” โดยมี “สภาวิศวกร” เป็นผู้จัดสอบและออกใบอนุญาต ซึ่งใบ ก.ว. เปรียบเหมือนใบเบิกทางสู่โอกาสสำคัญในการทำงานด้านวิศวฯ ในรายได้ที่สูงขึ้น พร้อมสร้างความเชื่อมั่นด้านวิชาชีพแก่ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม เป็นบันไดอีกขั้นเพื่อประสบการณ์ทำงานระดับอาเซียนและทั่วโลกในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image