‘หญิง-ชาย’ ไม่ใช่ทุกสิ่ง ย้อนปรัชญา ทวนประวัติศาสตร์โลก เจาะลึกวัฒนธรรม ‘ความหลากหลายทางเพศ’

กลุ่ม LGBT ประท้วงต่อต้านการตัดสินคดีเพศเกย์ของอินเดีย (ที่มา Photo: AP/File)

ท่ามกลางกระแสตื่นตัวเรื่อง “กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” ที่เข้มข้น ร้อนแรงมากขึ้นทุกที ถึงขนาดมีวิวาทะจากความเห็นต่างกลางรัฐสภามาแล้ว ยังไม่นับคอมเม้นต์มหาศาลในโลกออนไลน์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

…โปสเตอร์สีขาววาดอย่างง่ายด้วยลายเส้นดินสอ ปรากฏสองชายยืนเปลือยกายใต้ต้นไม้ สองมือหยิบยื่นผลแอปเปิลหลากสีสัน พลันชวนให้นึกถึง “อดัม” และ “อีฟ” ตามตำนานความเชื่อของคริสตจักรเมื่อครั้งพระเจ้าสร้างโลก คือบัตรเชื้อเชิญร่วมวงสนทนา ในมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญด้านศิลปะอันดับต้นๆ ของไทยอย่าง มหาวิทยาลัยศิลปากร

เมื่อไม่นานมานี้ ตึกคณะโบราณคดี รั้ววังท่าพระ คึกคักด้วยศิษย์เก่า นักศึกษา คณาจารย์ และผู้สนใจหลั่งไหลมาร่วมวง “เสวนาวันศุกร์” โครงการที่ถูกปลุกขึ้นอีกครั้งด้วยพลังของฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการนักศึกษาคณะโบราณคดี แม้เคยสะดุดไปนาน แต่ก็กลับมาอย่างสง่างามด้วยประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ในหัวข้อ “Queer in Mythology ความหลากหลายทางเพศในปรัชญา ศาสนา และเทวตำนาน”

โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้าน “พุทธ พราหมณ์ ผี” อย่าง คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คอลัมนิสต์ชื่อดังในเครือ “มติชน” ร่วมให้ภาพกว้างเกี่ยวกับเพศและศาสนา พร้อมทั้ง อธิพัฒน์ ไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี ที่ร่วมเจาะลึกไปด้วยกัน

Advertisement

ศาสนาหญิง สู่ศาสนาชาย การ ‘เปลี่ยนผ่าน’ จากโลกโบราณสู่ยุคใหม่

เริ่มต้นด้วย อ.คมกฤช ซึ่งย้อนเล่าว่าในโลกโบราณ สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของปรัชญากรีกก่อนยุคโมเดิร์น คือ การแบ่งโลกเป็น 2 ขั้ว (Dichotomy) เห็นได้ชัดจากทฤษฎีของนักปรัชญากรีกโบราณอย่าง “อริสโตเติล” มีหญิง-ชาย เหตุผล-อารมณ์ ดี-ชั่ว สว่าง-มืด ซึ่งต่อมาในศตวรรษที่ 19 นักปรัชญาเฟมินิสม์ มองว่าเป็นมายาคติที่เกิดจากผู้ชาย จึงมีการเปิดพื้นที่มากขึ้น เช่น “ฮินดู” ในฐานะศาสนาโบราณ มีการต่อสู้เรื่องเพศอย่างเข้มข้นด้วยการพูดผ่าน เทวตำนาน และ สัญลักษณ์

“ศาสนาโบราณเป็นศาสนาแบบผู้หญิง ให้พื้นที่ บทบาท และอำนาจของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากสะท้อนว่าในโลกโบราณผู้หญิงมีความศักดิ์สิทธิ์กว่าผู้ชาย เหตุเพราะผู้หญิงเป็นเพศให้กำเนิด ความคิดที่ว่าพระเจ้าเป็นผู้ให้กำเนิดในโลกใหม่จึงสอดคล้องกับลักษณะบทบาทของผู้หญิงในโลกเก่า” อ.คมกฤชกล่าว ก่อนจะชวนมองต่อว่า เวลาพูดถึงศาสนาอยากให้นึกถึง เค้ก ที่มี 3 เลเยอร์ ชั้นล่างคือ ศาสนาก่อนประวัติศาสตร์ ที่ไม่รู้จะเรียกว่าศาสนาอะไรแต่ใกล้เคียงกับผี มี ศาสนาโบราณ เช่น กรีก โรมัน และ ศาสนาปัจจุบัน ที่เป็นผิวชั้นของเค้ก ทั้ง 3 เลเยอร์รสชาติต่างกัน เลเยอร์ล่างคือรสชาติผู้หญิงซึ่งอาจจะรวมไปถึงเพศสภาวะนอกเหนือจากหญิง-ชาย (Queer) ด้วย ส่วนเลเยอร์บนคือศาสนาผู้ชายที่เข้ามามีพื้นที่ บทบาทและอำนาจมากขึ้น ทั้ง 3 ชั้นไม่ได้ตัดขาดออกจากกัน สิ่งที่ปรากฏชั้นล่างสุดยังปรากฏในชั้นพื้นผิวโดยแฝงอยู่ในความเชื่อ และพิธีกรรม

นักปรัชญาท่านนี้ ยังหยิบยกสัญลักษณ์ “ยันตระ” ในศาสนาฮินดู ที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง อันหมายถึง “พระเทวี” โดยอธิบายว่า

Advertisement
ศรียันต์ หรือยันตระ

กาลี (ดำ) และ เคารี (ขาว) คือ เทพผู้หญิงซึ่งเป็นได้ทั้งภาพที่สงบสวยงามและดุร้ายในเวลาเดียวกัน สะท้อนชีวิตและความตายที่คนโบราณมองว่าคือสิ่งเดียวกัน นักเทวตำนานบางคนบอกว่า “กาลี” คือภาพของความคิดเกี่ยวกับผู้หญิงในโลกดึกดำบรรพ์ เดิม “กาลี” เปลือยกายสยายผม สวมอวัยวะมนุษย์อยู่ในสมรภูมิ หิวกระหายโลหิต มีอาวุธฆ่าฟัน ต่อมา “กาลี” ถูกทำให้กลายเป็น “เคารี” ให้สิ่งที่ดุร้ายในสภาพธรรมชาติกลายเป็นสิ่งที่เชื่องด้วยสัญลักษณ์อันแปลว่า “ยอมอยู่ในวัฒนธรรม” อย่างการสวมเสื้อผ้าและมัดผม

รูปเทพเจ้าผู้หญิงนั่งบัลลังก์ปรากฏเทพผู้ชายเป็นบริวาร มีสถานภาพเป็นเพียงขาเก้าอี้หรือเบาะรองนั่ง ไปจนถึงรูปพระแม่กาลีเหยียบพระศิวะ (ศิวะในที่นี้คือ “ศวะ” แปลว่า ศพ) สะท้อนบทบาทของผู้หญิงที่ทรงอานุภาพในยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งต่อมากลายเป็นศาสนาผู้ชายด้วยความคิดที่ต้องการปรับมุมมองให้บทบาทของผู้หญิงข้องเกี่ยวกับบาปและการล่อลวง

เจ้าแม่กาลี และ เจ้าแม่เคารี (ที่มา tumblr)

“บางศาสนามีพิธีขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องความสะอาด นักมานุษยวิทยาศาสนามองว่า นี่คือเหตุที่ต้องการจะบอกว่าผู้ชายก็มีเลือดออกจากอวัยวะเพศได้เหมือนกัน ฉะนั้นจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้ผู้หญิง

“นอกจากนี้ ศาสนาผู้ชายยัง ‘ถือพรต’ ละเว้นกิจกรรมทางเพศ มีข้อบัญญัติเกือบทุกศาสนาในปัจจุบัน ทั้ง พุทธ คริสต์ ฮินดู ซึ่งในมโนทัศน์ของศาสนาผู้หญิงกิจกรรมทางเพศเป็นเรื่องดีเพราะนำมาซึ่งชีวิตและความงอกงาม ศาสนาแบบผู้ชายจึงมีความได้เปรียบทางสรีรวิทยาเพราะสะกดกั้นอารมณ์ทางเพศได้ ซึ่งความจริงต่างกันในทางชีววิทยา ผู้หญิงมีรอบการตกไข่ ซึ่งสัมพันธ์กับฮอร์โมนทางเพศ จึงมีอารมณ์ความรู้สึก ‘งดเว้นกิเลส’ คือหนึ่งคำอธิบาย แต่อีกทางแสดงถึง อำนาจ บางอย่าง ‘ฉันไม่มีกิจกรรมทางเพศได้ ฉันก็มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง’ การต่อสู้ยื้อแย่ง บทบาท อำนาจเช่นนี้ยังวนเวียนในปัจจุบัน ความศักดิ์สิทธิ์ผู้ชายดึงมา ครอบครองไว้ และหวงแหนมาก เพราะนำมาซึ่งอำนาจ” ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาศาสนาว่าอย่างนั้น

ว่าด้วยกรอบเรื่องเพศ และหน้าที่ หรือแท้จริง ‘แค่สิ่งสมมุติ’

อ.คมกฤช ไม่รอช้า ต่อด้วยมุมมองทางปรัชญาว่าด้วยภาวะไร้เพศซึ่งปรากฏใน วรรณกรรมกรีก ของ เพลโต โดยพูดถึงกำเนิดมนุษย์ ว่า เดิมเป็นก้อนที่อยู่ด้วยกัน และถูกจับแยกโยนออกไป ให้หากันให้เจอ คำถามคือ ก้อนนั้นเป็นเพศอะไร? เพราะ อาตมัน หรือ สภาวะเนื้อแท้ของมนุษย์ ก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “เพศ” เพศจึงเป็นสิ่งที่สมมุติขึ้น อาจจะเป็นอีกมุมที่สะท้อนภาวะความบริสุทธิ์ของมนุษย์ อย่างที่ปรัชญาในศาสนากำลังบอก

“ใช่ว่าอยู่ในร่างกายแบบนี้แล้วต้องจะเป็นแบบนี้ ศาสนากำลังบอกว่ามันเลื่อนไหลได้ ถ้าทุกคนยอมรับว่าพระเจ้าเป็นผู้ชาย เป็นเอกบุรุษ คุณจึงต้องเป็นผู้หญิงทั้งหมด หลายนิกายในอินเดีย เช่น รามสักขี นักบวชทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายต้องใส่ส่าหรี มีหน้าที่ปรนนิบัติพระเจ้าและดื่มด่ำความรักในฐานะชายาของพระองค์”

จากนั้น อธิพัฒน์ ไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาโทโบราณคดี ร่วมอธิบายอย่างเห็นภาพ ว่า กรอบใหญ่เกี่ยวกับมุมมองเรื่องเพศในศาสนาต่างๆ นั้นมีสิ่งที่ตรงกันว่า หญิง-ชาย คือสิ่งถูกสร้าง เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบอะไรประจักษ์กับตา พิสูจน์ได้ มากกว่าการที่ “ฉันรู้สึกแบบนี้ เพราะเหตุผลบางอย่าง”

“โมหินี” หรือ พระนารายณ์ตอนแปลงเป็นหญิง (ที่มา Pinterest)

“ภาพสังคมปัจจุบันที่มีการจัดแบ่งหน้าที่อย่างซับซ้อน ซึ่งไปครอบสังคมโบราณแล้วบอกว่า คนโบราณแบ่งหน้าที่กัน ผู้ชายออกไปหาของป่าล่าสัตว์ ผู้หญิงทำงานปั้นหม้ออยู่บ้าน ระบบคิดเช่นนี้ส่งผลต่อการตีความ หากเชื่อ ก็คล้ายกับการเอาเสื้อไปใส่ให้คนในอดีต ซึ่งเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาใส่เสื้อหรือไม่ หรือเราอยากสร้างสังคมคนโบราณให้เป็นสังคมที่เรารู้สึกสบายใจ เพราะปัจจุบันเราถูกจัดแบ่งโดยกรอบที่กดว่า ‘หากเป็นผู้ชายต้องเป็นแบบนี้ เป็นแบบนั้นไม่ได้’ ภาวะทางเพศของคนโบราณอาจเป็นเควียร์ (Queer) คือ ไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร หน้าที่ไม่ชัดเจนเพราะไม่ได้แบ่งกันด้วยเพศ แต่อาจแบ่งด้วยอย่างอื่นได้หรือไม่” คือคำถามที่อธิพัฒน์ทิ้งไว้

นอกจากนี้ ยังมีคำอธิบายที่บอกว่า หญิง-ชาย ไม่ใช่ทุกสิ่ง เช่น ศาสนาฮินดู ไม่ได้ปิดกั้นการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน แต่ใช่ว่าพราหมณ์ทุกท่านยินดีทำพิธีให้ ทั้งนี้ นับแต่ทศวรรษ 1900 เป็นต้นมา กระแสการต่อสู้ทางเพศรุนแรงขึ้น กลุ่มพราหมณ์ยินดีทำพิธีโดยให้คำอธิบายว่า “แม้แต่พระเจ้ายังไม่มีเพศ เหตุใดระบบคิดจึงมีเพศ” เพศคือกรอบ แต่ “วิญญาณไม่มีเพศ” การแต่งงานคือการเอาวิญญาณกับวิญญาณมาผูกกัน แต่กลุ่มที่ไม่ยินยอมบอกว่า พระเจ้าสร้างมาแบบนี้ หญิง-ชาย คือสิ่งคู่กัน ถึงไม่ปฏิเสธกิจกรรมทางเพศระหว่างเพศเดียวกันแต่จะแต่งงานเข้าสู่กระบวนการทางศาสนาไม่ได้ เพราะอีก 7 ชาติก็จะต้องแต่งงานกับคนนี้ ดังนั้น กลุ่มที่มองว่าศาสนาคือทางออกอย่างหนึ่งจึงพยายามบอกว่าศาสนาพูดถึงฉัน เพื่อที่ฉันจะได้เข้าสู่สังคมอันคลุมเครือ

‘ฮิจรา’ ในอินเดีย เพศทางเลือกในศาสนาฮินดู

กลับมาที่ อ.คมกฤช ในประเด็น “คนข้ามเพศ” หรือ “ฮิจรา” ซึ่งนักปรัชญาท่านนี้บอกว่า มุมมองต่อเพศทางเลือกในศาสนาฮินดู มี 2 แบบ แบบหนึ่งคือการพยายามสร้างพื้นที่ เพื่ออ้างว่าฉันไม่ได้ด้อยไปกว่าเพศทางตรง โดยอาศัยเทวตำนานและความเชื่อเรื่องเทพเจ้าอ้างอิง ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่แย้งโดยมีแนวคิดแบบ โลกมี 2 ขั้ว

ในขณะที่ อธิพัฒน์ เพิ่มเติมว่า จากข้อมูลเชิงเทวตำนาน คัมภีร์ฤคเวท พูดถึงการบูชาไฟกับเทพเจ้า 2 องค์ คือ พระอารณิ (เพศหญิง) กับ พระอัคนี (เพศชาย) น่าสนใจว่า การจะบูชาพระอารณิต้องเอาไม้สองแท่งที่ถูกกำหนดว่าเป็นหญิงทั้งคู่มาถูกัน เกิดเป็นไฟ หรือ “อัคนี”

ในคัมภีร์ฤคเวทยังพูดถึง พระมิตรา (Mitra) เทพแห่งแสงอาทิตย์ (เพศชาย) และ พระวรุณ (Varuna) เทพแห่งน้ำ (เพศชาย) ซึ่งจะมาพบกันทุกเดือนจันทร์วันเพ็ญ โดยพระมิตราจะฝากพีชะ (น้ำอสุจิ) ของตนไว้ในตัวพระวรุณ เพื่อให้กำเนิดดวงจันทร์ต่อไป เหมือนคัมภีร์กำลังเปิดทรรศนะการทำกิจกรรมทางเพศที่มากกว่าแค่หญิง-ชาย สังคมกรีก-โรมันโบราณ ก็มีการถ่ายทอดวิชาความรู้ระหว่างชายรุ่น “ซีเนียร์” สู่รุ่น “จูเนียร์” โดยใช้น้ำอสุจิเป็นตัวแทนในการเคลื่อนผ่านความรู้

กลุ่ม “ฮิจรา” ในอิเดีย (ที่มา Wikipedia)

‘เทวตำนาน’ คำใบ้ที่สะท้อนผ่านผลลัพธ์ทางสังคม

อีกหลักฐานที่ไม่พูดถึงไม่ได้ อย่าง “รามเกียรติ์” หรือ รามายณะ

อธิพัฒน์ เล่าว่า ตอนหนึ่งของฉบับอินเดียใต้ ครั้งพระรามถูกเนรเทศ มีกลุ่มคนออกไปส่งพระรามจนกระทั่ง 14 ปี พระรามกลับมา คนกลุ่มนั้นยังยืนรออยู่ ด้วยเหตุเพราะ 14 ปีก่อน พระรามบอกให้ชายกับหญิงกลับเข้าเมือง แต่ด้วยคนกลุ่มนั้นไม่ใช่ทั้งชายและหญิง จึงไม่กล้ากลับเพราะไม่กล้าโกหก พระรามอวยพร ให้มีสิทธิให้พรใครก็ได้ และมีสิทธิสาปใครก็ได้โดยคำสาปนั้นจะเป็นจริงเสมอ

นี่คือตำนานของ “ฮิจรา” ที่นำมาอ้างความศักดิ์สิทธิ์ของตัวเองในสังคมอินเดีย

“เทวตำนานมีอิทธิพลต่อสังคมอย่างมากและยังเปิดพื้นที่กิจกรรมบางอย่างของทั้งหญิงและชายที่เปลี่ยนไปมาได้ตลอดเวลา” อธิพัฒน์กล่าว พร้อมยกตัวอย่างตอนหนึ่งใน มหาภารตะ

“อรชุน” ถูกสาปให้เป็นกะเทยชื่อนาง Brihannala เพราะไม่ยอมมีอะไรกับนางฟ้า ซึ่งคนในสังคมก็ไม่ได้รังเกียจตอนนี้ของอรชุน หรือ การที่พระนารายณ์แปลงเป็นผู้หญิง ชื่อว่า โมหินี (Mohini) เพื่อแย่งน้ำอมฤต จนพระศิวะหลงรัก มีลูกด้วยกัน และลูกก็ได้รับการนับถืออย่างมาก

“อรชุน” ตอนถูกสาปเป็นกะเทย (ภาพจากซีรีส์มหาภารตะ ปี 2558)

“การเปลี่ยนไปมาของความเป็นหญิง-ชาย ทำให้นึกถึงหลายเรื่องในสังคมบ้านเรา เช่น การแสดงโขน ที่ผู้ชายต้องเล่นเป็นตัวนาง ผู้หญิงต้องเล่นเป็นตัวพระ คือการสวมบทบาทที่สลับกับความเป็นเพศที่แท้จริงของตัวเอง เหมือนเทวตำนานของการที่เพศเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอดเวลา ราวกับว่าเพศไม่ใช่สิ่งที่นิ่งและคงที่” นักศึกษาปริญญาโททิ้งท้าย

ไม่ว่าเทวตำนานจะสื่อถึงสิ่งใด แต่ที่แน่ๆ สะท้อนถึงความรักที่มากกว่าชาย-หญิง และสร้างอะไรบางอย่างมากกว่าแค่หญิงและชายเพียงเท่านั้น


 

เสวนาวันศุกร์ วิทยากรได้แก่ อธิพัฒน์ ไพบูลย์ และคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

‘เสวนาวันศุกร์’ การกลับมาของเวทีปรุงอาหารทางปัญญา

“เดิมโครงการนี้ ชื่อ ‘สนทนาวันศุกร์’ เกิดจากการที่มีนักศึกษามาร่วมคุยทุกวันศุกร์ ถามนู่นถามนี่ถามนั่น ทำไมต้องเป็นอย่างนี้อย่างนั้น จึงเกิดความคิดชวนคนที่ตอบคำถามได้มาร่วม” รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เล่าถึงที่มาของเสวนาวันศุกร์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการตั้งแต่ครั้งแรกเริ่ม

นี่คือโครงการของนักศึกษาคณะโบราณคดี เพื่อเป็นเวทีให้นักศึกษาค้นหาคนที่จะมาไขข้อสงสัย โดยเริ่มในปี 2542 ดำเนินการมาร่วม 10 ปี แม้จะหยุดชะงักไปบ้าง แต่ก็เกิดขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้ง

“ในบรรยากาศแบบนี้ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่ค่อยมีเวทีเสวนาแบบนี้ เมื่อนักศึกษาอยากทำขึ้นมาอีกก็ยินดี”

รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช

รศ.ดร.รัศมีเล่าว่า การจัดที่ผ่านมา บางครั้งเลือกเรื่องที่มีผลกระทบทางสังคม เช่น เพลงลูกทุ่งที่สะท้อนสังคมไทย เชิญอาจารย์จากภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ มาพูด ปรากฏว่านักข่าวได้เรื่องกลับไปพาดหัวหน้า 1 หนังสือพิมพ์

“เสวนาเช่นนี้น่าจะสร้างบรรยากาศที่เป็นอาหารทางปัญญาให้กับนักศึกษาทุกคณะ และเปิดโอกาสให้คนนอกได้มาแลกเปลี่ยน แม้จะเป็นห้องเล็กๆ แต่จะเกิดความลุ่มลึกและเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของทุกคน ในบรรยากาศสบายๆ การค้นคว้าหาความรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบที่อาจารย์สอนอย่างเดียว แต่อยู่ในหลายๆ คนที่มาชวนคุยที่นี่ หลายคนที่มาร่วมฟัง” รศ.ดร.รัศมีกล่าวทิ้งท้าย ก่อนเอ่ยว่า

ยินดีต้อนรับกับการเกิดใหม่อีกครั้งของโครงการสนทนาวันศุกร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image