จากกว่างซีถึงกรุงเทพฯ ยิ่งกว่าสัมพันธ์คือ ‘เครือญาติ’ จีน-ไทย บนเก้าอี้ตัวใหม่ของ ‘พินิจ จารุสมบัติ’

รองนายกรัฐมนตรี

รัฐมนตรีมากกว่า 1 กระทรวง

ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์

พลเมืองกิตติมศักดิ์นครชิงเต่าและมณฑลซานตง

Advertisement

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียง “เก้าอี้” บางตัวที่ พินิจ จารุสมบัติ เคยนั่งทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ก่อนที่ในค่ำคืนหนึ่ง สุ้มเสียงจากผู้ดำเนินรายการชาวจีน จะประกาศออกไมค์ถึงเก้าอี้ตัวใหม่ ในฐานะ “ประธานกิตติมศักดิ์ผู้ทรงเกียรติถาวร” ของชมรมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี

เป็นค่ำคืนอันอบอุ่นด้วยมิตรภาพ ในงานเลี้ยงประจำปีของชมรมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีในประเทศไทยที่มากมายด้วยบัณฑิตมหาวิทยาลัยดังกล่าว ซึ่งประกอบอาชีพหลากสาขา ผู้บริหารสถาบันการศึกษาชั้นนำ อีกทั้งนักธุรกิจมากมายทั้งชาวไทยและจีน

Advertisement

การพูดคุยอย่างออกรสยุติชั่วคราวด้วยเสียงเพลงชาติจีน และเพลงชาติไทยที่กึกก้องในห้องจัดเลี้ยงของโรงแรมเมอร์เคียว ฟอร์จูน พระรามเก้า กรุงเทพฯ เมื่อ 12 มกราคมที่ผ่านมา

ชาวจีนร้องเพลงชาติจีน “ไท่กั๋ว” หรือคนไทยร้องเพลงชาติไทย จบแล้วนั่งสบตาหารือกันต่อฉันญาติมิตร

ก่อนที่ หวง ฮ่วนกัง ประธานชมรมศิษย์เก่าฯ จะขึ้นเวทีกล่าวรายงานประจำปี แล้วเข้าสู่ช่วงของพิธีมอบเกียรติบัตรแด่ประธานกิตติมศักดิ์ผู้ทรงเกียรติถาวร ซึ่งคณะกรรมการชมรมศิษย์เก่าฯ อนุมัติให้แต่งตั้งพินิจ จารุสมบัติ อย่างไร้ข้อกังขา เนื่องด้วยเป็นผู้มีคุณูปการอย่างสูงต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-จีน และสนับสนุนชมรมศิษย์เก่าอย่างดียิ่ง

“ต้องขอขอบคุณที่เชิญมาร่วมงานอันสำคัญและทรงเกียรตินี้ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีเป็นสถาบันการศึกษาที่น่าชื่นชม การตั้งชมรมศิษย์เก่าขึ้น นับเป็นสิ่งที่น่ายินดี ทั้งมหาวิทยาลัยและชมรมล้วนเข้ากับยุทธศาสตร์ ‘อี้ไต้ อี้ลู่’ หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง หากไม่มีความร่วมมือในเส้นทางสายไหมย่อมลำบาก”

คือคำกล่าวของประธานกิตติมศักดิ์ผู้ทรงเกียรติถาวรผู้ซึ่งรับตำแหน่งหมาดๆ บนเวที มีสปอตไลต์ส่องเจิดจ้า จึงมองเห็นแววตาแห่งความสุขอย่างแจ่มชัด

พินิจกล่าวต่อไปถึงคุณูปการของ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี อันเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่สร้างบุคลากรคุณภาพ ผลิตบัณฑิตเอกภาษาไทยเป็นอันดับต้นๆ ของจีนมาหลายต่อหลายปี บุคคลเหล่านี้บางส่วนเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ผสานความร่วมมือ 2 ชาติ เป็นส่วนสำคัญในการสื่อสารและสรรค์สร้างความสัมพันธ์เป็นอย่างดี

“ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง ธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม รวมถึงวัฒนธรรม ในความรุ่งเรืองด้านความสัมพันธ์นี้ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีมีส่วนสำคัญอย่างมาก”

กว่างซี หรือที่คนไทยคุ้นเคยว่า “กวางสี” นั้น พินิจยกให้เป็น “เสาหลัก” เสาหนึ่งของสัมพันธ์ไทยจีน ซึ่งทุกวันนี้เสมือนเขยิบเข้ามาใกล้ด้วยเส้นทาง “อาร์ 3 เอ”

“กว่างสีเป็นมณฑลใหญ่ มีวิว ทิวทัศน์ ทรัพยากรธรรมชาติ ชนชาติ มีเขตปกครองตนเอง ศักยภาพสูงมาก เขตแดนติดต่อกับลาว เวียดนาม ใกล้กับประเทศไทย วันนี้ถนนอาร์ 3 เอ จากเชียงรายไปกว่างสีไม่ไกลแล้ว คนจีนทำถนนมอเตอร์เวย์อย่างดี …คนกว่างสี มาเอาผลไม้ไทย ทุเรียน มังคุด เงาะลำไย ต่างๆ ไปจีนเยอะมาก ซึ่งเป็นการช่วยเศรษฐกิจรากหญ้าและพี่น้องเกษตรกรชาวไทย”

ไม่เพียงเรื่องการค้าขาย แต่อดีตรองนายกฯ ยังกระซิบดังๆ ผ่านไมโครโฟนว่า คนกว่างสีมาไทยแลนด์เมื่อไหร่เป็นอันต้องรักประเทศไทยมาก เฉกเช่นเดียวกับตนที่ชอบปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้

“ผมไปปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ก็ชอบมาก ชอบความมีวัฒนธรรม วิสัยทัศน์ ความรอบรู้ ความสามารถในการขยายการพัฒนาประเทศของคนเซี่ยงไฮ้”

จากนั้นยิงหมัดตรง ไม่อ้อมค้อม ถึงความวิตกกังวลที่มีต่อการเข้ามาของคนจีนและทุนจีนมหาศาลในภูมิภาค ณ ห้วงเวลานี้

“หลายคนกลัวคนจีนในวันนี้ ผมไปเวียงจันทน์ พนมเปญ สีหนุวิลล์ คนจีนเต็มไปหมด จะไปกลัวคนจีนทำไม สมัยปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษผมมาจากซัวเถา หอบเสื่อผืนหมอนใบมาสร้างฐานะ ประสบความสำเร็จ เศรษฐกิจประเทศไทย เจริญรุ่งเรืองเพราะชาวจีนโพ้นทะเลเป็นหลักใหญ่

วันนี้พวกท่านมาด้วยรถไฟความเร็วสูง มาเครื่องบิน สมัยก่อนมาเรือสำเภา วันนี้ไม่ได้มาแบบเสื่อผืนหมอนใบ แต่มาด้วยเงินหยวนเต็มกระเป๋าไปหมด รีบมาเยอะๆ ผมไม่กลัว มาลงทุน เอาเงินมาแบ่งกัน” พินิจกล่าวอย่างอารมณ์ดี เรียกทั้งเสียงหัวเราะและเสียงปรบมืออย่างยาวนาน ก่อนจะขยายความต่อไปว่า “ต้องคิดใหม่” ในยุคสมัยใหม่

“รถไฟความเร็วสูงจะถึงเวียงจันทน์แล้ว รางถึงแล้ว อุโมงค์เรียบร้อยแล้ว รถไฟความเร็วสูงพาคนจีนมาพร้อมเงินตราและความรู้ มีคนจีนอายุ 39 ลงทุนทำเมืองใหม่ที่ห้วยทราย เสร็จแล้วให้ผมไปปิดกระเบื้องแผ่นสุดท้าย โดยให้เชิญผู้ใหญ่ของลาวด้วย ผมก็เชิญอดีตนายกฯ บัวสอน บุบผาวันไป คนจีนรุ่นใหม่ๆ เก่งมาก บางคนอายุแค่ 30-40 แต่มีเงินเป็นหมื่นล้านหยวน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกของคนจีนยุคนี้” เล่าจบ พินิจปล่อยมุขโยนคำถามสู่ด้านล่างของเวทีว่า วันนี้คุณมีถึงหมื่นหยวนหรือยัง? เรียกเสียงหัวเราะครื้นเครงอีกครั้งก่อนเข้าสู่ประเด็น “สงครามการค้า” อันเข้มข้นในห้วงเวลาแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ครบรอบ 70 ปี

“70 ปี ในการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็น 70 ปีที่ยิ่งใหญ่และงดงามมาก วันนี้ไม่มีประเทศใดในโลกต้านกระแสความรุ่งเรือง ความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของจีนได้แล้ว แม้แต่สหรัฐอเมริกายังต้านไม่อยู่ จึงเกิดสงครามการค้า และยังจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกเยอะ”

แม้เศรษฐกิจ เงินทอง และปากท้อง เป็นเรื่องสำคัญ ทว่าในมุมมองของพินิจ เหนือสิ่งอื่นใด คือ “ความรักชาติ”

“ความรักชาติต้องมาเหนือสิ่งอื่นใด ถ้ามัวแต่คิดว่าจะรวย มีเงินเยอะ แต่ชาติบ้านเมืองไม่มีความสุข ความร่มเย็น คุณจะมีเงินไปทำไม มีแต่โจรผู้ร้าย มีแต่การปล้น การฆ่า จะมีเงินไปทำไม เมื่อรวยแล้ว บ้านเมือง ตำบล อำเภอ มณฑล ต้องมีความสุขด้วย จึงจะประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่”

เจ้าตัวยังย้อนเล่าประวัติศาสตร์ยุค “ประธานเหมา” ซึ่งคนจีนยังไม่ได้ “กินอิ่ม” ถ้วนหน้า เป็นช่วงเวลาที่ต้องต่อสู้ความแร้นแค้น

ภาพจาก www.gxun.edu.cn

“ตอนนั้นจีนยังอดตาย หนาวตาย ป่วยตาย ถูกโจมตีว่าคนจีน กินข้าวต้ม กินผัก กินหญ้า ซึ่งก็ถูกต้อง เพราะข้าวไม่พอ ก็ต้องเอาข้าวมาต้ม ใส่ผัก ใส่ถั่ว ใส่มัน ใส่ฟักทอง เพื่อให้ทุกคนได้กิน

แต่ถ้ามีคนกินอิ่ม จะมีอีกส่วนหนึ่งอดตาย เลยมีการแจกคูปองให้ทุกคนแบ่งปันอาหาร ถึงกินไม่อิ่ม แต่ไม่มีคนอดตาย อันนี้สำคัญที่สุด

มีการเร่งปลูกข้าว ธัญพืช อเมริกาบอกว่า จีนโหดร้าย เอาคนมาไถนาแทนวัว แทนควาย ใช่ครับ ถูกต้อง เพราะสมัยนั้นวัวควายน้อย เครื่องไถนาไม่มี คนอาสาไถนา อาสาสมัคร ปลุกระดมเพื่อให้ปลูกข้าวได้เยอะๆ

40 ปีต่อมา เติ้ง เสี่ยวผิง ทำให้คนจีนมีกิน มีใช้ ลืมตาอ้าปาก สมัยนี้ท่านสีจิ้นผิง ทำให้คนจีนเข้มแข็ง แข็งแรงในโลกใบนี้”

ปิดท้ายด้วยประเด็นสำคัญยิ่ง ไม่เพียงต่อภาคธุรกิจ หากแต่รวมถึงความเป็นประชากรโลก นั่นคือ ความมีคุณธรรม ซึ่ง พินิจ บอกว่า อย่าคิดว่าเงินเป็นใหญ่ อย่าเอาเปรียบ สำคัญที่สุดต้องซื่อสัตย์

“เงินสีเทา ผมไม่เอา ผมเอาเกียรติยศ ความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดีต่อประเทศจีนและประเทศไทยเหนือกว่าชีวิตของผม” ยืนยันหนักแน่นด้วยน้ำเสียงและท่าทีจริงจังและจริงใจ ตามด้วยเสียงปรบมือกึกก้อง

ในงานนี้ยังมีพิธีลงนามข้อริเริ่มระหว่างชมรมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี, ชมรมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยซานตง และชมรมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ซึ่งเป็นไปอย่างราบรื่น

ศิษย์เก่าร่วมร้องเพลงมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีร่วมกัน ก่อนปิดท้ายด้วยการแสดงทางวัฒนธรรม อาทิ รำอวยพร ไทยและนาฏศิลป์จีน เพลง Shui Diao Tou จากนักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ รวมถึงการแสดงจาก “รุ่นน้อง” ชาวจีนจากมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี ที่ออกมาร้องเพลงไทยอันโด่งดัง “ไม่เคย” ไพเราะทั้งเสียงร้อง ลึกซึ้งทั้งความหมาย

พินิจ อวยพรให้ชมรมศิษย์เก่าฯ เป็นเสาหลัก และแกนสำคัญในการเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างจีนไทย ให้มั่นคง สถาพร เติบใหญ่ ขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งในงานนี้มีศิษย์เก่าเดินทางจากหลากหลายพื้นที่มาร่วมอย่างคับคั่ง ทั้งเชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต หาดใหญ่ หลังสวน นครศรีธรรมราช ฯลฯ

บางส่วนทำธุรกิจ และเป็นส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจในไทย ช่วยประสานงานต่างๆ ให้เป็นไปด้วยดี แม้กระทั่งครั้งเกิดอุบัติเหตุใหญ่อย่างเรือท่องเที่ยวล่มที่ภูเก็ต ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีในประเทศไทย ก็มีส่วนช่วยในการเป็นล่ามแปลภาษา

นับแต่การก่อตั้งเมื่อ ค.ศ.1952 มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี สร้างบุคลากรมากมาย กลายเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยสหวิทยาการที่มีขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงอย่างยิ่ง ด้วยการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ หลากสาขา ทั้งยังงดงามด้วยภูมิทัศน์ของทะเลสาบเซียงซือหูในชานเมืองของนครหนานหนิง อันเป็นเมืองหลวงของมณฑลกว่างซี

ไม่เพียงนักศึกษาชาวจีน ข้อมูลจากสำนักข่าวซินหัวยังระบุว่า มีการรับนักศึกษาต่างชาติมาตั้งแต่ ค.ศ.1986 จนถึงปัจจุบันมีชาวต่างชาติร่ำเรียนมาแล้วกว่า 7,000 คน จาก 28 ประเทศ

นี่คือเก้าอี้ตัวใหม่ของพินิจ จารุสมบัติ ในฐานะประธานกิตติมศักดิ์ผู้ทรงเกียรติถาวร ของชมรมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอันเลื่องชื่อจากดินแดนแห่งสายสัมพันธ์ที่เหนือกว่าคำว่ามิตรภาพ


 

‘กวางสี’ ยิ่งกว่าเพื่อน แต่เป็นพี่น้อง
แหล่งภาษาไท(ย) เก่าสุด 3,000 ปี

กล่าวกันมานาน ว่า จีน-ไทย นั้น สัมพันธ์ดุจพี่น้อง ทว่าเมื่อย้อนความเป็นมาลึกไปกว่าการติดต่อ ค้าขาย แต่งงาน ตั้งรกราก ประวัติศาสตร์ยาวนานยิ่งชี้รากเหง้าความเป็นเครือญาติของคนไท (ย)

และผู้คนในมณฑล กว่างซี หรือ กวางสี ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเดิมพูดภาษาตระกูลไท นักภาษาศาสตร์มีหลักฐานบ่งชี้ว่าพื้นที่ดังกล่าวคือแหล่งภาษาไทเก่าแก่ที่สุด ราว 3,000 ปีมาแล้ว

ชนชาติ “จ้วง” ในกว่างสี คือ เครือญาติตระกูลไทย ผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด ฉันทลักษณ์ในบทร้อยกรองของจ้วงกับของไทยมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และมีพื้นฐานจากคำคล้องจองเช่นเดียวกัน นิทานปรัมปราและนิยายศักดิ์สิทธิ์ที่ถ่ายทอด “ปากต่อปาก” ด้วยภาษาจ้วงหรือภาษาตระกูลไทย เช่น เรื่องกำเนิดคน เรื่องการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสัมพันธ์กับน้ำฝน เช่น กบ ฯลฯ

ล้วนคล้ายคลึงกับนิทานและนิยายของชนชาติไทยทุกกลุ่มทุกเหล่า รวมทั้งคนไทยในประเทศไทย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นเจ้าของวัฒนธรรมมโหระทึกที่เป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมยุคแรกเริ่มของภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วย โดยพบกลองฝังใต้ดินไม่น้อยกว่า 600 ใบ ทุกวันนี้ ยังมีใช้ในชุมชน

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง ระบุว่า จ้วง มีวัฒนธรรมเก่าแก่ อย่างสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ซึ่งอย่างน้อยก็ราว 2,300-2,400 ปีมาแล้ว

“ถ้าไม่มีชาวจ้วงที่เป็นเครือญาติผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดเป็นผู้สืบทอดอารยธรรมต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วเอาไว้ คนไทยก็คงไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมว่าตนเองก็มีพื้นเพรากเหง้าเก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของภูมิภาคอุษาคเนย์”

เน้นย้ำสัมพันธ์ชิดใกล้ระหว่างกว่างสีและไทยแลนด์ที่ไม่ใช่เพียงมิตร แต่เป็นพี่น้อง เครือญาติที่ไม่อาจแยกจากกันได้ในประวัติศาสตร์แห่งแดนตะวันออก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image