เวที ‘ขับเคลื่อนประเทศ 2020’ ถก ‘ลงทุน-ทางออกประเทศไทย’

'สารัชถ์-ปณต' แสดงทรรศนะเข้มข้น

ในโอกาสก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่ 2020 และการครบรอบการดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 43 “มติชน” ได้จัดสัมมนา 2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา พร้อมเปิดเวที 2 ช่วงให้ภาครัฐและเอกชนเสนอแนวคิดด้านการลงทุน ซึ่งจะเป็นทางออกของเศรษฐกิจไทยในปี 2563

ดำเนินรายการโดย บัญชา ชุมชัยเวทย์ และ แพน ภัทรธรโภคิน รับหน้าที่พิธีกร

เพื่อทวีความพิเศษยิ่งกว่าที่ผ่านมา “มติชน” ได้จัดทำวีทีอาร์แนะนำหนังสือพิมพ์มติชนฉบับแรก 9 มกราคม 2521 กระทั่งถึงฉบับวันเกิดล่าสุด 9 มกราคม 2563

ชื่อของผู้ร่วมเสวนาทำให้พื้นที่ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กรุงเทพฯ คลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากกว่าที่เคย

Advertisement

ได้รับเกียรติจากรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมด้วยบรรยายพิเศษจาก สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) คนใหม่ กล่าวต้อนรับ

‘ปานบัว’ กล่าวเปิดงาน

ปานบัวกล่าวตอนหนึ่งว่า ด้วยความปรารถนาอยากเห็นทิศทางของประเทศ โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ ขยายศักยภาพของประเทศ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยรัฐบาลมีแนวทางสำคัญในการดำเนินการ ซึ่งมองว่าการลงทุนคือทางออกของประเทศไทยในปี 2563 นสพ.มติชน จึงหยิบยกแนวคิดเรื่องการลงทุนมาเป็นหัวข้อหลักในการสัมมนา และเป็นที่มาของชื่อ “2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย”

“เชื่อว่าการสัมมนาครั้งนี้จะทำให้ประชาชนได้เห็นทิศทางการขับเคลื่อนประเทศได้ชัดเจนมากขึ้น มีความเข้าใจ และมีความหวังที่จะเดินหน้าผ่านสถานการณ์ของปี 2020 ไปได้อย่างราบรื่น”

Advertisement
รองนายกฯสมคิดปาฐกถาพิเศษ

รองนายกฯสมคิดขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษเอ่ยชื่นชมเหล่ากูรูด้านการลงทุนมาร่วมพูดคุยกันในวันนี้ พร้อมเปิดเผยข่าวสำคัญเรื่องการทุ่มงบประมาณกว่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย

“ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 14 ม.ค. เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณไตรมาส 2 ของปีงบ คือในเดือนมกราคม-มีนาคม ให้ขึ้นไปอยู่ที่ 54% จาก 23% คาดว่าจะมีเงินไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท ถือว่ามากทีเดียว ส่วนไตรมาส 3 การใช้จ่ายงบประมาณต้องสูงกว่า 70% หลังจากนั้นเต็ม 100% ในไตรมาส 4 ซึ่งในช่วงรองบประจำปี ได้เร่งรัดการใช้จ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ถือว่ารัฐวิสาหกิจให้ความร่วมมือดีมาก ทำให้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว เบิกจ่ายงบลงทุนไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท”

“ที่ผ่านมา ไทยติดกับดักใน 3 เรื่องคือ กับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความไม่สมดุล จะแก้ได้ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ใน 6 มิติ ตอบโจทย์ประเทศไทยด้านความหลากหลาย เชื่อมโยงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตอบโจทย์ 10 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุม 5 ใน 10 อุตสาหกรรม S-Curve และกระจายโอกาสและความมั่งคั่งสู่เศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจภูมิภาค

‘สุวิทย์’ รมว.อว. ชู BCG โมเดล

ด้านรัฐมนตรีสุวิทย์นำเสนอ BCG Model เป็นทางออกของประเทศ โดย B = Bioeconomy หมายถึง เศรษฐกิจชีวภาพ C = Circular Economy หมายถึง ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และ G = Green Economy หมายถึง เศรษฐกิจสีเขียว

“ขณะเดียวกัน BCG Model ยังเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจแบบทั่วถึง ทั้งอาหาร การเกษตร สุขภาพ การแพทย์ พลังงานวัสดุและเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่ง BCG Model จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทั่วถึง”

ขยับมาฟังสัมมนาช่วงแรกจาก ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ในหัวข้อ ลงทุนไทย 2020 สู่บริบทใหม่

ใครที่ติดตามข่าวคราวการประมูลคลื่น 5จี อยู่ เลขาฯฐากรย้ำข่าวดีว่า กสทช.เตรียมเปิดประมูลวันที่ 16 ก.พ.นี้ และภายในต้นเดือน มี.ค.63 ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ต้องดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ในทันที อย่างไรก็ดี แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีกระแสข่าวว่าประเทศเพื่อนบ้านจะเปิดให้บริการ 5จี แต่เลขาฯฐากรยืนยันว่าเป็นเพียงการเปิดทดสอบเท่านั้น โดยประเทศไทยจะเปิดรูปแบบเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ค.63 นี้

จากซ้าย รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส, ดวงใจ อัศวจินตจิตร์, ฐากร ตัณฑสิทธิ์, อาทิตย์ นันทวิทยา และ บัญชา ชุมชัยเวทย์ดำเนินรายการฃ

“กสทช.จะเปิดประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5จี ใน 4 ย่าน คาดว่าจะมีรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เข้ารัฐ จำนวน 54,654 ล้านบาท จากการประมูล 25 ใบอนุญาต ทั้งนี้ การขับเคลื่อน 5จี จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2563 มูลค่า 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ที่ 17,328,000 ล้านบาท”

ขณะที่เลขาฯดวงใจแห่งบีโอไอแจ้งว่า ปี 2562 ที่ผ่านมา มีตัวเลขยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเกินเป้าหมาย จากเดิมตั้งเป้าที่ 750,000 ล้านบาท ทว่ามียอดขอรับอยู่ที่ 756,100 ล้านบาท

และภายใน 6 เดือนนี้ บีโอไอยืนยันจะเร่งออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน หรือแพคเกจส่งเสริมเพิ่มเติม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อออกมาตรการที่ครอบคลุมทั้งผู้ที่ลงทุนอยู่แล้วและยังไม่ลงทุน หรืออยู่ระหว่างตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย

ด้าน “รุ่งโรจน์” จากเอสซีจี เผยว่า ปี 2563-2564 เป้าหมายของเอสจีซี มิติแรกขยายการเติบโตธุรกิจหลักในอาเซียน ทั้งปิโตรเคมีและแพคเกจจิ้ง มิติที่ 2 การทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เราทำธุรกิจซีเมนต์มา 100 กว่าปี จะทำแบบเดิมคงไม่ได้ เรามีโซลูชั่นมาเสริม ไปตามยุคสมัย จะขายสินค้าอย่างเดียวไม่ได้ต้องมีบริการ ตอบโจทย์ลูกค้า และมิติที่ 3 เพิ่มความยั่งยืนให้มีศักยภาพแข่งขัน การลดต้นทุน การใช้เทคโนโลยี

ผู้บริหารเอสซีจียังเสนอให้รัฐลงทุนในเรื่องน้ำ ซึ่งเมื่อไตรมาสที่ 4/2562 ไทยยังประสบปัญหาน้ำท่วม ทว่า ปัจจุบันนี้หลายพื้นที่กลับประสบภัยแล้ง จึงมองว่าการลงทุนที่รัฐบาลจะแก้ไขเรื่องนี้ได้เร็วที่สุดคือการจัดการทรัพยากรน้ำ อาทิ การขุด-เจาะบ่อ เพื่อรับน้ำในช่วงฤดูฝน โดยเริ่มเตรียมการตั้งแต่ตอนนี้ ทั้งนี้ การบริหารจัดการอยู่ที่ภาครัฐ ดังนั้น มุมมองของภาคเอกชนคืออยากให้ลงทุนเรื่องน้ำ ทำยังไงให้เร็ว ซึ่งการขุดไม่ยาก แต่การวางแผนนั้นยาก

ฟากธุรกิจธนาคาร “อาทิตย์” จากไทยพาณิชย์ มองว่ามีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจไทยโดยตรง เพราะหากเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้รับผลกระทบ ธุรกิจธนาคารก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้น เจ้าตัวจึงเสนอ 3 แนวทาง เพื่อปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย ดังนี้ 1.จากเดิมที่อุตสาหกรรมต่างๆ ถูกกำหนดทิศทางด้วยบริษัทต่างชาติเป็นหลักต้องเปลี่ยน ต้องมีการออกแบบอนาคตประเทศ และมีความเข้าใจแลนด์สเคปในอนาคต

2.สนับสนุนธุรกิจที่มีองค์ความรู้ ทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) และการลงทุนของธุรกิจในประเทศ และการลงทุนของธุรกิจในประเทศ และ 3.เน้นการสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพให้สามารถแข่งขันได้

ส่วนอีกหนึ่งสัมมนาในหัวข้อ ปีแห่งการลงทุน ทางออกประเทศไทย โดย สารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ ปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ก็เข้มข้นด้วยมุมมองของผู้นำธุรกิจ

บรรทัดต่อไปนี้คือบางช่วงบางตอนจาก “สารัชถ์”

“ไทยมีโอกาสการลงทุนตลอดเวลา แต่ปัญหาคือจีดีพีกับประชาชนฐานรากหรือรากหญ้าไม่โตตามไปด้วย ตอนนี้รากหญ้ากำลังประสบปัญหา ต้องดูแลส่วนนี้ ส่วนเรื่องระบบสินเชื่อพบว่ามีปัญหาเช่นกัน อย่างกัลฟ์กู้เงินในไทยหรือต่างประเทศไม่ยาก แต่ถ้าเป็นเอสเอ็มอีอยากกู้เงิน 100-200 ล้านบาท จะเจอธนาคารเข้มงวดมากกว่า ดังนั้น หากไม่สามารถแก้ภาพรวมเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนได้ จะกระทบต่อระบบสินเชื่อดังกล่าว

“อยากให้ทำโครงการลักษณะร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว เมืองไทยถึงเวลาต้องกล้าลงทุนเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยเปิดการลงทุนด้วยระบบพีพีพีจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะปัจจุบันมีต่างชาติต้องการเข้ามาอยู่อาศัยในไทย แต่มาแต่ตัว ไม่ใช่เงิน ไทยควรให้เงินต่างชาติเข้ามาด้วย ดังนั้น ไทยต้องมีระบบสาธารณูปโภคที่พร้อมรับการลงทุน มีระบบโทรคมนาคมที่รองรับ 5จี หรือไป 6จี ยิ่งดี

“นอกจากนี้ การออกไปลงทุนต่างประเทศ ตามขั้นตอนต้องผ่านสิงคโปร์ก่อนเพื่อแลกเปลี่ยนเงินตราทุกบริษัทต้องทำเหมือนกัน อยากเสนอจังหวัดภูเก็ตเป็นสเปเชียล อีโคโนมิก โซน ได้หรือไม่ เพราะขนาดใกล้เคียง และต่างชาติจำนวนมากเดินทางเข้าไปเที่ยว ส่วนประเทศที่ไทยควรไปลงทุนต้องเลือกประเทศที่แข่งขันได้ ไม่ใช่ทำธุรกิจที่ไม่รู้ แม้คนไทยไม่ได้ถูกสร้างต้องไปทำงานต่างประเทศ แต่ต้องปรับตัว บริษัทต้องเทรนพนักงานของตัวเองเพื่อให้มีพื้นฐานในการออกไปใช้ชีวิต ออกไปทำงาน”

ก่อนที่ “ปณต” จะกล่าวปิดท้าย เขายังบอกว่า เฟรเซอร์สฯเริ่มต้นธุรกิจจากฐานในประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันได้ขยายธุรกิจครอบคลุม 25 ประเทศ กว่า 70 เมือง ขณะนี้เฟรเซอร์สฯได้เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ “วัน แบงค็อก”

“การเข้ามาลงทุนมองเรื่องความมีเสถียรภาพของประเทศ รวมทั้งไทยกำลังมีการขยายโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ซึ่งโครงการวัน แบงค็อก ดำเนินการก่อสร้างและคืบหน้าต่อเนื่องมาช่วง 1 ปีครึ่ง สอดคล้องไปกับแผนการลงทุนสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ

“ปีนี้เป็นปีแห่งการลงทุน เอกชนพร้อมตอบสนอง เรามองว่าประเทศไทยยังมีโอกาสอีกเยอะ แต่เราต้องมีการพัฒนาบุคลากร และไทยต้องรวมพลังงานกับอาเซียนเพื่อสื่อสารออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยดึงนักลงทุนให้เข้ามาในภูมิภาค ที่ผ่านมาเฟรเซอร์สฯเข้ามาลงทุนในไทย นำนักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมทุน เช่นเดียวกับบริษัทกัลฟ์ฯที่มีการนำนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาเพื่อลงทุนระยะยาว มีการสร้างองค์ความรู้ให้กับประเทศสร้างการเติบโตไปด้วยกัน ไม่หวังเฉพาะการนำกำไรกลับไปประเทศเท่านั้น”

ไม่ว่าอนาคตของประเทศไทยจะเดินไปทางไหน แต่ในสัมมนา “2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย” ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าภาครัฐและเอกชนพร้อมจะขับเคลื่อนไปด้วยกัน

เพื่อให้การลงทุนตอบโจทย์ของประเทศในปี 2020 นี้ให้ได้

ปานบัว บุนปาน มอบของที่ระลึกแก่ผู้ร่วมเสวนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image