‘ตะวันลับแห่งต้าถัง’ สูงสุดสู่ล่มสลาย ขุดปมลึก ค้นความนัย จาก ‘เรื่องที่ไม่ถูกเล่า’

(ซ้าย) ตะวันลับแห่งต้าถัง ผลงานของ จ้าวอี้ แปลโดย เรืองชัย รักศรีอักษร สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2562 (ขวา) โถลายครามแปดเหลี่ยมสมัยราชวงศ์หยวน จากแหล่งเตาจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี ได้จากกรุวัดพระราม จ.พระนครศรีอยุธยา

“ไม่ใช่ตำราวิชาการน่าเบื่อ แต่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าติดตาม สนุกตื่นเต้นราวกับนิยาย”

คือ ถ้อยความจาก เรืองชัย รักศรีอักษร ในฐานะผู้แปล “ตะวันลับแห่งต้าถัง” โดย “จ้าวอี้” ร้อยเรียงวลี ประโยค เนื้อหาเป็นภาษาไทยอย่างชวนอ่าน บอกเล่าเรื่องราวใน “ช่วงท้ายๆ” ของราชวงศ์อันยิ่งใหญ่ไม่เพียงประวัติศาสตร์จีน แต่รวมถึงประวัติศาสตร์โลก อย่างราชวงศ์ถัง

ค.ศ.618-907 คือห้วงเวลาแห่งการดำรงอยู่ของราชวงศ์นี้ นับแต่ “ถังเกาจู่” ฮ่องเต้องค์แรก จนถึง “อายตี้” ฮ่องเต้องค์สุดท้าย

นับเป็น 300 ปีอันยาวนาน โดยในช่วงครึ่งแรกนั้น “ราชวงศ์จักรวรรดิถัง” ก้าวสู่จุดสูงสุดทั้งทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

Advertisement

ขึ้นแท่นเป็นจักรวรรดิยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคกลาง

“ฉางอัน” กลายเป็นเมืองแรกของโลกที่มีประชากรถึง 1 ล้านคน การค้าตามเส้นทางสายไหมโบราณ รุ่งเรืองถึงขีดสุด

และเฉกเช่นทุกสรรพสิ่งในโลกใบนี้ เมื่อรุ่งโรจน์ในวันหนึ่ง ก็ย่อมมีวันเสื่อมถอย แม้แต่ราชวงศ์อันยิ่งใหญ่ก็ไม่มีข้อยกเว้น

หลังจากกบฏอันสื่อ ระหว่าง ค.ศ.755-763 ในรัชกาลเสวียนจงฮ่องเต้ จักรวรรดิถังเริ่มถดถอย

150 ปีหลัง คือช่วงเวลาท้ายๆ ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ที่พาให้ผู้อ่านร่วมย้อนเวลาไปติดตามสถานการณ์หลากสีสัน สืบสาวมูลเหตุความเป็นไปในไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน

ประตูบานพับไม้แกะสลักของเก๋งนุกิจราชบริหาร เขียนสีเป็นรูปเครื่องตั้งและแจกันปักเครื่องมงคลจีนอย่างงดงาม

พรุ่งนี้อาทิตย์ที่ 26 มกราคม หลัง “ตรุษจีน” เพียง 1 วัน สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ TANG DYNASTY ตะวันลับแห่งต้าถัง โดยมีวิทยากรมากความสามารถชวนถกและเยี่ยมชมศิลปะสถาปัตย์กลิ่นไอแดนมังกรในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ

ต่อไปนี้คือ “น้ำจิ้ม” ถ้วยแซ่บที่พร้อมเสิร์ฟในชั่วโมงเสวนาที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ถึง 24 ชั่วโมงข้างหน้านี้

ฉากหลังความรุ่งเรือง กับเรื่องที่ ‘ไม่ถูกเล่า’

นิธิพันธ์ วิประวิทย์ แฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีน เจ้าของผลงาน “ระหว่างบรรทัดสถาปัตย์แดนมังกร” เกริ่นว่า ราชวงศ์ถังมีเรื่องน่าสนใจเยอะ

อาจต้องเริ่มต้นที่ความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์นี้ พร้อมเหตุผลที่ว่าทำไมความรุ่งเรืองในช่วงต้นราชวงศ์จึงล่มสลายลง อย่างไรก็ตาม เรื่องราวในช่วงวิกฤตกระทั่งถึงจุดจบ กลับไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึง จึงเกิดเป็นช่องว่างให้ “จินตนาการ”

“ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ คือการเล่าเรื่องช่วงปลายราชวงศ์ถังที่ไม่ค่อยมีใครเล่ากัน โดยเขียนขึ้นในลักษณะที่มีการอ้างอิงเชิงวิชาการ จากหนังสือของอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์หลายท่านที่ผมคุ้นเคย เป็นอาจารย์ดังๆ ในวงการประวัติศาสตร์จีนทั้งนั้น แล้วมีการเสริมแต่งจินตนาการผู้แต่งเข้าไปด้วย

นิธิพันธ์ วิประวิทย์ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีน 2556 วิทยากรมากความความสามารถ

วิกฤตที่เกิดขึ้นของราชวงศ์ถัง ค่อนข้างหนักหนาสาหัส ถ้าเป็นราชวงศ์อื่นก็อาจล่มสลายไปแล้ว แต่ด้วยความที่ราชวงศ์ถังคือ ราชวงศ์ถัง ทำให้อยู่ได้ยาวนานไปได้อีกตั้งเกือบ 150 ปี แล้วสภาพบ้านเมืองทั่วไปของจีน ถ้าเกิดแตกแยกกันขึ้นมา สักพักต้องมีการรรวมศูนย์อำนาจขึ้นมาใหม่ แต่ยุคปลายราชวงศ์ถัง เหมือนคงสถานะอะไรบางอย่างที่ค้างคาไว้ ทำให้รัฐอาณาบริเวณที่ไม่ได้เชื่องฟังราชวงศ์ถัง ก็ไม่ได้คิดจะยึดราชวงศ์ถังอยู่ดี จึงถือเป็นช่วงพิเศษพอสมควร

อย่างไรก็ตาม คนมักเล่าเพียงเรื่องต้นราชวงศ์ที่มีความรุ่งเรือง แต่พอเกิดวิกฤตหนักหนาสาหัส แบบอยู่ดีๆ ล่มสลาย กลับเป็นเรื่องเงียบไปเลย

แม้กระทั่งแบบเรียนของจีน ภาพยนตร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ส่วนใหญ่ไม่ได้พูดถึงประวัติศาสตร์ช่วงนั้นให้ชัดเจน กลายเป็นแค่นิยาย เพราะมีช่องว่างให้แต่งเติมเยอะ” แฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีนเล่าด้วยน้ำเสียงชวนตื่นใจ ทั้งยังบอกด้วยว่าบรรยากาศทางการเมืองยุคนั้นเป็นอย่างไร สัมผัสได้จากเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้

จากประวัติศาสตร์จีนถึงการเมืองไทย ใน ‘อุดมคติ’ ระหว่างบรรทัด

ไม่เพียงเป็นหนังสือที่คอประวัติศาสตร์จีนต้องอ่าน แต่คอการเมืองไทย ก็ไม่ควรพลาด เพราะเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์และแนวคิดบางอย่าง ก็ชวนให้นึกถึงบางเหตุการณ์ใน พ.ศ.นี้

“จากที่ผมอ่านประวัติศาสตร์จีนของนักเขียนสมัยนี้หลายๆ ท่าน รู้สึกว่าเวลาเขาวิเคราะห์หรืออ่านประวัติศาสตร์ จะไม่ได้อ่านแบบเดิมๆ อีกต่อไป เช่น อ่านเรื่องราวของบุคคล หรืออุปนิสัยของคนนั้นเป็นอย่างนี้ จึงทำให้บ้านเมืองเป็นอย่างนั้น สังเกตจากหนังสือเรื่องนี้ ถามว่าใครเป็นตัวเด่นตัวหนึ่ง ก็ไม่ใช่ แต่พูดถึงยุคสมัยยุคหนึ่งต่างหาก ซึ่งผมมองว่ามันสะท้อนวิชาการประวัติศาสตร์ของจีน ว่าเวลามองอะไรอย่างหนึ่ง เขาพูดถึงระบบหรือบรรยากาศโดยรวมที่ขับเคลื่อนสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง เพราะคนใดคนหนึ่งแบกรับประวัติศาสตร์ไว้ไม่ได้ ไม่ได้ทำให้ประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญเท่ากับระบบที่เกิดขึ้น

จิตรกรรมเรื่อง ‘ห้องสิน’ เขียนจากวรรณคดีจีนเลื่องชื่อ

จากที่ได้อ่านในหนังสือ มันไม่ได้มีแค่ระบบสังคม การเมือง แต่พูดถึงอุดมคติหรือความคิดของขุนนางด้วย อย่างตอนเริ่มต้นของเล่มนี้ มีการหาเรื่องกันระหว่างขุนนาง 2 ฝัก 2 ฝ่าย ประเด็นที่เขาเอามาชี้โทษ ชี้ความผิด มันเป็นเรื่องอุดมคติ ของจีนโบราณ ว่าบ้านเมืองต้องยึดถือประเพณีแบบนี้ แต่ถามว่า เบื้องหลังจริงๆ ที่ต้องเอาคนๆ หนึ่งออก หรือเก็บรักษาใครคนหนึ่งไว้ มันไม่ใช่เรื่องของอุดมคติเท่านั้น แต่ยืมอุดมคติมาใช้ทำลายคู่ต่อสู้ซึ่งเรื่องพวกนี้ ณ ปัจจุบันยังเป็นอยู่หรือไม่

เรื่องแบบนี้เขาไม่ได้พูดมาโดยตรง แต่ต้องอ่านระหว่างบรรทัด ถ้าอ่านดีๆ จะเห็นเลย” กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะเบาๆ ทิ้งประเด็นน่าสนใจชวนให้ไปฟังรายละเอียดลึกซึ้งในเสวนาพรุ่งนี้

ลึกกว่าที่คิดนานกว่าที่คุ้น ‘เก๋งนุกิจราชบริหาร’ สัมพันธ์จีน-ไทยในหลากมิติ

นอกเหนือจากการชวนคุยในวงเสวนา ยังมีกิจกรรม “เดินเท้า” เข้าชมห้องจัดแสดงเครื่องเคลือบจีนอันงดงาม รวมถึงไฮไลต์อย่าง “เก๋งจีนนุกิจราชบริหาร” ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของพระที่นั่งบวรปริวัติที่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระวิสูตรวาลี (มลิ) สร้างที่บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ปัจจุบันอยู่ในรั้วพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครนั่นเอง

งานนี้ ศานติ ภักดีคำ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เตรียมข้อมูลแน่นปึ้กไว้นำชม

“เราจะไปดูโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับจีน ไฮไลต์คือ ห้องเครื่องถ้วย ซึ่งมีเครื่องถ้วย เครื่องกระเบื้องที่สัมพันธ์กันระหว่างไทยกับจีน ในแหล่งโบราณคดีของไทย พบมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะในช่วงที่ร่วมสมัยกับทวารวดี ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์ถังพอดี

คนจีนยุคราชวงศ์ถังก็สัมพันธ์กับคนไทย มีการติดต่อกันตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว

จุดเด่นคือ เคลื่องเคลือบขาว และเครื่องเคลือบสีออกเขียว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ พบมากที่แหลมโพธิ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่เราไม่ได้จะไปชมเฉพาะเครื่องถ้วยราชวงศ์ถัง ยังมีของราชวงศ์อื่นๆ ที่สวยงาม แสดงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนด้วย

ศานติ ภักดีคำ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มศว เตรียมนำชมศิลปะจีนอันบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนในอดีตผ่านโบราณวัตถุสถานใน พช.พระนคร
‘เก๋งนุกิจราชบริหาร’ หลังคามุงกระเบื้องจีน บริเวณจั่ว หน้าบัน และสันหลังคาเขียนสีลายกระบวนจีน

อีกส่วนหนึ่งคือ เก๋งราชบริหารซึ่งเป็นเก๋งจีนเล็กๆ ที่เก่าแก่และน่าสนใจมาก คนทั่วไปไม่ค่อยได้เข้าไปดูกัน เพราะค่อนข้างอยู่ในจุดอับ แต่จริงๆ แล้วสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของพระที่นั่งบวรปริวัติ ซึ่งเป็นพระที่นั่งทรงจีนที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ โปรดให้สร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ 4

พระที่นั่งนั้น ถูกรื้อไปแล้ว เหลือแต่เก๋งที่เราจะไปชมกัน ในเก๋งมีจุดสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ภาพจิตรกรรมจีน เขียนเรื่องห้องสินซึ่งเป็นวรรณกรรมจีนสมัยราชวงศ์หมิง เล่าเรื่องราวเก่าไปจนถึงสมัยราชวงศ์โจว วรรณกรรมเรื่องนี้มีการแปลมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ส่วนตัวจิตรกรรมเขียนในสมัยรัชกาลที่ 4

ในภาพ มีสิ่งที่คนไทยรู้จักกันดี คือ นาจา ทหารเอกที่ถูกนำมาสร้างแอนิเมชั่น แสดงว่าเรารู้จักนาจามาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว”

แม้เป็นเจ้าของผลงานสดๆ ร้อนๆ “แลหลังคำเขมร-ไทย” แต่วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ ศานติ เตรียมขุดความรู้รอบเรื่องจีน ซึ่งเป็นอีกสาขาที่ตนเชี่ยวชาญออกมาเผยแพร่อย่างไม่มีกั๊ก

เป็นอีกหนึ่งงานน่าสนใจในเทศกาลตรุษจีน ที่จะเปิดมุมมองใหม่ๆ ระหว่างเส้นบรรทัด และช่องไฟในประวัติศาสตร์จีนอันยิ่งใหญ่ยาวนาน อีกทั้งสัมพันธ์กับความเป็นไทยอย่างลึกซึ้ง

ขอบคุณภาพส่วนหนึ่งจากกรมศิลปากร


ชมพิพิธภัณฑ์ฟังเสวนา
‘เปิดตัวหนังสือ ตะวันลับแห่งต้าถัง’

สํานักพิมพ์มติชนร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ขอเชิญชวนนักอ่าน ชมพิพิธภัณฑ์ ฟังเสวนา ในงานเปิดตัวหนังสือ “ตะวันลับแห่งต้าถัง” เพื่อสืบสาวราวเรื่องความรุ่งเรืองและล่มสลายของราชวงศ์ถัง เชื่อมโยงอดีตเข้ากับปัจจุบัน ด้วยเกร็ดความป๊อปแห่งต้าถังที่ฟังแล้วต้องทึ่ง รวมถึงเกร็ดการไหว้ขอพรตรุษจีนและไหว้เจ้าต่างๆ โดย 2 สุดยอดกูรูเรื่องจีนของเมืองไทย สมชาย แซ่จิว ผู้เขียนหนังสือ “เกร็ดเทพเจ้าจีน” และนิธิพันธ์ วิประวิทย์ ผู้เขียนหนังสือ “ระหว่างบรรทัดสถาปัตย์แดนมังกร” และสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีน พ.ศ.2556 จากนั้นร่วมนำชมห้องจัดแสดงเครื่องเบญจรงค์และเก๋งจีนนุกิจราชบริหาร ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร บรรยายโดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ

วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2563

ลงทะเบียนหน้างาน : 12.00-13.00 น.

เสวนา : 13.00-14.30 น.

ชมพิพิธภัณฑ์ : 14.30 น. เป็นต้นไป

สถานที่ : ห้องประชุม อาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ดำเนินรายการ โดย วิกรานต์ ปอแก้ว

สำรองที่นั่งได้ทาง : inbox เฟซบุ๊กสำนักพิมพ์มติชน m.me/matichonbook สอบถามเพิ่มเติมโทร 09-8832-0718

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image