สุวรรณภูมิในอาเซียน : แล้งน้ำ ก่อนถึงหน้าแล้ง ‘ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย’

แล้งน้ำก่อนถึงหน้าแล้ง ทุ่งนา อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม (ฝีมือ วิโรฒ ศรีสุโร สิงหาคม 2527)

แล้งน้ำก่อนถึงหน้าแล้ง (เมษายน) สะท้อนความล้มเหลวทางเศรษฐกิจและสังคมของทุกรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่จ้องช่วงชิงอำนาจของรัฐบาลจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จนไม่ไยดีต่อชีวิตประชาชน

รัฐไทยน่าจะชำนาญการแก้ไขและรับมือภัยแล้ง แต่ในความจริงไม่เป็นอย่างนั้น เพราะรัฐไทยส่วนมากหมกมุ่นยึดอำนาจด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร แล้วต้องคอยระวังผดุงรักษาอำนาจนั้นให้สืบทอดยาวนานที่สุด จึงไม่มีความคิดแก้ไขและรับมือภัยแล้ง หรือภัยเศรษฐกิจอื่นๆ

แล้งน้ำเพราะฝนแล้ง เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีในไทย (และพื้นที่โดยรอบ) ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว เท่าที่พบหลักฐานสนับสนุนทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา กระทั่งสืบเนื่องถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา, กรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์

รัฐจารีตส่วนมากโยนภาระให้ประชาชนแก้ไขและรับมือภาวะข้าวยากหมากแพงจากภัยแล้งด้วยตนเองตามยถากรรม ส่วนประชาชนแก้ไขได้หรือไม่ได้ก็ให้ทุกคนรับชะตากรรมตามมีตามเกิด

Advertisement

บทกวีชื่ออีศานของนายผี เป็นกวีนิพนธ์มีคุณค่าอย่างสูงของสังคมไทย และมีพลังอย่างยิ่งตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรก (พ.ศ. 2495) ตราบจนปัจจุบันและอนาคต จึงถูกใช้งานสะท้อนสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำเพราะความล้มเหลวของการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากรัฐบาลเผด็จการทหารสมัยนั้นจนเกิดปฏิวัติรัฐประหารกันเองสืบมาอีกหลายครั้งไม่ขาดสายจนปัจจุบันซึ่งเป็นรัฐบาล “เผด็จการจำแลง”

คนบริเวณน้ำแล้งสมัยก่อนต้องทำนาดอน “เฮ็ดไฮ่” ใช้ไม้ปลายแหลมแทงดินแล้งเป็นหลุม แล้วหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวลงรูหลุมนั้น รอวันงอกด้วยน้ำค้าง [ชาวเสตียงกำลังทำนาดอน ภาพวาดลายเส้นโดย เอ. โบกูรต์ จากรูปสเก๊ตช์ของมูโอต์ (ภาพจากหนังสือ บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในราชอาณาจักรสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ แปลโดย กรรณิกา จรรย์แสง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2558)]

คอมมิวนิสต์จากแล้งน้ำ

“ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย” ใครท่องกวีนิพนธ์สองวรรคนี้ของนายผีเมื่อ 60 ปีที่แล้ว มีข้อหาทันทีถึงคนนั้นว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” เพราะตอกย้ำอีสานแล้ง แล้วห่วงใยเห็นอกเห็นใจคนยากคนจนชาวไร่ชาวนา จึงอาจได้รับโทษติดคุก “ขังลืม”

มีผู้ถูกจับติดคุกขังลืมแล้วหลายคนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทั้งชาวไร่ชาวนา, กวี, นักคิดนักเขียน, นักหนังสือพิมพ์ (สมัยนั้นไม่มีนักเลงคีย์บอร์ด เพราะยังไม่มีโซเชียลเหมือนทุกวันนี้)

Advertisement

อีศาน ของ นายผี

(พิมพ์ครั้งแรกใน สยามสมัย ปีที่ 5 ฉบับที่ 256 วันที่ 16 เมษายน 2495)

ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย

น้ำตาที่ตกราย ก็รีบซาบบ่รอซึม

แดดเปรี้ยงปานหัวแตก แผ่นดินแยกอยู่ทึบทึม

แผ่นอกที่ครางครึม ขยับแยกอยู่ตาปี

———- ———-

ในฟ้าบ่มีน้ำ! ในดินซ้ำมีแต่ทราย

น้ำตาที่ตกราย คือเลือดหลั่ง! ลงโลมดิน

สองมือเฮามีแฮง เสียงเฮาแย้งมีคนยิน

สงสารอีศานสิ้น อย่าทรุด, สู้ด้วยสองแขน!

พายุยิ่งพัดอื้อ ราวป่าหรือราบทั้งแดน

อีสานนับแสนแสน สิจะพ่ายผู้ใดหนอ?


คนอีสานหนีแล้ง

คนอีสานหนีแล้งในฤดูแล้ง (หลังฤดูเก็บเกี่ยวราวมีนาคม-เมษายน-พฤษภาคมของทุกปี) เกาะรถไฟสายอีสานเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำ แล้วอาศัยนอนเกลื่อนสถานีหัวลำโพง หนังสือพิมพ์รายวันสมัยนั้นต้องเสนอภาพและข่าวเป็นประจำทุกปี

“เกาะรถไฟ” เพราะที่นั่งในโบกี้เต็มจนแน่นเหมือนยัดทะนาน ดังนั้นคนโดยสารจำนวนหนึ่งต้องห้อยโหนล้นหน้าต่าง, ประตู, และขึ้นหลังคาตู้รถไฟทั้งขบวน

“นอนเกลื่อนสถานี” เพราะรถไฟเข้าเทียบชานชาลาแล้วไม่รู้จะไปทางไหน? ไม่เคยมา และไม่มีญาติพี่น้องจะพึ่งพา จึงต้องนั่งรอนอนรอไปก่อนที่สถานีหัวลำโพง เพื่อหาแนวทางจากพรรคพวกที่มาด้วยกัน ซึ่งตกเย็นย่ำค่ำคืนจะกลับมานอนที่หัวลำโพงเหมือนกัน เพราะยังไม่มีที่อื่นจะอาศัยนอนได้

คนอีสานเหล่านี้พร้อมรับจ้างทำงานทุกอย่างที่ขวางหน้าหากได้ค่าจ้างรายวัน ครั้นเข้าหน้าฝนส่วนมากจะกลับไปทำนาที่อีสานบ้านใครบ้านมัน พอหน้าแล้งก็มาใหม่เข้าหางานในกรุงเทพฯ


คนไหนคุมแหล่งน้ำ คนนั้นคุมอำนาจ

แหล่งน้ำคืออำนาจ คนไหนคุมแหล่งน้ำ คนนั้นคุมอำนาจ

หน้าแล้งไม่มีฝน แต่มีแหล่งน้ำธรรมชาติจากตาน้ำ ซึ่งมีน้ำผุดพุ่งจากใต้ดิน (ชาวบ้านเรียกบาดาล ปัจจุบันทางการเรียกน้ำบาดาล)

ชาวบ้านโบราณรู้ว่าตาน้ำอยู่ใต้จอมปลวก ถึงหน้าแล้งพากันหาจอมปลวก เมื่อขุดลงไปใต้จอมปลวกจะพบตาน้ำมีน้ำพุ่งขึ้นมาจากใต้ดิน

[คำบอกเล่าโดยพิสดารมีในข้อเขียนเรื่องการหาตาน้ำ ในหนังสือ ฅนทุ่งกุลา โดย เดช ภูสองชั้น (กำนัน ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545 มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2546 หน้า 184-189]

ทุ่งกุลาร้องไห้ นอกจากจะเป็นเขตแห้งแล้งแล้ว ยังเป็นแหล่งวัฒนธรรมสำคัญในยุคเริ่มแรกด้วย
แอ่งน้ำริมทุ่งกุลาแห้งขอดอยู่ท้ายบ้านโพนครกน้อย ต.สระคู อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด (เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2528)

น้ำผุดจากตาน้ำเหล่านี้ ก่อให้เกิดดินดำน้ำชุ่มอุดมสมบูรณ์ คนแต่ก่อนเรียก ซัม (ซำ) เป็นรากเหง้าของคำว่า “สยาม” มีคำอธิบายอีกมากของ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่ในหนังสือความเป็นมาของคำสยามฯ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519)

นอกจากนั้นตาน้ำซับเป็นแหล่งน้ำสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ บึงพลาญชัย (จ.ร้อยเอ็ด), สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ (จ.สุพรรณบุรี), บึงบอระเพ็ด (จ.นครสวรรค์)


จอมปลวกคลุมตาน้ำ

จอมปลวก คือ รังขนาดใหญ่ของปลวกที่เป็นกองดินสูงขึ้นไป โดยกองดินคลุมตาน้ำทำให้ตรงนั้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ

ตาน้ำที่มีน้ำซึมน้ำซับบางแห่ง กระตุ้นให้เกิดขุยดินครอบคลุมทับถมซ้อนเป็นจอมปลวกขนาดใหญ่และน้อยต่างๆ กัน

ข้างใต้จอมปลวกจึงมีตาน้ำเป็นที่รู้ทั่วกันของคนแต่ก่อน แล้วเชื่ออีกว่าตาน้ำใต้จอมปลวกเป็นรูนาค หมายถึงรูบนพื้นดินที่พญานาคใช้ขึ้นจากบาดาลสู่พื้นโลก และใช้ลงจากพื้นโลกสู่บาดาลอันเป็นที่อยู่ของพญานาคอุษาคเนย์ เรียกโลกบาดาลเป็นที่กักเก็บน้ำปริมาณมหาศาล (ส่วนพญานาคอินเดียควบคุมน้ำอยู่บนฟ้า)

รูนาค บางทีเรียก “สะดือดิน” หรือ “ดินสะดือ” พบหลักฐานว่าสมัยอยุธยาเชื่อกันว่ามีที่บางปะอิน เรียกกันสมัยก่อนว่าบางขดาน (บางกระดาน) หมายถึงบริเวณราบเรียบราวแผ่นกระดานอันเกิดจากการทับถมของโคลนเลน (อยู่ในทวาทศมาส และกำสรวลสมุทร)

แล้งน้ำก่อนถึงหน้าแล้ง บ้านขี้เหล็ก อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด (ฝีมือ วิโรฒ ศรีสุโร สิงหาคม 2527)

คนแต่ก่อนนับถือรูนาคใต้จอมปลวก เพราะเชื่อว่าคนมีอำนาจต้องเคยควบคุมจอมปลวก จึงผูกนิทานยกย่องผู้มีบุญนั่งบนจอมปลวก

พระเจ้าสายน้ำผึ้ง เมื่อเป็นเด็กเลี้ยงวัวในทุ่งนากับเพื่อนวัยเดียวกันหลายคน ชอบเล่นสมมุติเป็นกษัตริย์ขึ้นว่าราชการบนจอมปลวก มีเด็กคนอื่นเป็นขุนนางหมอบกราบ ต่อมาเด็กเลี้ยงวัวที่เล่นขึ้นว่าราชการได้รับเชิญเป็นพระเจ้าแผ่นดิน นามว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้ง (มีในพงศาวดารเหนือ)

พระเจ้าปราสาททอง ทรงมีพระสุบินว่าเมื่อเป็นเด็กเคยเล่นบนจอมปลวก ใต้จอมปลวกมีปราสาท ต่อมาให้ขุดจอมปลวกนั้นก็พบปราสาททองเป็นจัตุรมุข ตั้งแต่นั้นพระองค์จึงเฉลิมพระนามว่าพระเจ้าปราสาททอง (มีในคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า)


สยาม

สยามมีรากจากคําพื้นเมืองดั้งเดิมว่า ซัม, ซํา, หรือ สาม หมายถึงบริเวณที่มีน้ำซึมน้ำซับ เป็นตาน้ำพุน้ำผุดโผล่ขึ้นจากแอ่งดินอ่อนหรือดินโคลน

น้ำซึมน้ำซับหรือตาน้ำพุน้ำผุดเหล่านั้น เกิดจากน้ำฝนที่รากต้นไม้อุ้มไว้ทั้งบนภูเขา และบนเนินดอน แล้วค่อยๆ เซาะซอนใต้ดินมาพุมาผุดขึ้นบริเวณดินอ่อนหรือดินโคลน ที่ราบเชิงเขาหรือเชิงเนินดอน จนบางแห่งกลายเป็นที่ลุ่มห้วยหนองคลองบึงบุ่งทาม เช่น หนองหานที่สกลนคร, หนองหานที่อุดรธานี, บึงบอระเพ็ดที่นครสวรรค์ เป็นต้น

[ปรับปรุงจากหนังสือ ความเป็นมาของคําาสยามฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519]

“น้ำแล้งไข้ ขอดหาย” เป็นผลจากธรรมชาติ และการกระทำบางอย่างของมนุษย์ที่อยู่เหนือน้ำแล้วกักน้ำไว้ ทำให้แม่น้ำโขงแห้งบางช่วง

สยาม ไม่ใช่ชื่อชนชาติเชื้อชาติ แต่เป็นชื่อดินแดนที่คนพวกอื่นซึ่งอยู่ภายนอกใช้เรียกบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำโขงตอนบนอย่างกว้างๆ หลวมๆ ครั้นสมัยหลังมีขอบเขตแคบลงเหลือเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง (ที่บางครั้งยาวต่อเนื่องลงไปถึงนครศรีธรรมราช)

ไทยเป็นชาวสยาม แต่สยามไม่ใช่คนไทย เพียงแต่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง

สยามไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์หนึ่งใดโดยเฉพาะ แต่เรียกกลุ่มคนที่เกิดและมีหลักแหล่งอยู่ดินแดนสยามว่า ชาวสยาม โดยไม่จํากัดชาติพันธุ์หรือชาติภาษา แต่ชาวสยามมักสื่อสารกันทั่วไปด้วยตระกูลภาษาไต-ไท (ซึ่งสมัยโบราณเป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน)

คนเกิดมาไม่ว่าชาติพันธุ์อะไร (แม้เป็นตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ไต-ไท ฯลฯ) ถ้ามีหลักแหล่งอยู่ในดินแดนสยามแล้ว ถูกเรียกเหมาหมดว่าชาวสยาม เช่น คนนานาชาติพันธุ์บริเวณสองฝั่งโขงที่มีเวียงจันเป็นศูนย์กลาง เคยถูกเรียกว่าพวกสยาม ด้วยคําเขมรว่า เสียมกุก หรือ เสียมก๊ก, สยามก๊ก เมื่อเรือน พ.ศ. 1650 (มีคําจารึกและภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด)

ชาวยุโรปเรียกกรุงศรีอยุธยาว่าสยาม หรือราชอาณาจักรสยาม ต่อมาเรียกกรุงรัตนโกสินทร์ว่าประเทศสยาม


น้ำแล้ง น้ำล้น

น้ำแล้ง กับ น้ำล้น เป็นวิกฤตประจำปีจากธรรมชาติของบ้านเมืองในอุษาคเนย์ ทำให้มีพิธีกรรมเนื่องในศาสนาผีเพื่อลดความตึงเครียด

น้ำแล้งมี พิธีขอฝน น้ำล้นมี พิธีไล่น้ำ ได้แก่ แข่งเรือ, เห่เรือวิงวอนร้องขอให้น้ำลดไม่ท่วมข้าวกำลังออกรวงในนา

พระเจ้าแผ่นดินในรัฐจารีตต้องทำพิธีขอฝนและไล่น้ำ พบในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยา

ขอฝนกับไล่น้ำ พิธีกรรมในศาสนาผี เป็นวัฒนธรรมร่วมของบ้านเมืองในภูมิภาคอุษาคเนย์ เพราะอยู่ในเขตมรสุมเดียวกัน ต้องเผชิญวิกฤตร่วมกันทุกปีที่รู้ทั่วกันว่าฝนแล้งและน้ำท่วม

พิธีขอฝนและไล่น้ำ นักวิชาการทางมานุษยวิทยาและโบราณคดีสรุปว่าเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความเจริญในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร

ไทยเป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์ มีบรรพชนร่วมและมีวัฒนธรรมร่วมในพิธีกรรมของฝนและไล่น้ำ แล้วยังทำต่อเนื่องและสืบทอดถึงทุกวันนี้ ย่อมเป็นพยานอย่างดีว่าคนไทยไม่ได้มาจากไหน? คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ แต่ใครจะเชื่อว่ามาจากที่โน่น ที่นั่นและที่ไหนๆ ก็ตามใจชอบ

 


แห่นางแมวขอฝน

คนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ถึงหน้าแล้งร่วมกันแห่นางแมว ขอฝน (กรอบสี่เหลี่ยมมุมมน) ตีฆ้องกลองกบ (กรอบวงกลม) หญิงชายร่วมเพศ ซึ่งเรียกสมัยหลังว่าปั้นเมฆ (ด้านล่าง)

[ลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากรจากภาพเขียนอายุราว 2,500 ปีมาแล้ว ในถ้ำตาด้วง บ้างวังกุลา ต. ช่องสะเดา อ.เมืองฯ จ.กาญจนบุรี]

แห่นางแมวขอฝน ด้วยความเชื่อว่าแมวมีอานุภาพบันดาลให้มีปลาและน้ำ เพราะแมวกินปลา ส่วนปลามากับน้ำหลังฝนตก จึงเล่นสาดน้ำใส่แมว เป็นสัญลักษณ์ของฝนตกหนักจนน้ำท่วม มีความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร (คำอธิบายนี้ได้จากเอกสารของกัมพูชา)

ภาพเขียน 2,500 ปีมาแล้ว ในถ้ำตาด้วง (กาญจนบุรี) มีรูปคนแบกหามคล้ายภาชนะแห่นางแมว จึงน่าจะสื่อถึงพิธีกรรมขอฝนด้วยการแห่นางแมว แต่นักโบราณคดียังอธิบายอย่างอื่นต่างจากนี้ได้อีกกว้างขวางอย่างไม่ยุติ


คางคกยกรบขอฝน

คางคก เป็นคำไทยภาคกลาง ตรงกับ คันคาก เป็นคำลาวลุ่มน้ำโขง เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ กลุ่มเดียวกับกบ, เขียด

คางคกยกรบขอฝน เพราะฝนแล้งแห้งมาก เป็นนิทานยิ่งใหญ่ของคนในอุษาคเนย์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว แต่เรียกเป็นคำลาวว่าพญาคันคาก หรือตำนานจุดบั้งไฟ เพื่อบงการให้ฝนตก

พญาคันคาก เป็นคำบอกเล่าเรื่องของคันคากที่มีผิวหนังตะปุ่มตะป่ำน่าเกลียดน่ากลัว ระดมปลวกขนดินทำทางจากดินขึ้นถึงฟ้า แล้วพาพรรคพวกสารพัดสัตว์เดินขึ้นตามทางไปรบกับแถนบนฟ้าที่ควบคุมน้ำ ให้ปล่อยน้ำเป็นฝนตกลงดินตามฤดูกาล เพื่อชาวนาชาวไร่มีข้าวปลาอาหารเลี้ยงชีวิต

(ซ้าย) กบบนหน้ากลองทองมโหระทึก อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว พบที่ ต. ท่าเรือ อ. เมืองฯ จ. นครศรีธรรมราช
(ขวา) ภาพเปรียบเทียบคนทําท่ากบ บนลายผ้าของชาวลาว-ไทย ชาวอิบาน (ในซาราวัก มาเลเซีย) ชาวอิฟูเกา (ทางเหนือของเกาะลูซอน ฟิลิปปินส์) กับรูปคนทําท่ากบของชาวจ้วงที่ผาลาย มณฑลกวางสี ในจีน

กบ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของคน เมื่อหลายพันปีมาแล้ว เชื่อว่ากบบันดาลน้ำฝนได้ ทำให้ข้าวปลาอาหารมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ เลี้ยงชีวิตคนทั้งชุมชน คนจึงมีจินตนาการ สร้างคำบอกเล่าต่างๆ มากมายหลายเรื่องสืบต่อกันมา แต่ที่แพร่หลายกว้างขวางมากสุด คือ พญาคันคาก หรือตำนานการจุดบั้งไฟ

กบ มีรูปร่างเหมือนอวัยวะเพศหญิง ให้กำเนิดคนทั้งหลาย สมัยก่อนคนจึงเรียกอวัยวะเพศหญิงว่ากบ ส่วนของเด็กหญิงเรียกเขียด

ท่ากบ กางแขน กางขา เป็นท่าตั้งเหลี่ยมของโขนกับละคร ที่ได้จากท่ากบ (ไม่มาจากอินเดียตามที่เคยครอบงำมานาน)

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image