ประชุมวิชาการ ‘สันติภาพโลก’ มศว จับมือ มติชน มุ่งสร้างความรู้สู่สังคม

นับเป็นงานที่เน้นย้ำบทบาทในการรับใช้สังคมอย่างมุ่งมั่นตามเจตนารมณ์ของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ซึ่งไม่เพียงเป็นสถาบันการศึกษาที่สร้างบุคลากรคุณภาพสู่สังคมไทย ทว่า ยังมองไกลถึงสถานการณ์โลก เกาะติดความเคลื่อนไหวในประเด็นอันเป็น “สากล” ที่มนุษยชาติต่างให้ความสำคัญ นั่นคือ “สันติภาพ”

แน่นอนว่าที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมไม่ใช่งานอื่นใด นอกจาก “การจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ และระดับนานาชาติด้านสันติภาพโลก” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง มศว และ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

เช้าตรู่ของวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ณ อาคารนวัตกรรม ศ.ดร.สาโรช บัวศรี คลาคล่ำด้วยผู้คนจากหลากหลายวงการที่ให้ความสนใจร่วมงานดังกล่าวจนเต็มห้องประชุม โดยมี รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ และคณาจารย์ให้การต้อนรับ

เพลงมาร์ชศรีนครินทรวิโรฒ โดยตัวแทนนิสิตดังกึกก้อง ก่อนฉายวีทีอาร์คำกล่าวเปิดงานของ รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว ซึ่งติดภารกิจกะทันหัน จึงส่งถ้อยความสำคัญผ่านหน้าจอ ยืนยันถึงบทบาทของ มศว ซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นสันติภาพ มุ่งหวังความรู้ความเข้าใจแก่สังคมไทยท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้

Advertisement

จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ปานสิริ พันธุ์สุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และ ปานบัว บุนปาน “เอ็มดี” มติชน คนใหม่ ขึ้นกล่าวต้อนรับผู้ให้เกียรติร่วมปาฐกถาและผู้ร่วมการประชุม

“ในฐานะสื่อ ดิฉันยินดีที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้ผู้คนต่อสู้เพื่อสันติภาพโลก”

ปานบัว บุนปาน

คือคำกล่าวของ ปานบัว ในนาม มติชน อันเป็นองค์กรสื่อที่มุ่งหมายสื่อสารและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้คน ทั้งยังระบุว่า ความแพร่หลายของอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ ได้เชื่อมต่อเรากับเครือข่ายสื่อสารทั่วโลก ดังนั้น อิทธิพลของสื่อบนโลกจึงเพิ่มความสำคัญมากยิ่งขึ้น

Advertisement

“บนโลกของความขัดแย้ง เราคิดว่าจะสามารถช่วยสนับสนุนสันติภาพและความเข้าใจได้อย่างไร โดยมติชนได้ร่วมกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในการจัดสัมมนาและการประชุมที่หวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจขึ้นมา

ดิฉันจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการประชุมครั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนในการสร้างสันติภาพและหลีกเลี่ยงการนำไปสู่ความขัดแย้ง”

นาทีต่อจากนั้น คือ การปาฐกถาเข้มข้นในหลากมุมมอง จากบุคคลหลายแวดวงที่สะท้อนปัญหา แนะแนวทาง ค้นประตูสู่แสงสว่างท่ามกลางสถานการณ์โลกที่คำว่า “สันติภาพ” คือสิ่งที่ผู้คนต้องการ

รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์
ศาสตราจารย์ ดร.ปานสิริ พันธุ์สุวรรณ

‘จุดยืนและคานงัด’
เชื่อมั่น ‘สันติภาพสร้างได้’

เริ่มต้นที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสันติภาพ ในหัวข้อ “บทบาทของสังคมไทยต่อการรักษาสันติภาพโลก” โดยเน้นย้ำว่า “สันติภาพโลก คือสิ่งสำคัญที่สุด”

“สันติภาพ เป็นสิ่งสูงสุดของมนุษยชาติทั้งปวง โดยไม่เพียงหมายถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับคน แต่รวมถึงคนกับธรรมชาติด้วย โลกที่ขาดสันติภาพ ส่งผลกระทบต่อคนทุกคน ทุกประเทศในโลก ปัจจุบันมีทั้งความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้ง เช่น การทำสงครามที่คร่าชีวิตมนุษย์ และความรุนแรงอีกประเภทหนึ่งคือ ความรุนแรงอย่างเงียบ คือ ความยากจน ความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งกระทบชีวิตมนุษย์มากกว่าความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้งหลายเท่า”

หมอประเวศยังยกเหตุการณ์ความร้อนระอุระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน ซึ่งมีการใช้ “เทคโนโลยี” พิฆาตคู่ต่อสู้ แต่ไม่ว่าปัญหาจะใหญ่แค่ไหน สิ่งที่ใหญ่กว่านั้น คือ เราต้องจินตนาการอย่างไม่มีขอบเขตถึงการสร้างสันติภาพว่าคือสิ่งที่เป็นไปได้

นพ.ประเวศ วะสี

“ต้องเชื่อว่าสันติภาพสร้างได้ เหมือนเจ้าชายสิทธัตถะที่มีจินตนาการว่าคนพ้นทุกข์ได้ อาร์คิมิดิส นักคณิตศาสตร์ชาวกรีก เคยพูดว่า “ถ้าหาที่ยืนให้ผม มีจุดศูนย์กลางรองรับน้ำหนัก แล้วมีคานที่ยาวพอ ผมงัดโลกทั้งใบได้” ประเด็นของคำกล่าวนี้คือจุดยืน ดังนั้น การสร้างสันติภาพ ต้องมี 1.จุดยืนเหมาะ 2.หาคานงัดที่ยาวพอ โดยมีหลักการ อาทิ การเปลี่ยนตัวตั้งของการพัฒนา การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การสร้างสมดุล รวมถึงหลักการ “ประชาชนเพื่อสันติภาพ” เนื่องจากภาคส่วนของประชาชนเป็นมิตรกันมากกว่า”

เปิด 4 ปัจจัยก่อปัญหา
แนะ ‘มหาวิทยาลัย’ ต้องสร้าง ‘คนดี’

จากนั้น ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภา ขึ้นปาฐกถาหัวข้อ “บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการรักษาสันติภาพโลก” เริ่มต้นด้วยคลิปวิดีโอชวนตื่นตา และทำความเข้าใจในประเด็นความเป็นมนุษย์ซึ่งมีรายละเอียดน่าสนใจอย่างยิ่ง ก่อนกล่าวใน 4 หัวข้อสำคัญ ได้แก่ โลกและมนุษย์, การอยู่ร่วมกันของมนุษย์และปัญหาที่เกิดขึ้น, แนวทางของสันติภาพ และสุดท้ายคือบทบาทของมหาวิทยาลัย

ท่าน ส.ว.ระบุว่า หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งได้อย่างรวดเร็วและง่าย คือ สีผิว และเชื้อชาติ เนื่องจากสามารถมองเห็นได้ด้วยตา จึงเกิดมากกว่าความขัดแย้งที่มาจากสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น ความคิด ความเชื่อ

สำหรับสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหา ได้แก่ 1.การมีความคิดเป็นของตนเอง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเป็นไปเพื่อประโยชน์ของตนเองเป็นสำคัญ ย่อมก่อให้เกิดปัญหา 2.มีทรัพยากรจำกัด 3.มีอคติมาก 4.ขาดการบริการจัดการที่สมบูรณ์แบบ

ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

นอกจากนี้ ยังหยิบยกสถานการณ์ในสภาซึ่งในการอภิปรายนั้น ผู้ยืนขึ้นอภิปรายต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลในมุมมองของตน โดยบางครั้งเป็นการยกเหตุผลเพื่อสนับสนุนแนวคิดของตนเอง

ส่วนบทบาทของมหาวิทยาลัย ผศ.นพ.เฉลิมชัยชี้แนะลงลึกถึงรายละเอียดที่น่าฟังและนำไปขบคิดต่อ นั่นคือ ในวิชา “ศึกษาทั่วไป” ควรมุ่งหมายสร้างคนดี สร้างพลเมืองคุณภาพของประเทศและโลก ส่วน “วิชาเฉพาะ” จึงค่อยมุ่งสร้างคนเก่ง มหาวิทยาลัยต้องสร้างสำนึกในความจริง ยอมรับความแตกต่าง หลากหลาย ต้องมีปัญญาอันจะนำมาซึ่งความดี และทักษะอีกด้วย

จาก ‘พระเจ้าอโศก’ ถึง ‘คานธี’
ปรัชญายิ่งใหญ่ในสันติภาพโลก

อีกหนึ่งองค์ปาฐกที่ให้เกียรติเข้าร่วมงานประชุมในครั้งนี้ คือ สุจิตรา ดูไร เอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย ซึ่งกล่าวในหัวข้อ “บทบาทของอินเดียต่อการรักษาสันติภาพโลก” โดยกล่าวย้อนไปถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันๆ ปี ที่มีความเชื่อมโยงต่อประเด็นการสร้างสันติภาพ ตั้งแต่ยุค “พระเจ้าอโศกมหาราช” กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเมื่อครั้งทำสงครามสู้รบกับแคว้นกลิงคะ ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงทรงมีแนวคิดยุติความรุนแรง ยอมรับนับถือพุทธศาสนา มีการสร้างเสาหินและศิลาจารึก ทรงดำเนินบนพื้นฐานตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาซึ่งปราศจากความรุนแรง

ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังโปรดให้สมณทูตเดินทางมาเผยแผ่ศาสนาพุทธยังลังกา ไทย รวมถึงซีเรียและอียิปต์ นับเป็นปรัชญายิ่งใหญ่ของโลกที่เกี่ยวกับสันติภาพ ในธงชาติอินเดียเองก็มีธรรมจักร ซึ่งหมายถึงกงล้อแห่งธรรมที่หมุนไปปรากฏอยู่ด้วย

สุจิตรา ดูไร

จากนั้นท่านทูตเล่าถึงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอินเดียซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นสันติภาพ อาทิ การเคลื่อนไหวอย่างสันติของ มหาตมะ คานธี รวมถึงการมีส่วนร่วมของอินเดียในการประชุมระดับนานาชาติซึ่งมีขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน เช่น Asian Relation Conference เมื่อปี 1947 Afro-Asian Conference ที่บันดุง อินโดนีเซีย เมื่อปี 1955 และ Belgrade Non-Aligned Summit ในปี 1961 เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรด้านสันติภาพ มีการฝึกอบรมในประเด็นที่เกี่ยวข้อง มีการวางแนวทางความสันติ ปราศจากความรุนแรง รวมถึงโยคะเพื่อความสามัคคีและสันติภาพ ในวันที่ 21 มิถุนายนของทุกปี

นับเป็นปาฐกถาที่มีเนื้อหาครอบคลุมถึงบทบาทของอินเดียที่มีต่อสันติภาพตั้งแต่โบราณกาล จวบจนวันนี้

เป็นธรรม เสมอภาค ประชาธิปไตย
‘สื่อชนิดใดก็ต้องสนับสนุน’

“เฉพาะในชั่วอายุของเรา หมายถึงของผมและของสื่อในเครือ เราผ่านประสบการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ในสังคมไทยมาแล้วหลายหน ตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553”

คือคำกล่าวของ ฐากูร บุนปาน รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ภายใต้หัวข้อ “สันติภาพกับสื่อมวลชน”

ฐากูร อธิบายเพิ่มเติมจากชุดคำข้างต้น โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่า “ความรุนแรงที่ถึงขั้นผลาญชีวิตกันโดยไม่เห็นคุณค่าชีวิตของอีกฝ่าย บอกอะไรกับเรา ?”

“บอกว่าสันติภาพนั้นเกิดขึ้นลอยๆ กลางอากาศไม่ได้ แต่จะต้องประกอบด้วยปัจจัยอื่นๆ อีกหลายข้อ สันติภาพจึงจะเกิดขึ้นจริงในสังคมได้ อย่างน้อยต้องมีปัจจัยสำคัญ 2-3 ประการที่คอยค้ำยันไว้

ประการแรกคือ ความเป็นธรรม และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ประการต่อมา คือกระบวนการในการจัดการกับความขัดแย้งอย่างสันติวิธี ตัวอย่างจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตราบเท่าที่ยังไม่มีขบวนการในการนั่งลงเจรจาหาทางออกร่วมกัน ก็ยังจะต้องมีเหตุการณ์ความรุนแรงไม่สิ้นสุด”

ฐากูร บุนปาน

ฐากูรยังระบุว่า ส่วนใหญ่แล้วกระบวนการจัดการกับความขัดแย้งโดยสันติวิธีนี้ จะเกิดขึ้นในประเทศหรือสังคมที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อย่างที่เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล เคยกล่าวไว้ว่า

ประชาธิปไตยไม่ใช่รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดแต่เป็นรูปแบบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด”

“เพราะในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนก็มีพื้นที่ในการแสดงออก หรือเสียงของประชาชนถูกรับฟังบ้าง-ไม่มากก็น้อย เว้นแต่การปกครองนั้นจะเป็นประชาธิปไตยเพียงแต่เปลือก”

กล่าวประโยคนี้จบ เจ้าตัวรีบบอกว่า “กรุณาอย่าเชื่อมโยงการเมืองปัจจุบัน” มิฉะนั้น อาจถูกเรียกปรับทัศนคติ เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะในห้องประชุมแห่งสันติภาพให้ครื้นเครง

ในฐานะผู้บริหารสื่อ รองประธานค่าย “มติชน” บอกว่า ไม่ว่าในฐานะปัจเจกบุคคลก็ดี ไม่ว่าโดยหลักการและหน้าที่ก็ดีหนังสือพิมพ์หรือสื่อชนิดใดก็ตามจึงต้องสนับสนุนความเป็นธรรม ความเสมอภาค และประชาธิปไตย เพราะหากปราศจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว

ก็ยากที่จะเห็นสันติภาพเกิดขึ้นจริงได้ สังคมที่ไม่มีสันติภาพ มีแต่จะก้าวเดินไปสู่ความล่มสลาย

“เมื่อใดที่เห็นเครือมติชนทั้งหมด ออกนอกลู่นอกทางที่กล่าวนี้ ขอให้ช่วยกันทักท้วง ทวงถาม ติติง ไปจนถึงขั้นประณามว่าเราได้ละทิ้งหลักการ อุดมการณ์ ที่สื่อผู้มีความรับผิดชอบพึงยึดถือไปแล้ว และหากท่านเห็นด้วยกับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นกรุณาช่วยกันประคับประคองและแสดงความต้องการว่าอยากจะเห็นความเป็นธรรม ความเสมอภาค และประชาธิปไตย เฉพาะแค่กำลังของสื่อเท่านั้น สร้างสันติภาพในสังคมขึ้นมาไม่ได้ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนหรือแสดงความปรารถนานั้นออกมา

“ขอสันติจงมีแด่ทุกท่าน”

สติ+ขันติ เท่ากับ “สันติภาพ”

ไม่เพียงปุถุชนคนทั่วไปเท่านั้น ที่มีบทบาทและสามารถมีส่วนร่วมกับการก่อร่างสร้างสันติภาพ ทว่า ภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาก็เช่นกัน โดยในงานนี้

พระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม แสดงพระธรรมเทศนา หัวข้อ “บทบาทพระพุทธศาสนาต่อการรักษาสันติภาพโลก : กรณีประเทศไทย” โดยบอกเล่าประสบการณ์มีค่ายิ่งจากการลงพื้นที่ในประเทศ

เมียนมา ศึกษาความขัดแย้งแตกต่างทางความเชื่อในปมร้อน “โรฮีนจา”

“การนั่งพูดคุยระหว่างผู้นำทางศาสนา ก่อให้เกิดความสงบสุขได้ การอยู่ร่วมกันนำมาซึ่งความเข้าใจ” เป็นบทสรุปเรียบง่ายที่ใช้ได้จริง

ท่านเจ้าอาวาสยังถอดรหัสสันติภาพโดยใช้กุญแจจากหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่องสติและความอดทน

“สติมา สันติภาพเกิด ขันติ บวก สติ คือสันติภาพ” คือวลีคมคายในทางธรรมที่ควรน้อมนำไปปรับใช้ในชีวิต

ด้าน พระวิเทศปุญญาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพุทธาราม ประเทศสวีเดน หรือที่คนไทยคุ้นเคยในนาม “หลวงพ่อสวีเดน” ขึ้นเวทีแสดงธรรมในหัวข้อ “บทบาทพระพุทธศาสนาต่อการรักษาสันติภาพโลก : กรณีประเทศสวีเดน” หลังเพิ่งกลับจากงานสันติภาพโลกที่เมืองคุชราต ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา

“อาตมาขอชื่นชม มศว ที่กล้าจัดงานนี้ เพราะมีมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่งที่คิดเรื่องเหล่านี้ และกล้าจัดงานในลักษณะเช่นนี้ซึ่งคนไทยยังไม่คุ้นเคย องค์กรที่ต้องทำเรื่องเหล่านี้ คือรัฐบาล หากต้องการให้ประเทศสงบ ต้องคิดเรื่องสันติภาพให้มาก เพราะต้องใช้เวลาสะสมนานจึงจะเข้าใจ บางครั้งเราคุยกัน แต่ยังไม่เข้าใจว่าสันติภาพที่แท้จริงคืออะไร”

จากคำกล่าวของหลวงพ่อสวีเดน หากย้อนไปในเดือนมิถุนายน 2562 จะพบว่า บุคลากรของ มศว ก็มีส่วนร่วมในงานสัมมนาด้านสันติภาพโลก ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ คณบดี คณะสังคมศาสตร์ ซึ่งได้รับเชิญไปเสนอแนวคิดทางสันติภาพโลก ที่ประเทศสวีเดน ยืนกล่าวบนโพเดียมเดียวกับเจ้าของรางวัลโนเบลทุกสาขา ณ Stockholm City Hall

“ในยามที่โลกใบนี้หมุนผ่านจากยุคไดอะล็อกมาเป็นดิจิทัล การประคับประคองตนให้อยู่อย่างดี มีสุข ไม่ง่าย แต่ถ้ารู้เท่าทัน มีทิศทางนำ ไม่ยาก สันติภาพเกิดจากตัวเรา ลดความโลภ ความโกรธ ความลุ่มหลง มัวเมา จะทำให้ชีวิตเบาลง หลักธรรมคำสอนทุกศาสนา ถ้าเราเริ่มปฏิบัติจริงจัง เชื่อมั่นว่าสันติภาพที่เราฝัน จะมีขึ้นอย่างถาวรเป็นแน่แท้” รศ.ดร.ชลวิทย์ระบุ

ไม่เพียงภาคทฤษฎี ยังมีภาคปฏิบัติ อย่างการ “ฝึกจิต” ซึ่ง พระธวัชชัย ธัมมทีโป และ พระสุรพจน์ สัทธาธิโก ประธานศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติบ้านวังเมือง สาธิตโดยผู้คนทั้งห้องประชุมต่างมีส่วนร่วมอย่างตั้งใจ โดยเป็นส่วนหนึ่งในการบรรยายธรรมหัวข้อ “บทบาทของการฝึกจิตตามแนวทางพระพุทธศาสนาต่อการรักษาสันติภาพโลก”

นับเป็นงานประชุมที่ประสบผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชมยิ่ง

Live : งานเสนาวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติด้านสันติภาพโลกณ หอดนตรีและการแสดงอโศกมนตรี ชั้น 4 อาคารนวัตกรรม ศ.ดร.สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2020


เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image