‘กัญชง-กัญชา’ อุตสาหกรรมยาไทยบนเวทีอาเซียน ในสถานการณ์ ‘ไวรัส’ สะเทือนโลก

กว่าพันปีที่บรรพบุรุษไทยคิดค้นภูมิปัญญารักษาโรคด้วยสมุนไพร ที่ทุกอณูของดอก กิ่ง ราก ใบ คือแร่ธาตุอันอุดมสมบูรณ์บนผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิ แต่เมื่อการแพทย์สมัยใหม่เข้ามามีอิทธิพลแพทย์แผนไทยก็เลือนหายไปนับร้อยปี

ทว่า ใครจะคิด สมุนไพรกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหลังกระแสโคโรนาไวรัสโหมกระหน่ำ จนตลาดนัดแหล่งท่องเที่ยวที่อดีตเสียดแน่นไปด้วยชาวจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ถึงกับเงียบเป็นป่าช้า แต่ผู้คนถอยห่างระแวงกันเอง หน้ากากอนามัย-เจลล้างมือขาดตลาด ในบรรยากาศที่สังคมถูกห้อมล้อมด้วยข่าวปลอม-ข่าวลือ

ล่าสุดชาวบ้านแห่ซื้อ ฟ้าทลายโจร หลังมีกระแสข่าวว่าพืชชนิดนี้อาจรักษาผู้ป่วยติดเชื้อได้

แม้จะไม่มีข้อยืนยันและยังไม่มียาตัวไหนที่รักษาและทำให้หายขาด แต่ถือว่าก็ยังมีหวัง เมื่อ ภญ.อาสาฬา เชาว์เจริญ เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ออกมายืนยันผ่านไทยพีบีเอสว่า ฟ้าทลายโจรมีคุณสมบัติโดดเด่น 3 ด้าน คือ “กระตุ้นภุมิคุ้มกันได้ดี” “มีฤทธิ์ต้านอักเสบ” และยังมีรายงานเรื่อง “การต้านไวรัส” ได้ดี โดยเฉพาะไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ แพทย์หญิงยังชี้อีกว่า มีการจดสิทธิบัตรในจีนหลังโรคซาร์สระบาดว่า “ฟ้าทลายโจรสามารถต้านไวรัสซาร์สได้” ซึ่งเป็นโคโรนาไวรัสตัวหนึ่ง จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีในช่วงที่กำลังแพร่ระบาด ถึงอย่างนั้น ทางรอดที่ดีที่สุดคือ “สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง” อาจต้องหันกลับมามองวิถีดั้งเดิมของคนตะวันออกที่ยังคงศรัทธาในการพึ่งพิงธรรมชาติ ด้วยเชื่อว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง แต่ก็ปรับรับเอาความทันสมัยเข้ามาผสมได้อย่างกลมกลืน

Advertisement

ขับเคลื่อนถูกทาง สมุนไพรไทยสู่ความยั่งยืน

ไม่เฉพาะซีกตะวันออก ด้านตะวันตกก็นิยม เห็นได้จาก “เยอรมนี” ประเทศที่ส่งออกยาเคมีชั้นนำของโลก กลับบริโภคและผลิตสมุนไพรมากเป็นอันดับหนึ่ง แล้วนี่หรือจะไม่ถือเป็นโอกาสของไทย ในการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่หลากหลาย ผนวกภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน อีกมุม ถือว่าสิ่งที่รัฐขับเคลื่อนนั้นมาถูกทาง บนเส้นทางพัฒนาสมุนไพรไทยสู่ความยั่งยืน หลังจากที่มีการประกาศใช้ แผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 (2560-2564) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2559 ก็มีการวางเป้าหมายเพื่อต้องการให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน

ห้องแล็ป ของศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. (NCTC)

และหลังพระราชบัญญัติสมุนไพร บังคับใช้กฎเกณฑ์ตามมาตรฐาน GMP ภายใต้อำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โรงงานผลิตยาไม่ว่ารัฐหรือเอกชนต่างปรับตัวอย่างแข็งขัน เพิ่มศักยภาพและยกระดับคุณภาพในการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน PIC/s และ GMP ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนตกลงใช้ร่วมกัน โดยปรับปรุง “อาคารสถานที่” “ระบบอากาศ” ไปจนถึง “ระบบควบคุมคุณภาพน้ำ” ที่ใช้ในการผลิตยา “เปลี่ยนเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีสูง” และ “เพิ่มกำลังการผลิต” ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายจากการปรับปรุงอาคารสถานดังกล่าว เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ให้ได้รับความเชื่อถือในวงกว้าง อันจะส่งผลให้บริษัทสามารถผลิตยาจำหน่ายในประเทศได้มากขึ้น และลดปัญหาการนำเข้ายาพื้นฐานได้อย่างที่คาดหวัง

อย่างไรก็ดี การทำวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการทดสอบได้มาตรฐานสากล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเฉียด 4 หมื่นล้าน และกว่าร้อยละ 40 ต้องส่งไปทำในต่างประเทศ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงจัดตั้ง ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. (NCTC) ขึ้น เพื่อให้บริการวิเคราะห์ทดสอบตามมาตรฐานต่างๆ สนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาสินค้าด้วยเครื่องมือห้องปฏิบัติการ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย ซึ่งทาง ดร.สมนึก สุชัยธนาวนิช ที่ปรึกษา กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ยินดีเปิดห้องแล็บ พาชมนวัตกรรม กระบวนการสกัดและผลิตสารจากสมุนไพร ตั้งแต่ต้นจนปลายน้ำ เพื่อให้เห็นความพร้อมของอุตสาหกรรมยาอีกแขนง

Advertisement

เริ่มตั้งแต่การวิจัย ไล่ไปโรงเรือนเพาะกล้ากัญชง จนมาหยุดอยู่โรงงานผลิตยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์กัญชา ก่อนจะสาธิตวิธีวิเคราะห์และการสกัดสารจากกัญชา รวมทั้งสมุนไพรอื่นๆ

เครื่อง Imaging Mass Microscope (IMS)

เพราะก่อนจะต่อยอดไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรม ต้องมีการพัฒนางานวิจัยเพื่อยืนยันประสิทธิภาพ ซึ่งต้องใช้เครื่องมือราคาสูง NCTC จึงถือเป็นสถาบันหลักในการดำเนินนโยบายรัฐ ให้บริการตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง ในรูปแบบศูนย์เครือข่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยทำงานร่วมกับศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ 18 แห่ง รองรับอุตสาหกรรมภาคเอกชนระดับใหญ่ไปจนถึงรายย่อย จุดเด่นคือสามารถพัฒนาวิธีวิเคราะห์ให้เหมาะกับผลิตภัณฑ์ได้ ด้วยเครื่องมือชั้นสูงที่เพียบพร้อม บางตัวเป็นเครื่องแรกเครื่องเดียวของไทย หรือภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยไปสู่ตลาดโลก

อย่างเครื่อง Imaging Mass Microscope (IMS) ในเอเชียมีเพียง 3 ประเทศ คือ ไทย จีน ญี่ปุ่น เป็นเครื่องแสดงภาพและพื้นผิวโดยการจะยิงเลเซอร์เข้าไปยังชิ้นเนื้อตัวอย่างเพื่อดูการกระจายตัวของสาร ดูได้ทั้งพืชและชิ้นเนื้อที่สไลด์เป็นแผ่นบางๆ ซึ่งจะร่นระยะเวลาการทดสอบจาก วัน หรือสัปดาห์ ให้เหลือเพียงครึ่งชั่วโมงก็รู้ได้ว่ามีสารอะไรอยู่ ณ จุดไหน มีการกระจายตัวอย่างไรบ้าง ในการวิจัย ใบพืช รากพืช ก้านพืช จะถูกทดสอบการกระจายตัวเพื่อเลือกส่วนไปสกัดดึงสารสำคัญมาใช้งาน จากนั้นดูการกระจายของสารที่ซึมบนผิวคนหรือผิวสัตว์ ซึ่งเครื่องสามารถบอกระยะเวลา การซึม และดูได้ว่ามีการเปลี่ยนฟอร์มของสารออกฤทธิ์หรือไม่ สามารถลดระยะเวลาการวิจัยได้ถึง 10 ปี

ทั้งหมดนี้ดีไซน์หลักๆ มาเพื่องานด้านยาเพื่อรักษามะเร็ง ซึ่งในเรื่องกัญชา ต้องบอกว่าศูนย์ NCTC อยู่ในขั้นตอนยื่นขอใบอนุญาตครอบครองจาก อย. จึงยังไม่สารถทดสอบตัวกัญชาได้จริง แต่กำลังพัฒนาวิธีวิเคราะห์เพื่อรองรับหลังจากได้รับใบอนุญาต โดยจะสามารถเปิดวิเคราะห์ด้านกัญชาได้ทันที ซึ่งตัวอย่างทดสอบจากเครื่องนี้ สามารถเอา THC CBD มาทดสอบกับเนื้อเยื่อเพื่อดูว่าสารหลักจะออกฤทธิ์อย่างไร จัดการมะเร็งได้หรือไม่

เรือนกัญชง-ห้องเก็บกัญชาของกลาง

ก่อนจะไปต่อที่ห้องแพทย์แผนไทย เดินผ่านเรือนปลูกกัญชง สายพันธุ์ที่นำมาทำไฟเบอร์ คุณหมอบอกว่า ปลูกเพียง 90 วันก็สูงเฉียดเพดาน ตอนนี้กำลังรอเก็บเกี่ยว

ขอพาไปดูจุดศึกษาและทดสอบวิจัย ที่ “ห้องผลิตน้ำมันกัญชา” รวบรวมทุกขั้นตอนไว้เสร็จสรรพ ตั้งแต่ผลิต บรรจุ ปิดฉลาก เข้าได้ด้วยลายนิ้วมือ ห้อมล้อมไปด้วยวงจรปิดกว่า 30 กล้องที่จดจ้องเรา และพร้อมเก็บไว้ 1 ปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่มีใครเล็ดลอดอะไรออกไปจากห้องนี้

ภายในประกอบด้วย “ห้องเก็บกัญชาของกลาง” ที่ ป.ป.ส.ยึดมากว่า 800 กิโลกรัมบรรจุในถุงกระสอบ อีกห้องผลิต “น้ำมันสูตร อ.เดชา” โดยการสกัดน้ำมัน ต่างประเทศจะใช้ “น้ำมันมะกอก” เป็นตัวทำละลาย ส่วนไทยใช้น้ำมันมะพร้าวเพราะเราผลิตได้มาก ห้องติดกัน คือ “ฟินิชโปรดักต์” บรรจุหีบห่อหลังผลิตยาแล้วเสร็จ แต่ละห้องเข้าได้ 3 คน แยกส่วนกัน

ด้านการผลิตมีเครื่อง Sepbox เป็นเครื่องที่นำเข้าจาก เยอรมนี ราคา 14 ล้านบาท สามารถแยกสารมาตรฐานได้ 350 กรัมต่อวัน 1 เครื่องเพิ่มกำลังการผลิตได้เทียบเท่า 28 เครื่อง หากต้องการสาร THC หรือ CBD เพียว 100 เปอร์เซ็นต์ กองยาฯจะแยกด้วยเครื่องนี้ ก่อนจะส่งไปตรวจค่า GCMF หาความบริสุทธิ์ที่แล็บ ถัดกันยังมีห้องตรวจวิเคราะห์คุณภาพ เพื่อหาสารตั้งต้นในกรณีที่ไม่รู้ว่าสารสำคัญยาในแผนไทยนี้คืออะไร ซึ่งกัญชงและกัญชาก็จะต้องผ่านการตรวจสาร THC CBD CBG CBM ที่นี่

น้ำมันศุขไสยาศน์-สนั่นไตรภพ

เมื่อถามว่าจะมียาสมุนไพรอะไรออกสู่ท้องตลาด คุณหมอพาเข้าไปดูใน ห้องผลิตน้ำมันกัญชา ก่อนจะบอกว่า หลังจากนี้ ห้องนี้จะผลิตน้ำมันตำรับอื่นๆ โดยมีน้ำมันทั้งหมด 16 ตำรับ ซึ่งในช่วง 3 เดือนแรก จะทำ 3 ตำรับก่อน คือ น้ำมันกัญชา น้ำมันศุขไสยาศน์ เพื่อรักษาโรคริดสีดวง และต่อด้วย น้ำมันสนั่นไตรภพ

ดร.สมนึกบอกว่า กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งโรงงานแห่งนี้เป็นของกรมการแผนแพทย์ไทยและการแพทย์ทางเลือก ในการผลิตตำรับที่มีส่วนผสมของกัญชาทางการแพทย์แผนไทย โดยขณะนี้มีการผลิตอยู่ 3 สูตร คือ “น้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา” ซึ่งผลิตให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ในขนาด 5 ซีซี แพค 50 ขวด ส่งป้อนโรงพยาบาลของรัฐ

ส่วนอีก 2 สูตรเร็วๆ นี้จะผลิตน้ำมันศุขไสยาศน์ ตำรับยาแผนไทยศุขไสยาศน์เป็นตำรับยาริดสีดวงและโรคผิวหนัง ซึ่งผลผลิตจะส่งมอบให้โรงพยาบาลต่างๆ ส่วนวัตถุดิบ ขณะนี้มีแหล่งปลูกอยู่ 2 แห่ง คือ วิสาหกิจทุ่งแพม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ผลผลิตที่จะส่งมาที่นี่ รอบแรกประมาณ 2,000 ต้น และผลิตเป็นยาแผนไทยส่งให้โรงพยาบาล นอกจากนี้ วัตถุดิบสัดส่วนหนึ่งจะปลูกที่ชั้น 4 ของ สวทช. โดยจะนำช่อดอกสดของกัญชามาทำยา ผู้ป่วยแต่ละโรคที่เหมาะสมกับยา ก็จะถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์แผนไทยฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่สถานบริการทางการแพทย์ของรัฐ

น้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา

เมื่อถามถึงมาตรฐาน กองยาแผนไทยยืนยันด้วย FMP (Fundamental Manufacturing Practice Certificate) ผลิตโดยเภสัชกร และมีการตรวจรับรองคุณภาพตัวยาโดยใช้ห้องแล็บที่มีการตรวจ THC และ CBD และ Stability Test เป็นเวลา 4 เดือน เพื่อดูความคงตัวของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ใน “เชลฟ์ไลฟ์” ว่าจะมีอายุได้ถึง 2 ปีจริงหรือไม่

ส่วนกำลังการผลิตปัจจุบันและอนาคตจะเพียงพอหรือไม่ ดร.สมนึกยอมรับว่า เนื่องจากตำรับ อ.เดชา ต้องเก็บข้อมูลการวิจัยว่าผู้ป่วยที่ใช้ รักษาโรคอะไรได้บ้าง และผู้ป่วยทุกคนที่มารับบริการเป็นผู้ป่วยใหม่ทั้งหมด มีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้มียอดสั่งใช้ในเดือนมกราคม 2563 ประมาณ 7,000 กว่าขวด และมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งณะนี้เรามีกำลังผลิตต่อวัน ประมาณ 3,000 ขวด

ดร.สมนึก สุชัยธนาวนิช

“กัญชงเป็นนโยบายหนึ่งที่จะปลดล็อกออกจากยาเสพติดเพื่อใช้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย มีสารหลัก คือ CBD แต่ไม่มี THC ที่เป็นสารเมาในบางประเทศจึงใช้ใส่ในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม อาหารเสริม หรือเครื่องสำอาง ซึ่งขณะนี้เรากำลังทำการพัฒนาสายพันธุ์กัญชง เพื่อให้ได้ CBD สูง THC ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ ตามกฎเกณฑ์ของ อย.คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการปลูกให้เป็นพืชเศรษฐกิจอย่างแท้จริง” ดร.สมนึกกล่าว ก่อนจะเปิดมุมมองด้วยว่า

ในอนาคตอันใกล้ กัญชงจะมีวิธีปลูก 2 ระบบ คือ เอาต์ดอร์ ปลูกเพื่อเอาไฟเบอร์มาใช้ในการทำเครื่องมือ เครื่องนุ่งหุ่ม และที่อยู่อาศัย จาก Hemp Concrete และอีกระบบคือใช้เพื่อการแพทย์ เอา CBD จากดอก และน้ำมันจากเมล็ด (Hemp Oil) ซึ่งมีโปรตีน ซิลิก้า โอเมก้า 3 6 และ 9 ที่สูงมาก เหมาะในการทำอาหารเสริม เพื่อใช้ทำยาเครื่องสำอางด้วย

ด้านสถาบันการศึกษา อย่าง สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAP) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้เปิดแล็บให้ชมการสกัดสารจากวัตถุดิบธรรมชาติ สะท้อนให้เห็นศักยภาพในการวิจัยและพัฒนายาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรโดยคนไทย ได้ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายน้ำ

ศักยภาพ ‘ยาไทย’ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์

รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียนอินฟอร์มาร์ มาร์เก็ต ประเทศไทย บอกว่า สารสกัดเป็นอีกธุรกิจที่สามารถพัฒนาได้เป็น 3 อย่าง คือ 1.สารสกัดเพื่อพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์ยา 2.สารสกัดเพื่อเป็น Food supplement สมุนไพรที่ใช้ในการป้องกัน และเป็นตัวเสริม เพื่อสอดรับกับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต และ 3.สารสกัดเพื่อทำเส้นใย

ก่อนจะยืนยันว่า เมืองไทยมีศักยภาพในการผลิตสารสกัดเพื่อพัฒนาต่อยอด เป็นโอกาสของผู้ประกอบการ ทั้งสเกลเล็กใหญ่

แต่จะทำอย่างไรให้คนไทยมองเห็นศักยภาพ และผลผลิตทางการเกษตรกของไทย

ถือเป็นโอกาสดี CPhI south east Asia 2020 งานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและการประชุมด้านอุตสาหกรรมการผลิตยาครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังจะกลับมาอีกครั้ง วันที่ 4-6 มีนาคมนี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1 อิมแพคเมืองทองธานี

เปิดพื้นที่แห่งโอกาสแก่นักธุรกิจนักลงทุนนักวิจัยแพทย์เภสัชกรและบุคคลทั่วไปที่เห็นโอกาสในอุตสาหกรรมยาและสารสกัดจากธรรมชาติมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เจรจาธุรกิจการค้า

เพราะนอกจากสมุนไพรจะรักษาโรคทั่วไปแล้ว ยังมีสรรพคุณรักษาโรคเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ไม่ว่าความดันเลือด หัวใจ เบาหวาน มะเร็ง ซึ่งล้วนเป็นโรคยอดนิยมของประชากรไทย ในขณะที่ยาสมุนไพรที่สามารถพัฒนารักษากลุ่มโรคนี้มีมากมายในไทย แต่รู้จักกันเพียงแค่ ขมิ้นชัน ไพล และฟ้าทลายโจร ก็อาจเป็นการเสียโอกาสในการสร้างมูลค่าการส่งออกลดการนำเข้า รวมทั้งสร้างระบบการแพทย์แผนไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืนได้ในประเทศ

ด้วยความห่วงใย รัฐอาจต้องมีแผนพัฒนาตั้งแต่การปลูกที่ได้มาตรฐาน ซึ่งต้องเชื่อมโยงตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย  

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image