‘โคโรนาไวรัส’ กับการเหยียด ‘เชื้อชาติ’ อคติที่ (โลก) ต้องรู้เท่าทัน

ภาพโดย ธนัท ฟักอ่อน

วิกฤตไวรัสโคโรนา ไม่เพียงนำมาซึ่งการสูญเสียที่โลกเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น แต่ยังก่อให้เกิดปรากฏการณ์น่าสนใจอย่างยิ่งในมุมมองด้านมานุษยวิทยา

ก่อนหน้านี้ มีนักศึกษาหญิงรายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย เล่าเหตุการณ์การถูก ‘บูลลี่’ หรือกลั่นแกล้งจากการเป็นคนเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสวม ‘หน้ากากอนามัย’ เพราะในมุมมองชาวตะวันตก คนสวมคือ ‘ผู้ป่วย’ ชนิดร้ายแรง

ล่าสุด เมื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสาธารณสุข ลุยแจกหน้ากาก ก็ถูกนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกปฏิเสธ จนเจ้าตัวออกอาการหงุดหงิด

ในฐานะนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยโตรอนโต แคนาดา เทอมนี้ มีโอกาสช่วยสอนวิชามานุษยวิทยาพื้นฐานวิชาหนึ่ง ชื่อวิชามานุษยวิทยากายภาพและโบราณคดีเบื้องต้น มีจำนวนนักศึกษาทั้งหมดราว 800 คน

Advertisement

ซึ่งที่ผ่านมาได้ช่วยสอน และสอนวิชาเสริมที่เกี่ยวข้องนี้มาหลายปีแล้ว โดยเทอมนี้ ต้องรับผิดชอบนักศึกษา 75 คน

 

คาบแรก นักศึกษาได้ทำแบบฝึกหัดเกี่ยวกับอคติ รวมทั้งการเหยียดผิวของรัฐบาลแคนาดาต่อคนพื้นเมือง คือชาวอินูอิตและการตีความทางมานุษยวิทยาในยุคก่อนๆ ท้ายคาบ นักศึกษาได้เขียนวิพากษ์เรื่องนี้จากมุมมองตัวเอง ส่วนใหญ่ก็ทำกันได้ดี

ส่วนในสัปดาห์นี้ เป็นแบบฝึกหัดในคาบเกี่ยวกับการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดี ให้นักศึกษาหัดจดบันทึกโบราณวัตถุ, ทำทะเบียน, คำนวณสถิติ และตีความหลักฐานเบื้องต้น ทั้งหมดต้องทำให้เสร็จภายในเวลาหนึ่งชั่วโมง

นักศึกษาได้เปลี่ยนบทบาท จากผู้สังเกตการณ์ มาเป็นผู้สร้างคำอธิบายของชุดหลักฐานต่างๆ บ้าง ซึ่งผลที่ได้ก็ต่างไปจากคาบแรก แบบหน้ามือเป็นหลังมือ

มิไยที่เราจะย้ำแล้วย้ำอีกในคาบที่แล้วว่า ให้เขียนบรรยายหลักฐานต่างๆ อย่างที่เป็น ไม่ใช่อย่างที่พวกเธอเห็น (Described them the way they are, not the way you see them.)

การตีความที่เต็มไปด้วยอคติ จึงมีมาแบบจัดเต็มทุกปี เช่น เจ้าของโบราณวัตถุกลุ่มนี้ มีการใช้ชีวิตแบบไม่เฮลธ์ตี้, กินอาหารขยะ, ไม่กินผัก, ไม่ออกกำลังกาย, ประมาณว่า โง่ จน เจ็บ ฯลฯ เพราะนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ยังไม่สามารถรู้ได้ว่าตีความแบบไหน จึงเรียกว่ามีอคติ แบบไหนคือ การตีความหลักฐานตามแบบที่เป็น จึงต้องมานั่งอธิบายให้ฟังในคาบต่อมาว่า การตีความแบบนี้ก็ไม่ต่างจากการตีความด้วยอคติของคนขาวต่อชาวอินูอิต ที่เคยถูกตีความว่าเป็นคนยุคหิน ไร้วัฒนธรรม

หลังจากฟังคำอธิบายแล้ว นักศึกษาส่วนมากก็อึ้งๆ หงอยๆ ส่วนตัวจึงคุยกับนักศึกษาว่า อคติเหล่านี้มันมีอยู่จริงในทุกคน ภายใต้เวลาที่จำกัดหนึ่งชั่วโมงนี้ นักศึกษาได้ใช้อคติเหล่านั้นเขียนการตีความพวกนี้ออกมาอย่างง่ายดายและรวดเร็ว หากไม่รู้เท่าทันอคติเหล่านี้ในตัวเอง ก็ยากมากที่จะสร้างความรู้ที่เป็นธรรมและรอบด้านได้

อคติรูปแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนนี้ ก็ได้เกิดขึ้นในสถานการณ์โรคระบาด ณ กรุงโตรอนโต ด้วยเช่นกัน

ชาวจีนอพยพ และแคนาเดียนเชื้อสายจีน นับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองนี้

ดังนั้น พอเกิดการระบาดของโคโรนาไวรัสจากกรุงอู่ฮั่น ประเทศจีนขึ้นมา ชาวจีน และชาวเอเชียในโตรอนโต จึงตกเป็นเป้าของการเหยียดเชื้อชาติในนามของความกลัวขึ้นมาทันที การเหยียดเชื้อชาตินี้ คล้ายกับเหตุการณ์ตอนที่เกิดโรคซาร์สระบาดในปี 2003 มากทีเดียว

ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่มีข่าวการระบาดของโรค ข้อความเหยียดเชื้อชาติต่างๆ ก็ปรากฏขึ้นมากมายตามรีวิวร้านอาหารจีนในโตรอนโต รวมทั้งตามช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างรวดเร็ว

ห้างร้านของชาวจีน ร้านอาหารจีนที่เคยคับคั่งด้วยผู้คน บางที่ก็เงียบเป็นป่าช้า งานฉลองตรุษจีนที่ควรจะครึกครื้น ก็ไร้ผู้คน หรือถูกยกเลิกไป

ภาพจากเฟซบุ๊ก Panrawee Rungskunroch

คนจีนและคนเอเชีย ถูกมองว่าสกปรก เป็นรังโรคเดินได้ขึ้นมาทันที

ภาพของคนจีนและเอเชีย สวมหน้ากากอนามัยตามท้องถนน ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับกระแสการเหยียดคนเอเชียที่เข้มข้นขึ้นด้วย

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีนักข่าวจากสถานีข่าวระดับประเทศคนหนึ่งถูกไล่ออกจากงาน เพราะทวีตข้อความเหยียดหยามชาวจีน ทำให้คนโกรธกันมาก

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า นักข่าวคนนี้ไปตัดผมในร้านที่มีช่างเป็นคนจีน แล้วถ่ายเซลฟี่กับช่างตัดผมชาวจีนที่สวมหน้ากากอนามัย มีข้อความประกอบว่า “ผมคิดว่าจะมาตัดผมอย่างเดียวเสียอีก (คงจะไม่ติดโรคกลับไปด้วย)”

แม้นักข่าวจะคิดว่าทวิตขำๆ แต่คนอื่นดันไม่ตลกด้วยจนโดนไล่ออก

ต้นเหตุของเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรม และความหมายของการสวมหน้ากากอนามัยนั่นเอง

ชาวจีน รวมทั้งชาวเอเชียตะวันออก ถูกสอนให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันโรคระบาดในลักษณะนี้ ยิ่งรัฐบาลจีนยิ่งแล้วใหญ่ ตอนนี้โหมประชาสัมพันธ์ให้คนใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกไปไหนมาไหน จนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว น่าจะถือได้ว่าเป็นแนวคิดการป้องกันโรคแบบตะวันออกได้เลย คนจีนในกรุงโตรอนโตก็พากันใส่หน้ากาก จนกระทั่งหน้ากากอนามัยขาดตลาดไปหมดแล้ว เพราะคนจีนและชาวเอเชียกว้านซื้อกันเกลี้ยง

ส่วนชาวตะวันตก รวมทั้งชาวแคนาเดียนเอง กลับมีวิธีการป้องกันโรคที่แตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง คุณหมอจากทางกระทรวงสาธารณสุขแคนาดา ออกมาประชาสัมพันธ์ทางทีวีว่า การใส่หน้ากากอนามัยไม่สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสได้ แต่การมีสุขอนามัยที่ดี เช่น ล้างมือบ่อยๆ ปิดปากเวลาไอ, จาม ไม่เอามือล้วงแคะ แกะเกาหน้าตา และอยู่ห่างจากคนป่วยต่างหาก ที่สามารถลดความเสี่ยงในการติดโรคได้

 

ซึ่งสองแนวทางนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แล้วเราก็เข้าใจเอาเองด้วยว่า คนสองวัฒนธรรมนี้ ก็ไม่รู้สึกปลอดภัยในจิตใจเท่าไหร่ หากต้องถูกบังคับให้ใช้วิธีป้องกันโรคในแบบที่ตัวเองไม่ได้เชื่อ

มันก็เลยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ที่ต่างคนต่างทำ ตามวิธีที่ตัวเองเชื่อและรู้สึกปลอดภัย

คนจีน คนเอเชีย ก็สวมหน้ากากอนามัยกันเต็มเมืองไปหมด ในขณะที่คนแคนาเดียนไม่ใส่หน้ากากกันเลย

บางคนอาจสงสัยว่า คนแคนาเดียนเขาไม่ใส่หน้ากากอนามัยกันมั่งเลยเหรอ?

คำตอบก็คือ “ใส่” แต่เขาใส่หน้ากากอนามัยก็ต่อเมื่อเขา “ป่วย” เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค และเป็นสัญญาณบอกให้คนอื่นอยู่ห่างๆ

คนแคนาเดียนใส่หน้ากากอนามัย เพราะต้องการบอกให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองป่วย เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

ในขณะที่คนจีน คนเอเชีย ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคล และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมแต่ไม่ได้ใช้เป็นสัญลักษณ์บอกว่าตัวเองป่วย หรือติดโรคระบาด

การใส่หน้ากากอนามัยของคนสองกลุ่ม จึงมีจุดประสงค์แตกต่างกัน และมีความหมายทางเบื้องหลังที่แตกต่างกันมากด้วย

ในขณะที่คนเอเชียคิดว่าการสวมหน้ากากทำให้ปลอดภัย คนแคนาเดียน

ดันมองว่าคนสวมหน้ากากเป็นรังโรค ต้องออกห่างไปเสียนี่

การควบคุมการระบาดของโรคในสังคมพหุวัฒนธรรม จึงมีมิติทางวัฒนธรรมรวมอยู่ด้วย

ดังนั้น มุขตลกของนักข่าวต่อช่างตัดผมชาวจีนที่สวมหน้ากากอนามัย หรือการแสดงความรังเกียจชาวเอเชีย รวมทั้งชาวไทยที่สวมหน้ากากอนามัยที่เราได้ยินมาอย่างหนาหูในช่วงสัปดาห์นี้ จึงมีที่มาอย่างนี้เอง

เป็นอคติที่เกิดจากการมองอย่างที่ตัวเองเข้าใจ แต่ไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ เพราะมีมุมมองที่แตกต่าง แต่ขาดการทำความเข้าใจกันแบบนี้เอง ที่ทำให้การเหยียดชาติพันธุ์ เหยียดวัฒนธรรม เกิดขึ้นตลอด นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ถ้าไม่ระวัง ประวัติศาสตร์แบบนี้ก็จะซ้ำรอยไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่เกิดโรคระบาดแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image