จาก ‘เตาปูน’ ถึง ‘ท่าพระ’ 24 นาทีในชีวิตที่ดีกว่า

24 ชั่วโมง เท่ากับ 1 วันที่ผู้คนครอบครองเวลาไว้ได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีเหลื่อมล้ำ

ทว่า 24 นาที ในชีวิต 1 วัน อาจถูกใช้ใน “ทางเลือก” ที่ต่างกัน

เชื่องช้า กระทั่งแน่นิ่งบนท้องถนน ท่ามกลางฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่อาจคำนวณเวลาที่หมดไปในแต่ละวินาทีกับการจราจรสาหัสในมหานคร “กรุงเทพ”

หรือเลือกเส้นทางที่ดีกว่านั้น ในวันที่ “พระนคร” และ “ธนบุรี” บนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ณ เมืองหลวงแห่งนี้ มีระบบการคมนาคมขนส่งที่รุดหน้าไปกว่าเมื่อวาน พร้อมสร้างวันดีๆ ของชีวิตการเดินทางนับแต่วันนี้

Advertisement

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย คือทางเลือกใหม่ที่ผู้คนให้ความสนใจคับคั่งตั้งแต่นาทีเปิดทดลองให้บริการ

สถานีหัวลำโพง-สถานีหลักสอง ระยะทาง 14 กิโลเมตร 4 สถานีใต้ดิน 7 สถานียกระดับ รวมเป็น 11 สถานีสถานีบางซื่อ-สถานีท่าพระ ระยะทาง 13 กิโลเมตร เป็นสถานียกระดับ 8 สถานี

โดยหลังเปิดทดลองให้บริการอีก 4 สถานี ถัดจากสถานีเตาปูน ส่งผลให้เส้นทางครบรอบเป็นวงกลม โดยระหว่าง “สถานีเตาปูน-สถานีท่าพระ” ใช้เวลาเพียง 24 นาที

Advertisement

จุดเด่นสำคัญคือการเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ เพื่อให้การบริการเดินรถต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) ครอบคลุมพื้นที่อย่างทั่วถึง อัพเกรดระดับชีวิตของผู้คนบนไทม์ไลน์ของประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งการคมนาคมไทยในศตวรรษนี้

ไม่เพียงความรวดเร็ว สะดวกสบาย ด้วยวงรอบโยงใยครบวงจร แต่เชื่อว่ายังจะร่วมด้วยช่วย “กระทุ้ง” เศรษฐกิจอีกทาง ทั้งสเกลใหญ่ในมุม “อสังหาริมทรัพย์” และสเกลชุมชนบนมุม “การท่องเที่ยว” จากพิกัดบนแผนที่ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายมากมายด้วยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ซ่อนตัวอยู่ในโลเกชั่นชวนค้นหา

 

ลองมาเริ่มต้นที่ “สถานีเตาปูน” อาคารทันสมัย 4 ชั้น ต้อนรับผู้โดยสารที่เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าในชั้นออกบัตร ก่อนขึ้นสู่ชั้นต่อๆ ไปตามจุดหมายปลายทางที่ต้องการ

มุ่งหน้า ชั้น 3 สำหรับ “สายสีน้ำเงิน” และในขณะเดียวกัน สถานีนี้ก็เป็นจุดเชื่อมต่อกับ “สายสีม่วง” บนชั้น 4 เพื่อเดินทางสู่นนทบุรี สิ้นสุดที่สถานีคลองบางไผ่

เพียง 8 นาที คือช่วงเวลาในการรอคอยรถไฟฟ้าขบวนใหม่เข้าเทียบชานชาลา

ก้าวขึ้นแบบ “มายด์ เดอะ แก๊ป” ระวังช่องว่างระหว่างพื้นและชานชาลาเพื่อความปลอดภัยตามเสียงประกาศเตือนคุ้นหู มุ่งสู่สถานีถัดไป “บางโพ” แหล่งสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์ไม้ และที่ตั้งของอารามสำคัญนาม “อนัมนิกายาราม” หรือวัดญวนบางโพ หลักฐานของการมีอยู่ของชุมชนชาวเวียดนามในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ระหว่างทาง มองลอดกระจกหน้าต่างบานใส จะพบเห็น “ตึกแถว” หลากยุคสมัย บ่งบอกความเจริญที่มากับ “ถนน” เส้นทางคมนาคมทันสมัยก่อนโลกมีรถไฟฟ้าใช้ในยุคหลัง

จากนั้น ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยสะพานของรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ เปิดประสบการณ์ใหม่ที่ให้ความรู้สึกราวกับลอยอยู่เหนือสายน้ำกว้างใหญ่อันมีไฮไลต์สะดุดตาอย่าง “สัปปายะสภาสถาน” หรือรัฐสภาแห่งใหม่ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยาในย่านเกียกกาย

 

ถัดไปเป็น “สถานีบางอ้อ” เบื้องล่างคือถนนจรัญสนิทวงศ์ เส้นทางสำคัญในฝั่งธนฯ ที่เคยขึ้นชื่อเรื่องการจราจรที่คับคั่ง ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล จักรยานยนต์ และยวดยานอื่นๆ อีกหลากหลาย การมาถึงของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จึงเป็นทางเลือกที่ช่วยแก้ปัญหาชวนหงุดหงิดนี้ได้เป็นอย่างดี ยังไม่นับการได้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมป้องกันแก้ไขมลพิษ PM2.5 ที่รัฐบาลเร่งปัดเป่าให้พ้นจากฟากฟ้าเมืองไทย

“มัสยิดบางอ้อ” ศาสนสถานเก่าแก่ใกล้สถานีบางอ้อ ถือกำเนิดขึ้นก่อนถนนจรัญสนิทวงศ์จะถูกปักป้ายเพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงจรัญสนิทวงศ์ (ม.ล.จรัญ สนิทวงศ์) อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม

สถานีต่อไป “บางพลัด” ใกล้ “วัดอาวุธวิกสิตาราม” อารามงดงามริมเจ้าพระยา หนึ่งในแลนด์มาร์กจากบนสถานี มองเห็นวิถีเรียบง่ายสไตล์ฝั่งธน ตลาด ร้านรวง สตรีทฟู๊ด สเน่ห์ไทยแลนด์ที่ยากจะเลียนแบบ จากจุดนี้ เตรียมข้ามสะพานเหล็กโค้ง แบบ Bowstring ข้ามแยกบางพลัดเข้าสู่ “สถานีสิรินธร” นับเป็นสะพานทางวิ่งรถไฟฟ้าแบบโครงเหล็กแห่งแรกของไทย

สเตชั่นต่อไป “บางยี่ขัน” ใกล้ย่านสำคัญของฝั่งธนฯ อย่าง ปิ่นเกล้า อรุณอมรินทร์ แล้วมุ่งหน้า “สถานีบางขุนนนท์” ซึ่งอยู่ร่วมกับท้องถิ่นอย่างเข้าใจในวัฒนธรรม

เหนือชานชาลาและรางรถไฟของสถานีนี้จึงมีอุปกรณ์ชักรอกสำหรับอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นเหนือสะพานตามประเพณีเดิมในการล่องเรือตามคลองบางกอกใหญ่เพื่อแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชีที่มีขึ้นทุกปีในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12

ถัดมาคือ “สถานีไฟฉาย” สะดุดตาด้วยโครงสร้างทางวิศวกรรมที่มีสะพานเหล็กโค้ง bowstring เช่นเดียวสถานีสิรินธร สร้างข้ามแยกไฟฉาย ย่านพรานนก ฝั่งธนบุรี ใกล้โรงพยาบาลศิริราช บริเวณ “วังหลัง” บ้านเกิดกวีเอก “สุนทรภู่” ซึ่งเขยิบไปอีกหนึ่งสถานี คือ “จรัญฯ13” ชุมชนใหญ่ที่มากมายด้วยตรอกซอกซอยในเรือกสวนเดิม จึงทะลุทลวงไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์

ปัจจุบัน มีคอนโดสูงพุ่งขึ้นตามความเจริญที่มาตามเส้นทางรถไฟฟ้า ตอบสนองการอยู่อาศัยที่กระจายออกสู่ชานเมืองและความสะดวกสบายในการเดินทางที่ทั่วถึง

 

ปิดท้าย สถานีถัดไป “ท่าพระ” ซึ่งมีความพิเศษหลายประการ ถือเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของฝั่งธนบุรี ตัวสถานียกระดับคร่อมอุโมงค์ลอดแยกของถนนจรัญสนิทวงศ์และสะพานข้ามแยกของถนนเพชรเกษม สร้างด้วยเทคนิควิศวกรรมชั้นสูง ทว่า ดูโปร่งสบาย เรียบง่าย และทันสมัย

หากชีวิตคือการเดินทางดังที่มักถูกเปรียบเปรย นี่คือชีวิตที่ง่ายขึ้น ดีกว่า และ “ไปต่อ” ได้ เพราะมากมายด้วย “ทางเลือก” เป็นชีวิตที่อิสระจากพันธนาการบนท้องถนน เป็นชีวิตที่อาจแวะพัก ทอดสายตาสัมผัสความรื่นรมย์รายทาง

เป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ของชีวิตคนไทยในทุกย่างก้าวสู่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน


ชีวิตดีในดีเดย์ 15 กุมภาฯ

 

ชีวิตดีมีแน่นอน 15 กุมภาพันธ์นี้ รฟม. และ BEM ขยายเวลาเปิดให้ทดลองใช้บริการรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เตาปูน-ท่าพระ

ตามที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ จากสถานีบางโพ-สถานีจรัญฯ 13 โดยไม่คิดค่าโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2562 นั้น ผลปรากฏว่าการให้บริการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนที่เข้ามาร่วมทดลองใช้บริการ

ปัจจุบันความก้าวหน้าของงานและระบบมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น รฟม. และ BEM จึงได้ขยายเวลาเปิดให้ทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ จากปัจจุบันที่เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี ในช่วงเวลา 10.00-16.00 น. ขยายเวลาเป็น 06.00-24.00 น. ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการในเวลาการให้บริการจริง และยังคงให้บริการฟรีระหว่างสถานีบางโพ-สถานีจรัญฯ 13 รวม 8 สถานี ได้แก่ สถานีบางโพ สถานีบางอ้อ สถานีบางพลัด สถานีสิรินธร สถานีบางยี่ขัน สถานีบางขุนนนท์ สถานีไฟฉาย และสถานีจรัญฯ 13 โดยรูปแบบการให้บริการจะวิ่งไป-กลับ จากสถานีเตาปูน-สถานีท่าพระ ซึ่งผู้โดยสารจากสายสีน้ำเงินปัจจุบันหรือสายสีม่วง ที่ต้องการเดินทางไปปลายทางระหว่างสถานีจรัญฯ 13-สถานีบางโพ จะต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีท่าพระหรือสถานีเตาปูน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารที่มาใช้บริการรถไฟฟ้า MRT และเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร และลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการและจัดเก็บค่าโดยสารตามปกติในวันที่ 30 มีนาคมนี้

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูล

โทร 0-2624-5200

Facebook : MRT Bangkok Metro

Twitter : MRT Bangkok Metro

Instagram : mrt_bangkok

Mobile Application : Bangkok MRT


เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image