ส่องเพื่อนบ้าน ซูมไทย เกิดอะไรในปีที่ผ่าน? เจาะสถานการณ์ ‘สิทธิมนุษยชน’

ว่าด้วยเรื่องสถานการณ์

หากพูดถึงต้นปี 2563 ภาพในหัวของใครหลายคนคงหนีไม่พ้น กรณี ‘จ่าคลั่ง’ แต่หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปี 2562 ถามว่า “เราเห็นอะไร” ?

ไม่ว่าภาพในหัวจะตรงกันหรือไม่ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นภาพที่สวยงามและน่าจดจำนัก

ในห้วงเวลาที่เรื่องสลักสำคัญในสังคมถูกกลบ ลบความสนใจ ด้วยข่าวใหญ่ในโคราช ขอถือโอกาสหยิบยก “บทวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2562” โดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

Advertisement

เพื่อชวนทบทวนสถานการณ์อีกจำนวนมากซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่าน และยังคงมีปรากฏการณ์ให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

ในฐานะ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก นิโคลัส เบเคลัง ให้ภาพกว้างว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีการวิจัยเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนใน 25 ประเทศ และดินแดนในเอเชียและแปซิฟิก ครอบคลุมไม่เฉพาะสิทธิความเท่าเทียม สิทธิทางเชื้อชาติ ศาสนา แต่ยังรวมถึงสิทธิในสเกลใหญ่ๆ ในเรื่องของความเปลี่ยนแปลง อันมีต้นเค้ามาจาก “จีน และ อินเดีย” 2 มหาอำนาจเอเชีย ในฐานะผู้นำแนวทางการปราบปรามทั่วภูมิภาค โดยปฏิเสธสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง อันสะท้อนผ่านการที่ “รัฐบาลจีน” สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในฮ่องกง โดยให้อำนาจในการส่งผู้ต้องสงสัยไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ จุดประกายการประท้วงให้ลุกลามเป็นวงกว้าง

ในขณะที่ “อินเดีย” คือ ภาพของประชาชนหลายล้านออกมาเปล่งเสียงต่อต้านกฎหมายใหม่ที่เลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม ใน “อินโดนีเซีย” จะเห็นภาพการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ เพื่อต้านกฎหมายหลายฉบับที่คุกคามเสรีภาพของประชาชน

Advertisement

ไม่เว้นแม้แต่ “อัฟกานิสถาน” ที่ผู้ชุมนุมเสี่ยงภัยเดินขบวนเรียกร้องให้ยุติความขัดแย้งยาวนานในประเทศ ด้าน “ปากีสถาน” มีการรณรงค์ต่อต้านการบังคับบุคคลสูญหาย และการวิสามัญฆาตกรรม โดยขบวนการ “พาชทูน ทาฮัฟฟุซ” ที่มีวิธีปฏิบัติการอย่างไม่ใช้ความรุนแรง

นิโคลัสชี้ว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนกำลังเดินหน้าไปในทางที่ผิด พบการกักตัวโดยรัฐบาล ทั้งจากสงคราม การบังคับบุคคลสูญหาย และอีกหลากหลายในลิสต์ที่ยาวเหยียด

“ในเอเชีย แต่ละปีไม่เห็นรัฐบาลดำเนินใดๆ สิ่งที่เราเห็นคือการที่รัฐบาลกระโดดลงไปบนโลกของเฟคนิวส์ การต่อสู้ด้วยปฏิบัติการผ่านโซเชียลมีเดียที่รุนแรง และการเซ็นเซอร์ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง อย่างไม่สนใจความยุติธรรม

ซึ่งอีกหนึ่งข้อกังวลคือ ‘โซเชียลมีเดีย’ ที่รัฐบาลพยายามสร้างพลังทุกช่องทาง แต่ไม่ได้ใช้ในทางบวก กลับใช้ในการกระจายข้อมูลและโฆษณาชวนเชื่อ แสดงให้เห็นถึงอำนาจรัฐและการต่อสู้กับสงครามความเกลียดชัง ซึ่งเราเห็นการดำเนินการจากสัญญาของรัฐบาลมาเลเซีย ไทย และจีน ในเรื่องโอกาส ความยุติธรรม และสิ่งแวดล้อม เพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

สำหรับปี 2019 สถานการณ์สิทธิมนุษยชน ในมุมของ ผอ.แอมเนสตี้ฯ ระดับภูมิภาคเอเชีย มองว่า “อ่อนแอ” โดยเฉพาะกับเยาวชน ที่รัฐไม่ดำเนินการตามคำเรียกร้อง ไม่ว่าจะเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งมีการเรียกร้องกระทั่งใน “ปากีสถาน” “ฟิลิปินส์” ฯลฯ หรืออย่างกรณีกลุ่มนักศึกษาใน “ฮ่องกง” เป็นแกนนำในการประท้วงใหญ่เพื่อต่อต้านการรุกรานของจีน กรณีนักศึกษาในอินเดียประท้วงต่อต้านนโยบายที่เป็นปรปักษ์ต่อมุสลิม ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ใน “ไทย” หลั่งไหลเลือกพรรคใหม่ฝ่ายค้านอย่างท่วมท้น ไปจนถึงการแต่งงานในเพศเดียวกัน ที่นำไปสู่การชุมนุมสนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศใน “ไต้หวัน”

“หลายประเทศหลายเชื้อชาติ จะเห็นการประท้วงที่แพร่ขยายเป็นวงกว้าง โดยมีเยาวชนเป็นแกนนำทั้งในโลกออนไลน์และโลกแห่งความจริง ที่กำลังท้าทายกับระบอบอำนาจแบบเก่า” นิโคลัสกล่าวสรุป ก่อนจะทิ้งท้ายถึงไทยว่า

สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยถือว่าน่าผิดหวัง เพราะยังอยู่ในเงาของ คสช. ทั้งที่ช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ควรนำไปสู่การมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น

ถึงอย่างนั้น ประเทศไทยก็ไม่ได้มีสถานการณ์เลวร้ายที่สุดในภูมิภาค แต่การยกเลิกคำสั่ง คสช.ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยมีสถานการณ์สิทธิมนุษยชนดีขึ้นตามมาตรฐานสากล

และสถานการณ์ที่น่ากังวลยิ่งกว่า อาจเป็นการที่เรามักได้ยินรัฐบาลประเทศต่างๆ บอกว่า ไม่สามารถทำตามค่านิยมสิทธิมนุษยชนได้ ไม่อยากให้สัตยาบันในกฎหมายสิทธิมนุษยชนต่างๆ ซึ่งจะสามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้

ตัดฉากมาไทย เลวร้าย หรือ ยังพอไหว

ด้าน ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดฉากเล่าย้อนถึงเหตุการณ์เป็นลำดับ

เดือนมีนาคม จัดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรก หลัง คสช.ยึดอำนาจจากการรัฐประหารเมื่อ ปี 2557 และได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา สถานการณ์สิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่ 1.นักกิจกรรม นักวิชาการ นักการเมืองฝ่ายค้าน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกจับกุมควบคุมตัว ดำเนินคดีจากการแสดงความเห็น 2.รัฐยังคงใช้อำนาจจำกัดการใช้สิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบอยู่ และโดยพลการ รวมทั้งมีการออกกฎหมายไซเบอร์ฉบับใหม่ 3.ผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยยังเสี่ยงถูกจับกุม ส่งกลับ หรือส่งตัวไปยังประเทศอื่น

คสช.หมดอำนาจลง ทางการประกาศยกเลิกคำสั่งบางส่วน และบางส่วนบังคับใช้เป็นกฎหมายไปโดยปริยาย มีการออกคำสั่งให้โอนคดีระหว่างพิจารณาศาลทหารมายังศาลพลเรือน

อย่างไรก็ตาม รัฐยังมีอำนาจอย่างกว้างขวางในการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ

ในเรื่อง การบังคับบุคคลสูญหาย และทำร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เมื่อกันยายนที่ผ่านมา ดีเอสไอยืนยันการเสียชีวิตของ “พอละจี รักจงเจริญ” หรือบิลลี่ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิฯ แต่ล่าสุดอัยการสั่งไม่ฟ้อง ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ทั้งยังไม่มีการสอบสวนการสูญหายของนักกิจกรรมทางการเมืองชาวไทยคนอื่นๆ อีกหลายคน มีการควบคุมตัวบุคคลระหว่างปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัด มีการร้องเรียนว่าถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้าย รวมทั้งระหว่างควบคุมตัวในค่ายทหาร เจ้าหน้าที่ทหารยังคงบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวาง และควบคุมในสถานที่อย่างไม่เป็นทางการ ไม่ให้ติดต่อโลกภายนอก ‘โดยปราศจากข้อหา’ มีชายแจ้งความดำเนินคดีตำรวจ 7 นาย ข้อหาทรมาน แต่กลับตกเป็นจำเลยเอง โดนฟ้องกลับข้อหาแจ้งความเท็จ

และจนตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย ก็ยังไม่ผ่าน

เสรีภาพ ชุมนุม-สมาคม โดยสงบ

มีแล้วหรือไม่? สิทธิเหล่านี้

เป็นอีกเรื่องที่ ปิยนุช ต้องขอไฮไลต์หนัก หลัง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้รับร่างเป็นกฎหมายเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐมีอำนาจอย่างมากในการสอดส่อง เซ็นเซอร์ข้อมูลออนไลน์ ซึ่งปลายปี กระทรวงดิจิทัลฯ ก็ได้ตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เพื่อจัดการผู้เผยแพร่ด้วยมาตรการที่ “ไม่ระบุอย่างชัดเจน”

ต่อมา ทางการมีการแจ้งข้อหาอาญาต่อนักวิชาการ คนงาน และนักกิจกรรม โดยใช้อำนาจกฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายการชุมนุม สมาชิกฝ่ายค้านถูกดำเนินคดีหลายข้อหา หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านถูกเพิกถอน ส.ส.ในสภา และอาจมีการยุบพรรค หลังจากที่เคยยุบ “ไทยรักษาชาติ” มาแล้ว

และจวบจนวันนี้ยังไม่ทราบผู้ทำร้ายนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในขณะที่พวกเขาพยายามรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความไม่ปกติของการเลือกตั้ง และปัญหาการตั้งรัฐบาลใหม่ แต่กลับกลายเป็นสร้างความหวาดกลัวกันถ้วนหน้า

“เรื่องนักปกป้องสิทธิ มีปรากฏการณ์ที่บริษัทเอกชนฟ้องร้องคดีแพ่งและอาญา ต่อกลุ่มคนงานผู้ร้องเรียนสภาพปัญหาการทำงาน ไปจนถึงการฟ้องร้องนักสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ไม่ใช่แค่นักปกป้องสิทธิหรือผู้เชี่ยวชาญ แต่เกษตรกร ชาวบ้าน คนในชุมชนก็กระทบอย่างมากจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ชาวบ้านที่ยากจน ไร้ที่ดิน ต่างถูกดำเนินคดีข้อหาบุรุกเนื่องจากทำกินโดยไม่มีเอกสารสิทธิ และถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่

ส่วนเรื่อง การลอยนวลพ้นผิด ตามรัฐธรรมนูญ 2560 สมาชิก คสช.ได้รับการคุ้มครอง ไม่ให้ถูกดำเนินคดีจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งย้อนกลับไปปี 2553 มีคนถูกสังหารในวัดปทุมวนาราม เจ้าหน้าที่แจ้งต่อหนึ่งใน 6 ครอบครัว ว่าจะไม่มีการฟ้องต่อทหารรายใด เพราะขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจน

เรื่องผู้ลี้ภัยและขอลี้ภัย ยังหนักหนา เสี่ยงถูกควบคุมตัวและส่งกลับ หลายร้อยคนอยู่ในสถานควบคุมต่างด้าวเป็นเวลาหลายปี

 

กรณีล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีการกล่าวหาว่า ตำรวจไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวบล็อกเกอร์ และผู้ขอลี้ภัยชาวเวียดนาม ที่กรุงเทพฯ ซึ่งปรากฏอีกทีภายใต้การควบคุมตัวของเวียดนาม

ส่วนปีที่ผ่านมา เดือนกันยายน ผู้ขอลี้ภัยชาวลาวหายตัวไปในกรุงเทพฯต้นปี ‘ฮาคีม อัล อาไรบี’ อดีตนักฟุตบอล ผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรน ที่มีสิทธิพำนักในออสเตรเลีย ถูกปล่อยหลังถูกทางการไทยคุมตัวเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งขณะนั้นมีการรณรงค์กันอย่างมาก ด้วยกลัวจะถูกละเมิดสิทธิด้วยการส่งกลับบาห์เรน
“เหล่านี้ ไม่ใช่แค่ไทย แต่นี่คือเรื่องที่เกี่ยวโยงทั้งภูมิภาค” ปิยนุชย้ำ

ร่างข้อเรียกร้องยื่นต่อ ‘รัฐ’ ไทย
หวังสิทธิก้าวหน้า หลังที่ผ่านมาขยับเพียงน้อยนิด

ผอ.แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย ยังบอกอีกว่า ปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้าในการทำงานด้านสิทธิของรัฐบาลไทยอยู่ แต่จากภาพรวมคร่าวๆ แอมเนสตี้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในประเด็นสิทธิ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่เรื้อรังมานาน ทั้ง ความขัดแย้งด้วยอาวุธ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยืนยันขอให้มีการสอบสวนอย่างยุติธรรม มีประสิทธิภาพ ไม่ลำเอียง และเป็นอิสระต่อการสังหารนอกระบบในกระบวนการทางกฎหมายทุกกรณี

รับรองว่ามีการควบคุมตัวตามสถานการณ์ต่างๆ คนเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงทนาย ญาติพี่น้อง และได้รับการรักษาที่เหมาะสม ขอให้หน่วยงานด้านสิทธิเป็นอิสระเข้าเยี่ยมการควบคุมในพื้นที่ได้

ส่วนเรื่อง การบังคับทรมานสูญหาย ขอให้ผลักดันร่วมกับองค์กรอื่นๆ ให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย โดยปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับพันธกรณีในไทย ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

พร้อมทั้ง ขอให้มีการดำเนินการสอบสวนอย่างอิสระรอบด้าน ต่อข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย นำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และจะดีมากหากมีการ ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลที่สูญหาย

“ปีนี้เป็นปีแห่งการปราบปราม ขอให้ยกเลิกคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ 3/558 และอยากให้ปฏิรูป โดยดูคำสั่งที่ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่สอดคล้องต่อพันธะกรณีในไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ

1.กฎหมายที่นำไปสู่การควบคุมตัวโดยพลการ 2.กฎหมายที่สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ความคิดเห็น การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ

ด้วยการประกัน ให้มีการชุมนุมโดยสงบ ไม่ลงโทษคนใช้สิทธิดังกล่าว ไม่ใช้การปราบปราม หากตระหนักถึงพันธกรณีโดยรัฐไม่คุกคาม จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนเรื่องสิทธิได้อย่างมาก

“อยากให้รัฐบาล ปกป้องและสนับสนุนการใช้สิทธิ ด้วยการสั่งการให้เจ้าหน้าที่หยุดดำเนินการทางอาญา หรือดำเนินการใดๆ เพื่อยุติการโจมตีจากฝ่ายต่างๆ เพื่อให้นักปกป้องสิทธิแสดงออกอย่างไม่ถูกคุกคาม” ปิยนุชกล่าวทิ้งท้าย

เหล่านี้คือข้อเรียกร้องเพื่อ “ความยุติธรรม” ท่ามกลางสายตานานาชาติ เป็นประจักษ์พยานว่า “แอมเนสตี้” ไม่ได้ต่อสู้โดยลำพัง แต่ยังมีคนจากทั่วโลกที่กำลังจับตาดูอยู่

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image