(อีกครั้ง) หลังเหตุระทึก มองรอบด้าน ในวันที่ ‘สื่อ’ คือ ‘จำเลย’

นับเป็นโศกนาฏกรรมที่ต้องจดจำไม่ลืมเลือน สำหรับเหตุกราดยิงโดยจ่าทหารที่เมืองโคราช ไม่เพียงก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากมาย นำมาซึ่งความตั้งใจของ ผบ.ทบ. ที่เอ่ยลั่น จ่อสังคายนากองทัพ ล้างบางธุรกิจสีเทา

ทว่า อีกหนึ่งปรากฏการณ์ถล่มทลายไม่แพ้วาทะ ‘วินาทีที่…’ ของ บิ๊กแดง ก็คือ วินาทีที่ ‘สื่อมวลชน’ ตกเป็นจำเลยจากการตั้งคำถามของสังคมในการเกาะติดสถานการณ์ รายงานข่าวสารความคืบหน้า ว่าหลายครั้งหลายครา เข้าข่าย ‘ล้ำเส้น’ หรือไม่ โดยเฉพาะการ ‘ไลฟ์’ ถ่ายทอดภาพและเสียงให้ชมสด ซึ่งอาจขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ จนสำนักข่าวบางแห่งต้องชี้แจงผ่านรายการสดเช่นกัน ว่าอยู่พิกัดที่ยืนยันว่าเป็นรอบนอก ไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นภาระ

ไหนจะประเด็นการบอกตำแหน่งผู้หลบซ่อน ที่ถูกกระหน่ำตำหนิอย่างรุนแรง ว่าเป็นการแจ้งโลเกชั่นให้คนร้าย ไปจนถึงคอมเมนต์ในโลกออนไลน์ที่อ้างว่าใครบ้างที่ต้องหมดลมหายใจเพราะสื่อชี้เป้าด้วยความกระหายอยาก ‘ขายข่าว’ จนตัวสั่น

สำนักข่าวโทรทัศน์บางแห่ง ออกถ้อยแถลงในขั้นตอนการทำงาน กระทั่งเพจดังอย่าง ‘อีจัน’ ที่เคยชี้แจงรายละเอียดยืนยันว่าเป็นไปตามหลักการ สุดท้ายต้อง ‘ถอย’ ด้วยการโพสต์ ‘สำนึกผิด’ พร้อมปิดเพจ 5 วันเพื่อเป็นการขออภัย ทว่า ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น นักข่าวในสังกัด สุดอัดอั้นโพสต์ระบาย ขอให้สังคมหยุดยัดเยียดคำว่า ‘ไร้จรรยาบรรณ’ ให้สื่อมวลชนแบบเหมารวม

Advertisement

นี่คือห้วงเวลาที่สื่อมวลชนซึ่งเคยเป็นฐานันดร 4 ถูกตราหน้าเป็นจำเลย เป็นปรากฏการณ์น่าสนใจที่ต้องทำความเข้าใจและเปิดใจรับฟังอย่างรอบด้าน

สด เรียล หรือ ‘เกินเหตุ’ เส้นแบ่งอยู่ไหน?

“เราไม่เคยเจอเหตุการณ์ใหญ่เช่นนี้มาก่อน เป็นสิ่งที่เหนือการคาดการณ์ ประกอบกับเทคโนโลยีที่เข้ามาเสริม รวมทั้งเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่ขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งเข้าไปในหลายแพลตฟอร์มมาก จึงทำให้เกิดปัญหา” คือความเห็นของ ผศ.ดร.ทัณฑกานต์ ดวงรัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ที่ปรึกษาสมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ต่อปมปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อนขยายความว่า ยุคนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสารที่กระจายด้วยเทคโนโลยี เมื่อเทคโนโลยีเข้ามา การทำงานข่าวสารจึงต้องแข่งกัน ทั้ง คน เทคโนโลยี เวลา รวมทั้ง แบ๊กอัพ หรือการรันธุรกิจสื่อ

ซึ่งสื่อในยุคปัจจุบัน เชื่อว่าธุรกิจรันได้ไม่ดี มียอดเปอร์เซ็นต์ของการขาดทุนกระจายอยู่ในสื่อค่อนข้างมาก ดังนั้น ทุกคนจึงต้องพยายามจะทำให้ธุรกิจของตัวเองดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ‘ประสบการณ์’ ยังสำคัญ

“คนที่จะทำงานในระดับที่มีความสำคัญกับประเทศ ประสบการณ์ยังมีความจำเป็นอยู่ หาคนที่มีประสบการณ์มาควบคุมดูแล

เราพึ่งพาโซเชียลมีเดียมากเกินไป พึ่งพานักข่าวที่ยังอ่อนอาวุโสมากเกินไปในสถานการณ์ที่รุนแรงขนาดนี้ เจ้าของธุรกิจสื่อ หรือกองบรรณาธิการ อาจจะต้องพิจารณาเรื่องนี้หนักหน่อย

ผมเห็นหลายสื่อส่งนักข่าวที่ใกล้ตัว ใกล้สถานที่ แต่อ่อนอาวุโส อ่อนประสบการณ์มากๆ เข้าไปในพื้นที่แล้วเปิดหน้าข่าว ซึ่งหลายสื่อก็ทำออกมาได้ไม่ค่อยดี

กอง บก.และเจ้าของธุรกิจ อาจจะต้องมีนโยบายเรื่องนี้ว่า หากมีกรณีที่จะส่งผลกระทบมากๆ อาจจะต้องลงทุน ยอมช้านิด แล้วเอาคนที่รู้สึกว่าจะสามารถจัดการที่หน้างานได้ ควบคุมสถานการณ์ได้ลงไป ไม่เอานักข่าวใหม่ หรือที่หยิบจับง่ายข้างมือมาใช้

ต้องยอมช้าลง แล้วเอาทรัพยากรที่รู้สึกว่าจะแบกรับสถานการณ์ได้เข้าไปหน้างานในกรณีแบบนี้”

สำหรับประเด็นจริยธรรมสื่อที่ถูกตั้งคำถามโดยมองว่าทำงานอย่างล้ำเส้น

ผศ.ดร.ทัณฑกานต์บอกว่า ด้วยปัจจัยจากการแข่งขัน ดังนั้น คำว่าเกินกว่าเหตุก็มีเกิดขึ้น ในขณะที่คำว่า ‘พอดีพอเหมาะ’ สำหรับนักข่าวบางคน อาจจะโดนกองบรรณาธิการบอกว่า ‘น้อยเกินไป’ ผู้ชมหรือคนรับสารก็บอกว่า ‘ทำงานได้ไม่ถึง’ ดังนั้น คำว่าเกินกว่าเหตุ ก็มีหลายเส้น ทั้งเส้นกั้น และเส้นสนับสนุน

“จากกรณีที่ผ่านมา ถือว่ามีเกินกว่าเหตุ แต่ถ้าเกินกว่าเหตุแล้วอยู่บนความระมัดระวัง ของตัวคนผลิต ก็ถือว่าเป็นบทเรียนที่น่าให้อภัย แต่ถ้าเกินกว่าเหตุชนิดที่ว่าไม่ได้ใช้สติสตางค์ พุ่งไปเหมือนม้า วิ่งชนดะไปโดยไม่ได้ระมัดระวัง ก็สมควรถูกตำหนิอย่างรุนแรง และอาจจะถึงขั้นที่ต้องมีบทลงโทษจากการไม่กลั่นกรองที่ดีพอ

ถ้าใช้ศัพท์ชาวบ้าน คือ พวกที่บ้าระห่ำเกินไป ก็เห็นด้วยที่จะต้องมีบทลงโทษ”

จริยธรรมจาก ‘ต้นน้ำ’ กสทช.แอ๊กชั่น ในวันที่สังคมรุกหนัก

อีกประเด็นสำคัญ หลังจากสื่อกลายเป็นข่าวเสียเอง คือการที่ล่าสุด กสทช.เตรียมร่างหลักเกณฑ์ปฏิบัติของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต พร้อมจ่อเรียก 3 ช่องชี้แจงการเสนอข่าว ‘กราดยิง’ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้

ผศ.ดร.ทัณฑกานต์เล่าว่า หากจะมองตั้งแต่ต้นน้ำ ในฐานะที่เคยเป็นอดีตคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มาตรฐานของสื่อในทุกสาขา จะมีการสอนเรื่องนี้สอดแทรกอยู่แล้ว แต่การสอดแทรกเข้าไปนั้น มีนักวิชาการที่มีองค์ความรู้ครบถ้วน และก็มีนักวิชาการที่มีเพียงประสบการ์ด้านวิชาการ ไม่มีประสบการณ์ด้านวิชาชีพ อย่างไรก็ตาม คนที่ทำงานในวงการสื่อนั้น คาดว่ามีเพียงประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ที่จบนิเทศศาสตร์โดยตรง ส่วนอีก 50-60 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้จบนิเทศฯ ดังนั้น คนที่ไม่ได้จบโดยตรง เมื่อมาทำอาชีพนี้ควรจะต้องศึกษาในหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่อมากขึ้น ในส่วนของการรับคน การปฐมนิเทศน์ หรืออบรมช่วงทดลองงานของสื่อ สถาบันสื่อไม่ควรนิ่งนอนใจว่า ‘เด็กพวกนี้รู้มาแล้ว’ ควรจะต้องมีส่วนนี้ใส่เข้าไปในช่วงทดลองงานด้วย

“หากทำตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยความร่วมมือกันทั้ง นักวิชาการและนักวิชาชีพ เข้าไปช่วยหล่อหลอมส่วนของจริยธรรมสื่อ ในการผลิตบัณฑิตสายสื่อสารมวลชน ก็น่าจะดีกว่านี้

จากประสบการณ์ เคยได้ตรวจดูหลายมหาวิทยาลัย ในส่วนของการสอดแทรกจริยธรรมของสื่อเข้าไปในวิชา บางผู้สอนก็อาจจะไม่ได้มีกรณีศึกษา หรือหลักสำหรับการเฉพาะหน้ารวมทั้งจริยธรรมเชิงลึกในสถานการณ์และการทำงานรูปแบบต่างๆ อาจจะยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งตอนนี้เราก็เห็นแล้วว่า จริยธรรม สำคัญแค่ไหน

ในส่วน ภาควิชาการ อาจต้องขอความร่วมมือจากภาควิชาชีพ ในการบูรณาการองค์ความรู้เข้าสู่กระบวนการเรียนการสอน”

สำหรับรัฐบาล กสทช.หรือองค์กรอื่นๆ ที่ดูแลเรื่องนี้ ผศ.ดร.ทัณฑกานต์มองว่า ควรจะเข้ามาให้ความรู้ เพราะมี ‘สื่อภาคประชาชน’ เกิดขึ้นค่อนข้างมาก จึงเป็นหน้าที่ในการผลิตชุดองค์ความรู้ส่วนของจรรยาบรรณ และจริยธรรมในยุคดิจิทัล ใส่เข้าไป” ผศ.ดร.ทัณฑกานต์กล่าว

ด่ากราด เหมารวม ร่วม ‘ถล่ม’
ประโยคสำเร็จรูป วนลูปจวก ‘สื่อ’

มาถึงความเห็นของสื่อมวลชนอาวุโส ที่เผยแพร่ข้อเขียนสะกิดสังคมอย่างฟังหลายต่อหลายครั้ง ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่ นิธินันทน์ ยอแสงรัตน์ มองปรากฏการณ์ถล่มสื่อแบบ ‘เหมาโหล’ ว่ามีอีกหลายประเด็นที่ควรต้องคิดและทำความเข้าใจร่วมกันในสังคมมากกว่าการ ‘ด่าไปเรื่อย’

“มีหลายอย่างที่สื่อไทยต้องปรับปรุงโดยด่วนจริงๆ และคนทำสื่อไทยหลายคนช้ามากเกินไปในการปรับปรุงคุณภาพตัวเองให้ได้มาตรฐานสากล แต่วิธีแก้ปัญหาไม่ใช่ให้ฝ่ายรัฐคุมเบ็ดเสร็จ เพราะจะไม่มีอะไรดีขึ้น เหมือนแก้ปัญหาประเทศด้วยการรัฐประหาร ส่วนคนที่ด่าสื่อแบบเวิ่นเว้อเว่อวัง ตั้งตัวเป็นคนดีมีศีลธรรม แล้วจิกหัวอาชีพสื่อเหมาโหล….แม้ดิฉันยืนยันไม่แก้ตัวแทนสื่อเพราะเห็นว่าเสียเวลา ไร้สาระ ก็ขอบอกตรงๆ ว่าบางทีฟังแล้วรู้สึกเลอะเทอะมาก…

อนึ่ง เมื่อเกิดวิกฤต เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐที่รับผิดชอบต้องจัดทีมข่าวชี้แจงให้ประชาชนรับทราบเป็นระยะๆ ด้วย แต่จะว่าไป ทุกฝ่ายก็มือใหม่กับสถานการณ์แบบนี้ด้วยกันทั้งหมด” คือข้อความผ่านแป้นพิมพ์ของนิธินันทน์ที่ชวนให้นั่งตรึกตรองกันทุกฝ่าย

สิ่งที่น่าหันมาส่องสปอตไลต์อย่างจริงจัง หลังสื่อถูกถล่มซ้ำๆ ด้วยประโยคเดิมๆ แบบฉีกซองสำเร็จรูป จำพวก ‘จรรยาบรรณอยู่ไหน?’ ‘สื่อกระหายขายข่าว’ และอีกมากมายที่มีความหมายไม่ต่างไปจากนี้ กระทั่งนำไปสู่ประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าชักจะน่ากังวล นั่นคือการดูแลสื่อโดยภาครัฐ ซึ่งก่อให้เกิดความหวั่นใจว่าจะเป็นการควบคุมแบบ ‘เบ็ดเสร็จ’ หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่การเมืองไทยร้อนแรงภายใต้รัฐบาลที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คือ คสช.เวอร์ชั่น 2

ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เจาะปมคอร์รัปชั่น จะถูกควบคุมไปจนถึงฟาดฟันปักป้ายว่าเป็น ‘เฟคนิวส์’ หรือไม่ หากเป็นแนว ‘ลบ’ กับรัฐบาล ชวนให้ได้อารมณ์ย้อนยุคสู่ครั้งทหารคุมช่องทางการสื่อสาร ถูกมองว่าล้ำเส้นเมื่อใด เตรียมใจรับสถานการณ์ที่ไม่อยากเจอ แล้วสังคมจะได้รับรู้ความจริงได้อย่างไร

สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ และออนไลน์ ที่ไม่สังกัด กสทช. ไม่มี ‘ไลฟ์’ ให้คนด่า แต่ก็สามารถถูกสังคมร่วมวิพากษ์ได้หากกระทำไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทที่ผู้ได้รับผลกระทบจะนำมาเรียกร้องความเป็นธรรมได้ ยังไม่นับการสังกัดสมาคมสื่อ-องค์กรวิชาชีพที่โดยปกติก็สอดส่ายสายตาดูแลส่งสัญญาณแจ้งเตือนกันเองอยู่แล้ว

(Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

ด้านนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ยุคนี้ ก็ร่วมเป็นหูเป็นตา ส่งข้อท้วงติงสื่ออย่างฉับไวเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤต ดังเช่น รศ.ดร.พนม คลี่ฉายา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้ทันสื่อ (DIRU) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนำเสนอหลักคิดเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ประชาชน และบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัล จากเหตุการณ์การกราดยิงที่โคราช

โดยมองว่า เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบ 3 ส่วนที่ต้องมีและต้องแสดงบทบาทสำคัญเพื่อสร้างสังคมแห่งความรอบรู้ทางดิจิทัลและรู้เท่าทัน ดังนี้

1.สื่อ ทั้งสื่อกระแสหลักและออนไลน์ ต้องทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ ตรวจสอบข้อเท็จจริง มีจริยธรรมกำกับวิธีการและเนื้อหาการรายงานข่าวที่จะไม่ทำให้เหตุการณ์ยิ่งยุ่งยากเลวร้ายลง ไม่ทำร้ายประชาชน ระมัดระวังมิให้การรายงานข่าวส่งผลกระทบให้สังคมมีปัญหาในวันข้างหน้า และต้องเป็นที่พึ่งพิงด้านข้อมูลข่าวสารที่ให้คำแนะนำแก่ประชาชนเพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลตนเอง

2.ประชาชน ต้องนำความรอบรู้ ทักษะ และความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลของตนเองมาใช้อย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์ทั้งตนเอง คนรอบข้าง และคนอื่นในสังคมเครือข่าย “ไม่ส่งต่อข่าวทันทีได้รับ” และ “ไม่โพสต์เนื้อหาของตนเองขึ้นมาใหม่” ไม่นำความอยากรู้อยากเห็น อคติ หรือแม้แต่ความหวังดีมาเป็นสิ่งเร้าให้ส่งต่อข่าวสาร สร้างเนื้อหาที่อาจจะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลง วุ่นวายสับสน เป็นอันตรายต่อคนอื่นได้

“ตั้งคำถามต่อข่าวสาร” ถึงความถูกต้อง น่าเชื่อถือ และผลกระทบของข่าวสาร ด้วยการติดตามข่าวจากหลายสำนัก หลายแพลตฟอร์ม ซึ่งจะช่วย “ตรวจสอบ” ความถูกต้องและเตือนใจว่า ข่าวนั้นอาจจะยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ เพราะเหตุการณ์กำลังดำเนินไปเรื่อยๆ และผู้รายงานข่าวต่างรายงานบนมุมมองของแต่ละคน

3.เทคโนโลยีดิจิทัล ที่ต้องได้รับการพัฒนาให้เป็น “เครื่องมือ” ที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของสื่อให้ทำงานอย่างมืออาชีพ มีจริยธรรม และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้

รศ.ดร.พนมมองว่า ทั้ง 3 ส่วนผสานร่วมกันจะสามารถสร้างพลังที่จะผลักดันให้เกิดสังคมแห่งความรอบรู้ทางดิจิทัลและรู้เท่าทัน ที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลปัจจุบันและวันข้างหน้า

นี่คือส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่ต้องเจาะเกาะติดกันต่อไปในวันที่สื่อตกเป็นข่าว กลายเป็นจำเลยในโลกออนไลน์ นั่งเก้าอี้ตัวประกันในเส้นแบ่งจรรยาบรรณที่สังคมจ้องมองอย่างไม่วางตา

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image