2 ทศวรรษ โครงการ ‘ซีส์’ สร้างคนคุณภาพ เปิดพรมแดนความรู้ เพราะ ‘อุษาคเนย์’ ต้อง ‘มูฟออน’

นิทรรศการภาพถ่ายนักศึกษา 20 รุ่น ตั้งชื่อตามเหตุการณ์สำคัญในปีนั้น เช่น รุ่นไม่ได้ขึ้นเขาพระวิหาร

จบลงไปอย่างงดงาม สำหรับงานครบรอบ 20 ปี โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา หรือ “ซีส์” (SEAS) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ไม่ใช่การจัดปาร์ตี้มหรสพสมโภชโดยทั่วไป หากแต่เป็นอีเวนต์วิชาการที่เนื้อหาสาระแน่นมาก ตั้งแต่ศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก-อาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

“ขอแสดงความยินดีที่โครงการก่อตั้งขึ้นครบรอบ 20 ปี เชื่อมั่นว่าที่ผ่านมาได้ผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจอันดีในด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนพื้นฐานของนโยบายความเป็นเพื่อนบ้านและมิตรที่ดีต่อกัน บัณฑิตเหล่านี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ เสริมสร้างความร่วมมือของชาติต่างๆ ในภูมิภาค”

คือคำกล่าวของ ฯพณฯ อูก ซอร์พวน เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย จากปาฐกถาพิเศษ วาระครบรอบ 20 ปี โครงการซีส์ อันประจวบเหมาะกับการครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชาและประเทศไทย

ไม่เพียงเท่านั้น ท่านทูตยังเล่าถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางการทูตกัมพูชา-ไทย ซึ่งเริ่มต้นใน พ.ศ.2493 และเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจยิ่ง อย่างสถิติความยากจนของกัมพูชาที่ลดลง 53% จากปี 2557 เหลือ 10% ในปี 2561 มีพันธสัญญายกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนจากผู้มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ ให้เป็นผู้มีรายได้ปานกลางระดับสูง ในปี 2573 และมีรายได้สูงในปี 2593

Advertisement
เปิดงานฉลอง 20 ปี โครงการ ‘ซีส์’ 14-16 กุมภาพันธ์
ฯพณฯ อูก ซอร์พวน เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ

“ไทยส่งออกพลังงาน เครื่องจักร ยานพาหนะ อุปกรณ์ก่อสร้าง สินค้าอุตสาหกรรม และเครื่องอุปโภคบริโภคไปยังกัมพูชา ส่วนกัมพูชาส่งผลผลิตการเกษตรมายังไทย เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง แป้งมันสำปะหลัง

ปัจจุบันมีบริษัทไทยกว่า 1,000 บริษัทจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา นักท่องเที่ยวไทยมีจำนวนมากเป็นอันดับ 3 คือ 400,000 คน ในปี 2561 และ 500,000 คนในปี 2562″ ฯพณฯ อูก ซอร์พวน กล่าว และขอบคุณประเทศไทนที่อำนวยความสะดวกแก่แรงงานกัมพูชา จำนวน 1.2 ล้านคน ที่มาทำงานไทย

งานนี้ยังมีผู้แทนจากสถานทูตต่างๆ เข้าร่วม อาทิ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย พร้อมการแสดงตระการตาและการออกร้านจำหน่ายสินค้าที่ไม่ใช่เพียงวัตถุ หากแต่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้

Advertisement
ระบำม้าจากอินโดนีเซีย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มธ. ผู้ก่อตั้งโครงการซีส์ เมื่อ พ.ศ.2542 เล่าว่า นับแต่ก่อตั้งมา 20 ปี มีบัณฑิตจบการศึกษาแล้วราว 1,500 คน ยอมรับว่า ไม่คาดว่าโครงการจะอยู่มาได้ถึง 20 ปี เพราะเมื่อเริ่มก่อตั้ง ในวงการศึกษาในตอนนั้นยังไม่เชื่อว่า “อาณาบริเวณศึกษา” จะได้รับความนิยมจนสามารถดึงคนมาเรียนได้ ทั้งที่เก็บค่าหน่วยกิตแพงกว่าปกติ เนื่องจากโครงการต้องเลี้ยงตัวเอง ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน

อีกประเด็นน่าสนใจ ที่อดีตอธิการรั้วแม่โดมนำเสนออย่างน่าฟัง คือการสนับสนุนให้ผลักดันการพัฒนา “สามเหลี่ยมมรกต” ตามแนวเขาพนมดงรัก ซึ่งมีปราสาทหินมากมายเป็นหลักฐานอารยธรรมที่มีร่วมกันทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา

“ผมอยากให้นึกถึงการเปิดพรมแดนให้ง่ายแบบยุโรป เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจแถบนี้ดีขึ้น ควรสนับสนุนความสัมพันธ์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 3 ประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ให้มากขึ้น ถ้ารัฐบาลผลักดันอาเซียน ลุ่มน้ำโขง สามเหลี่ยมมรกต จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก พรมแดนควรเปิด สนับสนุนความสัมพันธ์ระดับประชาชนกับประชาชนให้มากขึ้น ไม่ใช่ระดับรัฐต่อรัฐ หรือรัฐมนตรีกับทูตเท่านั้น” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าว

อุษาคเนย์ On The Move พิมพ์เรื่องในวาระ 20 ปี โครงการ ‘ซีส์’

ในงานฉลอง 20 ปี ยังมีการเปิดตัวหนังสือชื่อเท่ “อุษาคเนย์ ออน เดอะ มูฟ” พร้อมเสวนาหัวข้อ “เมื่อผู้คน-พื้นที่-วัฒนธรรมข้ามพรมแดน” ซึ่ง ผศ.ดร.พิเชฐ สายพันธ์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ชื่นชมว่าบทความ 20 ชิ้นในหนังสือ ล้วนเป็นงานที่ลึกซึ้ง ไม่ผิวเผิน และให้คุณูปการมาก โดยคำว่า “ออนเดอะมูฟ” สำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาที่ว่าด้วยการเคลื่อนย้าย

“ก่อนหน้าโลกาภิวัตน์ แม้มีการเคลื่อนย้าย แต่ไม่อลหม่าน ถึงเราจะ “ออนเดอะมูฟ” มานานแล้ว แต่ไม่โกลาหลเท่ากับเมื่อเกิดโลกาภิวัตน์ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือจะทำความเข้าใจกับมันอย่างไร การย้ายข้ามพื้นที่ซึ่งถูกกำหนดโดยเขตแดนของรัฐ การลี้ภัยทางการเมืองในช่วงสงครามเย็น และสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีคนย้ายข้ามรัฐนั้น มีคนศึกษาจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ถ้าศึกษาโดยยึดติดพื้นที่ จะมองไม่เห็นถึงการเคลื่อนย้ายโดยมีการปรับตัวทางวัฒนธรรม การศึกษาข้ามพรมแดน มีมิติมากมาย เมื่อมีการเคลื่อนย้าย สิ่งที่ตามมาด้วยคือวัฒนธรรม มีการเปลี่ยนพรมแดนทางวัฒนธรรมของตัวเองเพื่อเชื่อมโยงกับสังคมใหม่ที่ตัวเองเกี่ยวข้อง ดังนั้น พรมแดน ไม่ใช่แค่พื้นที่ แต่มีพรมแดนทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย

การเคลื่อนย้ายทำให้พบสิ่งใหม่ตลอดเวลา คนย้ายเพราะมีความหวัง อะไรที่ยังออนเดอะมูฟก็เพราะมีความหวัง ไม่นิ่ง ไม่หยุด ไม่ตาย ผู้คน สังคม วัฒนธรรม ต้องมีมูฟ ดังนั้น เรามามูฟออนกันเถอะ” ผศ.ดร.พิเชฐกล่าวประโยคปิดท้ายเก๋ไก๋ไม่หลุดธีม

อีกหนึ่งวงเสนาที่ฮอตมาก มาในหัวข้อ “2020 : คลื่นลูกใหม่กับกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกและอุษาคเนย์” ซึ่ง “ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช” อาจารย์ประจำโครงการซีส์ ฟันธงบนเวทีว่า อุษาคเนย์ในช่วงเวลานี้คือยุคทองของระบอบ “ไฮบริด” หรือระบอบทางการเมืองแบบลูกผสม กรณีของประเทศไทยเองก็กำลังเคลื่อนเข้าสู่ระบอบลูกผสมเช่นกัน

“เรากำลังเข้าสู่ยุคเรืองรองของระบอบไฮบริด หรือลูกผสม คือคุณลักษณะของระบอบประชาธิปไตยกับเผด็จการมาเจือปนกัน ระบอบลูกผสมนี้ ในรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมักเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น ในขณะที่รัฐซึ่งประชาธิปไตยถดถอย กลับคืนสู่เผด็จการ ดังนั้น มันมีพลวัต ไม่นิ่ง เพราะ 2 คุณลักษณะนี้ตีโต้กัน แต่บางจังหวะก็ผสานกันได้ รัฐที่อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจะเจอรูปแบบนี้หมด แต่มีไฮบริดบางประเภทที่เสถียรสุดสุด อย่างกรณีสิงคโปร์ หลายสิบปีมาแล้วที่มีสถาบันแบบประชาธิปไตย แต่พรรคกิจประชาชน (People”s Action Party-PAP) ชนะเลือกตั้งทุกครั้ง”

ในช่วงท้าย ผศ.ดร.ดุลยภาคปิดท้ายชวนท้อแท้ แต่อาจต้องยอมรับความจริงว่า

สิ่งที่เราจะไม่ได้เห็นในชีวิตนี้สำหรับประเทศไทย คือ “การมีประชาธิปไตยเต็มใบ”

เฉียบขาด คมคาย สไตล์ดุลยภาค

ด้าน “รศ.ดร.พิภพ อุดร” อดีตคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มธ. ก็เรียกเสียงฮือฮาจากข้อมูลที่ต้องตั้งใจฟัง ว่าคลื่นที่สำคัญในยุคปัจจุบัน ได้แก่ 1.คลื่นการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ของโลกซึ่งในขณะนี้เป็นคลื่นใหญ่มาก กระทบแทบทุกประเทศทั่วโลก 2.คลื่นเทคโนโลยี ซึ่งมีอัตราการก้าวกระโดดที่เปลี่ยนทุกอย่างในชีวิตของเรา หากพิจารณาโครงสร้างประชากรของโลก ที่เราเรียกว่า “พีระมิดประชากร” ซึ่งมีฐานกว้าง คนอายุน้อย ไล่ซ้อนขึ้นไปถึงคนอายุมาก ย้อนไปเมื่อ ค.ศ.1960 ช่วงปลาย “เบบี้บูมเมอร์” ที่เริ่มตั้งแต่ราวปี 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เทียบกับปี 1990 หรือ 30 ปีต่อมา จะพบว่าฐานเริ่มแคบลง ปัจจุบันทรงเปลี่ยนกลายเป็นเจดีย์ทรง “พุ่มข้าวบิณฑ์” สะท้อนว่ามีการเกิดน้อย และการตายน้อยยิ่งกว่า คนอายุยืนขึ้น ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย

“นี่คือเรื่องใหญ่ที่กระทบโลก เพราะเมื่ออัตราการเกิดน้อย ตายน้อยยิ่งกว่าฐานข้างบนซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงวัยกว้างขึ้นเรื่อยๆ ฐานข้างล่างคือผู้ที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ตรงกลางที่ต้องดูแลทั้งข้างบนและข้างล่างรับภาระมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังแรงงานจะไม่เพียงพอ ในไทย ฐานแคบลงเรื่อยๆ อีก 10 ปีข้างหน้าคือ ค.ศ.2030 อัตราส่วนของคนอายุเกิน 65 จะเกิน 20% หากแตะ 30% เรียกว่า Super aged society หรือสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ญี่ปุ่นตัวเลขไปถึง 40% ไทยใลก 30% ที่ตามมาคือเกาหลี และเยอรมัน”

ย้อนกลับเข้ามาในอาเซียน รศ.ดร.พิภพบอกว่า ประเทศที่มีหนุ่มสาวมากที่สุดคือลาวและฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่น่าห่วงที่สุดคือสิงคโปร์ ที่กลายเป็นพีระมิดคว่ำ ส่วนมาเลเซีย เมียนมา อินโดนีเซีย กลายเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ บรูไน ก็เริ่มมีปัญหา นี่คือประเด็นใหญ่ที่จะกระทบหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกำลังแรงงานที่จะส่งไปสร้างเศรษฐกิจของประเทศ การวางแผนที่จะเข้าสู่วัยแรงงาน รวมถึงการดูแลผู้สูงวัย

“เอาเข้าจริง อายุ 60 ในปัจจุบัน ที่เรากำหนดให้เกษียณอายุถือว่ายังไม่แก่ ขณะนี้มีงานวิจัยที่น่าสนใจของลอนดอน บิซิเนส สคูล ระบุว่า ถัวเฉลี่ยคนจะอายุแตะ 100 ปีแน่ๆ ในขณะที่คิดว่า 100 ปีมันยาวนาน แต่ญี่ปุ่น เยอรมัน และอเมริกา แตะไปถึง 120 ปี ไทยก็แตะ 100 ปีแน่ๆ หากตอนนี้ใครอายุ 50 และยังแข็งแรง ท่านจะไปแตะ 90 แน่ ประเด็นคือ เราเรียนหนังสือจบตอนอายุประมาณ 20 อายุ 60 เกษียณ แต่ถ้าอายุขัยแตะ 100 ปีอย่างงานวิจัย อีก 40 ปีที่เหลือจะทำอะไร ดังนั้น การศึกษาต้องเปลี่ยน ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา” รศ.ดร.พิภพกล่าว และปิดท้ายว่า อย่างไรก็ตาม พบว่าคนอายุ 60-65 มักตั้งใจทำธุรกิจส่วนตัว เกิด “ซีเนียร์ สตาร์ตอัพ” และด้วยประสบการณ์ที่มาก ทำให้ล้มเหลวน้อยกว่าคนอายุน้อย

อีกหนึ่งไฮไลต์คือ งาน “ราตรีอุษาคเนย์” ณ ลานปรีดี ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน คณาจารย์ และบุคคลสำคัญในแวดวงประวัติศาสตร์

อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน มอบทุนสนับสนุนโดยมี ผศ.ดร.ภาสพงศ์ ศรีพิจารณ์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มธ. และ ดร.ต่อพงศ์ แจ่มทวี ผอ.โครงการซีส์ รับมอบ
หนังใหญ่ล้อการเมือง ‘พิเภก’ ลี้ภัย เหตุ ‘ชังชาติ’

จากนั้นเป็นพิธีมอบทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ หนึ่งในนั้น คือ “มติชน” ซึ่ง อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน ขึ้นมอบทุน โดยมี ผศ.ดร.ภาสพงศ์ ศรีพิจารณ์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มธ. และ ดร.ต่อพงศ์ แจ่มทวี ผอ.โครงการซีส์ รับมอบ

อีกหนึ่งสีสันที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ “หนังใหญ่ล้อการเมือง” โดยกลุ่มนักศึกษาโครงการซีส์ นำโดย จงเจริญ ส้มเกิด, จริยาพร ใคร่ครวญ และปาลิตา จารึกเรียบ เล่าถึงเรื่องราวของท้าวทศกัณฐ์ ผู้ครองกรุงลงกา ที่ได้รับทราบเรื่องราวความเดือดร้อนของประชากรยักษ์ในด้านต่างๆ มากมาย ทั้งฝุ่นผงฝุ่นพิษที่ลอยละล่องทั่วกรุง, ความไม่โปร่งใสในการบริหารงานบ้านเมือง, การฟ้องร้องและตัดสินคดีความที่ถูกตั้งคำถามจากเหล่ายักษ์น้อยใหญ่ เป็นต้น โดย “พิเภก” ได้รายงานท้าวทศกัณฐ์ตามความเป็นจริง พร้อมแนะให้เร่งแก้ปัญหา แต่ทศกัณฐ์กลับโกรธกริ้วหาว่าพิเภกเป็นยักษ์ชังชาติ สุดท้ายจึงต้องลี้ภัยไปยัง “อโยธยาศรีรามเทพนคร” ของพระราม

จิ๊งหน่อง จำลองจากผลงานศิลปินระดับชาติ ‘เขียน ยิ้มศิริ’ ที่ระลึกงานฉลอง 20 ปี

เป็นมหรสพแสบๆ คันๆ ที่ดูมันส์อย่างยิ่ง เช่นเดียวกับเสวนาในวันสุดท้าย ในประเด็น “ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย และความเป็นไทย/อุษาคเนย์” วงพูดคุยแสนอร่อยด้วยข้อมูลประวัติศาสตร์ชวนฟัง ไม่ต่างจากการฉายหนังอาเซียนโดยกลุ่ม “ฟิล์มกาวัน” 3 เรื่อง 3 รส ไทย เวียดนาม กัมพูชา พร้อมเสวนารสนัวตลอด 3 วัน

“เป็นงานฉลองที่เข้มข้น เปี่ยมสีสัน ในวันที่เดินทางมาครบ 20 ปีอย่างภาคภูมิ”

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image