ต้าน ‘แล้ง’ ไปด้วยกัน น้ำจืดขาด น้ำเค็มรุก อย่าทำแค่ ‘ตั้งรับ’ ปลุกนวัตกรรมสู้วิกฤต

ทุบสติถิ 40 ปีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ ‘ภัยแล้ง’

กลายเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลประกาศเร่งแก้ไขในทุกภาคส่วน

ระดม 6 หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม รับมือวิกฤตน้ำปี 2563 ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมอุตุนิยมวิทยา การประปานครหลวง

รายงานสถานการณ์ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศในขณะนั้น ระบุว่ามีอยู่ร้อยละ 60 รวม 49,591 ล้านลูกบาศก์เมตร

Advertisement

แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การร้อยละ 43 โดยเป็นแหล่งน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย 14 แห่ง ได้แก่

เขื่อนแม่กวง ภูมิพล สิริกิติ์ แม่มอก ทับเสลา กระเสียว จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำพระเพลิง ลำแชะ ลำนางรอง ป่าสักฯ คลองสียัด และหนองปลาไหล

สถานการณ์แม่น้ำสายหลัก ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยถึงปกติ

Advertisement

ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่มีการพูดถึงในที่ประชุม คือ ปัญหา ‘ความเค็ม’ ของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เลื่อนลงไปในแผนที่ภาคใต้ของไทยในช่วงเวลานี้ ก็เกิดปัญหา ‘น้ำเค็มรุกเรื้อรัง’ ในลุ่มทะเลสาปสงขลา น้ำจืดขาดแคลนจนต้องเร่งแก้ปัญหา โดยเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีค่าความเค็มสูงถึง 8 กรัมต่อลิตร

ครั้นขยับขึ้นมาทางภาคตะวันออก ก็เปิดปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ‘อีอีซี’ อันมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการขยายตัวของเมือง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม อย่างมากและรวดเร็ว

งานครั้งนี้ ไม่ง่าย แต่หลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและสถาบันการศึกษา ล้วนทุ่มเทร่วมหาหนทางแก้ไขอย่างสุดกำลัง

น้ำเค็มรุกหนัก! ปัดฝุ่น ‘คันกั้นน้ำ’ ทะเลสาบสงขลา

น้ำเค็มรุกน้ำจืด ไม่ใช่ปัญหาใหม่ในสงขลา หากแต่เป็นปมเรื้อรังมานาน โดยล่าสุด ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบ คาบสมุทรสทิงพระได้ยื่นหนังสือร้องขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกน้ำจืด และปัญหาน้ำจืดไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ข้อเสนอสร้างประตูกั้นน้ำเค็มที่เรื้อรังมากว่า 40 ปี ถูกยกมาอีกครั้ง หลังจากเดิมที่เคยมีข้อโต้แย้งเพราะกังวลว่าอาจกระทบสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด ประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน ได้ลงพื้นที่พร้อม นราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับข้อเสนอพิจารณาดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นน้ำเค็มทะเลสาบสงขลา ช่วยเหลือพื้นที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โดยในการหารือ ได้ชี้แจงถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 40 ปีทั้งเชิงอนุรักษ์และเชิงการพัฒนา โดยเฉพาะโครงการทำแนวคันกั้นน้ำเค็มนั้น ที่ผ่านมากรมชลฯได้มีการศึกษาความเหมาะสมร่วมกับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไว้ตั้งแต่ปี 2514 หาแนวที่เหมาะสม แต่ขณะนั้นคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาไม่เห็นด้วย จนต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิกโครงการปี 2549 และให้พิจารณาหาทางเลือกอื่นร่วมทั้งการปรับเปลี่ยนอาชีพหรือการส่งเสริมการเกษตรใช้น้ำน้อยกับเกษตรกรในพื้นที่

“กรมชลฯได้รับข้อสั่งการของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ลงพื้นที่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ให้เร่งแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนเพื่อใช้เก็บน้ำในฤดูฝนที่จะถึงโดยการเพิ่มศักยภาพเก็บน้ำจืดในพื้นที่ที่สามารถทำได้ทันที โดยกรมชลฯมีแผนขุดลอกคลองในพื้นที่ชลประทานอยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 และแผนงานเพิ่มเติมปี 2563 จำนวน 61 สายคลอง สามารถรองรับน้ำและเก็บน้ำได้อีกประมาณ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สำหรับระยะกลางจะสำรวจออกแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ ขยายคลองให้กว้างขึ้น รวมทั้งแก้มลิง ตระพัง นอกเขตพื้นที่ชลประทาน คาดว่าจะมีน้ำจากแหล่งเหล่านี้เพิ่มอีกประมาณ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากจำเป็นต้องซื้อที่ดินก็ให้ดำเนินการได้ตามที่ รมว.เกษตรฯได้มีบัญชาไว้ ส่วนในระยะยาวจะมีการสำรวจแหล่งน้ำเพิ่มและระบบควบคุมน้ำเชื่อมแหล่งน้ำในทะเลสาบ แต่กรณีข้อเสนอใหม่ทำประตูกั้นน้ำเค็มเป็นเรื่องที่ต้องหารือกับฝ่ายนโยบายและประชาชน โดยจะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดจนประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการก่อสร้างอย่างรอบด้านและครอบคลุมในทุกมิติต่อไป” รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทานกล่าว

3 ปี กระทบ 5 แสนไร่ เศรษฐกิจเสียหายกว่าหมื่นล้าน!

หันมาดูข้อมูลจากภาคประชาชน ถาวร แซ่อิ้ว กรรมการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาด้านเกษตรกรรม เล่าว่า ประชาชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลากว่า 300 คนได้ยื่นหนังสือต่อ รมว.เกษตรฯ เพื่อให้มีการศึกษาการทำคันกั้นน้ำเค็มขึ้นมาพิจารณาใหม่ หลังจากเคยยุติไป เพราะชาวบ้านเริ่มเจอน้ำเค็มรุกซ้ำซาก กระทบวิถีชีวิตและเศรษฐกิจมากขึ้นทุกที

“ปัจจุบันคนในพื้นที่เห็นแล้วว่าเกิดปัญหาน้ำเค็มรุกจริงโดยเฉพาะใน 3 ปีที่ผ่านมากระทบต่อประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ร่วมกว่า 5 แสนไร่ เสียหายต่อเศรษฐกิจปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพราะน้ำเค็มรุกถึงทะเลน้อย ถึงพรุควนเคร็ง กระทบพื้นที่เกษตร นาข้าวในระโนด ความเค็มเมื่อ 14 ก.พ.63 สูงถึง 8 กรัมต่อลิตร เครือข่ายจึงอยากให้รัฐมองเห็นความทุกข์กับการเจอน้ำเค็มในระดับนี้จึงได้ยื่นหนังสือต่อภาครัฐ” ถาวรเล่า

ย้อนกลับไปดูการศึกษา โครงการคันกั้นน้ำเค็มทะเลสาบสงขลา เมื่อหลายสิบปีก่อน มีการเสนอไว้ 3 แห่ง คือ SiteA เกาะใหญ่-แหลมจองถนน SiteB เกาะโคป-ปากพะยูน SiteC ปากรอ ต่อมาในปี 2527 ถึงปี 2548 ได้มีการศึกษาถึง ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากโครงการมาโดยตลอด ผลการศึกษาและสำรวจ พบว่า โครงการก่อสร้างคันกั้นน้ำเค็มบริเวณ SiteA มีความเหมาะสมที่สุดรองลงมาคือ SiteC

ต่อมาในปี 2553-2555 กรมชลฯดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในด้านต่างๆ และได้เสนอโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย และปัญหาขาดแคลนน้ำ พร้อมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ ปัจจุบันโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ คืบหน้าแล้ว 60% เป็นโครงการที่ต้องติดตามต่อไป

‘อีอีซี’ ขาดน้ำ ดันนวัตกรรม ‘รีไซเคิล’ สู้!

ไม่เพียงหน่วยงานภาครัฐ ทว่านักวิชาการก็ร่วมกันค้นคว้านวัตกรรมสู้วิกฤตขาดแคลนน้ำ ท่ามกลางการขยายตัวของชุมชน โดยมองว่าภัยแล้งไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จะแก้ได้ด้วยการตั้งรับปัญหาเฉพาะหน้า แต่ต้องสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกคนปรับตัวปรับพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ร่วมด้วยการหาแนวทางที่เหมาะสมในการเพิ่มปริมาณน้ำให้เพียงพอต่อความจำเป็นที่ต้องใช้ในพื้นที่ต่างๆ เร่งทำการศึกษาแนวทางการนำน้ำใช้แล้วหรือน้ำเสียที่ผ่านมาบำบัดกลับมาใช้ใหม่โดยการรีไซเคิลน้ำให้มีคุณภาพดีเหมาะสมกับกิจกรรมที่จะนำไปใช้ โดยนำร่องศึกษาในพื้นที่อีอีซี ทางภาคตะวันออกของไทย ซึ่งมีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ คาดว่าผลการศึกษานี้จะช่วยสร้างรูปธรรมและเป็นแนวทางเพิ่มเติมสำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อื่นๆ ได้

รศ.ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมการบำบัดของเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมืองโดยการใช้น้ำเสียที่บำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่อีอีซี ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า ปัญหาน้ำขาดแคลนในพื้นที่อีอีซี ส่วนใหญ่มาจากสาเหตุ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการขยายตัวของเมือง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม อย่างมากและรวดเร็ว ปัญหาน้ำขาดแคลน มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำสำหรับชุมชน จากภาวะแล้ง ผลกระทบของโลกร้อนต่อแหล่งน้ำ คุณภาพน้ำมีการปนเปื้อน ไม่ถูกสุขอนามัย และมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมต่อการบริโภคและอุปโภค เกิดสงครามแย่งน้ำจากภาคชุมชน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การประปาและชลประทาน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ

ชวลิต รัตนธรรมสกุล

“พื้นที่ EEC ครอบคลุมจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีทั้งภาคชุมชน เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม และคาดการณ์ว่าในอนาคตเมื่อการพัฒนาพื้นที่ EEC สมบูรณ์แบบตามแผนงานของรัฐบาล จะขาดแคลนน้ำไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี การศึกษานี้จึงหาแนวทางที่จะเพิ่มปริมาณน้ำให้เพียงพอต่อการความต้องการใช้ทั้งภาคชุมชน เกษตร และอุตสาหกรรม

จากการรวบรวมข้อมูล การหาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่ EEC ชัดเจนว่า การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทำได้ยากขึ้นเพราะมีผลกระทบกับชุมชนและชุมชนมักไม่เห็นด้วย อีกทั้งแม้มีอ่างเก็บน้ำแต่ในภาวะแล้งที่ยาวนานก็ทำให้เก็บน้ำได้ไม่เพียงพอกับความต้องการอยู่ดี จึงต้องหาทางเลือกแหล่งน้ำต้นทุนอื่นๆ ด้วย อาทิ การนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืด ซึ่งทำได้แต่มีต้นทุนสูงและราคาแพง

ดังนั้นเมื่อพิจารณาแหล่งน้ำต้นทุนอื่นๆ ที่เป็นไปได้คือ ‘น้ำเสียที่บำบัดแล้ว’ ซึ่งมีความเป็นไปได้และราคาถูกลงมาก โดยในพื้นที่อีอีซีมีน้ำเสียปริมาณมาก ที่มาจากน้ำเสียชุมชน คือ น้ำเสียจากระบบบำบัดของชุมชน อีกส่วนจากน้ำเสียจากสถานประกอบการ สถานบริการ และอุตสาหกรรม” รศ.ดร.ชวลิตระบุ

20 ปีนับจากนี้ เปิดข้อมูลน้ำเสีย เจาะแนวทาง ‘อนาคต’

ประเด็นเรื่องปริมาณน้ำเสีย ยังมีข้อมูลจากการคาดการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง กล่าวคือ น้ำเสียที่เกิดขึ้นภายใน 20 ปีข้างหน้าในพื้นที่ อีอีซี 3 จังหวัด รวมทั้งข้อมูลศักยภาพของการบำบัดน้ำเสียโดยระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนที่ออกแบบไว้สูงสุด พบว่าถ้ายังไม่มีการเติบโตแบบอีอีซี จะมีน้ำเสียชุมชนโดยประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่เมื่อมีอีอีซี สมบูรณ์แบบซึ่งมีการเติบโตของเมืองอย่างเต็มรูปแบบ คาดการณ์ว่าจะมีน้ำเสียชุมชนเพิ่มขึ้นมากกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เมื่อรวมกับน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม จะทำให้มีปริมาณน้ำเสียรวมมากกว่า 900 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จึงมีน้ำเสียปริมาณมากเป็นต้นทุนน้ำเสียจึงมีศักยภาพจะเอามาใช้ประโยชน์ชดเชยความต้องการใช้น้ำของพื้นที่ได้ ในปัจจุบันระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนที่มีปริมาณน้ำเสียเข้าสู่ระบบมากกว่า 75% ของความสามารถในการรองรับน้ำเสียในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ ระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา (ซอยวัดหนองใหญ่) และระบบบำบัดน้ำเสียเทศบาลเมืองแสนสุข (แสนสุขใต้) จังหวัดชลบุรี

น้ำเสียก่อนและหลังบำบัด

สำหรับโครงการศึกษา ซึ่งการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมืองอีอีซี โดยใช้น้ำเสียกลับมาใช้ใหม่โดยภาพรวมมุ่งศึกษาในเชิงนโยบายโดยหาตัวเลขน้ำเสียต้นทุนที่ชัดเจนและแหล่งต้นทุนของน้ำเสียที่มีศักยภาพ จากนั้นจึงพัฒนาระบบการรีไซเคิลน้ำเสียจากระบบบำบัดให้มีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์แทนการทิ้งลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และทดแทนความต้องการใช้น้ำของพื้นที่อีอีซี ในอนาคต การศึกษานี้จะจัดทำร่างระดับคุณภาพมาตรฐานของน้ำรีไซเคิลที่จะนำกลับไปใช้ในกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่าจะต้องมีลักษณะอย่างไร สำหรับเป็นแนวทางให้พื้นที่เมืองและอุตสาหกรรมในอีอีซี เช่น การนำไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมการใช้ชำระชะล้างต่างๆ ล้างถนน ลดฝุ่น หรือนำมาเป็นน้ำใช้อื่นๆ เช่น น้ำหล่อเย็นในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแนวทางที่เป็นมาตรฐานที่ชัดเจนในส่วนนี้

ส่องโลก มองไทย เล็ง ‘ญี่ปุ่น-จีน’ ต้นแบบ

จากแนวคิดข้างต้น ลองท่องโลกไปด้วยกันว่าในแต่ละประเทศมีการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้อย่างไรบ้าง?

รศ.ดร.ชวลิตบอกว่า น้ำเสียที่เกิดขึ้นในทุกวันนั้นนั้น หากมีปริมาณที่มากพอก็สามารถบำบัดและปรับสภาพน้ำเพื่อนำมารีไซเคิลกลับมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ดังตัวอย่างในหลายประเทศ ประเทศที่ถือเป็นต้นแบบ อาทิ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ซึ่งสามารถนำน้ำเสียชุมชนมารีไซเคิลทำเป็นน้ำประปาดื่มได้ แต่ทั้งนี้ต้องสร้างมาตรฐานให้เกิดการยอมรับ อย่างไรก็ตามการจะดึงน้ำเสียที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ยังต้องพิจารณาถึงข้อกำหนด กฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นกฎหมายเฉพาะ เช่น ภาคอุตสาหกรรม สถานประกอบการ สถานบริการ เป็นต้น จึงต้องพิจารณาถึงการลดข้อจำกัด ความซ้ำซ้อนและมาตรการเศรษฐศาสตร์ที่ช่วยสร้างแรงจูงใจในการดำเนินการ

ตัวอย่างการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ของต่างประเทศ เช่นที่เมืองฟุกุโอกะของญี่ปุ่น เดิมมีการนำน้ำทะเลมาทำเป็นน้ำจืดแต่ต้นทุนสูง สุดท้ายก็เอาน้ำเสียของเมืองมาบำบัดและกรองมาเป็นน้ำประปาเกรด 2 ที่มีคุณภาพดีและขายราคาถูกกว่าน้ำประปา

กรณีตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ มีทั้งการนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืดและการซื้อน้ำจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนสูง ปัจจุบันสิงคโปร์เตรียมพร้อมและสนใจเรื่องรีไซเคิลน้ำมาก โดยนำน้ำเสียมารีไซเคิลซึ่งทำให้ต้นทุนถูกลงกว่าการใช้น้ำจืดที่ผลิตจากน้ำทะเล และใช้เทคโนโลยีในการกรองทำให้ได้น้ำคุณภาพดีที่สะอาดมากๆ กลับมาใช้ มีการให้ความรู้กับประชาชน ได้รับการยอมรับจากประชาชนเป็นอย่างดี น้ำรีไซเคิลที่ได้มีคุณภาพน้ำดีกว่าน้ำประปา มีการเดินระบบท่อจ่ายน้ำประปาผลิตจากน้ำรีไซเคิลนำมาใช้กับภาคอุตสาหกรรมและชุมชน และยังส่งกลับไปขายให้กับมาเลเซียอีกด้วย

กรณีประเทศจีนมีการลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลน้ำจากการบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ 50,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันที่เมืองเทียนสิน โดยรับน้ำทิ้งจากโรงบำบัดน้ำเสีย Jizhuangzi และเดินระบบท่อจ่ายน้ำรีไซเคิลความยาว 52 กิโลเมตรไปยังชุมชน ซึ่งน้ำรีไซเคิลนี้สามารถจ่ายน้ำให้กับชุมชน 158,000 ครัวเรือน และการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ใช้เป็นน้ำหล่อเย็น เป็นต้น ราคาค่าน้ำรีไซเคิลอยู่ที่ 0.3 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถูกกว่าราคาค่าน้ำประปา

“ประเทศไทยอาจใช้ต้นแบบของญี่ปุ่นและจีนได้ คือ การรีไซเคิลน้ำเสียมาเป็นน้ำประปาเกรด 2 ขายให้กับแหล่งที่ต้องการซื้อได้เลย ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งก็สนใจ และส่วนบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของเทศบาลบางแห่งก็อยู่ไม่ไกลจากนิคมอุตสาหกรรมก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำและเอากลับไปขายให้อุตสาหกรรม ชุมชน และภาคเกษตรก็ได้ แต่ทั้งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องปลดล็อกกฎหมายหลายส่วนที่ยังเป็นข้อจำกัดในปัจจุบัน”

เป็นความคืบหน้าล่าสุดในกความพยายามสู้วิกฤตน้ำที่ขาดแคลนซึ่งคนไทยต้องก้าวผ่านไปด้วยกัน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image