อุณหภูมิโลกปรับ ระบบนิเวศเปลี่ยน ถึงเวลารีโนเวต ‘กิ่วแม่ปาน’ ห้องเรียนธรรมชาติในป่าเมฆ

'กิ่วแม่ปาน' ยังคงโอบล้อมด้วยธรรมชาติสีเขียวขจี

นับตั้งแต่พุทธศักราช 2542 ที่ กิ่วแม่ปาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พัฒนาเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ จนถึงวันนี้แหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ดังกล่าวยังคงโอบล้อมด้วยธรรมชาติสีเขียวขจี ทว่าระยะเวลากว่า 20 ปีนานพอให้หลายสิ่งเกิดความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น ทำให้การเกิดเมฆในระดับต่ำลดลง ความชื้นจากเมฆหมอกที่เคยปกคลุมเรือนยอดไม้ป่าเมฆก็พลอยลดน้อยตามไปด้วย สั่นคลอนความเป็น “ป่าเมฆกิ่วแม่ปาน” ที่เคยสมบูรณ์ดังเช่นอดีต

นอกจากนี้ สภาพอากาศแปรปรวนยังส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของพืชและสัตว์ในระบบนิเวศ ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่รวมถึงลักษณะภูมิประเทศ “ป่าเมฆ” ที่มีความลาดชัน ฝนตกชุก เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาดินกร่อน สูญเสียหน้าดินและแร่ธาตุในดิน จนไร้พืชคลุมหน้าดิน ประกอบกับการเปิดเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นเวลานาน ทำให้ระบบเรือนรากไม้ได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก

เมื่อพืชคลุมหน้าดินตาย เส้นทางเดินกลายเป็นดินแน่นแข็ง น้ำซึมลงดินน้อย หน้าดินเกิดการสึกกร่อน กระทั่งรากไม้ใหญ่โผล่พ้นดิน ตลอดจน “ความเข้าใจผิด” ของนักท่องเที่ยวที่อาศัยรากไม้เป็นบันไดธรรมชาติ สุดท้ายต้นไม้ใหญ่จึงง่ายต่อการล้ม

นี่ยังไม่กล่าวถึง ป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ ซึ่งทำหน้าที่ให้ความรู้ ความเข้าใจ นอกเหนือจากข้อมูลที่ได้รับจากมัคคุเทศก์ท้องถิ่นมายาวนานร่วมทศวรรษก็สมควรได้รับการปรับปรุงและพัฒนา โดย มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป ได้ร่วมมือกับ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน จัดทำป้ายสื่อความหมายธรรมชาติใหม่ตลอดเส้นทาง

Advertisement

รวมทั้งพัฒนาแอพพลิเคชั่น “รักษ์ป่า” (Rak Pha) สำหรับการลงทะเบียนจองคิวและเดินในเส้นทางฯจนแล้วเสร็จ พร้อมส่งมอบอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

แอพพ์ ‘รักษ์ป่า’ สำหรับลงทะเบียนจองคิวมัคคุเทศก์ท้องถิ่น และเพิ่มประสบการณ์เดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติฯ

กว่า 2 ทศวรรษอันยาวนาน
ถึงเวลาปรับปรุง ‘ห้องเรียนธรรมชาติ’

ช่วงเช้าของวันส่งมอบเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานที่ปรับปรุงใหม่ พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการและความรับผิดชอบต่อสังคม เอ็กโก กรุ๊ป เดินทางมาพร้อมกับ จักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เพื่อมอบให้กับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หลังจากเส้นทางดังกล่าวเปิดให้บริการมากว่า 20 ปี เพื่อรักษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าเมฆและป่าต้นน้ำสำคัญของประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่าต้นน้ำแก่เยาวชนและนักท่องเที่ยว โดยมี สมหวัง เรืองนิวัติศัย รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เป็นผู้รับมอบ และ คมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นสักขีพยาน

ขณะที่ในช่วงบ่าย ธงชัย โชติขจรเกียรติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบริหารองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป และกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ร่วมสำรวจเส้นทางฯพร้อมกับคณะสื่อมวลชน โดยมี เกษม เลายะ ประธานมัคคุเทศก์ท้องถิ่น นำทาง

Advertisement

วันนั้นเองที่ทำให้ทราบว่า แต่เดิมตลอดระยะทาง 2.8 กิโลเมตรของเส้นทางฯกิ่วแม่ปานมากมายด้วย ป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ ชนิดสแตนเลสกว่า 20 ป้าย ทว่า เมื่อหลากหลายปัจจัยทำให้ระบบนิเวศเกิดความเปลี่ยนแปลง ป้ายสื่อความหมายที่เคยเพียบพร้อมสมบูรณ์ก็ถึงเวลาได้รับการปรับปรุง

“มูลนิธิไทยรักษ์ป่า” องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดยเอ็กโก กรุ๊ป เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่สำคัญของประเทศให้เกิดความยั่งยืน จึงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาครั้งนี้อย่างยิ่ง

ป้ายสื่อความหมายธรรมชาติแบบเก่า (ภาพจากเพจมูลนิธิไทยรักษ์ป่า)

“เอ็กโก กรุ๊ป ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ และกำหนดให้การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและใส่ใจต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในพันธกิจขององค์กรตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการในปี 2535 โดยอนุรักษ์ดูแลป่าต้นน้ำ ตลอดจนส่งเสริมจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมในใจเยาวชนมาโดยตลอด ต่อมาปี 2545 ได้ก่อตั้งมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ด้วยเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญของประเทศให้เกิดความยั่งยืน”

คำกล่าวจาก ธงชัย ซึ่งยังมองต่อไปว่า การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำเป็นหนึ่งในภารกิจที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้สานต่อการดำเนินงานจากเอ็กโก กรุ๊ป มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เยาวชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว มีความรู้ ความเข้าใจ ได้รับแรงบันดาลใจที่จะต่อยอดการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ และตระหนักในคุณค่าของป่าต้นน้ำและร่วมรักษาไว้เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป

“จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่า 20 ปีที่เส้นทางฯกิ่วแม่ปานได้ทำหน้าที่ห้องเรียนธรรมชาติ สำหรับเยาวชน ประชาชน และนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง สภาพเส้นทางฯและระบบนิเวศมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากสภาพภูมิอากาศและการรองรับผู้คน จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงเส้นทางฯร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ภายใต้แนวคิด ‘ลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยยังคงความกลมกลืนกับธรรมชาติ ให้มีความปลอดภัย มีมาตรฐาน และส่งเสริมการเรียนรู้’ ตามที่เคยดำเนินการมาตลอด

ธงชัย โชติขจรเกียรติ

“และเพราะว่าน้ำเป็นต้นกำเนิดพลังงานทุกอย่าง แม้กระทั่งโรงไฟฟ้าก็ใช้น้ำ ดังนั้น เราจึงคิดว่าน้ำป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อธรรมชาติถูกทำลายไปเรื่อยๆ จึงต้องพยายามรักษาไว้ เราเน้นแนวคิดที่ว่า ‘ต้นทางดีได้ก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี’ ดังนั้น ทุกอย่างจึงมุ่งไปที่ต้นทาง”

นอกจากเส้นทางฯกิ่วแม่ปานแล้ว เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่ายังร่วมกับกรมอุทยานฯปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ต้นน้ำต่างๆ ดังนี้ พัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกมณฑาธาร อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ปี 2558 และเส้นทางฯยอดดอย อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ปี 2561 และขยายไปยัง จ.นครศรีธรรมราช ที่เส้นทางฯน้ำตกพรหมโลก กะโรม และอ้ายเขียว อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ในปี 2560

ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาเส้นทางน้ำตกกรุงชิงในอุทยานแห่งชาติเขาหลวงเช่นกัน ซึ่งจะมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2563 นี้

สร้างนวัตกรรมให้กลมกลืนกับระบบนิเวศ

หลังจากมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ร่วมกับ กรมอุทยานฯ, บริษัท ป่าเหนือ สตูดิโอ โดย จุลพร นันทพานิช สถาปนิกนักอนุรักษ์ และชุมชนมัคคุเทศก์ท้องถิ่น สำรวจระบบนิเวศและผลกระทบที่เกิดขึ้นในเส้นทางฯกิ่วแม่ปานแล้ว ผลสรุปที่ได้คือการจัดทำทางเดินยกระดับ หรือ บอร์ดวอล์ก ในจุดที่จำเป็น รวมระยะทางทั้งสิ้น 520 เมตร โดยใช้เข็มเหล็กเจาะเฉพาะจุดเป็นฐานราก ซึ่งเป็นวิธีที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด รวมถึงใช้แผ่นไม้เนื้อแข็งเป็นทางเดิน เพื่อความกลมกลืนกับธรรมชาติ

มานนีย์ พาทยาชีวะ เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เปิดเผยว่า นอกจากการปรับปรุงเส้นทางฯกิ่วแม่ปานแล้ว มูลนิธิยังจัดทำป้ายสื่อความหมายธรรมชาติใหม่ตลอดเส้นทาง ตั้งแต่การทบทวนประเด็นและข้อความในการสื่อความหมาย การเปลี่ยนวัสดุของป้ายให้มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงมากขึ้น ตลอดจนร่วมกับอุทยานฯพัฒนาแอพพ์ “รักษ์ป่า” สำหรับการลงทะเบียนจองคิวและเดินในเส้นทาง ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ลดความแออัดในการรอคอยเข้าเส้นทางบริเวณหน้ากิ่วแม่ปาน อีกทั้งสอดคล้องกับการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน

สร้าง ‘บอร์ดวอล์ก’ ให้มีความกลมกลืนกับธรรมชาติ

“ทีมงานติดตั้งบอร์ดวอล์กแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2562 ช่วงฤดูท่องเที่ยว ยอมรับว่าบางคนไม่ค่อยชอบบอร์ดวอล์กนัก เนื่องจากเดินบนสะพานไม้แล้วเจ็บหัวเข่า มัคคุเทศก์เองก็บ่น หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติเขาก็รู้สึกว่าไม่กลมกลืน แต่ต้องเข้าใจว่าถ้าเราปล่อยไปเช่นนั้น ธรรมชาติก็จะเสียหาย”

สำหรับป้ายสื่อความหมายธรรมชาติที่ปรับปรุงใหม่ ปัจจุบันมีทั้งหมด 15 จุด ตลอดระยะทาง 2.8 กม. แต่ละแห่งทำหน้าที่เล่าเรื่องราวระบบนิเวศได้อย่างครบถ้วนทุกประเด็น

สมดังความตั้งใจของทุกฝ่ายที่หวังรักษาระบบนิเวศ “ป่าเมฆกิ่วแม่ปาน” พร้อมส่งเสริมจิตสำนึกรักษ์ป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน


 

กุหลาบพันปี

กิ่วแม่ปาน
‘ป่าเมฆ’ 1 ใน 3 แห่งของไทย

กิ่วแม่ปาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่ในระดับความสูงกว่า 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีลักษณะเป็นป่าดิบเขาสูงที่มีเมฆหมอกคลุมไม้เรือนยอดตลอดปี หรือเรียกอีกอย่างว่า ป่าเมฆ อย่างไรก็ดี ทั่วโลกมีจำนวนป่าเมฆน้อยมาก ทว่า ป่าเมฆกิ่วแม่ปาน นับเป็น 1 ใน 3 แห่งที่มีอยู่ของประเทศไทย

“ป่าเมฆกิ่วแม่ปาน” มีระบบนิเวศโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ด้วยเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ที่ชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่อากาศหนาวตลอดปี อาทิ กวางผา, ด้วงครามอินทนนท์, กุหลาบพันปี, ไม้วงศ์ก่อ ที่สำคัญยังเป็นป่าต้นน้ำในพื้นที่สูงที่สุดของประเทศ หล่อเลี้ยงชีวิตคน 4 อำเภอใน จ.เชียงใหม่ คือ อ.จอมทอง อ.แม่แจ่ม อ.แม่วาง และบางส่วนของ อ.ดอยหล่อ นอกจากนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำปิง ก่อนจะไหลรวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างคุณประโยชน์แก่คนในชาติและประเทศเพื่อนบ้านได้มากมาย

สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติมีระยะทาง 2.8 กม. ใช้เวลาเดินประมาณ 1.5-2 ชั่วโมง (มากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักท่องเที่ยว) โดยเปิดให้ท่องเที่ยวและเรียนรู้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน-31 พฤษภาคม ทุกวัน เวลา 06.00-16.00 น.

ผู้สนใจควรเตรียมตัวให้พร้อม อาทิ สวมใส่เสื้อแขนยาว รองเท้าหุ้มส้น และหมวก เตรียมกระบอกน้ำมาเองเพื่อลดการใช้ขวดพลาสติกและปัญหาขยะ รวมทั้งแนะนำให้เข้าห้องน้ำก่อนเดิน เนื่องจากไม่มีบริการห้องน้ำในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ หรือหากใครต้องการ “ตัวช่วย” ที่นี่มีบริการ “ไม้พยุง” เพื่อให้ประสบการณ์ท่องเที่ยวสะดวกสบายยิ่งขึ้น

เกษม เลายะ ประธานมัคคุเทศก์ท้องถิ่น

ด้านกติกาในการท่องเที่ยวและเรียนรู้ในเส้นทางศึกษาธรรมชาตินั้น นักท่องเที่ยวต้องเดินพร้อมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นตามเส้นทางที่กำหนด เพื่อความปลอดภัย โดยมีค่าบริการกลุ่มละ 200 บาท (ไม่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว) ที่สำคัญควรเดินให้ครบรอบ ไม่ย้อนกลับทางเดิม เพื่อลดความเสียหายต่อธรรมชาติข้างทาง ไม่ส่งเสียงดังรบกวนธรรรมชาติ สัตว์ป่า และผู้อื่น ตลอดจนไม่เก็บ เด็ด นำออก หรือกระทำการใดๆ อันจะเกิดความเสียหายต่อธรรมชาติ

ทั้งนี้ ป่าเมฆกิ่วแม่ปานมีอากาศบางเบา บางช่วงมีความลาดชัน ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิต หืดหอบ หรือร่างกายไม่สมบูรณ์ ควรหลีกเลี่ยงการเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติ

พิธีส่งมอบเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานที่ปรับปรุงใหม่
‘ป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ’ ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่
น้ำตกลานเสด็จ
ผาแง่มน้อย
พระมหาธาตุนภเมทนีดล พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ดอยอินทนนท์

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image