มองมุมบวก ส่องมุมลบ 55 วัน แห่งการ บอกลา ‘ถุงพลาสติก’

นับจาก 1 มกราคม จนถึงวันนี้ ครบรอบ 55 วันเต็ม พอดิบพอดี สำหรับการพร้อมใจงดแจกถุงพลาสติกโดยห้างร้านใหญ่น้อยทั่วไทย

ขณะก้าวสู่วันที่ 56 ในเข็มวินาทีที่กำลังเดินไปมองย้อนสู่คืนวันที่ผันผ่าน ก่อเกิดปรากฏการณ์มากมายที่ค่อยๆ เป็นรูปธรรมทั้งบวกและลบ ไม่นับการยั่วล้อในช่วงต้นของผู้คนที่พากันขุดภาชนะ

หลากหลายเข้าร้านสะดวกซื้อเรียกเสียงฮา ทว่าต่อจากนี้คือชีวิตจริงของประชาชนที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวิตเปลี่ยน ไม่มากก็น้อย เช่นเดียวกับผู้ประกอบการที่ในด้านหนึ่งก็ได้ลดค่าใช้จ่ายในด้านถุงพลาสติกสำหรับลูกค้า แต่อีกด้านก็มีตัวเลขบ่งชี้ว่า ยอดขาย ลดจนต้องขบคิดมาตรการกระตุ้น

นี่ไม่ใช่เพียงเหรียญ 2 ด้าน แต่ประกอบด้วยแง่มุมหลากมิติที่ชวนพิจารณาอย่างยิ่ง

Advertisement

โพลชี้สังคมเห็นด้วย
ช่วยลดโลกร้อน แต่ยังทำชีวิตลำบาก

เริ่มที่ประเด็นความเห็นของคนไทยในการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก ซึ่ง นิด้าโพล สำรวจไว้ในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่า จากประชาชน 1,262 ตัวอย่าง ร้อยละ 57.69 เห็นด้วยมาก กับการที่ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อหลายแห่งงดใช้ถุงพลาสติก เพราะเป็นการช่วยลดขยะในประเทศไทย กระทั่งขยับไปสู่ประเด็นลดโลกร้อน อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้มองว่า ไม่ควรนำระบบการค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การซื้อขายถุงพลาสติก แต่ควรมีบริการถุงแบบอื่นทดแทนให้กับลูกค้า

สำหรับร้อยละ 23.21 คือตัวเลขของกลุ่มที่ ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดจำนวนขยะที่ย่อยสลายยาก ลดโลกร้อน แต่ควรค่อยๆ ลดการใช้ถุงพลาสติกลง เนื่องจากสินค้าบางประเภทยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ถุงพลาสติกอยู่

ส่วนกลุ่มที่ ไม่ค่อยเห็นด้วย มีร้อยละ 9.75 โดยมองว่ารัฐบาลออกมาตรการเร็วเกินไป จึงยังปรับตัวไม่ได้ เพราะเคยชินกับการใช้ถุงพลาสติก มาตรการนี้ทำให้ชีวิตลำบากหากช้อปปิ้งสินค้ามากๆ

Advertisement

ปิดท้ายด้วย ร้อยละ 8.72 ของผู้ ไม่เห็นด้วยเลย เพราะเป็นการเพิ่มภาระ ทำให้เกิดความเดือดร้อน บางครั้งไปช้อปปิ้งโดยไม่ได้ตั้งใจ จะถือกลับอย่างไรโดยไร้ถุง ในขณะที่ ร้อยละ 0.63 เมินตอบโพล

โพลดังกล่าว ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนออกไปจับจ่ายใช้สอยของคนไทย โดยระบุว่า ส่วนใหญ่เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ นำถุงผ้า หรือกระเป๋าไปเอง รองลงมาเฉียด 20 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าถือเองด้วย มือเปล่า ที่เหลือยอมรับว่าไปซื้อของตามห้างและร้านสะดวกซื้อน้อยลง เพราะความยากลำบากในการนำกลับ บ้างก็ใช้วิธีควักเงินซื้อถุงจากห้างแทน

หอการค้าโอด คนลด ‘ช้อป’
ยอดขายร่วง ต้องเร่งกระตุ้น

จากโพลที่กล่าวมาข้างต้น มีข้อมูลน่าสนใจโดยเฉพาะในประเด็นพฤติกรรมการจับจ่ายที่ลดลง ซึ่งกระแสในโลกออนไลน์ส่วนหนึ่งระบุว่า ตั้งแต่งดแจกถุง ก่อให้เกิดความยับยั้งชั่งใจในการช้อปมากขึ้นหากไม่ได้ตั้งใจไปซื้อซึ่งหมายความว่าต้อง พกถุง ไปล่วงหน้า ก็จะไม่ค่อยซื้อหาด้วยอารมณ์ชั่ววูบเหมือนแต่ก่อน

แม้ช่วยคนไทยในการประหยัดอดออมโดยไม่เจตนา ทว่า ยอดขายที่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญนี้ ย่อมทำให้ผู้ประกอบการชักไม่แฮปปี้

สุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย มีถ้อยแถลงต่อสื่อว่า มาตรการรณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติกในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อยอด ร่วง จนต้องแนะนำให้ปรับตัว หาแรงจูงใจให้คนไทยควักเงินในกระเป๋าออกมามากขึ้น โดยหอการค้าไทยและผู้ประกอบการห้างค้าปลีกอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบและการออกมาตรการเสริมเพื่อช่วยขับเคลื่อนการใช้จ่าย เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคจำนวนมาก ไม่ได้วางแผนล่วงหน้าว่าจะซื้ออะไร พูดง่ายๆ ว่าเห็นปั๊บ ชอบ ก็ซื้อ แต่พอมีมาตรการงดแจกถุงพลาสติก ก็ลดการซื้อ เพราะถือลำบาก หากไม่ได้เตรียมถุงไว้ล่วงหน้า

เรียกได้ว่า ในระดับเบื้องต้น จะมีการดัน ถุงกระดาษ และถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ อีกทั้งแจกถุงขยะแทนการแจกถุงพลาสติกทั่วไป เพื่อให้ผู้บริโภคนำถุงไปใส่ขยะก่อนที่จะนำขยะไปทิ้ง

ผู้ผลิตถุงพลาสติกอ่วม!
ครึ่งพันโรงงานวอนรัฐเยียวยา

จากผู้บริโภคและผู้ขาย ไม่หันมามองผู้ผลิตถุงพลาสติกคงไม่ได้ เพราะย่อมได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวอย่างแน่นอน ย้อนกลับไปตั้งแต่ปลายปี 2562 ก่อนเริ่มงดแจกถุง นับร้อยโรงงานก็เรียกร้องรัฐบาลให้เยียวยามาก่อนแล้ว

รายงานจาก ประชาชาติธุรกิจ อ้างอิงคำกล่าวของ สมชัย เตชะพานิชกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ว่าจากที่สมาคมได้เข้าหารือกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรี เมื่อต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เพื่อขอให้เยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลที่เร่งโรดแมปเลิกใช้ถุงพลาสติกเร็วขึ้น

ตัดฉากมาในสถานการณ์ล่าสุด พบว่าโรงงานพลาสติกจำนวนมากจำต้อง ปลด คนงาน เพราะยอดสั่งลดฮวบ

ด้านการเงินการธนาคาร ก็มีเอฟเฟ็กต์ โดย นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจŽ ว่าในปี 2563 นี้ กลุ่มผู้ผลิตพลาสติกชนิดอ่อน (ถุงพลาสติก, หลอด) ถือเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการลดใช้ถุงพลาสติก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทำให้แบงก์จะปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กลุ่มนี้ยากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นในปีนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีบทวิเคราะห์จาก สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยที่ว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ ไม่น่าจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ ส่งผลต่อการ ปล่อยสินเชื่อ ให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าว หากธนาคารจะปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ธุรกิจกลุ่มนี้ก็ต้องคัดเลือกลูกค้าที่มีความแข็งแรงและมั่นคงระดับหนึ่ง โดยยอมรับว่า ปัจจุบันกสิกรไทยมีพอร์ตลูกค้าที่เกี่ยวเนื่องกับพลาสติกอยู่ประมาณ 100 ราย ซึ่งยังไม่พบสัญญาณผลกระทบรุนแรง แต่ยอมรับว่ายอดขายของลูกค้าหายไปบ้าง จากการรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติก

เอกชนร่วมหนุน แนวคิด ‘3 อาร์’ แยกขยะพลาสติก

กระแสลด ละ เลิก การแจกถุงพลาสติกที่เกิดขึ้นในเมืองไทย และเกิดมาก่อนแล้วทั่วโลก ยังกระตุ้นให้ภาคเอกชนที่นอกเหนือจากห้างร้านสร้างสรรค์กิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณขยะพลาสติก หนึ่งในนั้นคือ บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการบัตรกดเงินสด เอมันนี่Ž (A money) ร่วมกับ บริษัท เทยิน โพลีเอสเตอร์ จำกัด ที่ผุดโครงการ A money x Teijin บัดดี้ชวนส่งต่อขวด PET เปลี่ยนเป็นเสื้อให้น้องŽ

ขวดพีอีที ที่ว่านี้ ก็คือขวดน้ำพลาสติกใส (PET : Polyethylene Terephthalate) ซึ่งเป็นขยะพลาสติกที่มีปริมาณมาก โดยยังสามารถนำกลับไปใช้หรือรีไซเคิลได้อีก หากรู้จักวิธีจัดเก็บและคัดแยกอย่างมีคุณภาพจะช่วยลดปริมาณและหมุนเวียนการใช้งานให้เกิดประโยชน์และคุณค่าสูงสุดได้

งานนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนขวดใสให้กลายเป็นเสื้อแล้ว ก็มีการมอบให้นักเรียนชมรมสิ่งแวดล้อมที่ โรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ จำนวน 100 ตัว พร้อมจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้คัดแยกขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี ลดขยะด้วยแนวคิด 3RŽ คือ Reduce-Reuse-Recycle และกระบวนการรีไซเคิลขวดพลาสติกเป็นเส้นใย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกจิตสำนึกใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเยาวชน

ยูจิ ฟุคาดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) บอกว่า มีการตั้งจุดเปิดรับขวด PET ที่ใช้แล้วผ่านกล่องรับบริจาคที่สำนักงานใหญ่ และสาขาอีกจำนวน 11 สาขา ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเริ่มเปิดรับบริจาคตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก มีผู้นำขวด PET มาบริจาครวมทั้งสิ้น 20,000 ขวด หลังจากนั้นจึงได้ส่งมอบให้บริษัท เทยินฯ ทำการรีไซเคิลให้เป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์สำหรับผลิตเสื้อเพื่อส่งมอบให้กับนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ โดยได้เริ่มนำร่องกิจกรรมเป็นปีแรกที่โรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของคนในสังคมที่ตระหนักถึงปัญหาจากขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เริ่มที่โรงเรียน ปลูกสำนึกสิ่งแวดล้อมจากวันนี้สู่อนาคต

อีกหนึ่งประเด็นที่กล่าวกันมาก แม้ไม่ยาก แต่ไม่ง่ายสำหรับการปฏิบัติให้เห็นผลจริงให้เห็นในเร็ววัน นั่นคือ การหล่อหลอม กล่อมเกลา ปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้เด็กๆ ตั้งแต่อยู่ในรั้วโรงเรียน อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาหลายแห่งก็ขานรับและมีความพยายามในประเด็นดังกล่าว

กาญจนา คล้ายพุฒ ผู้อำนวยการโรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ เล่าว่า นอกจากนโยบายในการมุ่งจัดการด้านการศึกษาที่มีคุณภาพระดับมาตรฐานสากลแล้ว ยังมุ่งเน้นหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยในด้านสิ่งแวดล้อม มีโครงการต่างๆ อาทิ โครงการโรงเรียนคาร์บอนต่ำ โรงเรียนปลอดขยะ สร้างจิตสำนึกที่ดีแก่ครูและนักเรียนในการใช้ไฟฟ้าโดยการทำ MOU รวมพลังนโยบายช่วยกันประหยัดไฟฟ้าและน้ำ เป็นต้น

ด้าน ประธานสภานักเรียนตัวน้อย ด.ญ.จรรญา ศรีประเสริฐศักดิ์ หรือ น้องนิวเดียร์ นักเรียนชั้น ป.6 วัย 12 ปี โรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ บอกว่าทางโรงเรียนสอนให้ลงมือทำและร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เริ่มจากตัวเอง และส่งต่อให้ผู้อื่น

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์และสถานการณ์ใน 55 วันแห่งการบอกลาถุงพลาสติกที่คนไทยคุ้นเคยมานาน ไม่ว่าจะด้านบวกหรือลบ ล้วนมีแง่มุมชวนขบคิด แก้ปัญหา เพื่อก้าวต่อไปข้างหน้าพร้อมๆ กันในวันที่สิ่งแวดล้อมคือประเด็นสำคัญของโลกใบนี้

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image