‘มองเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่’ #บทสนทนาในยุคตัวย่อและแฮชแท็ก

#ผนงรตจกม

คงไม่ใช่ถ้อยคำ วลี ประโยค ที่ผู้คนยุคก่อนหน้าจะเข้าใจได้โดยง่าย หากไม่ใช่ห้วงเวลานี้ที่ ‘ตัวย่อ’ ดังกล่าวกระหึ่มโลกออนไลน์ โดยประชาชนคนไทยต่าง ‘เก็ท’ ถึงความหมายโดยไม่ต้องแปลออกมาดังๆ

ไม่เพียงแพร่หลายในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทว่า ออกสู่โลกแห่งความจริงบนป้ายผ้า แผ่นกระดาษ และการกู่ร้องผ่านเส้นเสียงของเหล่านักศึกษาใน ‘แฟลชม็อบ’ ที่กล่าวยืนยันว่าฉันมีตัวตนอยู่จริง ดังที่ก่อนหน้ามีกลุ่มคนชูป้าย ‘I come from Internet’

เฉกเช่นเดียวกับผลงานจากแป้นพิมพ์สมาร์ทโฟน และไอแพดของ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยโพสต์เป็นตอนๆ ระหว่างนั่งรถเมล์ ข้ามเรือ หรือกินข้าว ให้แฟนๆ ‘อ่านออนไลน์’ ก่อนที่สุดท้ายจะมีการตีพิมพ์ลงแผ่นกระดาษเย็บเล่มเป็นหนังสือชวนอ่าน ในชื่อ ‘มองเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่’

สร้างความประหลาดใจด้วยการ ‘สวนทาง’ ระหว่างแพลตฟอร์มขนาดที่เจ้าตัวก็ยังออกอาการ งงๆ

Advertisement

แน่นอนว่าคำถามนี้ถูกส่งไปยัง เอกรินทร์ ต่วนศิริ จาก ‘ปาตานี ฟอรั่ม’ ผู้ตัดสินใจจัดพิมพ์

“ผมอยากทดลองให้คนได้อ่าน หนังสือเล่มนี้คือสิ่งยืนยันและท้าทายว่ามีคนที่คิดแบบนี้จริงๆ ในสังคมการเมืองแบบนี้ ทำให้รู้สึกมีเพื่อน ได้เติมเต็มตัวเอง ช่วยให้เราขบคิดต่อ ‚..ไม่ว่าจะเรื่องการวิพากษ์สังคมไทย สื่อ ภาษา ศิลปะ การเมืองไทย การศึกษา นี่คือบทสนทนาแก่สังคมไทยที่ใครอยากเห็นด้วย หรือเห็นต่างก็ได้ เป็นการเปิดบทสนทนาชิ้นใหญ่ ที่สร้างความอุ่นใจให้ผม เพราะคิดแบบนั้นเหมือนกัน แต่อาจารย์ยุกติกล้าหาญในการเขียนออกมา บทสนทนานี้ มันมีต้นทุนต้องจ่าย ไม่ว่าจะเรื่องเวลา ไม่ว่าจะเรื่องคนเกลียด คนเห็นต่าง ดีที่อาจารย์ยุกติไม่โดนไอโอเล่น” เอกรินทร์ยังบอกว่า แม้เล่มนี้ไม่เกี่ยวข้องกับภาคใต้โดยตรงตามสไตล์ของปาตานี ฟอรั่ม ทว่า เกี่ยวข้องในแง่ของวิธีคิด

“ผมคิดว่าเวลาเราพูดถึงปัญหาภาคใต้ ปัญหาสังคมไทย หลายอย่างมันแยกส่วนกันเกินไป‚..เราเผชิญโจทย์ปัญหาทางความคิด เป็นสงครามทางความคิด ว่าใครยืนอยู่ที่ไหน อย่างไร….”

Advertisement

คือถ้อยความจาก เอกรินทร์ ในเย็นวันหนึ่ง ณ ร้านหนังสือก็องดิด เดอะแจมแฟคทอรี่ ย่านคลองสาน ในงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ โดยมีผู้ร่วมสนทนาล้อมวงอีกหลายราย

เปล่าเลย บรรทัดจากนี้ไป ไม่ใช่การโปรโมตหนังสือ หากแต่เป็นอีกบทสนทนาว่าด้วยประเด็นน่าสนใจยิ่งในวันนี้ วันที่บทสนทนาของในโลกยุคใหม่ สะกิดแรงๆ ให้ผู้คนร่วมสมัยต้องหันมอง

 

ภาพจากร้านหนังสือก็องดิด

ใช่กับไม่ใช่ กลางกับไม่กลาง ‘ทุกอย่างก็เถียงกันไป’

“เวลาผมสอนหนังสือในสายสังคมวิทยา มานุษยวิทยา เมื่อก่อนเราเคยเชื่อว่ามันมีสิ่งที่ใช่กับไม่ใช่ เป็นกลางกับไม่เป็นกลาง ยิ่งแก่ไป จนถึงวันนี้ ผมไม่เคยเชื่อเลย ผมคิดว่าทุกอย่าง ก็เถียงกันไป แต่ถามว่าเถียงกันทำไม ก็เพราะว่าเราได้อะไรใหม่ๆ จริงหรือเปล่าไม่รู้” คือคำกล่าวอย่างตรงไปตรงมาจากปาก ศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งยอมรับอีกว่า ในวัย 63 ตนเพิ่งเขียนหนังสือลง ‘มือถือ’ เมื่อไม่นานมานี้เอง

“ผมเป็นคนทำงานช้า เขียนหนังสือช้า เกษียณแล้ว เป็นคนอีกโลกหนึ่ง ถามว่าเข้าใจสิ่งที่อาจารย์ยุกติหรือคนรุ่นใหม่เขียนหรือไม่ ผมตอบไม่ได้ ไม่แน่ใจ นี่พูดตรงๆ และนี่เป็นปัญหาที่เราเห็นชัดเจน ว่ามันมีช่องว่างตรงนี้”

อดีตอาจารย์รั้วสามย่าน ยังหยิบยกประเด็น ‘บทกวี’ ของนิสิตจุฬาฯ ที่ออกมาชวนติดแฮชแท็ก #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป ในแฟลชม็อบ

จากซ้าย – อนรรฆ พิทักษ์ธานิน, ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ, เอกรินทร์ ต่วนศิริ, นิติ ภวัครพันธุ์ และ ยุกติ มุกดาวิจิตร

“มีคนบอก นิสิตจุฬาเขียนดีมาก ปรากฏว่าคนที่เขียนอยู่คณะอักษรศาสตร์ ภาษาไทย เคยได้รางวัลเยอะแยะ ประเด็นของผมคือ โลกที่ใช้ภาษาเขียน กับภาษาบอกเล่า ผมคิดว่ามันต่างกัน แต่สิ่งที่ไม่ต่างคือ สุนทรียะ ไม่ว่าคุณจะใช้แพลตฟอร์มอะไรก็แล้วแต่ คุณมีสุนทรียะไหม อันนี้สำคัญ ทำไมบทกวีต่างๆ เรายังอ่านกันอยู่ มันมีสิ่งนี้ บางทีเราไม่พูดเรื่องพวกนี้ ไปพูดแต่ว่า สื่อความหมายไหม เราอยู่ในโลกที่มันกระด้างเกินไป เราอยู่ในโลกที่จะนั่งรถเร็วๆ ไม่เคยหยุดสักพักหนึ่งแล้วให้ความสำคัญกับสุนทรียะ นี่คือความสวยงามของภาษา”

นิติยังบอกว่า ในภาษาที่นิสิตนักศึกษาใช้ประท้วง มีความสวยงาม แสดงออกถึงพลัง และออกมาจากตัวเอง

“เขาอาจไปอ่านหนังสือของใครต่อใครแล้วผลิตออกมาเป็นตัวของตัวเอง แล้วผมชัวร์เลยว่า ไม่มีทางที่ใครจะมาสามารถชักจูงเขาได้ ผมจะดีใจมากถ้าผมมีอิทธิพลกับลูกศิษย์ แต่ไม่มีครับ อยากฝากบอกพวกคนแก่ๆ ทั้งหลายที่บอกว่า นิสิตนักศึกษาออกมา เพราะมีผู้ใหญ่อยู่ข้างหลัง…” ตบท้ายอย่างขึงขัง ก่อนส่งไมค์ต่อให้ผู้ร่วมสนทนา

โซเชียลมีเดีย ‘ฐานันดรสี่’ ที่รัฐ(ก็)มองเห็น

มาถึง ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ จากสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บุตรชาย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมองว่าตอนนี้โซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นฐานันดรที่สี่ แทน Traditional media หรือสื่อเดิม โดยเชื่อว่าผู้มีอำนาจในรัฐบาลก็มองเห็น เป็นเครื่องมือสื่อสารในการตรวจสอบรัฐบาล รวมถึงตรวจสอบตัวของตัวเองผ่านคอมเมนต์ และรีวิวอีกด้วย

“ถ้าเราพูดอะไรผิดไป มีคนมาคอมเมนต์แน่นอน และเราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและชัดเจน ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี นักวิชาการอาวุโส ค่อนข้างไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิถีทางนี้เท่าไหร่ เพราะว่ายึดติดว่า ถ้าไม่มีเพียรีวิว มันไม่มีการตรวจสอบ แต่ผมคิดว่ามันผ่านยุคนั้นไปแล้ว

“คนรุ่นต่อไป ต้องหัดใช้ให้เป็น ในโลกวิชาการในอเมริกามีคำว่า PDF syndrome หมายความว่า งานวิชาการทุกอย่างที่เขียนไป อยู่ใน PDF แล้วไม่มีใครเปิดอ่าน ซึ่งผมคิดว่าต้องแหกกฎตรงนี้ไป ต้องสื่อสารกับสังคมให้ได้ รวมถึงสื่อสารกับรัฐ กับอำนาจรัฐ”

ฟูอาดี้ยังบอกว่า คนใช้โซเชียลมีเดีย ต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง ต้องเชื่อในสิ่งที่พูด ไม่เอาเฟคนิวส์มาเผยแพร่ นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า อาจารย์บางคน งานวิชาการดี แต่ในเฟซบุ๊ก กลับมีอีก ‘บุคลิก’ หนึ่ง ใช้คำหยาบชนิดที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือไม่ได้ แม้สื่อสารได้ไวกว่า ไปไกลกว่า แต่ไม่สามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไรที่ ‘ลึกและใหญ่’ ไปกว่านั้น

นอกจากนี้ ยังเล่ากรณีศึกษาจากประสบการณ์ส่วนตัว ที่เคยโพสต์ประเด็น ‘การเมือง’ แล้วลบทิ้งเมื่อได้รับทราบข้อมูลอีกด้าน อันนับเป็นข้อดีของ ‘นิวมีเดีย’ ที่มีความ ‘ยืดหยุ่นกว่า’

“นิวมีเดีย มีความยืดหยุ่นอยู่ เช่น ถ้ามีชุดข้อมูลใหม่เข้ามา เราเปลี่ยนและอัพเดตได้เลยซึ่งสื่อสมัยก่อนทำไม่ได้ ตอนมีเรื่อง ส.ส.ศรีนวล ผมเคยโพสต์ว่า ทำไมประเทศไทย พรรคที่ยึดโยงกับตัวบุคคล ศูนย์รวมอำนาจภายในพรรคอยู่ในคนคนเดียว แต่กลายเป็นพรรคที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นพรรคที่ฝั่งประชาธิปไตยเลือก ในขณะที่พรรคซึ่งมีการจัดการเป็นประชาธิปไตย มีการโหวต มีระบบชัดเจน กลายเป็นพรรคที่ต่อต้านประชาธิปไตย แต่พอผมได้ข้อมูลใหม่ รู้ว่าผิด ก็ลบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำ”

‘ต้องแดงบ้าง’ เพราะ ‘แดง’ คือการตั้งคำถามกับสังคม

บทสนทนาเขยิบมาสู่ประเด็นการเมืองมากขึ้นทุกที ฟูอาดี้ มี ‘คอมเมนต์’ น่าสนใจว่า ผู้ที่เชื่อในประชาธิปไตยจริงๆ ไม่มีความสุขตั้งแต่ พ.ศ.2543 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

“คนที่เชื่อในประชาธิปไตยจริงๆ ต้องไม่มีความสุขเลยในระยะตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา เพราะต้องต่อต้านทักษิณ ต้องต่อต้านรัฐประหาร 2549 ต้องต่อต้านอภิสิทธิ์ตอนปราบเสื้อแดง ต้องต่อต้านรัฐบาลชุดนี้ และผมเชื่อว่าทุกคนต้องมีความเป็นแดงอยู่ในตัว เพราะแดงคือการตั้งคำถามกับสังคม การตั้งคำถามกับนักเรียน การยอมให้นักเรียนตั้งคำถามกับเรา ถ้าไม่ได้เลเบิลว่านักวิชาการเสื้อแดงบ้าง อาจารย์คนนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นอาจารย์ คือต้องแดงบ้าง พูดอะไรต้องโดนด่าบ้าง หรือพูดแล้วต้องโดนด่าจากทั้ง 2 ฝ่าย”

นายฟูอาดี้ยังเปิดเผยว่า สำหรับตัวเองนั้น ฝ่ายอนุรักษนิยม คือผู้ใหญ่ก็ไม่ชอบ เสื้อแดงก็ไม่เชื่อใจอีก ทำให้อึดอัดมาก ก่อนกล่าวทีเล่นทีจริงว่า ‘เสื้อส้ม’ น่าจะชอบบ้าง เพราะตนรู้ว่าเขียนอะไรแล้วเสื้อส้มจะชอบ

“ผมคิดว่าการเป็นนักวิชาการมันต้องวิจารณ์ทุกอย่างแล้วบางครั้งฝั่งนี้ก็ชอบ ฝั่งนู้นก็ไม่ชอบ มันต้องมีปัญหากับทุกคน สิ่งที่เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้คือการช่วยยืนยันความเชื่อของผมพอสมควรว่าการเป็นนักวิชาการที่ดีคืออะไร การเป็นอาจารย์ที่ดีคืออะไร จริงๆ ผมยังไม่เคยเป็นอาจารย์อย่างจริงจัง แต่หวังจะได้มีโอกาสตรงนี้”

ปิดท้ายด้วยกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งฟูอาดี้ยอมรับว่า ไม่ได้เห็นด้วยกับพรรคดังกล่าวตลอด อย่างไรก็ตาม การที่มีพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นมา ทำให้ความอยากในการใช้ความรุนแรงของคนลดลง เพราะเขารู้สึกว่าตัวเองมีทางเลือก การไปยุบพรรคอนาคตใหม่ทำให้ทางเลือก และโอกาสในการใช้วิถีทางรัฐสภา และสันติวิธีหายไป ซึ่งมีผลกับรัฐไทยมาก แต่รัฐไทยไม่ได้คิดเรื่องนี้ ถ้าคิดอาจไม่ยุบพรรคก็ได้

‘ใครจะด่าก็ด่ามา’ คอนเทนต์ออนไลน์ที่ ‘ตั้งใจเสี่ยง’

“เป็นคนเขียนหนังสือเร็ว อย่างที่เห็นๆ อย่างมากชั่วโมงเดียว เขียนระหว่างเดินทาง นั่งรถเมล์จากบ้านมาที่ทำงาน บางทีกินข้าวก็นั่งเขียน” รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร นักมานุษยวิทยาชื่อดัง ในฐานะเจ้าของผลงาน ‘มองเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่’ เล่าถึงการได้มาซึ่งข้อเขียนที่เผยแพร่ออนไลน์ ก่อนได้ตีพิมพ์เป็นกระดาษที่จับต้องได้ด้วยมือ

เขียนเร็วอย่างนี้ ย่อมมีคำถามว่า ไม่กลัวถูกครหาว่าไม่ตรวจสอบข้อมูลให้แน่นปึ้กตามประสา ‘นักวิชาการ’ หรืออย่างไร ?

“ผมตั้งใจที่จะเสี่ยงจริงๆ คือปล่อยไปเลย ใครจะด่าก็ด่ามา และมันก็ฝึกตัวเองให้รู้จักคิด ให้มีความกระชับ ทุกแพลตฟอร์มมีข้อจำกัดของมัน ….ในโลกของคนทำงานแบบมุขปาฐะ กับคนทำงานแบบแพลตฟอร์มอักขระ ถามว่ามีอะไรได้ มีอะไรที่เสีย แน่นอน มีได้และเสียไม่เหมือนกัน”

ยุกติยังย้ำว่า ‘เขียนไปเถอะ’ เพราะคนตัดสินคือคนอ่าน

“เราไม่ได้เป็นคนตัดสิน คนอ่านเขาตัดสินเอง งานเขียนก็เหมือนคุณเดินออกไปตรงลาน แล้วแสดงอะไรไป อยากเขียนก็เขียนไป แล้วเรายังได้เรียนรู้ ไม่ใช่เขียนอย่างเดียว แต่เราก็อ่านด้วย”

ไม่เพียง #จัดจ้านผ่านเฟซบุ๊ก เท่านั้น ล่าสุดเจ้าตัวบอกว่า

‘ตอนนี้มีแอคเคาน์ทวิตเตอร์แล้ว แต่ยังไม่ค่อยหล่อเท่าไหร่’

เรียกเสียงหัวเราะโครมใหญ่รอบวงสนทนา แน่นอนว่ารวมถึงกลุ่มคนฟังที่นั่งรายล้อม และอาจกำลังคิดเหมือนกันว่า นักมานุษยวิทยาท่านนี้ คงมีประโยคคมคายให้ได้ทวีตตามใน ‘ทวีตภพ’

โลกคู่ขนานที่เข้าแล้วออกยากเสียเหลือเกิน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image