รำลึก สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ‘ผมว่านักเขียนก็เป็นนักเขียนอยู่นั่นเอง’

“ยุคนี้เป็นยุคใหม่ ผู้คนเฉลียวฉลาด เครื่องไม้เครื่องมือคนเป็นผู้คิดขึ้นมาทั้งนั้น ทางออกย่อมมีให้แก่ผู้คนอยู่แล้ว ถ้าเรายังต้องสื่อสารกัน นักเขียนและสื่อผู้เสนอจะหายไปได้อย่างไร นอกจากเปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่น

ผมว่านักเขียนก็เป็นนักเขียนอยู่นั่นเอง”

คือข้อความสะท้อนวิธีคิดอันคมคายจากปลายปากกาของ สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ส่งด้วยโทรสารตอบบทสัมภาษณ์แก่ ‘มติชน’ เมื่อครั้งได้รับรางวัล คึกฤทธิ์ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อ พ.ศ.2561

2 ปี ก่อนการจากไปอย่างไม่มีวันกลับ

Advertisement

10 มีนาคม 2563 นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ เจ้าของนามปากกา ‘หลวงเมือง’ เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 92 ปีด้วยโรคชรา

เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการสื่อสารมวลชน

เช่นเดียวแฟนคอลัมน์ ‘เดินตามดาว’ ในมติชนสุดสัปดาห์ซึ่งจะมีคำทำนายจาก ‘หมอทรัพย์ สวนพลู’ สัปดาห์นี้เป็นครั้งสุดท้าย

Advertisement

เส้นทางนักเขียน ‘ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่คนทั่วๆ ไปจะเลือกได้’

ย้อนกลับไปในวันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2471 นายวิเชียร และนางทองทรัพย์ ทรัพย์นิรันดร์ ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว ได้ชื่อ สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เด็กชายที่เรียนหนังสือจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ ใช้ชีวิตย่านฝั่งธนฯ ต่อมา ใน พ.ศ.2494 เข้าศึกษายังสาขาวิชาการหนังสือพิมพ์ (ภาคค่ำ) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ต้องลาออกเพราะขาดทุนทรัพย์

ทว่า ด้วยความเป็นคน ‘ชอบอ่านชอบเขียน’ มาตั้งแต่เด็กๆ แม้เรียนไม่จบดังตั้งใจ แต่ไม่อาจหยุดยั้งการก้าวเดินสู่เส้นทางน้ำหมึก เพียรส่ง ‘ต้นฉบับ’ ไปยังหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ โดยเรื่องแรกลงในหนังสือรายเดือนชื่อ โฆษณาสาร ของกรมโฆษณาการ ที่มี ชอุ่ม ปัญจพรรค์ เป็นบรรณาธิการ ต่อมามีการประกวดเรื่องสั้น “โบสีฟ้า” ในหนังสือพิมพ์ สยามสมัยรายสัปดาห์ ที่มี ชั้น แสงเพ็ญ เป็นบรรณาธิการ

สำราญได้ค่าเรื่อง 80 บาท ซึ่งเจ้าตัวเคยบอกว่า ‘ดีใจจนกินข้าวไม่ลง’

ต่อมา ลงสนามนักเขียนเต็มตัวในนิตยสาร กระดึงทอง รายเดือน สังกัดเครือไทยพาณิชยการ มี สาทิส อินทรกำแหง นั่งเก้าอี้บรรณาธิการ อันเป็นจุดกำเนิดของนามปากกา ‘หลวงเมือง’ เมื่อราว พ.ศ.2497 หรือ 2498 มีที่มาจากชื่อตัวละครหลวงเมืองในพระราชนิพนธ์ ‘พระร่วง’

จากนั้น ทำหนังสือ สัปดาห์สาส์น ร่วมกับ นิลวรรณ ปิ่นทอง และทำงานกับหนังสือพิมพ์ สยามนิกร สยามสมัย และ พิมพ์ไทย

นอกจากนี้ ยังเป็นนักจัดรายการวิทยุ โดยได้เป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายรายการ สถานีวิทยุเสียงสามยอด แล้วไปดำรงตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เจ้าพระยารายสัปดาห์ อีกทั้งยังทำหน้าที่เขียนบท รายการข่าวสารทางอากาศ ทางสถานีวิทยุ ททท. ตั้งแต่ พ.ศ.2506-2527

งานเขียนสร้างชื่อมีหลากหลายแนว ที่สร้างชื่อเสียงอย่างมาก คือ เรื่องชุด ‘นาฏกรรมเมืองหลวง’ สำหรับผลงานรวมเล่มก็ได้รับความนิยมมาก อาทิ นาฏกรรมในเงามืด ลางสังหรณ์ และอยู่กับผี

ได้รับการยกย่องถึงความโดดเด่นในด้านการใช้ภาษาที่รัดกุม ไม่เยิ่นเย้อ บทบรรยายสั้น แต่อัดแน่นด้วยเรื่องราว สร้างภาพสื่อบรรยากาศ และอารมณ์ได้อย่างดี

อีกหนึ่งนามปากกาที่สายโหราศาสตร์รู้จักดี อย่าง ‘หมอทรัพย์ สวนพลู’ ตั้งโดย ขรรค์ชัย บุนปาน นักข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งในวันนี้คือประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) เมื่อครั้งสยามรัฐ ปรับโฉมครั้งใหญ่ เกิดคอลัมน์ ‘ดวงใครดวงมัน’ ต่อเนื่องยาวนานกระทั่ง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อสัญกรรม หมอทรัพย์จึงย้ายมาเขียนประจำให้ค่าย ‘มติชน’ และสิ่งพิมพ์ในเครือ อาทิ คอลัมน์ “ทรงจำรำลึก” และ “ความทรงจำ” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

ต่อคำว่า ‘นักเขียน’ ที่สำราญยึดเป็นอาชีพมาตลอดชีวิต เจ้าตัวเคยบอกอย่างเรียบง่าย ว่า

“ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่คนทั่วๆ ไปจะเลือกได้ ผมชอบอ่านชอบเขียนเวลาทำงานจึงมีความสุขไปด้วย สำหรับผมพอใจอาชีพนี้มาก”

ครบเครื่องเรื่องความรู้ ปูชนียบุคคล เครือ ‘มติชน’

20 เมษายน พ.ศ.2561 คืออีกหนึ่งวันสำคัญในชีวิตของ สำราญ ทรัพย์นิรันดร์

เป็นวันมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณ “รางวัลคึกฤทธิ์” เนื่องใน “วันคึกฤทธิ์” ประจำปี 2561 โดยมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

‘โดยปรารภเหตุที่ นายสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เป็นนักเขียนอาวุโสผู้มีลักษณะการเขียนโดดเด่น และมีกลการประพันธ์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คณะกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีมติเอกฉันท์ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2561 เห็นสมควรยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้สมควรได้รับ รางวัลคึกฤทธิ์ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2561 เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป’

คือคำประกาศเกียรติคุณ ต่อ สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ซึ่งในขณะนั้น นอกจากยังคงเป็นคอลัมนิสต์เครือมติชน ยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มาอย่างยาวนาน

ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน ผู้ตั้งนามปากกา ‘หมอทรัพย์ สวนพลู’ เอื้อนเอ่ยถึงความรู้สึกที่มีต่อบุคลลท่านนี้ว่า รู้สึก ‘ผูกพันเหมือนญาติผู้ใหญ่’ เพราะเป็นผู้ที่คอยดูแลและให้ความเมตตาต่อตน รวมถึง สุจิตต์ วงษ์เทศ และ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ซึ่งเป็นหลานแท้ๆ มาตั้งแต่ยังเด็ก หากไม่มีสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ตนและเพื่อนๆ อาจไม่ได้อยู่ในวงการหนังสือก็เป็นได้ เนื่องจากเมื่อหลายสิบปีก่อนครั้งยังเป็นวัยรุ่น เคยได้รับการสนับสนุนจากท่าน

ขรรค์ชัย บุนปาน

ถามว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากนักเขียนอาวุโสท่านนี้คืออะไร ได้คำตอบว่า

“ท่านเป็นคนมีความรู้จริงๆ แต่ไม่เคยคุย ไม่โอ้อวด เป็นคนเขียนหนังสือได้หลากหลาย และมีอารมณ์ขัน เรื่องสั้น เรื่องผี เขียนได้หมด พื้นฐานความรู้เยอะ เรียกว่าครบเครื่อง เพราะอ่านหนังสือมาก นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้ แม้ได้พบกันครั้งสุดท้ายที่มติชนเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่โทรศัพท์คุยกันตามโอกาสต่างๆ ท่านจากไปอย่างสงบแล้ว โดยคนรุ่นหลังสามารถเรียนรู้จากท่านผ่านผลงานที่ได้ฝากแนวคิดไว้”

‘เปิดทาง สร้างคน’ ต่อยอดประวัติศาสตร์สิ่งพิมพ์ไทย

ไม่เพียงสร้างผลงานระดับตำนานทิ้งไว้เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลัง สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ยัง ‘สร้างคน’ ในวงการหนังสือไว้มากมายดังที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดัง กล่าวไว้ว่า ‘น้าราญ’ คือ ผู้เปิดทางสร้างสรรค์ให้ 3 เกลอในมติชน

“ราว 50 กว่าปีมาแล้ว สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เป็นผู้เปิดประตูเริ่มแรกสุดเข้าสู่โลกของหนังสือพิมพ์อันไพศาลอย่างหาขอบเขตมิได้ตราบจนทุกวันนี้ ให้แก่วัยรุ่นนอกคอกอย่างนอบน้อมที่กำลังหัวหกก้นขวิดเรียนหนังสือตกๆ หล่นๆ 3 คน ชื่อ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์, ขรรค์ชัย บุนปาน, สุจิตต์ วงษ์เทศ”

สุจิตต์ขยายความต่อไปโดยเล่าย้อนอดีตว่า ตนและขรรค์ชัย กับเรืองชัย คือนักเรียนร่วมชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ โดยพร้อมใจกันสอบตก วันหนึ่งในพุทธศักราช 2508 เรืองชัยซึ่งเป็น ‘หลานน้า’ ของ สำราญผู้อาศัยในบ้านตึกแถวใกล้ทางรถไฟตลาดพลู มาบอกว่า น้าราญให้ไปทำหนังสือช่อฟ้า นิตยสารรายเดือนของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นงานของกิตติวุฒโฑที่มอบหมายให้ สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เป็นบรรณาธิการ

วันนั้น เปลี่ยนชีวิตของเด็กหนุ่มทั้ง 3 ไปตลอดกาล

สุจิตต์ วงษ์เทศ

“ช่อฟ้านิตยสารรายเดือน มีบรรณาธิการชื่อ สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ มอบวัยรุ่นนอกคอก 3 คน ทำทั้งหมดอย่างเสรีโดยไม่มีแทรกแซงใดๆ เท่ากับเปิดประตูเริ่มแรกสุดเข้าสู่โลกของคนทำหนังสือ แล้วคืบคลานต่อไปสู่โลกของหนังสือพิมพ์อันไพศาล กระทั่งขรรค์ชัยสร้างสรรค์เป็นเครือมติชนทุกวันนี้

ราว 3-4 ปี ของช่อฟ้า ทำให้คับคั่งด้วยพี่น้องญาติมิตรสนิทสนมทางงานวรรณกรรมกับศิลปกรรม รวมกลุ่มเป็น ‘หนุ่มเหน้าสาวสวย’ ซึ่งขรรค์ชัย ได้ถ้อยคำจากโคลงทวาทศมาส ยุคต้นอยุธยา

หลังจากนั้นก็ต้องคืนช่อฟ้าให้ทางมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ เอาไปทำเองในแนวเผยแพร่อภิธรรมตรงๆ ซึ่งเรา 3 คนไม่สันทัดทางธรรมอย่างนั้น เลยต้องถอนตัว”

แม้ไม่ได้ทำนิตยสารช่อฟ้าแล้ว แต่การเปิดประตูบานใหญ่จากสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ได้กรุยทาง สร้างประสบการณ์ที่ส่งผลให้เกิดนิตยสารซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในตำนานสิ่งพิมพ์ไทย อย่าง ‘ศิลปวัฒนธรรม’

ช่อฟ้า มีเนื้อหาส่วนมากหนักทางศิลปวรรณกรรม และประวัติศาสตร์โบราณคดี แล้วให้มีต้นฉบับธรรมะสอดแทรกบ้างไม่มากจากประสบการณ์นั้นจึงมีส่วนสำคัญให้ผมทำหนังสือแนวใกล้เคียงกันอีก 2 ชื่อ ได้แก่

1.โบราณคดี วารสารวิชาการ (ราย 3 เดือน) ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มราว พ.ศ.2510 โดยศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (คณบดีคณะโบราณคดี) เป็นบรรณาธิการ แล้วมอบหมายให้ผมทำแทนทั้งหมด (รวมทั้งค่าพิมพ์โดยหารายได้จากโฆษณาเป็นเล่มๆ ไป เพราะไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยสมัยนั้น)

2.ศิลปวัฒนธรรม นิตยสารรายเดือน (ฉบับแรก พฤศจิกายน 2522) ทำขึ้นจากประสบการณ์, ข้อมูล, ทรัพยากร ฯลฯ อันเป็นมรดกตกทอดจากช่อฟ้าและโบราณคดี”

นี่คือมรดกจาก ‘น้าราญ’ ที่สุจิตต์ไม่เคยลืม

พลังสร้างสรรค์ อารมณ์ขันใน ‘เดินตามดาว’
ไอดอล คนหลากรุ่น

“น้าราญ อ่านมากทั้งตำราและไม่ตำรา ขณะเดียวกันมีความทรงจำมหาศาลทั้งในตำราและนอกตำรา โดยเฉพาะเรื่องราวทางวรรณคดีเก่าๆ จนถึงวรรณกรรมร่วมสมัย จึงมีพลังสร้างสรรค์ไม่สิ้นสุด ถ้าอ่าน ‘เดินตามดาว’ ในมติชน สุดสัปดาห์ จึงเหมือนอ่านงานวรรณกรรมสร้างสรรค์มีอารมณ์ขันทุกสัปดาห์ จนผมลืมคำทำนายทุกอาทิตย์”

คำสารภาพที่ยากจะเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อว่าหนุ่มใหญ่สไตล์ดุดันอย่าง สุจิตต์ จะชอบอ่าน ‘ดวง’

ด้าน เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ หลานแท้ๆ ของสำราญ จากเด็กหนุ่มในวันนั้น คือ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ในวันนี้ รับว่ามี ‘หลวงเมือง’ เป็น ‘ไอดอล’

“ต้องบอกว่าเป็นอย่างนั้น แม้แต่สุจิตต์เองก็บอกว่าหลวงเมืองเป็นที่มาที่ไปของเราสามคน เพราะว่าต่อมาเวลามีงานหนังสือเขาจะให้เราสามคนทำ แล้วทั้งสองคนก็มีหัวในการทำหนังสืออยู่ ตอนหลังที่ทำหนังสือช่อฟ้า น้าสำราญเป็นคนให้เรียกขรรค์ชัยเข้ามาช่วยทำ” เรืองชัยให้สัมภาษณ์ครั้งได้รางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์ใน ประจำปี 2561

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เจ้าตัวยังย้อนเล่าถึงนามปากกา ‘จ่าบ้าน’ ของตนที่พ้องกับ ‘หลวงเมือง’ ของน้าแท้ๆ โดยเล่าด้วยว่า สมัยเรียนมัธยม หลวงเมือง-น้าสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ซึ่งได้ทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์แล้ว มีหนังสือมาให้อ่านเยอะ ทั้งหนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม เมื่ออ่านมากก็มีแรงบันดาลใจในการเขียน จากเรียงความหน้าชั้นเรียน สู่บทความในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ กระทั่งเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารช่อฟ้า แล้วเดินบนถนนสายหนังสือพิมพ์ตลอดมาจนถึงวันนี้ที่ยังมีข้อเขียนสม่ำเสมอในสิ่งพิมพ์เครือมติชน

กล่าวได้ว่า เป็นอีกหนึ่งผลิตผลจากการปลุกปั้นของบุคคลนาม สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ แม้กระทั่งในช่วงบั้นปลายชีวิต ยังให้คำตอบเมื่อถูกถามถึงคำแนะนำในการทำงานของนักเขียน นักข่าวยุคใหม่ ตอนหนึ่งว่า

“อ่านตำราเยอะๆ และตั้งใจทำด้วยความเคารพ”

ด้วยความรำลึกถึง สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ 29 พฤษภาคม 2471-10 มีนาคม 2563

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image