นักศึกษาขยับ ประชาชนเคลื่อนไหว ชักธงแก้ไข รธน.60 ในวันที่สังคมขอ ‘เปลี่ยน’

“ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและอาจสุกงอมในไม่ช้า”

คือเหตุผลจากปาก รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ประธานคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ที่มีต่อการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ให้เขยิบขึ้นมาเร็วไว จากเดิมวางแผนไว้รุกหนักในปีปลายนี้ ให้ออกสเต็ปรุกเร้าเข้าจังหวะที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามาจากการเปิดฉาก “แฟลชม็อบ” โดยนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ

นับจากการถือไมค์ประกาศขยับแอ๊กชั่นในค่ำคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ในงาน “รัฐธรรมนูญใหม่ ประชาชนต้องเป็นผู้เขียน” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ล่าสุด ช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม ครช.ร่วมกับเครือข่าย People Go พร้อมด้วยประชาชน นิสิต นักศึกษา พากัน “เดินเท้า” จากสถานี MRT กำแพงเพชร ไปยังรัฐสภา เกียกกาย ยื่นเอกสารต่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

กระทั่งบ่ายวันเดียวกัน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ.เป็นประธานเปิดเวทีให้นักศึกษาแสดงความเห็น บรรยากาศ “จัดเต็ม” อย่างไม่ต้องเดาล่วงหน้า เมื่อพบว่าตัวแทนนักศึกษาล้วนคุ้นหน้าค่าตาจากแฟลชม็อบ จัดเป็น “ตัวท็อป” บนเวทีปราศรัยในรั้วสถานศึกษา

Advertisement

นี่คือ “ความเคลื่อนไหว” ครั้งใหม่ที่และแล้วก็ปรากฏ

‘ครช.’ ร้องตั้ง ‘ส.ส.ร.’
ตรา พ.ร.บ.ฟังความเห็นประชาชน ในยุค #ผนงรจตกม

ในช่วงที่ตัวย่ออย่าง ผนงรจตกม และอื่นๆ อีกมากมายฮิตหนักมากในโลกออนไลน์และแผ่นป้ายในแฟลชม็อบ

ยังมีตัวย่อเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองอีกหลายตัวให้ต้องเริ่มจดทดไว้ในใจ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญของแถลงการณ์โดย ครช.ที่เรียกร้องให้ตั้ง ส.ส.ร.และตรา พ.ร.บ.การรับฟังเสียงประชาชน ดังที่ปรากฏในแถลงการณ์ซึ่งตัวแทน ครช.อ่านในดีเดย์ ศุกร์ 13 ใจความสำคัญถึงหลักเกณฑ์และแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ ดังนี้

Advertisement

1.ตรา พ.ร.บ.การรับฟังความเห็นจากประชาชนว่าควรจะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และให้ความเห็นของประชาชนมีผลผูกพันทางกฎหมายและทางการเมืองต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแก้รัฐธรรมนูญ

2.ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติม โดยมีสาระสำคัญคือ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ใช้จำนวนราษฎรเป็นเกณฑ์กำหนดจำนวน ส.ส.ร.แต่ละจังหวัด และให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการรับฟังความเห็นตลอดกระบวนการ, แก้ไขมาตรา 256 เรื่องหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยเพียงเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง, ให้เขียนบทเฉพาะกาลของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ให้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาใช้ และจัดการเลือกตั้ง พร้อมให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ

สำหรับข้อเสนอเกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ ครช.เห็นควรต้องให้ความสำคัญมี 2 ประเด็นหลักคือ 1.สร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เข้มแข็ง และ 2.สร้างกลไกเข้าสู่อำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน

ย้อนอ่าน : รายงานหน้า2 : ฟังข้อเสนอ‘ครช.-น.ศ.’ แก้ไข‘รัฐธรรมนูญ’

ยก (รธน.) 40 โมเดล จี้เลิกนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร
‘อย่าเปลืองหน้ากระดาษรับรอง’

มาถึง “คอมเมนต์” ของนักศึกษา ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นมือปราศรัยจากภาคีนักศึกษาศาลายา ม.มหิดล บุญเกื้อหนุน เป้าทอง ที่เพิ่งกล่าวถ้อยคำจับใจมวลชนในงานอาลัยผู้พิพากษา “คณากร เพียรชนะ” ณ ลาน 6 ตุลา รั้วท่าพระจันทร์

สำหรับเวทีนี้ บุญเกื้อหนุนบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเราไม่ได้เลือกมา ไม่มีปาก ไม่มีเสียงอะไรเลย แถมยังใช้อำนาจรัฐทุกช่องทางในการปิดเสียงคนเห็นต่าง

อย่างไรก็ตาม นักศึกษาที่มาวันนี้ไม่อาจเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็นตัวแทนนักศึกษาทั้งหมด ดังนั้น ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรจึงทำให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้มากที่สุด จึงอยากเรียกร้องให้ กมธ.เปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย

“เราให้คำมั่นสัญญาว่าหากทุกคนเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากพวกเราอย่างแท้จริง ขอให้ยื่นมือออกมา พวกเราพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่”

 

หันมาทาง พร้อมสิน บุญจันทร์ จากภาคีนักศึกษาามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ซึ่งนำประชาชนหน้าลานพ่อขุนรามคำแหงชูสามนิ้วตะโกนทวงคำสัญญาจาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ว่า ถ้าประชาชนไม่ต้องการ ตนก็พร้อมจะลาออก สุดท้ายแม้การทวงไม่ประสบผล แต่พร้อมสินไม่ท้อ ขอมาเรียกร้องปมแก้รัฐธรรมนูญต่ออีกทาง

“วันนี้ขอถามว่าเรียกพวกเราไม่กี่คนมาทำอะไร เพราะเวลาในการจัดเวทีครั้งนี้เพียงครึ่งวันในการรับฟังปัญหาและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คิดว่าเวลาไม่เพียงพอและวิธีการนี้ไม่ได้ผล ที่ผ่านมาเรามีการจัดแฟลชม็อบตามมหาวิทยาลัย เพื่อให้ กมธ.ได้ลงไปรับฟังความคิดเห็นตามที่นักศึกษาเสนอ เพราะตัวแทนนักศึกษาไม่กี่คนที่มานั่งอยู่ในห้องนี้ช่วยอะไรพวกท่านไม่ได้ เราเสนอความเห็นอะไรไม่ได้ เพราะไม่สามารถพูดได้ว่าพวกเราเป็นตัวแทนนักศึกษานับแสนคนทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม มาตรา 44 ได้ให้สิทธิสามารถชุมนุมไว้ แต่ก็มีการเข้ามาห้ามโดยอ้างเรื่องความมั่นคง จึงอยากถามว่าความมั่นคงนี้เป็นของใคร ประเทศชาติ ประชาชน หรือความมั่นคงของอดีต คสช. วันนี้เราจึงขอเชิญพวกท่านลงไปรับฟังความคิดเห็นที่มหาวิทยาลัย ไม่ต้องกลัวโควิด-19 พวกเราเตรียมความป้องกันไวรัสไว้แล้ว”

นอกจากนี้ นักศึกษายังได้เรียกร้องให้ยกเลิกบทเฉพาะกาล มาตราสุดท้ายที่นิรโทษกรรมให้กับการรัฐประหารของ คสช. เพราะเห็นว่าคนที่ทำการรัฐประหารควรได้รับการลงโทษ อีกทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองหน้ากระดาษในการเขียนรับรองเรื่องนี้ไว้

อีกหนึ่งไฮไลต์สายนักศึกษา ยกให้ วิริยะ ก้องศิริวงศ์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีบทบาทไม่ธรรมดา เพราะเป็นนักกิจกรรมตัวยงผู้ลงสมรภูมิโต้เถียงปัญหากฎหมายไทย ที่ มธ.ศูนย์รังสิต รองประธานกรรมาธิการกฎระเบียบนักศึกษา ผู้ซึ่ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อันแข็งแกร่งเคยเข้าพูดคุยครั้งเกิดวิวาทะกรณีบุคคลในทีมงานของผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทยร่วมงานบวชเสียงดังทั้งยังโพสต์ขู่

สำหรับงานนี้ วิริยะจัดเต็มสไตล์นักเรียนกฎหมาย โดยลงรายละเอียดไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิทธิเสรีภาพ ซึ่งในมาตรา 34 ให้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น แต่ห้อยท้ายว่า “เว้นแต่มีกฎหมายความมั่นคงของรัฐ” ตนจึงขอเสนอให้เขียนให้ชัดเจนว่ากฎหมายเหล่านี้ควรตีความอย่างไร

ไม่ใช่อ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐและความเป็นคุณกับรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังเสนอให้แก้มาตรา 91 ว่าด้วยวิธีการคำนวณ ส.ส. เรื่องนี้ข้อดีคือจะทำให้พรรคใหญ่ไม่มีเสียงที่มากจนเกินไป และให้พรรคเล็กได้มีพื้นที่ แต่หากพรรคการเมืองที่มีเสียงน้อยเกินไป ไม่มีระบบการจัดการจะไม่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของพี่น้องได้อย่างแท้จริง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังควรแก้ไขมาตรา 159 ที่ว่าด้วยที่มานายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ ควรมาจาก ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา รวมถึงมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเลือกกันมาเอง มีที่มาไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญกลับกำหนดให้ต้องใช้เสียง ส.ว.จึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ตรงนี้เป็นเสมือนกุญแจล็อกประเทศให้นิ่งอยู่กับที่

ไหนจะองค์กรอิสระตามมาตรา 230 และมาตรา 247 วันนี้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก แต่ไม่มีอำนาจใดในการตัดสิน ทุกเรื่องจะถูกเขียนส่งไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีอำนาจในการฟ้องศาลกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนำเรื่องนี้ออกไป และทำให้เรื่องเหล่านี้กองอยู่ที่ กสม.โดยไม่ได้รับการแก้ไข

“ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ ใช้รูปแบบรัฐธรรมนูญ ปี’40 โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่าง เพราะรัฐธรรมนูญที่ไม่ดีย่อมทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่ดี การมีรัฐธรรมนูญที่ดีจะทำให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้” นักศึกษานิติศาสตร์ มธ.นำเสนออย่างเป็นฉากๆ

ย้อนโฟกัส ‘กลุ่ม รธน.ก้าวหน้า’ 5 ยกเลิก 5 ยกระดับ

แน่นอนว่าข้อเสนอต่างๆ ทั้งจากถ้อยแถลงของ ครช.และความเห็นจากนักศึกษา ไม่ใช่ข้อเสนอครั้งแรกๆ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้อนไปก่อนหน้านี้ พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม ในฐานะกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า เคยเล่าต่อหน้าฝูงชนที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ว่า

ใครคิดว่านักศึกษาออกมาเพราะการยุบพรรคอนาคตใหม่ ขอให้คิดใหม่ เพราะคำตอบที่ได้คือ พวกเขาสู้เพื่ออนาคตประเทศไทย เพื่อให้ทหารกลับกรมกอง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ปราศจากการสืบทอดอำนาจ เพื่อให้อนาคตประเทศไทยมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ เพื่อให้ไทยหลุดจากความ “สองมาตรฐาน” อย่างไรก็ตาม ไอติมมองว่าแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุบสภา ลาออก แต่ประเทศยังมีทหารหลายนายพร้อมเสียบแทน นอกจากนี้ยังมีกติกาที่สามารถทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาได้อีก เช่น กลไก ส.ว.และระบบต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น จึงมองว่าต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญ 2560 โดยเสนอ 10 ข้อในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยแบ่งเป็น 5 ยกเลิก และ 5 ยกระดับ ได้แก่

5 ยกเลิก

1.ยกเลิกรัฐธรรมนูญแบบมัดมือชก

2.ยกเลิกรัฐธรรมนูญแบบแก้ไม่ได้

3.ยกเลิกการอ้างความมั่นคง ด้วยการแก้ไขมาตรา 25

4.ยกเลิกกติกาที่มีแต่ความงงในการเลือกตั้ง กลับสู่การเลือกตั้งโดยบัตร 2 ใบ

5.ยกเลิก ส.ว.อำนาจล้นมือ

5 ยกระดับ

1.ยกระดับสิทธิเสรีภาพ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

2.ยกระดับคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี โดยต้องเป็น ส.ส.ด้วย

3.ยกระดับองค์กรอิสระให้มีความเป็นกลาง ยึดโยงประชาชน

4.ยกระดับประชาธิปไตยโดยคืนสิทธิเดิมที่ประชาชนเคยได้รับในรัฐธรรมนูญ ฉบับปีཤ

5.ยกระดับท้องถิ่น กระจายอำนาจ จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด

เป็นอีกมุมมองจากภาคประชาชนที่ร่วมกันนำเสนอ

‘อย่าใช้พาราฯ แก้โควิด-19’
ครป.ขีดเส้น แก้ รธน.ใน 2 เดือน

อีกหนึ่งกลุ่มที่ฟิตมากในการจี้แก้รัฐธรรมนูญ คือ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. ซึ่งจัดเสวนาไม่ขาดสายจนจดข้อเสนอแทบไม่ทัน

ล่าสุด รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป.บอกว่า รัฐบาลกำลังเดินใกล้ตกหน้าผา ภาพลักษณ์เสื่อมทรุด มุ่งหน้าไปสู่วิกฤตความชอบธรรม ขณะที่นักศึกษาอยากได้เสรีนิยมประชาธิปไตย อยากได้รัฐธรรมนูญและการมีส่วนร่วม แต่ชนชั้นนั้นนำอยากได้ประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม

“การปรับ ครม.เหมือนการกินยาพาราแก้โรคไวรัสโควิด-19 มันแก้ปัญหาไม่ได้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วทำให้เสร็จภายใน 2 เดือน โดยเปิดให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะแก้ไขปัญหาการต่อต้านรัฐบาลได้ อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะเลือกอยู่กับกลุ่มทุนผูกขาดประเทศไทย หรือจะเลือกอนาคตของลูกหลานไทย”

เช่นเดียวกับ เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. ที่มองว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เหลือเวลาอยู่ไม่มากแล้ว ดังนั้น จึงต้องหาทางลงจากหลังเสือให้ดีที่สุด โดยการประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเพื่อการปรองดอง หยุดปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ปฏิรูปกองทัพและหยุดยั้งทุนผูกขาดกินรวบประเทศไทย

คือส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในปมแก้รัฐธรรมนูญที่ทวีความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ เมื่อประชาชนขยับและไม่มีสัญญาณใส่เกียร์ถอยย้อนลงคลองสายเก่าที่ถูกขุดไว้อย่างไม่ชอบธรรม

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image