‘โควิด’ วิกฤตโลก ‘มันยากกว่าที่คิดไว้เยอะ’

Photo by Maria TAN AFP

167,444

คือตัวเลขที่ถูกเผยแพร่ เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ทั่วโลก

6,484

คือจำนวนผู้เสียชีวิตล่าสุดที่ถูกเปิดเผยในช่วงเช้าวันเดียวกัน

Advertisement

ยุโรป คือพื้นที่ซึ่งมียอดผู้เสียชีวิตภายใน 1 วันสูงที่สุด โดย อิตาลี มีอัตราเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ สูญเสียประชาชนวันละกว่า 300 ราย ส่งผลให้เป็นรองก็เพียง จีน ด้วยสถิติ 1,809 คน

หันกลับมาในประเทศไทย ยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนดัง นายทหาร พนักงานดับเพลิง นักการเมืองท้องถิ่น ทยอยอยู่ในลิสต์รายชื่อ มหาวิทยาลัยหลายแห่งประกาศสอนออนไลน์ ยกเลิก ‘วันหยุด’ สงกรานต์ เพราะห่วงการเดินทางกลับบ้านเกิดจะนำพาเขื้อแพร่กระจาย ตั้งศูนย์โควิด กระทั่งสั่งปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ สนามกีฬา โรงภาพยนต์ คอนเสิร์ต อีเวนต์ใหญ่ และอีกมากมาย

ในค่ำคืนนี้จะมีปฏิบัติการ ‘ล้างเมือง’ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หวังกำจัดไวรัสร้าย

Advertisement

ไม่เพียงประเด็นความเป็นความตาย แต่เศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณทรุดหนัก ก็ยิ่งเข้าข่ายเปิดห้องไอซียู ภาพที่โลกไม่คิดว่าจะได้เห็นก็ปรากฏต่อสายตา ดังเช่นสนามบินสุวรรณภูมิที่แทบร้าง แหล่งเที่ยวสำคัญที่เงียบเหงา สนามมวย โรงภาพยนตร์ ผับบาร์ ทยอยปิดชั่วคราว ยังไม่นับการแห่กักตุนอาหาร น้ำดื่ม และข้าวของเครื่องใช้ที่ทำให้ชั้นวางอันเคยอัดแน่นด้วยสินค้า กลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่าในหลายแห่ง

เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่มนุษยชาติไม่ทันตั้งตัว แต่ต้องร่วมต่อสู้ไปพร้อมๆ กัน

สนามบินสุวรรณภูมิที่ร้างผู้คน ภาพจากเฟซบุ๊ก นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.

ประชาชนไทย ‘ไม่โง่’
3 ขั้นตอนดูแลตัวเอง ใน ‘เหตุการณ์ของประเทศ’

“คนไทยเป็นคนฉลาด รู้รักษาตัวรอด”

คือคำกล่าวของ พล.อ.ท.นพ.วิศิษฐ์ ดุสิตนานนท์ อดีตผู้ชำนาญการด้านการแพทย์กองทัพอากาศในวันก่อนที่จะมี ส.ส.ฝั่งรัฐบาลอาจหาญโพสต์เฟซบุ๊ก ‘ประชาชนโง่ เราจะตายกันหมด’

นพ.วิศิษฐ์ กล่าวบนเวทีที่โถงโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ในวันแถลงข่าวแผนเปิดสถานพยาบาลฉุกเฉินรับมือโควิด-19 ตอนหนึ่งว่า

การปฏิบัตินง่ายๆ อันดับแรก ขอให้ทำหน้ากากผ้า คนละ 3 ชิ้น ใช้เสร็จซักด้วยสบู่ หรือไปต้ม ก็กลับมาใช้ได้ใหม่ ไม่ต่องพึ่งพาร้านขายยาหรือรัฐบาล ออกนอกบ้านเอาติดตัวไป กลับมาก็ซักหรือต้ม

อย่างที่ 2 การล้างมือ ทางทฤษฎีแล้วสบู่ดีที่สุด มีมากมาย ราคาถูก ถ้าไม่สะดวก เจลแอลกอฮอล์ใช้ได้ จริงๆ 65% ก็ใช้ได้แล้ว แต่ถ้าไม่มีทั้งสบู่และเจล น้ำเปล่าๆ ก็ได้

อย่างที่ 3 รักษาระยะห่าง ไปไหนๆ ยืนให้ห่างชาวบ้านไว้ก่อน ถ้าไม่จำเป็นช่วงนี้อย่าออกงาน รอให้การระบาดซาก่อน

อาจเป็นข้อมูลทั่วไปที่คนไทยรับรู้อยู่แล้ว แต่การผลิตซ้ำข่าวสาร การป้องกันตัวเองยังเป็นสิ่งสำคัญ

ไม่เพียงเท่านั้น อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์กองทัพอากาศท่านนี้ยังเปิดเผยว่า ในกระทรวงสาธารณสุขเองก็เตรียมพร้อมแทบทุกอย่าง ส่วนในต่างประเทศทราบว่าจีนและอเมริกาจะผลิตวัคซีนออกมาให้ชาวโลกได้ใช้กัน

“คิดว่าปีนี้เป็นปัญหา แต่อีก 2-3 ปีข้างหน้า หลายๆ อย่าง แพทย์จะควบคุมโรคให้กลายเป็นโรคตามฤดูกาล ทุกปีมี แต่ไม่มาก เพราะคนมีภูมิต้านทาน พอเป็นหนักก็มียารักษา โอกาสที่จะเสียชีวิตมากๆ อย่างในรายงานต่างๆ คงลงน้อยลง

“สำหรับการเตรียมพร้อมของภาครัฐ ในกรณีที่มีการระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 โรงพยาบาลที่มีอยู่ต้องแปลงมารับเฉพาะโรค

“การที่ภาคเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในสถานการณ์ครั้งนี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ของประเทศ ถือว่ามีใจจะเข้ามาช่วย เป็นความคิดที่ดี เพราะมีเครื่องมือทันสมัย เช่น ตรวจได้เร็ว และแม่นยำ” นพ.วิศิษฐ์ทิ้งท้าย

ชั้นวางสินค้าที่ว่างเปล่าหลังคนไทยแห่กักตุนอาหารและของใช้จากความวิตกในสถานการณ์โควิด-19

พีคสุด ‘ฤดูฝน’ ระบาดหนักกรกฎา วอนรัฐ ‘อย่าปิดข้อมูล’

“มันยากกว่าที่พวกเราคิดไว้เยอะ” คือคำกล่าวตอนหนึ่งของ นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ต่อสถานการณ์ต้านโควิด-19

“ถ้าขึ้นระยะ 3 ไม่อยากพูดให้ตกใจ แต่เราเลี่ยงไม่ได้ พีคของตัวนี้คือหน้าฝน เมืองไทยจะระบาดหนักราวกรกฎาคมถึงกันยายน ซึ่งในช่วงเดือนเมษายนนี้จะรู้แล้วว่าจะเข้าสู่ระยะ3 หรือเปล่า”

ระยะ 3 ที่ว่านี้คือการระบาดไปทั่ว โดยหาสาเหตุที่มาที่ไปไม่ได้ ต่างจากระยะ 1 และ 2 ที่รู้ว่าติดมาจากแหล่งไหน เช่น ติดต่อกับคนที่กลับจากต่างประเทศ

นายแพทย์บุญยังเปิดเผยข้อมูลชวนตกใจที่ว่า ในจีนพบว่าไวรัสตัวนี้กลายพันธุ์ทุกวัน เพราะฉะนั้นวัคซีนที่ออกมาจะได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์ ไม่ทราบ และโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดจากไวรัสตัวนี้ จีนก็พยายามชันสูตรศพเพื่อดูสาเหตุการตายที่สำคัญที่สุดคือปอดจะมีมูกเหนียวมากๆ ไปอยู่ในถุงลม ทำให้ออกซิเจนไม่สามารถเข้าร่างกายได้ นี่เป็นสาเหตุการตาย 95% เพราะฉะนั้นจะต้องเตรียมรักษาคนไข้หนักเอาไว้ อย่างหนึ่งที่ทำได้คือการให้เพื่อลดจำนวนไวรัสให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

แม้ในความรู้สึกของคนไทยจะมองว่าขณะนี้เข้าสู่ระยะ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่รัฐบาลแถลงยืนยันยังอยู่ในระยะที่ 2 เช่นเดียวกับนายแพทย์บุญในวันนั้นที่เชื่อว่าระยะ 3 จะมาราวเดือนกรกฎาคม

จากซ้าย ดร.นพ.บุญ วนาสิน และ พล.อ.ท.นพ.วิศิษฐ์ ดุสิตนานนท์ ในงานแถลงข่าวแผนสร้างสถานพยาบาลฉุกเฉินรับมือ โควิด-19

“คาดว่าสถานการณ์การระบาดจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ในเดือนกรฎาคม ซึ่งส่วนตัวหวังว่าจะไม่เกิด แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงๆ ก็พร้อมรับมือ ถือเป็นบทบาทของภาคเอกชนที่จะช่วยภาครัฐ เนื่องจากมีความพร้อมในด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาขอชื่นชมกระทรวงสาธารณสุขที่รับมือได้อย่างดี

“สำหรับการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป คือการเตรียมเปิดคลินิกธนบุรี บางซื่อ ตามแนวคิดการสร้างสถานพยาบาลฉุกเฉินหรือคลินิกพิเศษสอดรับแนวทางของรัฐบาล โดยใช้ตัวอย่างโรงพยาบาลฉุกเฉินอู่ฮั่นโมเดลของจีน เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ใน 3-6 เดือนข้างหน้า

“ข้อสำคัญที่สุด ห้ามปิดข้อมูล ต้องแจ้งให้ประชาชนทราบ ถึงแม้คนไทยจะมีระเบียบวินัยเท่าคนอื่นไม่ได้ แต่ต้องบอก” นพ.บุญกล่าว ทั้งยังยอมรับว่า หากไทยเข้าสู่ระยะ 3 จริงๆ โรงพยาบาลไม่มีทางรับได้ทั้งหมด

“ผมพูดมาเดือนหนึ่งแล้วว่าอย่างไรก็ต้องมีการระบาดเกิดขึ้น เราก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่คนไทยค้องร่วมมือกัน และสู้ไปด้วยกัน ไม่ว่าเอกชน รัฐบาล เพื่อให้เหตุการณ์นี้ผ่านไปด้วยดี”

เปิดจุดอ่อน สแกนความเสี่ยง ‘ผลลบปลอม’
กลายพันธุ์ไว เปิดแผน 3 เฟส รับมือ

ดังที่กล่าวมาข้างต้นถึงความน่ากลัวในประเด็นการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งประเด็นนี่ นพ.บุญระบุว่า ต้องอาศัยเทคโนโลยีการตรวจที่ทันสมัย เพราะในปัจจุบันผู้ป่วยหลายรายที่ไม่มีอาการ แต่เป็น ‘พาหะ’ และไม่สามารถตรวจพบเชื้อ หรือ ‘ผลลบปลอม’ (False Negative) อันมีสาเหตุจากการเก็บสารตัวอย่างในลำคอ จมูก ที่ไม่ได้มาตรฐาน การเก็บสารตัวอย่างไม่ถูกวิธี หรือผู้ป่วยมีเชื้อในปริมาณน้อย เพราะมีระยะฟักตัว หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันสูง

สำหรับวิธีการตรวจในปัจจุบัน นอกจาก PCR หรือ Polymerase Chain Reaction Test เพื่อตรวจภูมิคุ้มกัน หรือแอนตี้บอดี้ของร่างกายแล้ว ยังใช้วิธีตรวจทางพันธุกรรม ซึ่งผลแม่นยำขึ้น โดยไม่เพียงสามารถบอกชนิดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ยังบอกเปอร์เซ็นต์ของไวรัสและเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง คือราว 40,000 บาท

มาถึงประเด็นการรับมือโดยภาคเอกชน โรงพยาบาลธนบุรีซึ่งวางแผนไว้ 3 เฟส ได้แก่

เฟส 1 เปิดคลินิกคัดแยกผู้ป่วย และห้องปฏิบัติการทันสมัยที่บางซื่อ บนพื้นที่ 3 ไร่ ใกล้ทางด่วน สถานีรถไฟ และสถานีขนส่งผู้โดยสาร โดยจะเปิดทำการทันทีที่ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนนี้คาดว่าอีก 2 สัปดาห์สามารถเปิดได้

เฟส 2 โรงพยาบาลสนาม กรณีแพร่ระบาดสู่ขั้น 3 จะพัฒนาพื้นที่สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ แต่ไม่วิกฤต 200 เตียง และห้องผู้ป่วยวิกฤต 50 เตียง ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า บนพื้นที่ 4 ไร่ ใช้เวลาเตรียมการ 6-8 เดือน

เฟส 3 โรงพยาบาลพักฟื้น สำหรับรองรับผู้ป่วยจำนวนมากเพื่อการรักษาตัวและฟื้นฟูร่างกาย รองรับผู้ป่วยได้ 1,000-1,500 เตียง ปัจจุบันมีความพร้อมทั้งโรงพยาลในเครือธนบุรี ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

ไวรัส สงครามที่โลกไม่ได้เตรียมตัว
คนไข้อีกราย คือ ‘ระบบเศรษฐกิจ’

ปิดท้ายด้วยประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ จากวันนี้สู่อนาคต ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดเด่นชัดว่า ยุโรป น่าห่วงอย่างยิ่ง ย้อนไปในประวัติศาสตร์ก็เคยมีเหตุการณ์เทียบเคียง ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งปาฐกถา 20 ปีโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ในวันที่การแพร่ระบาดยังไม่รุนแรงเท่านี้ ตอนหนึ่งว่า ตอนสงครามโลกครั้งที่ 1 คนตายมากมาย โดยเฉพาะชนชั้นนำที่ส่งลูกหลานไปรบ เพราะเชื่อมั่นในเทคโนโลยีของตัวเอง สุดท้ายไม่ได้ตายด้วยระเบิดหรือลูกปืน แต่จบชีวิตด้วย ‘เชื้อโรค’ ที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน

ตัดฉากมาในปัจจุบัน ศ.ดร.ธเนศมองว่า ก่อนหน้านี้สังคมนิยมจีนเองคิดว่าไม่มีใครต้านทานเขาได้ สุดท้ายเจอไวรัส ซึ่งคงนึกไม่ออกมาก่อนว่าจะมีอะไรที่เหนือกว่าระบบของตนอีกหรือ

ยังไม่ต้องย้อนสะกิดปม ‘กักตุนหน้ากากอนามัย’ ที่เกิดข้อครหาในแวดวงการเมืองไทย และวิวาทะรายวันที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของรัฐบาลให้ลดฮวบ ก่อเกิดวิกฤตศรัทธาที่ยากจะปฏิเสธได้

สำหรับสถานการณ์ล่าสุด และมุมมองต่ออนาคตหลังจบสิ้นการระบาด นักวิชาการท่านนี้มีความเห็นว่า

คนป่วยอีกคนจากโรคระบาดนี้คือระบบเศรษฐกิจทั้งโลก ดังนั้น การเรียกร้องให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองและการปกครองจึงมีโอกาสจะเกิดขึ้นมาก

ธเนศ อาภรณ์​สุวรรณ

“น่าสนใจว่ารัฐบาล โดยเฉพาะผู้นำแทบทุกแห่ง ทุกระบบ ประชาธิปไตยถึงคอมมิวนิสต์ ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะใช้มาตรการและวิธีการทางการเมืองและการทหารอย่างไรในการจัดการปัญหาไวรัสนี้ หมายความว่า รัฐบาลและระบบการเมืองมีไว้เพื่อจัดการฝ่ายตรงข้ามและแสวงหาประโยชน์ที่จับต้องได้แก่ฝ่ายตน โรคระบาดเป็นอะไรที่อยู่เหนือจินตนาการและความชำนาญ

“บทเรียนจากการระบาดของไวรัสคือความเสมอภาคเท่าเทียมกันของการติดเชื้อโรคได้ โดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ สีผิว ศาสนา นั่นเองที่ทำให้อุดมการณ์ของความเสมอภาคเท่ากันจริงๆ ของคนปฏิบัติในโลกจริงๆ ได้ยาก เพราะมันต้องทำลายทุกคนที่อยู่ต่อหน้าเสียก่อน แล้วจึงสร้างใหม่ให้เท่ากัน

“อนาคตหลังการระบาดของไวรัสนี้ ประเทศไหนจะฟื้นตัวและก้าวต่อไปได้มั่นคงและมั่นใจกว่าขึ้นอยู่กับพื้นเพศักยภาพและความสามารถของสังคมที่มีสมาชิกมีคุณภาพ นั่นหมายถึงว่า การเกิดรัฐบาลและกติกาในการปกครองไปถึงความยุติธรรม จะสดใสใหม่ขึ้นกระฉับกระเฉงกว่าเก่า หรือย่ำเท้าลากไปตามยถากรรม ก็ขึ้นกับการเก็บรับบทเรียนจากการจัดการปัญหาโรคระบาดใหญ่นี้ว่ากระทำไปอย่างไร อย่างมีระบบและการเรียนรู้ยอมรับซึ่งกันและกัน ระหว่างฝ่ายรัฐ กับฝ่ายสังคม” ศ.ดร.ธเนศกล่าว

นี่คือสถานการณ์สำคัญของโลกที่ต้องจับตาและจารึกไว้ในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของมวลมนุษยชาติ

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image