‘คอร์รัปชั่น’ ไวรัสร้าย ให้ ‘ความโปร่งใส’ คือวัคซีน

ในวันที่ค่าฝุ่นบนท้องฟ้าเริ่มจางลง แต่สถานการณ์ไวรัสยังคงอยู่และดูจะหลีกหนีไม่พ้นการเข้าสู่ระยะที่ 3

ประชาชนแห่กักตุนอาหารและน้ำดื่ม หน้ากากอนามัย-เจลล้างมือขาดตลาด ภาครัฐไทยก็ได้ปิดสถานที่ต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา และฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ไปจนถึงประกาศจัดสวดมนต์เพื่อขับไล่ไวรัสร้ายให้ออกไปจากประเทศไทยในเร็ววัน

ทว่าเรื่องดีที่ได้เห็นในสถานการณ์ที่สุดแสนจะสิ้นหวัง คือ คำบอกใบ้จากธรรมชาติ ทั้งจากข่าวน้ำในคลองที่อิตาลีกลับมาใสสะอาด ภาพจากข้อมูลดาวเทียม ESA ที่เผยมลพิษ ซึ่งลดฮวบหลังปิดประเทศสู้ไวรัส ซึ่งหมายรวมถึงการหยุดเดินทาง และการหยุดผลิตของอุตสาหกรรม คือภาพที่สะท้อนชัดว่า “ยิ่งปิด ยิ่งเคลียร์ได้เร็ว”

กลับกัน นิยามนี้ใช้ไม่ได้กับเรื่องของการ “ทุจริตคอร์รัปชั่น”

Advertisement

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด จัดเสวนา ไม่ทนคนโกง No More Corruption ยิ่งเปิด ยิ่งโปร่งใส ที่ TCDC ภายในอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก เพื่อจุดกระแสสังคมให้ตื่นรู้ถึงปัญหาการทุจริต นำพาสังคมคนรุ่นใหม่ และทุกเพศทุกวัยตั้งคำถามกับ คำว่า “ไม่สุจริต” “ไม่โปร่งใส” ที่ปรากฏอยู่รายรอบตัว

หวังเป็นส่วนหนึ่งในการผสานความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อต่อสู้กับปัญหาทุจริตผ่านการสร้างเครือข่าย #ไม่ทนคนโกง โดยมีจุดหมายสำคัญคือการผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส

ภายในงานยังมีทัพศิลปินแกรมมี่มาร่วมขับขานบทเพลง “ไม่ทนคนโกง” อาทิ วงพาราดอกซ์, ต่าย อรทัย และไผ่ พงศธร ยังมี “ครูสลา คุณวุฒิ” ร่วมพูดคุยถึงแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง “เหนื่อยที่จะยอม” และเพลง “โอ้.. คนไทยเอย” ที่ใช้ขับร้อง

เสียงจาก ‘เยาวชน’ ไม่ทนคนโกง
ส่งต่อพลัง หวังความร่วมมือ

ปณิดา ยศปัญญา หรือแบม เจ้าของรางวัล ANTI-CORRUPTION AWARDS 2019 ร่วมจับไมค์เล่าถึงครั้งเมื่อเป็นนักศึกษาปี 4 ที่ได้เลือกฝึกงานกับหน่วยงานหนึ่งซึ่งมีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะต้องลงพื้นที่พูดคุยกับคนขอทาน คนไร้ที่พึ่ง

ด้วยหวังได้ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส สิงหาคม 2561 จึงเข้าฝึกงานวันแรก แบมเล่าว่า หน้าที่ของเธอคือจัดเย็บเอกสาร จนวันที่ 2-3 เมื่อเริ่มไว้ใจก็ให้คีย์ข้อมูลและเขียนรายชื่อลงไปในโครงการ แต่ด้วยความเอะใจว่าเหตุใดไม่ทำที่สำนักงาน พออ่านโครงการ เขียนว่า “ช่วยเหลือผู้ยากไร้” คุณสมบัติต้องยากจนจริง รายได้ไม่เกิน 3,000 บาท บ้านไม้หรือสังกะสี ไม่มีที่ดินตัวเอง แต่กรณีนี้คือทำในบ้านของผู้อำนวยการ ไม่ได้ไปลงสำรวจพื้นอย่างที่คิดไว้แต่อย่างใด

แฟ้มภาพ

“เงินสนับสนุนรายละ 2,000-3,000 บาท รวมแล้วประมาณ 7 ล้าน หนูจึงกลับไปถามเจ้าหน้าที่ถึงงบประมาณนี้ว่าทำไมเขียนแค่ชื่อ ไม่ลงวันที่ ปรึกษาจนมองว่าเข้าข่าย กลับไปคิดว่าจะทำอย่างไร ชั่งใจ นั่งคิดอยู่นาน เพราะถ้าร้องเรียนก็กลัวมหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียง กลัวเขาไม่เซ็นผ่านฝึกงาน ตัดสินใจถามพ่อแม่ว่ากลัวไหมถ้าจะไปร้องเรียน พ่อแม่บอกว่า ‘ถ้าสิ่งไหนถูก ก็ทำไปเถอะ’ เพราะเราเรียนพัฒนาชุมชนมา เกี่ยวกับการช่วยเหลือคน หากประชาชนไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่ควรช่วยเหลือ” ปณิดาเล่าอย่างภาคภูมิ

จากปีที่เกิดเรื่อง มีการแจ้งความ ร้องทุกข์ ผลสุดท้าย ข้าราชการโดนไล่ออก ซึ่งลามไปประมาณ 70 กว่าจังหวัด ซึ่งขณะนี้เธอกำลังพยายามรวบรวมหลักฐานเพื่อส่งฟ้องอัยการต่อไป คือตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ พลังคนเดียวยังขนาดนี้ พลังทั้งชาติก็คงจะทำอะไรได้อีกมาก

‘อย่าหมดหวัง’ ศิลปิน แนะใช้ ‘พลังสังคม’ ขับเคลื่อนน้ำดี ไล่น้ำเสีย

“แม้จะมีการพยายามรณรงค์เรื่องนี้มาตลอด แต่ผลออกมาอย่างที่บอก ประเทศจีนที่ไม่มีประชาธิปไตยยังได้คะแนนสูงกว่าเรา แสดงว่าไม่ได้เป็นที่ระบอบ แต่เป็นที่คน” คือมุมมองของ นที เอกวิจิตร หรืออุ๋ย บุดดาเบลส ที่มาร่วมวงสนทนาในฐานะ ศิลปิน

อุ๋ยยังบอกอีกว่า มีสารพัดวิธีที่จะปราบทุจริต ฮ่องกงใช้ระยะเวลานานในการปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ให้มองว่าคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องน่ารังเกียจ รับไม่ได้ เพราะปลูกฝังกับผู้ใหญ่ยากกว่า การออกแบบระบบมีประโยชน์มาก แต่บางครั้งก็เห็นว่าเขียนกฎหมายแรงให้ตาย ผลสุดท้ายประโยชน์ก็ไปตกกับผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างตำรวจด้วยซ้ำไป

“คนยินดีจ่าย เจ้าหน้าที่ยินดีรับ ดังนั้น การปลูกฝังจิตสำนึก การเขียนกฎหมาย ประกอบกันช่วยได้ แต่มากสุดคือประชาชน เพราะเห็นว่าหลายคนออกมาต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่ก็กลัวสรรพากร กลัวการตรวจสอบ ชี้นิ้วโจมตีใคร สามนิ้วก็เข้าตัวอยู่เสมอ ต้องย้อนดูตัวเราเอง ตัวเรา ครอบครัวเรา มีตรงไหนหรือไม่

“อีกประเภทเราไม่ทำ เขาก็ทำ นี่คือจุดเริ่มต้น คนเราต้องมีเรื่องเล็กๆ น้อย ที่ผิดบ้าง เบี้ยวบ้าง ย้อนมองตัวเองเพื่อไม่ให้มีข้อบกพร่อง ก่อนไปชี้นิ้วใส่คนอื่น เมื่อไม่มีแผล ก็จะกล้าวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น สามารถพูดได้เต็มปาก

“ดังนั้น จะรอภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเริ่มจากครอบครัวด้วย เห็นได้ชัดสุด คือ น้องตัดสินใจ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่สนับสนุน แล้วบอกว่า ‘อย่าไปยุ่ง เดี๋ยวเรียนไม่จบ’ ก็จะออกมาอีกแบบ แต่น้องครอบครัวสนับสนุน”

อุ๋ยยังมองว่า “โซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลมาก” อย่าง “แฮชแท็ก” บอกได้ในเชิงปริมาณ แต่ต้องมาดูเรื่องความถูกต้องอีกที นอกจากนี้ สิ่งสำคัญมากไม่แพ้ข้อมูลและข้อเท็จจริงคือ “อคติในใจ” ถ้ามีอคติ ต่อให้มีข้อเท็จจริง คนที่เรารักทำชั่ว ทำเลว ก็ไม่เป็นไร นิดเดียวเอง เขามีเหตุจำเป็น แต่ถ้าเป็นคนที่เราเกลียด ต่อให้เป็นเฟคนิวส์เราก็พร้อมเชื่อ พร้อมด่าเขาทันที ซึ่งทุกครั้งที่เราแสดงความคิดเห็น จะเป็นการนำพาสังคม

“โซเชียลมีเดียเหมือนบ่อน้ำ เราใส่อะไรลงไป เราต้องกิน คนอื่นก็ต้องกินด้วย ฉะนั้น ก่อนที่จะแฮชแท็ก อะไร หรือร่วมกันต่อต้านอะไร หาข้อเท็จจริงให้ละเอียดก่อน ถ้าไม่มั่นใจ ไม่ต้องแชร์ก็ได้ หาข้อมูลให้แน่ใจก่อน พยายามปราศจากอารมณ์ เรื่องพวกนี้เน้นข้อเท็จจริงก่อนแชร์ หรือวิพากษ์วิจารณ์ เพราะทุกครั้งที่วิพากษ์วิจารณ์ คุณจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมบิดเบี้ยวไปด้วย เห็นถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นถูก ถ้าเราได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน”

อีกส่วนที่สำคัญ คือ การออกแบบ ซึ่งเมื่อก่อนจะมองว่า การออกแบบระบบคงไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่เมื่อได้คุยกับนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ชาวอังกฤษ พบว่าการกรอกรายได้ของชาวอังกฤษ คนมักปกปิดรายได้ที่แท้จริง จึงใช้วิธีการออกแบบการกรอกข้อมูล จากที่ให้เซ็นตอนท้าย “ขอรับรองว่าข้อมูลทั้งหมดเป็นความจริง” แค่ย้ายที่ให้เซ็นมาตอนต้น ปรากฏว่าอัตราการตอบที่เป็นเท็จน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จะเห็นว่าการออกแบบระบบพอช่วยได้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องการไล่จับ หรือปลูกจิตสำนึกเพียงอย่างเดียว ประกอบกับ “คน” ซึ่งสั่งสมวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน การจะเปลี่ยนอะไรที่สั่งสมกันมายาวนานต้องใช้เวลา ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่าหมดหวัง แม้ตัวเลขจะน่าหมดหวัง เพราะเชื่อว่าจะมีอะไรหลายๆ อย่างมาช่วยได้

‘ออเคสตราโมเดล’ คีย์หลัก คือ ‘คน’
แนวปราบโกง ในมุม ป.ป.ช.

“จากงานวิจัย ตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา คะแนนความโปร่งใสของไทยไม่ดีขึ้น และตกลงไปถึง 2 คะแนน ในขณะที่ประเทศเวียดนามคะแนนขยับขึ้น 6 อินโดนีเซีย 4 เราคงต้องทบทวนกันว่า วิธีการไม่ทนคนโกงของประเทศไทยควรจะต้องเป็นอย่างไร”

คือคำกล่าวของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่เริ่มต้นกล่าวถึงสถานการณ์การทุจริตในไทยเพื่อให้เห็นภาพกว้างในตอนต้นของการเสวนา

โดย อุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ตัวแทนภาครัฐ จากองค์กรที่ดูเรื่องการทุจริตโดยตรง มองในข้อนี้ว่า สิ่งที่ทำให้คะแนนความโปร่งใสของไทยตกลง เรามักมองเรื่องรูปแบบการปกครอง แต่พฤติกรรมของคนก็มีผลข้างเคียง จึงชี้ขาดรูปแบบไม่ได้

“ตามรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.มีหน้าที่ 1.เปิดเผย 2.ตรวจสอบ และ 3.ปลูกฝังวิธีคิดที่ถูกต้อง สำหรับ ป.ป.ช.ในการแก้ไข ต้องใช้การปราบปราม ป้องกัน และปลูกฝัง ซึ่งปัจจุบันเราประชุม 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อเร่งทำเรื่องปราบปราม ในส่วนของ ‘การป้องกัน’ มีการเปิดเผยทางเว็บไซต์ บริการประชาชนให้เข้าไปดูข้อมูลได้ อีกส่วนสำคัญคือคน หลักสูตรต้านโกงศึกษา เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมไม่ทนการทุจริต เริ่มจากการ ‘คำนึงก่อนทำ’ ต้องเปลี่ยนวิธีคิด คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นอันดับหนึ่ง

แฟ้มภาพ

“เราพยายามออกแบบกฎหมาย ออกแบบระบบ แต่สุดท้ายปัจจัยสำคัญที่สุดคือคน การแก้ไขปัญหาทุจริตเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (10) เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะไม่สนับสนุน ไม่ร่วมมือ และเป็นหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 63 ที่จะต้องให้ความรู้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม แต่ทั้งหลายทั้งปวง จะเริ่มต้นด้วยการสร้างคนให้มีศีลธรรมก่อน

“ทุกคนมีส่วนร่วม มีบทบาทหน้าที่ การทำงานของเรา ป.ป.ช.เป็นแค่องค์กรแกนกลาง ไม่ใช่ทั้งหมด จะชั่วจะดีอยู่ที่คน ป.ป.ช.จะไปเที่ยวกวาดบ้านให้ คุณต้องกวาดบ้านตัวเองเพียงแต่เราจะแนะนำอย่างไร เป็นประเด็นที่ต้องช่วยกัน

“จึงเสนอโมเดลว่าการทำงานต้องมองเป้าหมายร่วมกัน คือค่าความโปร่งใส (CPI) ยกระดับ จาก 36 เป็น 50 เป็น 67 เป็น 73 จะต้องเทคออฟขึ้นไปด้วยกัน มองเป้าหมายร่วมกัน วิธีการทำงานคือทุกคนต่างทำหน้าที่แบบ ออเคสตราโมเดล ทำงานอย่างร่วมแรงร่วมใจ มีบทบาทของแต่ละคน แต่เป้าหมายเดียวกัน ทุกคนเป็นนักดนตรี เป็นส่วนหนึ่งของวงออเคสตรา บรรเลงเพลงเดียวกันคือเพลงต่อต้านการทุจริต ถ้าทำอย่างนี้ได้ ประเทศเราไปได้” คือประเด็นที่รองเลขาฯป.ป.ช.ฝากไว้ให้คิด

ส่องวิจัย มองดูไทย 4 วิธี ‘ปรับ’ เพื่อโปร่งใส

ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอ 4 วิธี สำหรับแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่น ทั้ง วิธีแบบตำรวจ คือไล่ตามจับ วิธีแบบพระ คือเทศนา ปลุกจิตสำนึก วิธีแบบสถาปนิก คือออกแบบระบบให้คอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้ยาก และสุดท้ายคือ วิธีพลังของประชาชน ในการช่วยต่อต้าน ไม่ทนคนโกง

แต่การจะใช้วิธีใดวิธีเดียวมักไม่ประสบความสำเร็จ แม้จะเก่งขนาดไหนก็ต้องร่วมกัน ด้วยวิธีฝึกการออกแบบระบบ ลดคอร์รัปชั่น แล้วใช้ประชาชนต่อสู้ ซึ่งมีกรอบความคิดอยู่ทางวิชาการ สามารถทำได้อย่างเป็นระบบ เรียกว่า สมการคอร์รัปชั่น

C = M+D-A (Corruption = Discretion + Monopoly Accountability) หรือ คอร์รัปชั่น = ดุลพินิจ + การผูกขาด-กลไกความรับผิดชอบ หรือความโปร่งใส

 


“ผูกขาดมาก คอร์รัปชั่นมาก ความโปร่งใสมาก จะคอร์รัปชั่นได้ยาก

“หากอำนาจผูกขาดน้อย ดุลพินิจที่ไม่สมดุลน้อย และความโปร่งใสเยอะ จะสามารถช่วยจัดการคอร์รัปชั่นได้

“การลดคอร์รัปชั่นที่ได้ผลมากที่สุด คือ การเปิดหน้าต่างให้แสงสว่างเข้ามา ให้มีการสังเกตการณ์จากภายนอก อย่างในโครงการภาครัฐ ก็เปิดข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง การทุจริตในภาครัฐจะทำได้ยากขึ้น ประชาชนก็มีหน้าที่เปิดเผยทรัพย์สินของนักการเมือง” ดร.สมเกียรติชี้แนะ ทั้งยังตั้งข้อสังเกตถึงการเปิดเผยข้อมูลของ ป.ป.ช.ผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งล่าสุดลดระยะเวลาเปิดเผยข้อมูลลดลง เหลือเพียง 6 เดือน อีกทั้งข้อมูลที่เปิดเผยมีลักษณะของไฟล์ที่เปิดนำไปใช้งานได้ยาก จึงอยากให้ปรับในจุดนี้

ดร.สมเกียรติยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาในประเทศไทยยังไม่ได้ทำบางเรื่อง ที่ชัดๆ อย่าง “การปรับทัศนคติประชาชน”

“หลายท่านพูดคล้ายกับว่าฝากความหวังไว้กับเจเนอเรชั่นต่อไป ซึ่งประโยคอย่างนี้ก็เคยได้ยินมาตั้งแต่ผมยังเด็ก ซึ่งถ้าประชาชนอย่างน้องแบม หรือคุณอุ๋ยพูดเอง เราจะเข้าใจว่าประชาชนมองว่าต้องเริ่มที่ตัวเรา อย่าไปชี้นิ้วคนอื่น แต่ถ้าคนมีหน้าที่พูด ความหมายสามารถถูกตีความมุมอื่นได้ แปลว่าที่ทำไม่สำเร็จเป็นเพราะประชาชน ประชาชนไม่มีวินัย หากถูกตีความเช่นนี้ สารก็อาจจะบิดเบี้ยว

“การรณรงค์แบบเก่า ก็จะได้ผลแบบเก่า ดังนั้น หากจะรณรงค์ ต้องมีวิธีรณรงค์แบบใหม่ กับที่อุ๋ยเสนอให้เซ็นชื่อก่อนกรอกรายละเอียด เพราะจะปรับกรอบความคิดของคนก่อนจะทำอะไร ต้องศึกษาจิตวิทยา เมื่อคนคิดว่า “บางเรื่องคือการโกง บางเรื่องไม่ใช่การโกง” ดร.สมเกียรติกล่าว พร้อมเล่าถึงการทดลองที่มีชื่อเสียง ว่า

“หากเอาเงิน 1 ดอลลาร์ใส่ไว้ในตู้เย็นภายในหอพัก เงินไม่เคยหาย แต่เอาโค้กแช่ไว้ โค้กจะหาย 1 ดอลลาร์เหมือนกัน เพราะคนคิดว่าเอาเงินจากตู้เย็นคือการขโมย เอาโค้กจากตู้เย็นไม่ใช่การขโมย มีเส้นบางๆ เสมอ เช่น ถ้าไปซื้อนาฬิกามาก็เป็นเรื่องหนึ่ง ถ้าไปยืมมาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่เข้าใจจิตวิทยาของสังคมจะตีโจทย์เรื่องนี้ผิด

“2.หากจะปราบปรามแบบเดิมจะไม่สำเร็จ ที่เวิร์ก อย่างกรณีของจีน เพราะใช้วิธี ปราบเสือ ตีแมลงวัน แมลงวันคือรายเล็กรายน้อยที่กระจายไปหมด ต้องจัดการบ้าง ปราบเสือก็ต้องทำบ้าง เชือดเสือตัวใหญ่ให้ดู รับรองว่าขวัญกำลังใจในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นจะเปลี่ยนไป แมลงวันจะลดลงเอง จะเกิดการเห็นว่า “กฎหมายศักดิ์สิทธิ์” ไม่ใช่กฎหมายใช้ได้กับแมลงวัน กฎหมายใช้กับเสือไม่ได้

“ประเด็นที่ 3.คนเราอาจเข้าใจว่า ระบบที่ดีคือกฎหมายที่แรง ดร.สมเกียรติมองว่า ระบบที่ดีคือระบบที่เปิดกว้าง เช่น การเปิดข้อมูล ไม่ได้มีบทลงโทษประชาชน ถ้ากฎหมายจะแรง ไปแรงกับราชการที่ไม่เปิดเผยข้อมูล ไม่ใช่ชี้ว่าประชาชนไม่มีวินัย ไม่ร่วมมือ ไม่มีจิตสำนึก แต่เป็นหน้าที่ราชการที่ต้องทำหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูล นี่คือสิ่งเดียวที่ประเทศไทยยังไม่ได้ทำ คือ ออกแบบระบบที่โปร่งใสจริงๆ มีหลักฐานว่าทำแบบนี้แล้วลดได้จริงอย่างกรณีการทำโครงการความโปร่งใสเรื่องการก่อสร้าง พบว่าเซฟเงินไปได้ประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท/ปี นี่คือตัวอย่างเมื่อมีผู้สังเกตการณ์ภายนอกเข้าไปสังเกตการณ์ นี่คือระบบที่ดี

“ถ้าจะทนคนโกงอย่างประสบความสำเร็จ นี่คือสิ่งแรกที่ประเทศไทยต้องทำ ทำระบบให้คุ้มครองคนดี ให้คนที่อยากสู้กับคอร์รัปชั่นเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมหาศาล ไม่จำเป็นต้องรับงานทุกงานที่มีเงินทอน ท้ายที่สุดเราต้องดูแลตัวเอง สร้างคุณค่าให้กับชีวิต และคิดเสมอว่าสักวันเมื่อจากโลกนี้ไป เราจะไม่มีเรื่องที่ใครได้กล่าวถึงเราในแง่ลบ ว่าเรามีส่วนกับการทุจริตคอร์รัปชั่นในแผ่นดินนี้” ดร.สมเกียรติทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม การทุจริต ฉ้อฉลอำนาจ โดยกลุ่มอำนาจ ก็เป็นปัญหาทุจริตอีกแบบ ที่ทำให้เกิดการเบี่ยงเบน ใช้การปราบทุจริตเป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่สุดท้ายปราบอย่างไร ก็ไม่มีทางหมด

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image