‘สิ่งที่กลัวที่สุด คือเราจะเป็นแบบอิตาลี’ เสียงจากหมอถึงนายกรัฐมนตรี นพ.บุญ วนาสิน

นานวันเข้า การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ โควิด-19 ยิ่งต้องจับตามากขึ้น ไม่เพียงเพราะตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลกที่ทะลุหมื่นราย หรือจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่พุ่งไป 3.3 แสนคนแล้ว ทว่า ไม่กี่วันที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (ฮู) ได้ออกมาเตือน “เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์” ว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวสามารถมีชีวิตอยู่ในอากาศนานกว่าที่คาดไว้ จึงควรเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

แพทย์หญิงมาเรีย แวน เคอร์คอฟ หัวหน้าฝ่ายโรคอุบัติใหม่และโรคที่รับจากสัตว์ของฮู เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ว่าไวรัสสามารถแพร่ได้ผ่านทางละอองหรือของเหลวเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่ผ่านทางการจาม หรือไอ เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เกิดละอองลอย เช่น ในสถานพยาบาล อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอนุภาคของละอองลอยเหล่านี้ กล่าวคือ มันสามารถอยู่ในอากาศได้นานขึ้นไปอีก

นี่เป็นเสียงเตือนสำคัญที่คนในวงการสาธารณสุขทั่วโลกควรฟัง แม้วันนี้จะยังต่อสู้กับไวรัสร้ายอย่างหนักหน่วงอยู่ก็ตาม

หันกลับมาที่ “ประเทศไทย” เอง หนึ่งวันก่อนหลายจังหวัดประกาศ “ล็อกดาวน์” เพื่อสกัดการแพร่กระจาย “โควิด-19” กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันใหม่ 188 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2563) เพิ่มขึ้นจาก 24 ชั่วโมงก่อนหน้าถึง 99 คน

Advertisement

วันนี้ มาตรการเข้มข้นของรัฐอย่างเดียวอาจไม่พอ หากเราทุกคนไม่ร่วมกันระมัดระวังตัวเองไปพร้อมกันด้วย

จี้รัฐบาลชัดเจน ‘นายกฯต้องเลือกว่าจะเอาแบบไหน’

“หากเรายังทำแบบเดิม ใน 1 เดือนจะมีผู้ป่วยกว่า 350,000 คน ต้องอยู่โรงพยาบาล 52,000 คน ไอซียู 17,000 คน ตาย 7,000 กว่าคน

“แต่ถ้าเราล็อกดาวน์ตั้งแต่ 14-21 วัน จะมีผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลเพียง 3,600 คน เข้าไอซียูแค่ 1,200 คน ตาย 485 คน นายกรัฐมนตรีต้องเลือกว่าจะเอาแบบไหน”

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กางตัวเลขให้เห็นชัดๆ พร้อมระบุต่อว่า วันนี้รัฐบาลต้องชัดเจนแล้ว

กว่าหนึ่งชั่วโมงของการสนทนา นพ.บุญเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 มากมาย ที่สำคัญยังเน้นย้ำให้รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีประกาศ “ล็อกดาวน์” ให้คนอยู่บ้าน ยับยั้งการแพร่กระจายไวรัสร้ายทันที

“นายกฯต้องเลือกว่าจะเอาแบบไหน จะให้อยู่บ้านหรือทำแบบนี้ต่อไป ถ้าทำแบบนี้ก็วิกฤตแน่นอน ผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล 5 หมื่นกว่าคน ไอซียูอีก 1.7 หมื่น ทั้งประเทศเรามีไอซียูไม่ถึงพัน และเครื่องช่วยหายใจมีไม่พอ สิ่งที่กลัวที่สุดตอนนี้คือเราจะเป็นแบบอิตาลีที่มีผู้เสียชีวิตเลยหน้าจีนไปแล้ว นอกจากนี้ การที่รัฐบาลบอกว่ามี 100,000 เตียงรองรับ ยิ่งเป็นไปไม่ได้ อย่าลืมว่าทั้งประเทศเรามี 140,000 เตียง อยู่ดีๆ จะเอาแสนเตียงมารับโควิดหรือ?

“ดังนั้น จึงมีข้อเสนอ 2 ข้อคือ 1.ล็อกดาวน์เมืองที่สงสัย เช่น กทม., เชียงใหม่, ภูเก็ต และ 2.ตรวจกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มในพื้นที่ระบาด รวมทั้งจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อในขณะนี้ โดยเสนอให้ใช้วิธีเทสต์แบบเกาหลี คาดว่าใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ทว่า การทำเช่นนี้เพื่อรีบทำประเทศไทยให้ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด เพราะคาดว่าคนจีนน่าจะเริ่มออกท่องเที่ยวใน 6 เดือนข้างหน้า ดังนั้น หากไทยปลอดภัย คนจีนก็จะเริ่มกลับมาเที่ยวไทยใหม่” นพ.บุญกล่าว

REUTERS/Flavio Lo Scalzo

คุณหมอยังบอกอีกว่า แม้จะทราบอยู่แล้วว่าอัตราการเสียชีวิตจาก “โควิด-19” อยู่ที่ 3-4 เปอร์เซ็นต์ ทว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผู้ป่วยอายุยังน้อยนั้นจะปล่อยให้ตายหรือไม่ เพราะประเด็นนี้ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาในทางสังคม หากยังเกี่ยวโยงถึงศีลธรรมด้วยว่าจะปล่อยให้คนที่ควรรักษาไม่ได้รับการรักษาหรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้น เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังแพร่กระจายไวกว่าโรคระบาดอื่นๆ จนน่าห่วงว่าหากไม่มีมาตรการเด็ดขาด คือให้ประชาชนอยู่บ้าน หรือ Work From Home ประเทศไทยจะเผชิญกับ Super Spreader หรือความสามารถแพร่โรคไปยังผู้อื่นจำนวนมาก เหมือนอย่างเกาหลีหรือไม่?

ใช่ว่าภาครัฐจะนิ่งเฉย เพราะรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่ากรณี “ล็อกดาวน์” เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องดูสถานการณ์และผลกระทบประชาชน เช่น พูดถึงการปิดถนน การคมนาคมจะเป็นอัมพาต จึงคิดล่วงหน้ากันนานแล้วไว้หลายอย่าง เพราะแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ส่วนจะได้ใช้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อีกทั้งต้องมีการเตือนประชาชนด้วย จะเห็นว่าแนวทางการให้ข่าวของรัฐบาลช่วงที่ผ่านมาก็เตือนเป็นระยะๆ

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับฟังทุกความคิดเห็นจากทั้งกระทรวงและจากแพทย์ผู้มีประสบการณ์ เห็นได้จากการหารือกับแพทย์ทุกวัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน และความสะดวกสบายประกอบกัน จะเอาอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้”

รองนายกฯแจ้งให้ทราบ

เตรียม 3 เฟสรับมือ
เสนอ ‘จิณณ์ฯ’ เป็นทางเลือก

ย้อนกลับมาถึงวิธีการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีอยู่มากมาย โดยสิงค์โปร์ จีน และประเทศในแถบตะวันตก นอกจากจะใช้การตรวจด้วย PCR หรือ Polymerase Chain Reaction Test เพื่อตรวจภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดีของร่างกายแล้ว ยังใช้วิธีการตรวจทางพันธุกรรม Next Generation Sequencing เพื่อให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำยิ่งขึ้นด้วย เนื่องจากการตรวจดังกล่าวสามารถบอกชนิดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และไวรัสอื่นๆ ที่ปะปนมาด้วยได้อย่างชัดเจน ทว่า ราคาค่าตรวจก็สูงลิ่วราว 40,000 บาท

ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง บ่อยครั้งที่การวินิจฉัยโรคในปัจจุบันมีจุดอ่อนหลายประการ เสี่ยงต่อการตรวจไม่พบเชื้อ หรือ ผลลบปลอม (False Negative) ที่อาจเกิดจากการเก็บสารตัวอย่างในลำคอ จมูก ไม่ได้มาตรฐาน เก็บสารตัวอย่างไม่ถูกวิธี หรือผู้ป่วยมีเชื้อในปริมาณน้อยเพราะมีระยะฟักตัว หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันสูง รวมทั้งการกลายพันธุ์ที่รวดเร็วของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจ

“ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เห็นความสำคัญในการเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เทคโนโลยี อุปกรณ์การรักษา และสถานที่สำหรับการตรวจคัดกรอง เพื่อช่วยเหลือภาครัฐในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจมีการแพร่ระบาดเข้าสู่ขั้นที่ 3 โดยเฉพาะการให้บริการตรวจด้วย Next Generation Sequencing Machine มีความแม่นยำสูงถึง 99.9 เปอร์เซ็นต์ สามารถบอกได้เลยว่าคุณเป็นโควิดหรือไม่ หรือเป็นไข้หวัดใหญ่ เป็นไข้หวัดนก เพราะซอฟต์แวร์ของโปรแกรมมีไวรัสอยู่เป็นหมื่นตัว ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการตรวจประมาณ 40,000 บาท จึงเหมาะสำหรับผู้เดินทางไปต่างประเทศ เช่น ทูต รัฐมนตรี หรือผู้ต้องการผลตรวจเร็วกว่า 14 วัน” นพ.บุญกล่าว

“หากเรายังทำแบบเดิม ใน 1 เดือนจะมีผู้ป่วยกว่า 350,000 คน
ต้องอยู่โรงพยาบาล 52,000 คน ไอซียู 17,000 คน ตาย 7,000 กว่าคน
แต่ถ้าเราล็อกดาวน์ตั้งแต่ 14-21 วัน จะมีผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลเพียง 3,600 คน
เข้าไอซียูแค่ 1,200 คน ตาย 485 คน
นายกรัฐมนตรีต้องเลือกว่าจะเอาแบบไหน”

อย่างไรก็ดี ไม่นานมานี้ นพ.บุญเคยเปิดเผยรายละเอียดแผนรับมือสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของ “ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป” ที่เตรียมไว้ทั้งหมด 3 เฟสไปแล้ว นั่นคือ เฟสที่ 1 เปิดบริการคลินิกคัดแยกผู้ป่วยและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย สำหรับทำ CT Scan Chest Tomography ที่บางซื่อ บนพื้นที่ 3 ไร่ ใกล้ทางด่วน สถานีรถไฟ และสถานีขนส่งผู้โดยสาร มีห้องแยกผู้ป่วย 50 ห้อง ห้องพักดูอาการความจุ 20 เตียง และจะเปิดดำเนินการทันทีที่ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เฟสที่ 2 โรงพยาบาลสนาม ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า บนพื้นที่ 4 ไร่ ทั้งนี้ หากมีการแพร่ระบาดเข้าสู่ขั้น 3 จะพัฒนาพื้นที่สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อแต่ไม่วิกฤตจำนวน 200 เตียง และห้องไอซียูอีก 50 เตียง ใช้เวลาเตรียมการ 6-8 เดือน

เฟสที่ 3 โรงพยาบาลพักฟื้น สำหรับรองรับผู้ป่วยจำนวนมากที่จำเป็นต้องรักษาตัวและฟื้นฟูร่างกายในโรงพยาบาลเวลานาน สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 1,000-1,500 เตียง ปัจจุบันมีความพร้อมในการให้บริการที่โรงพยาบาลในเครือธนบุรีหลายแห่ง ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด

“ที่พระนั่งเกล้าใช้เวลาหลายเดือน อาจไม่ทัน เพราะอาจเลยพีคช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนไปแล้ว เราเลยเปลี่ยนแผนว่าคนไข้ที่อาการไม่หนักมากให้ไปที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องสร้างสถานที่ใหม่ให้อยู่ หรืออาจไปอยู่ที่จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ โครงการที่พักอาศัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกด้านไลฟ์สไตล์และบริการด้านสุขภาพครบวงจรเพื่อผู้สูงวัยและครอบครัว ของเครือธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ปก็ได้ เรามีการป้องกันที่ดีพอสมควร” นพ.บุญแนะนำ

ยาดี ช่วยได้
แต่จะดีกว่า หากคนกักกันตัวเอง

ท่ามกลางความหวาดกลัวต่อการแพร่ระบาด มวลมนุษยชาติยังพอได้ยินข่าวดีอยู่บ้าง นั่นคือ ราวสัปดาห์ที่ผ่านมามีการทดลองทางคลินิกของ Favipiravir ส่วนผสมของตัวยารักษาไข้หวัดใหญ่ Avigan เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยการทดลองได้ใช้ยาดังกล่าวรักษาการติดเชื้อโควิด-19 พบว่า ให้ผลในเชิงคลินิกที่ดีมาก

การทดลองดังกล่าวมีการทดสอบกับผู้ติดเชื้อ 80 ราย ในโรงพยาบาลที่เมืองเสิ่นเจิ้น และการศึกษากับผู้ติดเชื้ออีก 120 ราย โดยมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ซึ่งให้ผลว่าผู้ติดเชื้อนั้นฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ผู้พัฒนายา Avigan คือบริษัท “ฟูจิฟิล์ม” ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตฟิล์มและกล้องถ่ายรูป ขณะเดียวกันฟูจิฟิล์มยังให้สิทธิในการใช้สิทธิบัตรส่วนผสมอย่าง Favipiravir กับบริษัทยาเจ้อเจียง ไห่ซุน ฟาร์มาร์ซูติคอล ของประเทศจีน โดยบริษัทระบุกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ฟูจิฟิล์มไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทดสอบทางคลินิกดังกล่าว แต่ยา Avigan นั้น บริษัทได้รับยอดสั่งซื้อจากหลายประเทศ ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ร้องขอให้ฟูจิฟิล์มทำการศึกษาว่าจะสามารถเพิ่มกำลังผลิตตัวยาดังกล่าวได้หรือไม่ ซึ่งเวลานี้บริษัทก็กำลังศึกษาเพื่อขจัดอุปสรรคต่างๆ ให้สามารถเพิ่มกำลังผลิตที่มากขึ้นได้

ขณะที่ นพ.บุญให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ยาดังกล่าวสามารถฆ่าไวรัสให้เหลือจำนวนน้อยลง กระทั่งผู้ป่วยอาการดีขึ้นก็จริง แต่หากเรามีผู้ป่วยนับแสนรายก็ไม่มีทางเอาอยู่ จึงต้องเลือกใช้ยากับผู้ป่วยอาการหนัก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในห้องวิกฤต อย่างไรก็ดี ข้อสำคัญที่สุดที่คุณหมอแนะนำยังคงเป็นการกักตัวเองอยู่บ้าน ป้องกันการรับเชื้อจากภายนอก เพราะผู้ป่วยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ สามารถหายเองได้

“ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้วิธีแทรกกิ้ง หรือกลุ่มเสี่ยง คือเคยไปประเทศกลุ่มเสี่ยงไหม เคยคุยกับคนที่เป็นโรคนี้หรือเปล่า แล้วก็กักกันหมด รวมทั้งญาติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำได้ดีพอสมควร แต่พอถึงจุดหนึ่ง อย่างที่ทราบว่าคนไทยไม่ค่อยมีวินัย และไม่รับผิดชอบเท่าที่ควร ไม่กักกันตัวเอง เคราะห์ร้ายกว่านั้นคือไม่แจ้งให้ทราบ ทำให้ปัญหาบานปลายในอาทิตย์ที่ผ่านมา ดังนั้น รัฐบาลต้องเลือกแล้วว่าจะเอาแบบล็อกดาวน์ ซึ่งหลายประเทศทำแล้ว หรือทำแบบกักกัน ซึ่งผมก็ให้ตัวเลขดูแล้วว่าทำแบบไหน ตัวเลขเป็นอย่างไร

“ผมคิดว่านายกฯไม่มีทางเลือก เพราะถ้าปล่อยให้สะเปะสะปะ คนป่วยเป็นแสน ต้องอยู่ในโรงพยาบาลกว่า 5 หมื่นคน ซึ่งรับไม่ไหว ดังนั้น ต้องเลือกในทางที่เด็ดขาดมากกว่า เพราะถ้าทำอย่างที่เกิดขึ้น รัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ ทั้งความสามารถในการบริหาร ความสามารถรักษาพยาบาล ประชาชนเดือดร้อน ข้อสำคัญว่านั้นคือจะดึงไปเรื่อยๆ เป็นปี หรือ 2 ปี เพราะจะมีคลัสเตอร์ หรือคนที่เป็นใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

“ดังนั้น หัวใจจึงอยู่ที่หากมีผู้ป่วยเยอะแล้วเราจะเอาแบบไหน ล็อกดาวน์ก็พออยู่กันได้ แต่ถ้าเอาแบบนี้ เกิดจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นร้อยต่อวันก็เอาไม่อยู่” นพ.บุญย้ำปิดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image