สุวรรณภูมิในอาเซียน : ห่าระบาด สงกรานต์ระบม

ขบวนแห่ของพวกแฟลกเจลแลนท์ ในยุคที่ความตายสีดำเข้ามาเยี่ยมเยือน พ.ศ.1891 (ภาพประกอบในหนังสือพงศาวดารของกิลเลส ลิ มุยสิส์) ผู้เข้าร่วมในขบวนแห่จะต้องเปลือยกายท่อนบน เดินเรียงแถวเป็นคู่ พร้อมกับขับร้องเพลงที่ชื่อว่า "ไกส์สเลอร์ไลเดอร์" (Geisslerleider) วิงวอนต่อพระเจ้าให้ไถ่ถอนบาป และยุติการแพร่ระบาดของกาฬโรค (ภาพจาก: https://ru.wikipedia.org/wiki/%D0%A4%D0%B0%D0%B9%D0%BB:Darstellung_der_Gei%C3%9Flerz%C3%BCge.jpg)

“โควิด-19” ระบาดทั่วโลก คนสมัยก่อนเรียกห่าระบาดหรือห่าลง ส่งผลให้ปีนี้สงกรานต์ไม่มีหยุดยาว เพื่อลดความเสี่ยงรุนแรงของโรคระบาด

แต่แล้วรัฐมีมาตรการปิดห้าง ปิดสถานบริการซึ่งเป็นจุดเสี่ยงเชื้อโควิดระบาด เลยไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ต้องเป็นสงกรานต์ระบม

ห่าสมัยพระเจ้าอู่ทองสร้างอยุธยา

ห่าระบาดสมัยพระเจ้าอู่ทองสร้างอยุธยาเคยเกิดขึ้นราว 700 ปีมาแล้ว ทางสากลเรียกสมัยหลังว่า The Black Death คือ กาฬโรค

ห่าระบาดสมัยพระเจ้าอู่ทองเป็นที่รู้กันกว้างขวางว่ามีในประวัติศาสตร์ไทยเรื่องสร้างกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1893 ตรงนี้ตำนานนิทานและพงศาวดารไม่ได้บอกชัดเจนตรงไปตรงมาว่าห่าคืออะไร? มาจากไหน? จึงอาจตีความต่างกันได้

Advertisement

ที่ว่าห่าคืออหิวาตกโรคที่มีแมลงวันเป็นพาหะแพร่เชื้อโรค ล้วนเป็นการตีความหรือสันนิษฐานของนักปราชญ์กับนักค้นคว้าสมัยก่อน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเชื่อทุกอย่างตามนั้นเสมอไป

ช่วงเวลาตรงกับพระเจ้าอู่ทองสร้างอยุธยา มีโรคระบาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกเรียก The Black Death น่าจะเป็นเรื่องเดียวกันกับห่าระบาดในตำนานไทย ซึ่งมีหลักฐานสนับสนุนอยู่ในคำบอกเล่าชาวอยุธยาแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองที่บันทึกไว้โดยพ่อค้าชาวฮอลันดา (ชื่อ วัน วลิต หรือ ฟอน ฟลีต)

[ข้อมูลมีอีกมากอยู่ในหนังสือ Black Death ห่าลง จีนถึงไทย ตายทั้งโลก โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์นาตาแฮก]

Advertisement
“The Black Death” ภาพจากพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับเมืองทอกเกนเบิร์ก (Toggenburg Bible) เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1954 แสดงภาพผู้ป่วยเป็นกาฬโรค และความพยายามในการรักษาผู้ป่วยตามความเชื่อทางศาสนาในยุโรปยุคกลาง (ภาพจาก : https://www.dkfindout.com/us/history/black-death/symptoms-and-treatment

โลกเดียวกัน

Black Death หรือกาฬโรคแพร่หลายขยายผลโดย “หมัดหนู” อยู่ในสำเภาจีน แล่นเลียบชายฝั่งแวะจอดรับสินค้าตามเมืองท่ารอบอ่าวไทย เมื่อเข้าถึงอยุธยาซึ่งเป็นบ้านเมืองใหญ่สมัยนั้นเรียก “อโยธยาศรีรามเทพ” (สืบเนื่องจากรัฐละโว้ที่ลพบุรี) หมัดหนูก็แพร่เชื้อกาฬโรคสู่คนในชุมชนสังคมเมืองมีคนหนาแน่นที่ศูนย์กลางอำนาจซึ่งล้วนเป็นคนชั้นนำทั้งหลาย

เหตุการณ์ Black Death ในประวัติศาสตร์โลกตั้งแต่จีนถึงยุโรป มีคนตายนับล้าน อันเนื่องมาจากการติดต่อถึงกันในการค้าโลกซึ่งมีกว้างขวางอย่างยิ่งสมัยนั้น ดังนั้น ประชากรรัฐอยุธยาทั้งคนชั้นนำและสามัญชนทั่วไป ย่อมหนีไม่พ้นต้องรับผลกระทบรุนแรงถึงขนาดล้มหายตายจากมากมายด้วย

ฉะนั้นคำบอกเล่าเรื่องพระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่าในตำนานนิทานของไทย ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกเรื่อง Black Death เพราะรัฐอยุธยาไม่ได้อยู่ดาวดวงอื่น และบรรพชนคนไทยสมัยนั้นไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว

รัฐอยุธยาไม่ได้ตั้งโดดเดี่ยวอยู่บนดาวดวงอื่น แต่เป็นรัฐหนึ่งในภูมิภาคอุษาคเนย์บนเส้นทางการค้าโลก ซึ่งมีการค้าทางทะเลกับตะวันออก คือ จีน และตะวันตก คือ อินเดีย, ยุโรป, ตะวันออกกลาง

คนในรัฐอยุธยาสมัยนั้นไม่ใช่มนุษย์ต่างดาวที่มีคุณวิเศษเหนือคนอื่นในโลกมนุษย์ แต่ล้วนเป็นลูกผสม “ร้อยพ่อพันแม่” จากคนหลายเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ในโลกนี้ ซึ่งเป็นบรรพชนคนไทยปัจจุบัน


ห่า

ห่าระบาด คือ โรคระบาด แต่บางโอกาสเรียกห่าลง และบางทีเรียกห่ากิน หรือห่าแดก

คำว่า “ห่า” หมายถึง โรคระบาดที่มีคนตายจำนวนมากๆ เช่น อหิวาตกโรค, กาฬโรค เป็นต้น

ห่าลง หมายถึง โรคระบาดมีคนตายมากจนนับไม่ถ้วน

ห่ากิน หมายถึงถูกทำให้ตายโดยผีห่า เพราะคนแต่ก่อนเชื่อว่าห่าเป็นผีอย่างหนึ่งมีฤทธิ์มากทำคนตายได้ เรียกผีห่า หรือผีห่าซาตาน โดยทั่วไปห่ากินเป็นคำสบถหรือคำด่า ถ้าต้องการหนักข้อขึ้นไปอีกก็ใช้ว่าห่าแดก

ห่าเป็นคำดั้งเดิมในตระกูลภาษาไต-ไทหลายพันปีมาแล้ว มีหลายความหมาย ได้แก่

1. เรียกฝนตกคราวหนึ่ง ใช้ภาชนะวางกลางแจ้งรองน้ำฝน ได้ปริมาณที่กำหนดก็เรียก 1 ห่า หรือห่าหนึ่ง แต่งบางทีมีต่างขนาดเรียกห่าใหญ่, ห่าน้อย

2. เรียกผีหรือปีศาจอย่างหนึ่งมีฤทธิ์ทำให้คนในชุมชนตายพร้อมกันคราวละมากๆว่าผีห่า (พบในโองการแช่งน้ำตอนเชิญผีเป็นพยานในพิธีทำสาบานว่า “ล้วนผีห่าผีเหว”)

สืบเนื่องจากความเชื่อเรื่องผีห่า ทำให้ความหมายเพิ่มออกไปหมายถึงไข้หรือโรค และเป็นคำด่าทั่วไป

ไข้ หรือ โรค ที่มีคนตายจำนวนมากๆ เรียกไข้ห่า หรือโรคห่า

คำด่า เช่น อีห่า, ไอ้ห่า, ห่ากิน, ห่าแดก, ห่าเหว (หมายถึงต่ำทราม)


สงกรานต์ ‘พันทาง’ พราหมณ์, พุทธ, ผี

สงกรานต์ถูกทำให้เชื่อเมื่อนานมากแล้วว่าเป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ไทย

ในความจริงเป็นที่รู้กันทั่วสากลโลก ว่าสงกรานต์โดยกำเนิดไม่ใช่ของไทย ดังนั้นสงกรานต์จึงไม่ใช่ปีใหม่ไทย แต่ขอยืมมาเป็นปีใหม่ไทย

อินเดีย

สงกรานต์มีกำเนิดในอินเดีย เป็นสมบัติดั้งเดิมของแขกพราหมณ์อินเดีย แล้วแพร่หลายถึงบ้านเมืองในอุษาคเนย์ตั้งแต่สมัยแรกๆ

จากนั้นไทยและเพื่อนบ้านต่าง “นำเข้า” สงกรานต์จากอินเดีย แล้วต่างขอยืมสงกรานต์เป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของตน เป็นเหตุให้ไทยและเพื่อนบ้านมีเทศกาลเหมือนกันหมดคือสงกรานต์ขึ้นปีใหม่ มีเล่นน้ำสงกรานต์

รดน้ำดำหัวเป็นประเพณีดั้งเดิมของอุษาคเนย์ ครั้นหลังรับสงกรานต์จากอินเดียแล้ว ราชสำนักเลยปรับเข้าประเพณีสงกรานต์ (ภาพจาก www.matichon.co.th)
ก่อพระทรายคล้ายเจดีย์มอญ (พ.ศ.2556) วัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี (ภาพจาก http://www.taklong.com)

พันทาง

สงกรานต์ในไทยเป็นประเพณีพันทางจากการประสมประสานของศาสนาพราหมณ์, พุทธ, และผี

ชื่อ “สงกรานต์” มีพิธีกรรมในเดือน “เมษายน” ได้จากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ทำบุญและสรงน้ำพระพุทธรูป ได้จากศาสนาพุทธ

พิธี “บังสุกุล” มาจากพิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพชนในศาสนาผี (ที่คลุมด้วยพุทธ) รวมถึงการละเล่นอื่นๆ มาจากศาสนาผี ได้แก่ เข้าทรง, เล่นเพลงโต้ตอบ เป็นต้น

ทับซ้อน

เลี้ยงผีของพื้นเมืองอุษาคเนย์ กับสงกรานต์ของอินเดีย ช่วงเวลาทับซ้อนอยู่ในเดือนเดียวกัน

เลี้ยงผีของพื้นเมือง อยู่ในช่วงหน้าแล้ง (หลังฤดูเก็บเกี่ยว) เดือน 4, 5, 6 (ทางจันทรคติ) ตรงกับสากลราวมีนาคม, เมษายน, พฤษภาคม ชุมชนคนพื้นเมืองมีพิธีกรรมสืบเนื่องยาวนานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว

สงกรานต์ของอินเดีย อยู่ในเดือนเมษายน พระอาทิตย์โคจรจากราศีมีน (มีนาคม) เข้าสู่ราศีเมษ (เมษายน) เป็นการย้ายขึ้นครั้งใหญ่สุดปีละครั้ง ถือเป็นขึ้นศักราชใหม่ เทียบสากลเป็น “ขึ้นปีใหม่”

ไทยและเพื่อนบ้านโดยคนชั้นนำราชสำนัก ต่างรับแบบแผนสงกรานต์จากอินเดียเมื่อหลัง พ.ศ. 1000 (ปัจจุบันเรียกสมัยทวารวดี) แล้วปรับพิธีกรรมเป็น 2 อย่าง ได้แก่

(1.) แบบแผนพราหมณ์-ฮินดู มีบูชาเทพในเทวสถานหลวง และ (2.) แบบแผนพุทธมีทำบุญในวัดหลวง

ทั้งหมดอยู่ในกลุ่มคนชั้นนำราชสำนัก ยังไม่แพร่หลายเข้าถึงราษฎรทั่วไป

ชาวบ้านเชิญโกศอัฐิของบรรพชนไปประกอบพิธีบังสุกุลวันสงกรานต์ เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ (เป็นพิธีกรรมสืบเนื่องจากความเชื่อผีขวัญสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว)

รัฐนาฏกรรม

อยุธยามีสงกรานต์เดือนห้าหน้าแล้ง เป็นพระราชพิธีมีครบทั้งหมดผสมกลมกลืนกัน คือ ผี, พราหมณ์, พุทธ (โดยรวบรวมจากกฎมณเฑียรบาล, กาพห่อโคลงของเจ้าฟ้ากุ้ง, คำให้การชาวกรุงเก่า ฯลฯ) ได้แก่

ออกสนาม ในสนามหลวงหน้าจักรวรรดิอยู่หน้าวังหลวง มีการละเล่นสืบเนื่องจากประเพณีเลี้ยงผีบรรพชน (บางอย่างมีเพิ่มเข้ามา)

สรงน้ำ พระศรีสรรเพรญ์ และเทวรูปพระพิฆเณศ

ก่อพระทราย ในวัดพระศรีสรรเพรญ์ (สมัยอยุธยาเป็นประเพณีของคนชั้นสูง สมัยหลังๆ แพร่สู่ราษฎรทั่วไป)

โรงทาน เลี้ยงพระสงฆ์และราษฎร

เข้าทรงแม่สี (แม่ศรี) (ภาพเก่าเมื่อสาธิตที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2547)
เล่นผีกระด้ง หรือผีนางด้ง

สู่มวลชน

สงกรานต์สมัยอยุธยา เป็นพิธีกรรมของกลุ่มคนชั้นนำในพระนครศรีอยุธยา ยังไม่แพร่หลายถึงราษฎร เห็นได้จากบันทึกของชาวยุโรปบอกว่าขึ้นปีใหม่มีต่างกัน 2 ระดับ

ราษฎรทั่วไป ขึ้นปีใหม่ เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ (ไม่มีเปลี่ยนศักราช) เดือนอ้าย หรือ เดือน 1 ราวพฤศจิกายน-ธันวาคม

คนชั้นนำ ขึ้นปีใหม่ เปลี่ยนศักราชใหม่ (ไม่มีเปลี่ยนปีนักษัตร) สงกรานต์ เดือนเมษายน (ตรงกับเดือน 5 จันทรคติ)

สงกรานต์แพร่หลายสู่มวลชนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเริ่มเข้าถึงราษฎรในเมืองก่อน แล้วหลังจากนั้นทยอยออกสู่ชนบท พบข้อความพรรณนาบอกไว้ในนิราศเดือนของเสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) กวีสมัย ร.3


สาดน้ำสงกรานต์

สาดน้ำสงกรานต์ขยายจากรดน้ำดำหัว เดือนห้า หน้าแล้ง ซึ่งเป็นประเพณีพื้นเมืองของอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว

สงกรานต์มีสาดน้ำรุนแรงยังไม่พบหลักฐานมีเมื่อไร? ทำไม? แต่มีผู้อธิบายว่าจะเริ่มในพม่าฉีดน้ำในกระบอกใส่ “นาย” อังกฤษ เจ้าอาณานิคม (ไม่เกี่ยวกับพิธีโฮลีหรือสาดสีของอินเดีย)

วัวควายและสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ มีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ราว 2,500 ปีมาแล้ว ทั้งในไทยและเพื่อนบ้านโดยรอบ จึงมีพิธีกรรมเป็นมรดกตกทอดถึงสมัยอยุธยา เรียก วัวชน, กระบือชน, ชุมพาชน, รันแทะ เป็นต้น [กรมศิลปากรคัดลอกจากภาพเขียน (กลุ่มบน) ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี (กลุ่มล่าง) อ.ภูกระดึง จ.เลย จากหนังสือศิลปะถ้ำจังหวัดเลย กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2534]
แข่งวัวเทียมเกวียน งานรื่นเริงช่วงสงกรานต์เมื่อหลายปีมาแล้ว ที่ จ.เพชรบุรี
สงกรานต์เป็นประเพณีชาวบ้านภาคกลางอย่างจริงจังสมัยรัตนโกสินทร์ (ภาพเขียนประกาศสงกรานต์ แขวนที่ประตูพิมานไชยศรี พระบรมมหาราชวัง สมัย ร.5)
เทศกาลสงกรานต์ในกรุงมัณฑะเลย์ ที่พม่า [THE BURMESE NEW YEAR เมื่อ พ.ศ.2431 (ตรงกับไทยสมัย ร.5) ภาพจาก THE GRAPHIC (ฉบับวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1888 หน้า 13)]
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image