เมื่อกรมศิลป์ ‘ล็อกดาวน์’ ประวัติศาสตร์ ก็ ‘ออนไลน์’ ความท้าทายใน 109 ปี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี ฉีดฆ่า ‘โควิด’

กระทบเท่าเทียมทุกวงการ ปูพรมแดงฉานแบบไร้พรมแดนเกือบทั้งปฐพี เมื่อบังเกิดมี “โควิด-19” ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ส่งผลสะเทือนโลกทั้งใบ

ภาพของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ โบราณสถานสำคัญ มรดกวัฒนธรรมที่เคยคลาคล่ำด้วยผู้คนต่างเงียบเชียบราวเมืองร้าง ทยอยถูกปิดชั่วคราวเพื่อร่วมสกัดการระบาดของไวรัสครั้งประวัติศาสตร์

“วังต้องห้าม” แห่งกรุงปักกิ่ง แถลงปิดตั้งแต่ 24 มกราคม เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จีน, หอสมุดแห่งชาติ จีน , พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติ จีน และคฤหาสน์กงหวังฝู่

หันไปฝั่งยุโรป ซึ่งสถานการณ์ไม่สู้ดี พิพิธภัณฑ์ลูฟท์ แห่งกรุงปารีส ที่มีผู้เยี่ยมเยือนมหาศาลในแต่ละวัน ก็ประกาศปิดชั่วคราวเมื่อ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ในขณะที่มีผู้ติดเชื้อในตอนนั้น 130 ราย

Advertisement

นับแต่นั้น หลายประเทศสั่งปิดพรมแดน ล็อกดาวน์ แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมต่างๆ ก็ถูกปิดชั่วคราวโดยปริยาย

กลับมายังสยามประเทศไทยที่เคยมี “โรคห่า” ระบาดตั้งแต่ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา

เมื่อปลายเดือนมกราคม ครั้งโควิด-19 ซึ่งยังถูกเรียกกว้างๆ ว่า “โคโรนา” สายพันธุ์ใหม่ ยังไม่ระบาดหนักมาถึงไทยแลนด์ กระทรวงวัฒนธรรม สั่งการกรมกองในสังกัด เร่งรับมือ ขณะนั้น กรมศิลปากรแอ๊กชั่นให้พิพิธภัณฑ์ อุทยานประวัติศาสตร์ หอสมุด หอจดหมายเหตุในสังกัด ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เฝ้าระวังโดยติดตั้งเจลแอลกอฮอล์ล้างมือบริเวณประตูทางเข้า-ออก ห้องน้ำ และตามจุดต่างๆ เช็ดทำความสะอาดบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อย

Advertisement

เมื่อสถานการณ์เข้มข้นหนัก รัฐบาล “ประกาศว่าจะประกาศ” ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ล่าสุด ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร สั่งปิดการให้บริการและการเข้าชมแหล่งเรียนรู้มรดกศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ โบราณสถานที่เก็บค่าเข้าชม หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม-25 เมษายนนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เป็นที่เรียบร้อย

ย้อนไปก่อน “ล็อกดาวน์” ตัวเองไม่กี่วัน เหล่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและหอสมุดในสังกัดหลายแห่งก็มีมาตรการสกัดโควิดเข้มข้น พ่นยาฆ่าเชื้อ รณรงค์ Social Distancing ย้ำให้นั่งอ่านห่างๆ อย่างหวั่นๆ หรือยิ่งดีไปกว่านั้น ถ้า “อยู่บ้าน” ใช้เวอร์ชั่น “อีบุ๊กส์”

นี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์กร ศิลปากร ซึ่งเพิ่งครบรอบ 109 ปี แบบงดฉลองไปเมื่อ 27 มีนาคม

และแน่นอนว่าเมื่อแคมเปญ #หยุดเชื้อเพื่อชาติ ด้วยการ “อยู่บ้าน” พร้อมทั้งการปิดแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในยามนี้

โลกออนไลน์จึงกลายเป็นแหล่งการค้นคว้าสำคัญ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่ากรมศิลปากรพยายามปรับตัวสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร พัฒนาระบบฐานข้อมูลต่างๆ ให้ประชาชนเข้าถึงผ่านจอคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน

ห้วงวิกฤตโรคห่าโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ คืออีกสถานการณ์เน้นย้ำว่าถึงเวลาแล้วในการเผยแพร่ข้อมูล “อย่างจริงจัง” ผ่านระบบออนไลน์

ทว่า กรมศิลปากรพร้อมหรือไม่ในโลกใหม่ใบนี่ ?

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ คนบางตาในยุคโรคระบาด ล่าสุดกรมศิลป์ประกาศปิดทุกพิพิธภัณฑ์ อุทยาน และหอสมุด สกัดไวรัสถึง 25 เมษายน

3 แสนวิว กับเว็บไซต์ที่ ‘ไม่เสถียร’

กว่า 6 ล้าน 5 แสนคน คือ ตัวเลขผู้คลิกเข้าสู่ “ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรม กรมศิลปากร” โดยยอดเดือนมีนาคมนี้ อยู่ที่ 314, 506 คน (ข้อมูลเมื่อ 25 มีนาคม) เป็นคนไทย 124, 746 คน ต่างชาติ 61,788 คน เจาะรายละเอียดให้ลึกไปอีก คือ เป็นนักเรียน นักศึกษา 54,685 คน นักบวช 3,033 คน

สถิติ 5 หน่วยงานที่ฮิตสุด 5 อันดับ ได้แก่

1.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

2.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี

3.อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

4.อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

5.อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

เป็นหน่วยงานที่สัมพันธ์กับการเป็น “แหล่งท่องเที่ยว” สำคัญของไทย ที่สำคัญคือระบบฐานข้อมูลที่ว่านี้จัดว่า “เข้าถึงง่าย” และ “ใช้ง่าย” ค้นหาพบก็ง่ายผ่าน “กูเกิล” หรือหากเป็นแฟนพันธุ์แท้อยู่แล้ว ก็เข้า www.finearts.go.th แล้วท่องโลกมรดกวัฒนธรรมได้ตามชอบ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนระบบบางส่วน ยัง “ไม่เสถียร” ซึ่งคงไม่เป็นไรในช่วงเวลาปกติที่ผู้คนสามารถเดินทางออกไปค้นคว้าในห้องสมุดได้ แต่ในช่วงวิกฤตโรคระบาด ย่อมเป็นที่น่าเสียดายหากเว็บไซต์ดังกล่าวในหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “แหล่งเรียนรู้” ไม่สามารถเข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์และดนตรี ฯลฯ

มีเพียง “กองโบราณคดี” ในหน้าหลักของเว็บไซต์ ที่ใช้งานได้เป็นอย่างดีโดยมีรูปแบบการนำเสนอหลากหลาย ทั้งภาพ คลิปและข้อมูลทั่วไปในขั้น “พื้นฐาน”

‘คลังข้อมูลดิจิทัล’ ไม่ยาก แต่ไม่ง่าย มันเป็นอะไรที่ต้องลุ้น!

อีกหนึ่งคลังความรู้สำคัญ ที่เมื่อก่อเกิดขึ้นมาแล้วนั้นแทบจะถึงขั้นก้มกราบด้วยความปีติ นั่นคือ คลังข้อมูลดิจิทัล

ที่รวบรวมหนังสือเก่า ใหม่ เอกสารภายใน นิตยสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในวันวานกว่าจะค้นคว้าได้นั้น ต้องทุ่มเทเดินทางไปยัง “หอสมุดแห่งชาติ” ค้นบัตรคำ กระทั่งมาถึงยุคคีย์คำสำคัญจากหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วเดินตามตู้หาต้นฉบับ บางเล่มเป็นหนังสือหายาก ต้องให้บรรณารักษ์ช่วยหยิบมาให้เปิดอ่านอย่างระแวดระวัง

วันนี้ คลังข้อมูลดังกล่าวคือขุมทรัพย์มหาศาลที่ “เข้าถึงง่าย” ผ่านเว็บไซต์ www.digitalcenter.finearts.go.th

ทว่า การใช้งานจริง แม้ไม่ยาก แต่ไม่ง่ายเพราะหากจะดาวน์โหลด “หนังสือ” ทั้งเล่มเพื่ออ่าน หรือใช้งาน ต้องผ่านการ “ลงทะเบียน” เพื่อ “เข้าสู่ระบบ” ในครั้งแรก ใส่ชื่อ ตั้งรหัสผ่าน รอระบบส่ง “อีเมล์” ยืนยัน เพื่อคลิกจากลิงก์ในอีเมล์นั้นจึงจะประสบผล

คลังข้อมูลดิจิทัล กรมศิลปากร แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ออนไลน์

ระบบเช่นนี้ แท้จริงแล้วหน่วยงานอื่นก็ให้ผู้ชมดำเนินการคล้ายคลึงกัน เช่น “ห้องสมุดดิจิทัล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ที่ให้บริการผ่าน digital.library.tu.ac.th มีหนังสือเก่ามากมายให้สืบค้นโดยระบบจะบันทึกชื่อผู้ใช้งานและดาวน์โหลดไว้ รวมถึง “ฐานข้อมูลหนังสือเก่าชาวสยาม” ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) www.sac.or.th/databases/siamrarebooks/th/website/home แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ความเสถียรของระบบ คล้ายคลึงกับกรณีเว็บไซต์กรมศิลปากรดังที่กล่าวไปข้างต้น โดยหลายครั้ง เมื่อผู้ใช้พยายามลงทะเบียนใหม่เพื่อเข้าสู่ระบบ หรือเคยลงทะเบียนแล้ว แต่ลืมรหัสผ่าน ครั้นดำเนินการตามขั้นตอน ระบบกลับไม่ส่งอีเมล์ตามที่ปรากฏการแจ้งในหน้าเว็ยไซต์ กลายเป็นเรื่องต้องลุ้นอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ทั้งที่เมื่อเทียบกันในแง่ความมากมาย ความหลากหลาย ความเก่าแก่เลอค่าหายากมากย่อมไม่มีใครเทียบชั้นหน่วยงานรัฐอย่างกรมศิลปากรที่สะสมทรัพยากรมานานนับเนื่องศตวรรษ

กรุ ‘ภาพเก่า’ ออนไลน์ หีบสมบัติที่ไม่ต้อง ‘ผลัดกันชม’

ยังไม่ตัองออกจากเว็บไซต์คลังข้อมูลดิจิทัลของกรมศิลปากร ลองสไลด์หน้าจอไปที่ ‘คลังภาพ’ ที่นับเป็น “หีบสมบัติ” จาก “หอจดหมายเหตุแห่งชาติ” ซึ่งในยุค “อนาล็อก” ต้องเดินเท้าขึ้นบันไดไปยังชั้น 2 เขียนคำร้องส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งจะยกกล่องภาพที่เข้าข่ายมาให้เลือก จากนั้น ขอทำสำเนา คืออัดภาพ จ่ายเงินและนัดรับ หากภาพชุดที่ต้องการมีผู้ใช้งานอยู่ก่อน ก็ต้องรออย่างใจเย็น เรียกว่า ตัองผลัดกันชมสมบัติต้นฉบับอันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในยุคนั้น

ตัดฉากมาในยุค “ดิจิทัล” เว็บไซต์นี้ทยอยนำภาพถ่ายหล่านั้นเผยแพร่โดยจัดจำแนกเป็น “เหตุการณ์สำคัญ” ในแต่ละรัชกาล พร้อมคำบรรยายภาพสั้นๆ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถคลิกชมแต่ในยุคสมัย แต่ละเหตุการณ์ซึ่งมี “ภาพชุด” และแต่ละภาพ ตามลำดับ อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องล็อกอินก็ดูได้ อ่านได้ เซฟหรือบันทึกไฟล์ภาพได้โดยสะดวกอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ยังมีภาพชุดขุนนาง ชุดบรมวงศานุวงศ์ ชุดสถานที่ ชุดจิตรกรรมฝาผนัง และอื่นๆ ซึ่งใช้งานได้อย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน

คลังภาพชุดนี้ สร้างประโยชน์นานัปการมาแล้วในเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ครั้งพระราชพิธี อีกทั้งงานประเพณีต่างๆ ซึ่งไม่เพียงประชาชนผู้สนใจเยี่ยมชม หากแต่สื่อมวลชนยังค้นคว้ามาเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้อย่างมี “อ้างอิง” ตามข้อมูลของกรมศิลปากรเอง ไม่ต้องไป “ก๊อปเน็ต” แบบหวั่นใจว่าสุดท้ายจะ “ผิดๆ ถูกๆ”

โขน ละคร ชม ‘ออนไลน์’
สำนักสังคีต สู้ ‘โควิด’

ไม่เพียงภาพเก่า หนังสือ และเอกสาร คลังข้อมูลดิจิทัลของกรมศิลป์ ยังมี “สื่อมัลติมีเดีย” เมื่อคลิกเข้าไปจะพบคลิปวิดีโอมากมาย ทั้งการแสดงโขน รำวงมาตรฐาน อีกทั้งบทเพลงเฉลิมพระเกียรติ

ย้อนไปก่อนหน้านี้ “สังคีตศาลา” ซึ่งจัดโชว์บนสนามหญ้าเขียวขจีของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยกเลิกเวทีจากพิษโควิด หลังแสดงไปได้ระยะหนึ่ง ปรับเปลี่ยนมาโลดแล่นผ่านการโพสต์ของ “กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์” กรมศิลปากร ด้วยคลิปตามมาตรการสกัดโควิด มีเนื้อหาให้ “เทวดา” มาประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตัวเองและผู้อื่นจากไวรัสโควิด-19 แบบเป็นตอนๆ

พลทหารชุดสีแดงสดสวมหน้ากากอนามัย จึงมีให้ชมแบบเฉพาะกิจผ่านโลกออนไลน์ในยุคโรคระบาด

‘เทวดาช่วยกู้ สู้เภทภัย’ คลิปออนไลน์ของสำนักการสังคีต ให้ความรู้สู้โควิด

อุทยาน ปวศ.เสมือนจริง กับ ‘เฟซบุ๊กแฟนเพจ’
‘ไม่ต้องบอกเรื่องที่ไม่ต้องรู้’

อีกหนึ่งช่องทางที่มีบทบาทสำคัญในยุคโซเชียลคือเฟซบุ๊กแฟนเพจของหน่วยงานย่อย ซึ่งที่ผ่านมามีหลายแห่งโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ในแง่เผยแพร่ความคืบหน้าแบบ “อัพเดต” จากในอุทยานประวัติศาสตร์ จากปากหลุมขุดค้น ส่งผลให้คนไทย “ตื่นตัว” รับรู้ความเคลื่อนไหวในวงการโบราณคดี อาทิ เพจ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ที่ขยันเผยภาพและข้อมูลสำคัญที่ทำให้คนในท้องถิ่นเห็นคุณค่า ส่วน “คนนอก” ก็ร่วมลุ้นการค้นพบหลักฐานใหม่ๆ โดยเฉพาะแหล่งโลหะโบราณในล้านนา หรือย้อนไปก่อนหน้านั้น “จักรสำริด” 1,300 ปีที่นครศรีธรรมราช ก็โด่งดังจากการเผยแพร่ของเฟซบุ๊ก โบราณคดี เขาศรีวิชัย-สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช

ล่าสุด กรมศิลปากร ผุด “อุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง” ให้เดินทางสำรวจแบบไม่เสี่ยง “โควิด” ผ่าน http://virtualhistoricalpark.finearts.go.th

หยุดเชื้อเพื่อชาติ สำรวจอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธมแบบ ‘เสมือนจริง’ 360 องศา

โดยสามารถคลิกเข้าชมภาพและข้อมูลของอุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทยในมุมมอง 360 องศา ทั้งจากบนดิน บนฟ้า ด้านหน้า ด้านข้าง อีกทั้งคลังข้อมูลต่างๆ ซึ่งในวันนี้มียอดผู้ชมแล้ว 10,749 วิว (ข้อมูลเมื่อ 25 มีนาคม)

ย้อนกลับไปที่ เพจเฟซบุ๊ก ซึ่งหลายหน่วยงานย่อยพยายามอัพเดตความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า หลายแห่งเน้นเผยแพร่ข้อมูลที่คนทั่วไปไม่ได้อยากรู้ หรือไม่จำเป็นต้องรู้ เช่น วันนี้ใครมา มากี่คน ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ในแง่ความรู้ ที่สำคัญ ในเชิงเทคนิค จะไปลดฟีด หรือ “การมองเห็น” ของผู้ติดตาม หากโพสต์นั้น ไร้รีแอ๊กชั่นตอบกลับ ในทางกลับกัน หากเน้นข้อมูลน่าสนใจดังเช่น เพจ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งที่ผ่านมามีการนำเรื่องราวของโบราณวัตถุ เหตุการณ์สำคัญ ประเด็นถกเถียงอย่างสร้างสรรค์มาเผยแพร่ นับเป็นคุณูปการต้านโควิดด้วยการอยู่บ้านช่วยชาติอ่านเต็มอิ่ม

ในปีที่ 109 ย่างเข้าสู่ปีที่ 110 นี่คือหัวเลี้ยวประวัติศาสตร์ในประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากรที่มีต่อสังคมไทยบนโลกออนไลน์นับแต่บัดนี้สืบไปเมื่อหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image