‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์’ หลบ ‘โควิด’ เปิดประวัติศาสตร์ ‘อันเซ็นเซอร์’ จากศาลผีถึงรัฐชาติ คำสำคัญที่ไม่เคยออกอากาศ

สะเทือนถ้วนทั่วทุกวงการ โดยเฉพาะแวดวงท่องเที่ยวที่ถูกล็อกดาวน์ไปพร้อมโลกทั้งใบด้วยวิกฤตไวรัสโควิด-19

เช่นเดียวกับรายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ทอดน่องท่องเที่ยว ที่ทั้ง ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือ 2 วิทยากรอาวุโส ร่วม#หยุดเชื้อเพื่อชาติ ด้วยการ#stayathome งด “ทอดน่อง” ท่องไทยเป็นการชั่วคราว

ทว่า อดีตสองกุมารสยาม ยังพร้อมเปิดปมประวัติศาสตร์มากมายอย่างไม่หยุดยั้ง โดยแฟนานุแฟนรายการ ยังสามารถหยิบหน้ากากอนามัยมาสวมใส่แล้วนั่งชมผ่านช่องทางออนไลน์ได้ดังเดิมไม่มีสะดุด ด้วยเนื้อหาเข้มข้นจากหลายการเดินทางในบางช่วงบางตอนที่ “ไม่เคยออกอากาศ”

ครอบคลุมเรื่องราวความคิดความเชื่อ การเมืองยุคเก่าสืบมาถึงวันนี้

Advertisement

พระนอนทวารวดี
กับคำถามที่ยังหาคำตอบไม่เจอ

“คำถามสำคัญมากทางวิชาการซึ่งผมก็หาคำอธิบายมานาน ยังหาไม่ได้ ทำทำไม ต้องขบกันต่อ” คือประโยคจากปาก สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่มีต่อการสร้าง “พระนอน” ของผู้คนยุคโบราณ เมื่อครั้งทอดน่อง วัดธรรมจักรเสมาราม นครราชสีมา

“องค์นี้เป็นพระนอนเก่าสุดในประเทศ ไทยที่เป็นประติมากรรม (ลอยตัว) ไม่ใช่แบบแกะบนเพิงผาอย่างที่พบในชัยภูมิ กาฬสินธุ์ พระอุระหรือหน้าอกมีการเจาะช่องไว้ด้วย ไม่รู้ว่าเจาะมาแต่แรกหรือเจาะทีหลัง และยังไม่รู้ว่าเจาะไว้ทำอะไร” คืออีกหนึ่งคำถามที่ชวนสงสัย แม้นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการ

สักการะพระนอน ณ วัดแห่งนี้ ทว่า ทั้งคู่ เคยติดตาม ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล เข้าสำรวจตั้งแต่ พ.ศ.2512 หรือว่า 50 ปีก่อน เมื่อครั้งยังไม่มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ โดยยังอยู่ในสภาพ “แยกส่วน”

ปรากฏหลักฐานภาพถ่ายที่ ขรรค์ชัย ครั้งยังเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ชะโงกหน้ามองพระพักตร์วิเคราะห์รูปแบบศิลปะ

ขรรค์ชัย บุนปาน (หันหลัง) ครั้งสำรวจพระนอนวัดธรรมจักรเสมาราม 50 ปีก่อน

ในภาพ ยังมีบุคคลสำคัญในแวดวงโบราณคดี ผู้ล่วงลับ อย่าง คงเดช ประพัฒน์ทอง อาจารย์คณะโบราณคดี รวมถึง พิเศษ สังข์สุวรรณ มือประพันธ์บทเพลงประกอบภาพยนตร์ของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งขณะนั้นยังเป็น “น้องใหม่” ของคณะ

“พระบาทเดิมในตอนนั้นไม่รู้ใครวางตั้งขึ้น ทำให้นักโบราณคดีกรมศิลปากรสมัยนั้นคิดว่าเป็นพระยืนแต่องค์พระล้มลง ต่อมาจึงพบว่าเป็นพระนอน พระเศียรหันทางทิศเหนือ สลักจากหินที่ต่อเป็นท่อนๆ คือนำหินหลายก้อนมาเรียงต่อๆ กัน นี่เป็นพระพุทธรูปที่สำคัญที่สุดสำหรับที่นี่ เป็นแลนด์มาร์กสำคัญเมื่อพันกว่าปีก่อน”

‘ศาลผีปะกำ’ ร่องรอยความทรงจำริมแม่น้ำท่าจีน

มาถึงถ้อยความที่ถูกหั่น ไม่ได้ออกอากาศครั้งเดินทางไปย้อนประวัติศาสตร์ต้นตระกูล “พระเพทราชา” แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง นั่นคือ เรื่องราวของ “ศาลผี” ริมแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี ที่สุจิตต์เชื่อว่า นั่นคือ “ศาลผีปะกำ” อันเชื่อมโยงกับการคล้องช้าง ซึ่งพระเพทราชาก่อนขึ้นเป็นกษัตริย์อยุธยาเคยอยู่ในกรมคชบาล

ปัจจุบันศาลที่ว่านี้ ชาวบ้านเรียก “ศาลตายาย” แต่ไม่อาจบอกเล่าที่มาที่ไป ทว่า เมื่อย้อนพิจารณาเอกสารเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 พบแผนที่ในหอสมุดแห่งชาติระบุถึง “ศาลเทพารักษ์”

สิ่งเหล่านี้ เชื่อมโยงกันอย่างมีนัยยะสำคัญ

แผนที่สมัยรัชกาลที่ 5 จากหอสมุดแห่งชาติ ระบุถึงศาลเทพารักษ์


“แผนที่สมัยรัชกาลที่ 5 พบว่ามีชื่อหมู่บ้านเยอะแยะ มีศาลเทพารักษ์ เป็นความทรงจำสมัย ร.5 สมัยอยุธยาจะเรียกศาลเทพารักษ์ไหม ไม่รู้ แต่ฝั่งตรงข้ามคือวัดท่าโขลงที่เกี่ยวกับการคล้องช้าง ศาลแบบนี้แถวสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ เรียก ศาลผีปะกำ ผมเชื่อว่านี่เป็นศาลเกี่ยวกับการคล้องช้างสมัยนั้น ปัจจุบัน ชาวบ้านแถวนี้เรียกศาลตายาย เขาบอกไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร แต่เป็นศาลเก่า ในความทรงจำ คนเขานึกไม่ออกแล้วว่าสมัย ร.5 มีศาลเทพารักษ์ และไม่รู้แล้วว่าเกี่ยวข้องกับการจับช้าง แต่รู้ว่าตรงนี้ศักดิ์สิทธิ์ เฮี้ยน”

สุจิตต์ ยังพาเดินชมศาล ล้วงลึกถึงภายใน พบว่านอกจากมีเจว็ดเฉกเช่นศาลทั่วไป ยังมีการเหลาไม้ไผ่แหลมมาวางกองถวาย ดูคล้ายกรวยบูชา โดยเจ้าตัวบอกว่า คล้ายพนมดอกไม้ พนมหมาก ในจารึกโบราณ

คอลัมนิสต์ชื่อดัง ยังบอกว่า นักวิชาการจำนวนมากของไทยรังเกียจตำนาน นิทาน ซึ่งตนก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่มันมีจริงในสังคม

“คุณปฏิเสธไม่ได้ ถ้าปฏิเสธ แสดงว่ามีอคติต่อความเป็นจริงของโลก มีอคติต่อความเป็นมนุษย์”

ศรีเทพ-ถมอรัตน์
และรากเหง้าที่เรายังเข้าไม่ถึง

ปิดท้ายด้วยเหตุการณ์ตื่นเต้นมากเมื่อครั้งครึ่งศตวรรษที่แล้วของ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ซึ่งก่อนหลบไวรัสโควิด เคยหนีวิกฤตไฟป่าจนแทบเอาชีวิตไม่รอดมาแล้ว

เหตุเกิด ณ เขาถมอรัตน์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อ พ.ศ.2510 ทีมสำรวจจากคณะโบราณคดีเช่นเคย พากันขึ้นเขาถมอรัตน์ซึ่งมีพระพุทธรูปงดงามยุคทวารวดี ทว่า ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ยังไปไม่ถึง เจอไฟป่าขวางหน้า จนหนีกระเซอะกระเซิงขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านที่ทำท่าตกใจอย่างแรง เนื่องด้วยบริเวณนั้น คือ “ดงงูเห่า”

“ชาวบ้านบอกว่า ถ้าตะวันตกดิน ตายแน่ นี่มันดงงูเห่า”

สุจิตต์-ขรรค์ชัย เล่าเรื่องแล้วหัวเราะขึ้นพร้อมกัน พร้อมกระเซ้าว่า ถ้าวันนั้นได้สบตางูเห่า วันนี้คงไม่มี “มติชน”

จากนั้น มาสู่ประเด็นสำคัญยิ่ง อย่าง “เมืองศรีเทพ” ที่คนมักเข้าใจว่า “ร้าง” ไปตั้งแต่โบราณ แต่ 2 กุมารสยามมองว่า แท้จริงแล้วคือการค่อยๆ ลดความสำคัญลงไป จนเหลือแค่ “ชุมชน หมู่บ้าน” ซึ่ง 2 คำนี้ ในยุคโบราณคือ “กองกำลังอิสระ”

สุจิตต์ วงษ์เทศ หน้าศาลตายายริมแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเชื่อว่าเป็นศาลผีปะกำเดิม เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ยุคพระเพทราชา

“เขตศรีเทพทางตะวันตกไปชนกับอำเภอตากฟ้า เขตนครสวรรค์ ติดกับตาคลี มันเชื่อมกันหมด เดิมชื่อบ้านลานตากฟ้า เป็นขุมกำลังบิดาของพระนเรศวร เจ้านายรัฐสุโขทัยตำแหน่งพระธรรมราชาพออยุธยาครองแล้ว เจ้านายฝ่ายเหนือถูกลดอำนาจไปเป็นขุนนาง เป็นขุนพิเรนทรเทพคุมกำลังให้พระไชยราชาซึ่งมีสนมเอกคือท้าวศรีสุดาจันทร์

ขุนพิเรนทรเทพยึดอำนาจท้าวศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงศา ขุมกำลังคือ 1.ขุนพิเรนทรเทพ 2.ขุนอินทรเทพ 3.หมื่นราชเสน่หา 4.หลวงศรียศ บ้านลานตากฟ้า แสดงว่าบ้านลานตากฟ้าสมัยอยุธยาซึ่งสืบเนื่องกับศรีเทพ เป็นขุมกำลังคน มีชุมชนแต่ไม่ได้ครองความเป็นเมืองใหญ่เหมือนแต่ก่อน”

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของชื่อตำแหน่ง “พระศรีถมอรัตน์” ชื่อเดียวกับเขาถมอรัตน์ที่รู้จักกันทุกวันนี้

“ชื่อตำแหน่ง พระศรีถอมรัตน์เป็นเจ้าเมือง มันสืบเนื่องกันตลอด ไม่ได้หายไป ชื่อศรีเทพ ไม่ใช่ชุ่ยๆ มันมีรากเหง้า ที่มาที่ไป แต่เรายังเข้าไม่ถึง และทวีความสำคัญจนถึงอยุธยา”

โยงมาถึงตรงนี้ ก็เจาะรายละเอียดลงไปอีกขั้น ด้วยการเล่าเรื่อง “บ้านลานตากฟ้า” ว่าในอดีตเข้าถึงลำบาก แต่เป็นชุมชนใหญ่ของคนที่หนีจากกรุงแตก

“มีนิทาน ตำนานเล่าเยอะแยะ นี่แหละคือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ประวัติศาสตร์ไทยไม่รู้จัก ทั้งที่สนุกตื่นเต้นจะตาย เป็นชุมชนตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์สืบเนื่องมา เที่ยวเมืองรองจำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ไทยแบบท้องถิ่น ให้คนท้องถิ่นรู้จักตนเอง ไม่ใช่ไปเอาประวัติศาสตร์ส่วนกลางไปครอบงำท้องถิ่น แบบนั้นก็เจ๊งหมดสิ!” สุจิตต์กล่าว โดยมีขรรค์ชัยพยักหน้าเชียร์เต็มที่

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ดำเนิน Social Distancing ต่อกันเป็นการชั่วคราว สกัดโควิด (ภาพครั้งถ่ายทำที่วัดกุฎีทอง สุพรรณบุรี)

จากประเด็นที่ว่านี้ จึงเชื่อมโยงมาถึงการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุที่พบในท้องถิ่นซึ่งมักถูกขนเข้ากรุงเทพฯ เก็บรักษาหรือจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ตั้งคำถามว่า เหตุใดไม่สร้างพิพิธภัณฑ์ที่มั่นคงแข็งแรงแล้วเก็บไว้ในท้องถิ่นแทน อย่างเมืองศรีเทพ มีศักยภาพที่ทำได้

“ทางที่ดี ศรีเทพ ควรสร้างพิพิธภัณฑ์ให้ดี เอารูปเก่ามาลงให้หมด เป็นสตอรี่ที่ขายได้ และดักคอในการทำลายโบราณสถานโบราณวัตถุ เอาสุริยเทพ เอาพระวิษณุมาอวด เรื่องเขาถมอรัตน์ บ้านลานตากฟ้า เชื่อมโยงกันหมด ควรทำพิพิธภัณฑ์ให้คนรู้ และจะได้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง ให้จังหวัดจัดการตนเอง อย่าไปยุ่งกับเขา”

เมื่อ เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ผู้ดำเนินรายการยิงคำถามว่า ศรีเทพ ควรพัฒนาอย่างไรอีกบ้าง

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เห็นตรงกันว่า ไม่ต้องพัฒนา แต่ต้อง “ทำความจริงให้ปรากฏ” คตินี้ยึดถือกันมาตั้งแต่ทำหนังสือพิมพ์

“ความจริงมีอย่างไร อย่าไปบิดเบือนก็เท่านั้นแหละ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image