สันโดษได้ก็ไม่เหงา ‘กักตัว’ ไม่ติดกรอบ ‘โมงยามที่เท้าข้างหนึ่งเหยียบย่างในโลกลี้ลับ’

บ้างก็ กักตัว

บ้างก็ Work from Home

บ้างก็ Stay at Home

ในช่วงเวลาที่ไวรัสร้ายปฏิบัติการถาโถมสู่มวลมนุษยชาติ

Advertisement

แม้ไม่ใช่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

แต่เป็นปฐมบทสำคัญนับแต่การอุบัติของโลกออนไลน์ที่กล่าวกันว่าแม้มี “เฟรนด์” มากมายหรือ “ฟอลโลว์” ใครๆ นับร้อยนับพัน

แต่ผู้คนกลับยิ่งเหงา ราวกับไม่อาจอยู่ลำพังโดยปราศจากการหยิบจับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน

ท่ามกลางวิกฤตโควิด หมายเลข 19

“ดิจิทัล” ยิ่งเป็นตัวละครสำคัญที่คอยขับเคลื่อนการหมุนไปของวิถีชีวิตที่มนุษย์กว่า “พันล้าน” ใช้ชีวิตอยู่ในที่พักอาศัยตามรายงานของสำนักข่าว AFP

แม้บรรยากาศบนท้องถนน บ้านเมือง ประเทศ จนถึงสกลโลกภายนอกเงียบสงบ ทว่า ความโกลาหลภายในอาจเกิดขึ้นในใจของผู้คนมากมายที่ไม่เคยจำใจสันโดษ

สถานการณ์อลหม่านหลังม่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก กวักมือชวนให้ตรึกตรองหลากเรื่องราวในชีวิต สะกิดให้ทดลองบทพิสูจน์ลดละเลิกในการกักตัวเองในโลกออนไลน์ ปล่อยใจคิดอย่างไม่ติดกรอบ ละสายตาจาก “หน้าจอ” สู่ “หน้ากระดาษ” ในบางจังหวะอย่างไม่กระวนกระจาย เปิดสู่โลกใบใหม่ที่เคยเป็นโลกใบเก่าก่อนโซเชียลช่วงชิงพื้นที่และเวลา

‘ดิจิทัลมินิมัลลิสม์’ ใช้เทคโนโลยีให้น้อย เป็นมนุษย์ให้มาก

“ถ้าวิถีชีวิตดิจิทัลเต็มร้อยในปัจจุบันทำให้รู้สึกเหนื่อยหน่าย ต้องอยู่กับอุปกรณ์และหน้าจอตลอด 24 ชั่วโมง พะว้าพะวังกับเสียงเตือนข้อความแชตหรือโหยหาการเติมเต็มจากโซเชียลมีเดีย แต่ได้รับเพียงความว่างเปล่าหรือรำคาญตัวเองที่ไม่สามารถละสายตาจากมือถือในยามว่างได้ ดิจิทัลมินิมัลลิสม์ คือ คำตอบสำหรับคุณ”

คือข้อความโปรยปกหลังของหนังสือ “Digital Minimalism” โดย Cal Newport ในฉบับแปลภาษาไทยภายใต้ชื่อ “ดิจิทัลมินิมัลลิสม์” โดย บุณยนุช ชมแป้น สำนักพิมพ์ broccoli

เป็นข้อความชวนให้เปิดอ่านเนื้อหาด้านในซึ่งน่าสนใจยิ่ง

“ใช้เวลาตามลำพัง เมื่อความสันโดษรักษาชาติ” คือชื่อบทหนึ่งซึ่งฟังดูคล้าย #หยุดเชื้อเพื่อชาติ ของไทย และแคมเปญแนวรักชาติให้อยู่บ้านของอีกหลายประเทศในการสกัดไวรัสโควิด

ตอนหนึ่งของบทนี้เล่าถึง อับราฮัม ลินคอล์น วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา โดยผู้เขียนพา “เดินทาง” ผ่านฉากถนนหมายเลข 7 (Seventh Street) จากกลางดงคอนโดฯ สู่บ้านเรือนที่ก่อด้วยอิฐ มุ่งหน้าบ้านสไตล์โกธิกหลังหนึ่งซึ่งเคยเป็นที่พักในฤดูร้อนและต้นฤดูใบไม้ร่วงของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น

หนังสือเล่มนี้ระบุว่า มีงานวิจัยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่บ่งชี้ว่า เวลาและสถานที่ที่เหมาะแก่การคิดทบทวนท่ามกลางความเงียบสงบของบ้านพักหลังนี้ อาจมีบทบาทสำคัญช่วยให้ลินคอล์นบรรเทาความทุกข์ใจจากสงครามกลางเมืองและตัดสินใจเรื่องยากๆ ที่เขาต้องเผชิญ

“อยู่ที่บ้านพักหลังนี้ เขามักเดินไปเดินมาอยู่คนเดียวในเวลากลางคืนที่สุสานทหาร เขาไม่เขียนบันทึก เราจึงไม่อาจล่วงรู้ความคิดเบื้องลึกที่สุดของเขา แต่เรารู้ว่าเขาอยู่ที่นี่ เผชิญหน้ากับชีวิตมนุษย์ที่สูญสิ้นไปในสงครามก่อนที่เขาจะลงมือเขียนประโยคที่ประทับอยู่ในใจเหล่านั้น”

เป็นคำบอกเล่าของ อีริน คาร์ลสัน มัสต์ ผู้อำนวยการบริหารองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งบริหารดูแลบ้านพัก

คำบอกเล่าที่ว่านี้ เล่าถึงช่วงเวลาก่อนที่ลินคอล์นจะกล่าวสุนทรพจน์บรรลือโลก ซึ่งเรียกกันว่า “สุนทรพจน์เกตตีสเบิร์ก” ความตอนหนึ่งว่า

“เราจะไม่ให้การตายของพวกเขาสูญเปล่า ที่ประเทศนี้ซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองของพระเจ้าจะมีอิสรภาพที่เกิดใหม่ และที่รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จะยังคงอยู่บนโลกต่อไป”

พูดง่ายๆ ว่า ลินคอล์นใช้เวลา #stayathome ร่างสุนทรพจน์นี้มากกว่าความเชื่อที่ว่าเจ้าตัวเขียนอย่างเร็วๆ บนรถไฟซึ่งไม่ใช่กระบวนการปกติของเขา

นอกจากนี้ ลินคอล์นยังเขียนร่างประกาศ “เลิกทาส” ฉบับแรกที่บ้านพักหลังนี้เช่นกัน

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้สรุปว่า การได้ใช้เวลาอยู่กับความคิดของตนเองเพียงลำพังของลินคอล์น มีบทบาทสำคัญต่อการบริหารจัการงานต่างๆ ในตำแหน่งประธานาธิบดีในห้วงสงครามที่เรียกร้องและท้าทาย

“เพราะฉะนั้นเราจึงพูดได้อย่างไม่เกินจริงในระดับหนึ่งว่า ในแง่หนึ่งความสันโดษช่วยรักษาชาติของเราไว้”

อีกหนึ่งตอนที่อาจช่วยคลายความสงสัยและกังวล เกี่ยวกับความสันโดษซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการตัดสัมพันธ์

“การอยู่คนเดียวตามลำพังได้…ไม่ใช่การตัดขาดจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้อื่น แต่เป็นการทำให้ความสัมพันธ์กระชับแนบแน่นแฟ้นขึ้นต่างหาก”

ในเล่ม ยกตัวอย่างบุคคลสำคัญ และนักเขียนระดับโลกที่ใช้ชีวิตสันโดษ รวมถึงถ้อยความของ กวี นาม เมย์ ซาร์ตัน (May Sartin) ตอนหนึ่งว่า

“ในที่สุด ฉันก็ได้อยู่คนเดียวเป็นครั้งแรกในรอยหลายสัปดาห์เพื่อจะได้ใช้ชีวิตที่จริงแท้อีกครั้งเสียที มันช่างแปลกประหลาด เพื่อนฝูงหรือแม้กระทั่งความรักใคร่โหยหากลับไม่ใช่ชีวิตที่แท้จริงของฉันเลย…”

ก่อนปิดท้ายด้วยประโยคสรุปของ “เวนเดลล์ แบร์รี่” (Wendell Berry) นักเขียนชื่อดัง ว่า “เมื่อสันโดษได้ เราจะไม่เหงา”

แม้มีตัวอย่างขับเน้นหนุนข้อดีของความสันโดษ ทว่า ก็ไม่ได้ยัดเยียดขีดเส้นให้โยนสมาร์ทโฟนทิ้งไป หากแต่ใช้เท่าที่จำเป็น ดังเช่นที่กล่าวในบท “การทิ้งความรุงรังในโลกดิจิทัล” ซึ่งแนะนำวิธีเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยจัดสรรเวลา 30 วัน ในการสำรวจตัวเอง ว่ามีกิจกรรมอะไรที่พึงใจเมื่อได้ทำ จากนั้นค่อยนำเทคโนโลยีกลับมาใช้โดยตัดสินใจว่าอะไรที่มีคุณค่าต่อชีวิตและจะใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร

ปล่อยใจคิดไม่ติดกรอบ ในวันต้อง ‘กักตัว’

“รวมกันเราอยู่”

ไม่ใช่สโลแกนที่ดีในห้วงเวลาแห่งการรรณรงค์ “Social Distancing” ซึ่งผู้คนต้องรักษาระยะห่างทางสังคม บนวิกฤตโควิด-19

ทว่า เมื่อเป็นบทแรกในหนังสือ “ปล่อยใจคิด ไม่ติดกรอบ” ก็เปิดเล่มได้น่าอ่าน เพราะความสามัคคีนั้นคืแหนึ่งในหลักสำคัญขององค์กร

ผลงาน กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ธุรกิจพอดีคำลำดับที่ 4 ซี่งชวนให้กระโดดกำแพงความคิด ติดปีกนวัตกรรม กระโจนออกจากกรอบ แม้ในวันที่ถูกกักตัว 14 วันจากสถานการณ์ไวรัสสะเทือนโลก

ในวันที่เอไอฉลาดล้ำ จนมนุษยชาติหวาดหวั่น กวีวุฒิ บอกไว้ในบทดังกล่าวว่า

“ยิ่งสังคมใหญ่ขึ้น การอยู่ร่วมกันในสังคมก็เป็นเรื่องยากขึ้น

เขาว่ากันว่า สัตว์น้อยชนิดนักที่จะอยู่ร่วมกันได้เกิน 150 ตัว

เกินกว่านั้น การใช้กำลังปกครองก็จะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากขึ้นตามสันชาตญาณของสัตว์ป่า

แต่มนุษย์นั้น มีความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งที่ช่วยรวมคนหมู่มาก เป็นหมื่น แสน ล้าน ได้

นั่นคือ การสื่อสารเรื่องราวในจินตนาการ

มนุษย์เท่านั้นที่สามารถสร้างเรื่องราวต่างๆ ได้

ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อในเทพเจ้า เรื่องของศาสนา จิตวิญญาณ”

อีกหนึ่งบทที่ต้องสะท้อนใจในความเป็นมนุษย์ คือ “บทเรียนจากแอปเปิล” บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไม่มีใครในชีวิตออนไลน์ไม่รู้จัก

กวีวุฒิ สรุปเรื่องราวที่ สตีฟ จ๊อบส์ จดจำจนวาระสุดท้ายของชีวิต นั่นคือ บทเรียนจากการไม่สนใจใคร ไม่ไว้หน้าใคร ซึ่งเกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้งจนเป็นเหตุให้เพื่อนรักลาออก ส่วนตัวเองก็โดนไล่ออก

รายละเอียดเป็นอย่างไร อ่านได้ในเล่มนี้

“ในยุคอินเตอร์เน็ต ปริศนาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกแล้ว”

“แค่เปิด google พิมพ์แกรกสองแกรก คำตอบก็คงปรากฏตรงหน้า” คือประโยคตามหลังข้อความก่อนหน้าซึ่งระบุว่า

“ทีแรกผมตั้งใจจบเรื่องสั่น ลิงหิน (เสมือนคำนำ) แบบเดียวกับลิงหิน ต้นตำรับ ทิ้งปริศนาลี้ลับให้คนอ่านไปค้นคว้าต่อเอง แต่ในยุคอินเตอร์เน็ต ปริศนาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่อะไรอีกแล้ว”

ปิดท้ายด้วยประโยคเฉลย ที่หาอ่านได้ในหน้าที่ 9-14 ของหนังสือ ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ ผลงานนักเขียนดัง ภาณุ ตรัยเวช ผู้ซึ่งในชีวิตจริงมีคำนำหน้าว่า ดร. จากการจบปริญญาเอกด้านอุตุนิยมวิทยาและสมุทรศาสตร์

นิยามบนปกหน้าระบุว่า เป็นผลงานรวมเรื่องสั้นว่าด้วยจิตสำนึกมนุษย์ที่เก็บซ่อนความย้อนแย้งไว้ภายใน เสียดเย้ยความเปล่ากลวงของสังคมกระแสหลักได้อย่างอัศจรรย์พันลึก

แต่ที่น่าสนใจกว่า คือ คำโปรยปกหลัง จากผู้เขียนเอง ซึ่งทำให้เข้าใจภาพกว้างใน 252 หน้าของเล่มว่าจะได้พบอะไรในการเปิดหน้ากระดาษที่สุดท้ายก็ไม่อาจคาดเดาในแต่ละบรรทัดได้อยู่ดี และนั่นก็ถูกต้องแล้ว

ภาณุ ระบุว่า นักเขียนไทยส่วนใหญ่จะมีความเชื่อแปลกๆ พวกเขาพยายามหลีกเลี่ยง ไม่พูดถึงหนังสือเล่มอื่นในผลงานของตัวเอง ราวกับการพูดถึงหนังสือเล่มอื่นจะไปทำลายภาพลวงตาของคนอ่าน ทำให้พวกเขาระลึกได้ว่าที่กำลังอ่านอยู่นี้เป็นแค่เรื่องแต่ง เป็นแค่หนังสืออีกเล่ม ราวกับการพูดถึงหนังสือเล่มอื่นจะทำให้ความสมจริงสมจังของของหนังสือเล่มนี้ลดลง…

เรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่องในหนังสือที่ทุกท่านกำลังถืออยู่ คือเรื่องสั้นของคนอ่านหนังสือ เขียนขึ้นมาโดยคนอ่านหนังสือของ เหม เวชกร น.ม.ส. ‘ท่านเจ้าบ้าน’ อกาธา คริสตี อิตาลี คาลวิโน แน่นอน วิลเลียม เชคสเปียร์ และนักเขียนอีกมากมาย แม้จะไม่ได้ถูกเอ่ยถึงตรงๆ แต่จิตวิญญาณของพวกเขา หล่อเลี้ยงเรื่องราวเหล่านี้

เรื่องที่ 11 คือชื่อเรื่องสั้นที่ไม่ได้อยู่ในลำดับที่ 11 ของเล่ม ถ้าให้เดา คือความจงใจให้เป็นเรื่องสั้นลำดับต่อเนื่องจาก เรื่องที่ 1-10 ของ “นิทานเวตาล” สำนวนแปล น.ม.ส. อันเป็นผลงานแปลอมตะนิรันดร์กาลของวงวรรณกรรมไทย

นิทานเรื่องนี้ แท้จริงแล้วมี 25 เรื่อง ฉบับดั้งเดิมเป็นวรรณกรรมสันสกฤต โดย ศิวทาส ซึ่งถูกเล่าขานกันมานานกว่า 2,500 ปี โครงเรื่องหลักของเป็นเรื่องการโต้ตอบตอบปัญหาระหว่างพระวิกรมาทิตย์ กษัตริย์แห่งกรุงอุชชิยนี กับเวตาล ปีศาจที่มีร่างกายกึ่งมนุษย์กับค้างคาว ซึ่งจะนำเข้าไปสู่นิทานย่อย

และจิตวิญญาณของ น.ม.ส. ก็หล่อเลี้ยงเรื่องสั้นเรื่องนี้ของภาณุ ซึ่งเปิดฉากที่ริมฝั่งแม่น้ำยโสธาราม ความว่า

“ริมฝั่งแม่น้ำยโสธาราม มีตำหนักงามนามวรรณศิลา เป็นสถานประสาทวิชาของเหล่าราชบุตร ตำหนักแห่งนี้มีศิษย์เอกอยู่ 4 คน ชายหนุ่มทั้ง 4 เป็นเลิศทางศาสตร์และศิลป์ แต่งกาพย์กลอนไพเราะยิ่ง ยิงธนูแม่นดังจับวาง เชี่ยวชาญกระบี่กระบอง รู้เท่าทันวิชาค้าขาย การเมือง แลบริหาร”

เรื่องราวจากนั้นดำเนินไป ก่อนปิดท้ายที่เวตาลหัวเราะก้องฟ้า คืนไปห้อยอยู่ยังต้นอโศกตามเดิม พระวิกรมาทิตย์ก็หันพระพักตร์ทรงพระดำเนินกลับไปสู่ต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง

เนื้อหา สำนวน และ “รสคำ” ระหว่างเปิดเรื่องและปิดท้าย หาอ่านได้ในเล่มนี้ที่ชวนให้คิดถึงและอาจอยากเปิดตู้หนังสือค้นเล่มต้นฉบับของนักเขียนเหล่านั้นมาปัดฝุ่นอ่านกันอีกครั้ง หากหนังสือคือส่วนประกอบสำคัญในชีวิตเหมือน ภาณุ ผู้ประกาศผ่านตัวอักษรไว้ในตอนต้นของเล่มว่า

“แต่ไหนแต่ไร หนังสือคือส่วนประกอบสำคัญในชีวิตผม…”

เมื่อใดที่ชีวิตเผชิญช่วงเวลาต่างๆ เขานึกถึงฉากในหนังสือหรือตัวละคร เช่น “ในโมงยามที่เท้าข้างหนึ่งของเราเหยียบย่างเข้าไปในโลกลี้ลับ…ในนามนั้นเราย่อมนึกถึงบทละครเรื่อง Hamlet องก์ 1 ฉาก 5 วรรคที่ 167”

ส่วน “ลิงหินและเรื่องสั้นอื่นๆ” จะถูกนึกถึงจากผู้อ่านในสถานการณ์ใดของชีวิตผู้อ่าน

ก็ต้องเริ่มจากการเปิดหน้าแรก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image