เมื่อเราต่างต้องปรับตัว เรียน-สอน ‘ออนไลน์’ ในความเหลื่อมล้ำ Work from Home ให้ปังด้วยวัคซีน ‘สื่อสาร’

ช่วงเวลาที่ไวรัสโควิด-19 กลายเป็นวิกฤตอันเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่ห้อมล้อมประเทศเพื่อนบ้าน และคืบคลานเข้าใกล้คนไทยในทุกขณะ ไม่เพียงสร้างกระทบต่อสุขภาพ หากยังลามไปถึงสภาพเศรษฐกิจ บริษัท ห้างร้าน จำต้องปิดกิจการ เลิกจ้าง พักงาน ลดจำนวนวัน หั่นเงินเดือนพนักงาน กระทั่งบีบให้ลาออก

แม้เป็นภาพที่น่าเศร้า แต่ก็เข้าใจได้ในสภาวะเช่นนี้ ด้วยลักษณะของโรคระบาด มนุษย์จึงจำเป็นต้องแยกตัว เว้นระยะห่าง ทำให้ขาดซึ่งการติดต่อสื่อสารทางตรง อย่างมีปฏิสัมพันธ์ หลีกหนีไม่พ้นที่หนทางรอดจะต้องอาศัย “การปรับตัว” ขนานใหญ่ เพราะแม้เราจะเข้าสู่ยุคแห่งการ “สื่อสารออนไลน์” ไร้พรมแดน แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยอาจไม่ได้มีความพร้อมมากขนาดรองรับการปรับเปลี่ยนอย่างฉับพลัน ไม่ว่าจะการเรียน หรือ การทำงานที่บ้าน (Work from Home) จึงถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย และยังไม่มีระบุไว้ในกฎหมายแรงงาน

อย่างไรก็ดี การทำงานบ้านเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงให้กับพนักงาน และลดความเสียหายอันจะกระทบต่อผู้ประกอบการเอง ในห้วงยามนี้การพิจารณาอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน ดูเป็นทางออกที่น่าจะแฮปปี้ทั้งสองฝ่าย ทว่าปัญหากลับเกิดขึ้นมากมายอย่างไม่ทันคาดคิด ทั้งการทำงานอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ด้วยสภาพแวดล้อมและปัจจัยที่แตกต่างกันไป การประเมินผลการทำงานที่อาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ยังไม่รวมถึงปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในที่ทำงาน โดยเฉพาะคีย์หลักเพื่อการทำงานให้ราบรื่น อย่าง “การสื่อสาร” ซึ่งไม่ว่าจะสาขาอาชีพใด จำต้องใช้สิ่งนี้ทั้งสิ้น

Advertisement

สอนออนไลน์ เรียนผ่านแอพพ์
อาจารย์ปรับตัว นักศึกษาปรับใจ

หนึ่งในสาขาอาชีพที่ต้องอาศัย “การสื่อสาร” อย่างมาก เพื่อวางรากฐานความรู้ให้กับผู้เป็นอนาคตของชาติ คือ ครูบาอาจารย์ที่ต้องปรับตัวมาสอนแบบ ‘ออนไลน์’ ทั้งใช้แอพพ์ยอดฮิตอย่าง ZOOM และแบบ ‘อัดคลิป’ ส่งเจ้าหน้าที่ในสถานศึกษา

ธนกฤต ลออสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้สอนสาขาประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว ที่จำต้องปรับวิธีการสื่อสารและสอนนักศึกษาในช่วงเวลาที่กำลังเข้าสู่การศึกษาภาคฤดูร้อน เปิดเผยว่า

ตามแผนการสอนจะมีรายวิชาบังคับ 1 ตัว และรายวิชาเอกเลือก 1 ตัว ซึ่งไม่เหมือนหลักสูตรการท่องเที่ยวของมหาวิทยาลัยอื่น ที่สาขาประวัติศาสตร์จะเรียนทั้งโลก ทุกทวีป แต่สาขาประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยวจะเรียนเนื้อหาโฟกัสไปที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับการทำงานในสายท่องเที่ยว จึงไม่ได้เรียนพ่วงเรื่องการท่องเที่ยวเหมือนหลักสูตรมัคคุเทศก์

Advertisement

แม้จะดูเป็นข้อดีที่รายวิชาไม่ต้องพึ่งการลงพื้นที่ และดีที่รามคำแหงมีระบบให้นักศึกษาสามารถดูคลิปวีดีโอที่อาจารย์สอนย้อนหลังได้ในส่วนรายวิชาพื้นฐาน มานานพอสมควรแล้ว ดังนั้น บรรยายรายวิชาพื้นฐานใน 1 วิทยาเขต เจ้าหน้าที่โสตฯ ก็จะอัดการบรรยายขึ้นเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาล็อกอินเข้าไปเรียนได้

แต่ในส่วน “วิชาเอก” ซึ่งมีการบรรยายที่ภาควิชา คณะมนุษยศาสตร์ ยังไม่ได้มีระบบเช่นนี้มาก่อน แม้จะเคยมีวิธีกึ่งออนไลน์ คือ ใช้ระบบ google classroom เพื่อเอาเอกสาร บทความ ข้อมูล มาลงออน์ไลน์ให้นักศึกษาดาวน์โหลดไปอ่านทบทวนได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการอยู่

“ปกติจะเน้นการบรรยายในคลาสเป็นหลัก แต่รามคำแหงไม่ได้บังคับเรื่องการเข้าคลาส นักศึกษาจะมาหรือไม่มาก็ได้ ไม่มาก็ไปทบทวน สำหรับเทอมนี้ เนื่องจากสถานการณ์จึงตัดการบรรยายในชั้นเรียนออก และ ใช้วิธีการ อัดคลิปบรรยายประกอบสไลด์ ส่งให้ทางสำนักเทคโนฯ ของมหาวิทยาลัย เป็นคนอัพโหลด เพราะการนัดนักศึกษามาสอนสด แล้วเรียนพร้อมกันเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง

เนื่องจากนักศึกษาของ ม.รามฯ ไม่ได้มีแค่ระดับปริญญาตรีที่เป็นวัยรุ่น ซึ่งคุ้นเคยกับเทคโนโลยี เราอาจจะเห็นมหาวิทยาลัยอื่นนัดประชุม เรียนออนไลน์พร้อมกัน แต่รามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชา นักศึกษาของเรามีหลายช่วงวัย จึงมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เช่น วิชาของผม คนลงทะเบียนเรียน 1 ใน 4 เป็นวัยเกษียณ ดังนั้นเรื่องเทคโนโลยี และการสื่อสารโต้ตอบอาจจะยาก ที่ทำได้ตอนนี้คือ เราทำเป็นคลิปให้เหมือนบรรยายในชั้นเรียน และเพิ่มเนื้อหาเป็นสไลด์ให้ครบ”

อีกส่วนที่เป็นปัญหา อย่าง ‘เอกสารประกอบการสอน’ เพราะ วิชาสายประวัติศาสตร์ บางอย่างไม่ได้มีในโลกออนไลน์ แต่อยู่ในหนังสือเก่า

ธนกฤต ลออสุวรรณ

“ผมสอนวิชาล้านนาศึกษาเพื่อการท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งของเนื้อหาเป็นเรื่องตำนานพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งใช้ตัวอย่างที่เป็นเอกสารโบราณ ตามปกติจะมีตัวอย่างเอกสารให้นักศึกษาถ่ายเอกสารเพื่อมาเรียนรู้ร่วมกันได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้สิ่งที่ทำคือ ต้องสแกนเอกสาร เอาไปแขวนไว้ที่กูเกิลไดรฟ์ เพื่อให้นักศึกษาดาวน์โหลด แต่ส่วนหนึ่งห่วงนักศึกษากลุ่มที่อาจจะยังไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้ดีนัก เช่น กลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งเคยเจอตั้งแต่เทอมปกติ อัพโหลดสไลด์ ลง google classroom คุณลุงบอกว่าทำไม่เป็น ใช้ gmail ไม่ได้ อาจารย์บรรยายได้ไหม

“ตอนนี้นักศึกษาของรามลงทะเบียนแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีกลุ่มผู้ใหญ่จำนวนมาก และมหาวิทยาลัยเรามีความพิเศษตรงที่มีนักศึกษาทุกช่วงวัย ต้องยอมรับว่าบางคนอาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากนัก ความจริงเทอมนี้เป็นอะไรที่กะทันหันเหมือนกัน”

‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’
โจทย์ใหญ่ใน ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่มีอยู่จริง

สำหรับการแก้ปัญหาที่ดูเหมือนว่าคนไทยจะต้องพึ่งพาตนเองไปก่อน อ.ธนกฤต ยอมรับว่า ก็คงต้องทดลองดูกันไป โดยเบื้องต้นจะใช้เพจของภาควิชาเป็นช่องทางในการสื่อสาร ซึ่งปกติที่นักศึกษาใช้ติดตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว โดยมหาวิทยาลัยปรับให้ทุกภาควิชาจะต้องมีคลิปการสอนอัพลง “Course on Demand” เพิ่มจากวิชาพื้นฐาน และแม้จะดูเป็นการสื่อสารทางเดียว แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนที่ไม่ทันเทคโนโลยีพอจะคุ้นเคยบ้าง

“แม้จะอยากทำการสอนแบบมีปฏิสัมพันธ์ อย่างอาจารย์หลายท่านทำในหลายมหาวิทยาลัย แต่ด้วยมีผู้ลงทะเบียนหลากหลาย จบเทอมนี้ส่วนตัวมองว่าทางมหาวิทยาลัยจะต้องมีการประเมินเรื่องการผลักดันให้เป็นออนไลน์ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าเราทิ้งใครไว้ข้างหลังหรือไม่ โดยเฉพาะนักศึกษากลุ่มช่วงวัยต่างๆ และต้องยอมรับว่ากลุ่มหนึ่งของนักศึกษารามคำแหงเป็นผู้มีรายได้น้อย การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอาจไม่ทันท่วงทีในการออนไลน์พร้อมกัน”

“ความจริงโลกเราเข้าสู่ยุคออนไลน์มานานหลายปีแล้ว เพียงแต่ในส่วนมหาวิทยาลัยไทยจำนวนไม่น้อย ยังทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก ส่วนหนึ่งเป็นความคุ้นชิน ทั้ง ผู้สอน และผู้เรียน นักศึกษารามฯ บางคนก็บอกว่า ต้องออนไลน์ บางคนยังนึกถึงภาพเมื่อวันวาน ซื้อชีทมานั่งอ่าน มีติวเตอร์ แต่เมื่อมีวิกฤตนี้เข้ามา ต้องพลิก คุณอาจจะซื้อชีทอ่านได้ แต่ถ้าวันนึงคุณไม่สามารถซื้อชีทได้ อาจารย์ต้องบรรยายออนไลน์คุณสามารถเปลี่ยนได้หรือไม่

“ผู้สอนเองก็ต้องทำการบ้านเยอะขึ้น เนื่องจากเราต้องคิดเสมอว่า จะไม่ได้ถามคำถามเหมือนอย่างเจอหน้าในคลาส ต้องเตรียมคำอธิบาย ปรับแก้ Presentation ให้เหมาะสมกับนักศึกษา บางครั้งผมคิดเผื่อถึงขนาดว่าบางคนไม่สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ ถ้าเขาจำเป็นต้องดูแค่สไลด์ เขาจะสามารถเรียนรู้ได้หรือไม่ เป็นการบ้านที่หนักสำหรับเราพอสมควร

“เพราะ ความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่จริง เราเป็นตลาดการศึกษา เป็นมหาวิทยาลัยแห่งโอกาส เมื่อมีข้อจำกัดใหญ่หลวงนี้เข้ามาจึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย ยังไม่รวมถึง กระบวนการสอบ ที่ต้องปรับตัว จากที่ผ่านมารามคำแหงจะจัดสอบเป็นมหกรรม ห้องสอบนั่งได้เป็น 1,000 คน จึงต้องหาวิธีการสอบออนไลน์ ถือเป็นโจทย์ที่ใหญ่” อ.ธนกฤตเผย ก่อนจะกล่าวทิ้งท้าย

“อย่างน้อยมองโลกในแง่ดี วิกฤตครั้งนี้เป็นแรงผลักดันครั้งใหญ่ว่า ถ้าเราจะเปลี่ยนไปจากวิถีการเรียนการสอนแบบเดิมอย่างที่คนมองรามคำแหง เราจะพลิกไปได้แค่ไหน อย่างไร ผู้บริหาร ผู้สอน และนักศึกษาได้ตระหนักถึงข้อกัดแล้ว ดังนั้น หากจะเรียน ก็ต้องปรับตัวกันทุกฝ่าย”

คือส่วนของปัญหา เรื่องการสื่อสารในสถานการณ์วิกฤต โควิด-19

วัคซีน 5 เข็ม ‘สื่อสาร’ ในสถานการณ์วิกฤต

จากแวดวงการศึกษา มาถึงวงการธุรกิจซึ่งต้องปรับตัวหนักหลังการให้พนักงาน Work from Home เช่นกัน

ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารระดับโลก อย่าง เฟลชแมนฮิลลาร์ด หนึ่งในองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะการสื่อสารในภาวะวิกฤต ได้ตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจเรื่อง โคโรนาไวรัส” อันประกอบด้วยผู้นำของบริษัทกว่า 80 สำนักงานทั่วโลก เพื่อสร้างระบบในการสื่อสาร สร้างเกณฑ์มาตรฐาน ทำรายงานสถานการณ์รายวัน และสร้างแผนการสื่อสารในภาวะฉุกเฉิน เพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ ใช้เป็นแนวทาง หรือ “วัคซีน” ป้องกันผลกระทบทางธุรกิจ ซึ่งอาจเกิดจาก “การสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ”

โสพิส เกษมสหสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟลชแมนฮิลลาร์ด ประเทศไทย ได้เสนอแนวทางการสื่อสารแก่ผู้ประกอบการ ผู้บริหารองค์กร ผู้กำกับนโยบายภาครัฐ และวิสาหกิจ เกี่ยวกับข้อควรพิจารณา เพื่อการสื่อสารในภาวะวิกฤตที่มีประสิทธิภาพท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ผ่าน วัคซีน 5 เข็ม ดังนี้

วัคซีนที่ 1 “ดูแลทุกคนในองค์กร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ทั่วถึง”

เพราะการสื่อสารที่สม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อองค์กร โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง บริษัท ห้างร้านต่างๆ ต้องเข้าใจถึงความพลิกผันของสถานการณ์ ที่อาจสร้างความขัดแย้ง ความเห็น ความต้องการที่แตกแยก และแตกต่าง กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่องค์กรต้องดูแลในระดับนี้ ครอบคลุมถึง พนักงานประจำ และพนักงานชั่วคราว คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ ชุมชนใกล้เคียงที่องค์กร/บริษัท ดำเนินกิจการในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งการประสานความร่วมมือและบูรณาการทางการสื่อสาร กับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขในพื้นที่ กรมควบคุมโรค ผู้นำชุมชน ผู้บริหารนโยบายภาครัฐทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ เป็นต้น

โสพิส เกษมสหสิน


วัคซีนที่ 2 “รับฟัง และเตรียมพร้อมในการสื่อสารกับหน่วยงานนอกองค์กร และอย่าประเมินสถานการณ์ในองค์กรต่ำเกินไป”

ผู้บริหารและบริษัทต่างต้องเข้าใจและพร้อมเผชิญกับความจริง หากพนักงานหรือบริษัทตกอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคภายในองค์กร เพราะทุกคนในสังคมและในประเทศนี้ ต้องเผชิญความจริงที่น่าตระหนกนี้ไปด้วยกัน ดังนั้น การปฏิบัติการ และการสื่อสารด้วยข้อมูลที่ถูกต้องจากองค์กรที่รับผิดชอบและเป็นผู้เชี่ยวชาญต่อเรื่องการระบาดวิทยา และการจัดการเรื่องสุขภาพและสาธารณสุขของประชาชน ทั้ง ต่างประเทศ และในประเทศ อาทิ องค์การอนามัยโลก ( WHO) กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กองโรคติดต่อทั่วไป มติคณะรัฐมนตรี คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และการประกาศต่อการปรับยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ

วัคซีนที่ 3 “ตัดสินใจ และสื่อสารที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจ คุณค่าของความเคารพสิทธิส่วนบุคคล เสรีภาพของความเป็นมนุษย์ และบนความรับผิดชอบต่อผู้อื่นและสังคม”

ในทุกสถานการณ์ที่บีบบังคับให้องค์กรต้องเผชิญกับความเสี่ยง และความกดดัน ขอแนะนำให้ผู้บริหารและองค์กรใช้หลักการ “มนุษยธรรม” และ “ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม” ในการชี้นำการตัดสินใจ ในการบริหารความเสี่ยง และการสื่อสารในภาวะวิกฤตที่คับขัน องค์กรจำเป็นต้องบริหารการสื่อสารบนเป้าหมายที่ “ต้องการบรรลุในภาวะวิกฤต” “ไม่สื่อสารบนอารมณ์ ความกดดัน และความรู้สึกในห้วงขณะนั้น” การสื่อสารที่อยู่บนการบริหารความต้องการ และความสนใจของทุกกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้บริหาร และโฆษกขององค์กร ควรต้องสื่อสารที่แสดงถึงความเข้าอกเข้าใจในสถานการณ์และรับผิดชอบในข้อความที่ใช้ในการสื่อสารอย่างระมัดระวัง บนความเปราะบางในการรับสารของผู้รับฟังและประชาชน ที่อยู่ภายใต้อารมณ์ความรู้สึกของผู้ตกเป็นเหยื่อโรคระบาด ครอบครัว และผู้คนที่แวดล้อม โดยไม่สร้างความตื่นตระหนกมากเกินไปต่อการดำเนินชีวิตปกติสุขของคน และต่อผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

วัคซีนที่ 4 “ยอมรับ และตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว และชัดเจน”

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งภายในไทย และต่างประเทศ เรามักจะได้รับทราบข้อมูลที่เป็นข่าวลือ ข่าวปลอม ข่าวสารที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ข่าวที่สร้างความตื่นกลัว เผยแพร่อย่างรวดเร็วในสังคมออนไลน์ ฉะนั้น อย่ารีรอให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงจะสื่อสาร เพราะเหตุการณ์สามารถพลิกผันได้ตลอดเวลา อาจทำให้องค์กรและผู้บริหารไม่สามารถทำการสื่อสาร ทำความเข้าใจ หรือแสดงจุดยืนได้ทันท่วงที ดังนั้น องค์กรต้องเท่าทันกับข้อมูล จากภาครัฐ และหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เพื่อสื่อสารกับพนักงานในกรณีที่ต้องเปลี่ยนแปลง กำหนดการเข้าทำงาน การเดินทาง ความปลอดภัยและสุขอนามัยของสถานประกอบการ ค่าจ้าง และอื่นๆ ที่องค์กรต้องตัดสินใจเรื่องแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ

วัคซีนที่ 5 “เปิดใจต่อความเห็นที่แตกต่าง และความขัดแย้ง”

ในการบริหารจัดการกับกลุ่มคนที่อาจมีวิสัยทัศน์และความเห็นที่แตกต่าง และมีปฏิกิริยาต่อต้านบนพื้นฐานของการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่ม ขอแนะนำให้บริหารการสื่อสารบนพื้นฐานของการประสานความร่วมมือในทุกภาคส่วน รัดกุมในการออกแบบ และเลือกถ้อยคำในการสื่อสารที่สร้างผลลัพธ์เชิงบวก ชัดเจน ไม่สร้างความคลุมเครือให้มีการตีความที่สร้างความแตกแยก หรือความไม่พอใจในสังคม

ภายใต้เงื่อนไขที่พวกเราต้องรวมพลังความร่วมมือและความเป็นเอกภาพในการแก้ปัญหาและผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน


 

10 คำถามสำคัญ ‘องค์กร’ พร้อมไหม?
ในสถานการณ์ ‘โควิด’

1.มีการตั้งคณะบูรณาการทำงานจากหลายฝ่าย หลายแผนกในการดูแลพนักงาน และดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หากสถานการณ์โรคระบาดก้าวข้ามสู่ขั้นรุนแรง หรือไม่

2.มีแผนการบริหารการสื่อสารในภาวะวิกฤต ที่ได้รับการอนุมัติ ในกรณีของการแพร่กระจายโรคระบาด หรือไม่

3.จัดระบบการบริหารกลุ่มงานที่รับผิดชอบและดูแล ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขององค์กรไว้หรือไม่ ระบุกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนหรือไม่ ว่าคือใครบ้าง

4.ความกังวลของกลุ่มผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียคือสิ่งใดบ้าง

5.สามารถจัดระบบการทำงานจากที่บ้านได้หรือไม่

6.มีมาตรการอย่างไร ในการสื่อสารและปฏิบัติต่อพนักงานที่ป่วยด้วยโรคโควิด 19

7.การหยุดชะงักในธุรกิจขององค์กรส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร

8.การหยุดชะงักในการผลิต ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปสงค์ อุปทานของประเทศหรือไม่ อย่างไร

9.ธุรกิจขององค์กรมีแผนจัดงานประชุม งานพบปะ งานเปิดตัวสินค้า ขนาดใหญ่ทั้งภายใน และภายนอกองค์กร ในอีก 3 เดือนข้างหน้าหรือไม่ จะปรับกลยุทธ์อย่างไร

10.มีมาตรการรับมือกับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image