โควิด-ชีวิต ราคาที่ต้องจ่าย กับ เสียงสะอื้นไห้ ของ ‘แรงงานนอกระบบ’

1 พฤษภาคม คือวันแรงงาน ทว่า ข่าวฆ่าตัวตายจากการขาดงาน ขาดเงินปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เป็นภาพน่าสลดใจที่คนไทยต้องเห็นตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ไล่บี้กันระหว่าง เสียชีวิตจากโควิด และจากพิษเศรษฐกิจ

ท่ามกลางเสียงสรรเสริญศักยภาพด้านการสาธารณสุขและวีรบุรุษเสื้อกาวน์ กลับกลบเสียงสะอื้นไห้ที่ดังอยู่ในใจผู้ไร้ซึ่งหนทางหาเงินซื้อข้าวสารกรอกหม้อ เพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอดต่อได้ในช่วงเวลาที่เมืองจะต้องกึ่งหลับกึ่งตื่นไปอีก 1 เดือนเต็ม

เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนหนทางรอด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาสาธารณะ ผ่านเพจ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อไม่นานมานี้ ในหัวข้อ งาน ชีวิต และโรคระบาด : แรงงานนอกระบบกับสถานการณ์โรคโควิด-19 เป็นวงสนทนาปรับทุกข์ของผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งในแง่มุมรายได้ที่หดหาย การปรับตัว ย้ายถิ่น และรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไป

ซึ่งรัฐอาจจะยังไม่เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่ม “ผู้มีรายได้น้อย” และ “คนไร้บ้าน” อย่างแท้จริง

Advertisement

ผลกระทบรอบด้านของแรงงาน ‘ตกสำรวจ’

เริ่มจาก กลุ่มทำงานที่บ้าน ซึ่ง มานพ แก้วผกา นายกสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) เล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีเป็นกลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบ แต่ถูกเลิกจ้าง จึงมาร่วมกลุ่มเป็นแรงงานนอกระบบ เอางานตัดเย็บเสื้อผ้ามาทำที่บ้าน ผู้ชายตัด-รีด ผู้หญิงเย็บผ้า

“ในแง่ผลกระทบเมื่อโควิดเข้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน สภาพการจ้างงานเรียกว่า แย่มาก ไม่มีออเดอร์เข้ามา หนักเข้าห้างร้านไม่เปิดขายโบ๊เบ๊ ประตูน้ำ สำเพ็งปิด ตลาดนัดปิด เราก็เจอผลกระทบทั้งหมด เพราะครอบครัวของเรามาจากต่างจังหวัด เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เป็นกลุ่ม สมาชิกในกลุ่มก็เครียดเพราะไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ไหนจะค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ค่างวดส่งรถ ที่มีภาระก็ไม่มีเงินไปส่ง เงินหายไป 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะงานที่รับมาทำหายไปเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบางคนก็เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

ตอนนี้ต้องพึ่งพามาตรการของรัฐ คนที่ได้เงิน 5,000 บาทก็ดีไป แต่คนที่ไม่ได้ก็หาวิธีการหารายได้ วิ่งรถส่งอาหารบ้าง ทำอาชีพอื่นๆ บ้าง ซึ่งยากมาก เพราะงานถนัดเราคือ ‘เย็บผ้า’

Advertisement

สำหรับภาพหลังจากนี้ มานพ มองว่า ยากที่จะฟื้นตัวไว เพราะคนไม่มีเงินก็คงไม่อยากซื้อเสื้อผ้าใหม่ ถึงขั้นประเมินในใจแล้วว่า ในอนาคตอันใกล้นี้จะไม่มีงานทำ

“ต้องกลับมาดูว่าอาชีพเราจะหางานตรงไหนได้ ให้กับสมาชิกในกลุ่ม เพราะมาตรการของรัฐในปัจจุบันบางกลุ่มได้รับประโยชน์จริง แต่ไม่ทุกคน เรามีปัญหาเข้าถึงการลงทะเบียน

“เรามีจักรเย็บผ้า มีสถานที่ แต่ไม่มีงานทำ สิ่งที่กังวล อยากให้รัฐบาลและภาคเอกชนช่วยแก้ปัญหาในระยะสั้นตอนนี้ คือ ประสานงานผ่านมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ให้งานเหล่านั้นเข้ามาถึงผู้ทำงานโดยตรง ขอภาคเอกชนหันมาช่วยเหลือให้เรามีงานทำบ้าง เราไม่มีงาน เราไม่มีเงินซื้อของเพื่อดำรงชีวิต” มานพกล่าว และขอให้รัฐชัดเจนว่า อะไรจะเปิดได้ตอนไหน

 

แฟ้มภาพ


“ผู้ทำงานที่บ้านส่วนมากเป็นคนต่างจังหวัด หากรู้จะพอคาดการณ์ได้ว่าอีกกี่เดือนข้างหน้าจะได้กลับมาทำงาน ระหว่างนี้ก็กลับบ้าน อยู่กับครอบครัวเพื่อเซฟค่าใช้จ่าย ถ้ารัฐบอกได้คร่าวๆ เราก็อาจจะตัดสินใจได้ง่ายกว่านี้”

ในขณะที่ กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน อย่าง มาลี สอบเหล็ก ประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย เผยว่า สมาชิกที่ได้รับผลกระทบแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1.ลิฟต์อิน (live in) หรือ กลุ่มลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในบ้านนายจ้าง และ ลิฟต์เอาต์ (live out) ทำงานแบบไป-กลับ

“ลิฟต์อิน ผลกระทบดูเหมือนไม่มาก แต่ค่อนข้างใช้ชีวิตลำบาก เพราะนายจ้างไม่ให้ออกไปไหน ต้องใช้ชีวิตจันทร์ถึงอาทิตย์ พอมาอยู่กับนายพื้นที่ส่วนตัวที่น้อยอยู่แล้วก็หายไป จึงค่อนข้างอึดอัด ระยะเวลาทำงานก็ยาวนานมากขึ้น เพราะนายจ้างเองก็ได้รับผลกระทบต้องทำงานที่บ้าน ทุกคนใช้ชีวิตที่บ้านก็เหมือนกับต้องอยู่กับนายจ้างเต็มเวลา 24 ชั่วโมง คนที่เห็นความสำคัญอาจไม่เรียกใช้ แต่บางคนมีเด็กก็พูดยาก เพราะเด็กบางคนติดพี่เลี้ยง อยู่ด้วยตลอดเวลา เรื่องความสะอาดเราก็ต้องรักษาอย่างมาก ต้องล้างมือบ่อยๆ หาเจล หน้ากากอนามัย เจ้านายบางคนอาจจะหาให้ แต่บางคนก็ให้รับผิดชอบเอง เราก็มีค่าใช้จ่ายตรงนี้เพิ่มขึ้น”

“ส่วนคนที่ไปกลับ หลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเจ้านายก็ให้หยุดงาน แต่ไม่ได้บอกแน่ชัดว่าจะให้กลับมาทำงานเมื่อไหร่ เจ้านายก็ตอบไม่ได้ บางคนกลัวเป็นพาหะเพิ่ม ให้หยุดงานและเดินทางกลับต่างจังหวัด แต่อยู่ต่างจังหวัดก็ต้องกักตัว 14 วัน ค่อนข้างยากลำบาก ต้องอาศัยเพื่อนบ้านซื้ออาหารกับข้าวมาให้ทาน เหมือนเรากลายเป็นตัวพาหะ”

โชคดีที่นายจ้างของมาลียังคงจ้างต่อ แต่ก็มีหลายรายที่ถูกเลิกจ้าง นายจ้างให้หยุดโดยไม่จ่ายค่าจ้างซึ่งกลุ่มนี้ค่อนข้างลำบาก กลับต่างจังหวัดไม่ได้ แต่มีค่าใช้จ่าย ค่าห้องเช่า บางคนได้ค่าจ้างลดลง บางคนถูกเลิกจ้างไป

“ลูกจ้างรายวันจะถูกจัดในหมวดลูกจ้างทั่วไป เป็นแรงงานอิสระ ที่เข้าไม่ถึงการเยียวยา ในกลุ่มได้ประมาณ 3 คน ไม่ตอบโจทย์ลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งเป็นแรงงานย้ายถิ่น บางคนเป็นสมาชิก ธ.ก.ส. สหกรณ์ พอลงทะเบียนรับเงินเยียวยา จะขึ้นเป็นเกษตรกร แม้จะทำงานบ้านเป็นลูกจ้างทั่วไปมากว่า 30 ปีก็ตาม

“เราอยากให้รัฐขึ้นทะเบียนลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งเรียกร้องมานานแล้ว โควิดเป็นเรื่องใหม่ที่ฉุกละหุก แต่เราได้รับผลกระทบเพราะรัฐไม่เคยเหลียวแล บางกลุ่มมองว่าเราไม่ใช่แรงงาน ถ้ารัฐบาลเล็งเห็น มีการขึ้นทะเบียนอย่างชัดเจน เมื่อมีมาตรการเยียวยา เราก็จะสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งตอนนี้ทางสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ เยียวยาโดยแจกถุงยังชีพ ซึ่งอยู่ได้ประมาณ 1 อาทิตย์ แต่ในระยะยาวยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งเรามีแรงงานที่ข้ามชาติที่กลับบ้านไม่ได้ด้วย

“คนไหนที่โชคดีก็ดีไป ซึ่งเราไม่ยากอาศัยโชค เราอยากอาศัยการที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มแรงงานอย่างพวกเรา”

ส่วน ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย อย่าง ปรีชา ไทยสงเคราะห์ ตัวแทนผู้ทำมาค้าขาย ย่านพระราม 2 ซอย 69 บางขุนเทียน เล่าว่า ละแวกนั้น มีจำนวนผู้ค้าประมาณ 45 ร้านค้า ส่วนใหญ่ขายอาหาร จาก 3-4 ปีที่ผ่านมาว่าโหดร้ายแล้ว ช่วงนี้ยิ่งโหดร้ายกว่า ผู้ค้าส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป พวกเรากลัว แต่ก็กลัวทั้ง กลัวติดเชื้อ และกลัวไม่มีกิน

“ณ เวลานี้ ยอดขายของเราโหดร้ายกว่าปกติ คิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ที่หายไป เงียบมาก เงียบจริงๆ เงียบขนาดที่ว่า เราทำเพื่อให้กินมีใช้ พื้นที่บางขุนเทียนส่วนมากจะเป็นโรงงาน เมื่อโรงงานปิด กระทบกลุ่มคนใช้แรงงาน เราก็มีผลกระทบอย่างมาก ตลาดที่โดนปิดพ่วงไปถึงร้านอาหาร ร้านค้าขายเสื้อผ้า บอกตรงๆ ว่าเงียบมาก ร้านของผมขายข้าวขาหมู จากปกติรายได้รวมทุน 8,000 บาท ตอนนี้ 3,000 แทบไม่ได้ เพราะไม่มีที่นั่งกิน ลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อใส่ถุงกลับบ้าน สะท้อนมากๆ อย่างลูกค้าซื้อขาหมู 50 บาท แต่ขอน้ำเยอะๆ เรามองเห็นแล้วขนลุก มันเจ็บปวดจริงๆ

“การเยียวยาส่วนหนึ่งเราดีใจ แต่ไม่ทั่วถึง บางคนได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล แต่ก็เอามาจับจ่ายใช้สอย จ่ายค่าบ้าน มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาดู แจกข้าวกล่อง ยังไปได้อยู่ แต่สักระยะหนึ่งอาจจะไม่ไหว ถ้าโควิดยืดเยื้อยาวนานต่อไปเราจะอยู่ไม่ได้ และมันจะโหดร้ายกว่านี้ เรามีการคุยกันว่าจะต้องปรับตัวมาขายของออนไลน์ แต่ผู้ค้าส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ

“พวกเราคือมืออาชีพในการค้าขาย จุดไหนที่ยังคงเป็นจุดผ่อนผันก็ขอให้ทำการค้าไปก่อนได้หรือไม่ อย่างน้อยมาร่วมกันสร้างเมืองให้มีชีวิตชีวา อย่างน้อยก็บรรเทาให้พวกเราออกไปค้าขายกันก่อนจะได้ลืมตาอ้าปาก จะได้ไม่เป็นภาระรัฐบาลด้วย เพราะเงินเยียวยา 5,000 บาท ได้เป็นบางส่วน ผู้ค้าหาบเร่บางคนไม่ได้ อยากให้รัฐเปิดใจให้เราออกไปทำการค้าขายก่อน ที่ยังผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ขอหยุดทั้งต้นทั้งดอก ไปก่อน 3 เดือน” ปรีชากล่าว

‘คนจนเมือง’ ก็ สาหัส วอนรัฐ ‘เยียวยาถ้วนหน้า’

ในมุม นุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กลุ่มคนจนเมืองที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย ความมั่นคง อาชีพ และคุณภาพชีวิต เผยว่า ในสถานการณ์วิกฤตคนในชุมชนแออัดได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะมีหลากหลายอาชีพอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะขับวินมอเตอร์ไซค์ ขับแท็กซี่ ค้าขาย งานบริการต่างๆ เมื่อผับบาร์ปิดก็ไม่มีที่ทำกิน บางชุมชนโดนไล่ที่เพื่อสร้างที่อยู่ใหม่ กำลังปลูกสร้างบ้าน ส่งผลกระทบหนักไม่มีเงินสร้างบ้านต่อต้องอยู่กันอย่างลำบาก

“ในช่วงที่ประกาศที่ให้ อยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ คนที่ร้องโอดครวญกลุ่มแรก คือ คนจนเมืองในชุมชนแออัดเพราะไม่มีเงินไปซื้อของเพื่อเตรียมอยู่บ้าน อีกทั้งยังเข้าไม่ถึงเครื่องมือป้องกัน เราเย็บหน้ากากเอง เจลล้างมือยิ่งแพง ตอนนั้นโอดครวญมากว่า ‘เราจะรอดไหม’ เป็นกลุ่มแรกๆ ที่เสี่ยงติดเชื้อ มาตรการห่าง 2 เมตร ส่งผลกระทบกับเราอย่างมาก เพราะบ้าน 1 หลัง กว้าง 4×6-4×8 เมตร อยู่กัน 5-10 คนต่อหลัง จะแยกกันอย่างไร ค้าขายไม่ได้ คนที่ทำงานบริการ ล้างถ้วยชามรายวันตามสถานบริการ เช่น ทองหล่อ อาร์ซีเอ มีคนในชุมชนเป็นลูกจ้าง พอหยุดงานไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อข้าวกินด้วยซ้ำ

“ซึ่งตอนนี้เครือข่ายสลัม 4 ภาค เริ่มจับกลุ่มทำอาหารขาย อย่างน้อยมีงานทำ ได้กำไรนิดหน่อยก็แบ่งกัน ซึ่งเราจนที่สุด แต่ก็ยังมีกลุ่มที่เดือดร้อนกว่า คือ กลุ่มคนไร้บ้าน การเยียวยาที่รัฐให้ไม่เหมาะสมกับความต้องการของเรา ถ้าจะให้ ควรให้ถ้วนหน้า เพราะทุกคนได้รับผลกระทบหมด ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา

 

แฟ้มภาพ

สำหรับ มาตรการที่อยากให้มีในอันดับต่อไป คือ ขอให้ 1.ส่งเสริมประชาชนในการปรับตัวเรื่องอาชีพ การค้า การลงทุน สนับสนุนสร้างกลุ่มอาชีพ รณรงค์ให้พึ่งตนเอง เพื่อลดรายจ่าย ส่วนในครอบครัว อยากให้ส่งเสริมการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ หรือแลกเปลี่ยนข้าวปลาอาหารร่วมกัน

2.รัฐต้องออกนโยบาย เพื่อจัดระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม

3.เข้าถึงแหล่งทุนในการประกอบอาชีพ หรือให้การสนับสนุนการพึ่งตนเองของประชาชน

4.ลดค่าไฟ ค่าน้ำอย่างจริงจัง

5.ช่วยเหลือด้านการศึกษาจนถึง ปริญญาตรี เพราะรายได้ไม่มี แต่ลูกก็ต้องเรียนหนังสือ โดยอาจใช้วิธีลดค่าหน่วยกิต เป็นต้น

6.ขอความร่วมมือภาคเอกชน ลดค่าเช่าบ้านให้กับลูกบ้าน

7.หยุดจับคนไร้บ้าน เพราะเป็นวิถีชีวิตของเขา แต่หากให้อยู่ศูนย์พักพิง ก็ควรมีข้าวปลารองรับ

“นี่คือสิ่งที่อยากเห็น อยากให้เกิดขึ้น การสนับสนุนให้เกิดกลุ่มอาชีพ หรือ การเข้าถึงแหล่งทุน เป็นสิ่งสำคัญที่คนอย่างพวกเราไม่มีโอกาสเข้าถึงจริงๆ อย่าง มาตรการ หาบเร่แผงลอย ให้เข้าถึงทุน ธนาคารออมสิน เราให้ชาวบ้านเราลองแล้ว แต่คุณสมบัติไม่ผ่าน มาตรการของรัฐน้อยมากที่จะเข้าถึงได้จริง”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดวิจัย ‘คนจนเมือง’ จับชีพจรในนาทีวิกฤต เมื่อโควิดยังระบาด
‘คนไร้บ้าน’ อยู่ตรงไหน? ในสมรภูมิ ‘โควิด’ วันที่ใครๆ ได้ #stayathome

นักวิชาการ แนะเตรียมนโยบายรองรับ ‘มวลมหาแรงงานนอกระบบ’

ด้าน รศ.ดร.นฤมล นิราทร จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่รับฟังปัญหาตลอดการเสวนาถึงคราวิเคราะห์ปัญหา

พบว่า ขณะนี้แรงงานทั้งในและนอกระบบเผชิญปัญหาไม่ต่างกันในแง่ของการไม่มีงาน ไม่มีเงิน ซึ่งแรงงานนอกระบบจะซับซ้อนกว่า เพราะ 1.ในแง่ทุน ทางเศรษฐกิจ หรือ ทุนที่เกิดจากหลักประกันทางสังคมไม่เท่ากับ กลุ่มแรงงานในระบบ

2.เกิดจากความซับซ้อนในแง่ของ การทำความเข้าใจกับอาชีพ การมองไม่เห็นแรงงานนอกระบบ ไม่เพียงเรื่องการไม่เข้าใจตัวตน แต่รวมถึงระบบฐานข้อมูลบางอย่างที่ทำให้รู้ได้ว่าคนเหล่านี้แท้จริงแล้วอยู่ที่ไหน ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้เป็นประเด็นทางการพัฒนา ไม่ใช่ประเด็นทางสาธารณสุข

“สุดท้ายปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรม โผล่ขึ้นตอนนี้พร้อมๆ กัน ถาโถมเข้ามาในเวลาเดียวกัน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาทำความเข้าใจกับแรงงานกลุ่มนี้อย่างจริงจัง เพราะแรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ได้ด้วยตัวเขาเอง ห้างปิด ร้านปิด ตลาดปิด คนซื้อก็น้อยลง ซึ่งมาตรการตอนนี้เป็นมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เราไม่เห็นมาตรการระยะกลาง และระยะยาวที่จะเข้ามาจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังพ้นความรุนแรง ที่คนจะไหลออกมาเป็นแรงงานนอกระบบมากขึ้น”


เราจะเตรียมรับอย่างไร นโยบายการจ้างงาน ของกระทรวงแรงงาน จะออกแบบเพื่อเผชิญกับภาวะกลุ่มหาศาลที่ออกมาทำงานนอกระบบอย่างไร
คือโจทย์ที่ รศ.ดร.นฤมลฝากไว้ ก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายว่า

ภายใต้ภาวะการ์ดอย่าตกนี้ สามารถที่จะจัดการให้ชาวบ้านพอที่จะลืมตาอ้าปากได้หรือไม่ ใน “ช่วงจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้า” เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการพูดอย่างเป็นเรื่องราว ถึงสถานการณ์ที่ชาวบ้านต้องเผชิญ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแจกเงินหรือเยียวยาเฉพาะหน้า แต่รัฐบาลมองไปข้างหน้าอย่างไรในภาวะค่อยๆ คลี่คลาย จัดที่ทางของแต่ละกลุ่มให้ชัดเจนว่าควรจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์ที่ไม่แตกต่างกันมากนักจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐ

เป็นเวลาที่กระทรวงแรงงาน จะต้องเริ่มคิดว่าภาวะนี้เป็นการมองอย่าง “ทะลุปุโปร่ง” ประการแรก ทำความเข้าใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ เช่น แผงลอย ว่าเหตุใดปัญหาที่เกิดขึ้นจัดการไม่ได้

ให้ฟื้นคืนชีพได้ ให้เกิดภาวะเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข

“คุยเรื่องเชื้อโรคเยอะ คุยเรื่องความสำเร็จมาก แต่พอพูดเรื่องชีวิตที่จะมีความหวัง เรื่องเศรษฐกิจ ช่องทางทำมาหากิน ไม่มีใครเป็นธุระเท่าที่ควร”

คือความเห็นของ ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผอ.ศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อยากให้เน้นเรื่องความเอาใจใส่ด้านนโยบายทางสังคม และความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก ทั้งยังกล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลเห็นประชาชนป็นพลเมืองที่มีศักดิ์ศรี

“จะเห็นว่าประชาชนก็ลุกขึ้นมาทำสมาคมได้หลายอย่าง รัฐบาลควรมองเห็นบทบาทสำคัญขององค์กรเหล่านี้ในการปลี่ยนผ่านไปสู่ระยะกลาง และระยะยาว เราใช้คำว่า รีสกิล สร้าง ทักษะ ทรวงดิจิทัลฯ น่าจะแปลงวิกกฤตนี้เป็นโอกาสในการเสริมทักษะให้กับประชาชน กระทรวงที่ทำงานกับภาคประชาสังคม ต้องไม่เพียงรอแจกของ แต่ทำงานกับเขาในลักษณะคนที่มีศักดิ์ศรี เป็นเครือข่าย ปรึกษาหารือกันว่าจะพัฒนาทักษะ และหาช่องทางการทำงานร่วมกันได้อย่างไร เพื่อให้เกิดวัฒนธรรม ประชาชนพึ่งตนเองได้

อย่าลดบทบาท ลดศักดิ์ศรีประชาชน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image