ความรู้เป็นอมตะ ความจริงไม่มีวันตาย สุจิตต์-ขรรค์ชัย รีรัน ‘วัดโพธิ์’ แลตำรายาก่อนยุคโควิด

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอนพิเศษ 21 เมษา สถาปนากรุงเทพฯ ย้อนสแกนตำรายาวัดโพธิ์ ก่อนยุคโควิด

ใครจะคาดคิดว่าเมื่อศักราชได้สองพันห้าร้อยหกสิบสาม จะเกิดโรคระบาดสะเทือนโลกจากไวรัสนามกร “โควิด” ในห้วงเวลาที่วิทยาการทางการแพทย์ล้ำหน้าถึงเพียงนี้ก็ยังสร้างความเสียหายเหลือคณานับ

แม้ทั่วผืนปฐพีป่วยไข้ ทว่า สิ่งที่ไม่มีวันตายคือศิลปวิทยาการ เฉกเช่นที่ถูกจดจารไว้ในจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพมหานคร ซึ่งยูเนสโกประกาศเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อ พ.ศ.2554

ไม่ต่างจากเรื่องราวหลากยุคสมัยที่ฉายสลับฉากอยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ในกำแพงอารามสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือ อดีตสองกุมารสยามผู้ “รีรัน” อดีตอย่างไม่รู้เบื่อ ได้เวลารีรันประวัติศาสตร์วัดโพธิ์ที่เคยออกอากาศไปเมื่อช่วงปลายปี 2560 ครั้งโควิดยังไม่ตั้งไข่มาวนฉายใหม่เพื่อ “ผลิตซ้ำ” ความรู้ เผยข้อเท็จจริง เปิดปมคาใจให้ถกเถียงและ “คิดต่อ” กันที่บ้านระหว่าง Work from home ผ่านรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอนพิเศษ 21 เมษา สถาปนากรุงเทพฯ ย้อนสแกนตำรายาวัดโพธิ์ ก่อนยุคโควิด ไลฟ์ให้ชมแบบไม่ต้องออกจากบ้าน ทางเพจ “มติชนออนไลน์” ข่าวสด ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี เช่นเคย ในค่ำคืนวันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา

Advertisement

‘ตำรายาวัดโพธิ์’ สมุนไพรไทยในความทรงจำโลก

ก่อนประเด็นอื่นใด ต้องผายมือไปหลบไวรัส ยังระเบียงคดชั้นในซึ่งล้อมพระอุโบสถอันสง่างาม เล่าเรื่องราวย้อนหลังไปเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นห้วงเวลาที่อารามแห่งนี้ถูกสร้างขึ้น เดิมชาวบ้านเรียกว่าวัดโพ หรือวัดโพธาราม ไม่ทราบศักราชที่แน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ครั้นเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดให้สถาปนาเป็นอารามหลวงชั้นเอก ถือเป็นวัดสำคัญที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการบูรณะครั้งใหญ่ อีกทั้งขยายขอบเขตพระอาราม และโปรดให้จดจารจารึกไว้ในจุดต่างๆ ทั้งวรรณกรรม โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน อีกทั้งตำรายาอันเลื่องลือ ประกอบด้วยตำรับสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคภัยต่างๆ ตั้งแต่ก่อนยุคก่อเกิดกรมแพทย์แผนไทยที่ออกมาเผยสรรพคุณฟ้าทลายโจรฆ่าไวรัสในหลอดทดลอง

ตำราล้ำค่าเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระยาบำเรอราชแพทยา นำตำรายามาจารึกบนแผ่นหินแล้วติดไว้ตามศาลารายหลังต่างๆ ดังปรากฏหลักฐานในโคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ความตอนหนึ่งว่า

Advertisement


พระยาบำเรอราชผู้ แพทยา ยิ่งฤๅ

รู้รอบรู้รักษา โรคฟื้น
บรรหารพนักงานหา โอสถ ประสิทธิ์เอย
จำหลักลักษณะยาพื้น แผ่นไว้ทานหลัง

ชื่อโรค และอาการต่างๆ ทั้งที่คุ้นหู และไม่คุ้นตา รวมถึงตำรับตำราแก้ไขบรรเทาอาการถูกจดจารไว้อย่างละเอียดลึกซึ้ง อาทิ ลักษณะลมบังเกิดแต่กองพัทธปิตตะ, ตำราว่าด้วยลักษณะของมะเร็งแบบต่างๆ อาทิ มะเร็งคุด, ยาครรภ์รักษา และอีกมากมายมหาศาล

ชื่อสมุนไพรอันไพเราะ ถูกบันทึกไว้ชั่วกาล ไม่ว่าจะเป็น โกฐเขมา โกฐบัว พร้าว เทียนแดง เทียนดำ เทียนขาว เทียนเยาวภาณี ดอกลินจง ดอกจงกลณี รากสามสิบ และอีกนับไม่ถ้วน

ล้วนเป็นภูมิปัญญาโบราณที่สืบสานมาจนถึงวินาทีนี้

‘วัดโพธิ์โสภาสถาพร’ ฟื้นความหลัง ปี 2504 เมื่อวรรณคดีคือเครื่องนำทาง

จากตำรายา ยังมีวรรณคดีเลอค่าที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ นำมาประกอบการย้อนเล่าประวัติศาสตร์ความทรงจำครั้งเหยียบย่างมายังวัดโพธิ์เป็นครั้งแรกในชีวิตเมื่อ พ.ศ.2504 ขณะเป็นนักเรียนวัดนวลนรดิศ โดยผู้เอ่ยปากชักชวนก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็น ขรรค์ชัย บุนปาน เพื่อนซี้ในวัยเยาว์ซึ่งในวันนี้คือประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นั่นเอง

“ผมเข้ากรุงเทพฯตั้งแต่ปี 2497 แต่ไม่เคยมาวัดโพธิ์ ไม่รู้จักเลย กระทั่ง พ.ศ.2504 ซึ่งตอนนั้นยังเป็นเด็กวัดเทพธิดาราม ตรงประตูผี แต่ไปเรียนวัดนวลนรดิศ ฝั่งธนบุรี ห้องเดียวกับคุณขรรค์ชัย เขาก็ชวนมาที่นี่ ยังไปแอบชะโงกหน้าดูคนวาดเส้นที่ระเบียงคด เห็นแล้วจำได้ว่านี่การ์ตูนล้อการเมืองในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เขียนเสร็จเขาลงนามปากกา น.หนู สระอิ ธ.ธง ตอนหลังพอเข้าเรียนที่ศิลปากรถึงได้รู้ว่าคนที่เรา 2 คนมาแอบดู คือ อาจารย์นิพนธ์ ผริตะโกมล” สุจิตต์เล่าอย่างอารมณ์ดี พร้อมเสริมว่า ขรรค์ชัยไม่เพียงเป็นคนที่พาตนมาวัดโพธิ์เป็นครั้งแรก แต่ยังเป็นคนท่องกลอนของ “เสมียนมี” จากนิราศพระแท่นดงรังให้ได้ยินเป็นครั้งแรกอีกด้วย

บทที่มีชื่อเสียงอย่างมาก มีอยู่ว่า

“เห็นวัดโพธิ์โสภาสถาพร สง่างอนงามพริ้งทุกสิ่งอัน โอ้วัดโพธิ์เป็นวัดกษัตริย์สร้าง ไม่โรยร้างรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์”

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอนพิเศษ

ถกปม ‘ก.ศ.ร.กุหลาบ’ ความจริงหรือความลวง?
ถอดสัญลักษณ์ ‘คนต่างภาษา’

จากนั้นเข้าสู่ประเด็นทางประวัติศาสตร์ สุจิตต์เล่าว่า วัดโพธิ์ไม่ได้ตั้งอยู่โดดๆ หากแต่ตั้งอยู่กลางชุมชนการค้าของชาวจีนและชาวญวน ถือเป็นวัดสำคัญอย่างยิ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ เคยเกิดเหตุการณ์สำคัญมากมาย คนสำคัญในประวัติศาสตร์อย่าง ก.ศ.ร.กุหลาบ ก็เคยบวชเป็นสามเณรที่วัดแห่งนี้ โดยเป็นลูกศิษย์ของกรมพระปรมานุชิตชิโนรส

“ก.ศ.ร.กุหลาบ เกิดที่คลองบางพรม แม่ยากจนเลยฝากให้เป็นลูกเลี้ยงของเจ้านายซึ่งเป็นลูกหลาน ร.3 เลยโตมาในวังหลวง แล้วบวชเณรที่วัดโพธิ์ ต่อมาบวชพระ ได้ฉายาว่าเกศโร เลยนำมาตั้งเป็นนามปากกา ก.ศ.ร.กุหลาบไม่ใช่คนขี้โกหก เขาทำงานร่วมกับกรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีเอกสารอยู่” สุจิตต์เล่า

ส่วนประเด็นเรื่องการเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย” นั้น คอลัมนิสต์ท่านนี้บอกว่า ต้องพิจารณาถึงนิยมของคำว่า มหาวิทยาลัย ว่าคืออะไร?

“หากจะให้ตรงตามอย่างตะวันตก คงลำบากหน่อย ต้องบอกว่าในยุคนั้นสยามยังไม่มีแนวคิดเรื่องการศึกษาสำหรับมวลชน ซึ่งเพิ่งเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 6 จารึกในวัดโพธิ์ล้วนเป็นความรู้ของชนชั้นสูง เช่น โคลง ฉันท์ กลอนกลบท ซึ่งเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่ความรู้สามัญ มีนักปราชญ์บางท่านอธิบายว่า การที่ ร.3 โปรดให้จารึกความรู้ต่างๆ ไว้นั้น เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่เราต้องเผชิญต่อไปในอนาคตคือโลกตะวันตกที่เริ่มเข้ามาแล้ว”

พูดถึงโลกตะวันตกก็โยงมาถึงโคลงภาพต่างภาษาที่วัดโพธิ์ สุจิตต์บอกว่า ในอดีตทรรศนะโลกของสยามยุคนั้นแบ่งชนชาติต่างๆ ตาม “ภาษา” นอกจากนี้ ยังชวนให้ขบคิดถึงบริบทรอบวัดแห่งนี้ที่รายล้อมด้วยสถานที่สำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับความเป็นสากล พร้อมโชว์ภาพถ่ายเก่าสีขาวดำที่มองเห็น โรงละครปรินซ์เธียเตอร์ ของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) สร้างเสร็จปลาย ร.4

‘อับเฉา’ ไม่อับโชค
คลี่อุดมคติ ‘เจ้านาย’ ผ่านพระพุทธรูประเบียงคด

ครั้นลงลึกถึงประวัติศาสตร์ศิลปกรรม ต้องผายมือให้ ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม วิทยากรรับเชิญ ซึ่งชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญผ่านพระพุทธรูปภายในวัด โดยเฉพาะพระพุทธรูปในระเบียงคดชั้นใน รอบพระอุโบสถ ที่ล้วนคัดมาจากสุโขทัย เชื่อมโยงกับความเป็นพุทธมามกะของรัชกาลที่ 1 อีกทั้งสะท้อนว่าเจ้านายในราชสำนักมองสุโขทัยเป็นรัฐอุดมคติ

ธัชชัยยังพาเดินชมโบราณวัตถุสถานในวัดอีกหลายแห่ง เช่น วิหารพระโลกนาถ, ซุ้มโขลนทวาร, ภาพสลักรามเกียรติ์, ภาพเล่าเรื่องรอบกำแพงแก้วของพระอุโบสถที่คาดว่ามาจากชาดก แต่ยังไม่มีผู้ทำการศึกษาวิจัย เป็นต้น รวมถึงประเด็นของ “ตุ๊กตาอับเฉา” ในวัดโพธิ์ ที่มีผู้เสนอว่าไม่ได้มาจากจีน เนื่องจากพบเอกสารระบุที่มาของหินจากแหล่งต่างๆ ในไทย

“พระพุทธรูปประธานในโบสถ์ ร.1 อัญเชิญมาจากวัดศาลาสี่หน้า หรือวัดคูหาสวรรค์ ส่วนพระโลกนาถในวิหารอัญเชิญมาจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา หน้าวิหารมีซุ้มโขลนทหวาร คล้ายประตูมงคลแบบจีน มีรูปสลักบุคคล จากพงศาวดารจีน คือ ห้องสิน บนสุดมีป้ายอักษรจีนว่า บุญวาสนา เสาพระประทีป สลักร่องลึกมีลายเขียนสีทอง รูปการขนส่งทางบกและน้ำ คือ ม้า ช้าง เรือสำเภา น่าจะสลักสมัย ร.3 จะเห็นว่านอกจากจารึกแล้ว สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์เช่นกัน”

จากนั้นมุ่งหน้า พระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล ซึ่งสร้างโดยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 เป็นเจดีย์ประดับกระเบื้องเคลือบสีเขียว สีขาว สีเหลือง และสีขาบ หรือน้ำเงินเข้ม ตามลำดับ โดยมีข้อสังเกตว่าเหตุใดองค์สุดท้ายจึงไม่ใช่เจดีย์ย่อมุม

“เจดีย์วัดโพธิ์ส่วนใหญ่เป็นเจดีย์ย่อมุม ส่วนพระราชนิยมของ ร.4 เป็นเจดีย์ทรงระฆังทั้งนั้น แต่มหาเจดีย์องค์นี้ย้อนกลับไปหารูปแบบเจดีย์ที่อยุธยา เนื่องจากไม่โปรดเจดีย์ทรงเครื่องหรือเจดีย์ย่อมุม ทรงเรียกว่า เจดีย์จมูกมาก เพราะมีมุมเต็มไปหมด”

เป็นอีกตอนรีรันที่ไม่ว่าจะย้อนชมเมื่อใด ก็ลึกซึ้งด้วยความหมายที่แฝงเร้นในทุกข้อมูลประวัติศาสตร์จากปาก 2 นักหนังสือพิมพ์อาวุโสผู้ยังแข็งแรงสู้ไวรัสทุกสายพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image