สงครามครั้งใหม่กับ ‘ไวรัส’ และแนวป้องกันของมนุษยชาติ ในสายตา นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา

นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ Chatchapol Book หมอเอ้ว)

จากประวัติศาสตร์โรคระบาด จนถึงวิกฤตโควิด ไล่เรียงไปจนถึง การแสวงหาหนทางปรับตัวในยุคที่จำต้องเวิร์กฟรอมโฮมให้ได้อย่างลื่นไหลไม่ติดขัด คือความรู้อันสุดแสนจำเป็นสำหรับประชาชน ที่สำนักพิมพ์มติชนรวบรวมมาให้ผู้อ่านได้เสพผ่านหนังสือหลายต่อหลายปก และหลายต่อหลายวงเสวนาด้วยเชื่อว่าเราจะรอดได้ด้วยความรู้

ต้องยอมรับว่า เวลานี้แนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีทิศทางที่ดีขึ้น “ศูนย์ แต่ไม่ถึงสิบ” คือ ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวัน ทว่าหลังจากนี้เมื่อสกัดกั้นไวรัสร้ายสายพันธุ์ใหม่ได้ แนวทางสังคมจะไปอย่างไรต่อ เราจะอยู่กับโควิดอย่างไร คือคำถามที่หลายคนยังคงสงสัย

ล่าสุดสำนักพิมพ์มติชน ชักชวน นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา หรือ “หมอเอ้ว” คุณหมอนักเขียน เจ้าของสำนักพิมพ์ชัชพลบุ๊คส์ มาร่วม

พูดคุยกับพิธีกร เอกภัทร์ เชิดธรรมธร เสิร์ฟมุมมองในประเด็นนี้เป็นมื้อดึกก่อนส่งผู้อ่านเข้านอน ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ โควิดวิกฤตการณ์ สงครามครั้งใหม่ และการสร้างแนวป้องกันของมนุษยชาติ เมื่อเร็วๆ นี้

Advertisement

เวลานี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลง มาตรการผ่อนปรนมากขึ้น แต่อีกคำถามที่หลายคนยังสงสัยคือ เราจะอยู่กับโควิด-19 ไปอีกนานแค่ไหน?

ต้องบอกว่าโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่สำหรับทั้งหมอและคนธรรมดาทั่วไป คำถามนี้ตอบยากมาก แต่ประมาณได้คร่าวๆ คือ 1-1.5 ปี เป็นอย่างน้อย ต้องเข้าใจก่อนว่าการจะหายไปของโควิดมีวิธีใดบ้าง โดยภาพกว้างมี 3 วิธี คือ

1.ค้นพบยา ซึ่งจะกลายเป็นโรคทั่วไปที่ป่วยแล้วไปรักษาที่โรงพยาบาลก็หาย

2.ค้นพบวัคซีน ซึ่งขณะนี้ก็มีข่าวว่าเริ่มมีการทดลองกันแล้ว แต่เป็นการทดลองลักษณะเฟสแรก โดยทั่วไปการพัฒนาวัคซีนต้องใช้เวลา เนื่องจากการให้วัคซีนแต่ละครั้งจำนวนเป็นหลักล้าน-100 ล้าน ซึ่งในประวัติศาสตร์เราพัฒนาแล้ว แต่มีปัญหา ทำให้คนจำนวนมากป่วยหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น การพัฒนาวัคซีนจึงต้องทำตามลำดับ เฟส 1 2 3 อย่างไรก็ไม่สามารถทำได้เร็วกว่า 1 ปี ซึ่งหากทำได้อาจใช้เวลา 1 ปี 5 เดือน หรือ 1 ปีครึ่ง

Advertisement

3.ทุกคนติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกันมากพอในประชากร ซึ่งทาง สวีเดน และอังกฤษ เคยพยายามทำอยู่ เพราะมองว่าหากจบด้วยวิธีที่ 1-2 ก็ยังไม่รู้ว่าจะเจอยาหรือไม่ เนื่องจากการพัฒนายาต้านไวรัสไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้ง 2 วิธีต้องใช้เวลาเป็นปี ดังนั้นวิธีที่ 3 จบแบบคนมีภูมิ ลดการระบาดไปเองจะมีทางออกได้หลายทาง มีการเสนอไว้ 3 โมเดล คือ 1.ที่อังกฤษ ปล่อยให้คนติดแล้วหวังว่าคนจะมีภูมิขึ้นมา เมื่อประชากรมีภูมิมากระดับหนึ่งโรคจะระบาดต่อไม่ได้และจะหยุดไปเอง วิธีนี้เหมือน “เหยียบคันเร่งแต่ไม่เหยียบเบรก” 2.การเหยียบเบรกให้ชะลอ ช้าลง และ 3.แบบจีน คือ กดยอดให้ได้มากที่สุด ไม่ต้องการให้มีการระบาดเกิดขึ้นเลย ไวรัสก็จะไม่มีที่ไปให้แพร่ต่อ แต่ข้อเสียคือ “คนจะไม่มีภูมิคุ้มกัน” เพราะโรคสูญพันธุ์ไป

สำหรับวิธีการแรก ข้อเสียคือ หากคนติดเชื้อมากจนเกินความสามารถของโรงพยาบาลที่จะรับมือ ผู้ป่วยหนักจำนวนมากที่ต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องเข้าไอซียู แต่ไม่มียา เครื่องมือ หรือ แพทย์-พยาบาลดูแล คนกลุ่มนี้ก็อาจเสียชีวิตได้ ส่วนวิธีที่ 2 จะชะลอเพื่อให้โรงพยาบาลมีศักยภาพรับมือได้ แต่ข้อเสียคือ “ระยะเวลาจะลากยาว” อาจ 2 ถึง 3 ปี บอกไม่ได้ แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสีย โดยสรุป “ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม โควิด-19 อยู่กับเราเป็นปีแน่นอน”

การล็อกดาวน์ทำให้แนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อดีขึ้น แต่เริ่มเกิดปัญหา คือ คนหาเงินไม่ได้ เวลานี้ควรจะมีการปลดล็อกหรือไม่ในสายตาแพทย์ และหากต้องปลดล็อก ควรจะมีวิธีการอย่างไรบ้าง?

เป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับรัฐบาล และทุกคนก็รู้ว่าไม่มีทางชนะแบบ win-win ไม่มีทางเลือกที่ดีที่สุด เจ็บทั้งสองทาง เจ็บจากโควิด หรือเจ็บจากเศรษฐกิจ แย่เท่ากัน ทุกคนรู้โดยสามัญสำนึกว่าต้องหาจุดสมดุล หมายความว่า หากเราปล่อยให้หนักไปทางใดทางหนึ่ง เช่น คนป่วยมาก ปัญหาคือ “จะรับมือกับผลข้างเคียงไม่ไหว” แต่หากปล่อยให้เศรษฐกิจแย่ก็รับมือกับผลข้างเคียงไม่ไหว ดังนั้น สมดุลตรงกลาง คือ คนป่วยมากขึ้นแต่ยังดูแลได้ รพ.รับมือไหว หมอ พยาบาลดูแลไหว เศรษฐกิจก็ให้คนพอรับมือไหว ยืดเวลาให้คนมีเวลาปรับตัวมากขึ้น

สุดท้ายต้องหาจุดสมดุล ถามว่าจุดไหน เชื่อว่ารัฐบาลและทีมที่ปรึกษามีข้อมูลมาถกกัน เชื่อว่าถึงจุดหนึ่งอย่างไรก็ต้องปลดล็อก เพราะคนอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเงิน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย ขณะเดียวกันหากปลอดล็อกสิ่งที่ทุกคนคาดการณ์ว่าจะตามมา คือ ความเสี่ยงของโควิดที่เพิ่มขึ้น เราปล่อยเพิ่มขึ้นได้ แต่ต้องอยู่ในระดับที่รับมือไหว แต่หากตัวเลขขึ้นสูงมาก อาจต้องกดลงมาอีก คือ “ล็อกดาวน์ซ้ำ” จึงอาจมีลักษณะเปิดๆ ปิดๆ ไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะหาจุดสมดุลที่เหมาะสมให้เราสามารถอยู่ในภาวะนี้ต่อไปได้

ถ้าต้องปลดล็อกดาวน์ กลุ่มอาชีพใดควรได้รับการปลดล็อกเป็นอาชีพแรกๆ?

ปัจจัยที่ใช้ตัดสินใจ ไม่ใช่ว่า ลำบากด้านการเงินมากกว่าจึงควรได้รับการปลดล็อกก่อน เพราะในความเป็นจริง การปลดล็อกก็ต้องระวังโรคระบาด ดังนั้น จึงควรเป็นลักษณะ ปลดล็อกงาน หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่วนกิจกรรมที่รวมตัวกันมาก อยู่ในพื้นที่แคบนานๆ มีการปฏิสัมพันธ์กันมาก จะมีความเสี่ยง ดังนั้น จึงต้องเข้าใจก่อนว่าการปลดล็อกต้องปลดล็อกส่วนที่ปลอดภัยมากที่สุด ส่วนอื่นก็หาทางช่วยเหลือเยียวยากันไป

หากจะมีการปลดล็อก ก็เสี่ยงที่เชื้อจะกลับมาอีก ก่อนจะปลดล็อกเราควรมีข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดกลับมาอีกระลอก?

ประเทศไทยควรจะมีข้อมูล จุดแพร่ระบาดเชื้อ (Cluster) ซึ่งหลายประเทศใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อหาผู้ที่ป่วยและสามารถติดตามได้ง่าย ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มี แต่ต้องดูทรัพยากรประเทศด้วย จุดนี้การระบาดของโรคเราเริ่มควบคุมได้ จริงอยู่เรายังไม่มีเครื่องมือเหล่านั้น แต่ขณะเดียวกันพิษเศรษฐกิจคนเริ่มทนไม่ไหว อาจจะต้องปล่อยก่อน และค่อยๆ ปรับเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในอนาคต โดยอาจเอาเทคโนโลยีต่างประเทศมาใช้ หรือพัฒนาขึ้นมาเอง

นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา

เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ อีกด้านก็สะท้อนเรื่องเทคโนโลยี เช่น การใช้ เอไอ ในการจัดการข้อมูลว่าสำคัญอย่างมาก สำหรับคุณหมอมองว่าปัญหาเรื่องฐานข้อมูลของเราเป็นอย่างไร มีช่องว่างอะไรหรือไม่?

หลายเรื่องเรารู้ว่าควรจะไปทางไหน รู้ข้อจำกัดของระบบสาธารณสุขในเมืองไทย รู้ว่าอะไรที่ขาดอยู่บ้าง แต่การระบาดครั้งนี้เหมือนขยายและชี้ให้เห็นว่า เรายังไม่มีความพร้อมในหลายด้าน เทคโนโลยี การแพทย์ ฐานข้อมูล บิ๊กดาต้า ยังมีไม่ค่อยมาก หากไม่มีไวรัสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจยิ่งล่าช้า แต่นี่คือจุดที่ผลักให้ต้องเปลี่ยน ก่อนหน้านี้อาจมีตัวเลือกว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน แต่ตอนนี้ไม่มีทางเลือก

พูดถึงระบบสาธารณสุข เรารู้ว่ารับคนไข้ไม่ไหว คนไข้ตื่น 05.00 น. เพื่อไปรอตรวจในโรงพยาบาลรัฐตอน 13.00 น. โรคระบาดทำให้เห็นว่า มันล้นปริ่มมานานแล้ว สมมุติว่าเรานำเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล “Telemedicine” มาใช้ การเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาที่นานพอ เช่น 1 ปี จึงจะเปลี่ยนิสัยคนได้ และเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาจะอยู่ต่อไป ซึ่งจะช่วยในแง่ระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้นในวันข้างหน้าด้วย

เริ่มมีการพูดถึงคำว่า New Normal ว่าหลายสิ่งหลายอย่างอาจเปลี่ยนไปในสังคม เช่น เรื่องสุขอนามัย ที่อาจเปลี่ยนเราไปตลอดกาล มองว่า New Normal กับโควิดในบ้านเราจะเป็นอย่างไรต่อไป?

ไวรัสเป็น “ตัวทำลายล้างหลัก” (Major Disruptor) ที่ผ่านมาเราจะเห็นคำว่า ดิสรัปชั่น (Disruption) ด้านเทคโนโลยี กับ ธุรกิจ แต่ ไวรัสดิสรัปต์ทุกอย่าง ทุกภาคส่วน การปรับตัวจึงไม่เฉพาะภาคธุรกิจ แต่หมายถึงไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไป

“จากนี้ 1 ปี 1 ปีครึ่ง หรืออาจจะนานถึง 3 ปี เราคงต้องอยู่แบบป้องกันโรคระบาด พฤติกรรมที่ต้องเปลี่ยนอย่างถาวร คือ การใส่แมสก์ออกจากบ้าน อาจจะต้องทำไปอีกนานจนกว่าโรคระบาดจะหาย แต่หลังจากนี้เชื่อว่าจะเกิดพฤติกรรมใหม่ อย่างญี่ปุ่น ที่คนไม่สบายจะใส่แมสก์ คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่า เฉพาะคนป่วยที่ต้องใส่แมสก์ ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ถูก เพราะใช้กับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งพฤติกรรมนี้ของคนญี่ปุ่นเกิดเมื่อครั้งที่มีไข้หวัดสเปนระบาดจึงติดนิสัยใส่แมสก์เวลาไม่สบายมาตลอด พฤติกรรมนี้อาจเปลี่ยนไปในสังคมไทยด้วย ส่วนตัวก็เขียนไว้ในหนังสือว่า หากไม่สบายจะต้องได้รับการยอมรับให้หยุดงาน หรือทำงานที่บ้านได้ ไม่ไปโรงเรียน เรียนทางออนไลน์ ใช้การเรียนทางไกล หรือทำงานจากบ้านมากขึ้น

เรื่องการล้างมือ อย่างหนึ่งที่เห็นมากเมื่อไปตามห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ต่างๆ หลายครั้งไม่เอื้อให้ล้างมือ เช่น ไม่มีสบู่ น้ำหยดน้อย เหล่านี้ คนในสังคมก็จะตระหนักมากขึ้น สังคมอาจมีฟีดแบ๊กกลับไปยังห้างนั้นๆ เพื่อทำให้ระบบดีขึ้น เปลี่ยนนิสัยการล้างมือ ใช้เจลแอลกอฮอล์ เป็นสุขนิสัยส่วนตัวที่เชื่อว่าจะต้องเปลี่ยนนิสัยคนไปอย่างถาวร

อีกประการ คือ เรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม จะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์คน และการทำธุรกิจรอบด้านจะเปลี่ยนไปทั้งหมด New Normal คือ การที่มนุษย์อยู่ร่วมกับไวรัส ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นร้านอาหารที่เราไปกินว่าอาจมีอะไรมากั้นกลาง ซึ่งหากร้านค้าร้านใดคิดลักษณะเช่นนี้ออก ก็อาจจะได้เปรียบร้านอื่นๆ คนอยากมากินมากขึ้น เมื่อทำเป็นตัวอย่าง เหมือนเป็นการ Set standard ให้ร้านอื่นอยากปฏิบัติตาม อีกหน่อยโฆษณา และการทำการตลาดก็อาจโฆษณาด้วยว่า ร้านเราสามารถป้องกันโควิดได้อย่างไรบ้าง” นพ.ชัชพลระบุ

ที่ผ่านมาอาจพอชี้ให้เห็นแล้วว่า คนไทยค่อนข้างมีวินัยในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 เราจะเห็นคนรอบตัวเคร่งครัดอย่างมากเรื่องการล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย อยู่อย่างเว้นระยะห่าง ขนาด นพ.ชัชพลยังยอมรับว่า

“นี่คือจุดแข็งของไทย ของสังคมแบบ Collective Society ไปทางไหน เราไปด้วยกัน ซึ่งทำให้คุมผู้ติดเชื้อได้เร็ว จึงต้องชื่นชมคนไทยส่วนใหญ่

“เข้าใจว่าสถานการณ์นี้ลำบาก โดยเฉพาะคนมีรายได้น้อย เห็นจากข่าวแล้วน่าเห็นใจมาก คนลำบากจริงๆ ทั้งคนที่ป่วย และคนที่มีปัญหาไม่มีงาน ไม่มีเงิน แต่อยากฝากไว้ว่า หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราไม่ใช่เจเนอเรชั่นแรกที่เจอวิกฤตแบบนี้ วิกฤตและโรคระบาดมีอยู่ตลอด เช่น 60,000-70,000 ปีที่แล้ว มีภูเขาไฟระเบิด สุดท้ายเกือบจะเกิดการสูญพันธุ์ของมนุษย์ มีโรคระบาดสมัยเอเธนส์ ยุคกลางของยุโรปมีแบล๊กเดด (Black Dead) เกิดขึ้นพร้อมๆ กับสงคราม มีสงครามโลกครั้งที่ 1 ตามด้วยไข้หวัดสเปน เกรท ดีเปรสชั่น ตามด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 ลำบากทุกคนทั่วโลก แต่ถึงจุดหนึ่งจะผ่านไป”

ในอดีตบรรพบุรุษเราเคยผ่านพ้นสิ่งนี้มาแล้ว เราเป็นลูกหลานของคนที่เคยผ่านพ้นเหตุการณ์เหล่านี้มา ถึงจุดหนึ่งมันจะผ่านไป ขอให้ทุกคนอดทนไว้ ใครที่สามารถช่วยเหลือกันได้ก็พยายามช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่จะทำได้

 


 

แอพพ์ก็ชวนตาม หนังสือก็ชวนอ่าน
ในวันที่ต้องอยู่ร่วมกับ ‘ไวรัส’

สําหรับ นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา เป็นคุณหมอนักเขียน เจ้าของผลงาน “500 ล้านปีของความรัก” “สงครามที่ไม่มีวันชนะ” “เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ” สำนักพิมพ์ชัชพลบุ๊คส์ โดยในช่วงที่หลายคนยังต้อง Work from home นพ.ชัชพลจึงถือโอกาสแนะนำหนังสือน่าอ่านในช่วงยามนี้

เซตแรก แม้ไม่เกี่ยวกับโรคระบาดโดยตรง เนื่องด้วยเขียนขึ้นเพื่ออธิบายเรื่อง “จุลินทรีย์” “จุลชีววิทยา” แต่เนื้อหาอ่านแล้วเห็นความเชื่อมโยงอย่างยิ่ง

เล่มแรก ชื่อ สงครามไม่มีวันชนะ เล่าเรื่องเกี่ยวกับเชื้อโรค เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ เป็นเรื่องแบคทีเรียในร่างกายที่จำเป็น ทำให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งอธิบายไปอีกว่า การมีจุลินทรีย์เหล่านี้ในร่างกายช่วยป้องกันโรคติดเชื้อได้อย่างไร

“แม้ไม่เกี่ยวกับโรคระบาดโดยตรง แต่ผลตอบรับของคนที่อ่าน บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าทำให้เข้าใจเกี่ยวกับเชื้อโรคและสภาวะเหล่านี้ดีขึ้น ส่วนอีกเล่มที่ยังไม่ได้อ่าน แต่เห็นจากรีวิวคนที่อ่าน เล่มแรก ชื่อ โควิด-19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ โดย อ.นำชัย ชีววิวรรธน์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี และมีความสามารถในการเขียนอธิบายเรื่องต่างๆ และแนะนำทางออกไว้ได้ดีอีกด้วย”

อีกเล่ม คุณหมอแนะนำ จากปีศาจสู่เชื้อโรค ของสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งเป็นเล่มที่คุณหมอสนใจอยากจะอ่านเพราะเห็นจากคนรีวิว “เล่มนี้อธิบายในแง่ประวัติศาสตร์ การติดเชื้อในเมืองไทย ว่า เป็นเรื่องของ “ภูตผีปีศาจ” จนกลายมาเป็นความเข้าใจว่า โรคเหล่านี้เกิดจาก “เชื้อโรค” และมีที่มาอย่างไร ซึ่งค่อนข้างน่าสนใจมาก และคล้ายกับหนังสือ “สงครามไม่มีวันชนะ” ถ้าอ่านประกอบกันน่าจะดี”

นอกจากนี้ สำหรับคนที่อยากติดตามเรื่องโควิด นพ.ชัชพลยังแนะนำด้วยว่า ให้ศึกษาหาข้อมูลเรื่องโควิด-19 ผ่านแอพพลิเคชั่น Blockdit (บล็อกดิต) ซึ่งส่วนตัวติดตามอยู่ เพราะจะมีหมอคอยเขียนอัพเดตเรื่องการรับมือสถานการณ์โควิด และเศรษฐกิจ หลากหลายแง่มุม

ถือเป็นแหล่งความรู้ที่น่าศึกษา อัดแน่นไปด้วยบทความที่น่าอ่านในสถานการณ์นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image