‘ดอกไม้บานในที่ลับตา’ การกลับมาของ วีรชัย บาลไธสง พู่กันหนวดหนูแห่งยุคร่วมสมัย

เครื่องจักสานไม้ไผ่ ดอกไม้ แมลงตัวเล็กๆ

รายละเอียดอันอ่อนช้อย งดงามเสมือนจริง ปรากฏบนผนังเปลือยเปล่าของห้องโถง ณ ล้ง 1919 สถาปัตยกรรมเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

หากวันนี้ โลกไม่มีไวรัส “โควิด-19” ที่ส่งผลสะเทือนทุกหย่อมหญ้า ภาพที่บรรยายถึงในบรรทัดแรก จะปรากฏต่อสายตาผู้คนในฐานะนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย การแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของ “วีรชัย บาลไธสง” ซึ่งห่างหายจากวงการไปนานนับสิบปี

“ดอกไม้บานในที่ลับตา” คือชื่อของนิทรรศการชุดนี้ที่จงใจสื่อถึงความงามซึ่งมีอยู่จริงแม้ในซอกหลืบที่ (ยัง) ไม่มีใครพบเห็นหรือค้นพบ

Advertisement

ผลงานชิ้นเอก 24 ภาพที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของศิลปินถูกติดตั้งอย่างดี ในวันที่ประตูยังถูกลงกลอน

“วีรชัย” เกิดที่บุรีรัมย์ ในครอบครัวซึ่งมีอาชีพค้าขาย

จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ เมื่อ พ.ศ.2528

Advertisement

กวาดรางวัลมากมายตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ กระทั่งได้ฉายา “พู่กันหนวดหนู” ในยุคร่วมสมัยด้วยฝีมืออันประณีตสุดบรรยาย จนถูกเทียบเคียงในเทคนิคจิตรกรยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ในวัย 58 ปี ใช้ชีวิตอย่างสงบเรียบง่ายกับภรรยา บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ ลูกพ่อขุนฯ ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะผ่านอาหารทุกมื้อและทุกคำ ให้สามีและลูกชายอีก 2 คน ซึ่งเป็นสายเลือดศิลปากรเช่นเดียวกับคุณพ่อ

“ไม้ไผ่” สถาปนิกอนาคตไกล และ “พู่กัน” บัณฑิตมัณฑนศิลป์ อันเป็นที่มาของชื่อ “บ้านพู่กันไม้ไผ่” สตูดิโอเล็กๆบรรยากาศอบอุ่นของครอบครัว

และนี่คือการกลับคืนสู่ยุทธจักรของ “วีรชัย” ที่ไม่มีศัตรูคู่แข่งขันคนใด เว้นแต่ “ภายใน” ของตัวเอง

ตอนวางแผนนิทรรศการชุดนี้ โควิดยังไม่ระบาด แล้วชื่อนิทรรศการได้มาอย่างไร ?

ต้องย้อนเล่าว่า ภาพชุดกระด้งเป็นงานที่พัฒนาต่อจากชุดเรือนที่เป็นไม้ไผ่ ผมศึกษาไม้ไผ่มาประมาณ 30 กว่าปี จนเข้าสายเลือด แต่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เหมือนกับว่างานแสดงครั้งนี้ จริงๆ คือชุดกระด้งอยู่แล้ว แต่ด้วยความตั้งใจของผมที่อยากให้คนดูงานสวยๆ งามๆ อาจย้อนยุคนิดหนึ่ง เป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือ ด้วยเทคนิคการเขียนที่มีความเหมือนจริง ล้งให้พื้นที่มา เลยตัดสินใจจัดแสดง หลังจากเตรียมงานกันแล้ว เกิดโควิดระบาด เมื่อความงดงามที่เราตั้งใจทำ มันไม่ถูกมองเห็น ภรรยาเลยนึกถึงเพลงของวงนั่งเล่น ชื่อ ดอกไม้บานในที่ลับตา เลยนำมาตั้งชื่อนิทรรศการนี้แทน

งานนี้เปิดงานไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้เลย ล้งก็ไม่ได้เปิด แต่ติดตั้งงานไว้ ตามกำหนดการเดิมคือ 5 เมษายน เปิดงาน แล้วจัดแสดง 1 เดือน พอช่วงปลายเมษายน มาทบทวนกันอีกรอบ ตกลงกับผู้จัด รอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าดูทิศทางแล้วเป็นไปได้ในการเปิด ก็พร้อมที่จะเปิด แต่ถ้าไม่พร้อมก็นเลื่อนไป สุดท้ายก็ยังเปิดไม่ได้

เห็นว่านิทรรศการนี้ห่างจากชุดล่าสุดนานมาก มีแรงบันดาลใจอะไรถึงลุกขึ้นมาจัดอีกครั้งหลังหายไปนาน ?

นิทรรศการครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้จัดใน ปี 2538 เป็นงานแสดงเดี่ยว ชุดอรุณรุ่ง ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ ผมจัดงานแต่ละครั้ง เกิดอุบัติเหตุทุกครั้ง ปีนั้นน้ำท่วมใหญ่ (หัวเราะ) ทั้งชีวิตจัดนิทรรศการเดี่ยวมา 7 ครั้ง ครั้งแรก ปี 2531 ซึ่งพี่ช้าง (ขรรค์ชัย บุนปาน) มติชนช่วยสนับสนุน ด้วยความที่ทำงานหลายอย่างมาก เลยรู้สึกว่าห่างออกไปจากวงการ และถ้าตอบแบบไม่อายเลยคือตั้งใจจะเป็นโปรกอล์ฟ (หัวเราะ) ตั้งแต่ปี 40 มา ตั้งใจจะเทิร์นโปร เป็นช่วง 10 กว่าปีที่หายไป แต่ยังทำงานเก็บไว้ตลอด เลยมีงานหลากหลายมาก พอเวลาผ่านไป เริ่มมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าใช่ชีวิตของตัวเองหรือเปล่า ก็ตอบตัวเองได้ว่าไม่ใช่แล้ว ชีวิตของเราคือต้องวาดรูป เราเกิดมาเพื่อทำงานศิลปะ นี่คือความจริงที่ต้องทำ หลังจากนั้น ปี 57 เลยกลับมาทำงานจริงจังอีกครั้ง อย่างชุดเรือน เป็นงานที่ค่อนข้างใหญ่ ขนาดเกือบ 3 เมตร เขียนละเอียดทุกตารางนิ้ว

ฉายา ‘พู่กันหนวดหนู’ มาจากไหน ใครตั้ง ?

เรื่องนี้เริ่มจากตอนที่หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านให้ข้อมูลผมเรื่องพู่กันหนวดหนู เพราะปี 2529-2531 ผมได้รับรางวัลจากธนาคารกสิกรไทย 3 ปีซ้อน ท่านถามผมว่าเขียนไม้ไผ่ละเอียดขนาดนี้ ทำไมไม่ลองศึกษาเรื่องพู่กันหนวดหนูดู แล้วเล่าถึงครูคงแป๊ะ จิตรกรสมัยรัชกาลที่ 3-รัชกาลที่ 4 ที่กล่าวกันว่าใช้พู่กันหนวดหนู ผมเลยศึกษา แล้วไปจับหนูที่ท่าช้าง เลือกเอาหนวดมาใช้ทำพู่กันจริง เอาไว้ใช้เขียนเสี้ยนไม้ไผ่ เขียนรายละเอียดทั้งหมด รายการ 4 ทุ่มสแควร์ของคุณวิทวัส สุนทรวิเนตร เชิญไปออกรายการ 2 เทป ในปี 38 ชื่อพู่กันหนวดหนูเลยปรากฏกับผมตอนคุณวิทวัสเอ่ย ตั้งแต่นั้นมาสื่อก็เรียกมาตลอด

ขอย้อนไปในชีวิตวัยเด็ก รู้ตัวมานานแล้วว่าชอบทางด้านศิลปะ ?

ตอนเด็กเป็นคนดื้อเงียบ เป็นพวกแอบทำ ที่จำความได้ ไม่เกิน 10 ขวบ ที่บ้านค้าขาย ไม่ได้ทำนา แต่เอาพวกกระดาษ กระดานชนวนเขียนในคอกวัว คอกควาย ชอบชีวิตแบบนี้มาก ทำคนเดียวทุกอย่าง ผมเป็นคนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้คนเดียวของอำเภอ โรงเรียนพุทไธสง อยู่บ้านนอกออกห่างจากอำเภอไปไกลมาก

ผมชอบฉลุไม้ ทำงานฝีมือ ไม่เก่งเลข ก็ทำงานพวกนี้ไปแลกกับเพื่อน พอจบ ม.ศ.3 ไปเรียนต่อที่โคราช พ่อเอาไปปล่อยไว้กับอาจารย์สุวิช สถิตวิทยานันท์ ซึ่งเป็นเพื่อนพ่อที่ผมเรียกเขาเป็นพ่ออีกคน ท่านสอนอยู่เทคโนฯ โคราช

พอเรียนที่โคราช 3 ปี ก็รู้ตัวว่าชอบอย่างนี้ พอสอบเอ็นทรานซ์ บอกพ่อกับแม่ ไม่มีใครบอก เฮ้ย ! สอบเข้ามหา”ลัยได้ ไม่มีใครตื่นเต้น เขาไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าลำบากแค่ไหน ไม่มีใครชื่นชมเลย (หัวเราะ) ตอนอยู่โคราช เคยแอบไปเป็นบ๋อย เสิร์ฟอาหาร บางคืนแอบร้องเพลงบ้าง ส่วนหนึ่งอยากหาประสบการณ์ ส่วนหนึ่งคือได้เงินเดือนละ 600 ซึ่งถือว่าเยอะในยุคนั้น เมื่อปี 2510 กว่าๆ พ่อก็ไม่รู้ จนกระทั่งวันสุดท้ายที่เรียนจบ เพราะพ่อพาไปกินเลี้ยงที่ร้านซึ่งผมทำงานอยู่ (หัวเราะ)

พอจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็เลือกอย่างที่ชอบ ตอนอยู่กับพ่อ (อ.สุวิช) เป็นลูกมือปั้นตลอด ทำเตาเผา แกะสลักหิน ก้ได้เป็นลูกมืออาจารย์สมชาย เถาทอง น้องชายอาจารย์ปรีชา เถาทอง แกเป็นครูสอนแกะสลักหิน

มองพัฒนาการของตัวเองอย่างไรบ้าง ทั้งในเชิงความคิดและเทคนิค

ผมเคยบันทึกเรื่องนี้อยู่เหมือนกันในมุมมอง ทั้งชีวิต ทั้งงาน คือ เกิดเร็วมาก และตายเร็วมาก เกิดเร็วคือ ผมได้รางวัลตั้งแต่เรียนอยู่ปี 3 ในปี 2527 ตอนนั้นมีการประกวดเนื่องในวัน อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 1 เยาวชนอายุไม่เกิน 30 ปี ผมก็ส่งไป แล้วได้รางวัลเหรียญทองด้วยงานชุด รั้ว จากนั้นประกวดอีก ได้รางวัลมาค่อนข้างเยอะพอสมควร ไม่ว่าจะงาน ปตท. งานเยาวชน หลากหลายมาก ก็รู้สึกคะนองตน กลายเป็นดาบสองคม ใจมันลำพอง ความอหังการ มั่นใจ ถือดี สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้น จากนั้น ผมก็ตายในวังวนของตัวเองโดยติดอยู่ในบ่วงรางวัล บ่วงฝีมือ บ่วงความสำเร็จ ตอนนั้นก็ยะโส พอผ่านไป แล้วย้อนมองดู จึงพบว่าวังวนนั้นขังเราไว้ และเป็นอันตรายที่สุด ไม่ว่าใครก็ตาม อยากให้เป็นวิทยาทานกับรุ่นหลังๆ

งานชุดใหม่นี้ ผมได้ออกจากขอบกระด้งเรียบร้อยแล้ว ออกจากบ่วงของความทะนงตน ความสำเร็จที่เคยมี ยิ่งเราดูตัวเองอายุมากขึ้น มองเห็นโลกมากขึ้น ตัวเรายิ่งเล็กลงเรื่อยๆ ความยิ่งใหญ่สมัยก่อนไม่เหลือเลย

ความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางความคิด สะท้อนผ่านงานชุดนี้อย่างไรบ้าง ?

กระด้งชุดนี้ ไม่ใช่กระด้งอย่างที่เคยเป็นอีกต่อไป ถ้าจะบอกธีมของชีวิตและการทำงาน สมัยก่อนผมมองที่ความงามที่ “ตาเนื้อ” เห็น สวยงามเหลือเกิน ละเอียดเหลือเกิน ไม้ไผ่สวยมาก ดอกไม้สวยมาก แต่วันนี้มได้พัฒนาขึ้นมาเป็นความงามที่ “ตาใน” ซึ่งเป็นเรื่องของประสบการณ์ พอออกจากขอบกระด้งได้ รู้สึกดีมาก (หัวเราะ)

การต่างเวลา ต่างอายุ มีส่วนอย่างมาก คนเราจะย่ำอยู่ที่เดิมไม่ได้แน่นอน สันดานของมนุษย์เรา ชอบกินอะไร ชอบทำอะไร แต่งตัวแบบไหน เมื่อเราชอบแบนั้น แต่ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านการกลั่นกรองแล้ว ภาพทุกอย่างที่เกิดขึ้น ซึ่งผมเขียนละเอียดมาก ทั้งข้าวโพด ฟักทอง ตัวแมลง แต่วันนี้ งานชุดกระด้ง ผมลดทอนทุกอย่างลงไป นำเนื้อหาที่อยู่ข้างใน ที่คิด ที่รู้สึกออกมาแสดงมากกว่า ลดทอนให้เหลือแต่รูปกับนามเท่านั้น รูปคือรูปทรง นามคือนามธรรมที่เป็นพื้นที่ว่างโดยใช้สื่อเดิม คือสื่อจากงานไม้ไผ่ แต่แนวคิด มุมมองเปลี่ยนไปหมดแล้ว แม้แต่ชื่อภาพ แต่ก่อนตั้งแค่ กระด้ง กระด้ง กระด้ง คือ ชื่อแทนวัสดุ แต่ตอนนี้เปลี่ยนแล้ว มาใช้แบบ กระเพื่อม จิบชาก่อนสิ ขันธ์ 5 ซึ่งเป็นนามธรรมทั้งหมด

นอกจากชุดกระด้งแล้ว ผมยังนำงานอีก 2 ชิ้นใหญ่มารวมด้วยคือ เรือนปลูก และเรือนที่มีฟักทอง ตอนแรกจะเอาเฉพาะงานชุดกระด้ง แต่เพราะผมหายไปนานหลายปี เลยเอางานชุดนี้มารวมด้วย เพื่อบอกว่า วีรชัยกลับมาแล้วนะ อาจารย์รุ่นหลัง บอกว่าเสน่ห์ของผมคือไม้ไผ่ เป็นภาพจำ เลยนำ 2 ชิ้นนี้ไปด้วยเพื่อให้คนได้เห็นว่ากลับมาแล้ว แต่งานชุดกระด้งที่กำลังจะบอกทั้งหมด คือ กระด้งแบบใหม่ที่ได้พัฒนาจากของเดิมที่ออกจากขอบกระด้งแล้ว ถึงจะเป็นไม้ไผ่ก็จริง แต่การแสดงออกทางความคิดมันเปลี่ยน มุมมองในการนำเสนอเปลี่ยน ยังเรียลิสติกเหมือนเดิม แต่มีการถ่ายทอดแนวคิดออกมาชัดเจนมากขึ้น ชื่อภาพที่เป็นนามธรรมทั้งหมดมีที่มา

ในฐานะศิลปินอาวุโส มองวงการศิลปะร่วมสมัยตอนนี้อย่างไร ?

ในทรรศนะผม คิดว่าโชคดีที่สุดแล้วที่ในวันนี้โลกมันถึงกันหมดแล้ว ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม สามารถเรียนรู้ได้ สมัยผม มีแค่กระดาษเอสี่ หนังสือเล่มหนึ่งรอคิวยืมกันยาว แต่วันนี้เราอยู่ในทุ่งนา บนตึกใหญ่ ก็ดูได้ ด้วยความรวดเร็วของการสื่อสาร การรับรู้ ทุกอย่างเร็วหมด ผมยังไม่มั่นใจเลย ตอนแรกผมบอกล้งว่า ไม่มั่นใจจริงๆ ว่างานผมที่เขียนออกไปย้อนยุค ตกยุคไหม ด้วยความที่โลกมันเร็ว เด็กยุคใหม่ ศิลปินรุ่นใหม่ ไม่ใช่ไม่มีฝีมือ แต่เป็นอีกแบบหนึ่ง การที่เขาจะสื่อ ถ่ายทอดออกมา เป็นคนละแบบกับยุคเรา พอย้อนกลับไปดูยุคครูบาอาจารย์สมัยก่อน ก็รู้สึกว่ายุคเราเป็นอีกแบบ วันนี้มาเห็นเด็กยุคใหม่ ก็เห็นการถ่ายทอดที่รวดเร็ว ถามว่าพัฒนาไหม ผมไม่คิดว่าพัฒนา หรือย่ำอยู่กับที่ ขอไม่วิจารณ์เรื่องนั้น แต่กลับมองว่าเป็นแค่มีเดียในการแสดงออก

แม้กระทั่งผมเอง ทำงานแบบนี้ไป มีคำบางคำของคนที่มาดูงานที่บ้าน เขาบอกว่า คนที่จะสะสม ที่จะดูงานผม ตอนนี้ตายไปหมดแล้ว ผมจำคำนั้นได้แม่นเลย ตอนนั้นเสียเซลฟ์เหมือนกันนะ แต่พอมานั่งคิดอีกที ก็เราเป็นเราอย่างนี้ จะไปแคร์อะไร รับก็รับ ไม่รับก็ไม่รับ แค่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำ แค่นั้นผมพอแล้ว จบแล้ว

งานบางประเภท อย่าง ป๊อปอาร์ต การแสดงออกที่เด็กถ่ายทอดออกมาด้วยความฉับไว หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่ไม่ดี ของเราก็ไม่ใช่ไม่ดี แต่งานมันเลือกคนต่างหาก

บางคนเป็นนักวิจารณ์เก่งๆ สายตามองกว้าง เขาก็มองออกว่าแก่นของความงามมันคืออะไร การสื่อสารของศิลปินคืออะไร ไม่ใช่ว่าชอบศิลปะไทย แล้วไม่ดูงานแอปสแตรก (นามธรรม) ผมว่าใจแคบ เพราะงานมีหลากหลาย

ข้อเสียของผม คือ ใช้เวลานานจริงๆ ในการทำงานแต่ละชิ้น เพราะละเอียดมาก แต่เป็นข้อที่เป็นตัวเรา ผมยอมแล้วที่จะเป็นแบบนี้ ก็จะเป็นแบบนี้ อยากทำแบบเร็วๆ เหมือนเขาไหมก็อยาก เพราะความคิดมันเร็ว แต่เมื่อเราเป็นแบบนั้น ก็เป็นแบบนั้น จงฟังเสียงในหัวของตัวเอง

อย่าไปฟังเสียงข้างนอก ถ้าฟังเมื่อไหร่ จะไม่รู้จักสิ่งที่ตัวเองเป็น

สามารถติดตามผลงานผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ที่

เฟซบุ๊กเพจ https://www.facebook.com/Werachaibanthaisong.officialpage/ 

และ อินสตาแกรม @werachaibanthaisong หรือ อีเมล [email protected]


กอล์ฟ คือการเอาชนะตัวเอง

ศิลปะ ก็เหมือนกัน

“ผมเป็นนักกีฬามาตลอดชีวิต และโลดโผนมาก เล่นตะกร้อ วอลเลย์บอล กระโดดค้ำถ่อ แข่งรถ ผมชอบอะไรแบบนี้ กีฬาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมเลย”

ไม่ใช่วาทะนักกีฬาคนใด แต่คือคำกล่าวของ วีรชัย บาลไธสง ศิลปินฉายาพู่กันหนวดหนู ผู้หลงใหลในกีฬาชนิดต่างๆ เป็นชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะกอล์ฟ ซึ่งเจ้าตัวถึงขั้นมุ่งมั่นในการเทิร์นโปร

อดถามไม่ได้ ว่าจุดร่วมใดระหว่างศิลปะกับกีฬาชนิดนี้ ที่ร่ายมนต์สะกดต่อศิลปินรุ่นใหญ่

“ด้วยความที่ไม่รู้อะไรเลย ตอนแรกไม่ชอบกอล์ฟ แต่ออกแบบคลับเฮาส์มาเยอะ พอได้ไปทำงานตกแต่งที่สยามกอล์ฟแห่งหนึ่ง ไหนๆ ก็ไหนๆ ลองดู เลยรู้ว่า กอล์ฟเหมือนงานศิลปะมาก มากที่สุด คือ ไม่ได้แข่งกับใคร กอล์ฟกับศิลปะ คือเรื่องเดียวกัน เราไม่ได้เรียนรู้อะไรข้างนอกเลย แต่เราเรียนรู้จากข้างในของตัวเอง สนามไม่เกี่ยว ลูกกอล์ฟ ไม่เกี่ยว หัวไม้ ไม่เกี่ยว แต่อยู่ที่เราฝึกฝนมาอย่างไร กอล์ฟคือการเอาชนะตัวเอง ไม่ใช่เอาชนะคู่แข่ง เราทำดีที่สุด ก็จะชนะ ศิลปะก็เหมือนกัน เราทำงานของเรา ไม่ได้แข่งกับใคร ตื่นมาวันนี้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ก็ยังทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด”

การทำงานมุ่งมั่นทุ่มเทนี้ นอกเหนือจากนิสัยส่วนตัวที่มีวินัยเป็นทุนเดิม สิ่งที่เพิ่มเติมจากประสบการณ์ชีวิตอย่างไม่น่าเชื่อ แต่คือเรื่องจริง คือแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่จากแมลงตัวเล็กๆ อย่าง “มดแดง”

“ในงานผมแทบทุกชิ้นที่เป็นงานเรียลิสติก (เสมือนจริง) จะมีมดแดงทุกชิ้น มดคุยกัน มดคาบเมล็ดข้าวสาร ผมเคยไปเขียนมดแดงด้วยพู่กันหนวดหนูโชว์ที่สิงคโปร์ วันหนึ่งที่อยากรู้ว่ามดมีชีวิตแบบไหน ทำให้ผมศึกษาอย่างจริงจัง มดแดงกลายเป็นตัวแทนอย่างหนึ่งของผม เวลาเขียนไม่ต้องดูรายละเอียดเลย เพราะจำได้หมด มีวันหนึ่ง ผมไปพุทธมณฑล ตั้งใจเลยว่าอยากรู้ว่ามดตัวนี้ จะไปไหน ตัวอื่นไม่สน จ้องตัวเดียวแล้วเดินตาม คลานๆๆ ตามไป ฝนก็ตกเปาะแปะ มารู้ตัวอีกที อยู่บนยอดไม้ (หัวเราะ) วันนี้วันเสาร์ วันเลนไทน์ วันปีใหม่ หรือวันไหนๆ ไม่เกี่ยว มดหากินทุกวัน เลยใช้วิธีนี้คือทำงานทุกวัน

“นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากมด”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image