โควิดนี้ต้องรอด! ‘เชฟฮัก’ โมเดลแจกข้าวกล่อง กรุ่นกลิ่นความรัก กลมกล่อมรสความห่วงใย

โครงการ "ข้าวกล่องเชฟฮัก แบ่งปันชุมชนสู้ภัยโควิด"

เพราะ “โควิด-19” คือวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ และไม่ควรมีใครโดนทิ้งไว้ข้างหลัง โครงการ ข้าวกล่องเชฟฮัก แบ่งปันชุมชนสู้ภัยโควิด โดยสมาคมเชฟประเทศไทย นำโดย เชฟสมศักดิ์ รารองคำ สมาคมเชฟประเทศไทย และ เชฟวิลแมน ลีออง ประธาน Thailand Culinary Acdemy และสมาคมเชฟโลก จึงเกิดขึ้นพร้อมกับความรักและความต้องการแบ่งปันข้าวกล่องกว่า 40,000 กล่อง กระจายไปยัง 50 ชุมชนในกรุงเทพมหานคร ผ่านกลุ่มแท็กซี่ที่ได้รับผลกระทบในสถานการณ์ปัจจุบัน

ไม่เพียงแต่รวบรวมยอดฝีมือเชฟ กุ๊ก 200 คน มาผลัดเปลี่ยนกันผลิตอาหารตลอดวันที่ 11-20 พฤษภาคม 2563 ที่ครัวของศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (มติชนอคาเดมี) แต่โครงการนี้ยังช่วยต่อลมหายใจให้กลุ่มบุคคลที่เข้ามาช่วยดำเนินการ ตั้งแต่กลุ่มเชฟ กุ๊ก ผู้ปรุงอาหาร, กลุ่มเจ้าหน้าที่บรรจุอาหาร, กลุ่มแท็กซี่, กลุ่มเจ้าหน้าที่นำส่งอาหารตามชุมชน ยกเว้นคณะผู้ริเริ่มโครงการ โดยสนับสนุนค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังให้เป็น โครงการต้นแบบ ที่ได้นำความรู้ ประสบการณ์ในการปรุงอาหาร การจัดการด้านอาหารอย่างมืออาชีพ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างครบวงจร

ทั้งอิ่มท้อง ปลอดภัย สร้างรายได้ สร้างงาน ในช่วงเวลาที่ยากลำบากของสังคม จบครบในโครงการเดียว

Advertisement

กว่าจะเป็น ‘ข้าวกล่องเชฟฮัก’

ก่อนจะมาถึงโครงการ “ข้าวกล่องเชฟฮัก” หนึ่งในพ่องานอย่าง เชฟสมศักดิ์ เปิดเผยว่า โดยส่วนตัวได้ร่วมกับเชฟแดง แห่งสยามนิรมิต ทำข้าวกล่องแจกตามชุมชนต่างๆ อยู่แล้ว จึงได้เห็นความเดือดร้อนและความต้องการของชุมชนมากมาย และแน่นอนว่าการแพร่ระบาด “โควิด-19” ส่งผลให้สถานประกอบการต่างๆ ต้องปิดทำการชั่วคราว รวมทั้งโรงแรมชื่อดังย่านศรีนครินทร์ที่เชฟสมศักดิ์ประจำตำแหน่ง “เชฟใหญ่” ต้องหยุดดำเนินการชั่วขณะ

ด้วยสถานะการทำงานและวิชาชีพที่เชื่อว่าสามารถบรรเทาความเดือดร้อนผู้อื่นได้ เชฟสมศักดิ์จึงได้ปรึกษา อาณัติ ลิ้มจิระวัฒนา เรื่องกฎระเบียบการแจกอาหาร รวมทั้ง เชฟวิลแมน ให้เข้ามาช่วยดูระบบต่างๆ โครงการ “ข้าวกล่องเชฟฮัก” จึงถือกำเนิดขึ้นในเวลาต่อมา

Advertisement

“เดิมทีเราทำแจกอยู่แล้ว แต่ไปไม่ถึงชุมชน เพียงแต่ว่าเราต้องการต่อยอด ต้องการทำให้เป็นระเบียบและมาตรฐานให้ผู้ที่จะผลิตอาหารต่อไปทราบว่าการบริหารจัดการภายในครัวควรจะเป็นอย่างไร ตั้งแต่เริ่มรับของ ผลิตอาหาร แพคอาหาร ตลอดจนการขนส่ง อีกทั้งกระจายไปถึงชุมชนมากขึ้น โรงแรมต่างๆ ที่คาดว่าจะเปิดภายใน 2 เดือนข้างหน้าก็ต้องบริหารจัดการครัวอย่างนี้ ต้องคำนึงถึงเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ต้องจัดครัวใหม่ แม้กระทั่งห้องอาหารต่างๆ และผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

 


“การทำอาหารเป็นสิ่งที่ดี และการแจกก็เป็นสิ่งที่ดี การที่หลายสมาคม หลายกลุ่มองค์กรแจกก็ดีอยู่แล้ว แต่สมาคมเองมองว่าควรมีมาตรฐานการแจกอาหารที่ดีกว่านี้ ผมเลยปรึกษา 2 บุคคลสำคัญคือเชฟวิลแมน และคุณอาณัติ ซึ่งตอนนี้เป็นผู้ประชาสัมพันธ์โครงการ จนเกิดเป็นโครงการข้าวกล่องเชฟฮัก โดยทีมงานที่ผลิตอาหารควรมาดูครัวที่มติชนอคาเดมี เพราะมีการบริหารจัดการครัวอย่างดี รวมทั้งอีกหลายๆ โรงแรมที่เป็นครัวมาตรฐาน แต่มองว่าต้องจัดระบบใหม่ เช่น การทำโซเชียล ดิสแทนซิ่ง

“สำหรับ 50 ชุมชนที่จะไปแจกอาหาร ต้องเรียนว่าความจริงยังมีอีกหลายชุมชนที่เดือดร้อน แต่รัฐบาลได้คัดเลือก 50 ชุมชนใน กทม.ให้เรา พร้อมส่งความเห็นแย้งเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยมาถึงโครงการ พร้อมให้เรานำไปบริหารจัดการต่อไป”

สู่จุดมุ่งหมาย ‘ต้นแบบ’ การทำครัว

ขณะที่หนุ่มสิงคโปร์หัวใจไทยอย่าง เชฟวิลแมน ก็คิดเห็นเช่นเดียวกับเชฟสมศักดิ์ว่า การที่ทุกหน่วยงานดำเนินการแจกข้าวนั้นดีอยู่แล้ว เพียงแต่ควรมีมาตรฐานที่ดีกว่านี้ ดังนั้น ในวันประชุมทีมงาน เจ้าตัวจึงกลั่นกรอง “ข้อดี” ของทุกองค์กรนำมาปฏิบัติในโครงการข้าวกล่องเชฟฮัก เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ดีที่สุด

“ก่อนหน้านี้ได้ประชุมร่วมกับเชฟสมศักดิ์และทีมงาน เพื่อดูว่าสิ่งที่กลุ่มองค์กรซึ่งดำเนินการแจกอาหารอยู่เป็นอย่างไร จากนั้นนำข้อดีของเขามาทั้งหมด โดยจะทำให้โครงการข้าวกล่องเชฟฮักเป็นมาตรฐานที่ดีที่สุด ขณะเดียวกัน ผมมีโอกาสแจ้งโครงการดังกล่าวไปยังสมาคมเชฟโลกซึ่งอยู่ที่ฝรั่งเศสแล้ว เขาพร้อมรอข้อมูลของเราเพื่อทำเป็นตุ๊กตาส่งให้ทั่วโลก ให้ทุกครัวทำตาม โดยผมจะเป็นผู้เขียนรายละเอียดทุกอย่างส่งไปที่สมาคมเชฟโลกว่าโครงการนี้ดำเนินการกันอย่างไร” เชฟวิลแมนกล่าว

โดยโครงการนี้ นอกจากจะมีสปอนเซอร์ใจดีสนับสนุนผลิตภัณฑ์รวมทั้งเงินสดแล้ว เชฟวิลแมนบอกว่า หากใครที่ติดตามอยู่อยากจะร่วมแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นเงินสด หรือผลิตภัณฑ์อาหารทางโครงการก็ยินดีรับ แม้แต่ไข่ 2 ฟองก็ยินดี

เชฟสมศักดิ์ (แถวล่าง ที่ 3 จากซ้าย) และเชฟวิลแมน (แถวล่าง ที่ 4 จากซ้าย) ร่วมด้วยสปอนเซอร์ใจดี โชว์ “ข้าวกล่องเชฟฮัก” ชุดแรก

“เรื่องการแชร์ริ่งนั้น หากคนทั่วไปที่ไม่มีพลังสนับสนุน คุณมีไข่ 10 ฟองก็ส่งมาให้เราได้ หรือแค่ 2 ฟองก็ได้ เรารับหมดเลย เพราะเรื่องของโควิด-19 กระทบทุกคน ผมจึงเข้าใจที่ทุกๆ คนพยายามใช้ทุกวิธีการเพื่อทำให้รายได้ของตัวเองไม่เสียหาย ธุรกิจสามารถเติบโตได้ ซึ่งผมชื่นชมคนเหล่านี้ เขาเป็นนักสู้ แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ระหว่างทำแบบนี้อยู่ก็ไม่ลืมที่จะช่วยเหลือคนอื่น ผมนับถือ อยากให้ทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ

“การพูดว่าผ่านไปด้วยกันได้ดี ผมว่าพูดอย่างเดียวมันไม่พอแล้ว ถ้าเราไม่ปฏิบัติ ดังนั้นเราต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ช่วยเหลือกัน แล้วเราจะผ่านไปด้วยกันได้ดี”

จากนั้นหันมาฟัง 1 ใน 200 เชฟที่จะมาร่วมปรุงความอร่อยอย่าง เชฟจารึก ศรีอรุณ รองผู้จัดการศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารนานาชาติ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ดูบ้าง

เขาบอกว่า จากประสบการณ์และที่ได้ประชุมกันมา ยังไม่เห็นใครที่สามารถทำได้อย่างเป็นมาตรฐาน จึงอยากทำโครงการข้าวกล่องเชฟฮักขึ้นมาเพื่อให้สังคมหรือสื่อได้รับรู้ว่าการทำให้ดี มีมาตรฐาน หรือการเว้นระยะห่างสามารถทำได้จริง

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Chef Hug


“คนเราส่วนใหญ่ติดเรื่องความคุ้นเคย การเดินโอบไหล่ ครัวไม่สะอาด ไม่เรียบร้อย เราจะทำให้ดูว่าการทำแบบมืออาชีพนั้นเป็นอย่างไร พร้อมหวังให้เป็นตุ๊กตาที่คนอื่นสามารถนำไปปฏิบัติตามได้ ผมเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะโครงการเชฟฮักอย่างเดียว แต่ยังมีภาคส่วนอื่นๆ ที่ช่วยกันแจกอาหาร แม้กระทั่งการแจกโจ๊กที่นครปฐมก็เป็นตัวอย่างที่ดี

“สังคมเรายังมีคนที่ลำบากในการหาอาหารทานอยู่ ดังนั้น มารับจากเราก็ได้ หรือรับจากส่วนอื่น ภาคอื่นก็ได้ แต่ประเด็นหลักของเชฟฮักคืออยากเห็นมาตรฐการทำครัวที่ถูกต้อง และอยากให้ทุกคนที่ต้องการทำมองเราเป็นตัวอย่างที่ดี”

ต่อลมหายใจให้ 850 ชีวิต

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า โครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเชฟ กุ๊ก กว่า 200 คนที่ได้รับผลกระทบจากสถานที่ทำงานต้องหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว แต่ “ข้าวกล่องเชฟฮัก” ยังช่วยจ้างงาน สร้างรายได้แก่คนอื่นๆ รวมแล้วกว่า 850 ชีวิต

ตลอด 10 วันของโครงการ “ข้าวกล่องเชฟฮัก แบ่งปันชุมชนสู้ภัยโควิด” จะดำเนินการผลิตที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชนรวมทั้งสิ้น 40,000 กล่อง โดยจะผลิตวันละ 4,000 กล่อง แบ่งผลิตวันละ 5 รอบ รอบละ 800 กล่อง

ในหนึ่งวันจะมีเชฟ กุ๊ก ร่วมปรุงอาหาร 20 คน รวมเวลา 10 วัน จะใช้เชฟ กุ๊ก ทั้งหมด 200 คน ซึ่งแต่ละคนจะได้รับค่าตอบแทนวันละ 400 บาท

เมื่ออาหารปรุงเสร็จแล้ว “ทีมแพคกิ้ง” จะรับหน้าที่ต่อ โดย 1 วันจะมีทีมแพค 20 คน แบ่งเป็น 4 จุด จุดละ 5 คน ตลอด 10 วันจะมีทีมแพคทั้งหมด 200 คน แต่ละคนจะได้รับค่าตอบแทนวันละ 300 บาท

จากนั้น “ทีมแจกอาหาร” จะเป็นผู้นำอาหารลงไปแจกตามชุมชน โดยไปพร้อมแท็กซี่ ทั้งนี้ ในหนึ่งวันจะใช้ทีมแจกทั้งหมด 20 คน ตลอดโครงการนี้จะมีทีมแจกอาหารทั้งสิ้น 200 คน แต่ละคนจะได้รับค่าตอบแทนวันละ 300 บาท

สำหรับแท็กซี่ที่เป็นผู้นำอาหารไปบริการถึงชุมชน จะใช้วันละ 25 คัน ตลอดโครงการจะใช้แท็กซี่ทั้งหมด 250 คัน แต่ละวันพี่ๆ คนขับจะได้รับค่าตอบแทนคันละ 300 บาท

มากกว่าอาหารที่ช่วยให้อิ่มท้องและการสร้างรายได้ในยามลำบาก คือการสานหัวใจแห่งการแบ่งปัน สมดังความตั้งใจของผู้ริเริ่มโครงการที่ว่า CHEFHUG, No hug but love to share


 

เช็กลิสต์ 50 ชุมชนวันไหนใครได้รับ?

11 พฤษภาคม : เขตดินแดง ชุมชนซอยชานเมือง, เขตพญาไท ชุมชนมะกอกกลางสวน ชุมชนมะกอกส่วนหน้า, เขตวังทองหลาง ชุมชนสันประเสริฐ ลาดพร้าว 114, เขตราชเทวี ชุมชนหลังโรงเรียนกิ่งเพชร ชุมชนบ้านครัวตะวันตก และเขตห้วยขวาง ชุมชนใจพิบูล 2

12 พฤษภาคม : เขตคันนายาว ชุมชนเปรมฤทัย 1-1/2, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย บริเวณลานวัดสุนทรธรรมทาน, เขตวัฒนา ชุมชนชวาลา, เขตบางเขน ชุมชนถนอมมิตร และเขตดุสิต แฟลตสิริสาสน์ ซอยศรีย่าน 3

13 พฤษภาคม : เขตจตุจักร ชุมชนบ่อฝรั่ง, เขตหลักสี่ วัดหลักสี่, เขตบางซื่อ ชุมชนบ้านพักรถไฟก่อสร้าง, เขตลาดพร้าว ชุมชนซอยโรงน้ำแข็ง และเขตดอนเมือง ชุมชนศิริสุข

14 พฤษภาคม : เขตทวีวัฒนา ชุมชนบางพรหมร่วมใจ, เขตบางกอกน้อย ชุมชนวัดมะลิ 1-2, เขตตลิ่งชัน ชุมชนหมู่ 8 วัดทองบางเชือกหนัง ชุมชนทรัพย์สินพัฒนา ชุมชนคลองบางน้อย ชุมชนวัดเกาะ, เขตบางพลัด ชุมชนคลองบางบำหรุ ชุมชนวัดรวก-บางบำหรุ ชุมชนโค้งมะขาม ชุมชนบ้านญวน และเขตพระนคร ชุมชนเฟื่องทอง-ตรอกวิสูตร

15 พฤษภาคม : เขตบางกะปิ ชุมชน 101 บึงทองหลาง ชุมชนหมู่บ้านรัชธานี ชุมชนสุขสันต์ 26, เขตบึงกุ่ม ชุมชนสุวรรณประสิทธิ์ 1-3, เขตบางรัก ชุมชนซอยพิพัฒน์ 2, เขตคลองเตย ชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ และเขตปทุมวัน ชุมชนปลัดเมือง

16 พฤษภาคม : เขตดินแดง ชุมชนซอยผาสุก, เขตพญาไท ชุมชนสุขสวัสดิ์, เขตวังทองหลาง ชุมชนสุเหร่าดอนสะแก ชุมชนลาดพร้าว 80 ชุมชนลาดพร้าว 64, เขตราชเทวี ชุมชนพระราม 6 ซอย 19 และเขตห้วงขวาง ริมคลองบางซื่อ ลาดพร้าว 42 ริมคลองบางซื่อ ลาดพร้าว 44 ริมคลองบางซื่อ ลาดพร้าว 46

17 พฤษภาคม : เขตคันนายาว ชุมชนซอยคูบอน 25/ซอยผู้ใหญ่ชม, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย บริเวณลานวัดสุนทรธรรมทาน, เขตวัฒนา ชุมชนเฉลิมอนุสรณ์, เขตบางเขน อาคารเอื้ออาทรคู้บอน 27 และเขตดุสิต ชุมชนโซดา

18 พฤษภาคม : เขตจตุจักร ลานกีฬาชุมชนภักดี, เขตหลักสี่ ชุมชนร่วมพัฒนา, เขตบางซื่อ บริเวณแฟลตเก่าริมคลองประปาฝั่งขวา, เขตลาดพร้าว ชุมชนหลังวัดลาดปลาเค้า และเขตดอนเมือง ชุมชนพัฒนาตลาดกลาง

19 พฤษภาคม : เขตทวีวัฒนา ชุมชนคลองเนินทราย, เขตบางกอกน้อย ชุมชนวัดดงมูลเหล็ก, เขตตลิ่งชัน ชุมชนวัดมณฑป, เขตบางพลัด ชุมชนร่วมพัฒนาจรัญ 65 และเขตพระนคร ชุมชนโบสถ์พราหมณ์

20 พฤษภาคม : เขตบางกะปิ ชุมชน ช.สุขเจริญพัฒน ชุมชน ช.เทพทวี ชุมชน ช.ร่วมใจพัฒนา, เขตบึงกุ่ม ชุมชนบางเตยล่าง, เขตบางรัก ชุมชนซอยหลังวัดหัวลำโพง ชุมชนซอยไวตี, เขตคลองเตย ชุมชนโรงหมู และเขตปทุมวัน ชุมชนโปโล/ชุมชนตรอกสลักหิน

ทั้งนี้ รายชื่อชุมชนอาจมีการเปลี่ยนแปลง โปรดติดตามรายละเอียดที่เพจเฟซบุ๊ก Chef Hug อีกครั้ง

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Chef Hug
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image