‘สิทธิ’ ใน ‘ความสุข’ กลางสงครามโรคระบาด

ความสุข

ว่าด้วยเรื่องของคำสองพยางค์ในห้วงยามที่ผู้ติดเชื้อไวรัสร้ายทะลุ 3 ล้านรายกระจายทุกมุมโลก แม้เวลานี้สถานการณ์ในไทยดูจะคลี่คลาย แต่หลายคนยังคงหวั่นการกลับมาระบาดระลอกสอง บ้างยังจำต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดเมื่อการล็อกดาวน์ไม่สามารถจะขันคลายได้อย่างสุดปลายนอต

มุมนามธรรมที่อาจหลงลืมไปในเวลานี้ อย่าง “สุขภาวะ” (Well being) อาจสำคัญกับเราอย่างคาดไม่ถึง อย่างน้อยๆ ก็สำหรับคนที่หมดพลังจะหายใจไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม

“สุขภาวะ” หรือ ความอยู่ดีมีสุข เรียกให้ง่ายกว่านั้นก็คือ “ความสุข” เป็นคำที่เกิดขึ้นได้ตลอดในชีวิตประจำวันและควรจะเป็นเช่นนั้น แต่จะสำคัญเพียงใดทั้งในมุมส่วนตัวและสาธารณะ

Advertisement

ไม่นานมานี้ “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” ชวนทีมฟื้นความสุขของผู้หญิง พาทำความรู้จักกับ ความสุข ทั้ง 9 ด้านว่าแต่ละด้านอยู่ตรงไหนในชีวิต พร้อมคลี่ขยายความหมายของความสุข

วริสรา มีภาษณี หรือโอ๋ ผู้ทำงานด้านการอบรมเรื่องการสื่อสารอย่างสันติเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง หนึ่งในกลุ่มฟื้นพื้นที่ความสุข บอกว่า จากพื้นฐานการทำงาน พบว่า ภาวะที่มีความสุขไม่ได้เจาะจงไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ครอบคลุมทั้งทางกาย-ใจ เชิงเศรษฐกิจ อาชีพการงาน ไปจนถึงด้านสิ่งแวดล้อม

“เรามักถูกบ่มเพาะทางสังคมให้เห็นว่าอะไรมีความหมาย มีคุณค่า และอะไรที่มีคุณค่าน้อย ไม่ต้องใส่ใจ ทำให้เราละเลยนโยบายรัฐ นโยบายเหล่านั้นจึงสร้างขึ้นโดยละเลยแง่มุมเหล่านี้”

Advertisement

สำหรับ Well being ไม่ใช่เรื่องใหม่ คุยกันมานาน ขนาดมีระบุไว้ใน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 25.(1) ความว่า

ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของตัวเองและครอบครัว รวมถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาลและบริการสาธารณะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และสิทธิในกรณีว่างงาน เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เป็นม่าย วัยชรา หรือการขาดปัจจัยในการเลี้ยงชีพอื่นใดในพฤติการณ์อันเกิดจากที่ตนจะควบคุมได้

การที่ระบุไว้เช่นนี้หมายความว่า ‘เป็นข้อตกลงพื้นฐานที่ทั้งรัฐและหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบ ต้องร่วมกันประกันให้เกิดขึ้น’ คือภาพกว้างที่วริสราพยายามชี้ให้เห็นว่า ความสุขสัมพันธ์อย่างไรกับนโยบายสาธารณะ

ศรัทธารา หัตถีรัตน์ หรือเต๋า นักกิจกรรมกลุ่มการเมืองหลังบ้าน ผู้เชี่ยวชาญประเด็นทางเพศและสตรี พารู้จักความสุขทั้ง 9 ด้านที่ค้นพบจากประสบการณ์ทำงาน เริ่มที่

1.ความสุขด้านร่างกาย หมายถึง การมีอาหารและน้ำดื่มที่เหมาะสม เอื้อให้มีสุขภาพที่ดี เพียงพอ และปราศจากการปนเปื้อน

“ไม่ง่ายในยุคสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเกษตร เพราะการออกแบบระบบทางสังคม ทุนนิยมทางเศรษฐกิจ และนโยบาย ไม่เอื้อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรแบบปลอดสารได้อย่างยั่งยืน เกษตรเคมีกลายเป็นอะไรที่ง่ายและขายคล่อง มีราคาถูกกว่า ผู้บริโภคที่มีปัจจัยน้อยก็เข้าไม่ถึงอาหารอินทรีย์ ดังนั้น นโยบายรัฐและระบบของสังคมจึงส่งผลต่อสุขภาพของอาหารที่เรากินเช่นกัน

“ยิ่งในช่วงโควิดระบาดใหญ่ พบว่า หลายคนขาดปัจจัยเรื่องการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ยังต้องไปยืนเข้าแถวรับอาหารแจก หรือกินแต่อาหารแห้งจนขาดสารอาหาร เมื่อร่างกายไม่ดีก็ส่งผลต่อความสุข ความรู้สึก ความคิด และด้านอื่นๆ เช่น การขับถ่าย และการพักผ่อนนอนหลับ บางอาชีพมีข้อจำกัด ต้องยืนตลอดการทำงาน ทำงานต่อเนื่องจนไม่สามารถจะลุกไปเข้าห้องน้ำได้ หรือสถานประกอบการมีนโยบายที่ไม่ให้เคลื่อนตัวออกจากจุดทำงาน ซึ่งการยืนหรือนั่งนิ่งๆ เป็นเวลานานก็ส่งผลกับร่างกายมากด้วยเช่นกัน”

2.ความสุขด้านความคิดและอารมณ์

“เมื่ออยู่ดีๆ ชีวิตก็เปลี่ยนและต้องปรับตัว เราอาจเกิดความคิดขึ้นมาว่า ‘ฉันไม่ได้เรื่อง’ ‘ว่าจะทำงานให้เสร็จ แต่ไม่เสร็จอีกแล้ว’ ส่งผลต่อความคิดเชิงลบของตนเอง แต่แท้จริงแล้วมนุษย์เราไม่ได้ถูกสร้างให้มีประสิทธิภาพเต็มที่กับการปรับตัว เป็นธรรมดาที่จะลดลงบ้าง บางส่วนปรับตัวได้บ้าง แต่เมื่อดูข่าวคราวก็ถูกกระทบจากภายนอก เช่น จะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องธุรกิจ คนในสังคมตกงาน มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย บางครั้งสถานการณ์โดยรอบของสังคมก็มีผลกระทบต่อความคิด ทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเอง รู้สึกไม่ดีกับวิธีการใช้ชีวิต หรือสิ่งที่เราทำได้เช่นกัน”

ศรัทธาราแนะนำว่า พื้นฐานของการมีสุขภาพทางความคิด คือการมีมุมมองเชิงบวกต่อตนเองและผู้อื่น ไม่คิดลบ เห็นคุณค่าของตน สื่อสารเรื่องราวความคิดอย่างกล้าตัดสินใจ เวลาเจอเรื่องไม่ดีพยายามไม่กดทับความคิดแง่ลบ แต่เปิดโอกาสให้ความคิดแง่ลบทำงาน ซึ่งก็มีประโยชน์ในการช่วยปกป้องอันตรายให้เราได้เช่นกัน

3.สุขภาพด้านอารมณ์ ความรู้สึก

เวลาอารมณ์ไม่ดีเรามักกดไว้เพราะเดี๋ยวจะถูกมองว่าเป็นคนสุขภาพทางอารมณ์ไม่ดี แต่ความจริงแล้วสุขภาพทางอารมณ์ที่ดี หมายถึงเราสามารถรู้สึกเป็นสุขได้ในเวลาส่วนใหญ่ แต่ในเวลาเป็นทุกข์ โกรธ เสียใจ อนุญาตให้มีความรู้สึกนั้นขึ้นมาได้ มองเห็น รับรู้ ค่อยๆ จัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่จะดีกว่าหากสื่อสารออกมาให้คนรอบข้างรู้ว่าฉันกำลังอยู่ในอารมณ์แบบไหน

“หากเก็บไว้นานๆ เหมือนเป็นสารพิษในร่างกาย ส่งผลให้ตัวหนักขึ้น เพราะเราบรรทุกอารมณ์ความรู้สึก บางครั้งเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า หากเก็บไว้มากเข้าแล้วไม่ได้ระบายอารมณ์นั้นออกไป” วริสราตอบ ก่อนศรัทธาราจะชวนทดสอบ ให้คิดว่าเศร้า ตัวจะเริ่มหอบ หายใจเริ่มติดขัด หรือลองคิดว่าโกรธมากๆ คอ บ่า ไหล่ จะเริ่มเกร็ง และว่า “เมื่อเรามีอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ร่างกายทำงานอย่างมาก ตับ ไต ไส้พุง หัวใจ การไหลเวียนเลือด กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น นานเข้าสูญเสียสมดุลเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ได้”

ภาพโดย Varun Kulkarni จาก Pixabay

เพื่อดูแลกาย-ใจ เพิ่มความสุขทั้ง 3 ด้าน เบื้องต้น เต๋าแนะนำว่า ที่ทำงานและที่ผักผ่อนไม่ควรจะสมรมอยู่ที่เดียว

“เมื่อใดที่พื้นที่ทำงานกับพื้นที่พักผ่อนกลายเป็นพื้นที่เดียวกัน ร่างกาย ความรู้สึก และความคิดจะสับสนอย่างมาก หากจะเปลี่ยนเป็นโหมดพักผ่อนก็ปรับตัวไม่ทัน งงไปหมด กลายเป็นนอนไม่หลับ

ทางแก้คือ จัดมุมงานให้ชัด หาสัญลักษณ์เพื่อบอกร่างกายและจิตใจว่ากำลังจะทำสิ่งนี้ เช่น ตั้งกล่องดินสอ สมุดบันทึก เพื่อสร้างสัญญาณว่ากำลังจะทำงาน หรืออาจจุดเทียน ใช้กลิ่นที่คุ้นเคยว่าคือกลิ่นแห่งการพักผ่อน เป็นต้น”

อีกส่วนที่ช่วยคือ “การจัดตารางเวลา” กำหนดเวลาตื่น เริ่มทำงาน หรืออาจใช้มุขแต่งตัวเหมือนจะไปทำงาน “จัดสรรเวลาพักผ่อนที่ดีที่สุดของวัน” ช่วงที่ล้า หรือช่วงไหนสมองทำงานดี แสดงว่าธรรมชาติเราทำงานได้ดีในช่วงเวลานี้ ต้องสังเกตและพยายามเอื้อให้ร่างกายใช้เวลาตามธรรมชาติให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

มาต่อกันที่ความสุขด้านที่ 4.ความสุขด้านความสัมพันธ์

ไม่ว่าคู่รัก ครอบครัว พี่น้อง เพื่อนฝูง ที่ทำงาน สังเกตง่ายสุดคือ เรารู้สึกปลอดภัย ที่จะเป็นตัวเอง ที่จะสื่อสารและอยู่ในพื้นที่เดียวกับเขา คือการบ่งชี้อย่างแรกว่าความสัมพันธ์ของเราสุขภาพดี ในความโกรธยังรู้สึกปลอดภัยอยู่ หลังวิวาทะกลับไปดูแลความสัมพันธ์กันได้ อาจด้วยการสื่อสารกลับ หากไม่เจอกันในช่วงนี้ก็ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบเพื่อรับรู้ความเป็นไปของกันและกันก่อนจะเริ่มคุยงาน

สำหรับสถิติความรุนแรงในครอบครัวที่สูงขึ้นเมื่อคนอยู่บ้านและการหย่าร้างที่ตามมาหลังเปิดเมือง

ศรัทธารา บอกว่า ขอให้รับรู้ว่าไม่ใช่เรื่องน่าอาย การแก้ปัญหาความรุนแรงละเอียดอ่อนมาก แก้ไม่ได้ด้วยทักษะการดูแลตนเอง ดีที่สุดคือ หาวิธีออกจากสถานการณ์ที่ใช้ความรุนแรงให้ได้ ซึ่งรัฐมีหน้าที่รับทราบความละเอียดอ่อนของผู้ที่ได้รับความรุนแรงโดยมีมาตรการ นโยบาย หรือโครงสร้างบางอย่างที่ไปหนุนเสริมให้เขาสามารถออกจากกับดักเหล่านี้ให้ได้ก่อน การพลาดท้องโดยไม่ได้วางแผนจะเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์แบบปลอดภัยและถูกกฎหมายได้อย่างไร คือตัวอย่างที่ชี้ชัด

5.ความสุขด้านเพศ คือความรู้สึกดีกับเพศของตน แสดงออกและสวมใส่ความเป็นเพศนั้นด้วยความสบายใจ สำคัญกว่านั้นคือคนรอบตัว ยอมรับความเป็นเพศเหล่านั้นได้

“แต่ในสังคมอาจจะยาก เพราะไม่ได้มีภาพความหลากหลายทางเพศปรากฏ รู้เพียงหญิง-ชายต้องเป็นแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้ ทำแบบนี้ ทำให้คนที่จะตรงตามมาตรฐานน้อยมาก เกิดความกังวล สุดท้ายมนุษย์ในสังคมต้องดำเนินชีวิตอยู่กับความไม่มั่นใจ เรื่องเพศที่ต้องซ่อนไว้ เป็นความสุขด้านที่ถูกลดทอน

“สำรวจตัวเอง รู้จักตัวเอง รู้จักความสุขของตัวเอง แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ไม่มีใครผิดปกติในโลกใบนี้ในเรื่องเพศ แต่ละคนแค่ไม่เหมือนกัน” ศรัทธาราระบุ

6.ความสุขที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ

“คนที่แข็งแรงมีงานวิจัยพบว่า เป็นเพราะมีความหลากหลายของแบคทีเรียในร่างกายสูง ซึ่งได้จากการปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ธรรมชาติ ดิน น้ำ ต้นไม้ ช่วยให้เรามีสมดุลให้ร่างกายแข็งแรง”

คือคำอธิบายของ วริสรา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสุขกับธรรมชาติ พร้อมขยายความต่อว่า

“เพราะธรรมชาติคืออันหนึ่งอันเดียวกับร่างกาย เราพักในพื้นที่ปิด ในคอนโด ยิ่งสูงยิ่งห่างจากพื้นดิน การมีพื้นที่โล่ง ดูท้องฟ้า พระอาทิตย์ตก ปลูกต้นไม้ในอาคาร เป็นกุญแจเชื่อมโยงกับธรรมชาติผ่านสิ่งมีชีวิตเล็กๆ สัมผัส ดมกลิ่นของพืชก่อนจะปรุงอาหาร นำธรรมชาติเข้าสู่ตัวเรา เมื่อตีบตัน คิดอะไรไม่ออก โดดเดี่ยว แปลกแยก ขอให้วางมือสักครู่ แล้วออกไปดูธรรมชาติ”

7.ความสุขด้านจิตวิญญาณ ศัพท์ซับซ้อนนี้ หมายถึงแก่นแกน คุณค่าภายใน อาทิ ความหวัง ความฝันในชีวิต ที่ทำให้เรารู้สึกมั่นคงภายใน มีแรงบันดาลใจ รู้สึกว่าชีวิตที่ดำเนินอยู่สอดคล้องกับคุณค่าภายใน

“สังเกตกิจกรรมที่เรารู้สึกมั่นคง มั่นใจ ตอบสนองคุณค่าชีวิต ซึ่งจะเป็นตัวเสริมความสุขทางจิตวิญญาณ อาจหมายถึงการนั่งนิ่งๆ แล้วมองก้อนเมฆ สำหรับบางคน สังเกตว่าช่วงใดที่ไม่ได้ทำนานๆ จะรู้สึกวังเวงข้างใน ความมั่นคงลดลง เพราะบางครั้งวิถีชีวิตไม่ตอบสนองกับคุณค่าข้างใน อะไรที่คัดง้างกับสิ่งที่เราเชื่อ ก็มีผลให้อึดอัด และคุณค่าทางจิตวิญาณอาจลดทอนลง” วริสราเผย

8.ความสุขด้านเศรษฐกิจ หมายถึงรู้สึกมั่นคงทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าช่วงนี้หลายคนกังวลเรื่องการจ่ายค่าบ้าน ผ่อนรถ ความสุขด้านเศรษฐกิจก็อาจสร้างได้ยากในช่วงนี้

“บ้างก็มีเสียงพูดว่าความรวย-จนเป็นเรื่องของความพยายาม ให้พลิกแพลงเพื่อหาเงิน แต่โอกาสการเข้าถึงทุนแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งสัมพันธ์กับนโยบายของรัฐ เรื่องการกระจายรายได้ สวัสดิการแห่งรัฐ การเข้าถึงการศึกษา ที่จะมีส่วนช่วยในการหาเงิน ดังนั้น ความจนเป็นเรื่องของระบบ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว” ศรัทธารากล่าว

9.ความสุขด้านสังคมและการเมือง หมายถึงการมีระบบ และนโยบายสาธารณะที่ดี

“แน่นอนว่าอาจหายากในช่วงนี้ แต่น้อยที่สุด การเสริมความสุขด้านสังคมการเมืองที่ทำได้ตอนนี้คือการเท่าทันระบบสาธารณะในเมืองที่ไม่เป็นธรรม เข้าใจเรื่องโครงสร้างที่ระบบจัดการกับเรา เช่น เป็นเกษตรกร มีความรู้เชี่ยวชาญ แต่ค่าตอบแทนทักษะด้านนี้ต่ำ ปลูกพืชเก่งไม่นับ ไม่ได้รับยกย่องเท่าการมีความรู้ด้านภาษาและคณิตศาสตร์ ทำให้คนบางกลุ่มรู้สึกว่าเราไม่ดีพอ เพราะเราเป็นแบบนี้จึงต้องจน เป็นเรื่องวิธีคิดความเชื่อบางอย่างที่ถูกสร้างโดยระบบและโครงสร้างสังคม การให้นิยาม สุดท้ายความสุขลดลง

“ในช่วงที่จัดการกับนโยบายทางสังคมไม่ได้ อย่างน้อย ให้เราเท่าทันระบอบการเมือง สังคม ที่เล่นกับอัตลักษณ์ กลุ่มและวิถี ไม่ไหลไปตามนั้น ไม่ต้องจับจ่ายความสุขไปกับเรื่องที่เขาให้เราทำตาม

“ความสุขมีหลายด้าน และไม่ใช่ทุกเรื่องที่เป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล ในช่วงระบาดการมีประกันสิทธิ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในข้อที่รัฐควรทำให้ประชาชนมั่นใจในการรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้” ศรัทธารากล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image