ครั้งแรกค่ายออนไลน์ ‘ประพันธ์สาส์น’ ปั้นนักวิจารณ์หนังสือมืออาชีพ

โครงการ "อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์"

วันเวลาเดินหน้าไม่เคยหยุดยั้งเช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังอยู่คู่โลกไม่เสื่อมคลายไปตามวันเวลา คือ การวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งในยุคสมัยที่สื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลสูง การวิพากษ์วิจารณ์ยิ่งท่วมท้น แต่กลับหาอ่านงานวิจารณ์ดีๆ ได้ยากเหลือเกิน

สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น รุ่นใหญ่แห่งวงการหนังสือ ตระหนักถึงความสำคัญถึงสิ่งดีที่กำลังจะเลือนหาย จึงริเริ่มโครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์” ที่ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามในครั้งแรก กลายเป็นโครงการที่เยาวชนผู้รักการอ่านจากทั่วประเทศให้ความสนใจเข้าร่วม จึงมีการจัดติดต่อกันมา 5 ปีแล้ว ด้วยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากธนาคารกรุงเทพ

โครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์” เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชน ชั้น ม.4-6 และระดับอุดมศึกษา สมัครเข้ามาโดยส่งผลงานวิจารณ์หนังสือที่ผู้จัดกำหนดไว้แบ่งเป็นบทกวี สารคดี และเรื่องสั้น โดยจะคัดเลือกเพียง 40 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบ

ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนคนละ 20,000 บาท พร้อมเข้าค่ายเรียนรู้กับวิทยากรชั้นครู ได้แก่ ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง นักเขียนสารคดีอิสระ จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์ชื่อก้อง

Advertisement

“อาทร เตชะธาดา” กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เล่าว่า โครงการนี้เกิดขึ้น เพราะในระยะหลังเริ่มรู้สึกว่าหน้าวิจารณ์วรรณกรรมหายไปจากสื่อต่างๆ เมื่อก่อนมีสยามรัฐ และนิตยสารอีกหลายฉบับที่ไม่ใช่แค่รีวิวหนังสือเพื่อขายของ แต่เป็นการนำงานวรรณกรรมดีๆ มาแยกแยะให้คนอ่านได้เห็นว่า เนื้อหาจุดไหนสวย จุดไหนที่เมื่อนำมาปรับอีกนิดจะทำให้งานสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งงานวิจารณ์ลักษณะนี้อยู่คู่กับหนังสือมาตลอด แต่ในปัจจุบันกลับหายไป และอย่าว่าแต่งานวิจารณ์วรรณกรรมเลย แม้แต่การย่อความในมหาวิทยาลัยก็คงเลิกสอนกันแล้ว จึงเริ่มเขียนโครงการส่งไปเสนอที่ธนาคารกรุงเทพ โดยมีคุณ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ร่วมผลักดันโครงการ

“การจัดโครงการครั้งแรกมีเด็กสมัครเข้ามาเยอะ แต่ส่วนมากมีแรงจูงใจเป็นเรื่องทุนที่ได้รับมากกว่าความสำคัญของวรรณกรรม แต่เมื่อได้มาเข้าค่ายเด็กกลับรู้สึกสนุก และได้รับประโยชน์มาก ทำให้โครงการจุดติด พูดกันปากต่อปากว่ามาเข้าค่ายแล้วสนุกได้ความรู้ดี ได้ลับคมความคิด ทำให้ตอนนี้ทั้งเด็กมัธยม และเครือข่ายเพื่อนนักศึกษาจากทั่วประเทศคึกคัก ตื่นตัวกับโครงการมาก”

 

Advertisement
อาทร เตชะธาดา

หัวเรือใหญ่ประพันธ์สาส์น อธิบายต่อว่า การวิจารณ์นั้นถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ต้องมีกระดาษมาเขียน โดยธรรมดาก็ชอบวิจารณ์อยู่แล้ว วิจารณ์เพื่อน สิ่งแวดล้อม เรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เป็นการวิจารณ์ไม่มีหลัก แต่ค่ายนี้มีหลัก ซึ่งจำเป็นมากสำหรับยุคนี้ เพราะเป็นยุคที่ข่าวสารท่วมโลก เหมาะกับยุคโซเชียลมีเดียมากที่สุด ที่มีเฟคนิวส์อะไรต่ออะไร เพราะการเรียนรู้เรื่องการวิจารณ์มันสามารถทำให้เราจำแนกแยกแยะว่าอะไรที่เป็นงานเขียนที่เป็นคุณแก่ชีวิต หรืองานเขียนไหนที่อ่านจบแล้วรู้สึกไม่ได้อะไรเลย หรือเป็นงานเขียนที่เสพจนป่วยไข้

“เราต้องดูว่าหนังสือเล่มไหนเริ่มต้นชีวิตเรา ให้ชีวิตเราเดินถูกทาง และเป็นเส้นทางที่มีค่า หนังสือเล่มไหนยิ่งอ่านยิ่งเข้ารกเข้าพง ค่ายนี้ไม่ได้ฝึกให้แค่วิจารณ์หนังสือ แต่ปลายทางฝึกวิจารณญาณให้คนไตร่ตรองสรรพสิ่งด้วยปัญญาที่พินิจครุ่นคิดแล้ว และทบทวนแล้วว่าอะไรควรเชื่อ อันไหนไม่ควรเชื่อ และการแสวงหาข้อเท็จจริงมาประกอบ”

อาทร ย้ำถึงความสำเร็จที่ผ่านมาที่ต้องยกเครดิตให้อีกเรื่องหนึ่ง คือ สถานที่ อาศรมวงศ์สนิท มูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป ที่มีความร่มรื่น อาหารสุขภาพรสชาติอร่อย สถานที่โอบล้อมด้วยน้ำ

คือถ้าเด็กจะหนีค่ายต้องข้ามแพเท่านั้น มือถือทุกคนจะถูกเก็บระหว่างเข้าค่าย ต้องสุมหัวเพื่องานสติปัญญาจริงๆ เหมือนยาหม้อน่าเบื่อหน่าย แต่กลับกันเด็กกลับสนุกกับค่ายมาก เพราะวิทยากรที่เราเชิญมาล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด

มาในปีนี้แม้จะมีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นยังเดินหน้าจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แต่ปรับเปลี่ยนมาเป็นการเข้าค่ายแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก ที่แม้จะไม่ได้พบปะกันเป็นตัวเป็นตน แต่ยืนยันว่ายังคงรสชาติที่จัดจ้านเช่นเคย

อาทรย้ำว่า ครั้งนี้แม้จะเป็นการเข้าค่ายแบบออนไลน์ แต่วางแผนให้ได้รสชาติเหมือนเดิม โดยได้จัดห้องประชุมใหม่ ทำห้องประชุมแยกแต่ละห้อง ทั้งห้องสารคดี เรื่องสั้น นวนิยาย ทั้งหมดผ่านโปรแกรมซูม ส่วนเรื่องสันทนาการก็พยายามจะให้ได้อรรถรสเหมือนเดิม

ด้าน “จักรี ปานสมัย” ผู้เข้าร่วมอบรมรุ่นที่ 4 ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนที่จะมาเข้าค่าย เรียนคณะมนุษยศาสตร์ วรรณคดีไทย ม.เกษตรศาสตร์ และได้เปิดเพจทำวิจารณ์หนังอยู่แล้วชื่อเพจเทพอุ้มสม เป็นการวิจารณ์ที่ไม่ได้รู้หลักการมาก แต่มีใจรักการวิจารณ์หนังสือ นิยาย พอเข้าไปในโครงการ ได้หลักการ แนวคิดการเขียนวิจารณ์ที่เป็นระบบมากขึ้น เมื่อก่อนอ่านอะไรก็รีวิวไปแบบที่คิด ไม่ได้วางโครงสร้าง หรือวางแผนการก่อน พอได้เข้าอบรมทำให้รู้ว่าบทวิจารณ์มีหลายรูปแบบ เช่น จะให้ใครอ่าน หากเป็นวิชาการก็จะต้องมีอ้างอิงยากขึ้น แต่ลงเพจนิยายก็ไม่ต้องมีอ้างอิงอะไร แต่มีความเป็นบทวิจารณ์มากขึ้น

“ระหว่างการอบรมวิทยากรที่สอนดีมาก มีการเวิร์กช็อป ให้เราได้เขียนบทวิจารณ์จริงในเวลาที่เขากำหนด แล้วกรรมการจะคอมเมนต์รายบุคคล ใกล้ชิดมาก ไม่ใช่แค่ฟังบรรยาย ทุกวันนี้ขึ้นปี 4 แล้ว การเข้าค่ายช่วยเยอะมาก ทั้งการเรียน และการวิจารณ์ในเพจ ทำให้เราดูโตขึ้น เมื่อก่อนชอบอะไรไม่ชอบอะไร ไม่ดีตรงไหนก็เขียนไปแบบนั้น แต่เมื่อเราพ้นโครงการนี้ เราโตขึ้น แทบจะไม่อยากบอกว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร แต่จะมองว่าในเนื้อหานั้นมีประเด็นอะไรควรแก่การเล่าต่อ เราเห็นช่องว่างระหว่างบรรทัดที่นักเขียนไม่ได้บอกไว้ เราตีความได้มากขึ้น”

จักรี แนะนำว่า โครงการนี้เหมาะสำหรับทุกคนที่ชอบอ่านหนังสือ หรือเป็นคนที่อ่านจบแล้วไม่รู้จักวิธีตกตะกอน ไม่รู้วิธีสรุป ไม่รู้วิธีจับประเด็น โครงการนี้จะช่วย ไม่ได้แค่ตกตะกอนกับตัวเอง แต่สามารถสื่อสารไปได้ด้วย

“มาปีนี้ทราบว่าโครงการเป็นแบบออนไลน์ มองว่าจะออฟไลน์ หรือออนไลน์ก็ไม่ต่างกันมาก เพราะโครงการรับเด็กไม่เยอะอยู่แล้ว แต่ละเซคชั่นไม่ใหญ่ วิทยากรเข้าถึง ในแง่องค์ความรู้คิดว่าไม่ต่างกัน แต่การเป็นออฟไลน์อาจจะได้เพื่อนพูดคุยกันสะดวกกว่าเท่านั้น”

ถือเป็นหนึ่งโครงการดีๆ ที่จัดเพียงปีละ 1 ครั้ง เยาวชนผู้รักการอ่านไม่ควรพลาดเด็ดขาด ใครสนใจรีบสมัครกันมาได้แล้ววันนี้


 

รายละเอียดการสมัครเข้าร่วมโครงการ

โครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์” ปีที่ 6 ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เยาวชนได้บูรณาการทักษะการอ่าน การคิด และการเขียน โดยผ่านการใช้ภาษาไทยอย่างสละสลวย และด้วยเหตุที่ภาษาไทยมีความสำคัญทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การใช้ภาษาจึงเป็นทักษะที่ผู้ใช้ต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญไม่ว่าจะเป็นการอ่าน คิดวิเคราะห์ การเขียน การพูด และการดู

รวมทั้งต้องใช้ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางภาษาเพื่อสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพและใช้อย่างคล่องแคล่ว มีวิจารณญาณ มีคุณธรรม และมีนิสัยรักการอ่าน

ที่สำคัญการอ่านหนังสือทั้งประเภทสารคดีและบันเทิงคดีจะช่วยสร้างเสริมความรู้ของเยาวชนให้ลึกซึ้ง รวมทั้งเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกล และก่อให้เกิดปัญญาที่กล้าแกร่ง


วัตถุประสงค์ของโครงการ

1.เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะการอ่านสรุปสาระสำคัญ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการคิดเชิงวิเคราะห์และวิจารณ์

2.เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ และวิจารณ์ อันจะเป็นการสร้างนักวิจารณ์รุ่นใหม่สู่สังคม

3.เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ โดยบูรณาการกับการใช้ภาษาไทย

4.เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะการเขียนภาษาไทยที่ดี อันเป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ

5.เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีโอกาสได้แสดงผลงานผ่านเวทีต่างๆ ทั้งในด้านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์


คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ

1.เป็นผู้ที่กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 หรือผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ระดับอุดมศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ปี 2563

2.ไม่เคยได้รับทุนรางวัลจากการจัดโครงการปีที่ 1-5

3.บุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับภาคีพันธมิตรไม่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการหากตรวจสอบพบข้อมูลในภายหลังจะถูกตัดสิทธิ์ทันที

4.เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน จึงทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการอบรมโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินการ ผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ได้รับทุนรางวัลต้องมีความพร้อมในด้านอุปกรณ์เทคโนโลยี เพื่อเข้าค่ายอบรมเชิงปฏิบัติการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์” ในรูปแบบออนไลน์ อาทิเช่น มือถือ, แท็บเล็ต, คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตที่เสถียร


ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1.ผู้ร่วมโครงการได้พัฒนาทักษะการอ่านสรุปสาระสำคัญให้ชำนาญมากขึ้น

2.ผู้ร่วมโครงการได้พัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ และวิจารณ์ ให้แยบคายยิ่งขึ้น

3.ผู้ร่วมโครงการได้พัฒนาทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์อย่างเหมาะสม

4.ผู้ร่วมโครงการได้พัฒนาศิลปะการเขียนภาษาไทยให้สละสลวยยิ่งขึ้น

5.โครงการได้สร้างเสริมวัฒนธรรมรักการอ่านในหมู่เยาวชน

6.โครงการได้สร้างนักวิจารณ์รุ่นใหม่สู่สังคม

7.เยาวชนไทยตระหนักถึงคุณค่าของภาษาไทยมากขึ้น


อุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าอบรม

สเปกอุปกรณ์ที่สามารถใช้โปรแกรม Zoom ได้ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่อง PC ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows เวอร์ชั่น 7 ขึ้นไป เบราเซอร์ IE เวอร์ชั่น 11 ขึ้นไป Chrome เวอร์ชั่น 30 ขึ้นไป และ Firefox เวอร์ชั่น 27 ขึ้นไป ส่วนเครื่อง Mac ใช้ระบบปฏิบัติการ Mac os X เวอร์ชั่น 10.7 ขึ้นไป เบราเซอร์ safari เวอร์ชั่น 7 ขึ้นไป Chrome เวอร์ชั่น 30 ขึ้นไป และ Firefox เวอร์ชั่น 27 ขึ้นไป

สำหรับโทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต เป็นระบบปฏิบัติการ IOS เวอร์ชั่น 7.0 ขึ้นไป ส่วน Android เวอร์ชั่น 4.0 X ขึ้นไป

อบรมเป็นเวลา 2 วัน ในเดือนตุลาคม 2563 โดยมีคณะกรรมการตัดสินเป็นวิทยากร

กติกาในการเข้าร่วมโครงการ

-เลือกอ่านหนังสือที่ทางโครงการได้กำหนดไว้ ซึ่งต้องเขียนต้นฉบับเป็นภาษาไทยอาจเป็นหนังสือประเภทสารคดีหรือบันเทิงคดีก็ได้ เช่น สารคดีแนวต่างๆ /กวีนิพนธ์ /นวนิยายคลาสสิก

-เขียนบทวิจารณ์ 1 เล่ม ต่อหนังสือที่เลือกอ่าน ในครั้งนี้จะเป็นหนังสือที่ได้รับรางวัล ต่างๆ โดยจะให้ผู้สมัครเลือกหนังสือจากรางวัลใดรางวัลหนึ่งเพื่อเขียนบทวิจารณ์ส่ง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

– รางวัลการประกวดหนังสือดีเด่นแห่งชาติของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระหว่างปี 2545-2562

– รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์)

– รางวัลพานแว่นฟ้า

– รางวัลชมนาด

รายละเอียด

1.มีความยาว 2-4 หน้ากระดาษ A4 ขึ้นไป ฟอนต์ Angsana New ขนาด 16 points

2.วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นอย่างเที่ยงธรรม มีเหตุผล น่าสนใจ โดยสอดแทรกการสรุปใจความของเรื่องอย่างกระชับและครอบคลุมประเด็นสำคัญ

3.เรียบเรียงด้วยภาษาที่สละสลวยและนำเสนอด้วยวิธีเขียนที่สร้างสรรค์

การส่งไฟล์บทวิจารณ์

1.ลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ http://praphansarn.com/scholarships

2.ส่งบทวิจารณ์พร้อมระบุชื่อผู้วิจารณ์ให้เรียบร้อย

วิธีการส่ง

2.1 ส่งบทวิจารณ์ทางไปรษณีย์พร้อมทั้งถ่ายเอกสารหนังสือที่ใช้เขียนงานวิจารณ์มาด้วยทั้งเล่ม แนบมายังที่บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด เลขที่ 222 ถนนพุทธมณฑล สาย 2 (บุษราคัม เทอเรส สาย 2) แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10170

กำหนดลงทะเบียนและส่งเอกสารทั้งหมด

ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม-31 กรกฎาคม 2563 โดยพิจารณาจากการลงทะเบียนและส่งเอกสาร ภายในเวลา 24.00 น. ของวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2563 และโดยพิจารณาจากการลงตราประทับส่งไปรษณีย์ภายในวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2563 โดยจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก 40 คน ทางเว็บไซต์ www.praphansarn.com ในเดือนกันยายน 2563

โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะเข้าค่ายอบรมเชิงปฏิบัติการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์” ในวันที่ 9-10 ตุลาคม 2563

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image