สุวรรณภูมิในอาเซียน : ‘มโหระทึก’ คือกลองกบขอฝน แหล่งผลิตในไทย จ.มุกดาหาร 2,500 ปีมาแล้ว

(ซ้าย) กบ 4 ตัว ประติมากรรมสำริดติด 4 มุม หน้ากลองเส้นผ่าศูนย์กลาง 86 เซนติเมตร [รูปกลองมโหระทึกจากวัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร]

กลองมโหระทึก แต่เดิมเรียก “กลองกบ” เป็นกลองศักดิ์สิทธิ์ของคนทั้งชุมชนใช้ตีขอฝนในพิธีกรรมทำขวัญเซ่นสังเวยผีฟ้าพญาแถนเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว

ฝนตกเมื่อกบร้อง คนดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้วยกย่องนับถือกบเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ผู้บันดาลให้ฝนตก จึงทำรูปกบอย่างน้อย 4 ตัว เป็นสัญลักษณ์ประดับหน้ากลองมโหระทึกทั้ง 4 มุม เมื่อฝนแล้งแล้วตีกลองมโหระทึกเสียงกลองดังถึงกบก็บันดาลฝนตกลงมาให้คนทำนา ทั้งนี้เพราะสังเกตเห็นกบร้องและปรากฏตัวทุกครั้งเมื่อมีฝนตกน้ำนอง

คันคาก (คางคก) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำกลุ่มเดียวกันกบ ได้รับยกย่องนับถือเหมือนกบ คนสมัยก่อนจึงผูกนิทานเรื่องพญาคันคาก หรือคางคกยกรบชนะแถน แล้ว บงการให้แถนเมื่อถึงฤดูฝนปล่อยน้ำจากฟ้าลงมาตามต้องการของชาวบ้านใช้ทำนาโดยชาวบ้านจะจุดบั้งไฟส่งสัญญาณการปล่อยน้ำ ครั้นได้น้ำพอเพียงการทำนาแล้วจะแกว่งโหวดส่งเสียงบอกแถนหยุดส่งน้ำ

‘นำเข้า’ จากจีน, เวียดนาม

ข้อมูลและความรู้จากนักค้นคว้าชาวยุโรปเมื่อศตวรรษที่แล้ว หล่อหลอมนักวิชาการไทยโดยเฉพาะนักโบราณคดี มีความเชื่อสั่งสมสืบต่อกันมาว่ากลองมโหระทึกในไทยถูก “นำเข้า” จากจีนและเวียดนาม ราว 2,500 ปีมาแล้ว

Advertisement

ทั้งนี้เพราะในไทยไม่พบแหล่งผลิตกลองมโหระทึกและเทคโนโลยีไม่ก้าวหน้าพอจะผลิตได้

‘ผลิตเอง’ ที่มุกดาหารและสองฝั่งโขง

ล่าสุดพบหลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่ากลองมโหระทึกจำนวนหนึ่งถูกผลิตขึ้นในอีสาน คือ มุกดาหาร และสองฝั่งโขง (ไทย-ลาว) ดังนั้นเท่ากับยืนยันว่ากลองมโหระทึกในไทยมีที่มาอย่างน้อย 2 ทาง คือ ทั้งนำเข้าและผลิตเองที่ จ. มุกดาหาร

พ.ศ. 2552 นักโบราณคดีกรมศิลปากร สำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี พบแหล่งผลิตกลองมโหระทึกอยู่โนนหนองหอ บ้านนาอุดม ต. นาอุดม อ. นิคมคำสร้อย จ. มุกดาหาร

Advertisement

สุรพล นาถะพินธุ ผู้เชี่ยวชาญวิชาก่อนประวัติศาสตร์ (อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) บอกว่า

“นักโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี ได้ศึกษาแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ พบทั้งก้อนทองแดง, เบ้าหลอมสำริด, ชิ้นงานสำริด, และชิ้นส่วนแม่พิมพ์สำหรับหล่อกลองมโหระทึกด้วยวิธีหล่อแบบขับขี้ผึ้ง”

“วัตถุดิบหลักคือทองแดง มีแหล่งเหมืองทองแดงอยู่ที่เมืองวิละบุรี ใกล้เมืองเซโปน แขวงสะหวันเขต ในลาว”

 


 

พบชิ้นส่วนกลองมโหระทึกสำริดจำนวน 9 ชิ้น ซึ่งทั้งหมดยังคงมีดินติดอยู่จึงทำให้เห็นลวดลายได้ไม่ชัดเจนแต่สามารถแบ่งได้ตามลักษณะรูปทรง ดังนี้
ชิ้นส่วนกลองมโหระทึก หน้ากลองมีขนาด 95 เซนติเมตร สูง 70 เซนติเมตร หูกลองมีขนาด 10 X 19 เซนติเมตร หนา 1.5 เซนติเมตร ด้านหน้าประดับด้วยประติมากรรมรูปกบ จำนวน 4 ตัว มีขนาด 10 X 5 เซนติเมตร สูง 4 เซนติเมตร ลวดลายหน้ากลองประกอบด้วย ลายดาวหน้ากลอง 12 แฉก ลายซี่หวี ลายวงกลม ลายหยักฟันปลา ลายรูปบุคคลสวมขนนก ลายขนมเปียกปูน และลายนก
(ภาพด้านหน้ากลองมโหระทึกและคำอธิบายจากรายงานการตรวจสอบโบราณวัตถุ กลองมโหระ ทึกฯ ของ สำนักศิลปากรฯ อุบลราชธานี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563)

พบใหม่กลองมโหระทึก

จ.มุกดาหาร มีผู้พบกลองมโหระทึกใบล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ที่บ้านโพน (ต.บ้านเหล่า อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร) อายุราว 2,000 ปีมาแล้ว (ราว พ.ศ.500) น่าจะผลิตขึ้นเองในเขตมุกดาหารหรือใกล้เคียง

เอนก สีหามาตย์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) บอกว่านักโบราณคดีที่ไปสำรวจตรวจสอบพบว่ากลองมโหระทึกใบนี้ถูกทิ้งไว้เพราะชำรุดก่อนนำมาทิ้ง แล้วมีรายงานไว้ดังนี้

กลองมโหระทึกที่พบนี้สันนิษฐานว่าเป็นกลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์ 1 (Heger I)หรือแบบเหลิงสุ่ยชง (Leng Shui Chong) ใช้วิธีการหล่อแบบใช้โลหะแทนที่ด้วยขี้ผึ้ง มีอายุประมาณ 2,000-1,900 ปีมาแล้ว ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมสำริดในจีนตอนใต้ และวัฒนธรรมดองซอนของเวียดนาม และมีรูปลวดลายคล้ายกับกลองมโหระทึกที่พบในเวียดนาม กลองมโหระทึกใบนี้ไม่พบโบราณวัตถุอื่นๆ ร่วมด้วย จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดความชำรุดก่อนนำมาทิ้ง

กลองมโหระทึกพบใหม่ใบนี้ที่บ้านโพน ต.บ้านเหล่า อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร หน้ากลองขนาด 95 เซนติเมตร ถือว่าใหญ่สุดในไทย เพราะใหญ่กว่ากลองมโหระทึกดอนตาล หน้ากลองขนาด 86 เซนติเมตร [ปัจจุบันอยู่วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) ต.ดอนตาล อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร]

ประโคมกลองทอง (สำริด) หรือกลองกบ โดยชาวเมี่ยน (เย้า) กับชาวจ้วง และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในเทศกาลที่มณฑลกวางสี ทางภาคใต้ของจีน (ภาพเก่า เรือน พ.ศ. 2500)

กลองกบแขวนตี

กลองกบ หรือกลองมโหระทึกดั้งเดิมมีหูระวิงติดอยู่ข้างตัวกลอง 2 ด้าน สำหรับผูกร้อยเชือกใช้แขวนตี (ไม่ตั้งตีเหมือนกลองฝรั่ง)

มีภาพเขียนบนผนังถ้ำ (พบที่ จ. กาญจนบุรี) เป็นพยาน นอกจากนั้นกลุ่มชาวจ้วงในมณฑลกวางสียังสืบเนื่องประเพณีแขวนตีกลองทอง (มโหระทึก) จนทุกวันนี้

(ซ้าย) ขบวนแห่พร้อมเครื่องประโคมหลายอย่าง มีคนแบกหามเครื่องมือชนิดเหลี่ยมและกลม คล้ายกลองกบ งานศพดึกดำบรรพ์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว
(ขวา) หูกลองเป็นคู่มี 4 คู่ ติดตั้งเป็น 2 กลุ่ม อยู่สองข้างกลองกบหรือกลองมโหระทึก เอาไว้ร้อยเชือกแขวนตี [รูปกลองมโหระทึก จากวัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร]

มโหระทึก

“มโหระทึก” ชื่อนี้ต้องทำความเข้าใจ 2 เรื่อง ดังนี้

1. “มโหระทึก” เป็นเครื่องประโคมอย่างหนึ่งโดยไม่ระบุว่าอะไร? มีรูปร่างหน้าตาขนาดแบบไหน? พบชื่อนี้เก่าสุดในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาตอนต้น ราวเรือน พ.ศ. 2000

2. “มโหระทึก” ต่อมาราวเรือน พ.ศ. 2400 ถูกใช้เรียกแล้วถูกทำให้หมายถึงกลอง สำริด หรือกลองกบสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ส่วนกลุ่มอุษาคเนย์และจีนที่มีกลองแบบเดียวกันไม่เรียก “มโหระทึก” แต่เรียกกลองสำริดหรือกลองกบสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุราว 2,500 ปีมาแล้ว ด้วยชื่อต่างๆ ดังนี้

“กลองสำริด” ที่เรียกอย่างนี้เพราะทำจากโลหะผสมของทองแดงกับดีบุกหรือตะกั่ว แล้วเรียกทองสำริด แต่เรียกสั้นๆ ว่าสำริด

“กลองกบ” ที่เรียกชื่อนี้เพราะบางใบมีรูปกบติดอยู่หน้ากลอง เชื่อว่าตีแล้วฝนตกเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์

ชาวจ้วง (มณฑลกวางสี มีกลองแบบนี้จำนวนมากที่สุดหลายพันใบ) เรียก “ถงกู่” หมายถึง กลองทองสำริดหรือทองแดง

เวียดนาม เรียก “กลองทอง” ส่วนลาว เรียก “ฆ้องบั้ง” เพราะทำจากโลหะ ต้องเรียกฆ้อง

จีนฮั่นเรียก “หนานถงกู่” แปลว่ากลองทองแดงของพวกคนป่าคนดงทางใต้หมายความว่าไม่ใช่กลองของจีนฮั่น แต่เป็นวัฒนธรรมของพวกที่ไม่ใช่ฮั่น ซึ่งเป็นคนป่าคนดงอยู่ทางใต้ (ของฮั่น) คือพวกอุษาคเนย์ ซึ่งมีเหตุจากจีนฮั่นไม่ผลิตกลองชนิดนี้ หรือกลองชนิดนี้ไม่ใช่วัฒนธรรมฮั่น

มโหระทึกวัดบวรฯ ตั้งตีแบบกลองฝรั่ง

กลองสำริดหรือกลองกบสมัยก่อนประวัติศาสตร์ถูกเรียกว่า “มโหระทึก” แล้วใช้ตั้งตีเหมือนกลองทิมปานีของตะวันตก พบหลักฐานเก่าสุดสมัย ร.4 พระราชทานไว้ที่วัดบวรนิเวศ มีในคำบอกเล่าของนายธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) ดังนี้

“ที่วัดบวรนิเวศวิหารมีประเพณีกระทั่งมโหระทึกและบันลือสังข์ ประโคมในขณะพระภิกษุสงฆ์ลงประชุมทำวัตรสวดมนต์ในพระอุโบสถทั้งเช้าเย็น…………..”

 

(ซ้าย) กลองมโหระทึก ตั้งอยู่ด้านซ้ายฐานชุกชีพระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร (ขวา) เจ้าหน้าที่วัดบวรนิเวศวิหาร ตีกลองมโหระทึก เวลาก่อนทำวัตรเช้า 08.00 น.และทำวัตรค่ำ 20.00 น. (ภาพโดย พระมหาวโรตม์ ธมฺมวโ


“มหรทึกมีอยู่ใบเดียว ไม่ใช่คู่อย่างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใช้เลกวัดเป็นผู้มีหน้าที่ประโคม เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นเกียรติยศแต่พระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถ……………”

[จากหนังสือ เครื่องดนตรีไทย ของ ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2500หน้า 55-56]


มโหระทึก กลองอินเดีย

“มโหระทึก” ชื่อที่พบในกฎมณเฑียรบาล (สมัยอยุธยาตอนต้น) เป็นกลองขึงหนังจากอินเดีย

ส่วน “มโหระทึก” ที่รับรู้ทั่วไปในหมู่นักวิชาการไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มโบราณคดี มีความหมายเพิ่งสร้างใหม่ว่ากลองสำริดหรือกลองกบ (สมัยก่อน ประวัติศาสตร์)

มโหระทึกในกฎมณเฑียรบาลเป็นกลองอินเดียแบบหนึ่ง ถูกนำเข้าสู่ราชสำนักก่อนสมัยอยุธยาจากทมิฬอินเดียใต้ เพื่อประโคมในพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หลังจากนั้นผสมกับเครื่องประโคมพื้นเมืองอุษาคเนย์ เช่น ฆ้อง ฯลฯ แล้วถูกยกเป็นเครื่องประโคมในราชสำนักรัฐโบราณก่อนสมัยอยุธยา กระทั่งสืบเนื่องถึงราชสำนักอยุธยา

ภาษาทมิฬเรียกกลองแบบนี้ว่า “อึฎึกกิ” (Udukki หรือบางเมืองเรียก Idakka) เป็นกลองสองหน้า ขึงหนังรอบตัว มีเอวคอด บรรเลงโดยใช้ไม้ตีหรือใช้มือตีก็ได้ [ข้อมูลเหล่านี้ได้จากไมเคิล ไรท์ เขียนไว้ในศิลปวัฒนธรรม หลายปีก่อน พ.ศ. 2540 (จำไม่ได้ปีไหน? ต่อมาเขียนอธิบายเพิ่มอีกครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ. 2540]

อึฏึกกิŽ กลองสองหน้าขึงหนัง มีเอว ตีด้วยไม้ คือ มโหระทึกŽ กลองอินเดีย ในกฎมณเฑียรบาล สมัยอยุธยาตอนต้น [ภาพจากหนังสือ ดนตรีอุษาคเนย์Ž โดย เจนจิรา เบญจพงศ์ (รวบรวม) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2555 หน้า 514-515]
พิธีพราหมณ์ในอินเดียต้องบรรเลงประโคมนำโดยพราหมณ์เป่าสังข์ แล้วตามด้วยพราหมณ์ตีกลองหลายใบพร้อมกัน (เรียก “ปัญจวาทยะ” แต่บางแห่งเรียก “ปัญจตุริยะ”) ในบรรดากลองเหล่านั้นมี “อึฎึกกิ” อยู่ด้วย เมื่อตีด้วยไม้จะมีเสียงดังมากกว่ากลองใบอื่น

ครั้นอยู่ในราชสำนักอยุธยานานไป (ชวนให้เดาว่า) ก็หล่อหลอมคำทมิฬ “อึฎึกกิ” กลายคำเป็น “อึกทึก” แล้วมีความหมายเพิ่มขึ้นในภาษาไทยว่ากึกก้องอื้ออึงโครมคราม ครั้นนานไปเพื่อยกย่องความสำคัญยิ่งใหญ่ของเสียงจึงเพิ่ม “มหา” เข้าไปให้อลังการเรียก “มหาอึกทึก” แล้วแผลงคำเป็น “มโหระทึก” (ตามแนวทางคำที่มีอยู่ก่อนคือ มโหรสพ หรือ มหรสพ)


ขุนดนตรี

“ขุนดนตรี ตีหรทึก” ข้อความในกฎมณเฑียรบาลหมายถึงเชื้อสายพราหมณ์ ราชทินนาม “ขุนดนตรี” เป็นผู้มีหน้าที่ใช้ไม้ตีมโหระทึก เป็นหลักฐานสำคัญมากยืนยันว่ามโหระทึกเป็นกลอง “อึฎึกกิ” ของอินเดียใต้ เพราะคำว่า “ดนตรี” เกี่ยวข้องกับตระกูลพราหมณ์อยุธยาที่สืบสายจากพราหมณ์ทมิฬอินดียใต้

พราหมณ์ราชสำนักอยุธยาเจตนาให้พราหมณ์ตีมโหระทึกซึ่งเป็นกลอง “อึฎึกกิ” มีราชทินนาม “ขุนดนตรี” สืบเนื่องจากประเพณีพราหมณ์ทมิฬอินเดียใต้ในระบอบตันตระที่ยกย่องดนตรี

[คำอธิบายละเอียดอยู่ในบทความเรื่อง “ความลี้ลับของเกระละ ภาคที่ 2” ของ ไมเคิล ไรท์ ใน ศิลปวัฒนธรรม (ปีที่ 18 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2540) หน้า 52-55 และมีรวมอยู่ในหนังสือ ฝรั่งหายคลั่ง (หรือยัง) สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2551 หน้า 41-42]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image