นับถอยหลัง ในวันเดินหน้า บนไทม์ไลน์ 28 ปี ‘อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม’

อนุสาวรีย์ใหม่ที่กำลังเดินหน้าสร้างให้เสร็จ หลังยุติมานานหลายปี

17 พฤษภาคม พุทธศักราช 2563

สายสิญจน์สีขาวบริสุทธิ์ถูกโยงรอบอนุสาวรีย์อันเป็นที่บรรจุอัฐิวีรชนที่สละชีพในเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2535

พระสงฆ์สวดบริกรรมคาถา ประชาชนและผู้ร่วมเหตุการณ์ปักธูป 1 ดอก บนพื้นดินในสวนสันติพร ถนนราชดำเนิน

ตามมาด้วยเสียงรถแบ๊กโฮที่รื้อแผ่นหินสีดำจากประติมากรรมข้างต้น เผยให้เห็นโกฐสีขาวเรียบง่ายวางเรียงบนชั้น ผู้คนช่วยกันประคองอย่างระมัดระวังเพื่อเคลื่อนย้ายไปยังวัดชนะสงคราม เขตพระนคร ที่ตั้งอยู่เพียงอีกฝั่งถนน

Advertisement

นี่คือบรรยากาศที่เกิดขึ้นในงานรำลึกเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ซึ่งภายหลังมีการรณรงค์ให้หลีกเลี่ยงคำว่า ทมิฬ เพื่องดพาดพิงชาติพันธุ์ชื่อเดียวกัน

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนพฤษภา 35 คุณพ่อของลูกชายที่สิ้นลมหายใจอย่างมีเกียรติ เปิดเผยในช่วงสายของวันครบรอบ 28 ปีเต็มของโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า การย้ายอัฐิในวันนี้ ไปยังวัดชนะสงคราม ก็เพื่อเตรียมนำกลับมาบรรจุในอนุสาวรีย์ใหม่ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จโดยมีกำหนด 60 วัน นับจาก 17 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับอนุสาวรีย์และสวนสันติพร หรือจะเรียกโดยรวมว่า ‘อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม’ ที่สื่อมวลชนได้รับ มีอยู่ว่า กรุงเทพมหานคร กำลังปรับปรุงพื้นที่สวนสันติพรตามแบบแปลนใหม่ที่มีการตกลงกัน พร้อมๆ กับการที่ มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม จะดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์ใหม่ที่เคยทำไว้แล้วให้เสร็จสมบูรณ์ ด้วยงบไม่เกิน 3 ล้านบาท

Advertisement
แบบล่าสุดที่กทม.และมูลนิธิพฤษภาประชาธรรมเตรียมสร้าง

ส่วนพื้นที่ด้านหน้า ปัจจุบัน สน.ชนะสงคราม เช่า กทม.เพื่อตั้ง สน.ชั่วคราว ระหว่างการจัดสร้างอาคารใหม่ในจุดเดิมริมถนนข้าวสาร โดยคาดว่าจะเสร็จในช่วงปลายปี 2564 และได้ย้ายออก จากนั้น กทม.จึงจะจัดการพื้นที่ด้านหน้าให้เป็นสวนตามแบบที่เตรียมไว้

กล่าวโดยสรุปคือ ภาพรวมทั้งหมดน่าจะเสร็จภายในปลายปีหน้านี้นั่นเอง แต่ตัวอนุสาวรีย์มีกำหนด 60 วันตามคำบอกเล่าของประธานญาติวีรชน

เป็น 28 แห่งการรอคอยที่ความคาดหวังในการก่อเกิดอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำใกล้เป็นจริง แต่กว่าจะถึงวันนี้ หนึ่งในผู้ที่จะบอกเล่าประวัติศาสตร์ระยะสั้นของการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ได้ดีที่สุดคนหนึ่ง ก็คือ ดร.พินัย สิริเกียรติกุล อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้มีส่วนร่วมมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ใน พ.ศ.2546 โดยเป็นผู้ชนะการประกวดแบบอนุสรณ์สถานดังกล่าว

เรื่องราวน่าสนใจมากมาย พรั่งพรูจากปากอาจารย์และสถาปนิกท่านนี้ โดยเริ่มต้นด้วยการย้อนเล่าถึงแผนการสร้างอนุสรณ์สถานอันเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์สำคัญในการเมืองไทยร่วมสมัยถึง 3 เหตุการณ์

“ต้องเล่าแบ๊กกราวด์ว่า หลังจากเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ในสมัยที่ท่านอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสร้างอนุสาวรีย์ 3 เหตุการณ์ คือ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 และ 17-20 พฤษภา 2535 ในพื้นที่เดียวกันคือ กรมประชาสัมพันธ์เดิม คือบริเวณที่เป็นสวนสันติพรในทุกวันนี้ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้นประทานชื่อให้ อย่างไรก็ตาม ในสมัยที่พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ ได้มีการเสนอให้แยกอนุสรณ์สถานออกเป็น 2 แห่ง แห่งที่ 1 คืออนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว อีกแห่งหนึ่งคืออนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม 2535 ในบริเวณสวนสันติพร”

ในวาระครบรอบ 25 ปี 14 ตุลา ปรากฏว่ามีการผลักดันการสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ที่แยกคอกวัวจนประสบผลสำเร็จ ทั้งที่ตอนนั้นเข้าใจว่าระบบราชการไม่ได้เอื้อที่จะทำโครงการนี้ แต่อนุสรณ์สถาน 6 ตุลา 19 ถูกลืมไปเลย สุดท้ายมีการผลักดันให้สร้างในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เหลืออนุสรณ์สถานพฤษภา 35 ที่ยังไม่ได้สร้าง

แบบอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม โดย ดร.พินัย สิริเกียรติกุล และคณะราวปี 46-47 ที่ไม่ถูกนำมาใช้ก่อสร้าง

ต่อมาในสมัย คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการจัดทำข้อเสนออนุสรณ์วีรชนประชาธิปไตย เหตุการณ์ 17-20 พฤษภาคม 2535 ที่สำคัญคือ มีการตั้งมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ขึ้นมา

“หลังจากนั้น ผมได้เข้าไปเกี่ยวข้องใน พ.ศ.2546 ทางมูลนิธิพฤษภาประชาธรรมได้มีการจัดประกวดแบบขึ้น มีผมและนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร 2 คน คือ สัทธา ปัญญาแก้ว และพิมลวรรณ นิยมทรัพย์ เป็นผู้ชนะประกวด จำได้ว่าได้เงินมา 3 หมื่นบาท กรรมการตัดสินคือ ดร.สุเมธ ชุมสาย, อาจารย์เดชา บุญค้ำ ปรมาจารย์ด้านภูมิสถาปัตยกรรม และอีกท่านหนึ่งคือ ศิลปินแห่งชาติด้านสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วคือ อ.ประเวศ ลิมปรังษี” ดร.พินัยเล่า

อย่างไรก็ตาม แบบดังกล่าว ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้สร้างแต่อย่างใด และมีการปรับแบบหลายต่อหลายครั้ง

“ตอนนั้นผมยังเด็กมาก เข้าใจว่าแบบที่ประกวดสุดท้ายคงได้ไปสร้าง แต่ในเวลาไม่นานก็เข้าใจว่าจริงๆ แล้ว การจัดประกวดแบบคือ การคล้ายๆ จะผลักดันเพื่อให้โครงการมีความคืบหน้า เพื่อทำการระดมทุน นี่คือจุดเริ่มต้น

ตอนนั้นผมยังเป็นสถาปนิกที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์เท่าไหร่ ก็ทำภายใต้การดูแลของอาจารย์ อัชชพล ดุสิตนานนท์ อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ แบบที่เราพัฒนาขึ้นมีการปรับแบบหลายครั้งมาก แต่ที่เห็นแบบจริงจังคือ พ.ศ.2552 มีการจัดทำเป็นแบบก่อสร้าง ส่งมอบให้ กทม.จำได้ว่าตอนนั้นทาง กทม.อนุมัติงบประมาณ 27 ล้านบาทเพื่อสร้าง แต่แน่นอนว่าไม่ง่าย เพราะพื้นที่ตอนนั้นมีผู้ค้าสลากกินแบ่งฯ จับจองอยู่ มีความพยายามขอให้ย้ายออกไปภายใน 6 เดือน ซึ่งในความจริงเป็นไปไม่ได้ สุดท้ายต้องรอจนกว่าทางกองสลากย้ายไปที่จังหวัดนนทบุรี ผู้ค้าจึงย้ายตามไป จากนั้นจึงมีการวางศิลาฤกษ์ สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมา”

ย้ายอัฐิวีรชนจากอนุสาวรีย์เดิม ออกแบบโดย สมโภชน์ อุปอินทร์ ศิลปินผู้ล่วงลับ

มาถึงตรงนี้ หากเดินทางไปยังสวนสันติพร หรือชมภาพจากข่าว จะเห็นอนุสาวรีย์ 2 แห่ง แห่งหนึ่ง คืออนุสาวรีย์ที่มีการรื้ออัฐิออกมา อีกแห่งคืออนุสาวรีย์ที่ยังเป็นโครงเหล็กสูง ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบถึงที่มาที่ไป

“ถ้าดูจากข่าว จะเห็นว่ามี 2 อนุสาวรีย์ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ที่มาที่ไปคือ แบบเดิมที่ผมบอกว่าเป็นแบบก่อสร้างอันแรก อนุสาวรีย์อยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกับที่ตั้งของอนุสาวรีย์สูงในปัจจุบันที่ตอนนี้เป็นโครงเหล็ก ซึ่งตำแหน่งนี้สำคัญมาก มีการคุยกันตั้งแต่ครั้งประกวดแบบแล้ว ไอเดียคือ พื้นที่ตรงนี้เป็นจุดตัดระหว่างถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชดำเนินใน ถ้าเราลากแกนจากถนนราชดำเนินกลางมายังถนนราชดำเนินใน จะอยู่ตรงพื้นที่ชิ้นนี้พอดี ตำแหน่งอนุสาวรีย์สูงนี้ ถ้าเรายืนบนฟุตปาธของถนนราชดำเนินกลาง ฝั่งที่เป็นกองสลาก มองไปทางพื้นที่นี้ เราจะเห็นอนุสาวรีย์นี้พ้นเหนือยอดไม้ขึ้นมา เช่นเดียวกับถ้าเรายืนกลางฟุตปาธ ฝั่งที่เป็นศาลฎีกา มองตรงไปจะเห็นอนุสาวรีย์ในตำแหน่งเหนือยอดไม้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเสนอแบบชุดแรกแล้ว ทางคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ มีหนังสือมาทางมูลนิธิฯ แจ้งว่าไม่เห็นด้วยกับแบบ เรียกผู้ออกแบบ และทางมูลนิธิไปพบ ซึ่งผมก็เข้าไป สุดท้ายมีการปรับให้สร้างอนุสาวรีย์ในความสูงประมาณ 10 เมตร และเขยิบเข้าไปสร้างในจุดที่อยู่ลึกเข้าไปด้านในแล้วบรรจุอัฐิ อนุสาวรีย์นี้ อาจารย์สมโภช อุปอินทร์ เป็นผู้ออกแบบ ทำเป็นม็อกอัพประติมากรรมขนาดสักเมตรหนึ่ง แต่ท่านเสียชีวิตไปก่อน ต้องให้อาจารย์ที่เป็นประติมากรอีกท่านหนึ่งขยายแบบของอาจารย์สมโภชที่โรงหล่อในจังหวัดนครปฐม

อนุสาวรีย์นี้ประกอบด้วย 3 ชิ้น ชิ้นบน เป็นสัญลักษณ์ของนกพิราบ สื่อถึงเสรีภาพ ชิ้นที่ 2 เป็นลูกบาศก์สีดำ คล้ายลูกกรง คล้ายๆ ว่านกพิราบแหกกรงออกมา ตัวฐาน เดิมท่านออกแบบไว้ให้มีรอยกรีดสื่อถึงความสูญเสีย ซึ่งอาจารย์ที่มาขยายแบบบอกว่าไม่ทราบว่าอาจารย์สมโภชออกแบบเป็นอะไร เลยเอาตัวอักษรเขียนว่าพฤษภา 35 ใส่ลงไปแทนตรงพื้นที่ชิ้นที่ 2 สุดท้าย ได้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมา นี่คือเวอร์ชั่นแรก”

เป็นข้อมูลที่ไขความกระจ่างและมอบภาพแจ่มชัดในความหมายของอนุสาวรีย์ได้เป็นอย่างดี


ดร.พินัย
เล่าต่อว่า หลังจากนั้น มีการเปลี่ยนแปลงช่วงหนึ่งที่สำคัญมาก และเป็นที่มาของอนุสาวรีย์ใหม่ที่สุดท้ายสร้างไม่เสร็จ กระทั่งล่าสุดมีการประกาศเดินหน้าตามที่เป็นข่าว

การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น ทำให้มีการประชุมร่วมกันของ ธีรยุทธ บุญมี กับ มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร โดยทางมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ขอขยับตำแหน่งอนุสาวรีย์ใหม่ โดยย้ายไปยังตำแหน่งที่เป็นจุดตัดแนวแกนระหว่างถนนราชดำเนินกลางและถนนราชดำเนินใน มีการปลูกต้นไม้ จะล้อมรอบอนุสาวรีย์โดยมีคนสำคัญมาเป็นตัวแทนปลูก ส่วนไอเดียคือ มีงบมาก็ค่อยๆ สร้างกันไป

“ตอนนั้นเป็นช่วงครบรอบ 24 ปี พฤษภาประชาธรรม เมื่อปี 2559 จำได้ว่า คุณจตุพร พรหมพันธุ์ และคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังไปปลูกต้นไม้ด้วยกัน”

สำหรับอนุสาวรีย์ใหม่นี้ ดร.พินัย ก็คือผู้ขยายแบบด้วยตนเอง โดยใช้แบบเดิมของ อ.สมโภชน์ อุปอินทร์ ยืดให้สูงขึ้นตามคำแนะนำของ อ.อัชชพล ดุสิตนานนท์ เพื่อให้มองเห็นได้จากทั้งถนนราชดำเนินในและถนนราชดำเนินกลาง สำหรับชิ้นกลาง และส่วนยอด ใช้เครนยกมาจากอนุสาวรีย์เดิมเมื่อ พ.ศ.2559

“ตัวยอดยกมาจากของเดิม จำได้ว่ามีการเอาจีวรมาผูกยอดอนุสาวรีย์ขณะย้ายก็รู้สึกว่าดูขลังดี ส่วนโครงที่ไม่เสร็จคือ ส่วนที่ผมยืดขึ้น ภายนอกจะเป็นแกรนิตสีดำ ที่จะทำเป็นรอยกรีดตามแนวคิด อ.สมโภชน์ จึงต้องใช้แผ่นแกรนิตที่มีความหนาพิเศษ เรื่องนี้ อ.อัชชพล เน้นมากว่าต้องเลือกของที่ดีที่สุดให้สมกับชีวิตของคนที่สละชีพไป ต้องใช้ของแท้ อย่าไปลดคุณค่าของวีรกรรมที่วีรชนทำไว้ แต่ถ้าจำไม่ผิด ปรากฏว่าพอทำไป มีปัญหาเรื่องผู้รับเหมาทิ้งงาน จึงเห็นแค่เป็นโครงเหล็กอย่างทุกวันนี้”

อย่างไรก็ตาม นับจากนั้นก็ไม่ได้มีการประชุมอะไรจริงจังอีก กระทั่งมีความคืบหน้าล่าสุด ซึ่ง ดร.พินัย ยอมรับว่ารู้สึกเสียดายที่เมื่อดูแบบล่าสุดพบว่า ไม่ใช่แบบที่ทางผู้ออกแบบเคยทำไว้

“หลังมีการย้ายตำแหน่งอนุสาวรีย์ ได้มีการทำแบบก่อสร้างชุดหนึ่งเสร็จแล้ว ทั้งแบบสถาปัตย์ แบบวิศวกรรม งานระบบ แบบโครงสร้าง ไฟฟ้า สุขาภิบาล และประเมินราคาออกมาแล้ว ถ้าจำไม่ผิด อยู่ที่ 30 ล้านบาท จะด้วยเหตุใดผมก็ไม่ทราบ ปรากฏว่าแบบที่ผมรับรู้ในปัจจุบัน ไม่ใช่แบบนั้น ซึ่งน่าเสียดายมาก ผมอยู่ในโครงการมาตั้งแต่ปี 2546 และพัฒนาแบบขึ้นมา เข้าประชุมนับครั้งไม่ถ้วน และรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้ผสานความหมายทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์นี้ลงในพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะอยู่ในตำแหน่งสำคัญที่เป็นจุดตัดระหว่างแนวแกนของถนนราชดำเนินกลางและถนนราชดำเนินใน และพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกันระหว่างประวัติศาสตร์ โครงสร้างทางผังเมือง และอีกหลายอย่างผมรู้สึกว่ามันน่าเสียดาย เพราะแบบทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นแบบที่ค่อนข้างมีคุณภาพ”


ดร.พินัย
มองว่า คำว่าอนุสรณ์สถาน ไม่ใช่แค่มีอนุสาวรีย์ แต่ต้องตั้งอยู่ในสิ่งที่จะสนับสนุนกัน อนุสาวรีย์เป็นประติมากรรมก็จริง แต่ไม่ใช่ว่าจะไปปักตรงไหนก็ได้ ทว่า ต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม มีการจัดองค์ประกอบโดยรอบให้ส่งเสริมกัน

“อยากฝากว่า คนที่เกี่ยวข้องน่าจะเอาแบบที่ทำไว้เสร็จแล้วกลับมาพิจารณา เพราะจะช่วยให้สภาพแวดล้อมบริเวณนั้นดีขึ้น

และเป็นอนุสรณ์สถานในความหมายที่แท้จริง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image